ความสำคัญของวันวิสาขบูชา


น้อมถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชา ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์พระองค์นั้น

เนื่องในวาระวันวิสาขบูชาได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง วันวิสาขบูชา เป็นวันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์นั้นได้เกิดตรงกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขมาส (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง จึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ"

เราชาวพุทธควรได้ตระหนักถึงความสำคัญในวันนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องนำมาพิจารณาศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบ เพื่อนำไปสมาทานสู่การปฏิบัติธรรม ในสิ่งที่ถูกที่ควรให้เกิดมีขึ้นในตน

พระพุทธองค์ได้ทรงประสูติในวันนี้ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นการประสูติในพระชาติสุดท้ายของพระพุทธองค์ ด้วยพระพุทธองค์ได้ทรงสร้างสมทศบารมีธรรม บวกรวมกับบารมีธรรมอันมีองค์ประกอบเป็นบารมีธรรม ๓๐ ทัศ

การได้มาซึ่งบารมีดังกล่าว พระพุทธองค์ทรงต้องใช้ระยะเวลาอย่างยาวนานนับไม่ถ้วน กว่าที่บารมีธรรมเหล่านี้จะครบสมบูรณ์นั้น ต้องอาศัยความพากเพียรพยายามอย่างยิ่งยวดจึงสำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ลงได้

เมื่อเรารู้แล้วว่า พระพุทธองค์ทรงต้องอาศัยความพากเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด ในการสร้างสมทศบารมีธรรมให้สำเร็จเสร็จสมบูรณ์ เพื่อเป็นกำลังหนุนสำคัญในกาลข้างหน้า ก่อเกิดเป็นศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อนำไปสู่การตรัสรู้เองโดยชอบด้วยพระองค์เอง

การสำเร็จเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาตินี้ เป็นเรื่องที่แสนเหนื่อยยากลำบากทั้งกาย-ใจของพระพุทธองค์ ไม่ใช่ทรงได้มาแบบง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น อย่างที่มีความพยายามหลอกล่อให้เชื่อว่ามีเรื่องการปฏิบัติธรรมแบบง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้นจริง

แล้วพระพุทธองค์ทรงตรัสว่ารู้เรื่องอะไรล่ะ? จึงสามารถทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเครื่องขวางกั้นทางที่นำไปสู่ความดับทุกข์ทั้งปวงได้

อวิชชา คือ ความไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ไม่กำหนดรู้ว่านั่นทุกข์ ไม่เพียรพยายามละเหตุแห่งทุกข์ จิตของตนจึงหลงไหลได้ปลื้มไปกับรูป-นามขันธ์ ๕ หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเอารูป-นามขันธ์ ๕ ที่จิตของตนอาศัยอยู่นั้น ว่าเป็นตน เป็นของๆ ตน

เมื่อพระพุทธองค์ทรงได้มารู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงแล้ว ทำให้พระพุทธองค์ทรงรู้จักเหตุ และความสิ้นไปของเหตุแห่งธรรมทั้งหลายนั้น เพราะจิตของพระองค์ไม่หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเอารูป-นามขันธ์ ๕ ที่จิตยึดครองอยู่นั้น ว่าเป็นตน เป็นของๆ ตน

ดังในอนัตตลักขณสูตร ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วว่า รูป-นามขันธ์ ๕ (นั่น)ไม่ใช่เรา เราไม่เป็นนั่น (รูป-นามขันธ์ ๕) รูป-นามขันธ์ ๕ (นั่น)ไม่ใช่ตัวตนของเรา ในครั้งกระนั้นมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ เพราะรู้เห็นตามความเป็นจริง จิตเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตจึงหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในรูป-นามขันธ์ ๕

เมื่อจิตของตนไม่หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูป-นามขันธ์ ๕ ก็ไม่มีการปรุงแต่ง (วิสังขาร) เมื่อไม่มีการปรุงแต่ง เวทนาต่างๆ เช่น สุข-ทุกข์ ก็ไม่เกิดขึ้นที่จิต เมื่อเวทนา สุข-ทุกข์ ไม่เกิดขึ้นที่จิต จิตก็ไม่ต้องไปจดจำ (สัญญา) มาเป็นอารมณ์ เมื่อไม่ต้องไปจดจำมาเป็นอารมณ์ จิตก็ไม่แจ้ง (วิญญาณ) ในอารมณ์นั้นๆ

มีพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรับรองไว้ดังนี้
"วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา แปลว่า
จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว"

เมื่อกล่าวถึงเรื่อง "จิต" มักเป็นที่ถกเถียงไม่ลงกันไปในกว้าง นักตำรานิยมที่ได้ศึกษาค้นคว้าจากการอ่าน จำ นึก คิด เชื่อไปตามตำรา ที่มีการเพิ่มเติ่มเสริมแต่งขึ้นในภายหลังว่า "จิตบังคับบัญชาไม่ได้" เนื่องเพราะจิตเหลวไหลปรวนแปรไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามาครอบงำจิตของตน จึงมีความรู้สึกไปว่าจิตของตนนั้นไม่สามารถบังคับบัญชาได้

มีเรื่องแปลกแต่จริงของนักตำรานิยมในปัจจุบัน ที่โยนทุกๆ อย่างลงไปที่จิต เพราะเชื่อตามๆ กันมาว่า จิตมีเป็นร้อยๆ ดวง เป็นที่รองรับของอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นกลางๆ แถมยังเชื่อไปว่า อารมณ์เกิดจิตจึงเกิด อารมณ์ดับจิตจึงดับ และทั้งหมดนี้ ย่นย่อลงเป็น "ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์ เท่านั้นที่ดับไป"

แล้วทุกข์เกิดขึ้นที่ไหน? ถ้าไม่ใช่เกิดขึ้นที่จิตของตน จิตคือผู้รู้ อารมณ์คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ เมื่อสิ่งที่ถูกรู้ดับไป จิตรู้มั้ย? ย่อมต้องรู้แน่นอน

ได้โยนทุกสิ่งทุกอย่างลงไปที่จิต แต่เมื่อเก็บกวาดทุกสิ่งทุกอย่างที่โยนลงไปนั้น จนสะอาดหมดจด กลับเชื่อไปอีกว่า ไม่ใช่สะอาดที่จิต แต่ไปสะอาดที่ไหนก็ไม่รู้ โดยขาดความสำนึกพิจารณาให้รอบคอบ ไม่ตริตรองด้วยเหตุผลตามความเป็นจริง เชื่อไปแบบเชื่อตามๆ กันมา

เราเพียงแค่ใช้หลักตรรกะง่ายๆ ก็จะเห็นได้ว่า จิตของตนนั้นสามารถฝึกฝนอบรมให้เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง ควบคุมบังคับให้คงที่ได้ มีพระพุทธพจน์ตรัสรับรองไว้ว่า "จิตเที่ยงตรงคงที่ ต่อพระนิพพาน"

ถ้าจิตของตนไม่อาจบังคับบัญชาได้จริงๆ แล้ว ในโลกนี้คงเกิดเรื่องโกลาหลวุ่นวายน่าดู เพราะเมื่อจิตของตนเกิดมีทุกข์เป็นความอาฆาตมาดร้ายขึ้นมา ก็อย่าได้หวังเลยว่า จิตของตนจะหายไปจากความทุกข์ที่เกิดขึ้นมานั้นได้ เพราะจิตของตนไม่สามารถบังคับบัญชาได้ อย่างที่เคยเชื่อแบบตามๆ กันมานั่นเอง

เมื่อไม่นานนี้ได้พบท่านพระอาจารย์ที่เคารพ ท่านมาเทศน์อบรมญาติโยมในกรุงเทพ มีตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า ญาติโยมที่นั่งฟังอยู่นี้ ล้วนมีความรู้ โดยเฉพาะความรู้ในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าด้วยแล้ว ท่านเทศน์อะไรไปรู้หมด แต่ทำไมจึงยังลด ละ เลิกไม่ได้เสียที อย่างอาตมาเองนั้นไม่รู้อะไรมากเลย รู้เพียงว่า หายใจเข้ารู้ว่า "พุท" หายใจออกรู้ว่า "โธ" เท่านั้น ทำไมถึง ลด ละ เลิกได้ล่ะ ครั้งแรกที่บวชก็ว่าจะบวชเพียงแค่พรรษาเดียวเพื่อแก้บน เผลอแผลบเดียว พรรษาที่ ๔๐ เข้าไปแล้ว

โดยความเป็นจริง จิตของทุกๆคน ล้วนมีทั้งสุข ทุกข์ รัก ชอบ ชัง หมุนเวียนเปลี่ยนไป ปรวนแปรไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่เข้ามาครอบงำจิตของตนอยู่ในขณะนั้นๆ เป็นทุกข์ไปกับการเปลี่ยนแปลงแปรปรวน แต่กลับมองไม่ออก เพราะการเปลี่ยนแปลงปรวนแปรที่เป็นทุกข์โดยปรมัติเกิดขึ้นนั้น ยังมีทั้งรัก ชอบ ชัง ที่ทำให้เป็นสุขอันประกอบด้วยอามิสเจืออยู่ เป็นเครื่องฉาบทาไว้เพื่อลวงตา

มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ว่า

"เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่ การสมมติว่าสัตว์ (จิตที่ติดข้องในอารมณ์) ย่อมมี ฉันนั้นฯ ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด ทุกข์ย่อมตั้งอยู่และเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับฯ"

เมื่อพิจารณาตามพระพุทธพจน์ข้างต้น จะเห็นว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกทั้งหลาย ที่เรียกว่า "โลกียธรรม" นั้น ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่และเสื่อมสิ้นไปตามเหตุปัจจัย พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนไว้ในอริยสัจ ๔ว่า ทุกข์ ควรกำหนดรู้ สมุทัย ต้องละเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย สิ่งสำคัญอันนำไปสู่ "โลกุตตรธรรม" เพื่อจิตพ้นโลก (ทุกข์) จิตพ้นจากสิ่งติดข้องทั้งหลาย (สัตว์) คือ มรรค ทางเดินของจิตนำไปสู่ความเป็นอริยะ ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงย่อมดับไปเป็น นิโรธ

สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำและให้ความสำคัญยิ่ง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นปัจจัยหลักที่ทำอริยสัจ ๔ ให้บริบูรณ์ เราสามารถแยกหมวดอริยมรรคออกเป็นหมวดๆ ดังนี้คือ ๑.สัมมาทิฐิ ๒.สัมมาสังกัปปะ เป็นหมวดปัญญา ๓.สัมมาวาจา ๔.สัมมากัมมันตะ ๕.สัมมาอาชีวะ เป็นหมวดศีล ๖.สัมมาวายามะ ๗.สัมมาสติ ๘.สัมมาสมาธิ เป็นหมวดสมาธิ

อริยมรรคมีองค์ ๘ ดังกล่าว มีพระพุทธพจน์ตรัสรับรองไว้ในมหาจัตตารีสกสูตรดังนี้

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ แก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังสัมมาสมาธินั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้าฯ"

สัมมาสมาธิของพระอริยะ ต้องมีองค์ประกอบอีก ๗ ที่เหลือ ในองค์ประกอบ ๗ ประการที่เหลือนั้น พระพุทธองค์ทรงยกให้สัมมาทิฐิ คือการรู้เห็นตามความเป็นจริงเป็นประธาน เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบพอสรุปได้ว่า การที่รักษาจิตของตนให้สงบตั้งมั่นไม่ไหวหวั่นได้นั้น ย่อมทำให้มีสติรู้เห็นอริยมรรคองค์อื่นๆ ตามความเป็นจริงได้ เป็นการเห็นชอบ (สัมมาทิฐิ) เพราะจิตมีสติสงบตั้งมั่น ส่วนบุคคลที่ยังมีจิตหวั่นไหววุนวายเป็นอาจิณอยู่นั้นฉันใด ย่อมไม่อาจรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงได้ฉันนั้น

บทสรุปสุดท้าย

สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้คืออริยสัจ ๔ นั้น เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา ซึ่งเป็นข้อธรรมที่แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะทั้งสองสิ่งนี้เป็นอัญญะ-มัญญะปัจจัย สนับสนุนซึ่งกันและกันตลอดเวลา ตามกำลังสติ สมาธิ ปัญญา

มีข้อสังเกตแบบง่ายๆ คือ บุคคลที่มีจิตใจยังไม่สงบสับสนวุ่นวายหวั่นไหวได้ง่ายนั้น ยังจะหวังว่าเข้าถึง "โลกุตตรธรรม" ได้หรือ ต่อให้บุคคลนั้น เป็นคนที่มันสมองดี เรียนเก่ง มีปริญญายาวเป็นหางว่าวก็เถอะ เมื่อยังไม่สามารถทำจิตของตนให้สงบตั่งมั่นไม่หวั่นไหวได้อย่างรวดเร็วแล้วล่ะก็ ความรู้ความเข้าใจเหล่านั้นย่อมไม่มีความหมายต่อการหลุดพ้นเลย ดังนี้



เจริญในธรรมทุกๆท่านครับ
ธรรมภูต








Create Date : 01 มิถุนายน 2558
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2560 13:54:57 น.
Counter : 1490 Pageviews.

ความแตกต่างของสัมมาสมาธิกับฌานสมาบัติ ๘


ปุพเพ อนนุสสุเตสุ ธัมเมสุ
ธรรมทั้งหลายที่ได้ปฏิบัติมา เราไม่เคยสดับฟังมาจากที่ใดเลย


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์พระองค์นั้น

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว เรามักเรียกว่า "พระพุทธพจน์" หรือ "พระพุทธวจนะ" นั้น เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ดังพระดำรัสที่ทรงตรัสไว้ว่า

"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"


จากพระบาลีที่มาจากพระพุทธพจน์ ยังมีพระพุทธพจน์จากพระสูตรที่เชื่อมโยงรองรับไว้ว่า

เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ
ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง


ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงอย่างไร?
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งรูป
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งเวทนา
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งสัญญา
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งสังขาร
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งวิญญาณ


ปัจจุบันมักมีการแอบอ้างเอาธรรมะของพ่อแม่ครูบาอาจารย์บางท่าน ที่ท่านเทศน์ไว้เป็นคราวๆ ในประชุมชนครั้งนั้นๆ ว่า "ยิ่งเป็นปัญญาขั้นสูงด้วยแล้ว เห็นสมาธิเป็นภัยไปหมดเลย" ด้วยท่านเกรงไปว่า ลูกศิษย์ลูกหาของท่านที่มีอยู่ในขณะนั้น จะติดอยู่กับความเบากายเบาใจในสมาธิ จนลืมไปว่า ต้องออกใช้ปัญญาปล่อยวาง พิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง ตอนลืมตา เพื่อฝึกหัดการปล่อยวางอารมณ์ที่เข้ามากระทบจิต (ปัญญา) ระลึกรู้ก่อนที่จิตของตนจะไหวตัวไปตามอารมณ์เหล่านั้น

กลับมองไปในทางตรงกันข้ามแบบคิดเองเออเองไปตามตำราในชั้นหลังว่า สมาธิไม่ทำให้เกิดปัญญา สมาธิเป็นการติดสุขชุ่มแช่ ต้องวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้นเป็นสำคัญ ทั้งที่ตนเองไม่มีความเข้าใจในคำว่า "วิปัสสนา" เลย วิปัสสนา แปลว่า การรู้เห็นอย่างวิเศษ หรือการรู้เห็นตามความเป็นจริง อันเป็นเรื่องเดียวกัน

มีพระพุทธพจน์รับรอบว่า "สัมมาสมาธิ" ยังให้เกิดปัญญาญาณ ทำให้รู้เห็นตามจริงในขันธ์ ๕ รู้ชัดว่า ขันธ์ ๕ นั่นไม่ใช่เรา(จิต) เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ปล่อยวางลดละเลิกความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ลงได้


คำว่า "วิปัสสนา" เป็นคำที่เกิดมีขึ้นมาในภายหลัง เป็นการรจนาขึ้นมาใหม่ของอาจาริยวาท ในพระสูตรชั้นต้นๆ ที่มีอยู่นั้น พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงตรัสรับรองคำนี้ไว้เลย

แต่มักมีการแอบอ้างเอา "วิปัสสนากรรมฐาน" มาบังหน้าเพื่อประโยชน์ของตนเท่านั้น เพื่อความเกียจคร้านของตน ที่จะไม่ต้องทำ "สมถะกรรมฐาน" หรือที่เรียกว่า "สมาธิกรรมฐานภาวนา" ให้เหนื่อยยากลำบากกาย ต้องหลังขดหลังแข็ง

และมักพูดจากล่าวร้ายโจมตีไปในทางที่เสียหายว่าเป็นเรื่องของสมณะพราหมณ์ ฤาษีชีไพร ไม่ทำให้เกิดปัญญาวิมุตติหลุดพ้น ต้อง "วิปัสสนากรรมฐาน" เท่านั้น จึงจะเกิดปัญญาวิมุตติหลุดพ้นได้ ถึงกับมีอัตโนมัติอาจารย์บางท่าน กล้าฟันธงเลยว่า การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาเป็นเรื่องของการทำอัตตกิลมถานุโยค ด้วยผู้ที่พูดนั้นขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง

ผู้พูดไม่เคยรู้ความจริงเลยว่า "วิปัสสนา" ที่ตนคิดเองเออเองไปว่าเป็นปัญญาญาณนั้น เป็นเพียงแค่สัญญาอารมณ์ที่ได้มาจากความรู้สึกนึกคิดของตน ที่คิดแล้วคิดเล่า จนความคิดที่ว่ามานั้นตกผลึก ไม่ใช่ปัญญาญาณ ที่เกิดจากการรู้เห็นตามความเป็นจริง ด้วยการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ยัง "สัมมาสมาธิ" ให้เกิดขึ้น จนจิตมีกำลังสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามาผัสสะ


มารู้จักกับคำว่า "สมาธิ" ที่มีมาก่อนพระพุทธองค์ได้ทรงอุบัติขึ้นมาในโลก และ "สัมมาสมาธิ" ที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบด้วยพระองค์เองโดยชอบแล้ว จึงกล้าตรัสรับรองตนเองไว้ว่า

"ปุพเพ อนนุสสุเตสุ ธัมเมสุ แปลว่า
ธรรมอันเราตรัสรู้นี้ ไม่เคยได้ยิน ได้ฟังจากที่ไหนในกาลก่อนนี้แล มาปรากฏแก่อาตมภาพ"


มีเรื่องแปลกแต่จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นด้วยขาดการพิจารณาโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อนหรือเพราะตำราพาไป กลับกลายเป็นการกล่าวตู่ลบหลู่ดูหมิ่นพระพุทธปัญญาของพระองค์ไปโดยไม่รู้ตัว อันเป็นกรรมหนักที่ตนเองต้องแบกรับโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

ได้มีการนำเอา "สมาธิ" ที่มีมาแต่กาลก่อนพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ มาผสมปนเปเข้ากับ "สัมมาสมาธิ" ในอริยมรรค ๘ จนวุ่นวายไปหมด ทำให้ผู้ที่ศึกษาใหม่เกิดความลังเลสงสัยสับสนจนเกรงกลัวการนั่งหลับตาปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา

โดยเห็นไปว่าการนั่งหลับตาปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น เป็นการติดสุขอยู่ในฌาน เป็นพวกตัณหาจริต เป็นเรื่องของฤๅษีชีไพรและสมณพราหมณ์ จนมองข้าม "สัมมาสมาธิ" ในองค์แห่งอริยมรรค ๘ ไปให้ความสนใจกับคำว่า "วิปัสสนากรรมฐาน" แต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่เอาสมาธิเลย

ทั้งที่ คำว่า "วิปัสสนากรรมฐาน" นั้น เป็นของคู่กับ "สมถะกรรมฐาน" ชนิดที่ขาดกัน หรือแยกออกจากกันไม่ได้เลย เมื่อนำเอา "สมถะและวิปัสสนา" มารวมเข้าด้วยกัน ก็เท่ากับ "สัมมาสมาธิ" ในหมวด "สมาธิ" แห่งองค์อริยมรรค ๘ ซึ่งเป็นสมาธิกรรมฐานภาวนาที่สำคัญยิ่ง อันยังให้เกิดปัญญาญาณรู้เห็นตามความเป็นจริงได้ เข้าใจในขันธ์ ๕ และอริยสัจ ๔

ดังมีพระพุทธพจน์ในพระสูตรได้ทรงตรัสรับรองเรื่องราวต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น อย่างเช่น สมาธิที่มีมาแต่กาลก่อนที่พระพุทธองค์จะได้ทรงตรัสรู้ หรือที่เรียกว่า "สมาบัติ ๘" นั้น อันมีรูปฌาน และอรูปฌาน เป็นต้น

"อาตมภาพนั้นมีความคิดเห็นว่า
ธรรมนี้ไม่เป็นไป เพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท
เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ย่อมเป็นไปเพียงให้อุปบัติในอากิญจัญญายตนพรหมเท่านั้น
อาตมภาพไม่พอใจธรรมนั้น เบื่อจากธรรมนั้นแล้วหลีกไปเสียฯ"
(อรูปฌานที่๗)

จะเห็นว่า พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธไปในแนวทางที่ว่า "ธรรมนี้ไม่เป็นไป" เพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

แต่มิได้ทรงปฏิเสธไปแบบปัดทิ้งไม่เห็นคุณค่าเสียเลยทีเดียว ยังทรงตรัสถึงท่านอาจารย์ทั้งสอง ที่ได้อรูปฌาน ๗ และ ๘ ว่า เป็นบุคคลที่ควรสั่งสอน เป็นบัณฑิต ฉลาด มีเมธา มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมานาน ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรมแก่ท่านอาจารย์ทั้งสอง เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้โดยฉับพลัน


เมื่อมาถึงตรงนี้ ก็ให้สงสัยขึ้นมาว่า แล้ว "สมาธิ" กับ "สัมมาสมาธิ" นั้น แตกต่างกันอย่างไร ตรงไหน จากการที่มีจารึกไว้ในพระไตรปิฎก ดูจะเหมือนกันจนกระทั่งหาข้อแตกต่างกันไม่ได้เลย ดูไปแล้ว คล้ายกับว่าพระพุทธองค์ได้ทรงแอบต่อยอดความรู้ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้มาจาก "ฌานสมาบัติ" ดังกล่าว ทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ แบบไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ

โปรดสังเกตด้วยใจที่เป็นธรรม พิจารณาให้รอบคอบรอบด้าน ก่อนจะเชื่ออะไรลงไปง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น จะเห็นว่าอารมณ์ที่พวกสมณพราหมณ์ และพวกฤๅษีชีไพรใช้นำเอามาเพียรเพ่งเป็นอารมณ์ฌานสมาบัตินั้น ล้วนเป็นอารมณ์ภายนอกกายทั้งสิ้น

เช่น เอารูปที่ปราศจากกามมาเป็นอารมณ์ภาวนา ถ้าเป็นรูปที่ก่อให้เกิดกามขึ้นมาได้นั้น เพียรเพ่งอย่างไรคงทำให้เกิดสมาธิฌานได้ยาก เพราะกิเลสตัณหาคงลากเอาไปกินตั้งแต่ต้นทางแล้ว อรูปก็เช่นเดียวกัน

ส่วนองค์แห่งฌานของรูปฌาน อรูปฌานที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมต้องแตกต่างไปจาก "สัมมาสมาธิ" ในองค์ฌานแห่งอริยมรรค องค์ฌานของฌานสมาบัติ ๘ นั้น เป็นการเกาะเกี่ยวเอาอารมณ์ภายนอกกายมาเป็นอารมณ์ภาวนา จนอารมณ์เกาะเกี่ยวกับจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เป็นการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ที่นำไปสู่การละจากอารมณ์หยาบ เข้าไปติดสุขอยู่ในอารมณ์อันละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป เพียงช่วยทำให้กิเลสเบาบางลงได้เท่านั้น ไม่นำไปสู่ความวิมุตติจิตหลุดพ้นเหมือนฌานใน "สัมมาสมาธิ" เลย มีพระพุทธพจน์รับรองดังนี้

"ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว
ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้
เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
ข้อนี้เป็นความแตกฉานแห่งญาณข้อที่สาม (อาสวักขยญาณ) ของอริยสาวกนั้น"


ฌานสมาบัติเป็นเพียงเอกัคคตารมณ์ ซึ่งจิตมีการเกาะเกี่ยวกับอารมณ์ภาวนารวมเป็นหนึ่งอย่างเหนียวแน่นไม่ยอมปล่อยวาง ส่วนฌานในสัมมาสมาธิแห่งองค์อริยมรรคนั้นเป็นการปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิต

รูปฌาน อรูปฌานนั้น ยังต้องคอยระวังรักษาอารมณ์ฌานอันละเอียดที่เป็นสุขอยู่นั้นตลอดเวลา ด้วยความหวั่นไหวเกรงกลัวไปว่าอารมณ์ฌานนั้นจะจืดจางลงไปได้

ส่วน "ฌานในสัมมาสมาธิแห่งองค์อริยมรรค" นั้น เป็นอารมณ์ ณ.ภายในกาย เวทนา จิต และธรรมของตน เป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อนำไปสู่การฝึกฝนอบรมตนเองให้รู้จักการปล่อยวางอารมณ์ออกไปเป็นชั้นๆ ในขณะปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา เมื่อปล่อยเป็นแล้วไม่ต้องจำ

เริ่มต้นจากต้องสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลกรรม จากนั้นปล่อยวางอามีสสัญญา พร้อมด้วยวาจาดับ ปรากฏเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้นมาอย่างเด่นชัด มีอุเบกขา เสวยสุขด้วยนามกายอันปราศจากอามีส จากนั้นละสุข ละทุกข์ ดับโสมนัส โทมนัสแต่เก่าก่อนได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า "สัมมาสมาธิ"


สรุปได้ว่า ฌานนั้นมีมาแต่กาลก่อนนานมาแล้ว โดยมีทั้งฌานที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น กับฌานในสัมมาสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงได้ค้นพบและตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง โดยไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาในกาลก่อน แม้แต่องค์ฌานก็ยังแตกต่างกันในส่วนผล ฌานสมาบัติ ๘ นั้น เห็นตาลปัดกลับกันกับฌานในสัมมาสมาธิ ที่เห็นขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน

ใช่ว่า ฌานสมาบัติ ๘ จะเป็นเรื่องเลวร้ายอะไร ที่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธไปนั้น ทรงเห็นว่าเป็นหนทางนำไปสู่ภพภูมิ ที่ยังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏฏะ ไม่อาจหลุดพ้นจากทุกข์ได้ เพราะเป็นฌานที่ยังเกาะเกี่ยวเอาอารมณ์ภายนอกอันละเอียดเป็นสุขอย่างเหนียวแน่นอยู่ สาธุ



เจริญในธรรมทุกๆท่านครับ
ธรรมภูต








Create Date : 13 เมษายน 2558
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2560 13:55:29 น.
Counter : 2015 Pageviews.

พระนิพพานเป็นธรรม ณ ภายใน-อัชฌัตตาธัมมา ไม่ใช่พหิทธาธัมมา


วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา
จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง, บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์พระองค์นั้น

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว เรามักเรียกว่า "พระพุทธพจน์" หรือ "พระพุทธวจนะ" นั้น เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา

มีพระพุทธพจน์จากพระบาลีตรัสไว้ดังนี้

"ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ, ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ แปลว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้มีสภาพประภัสสรผ่องใส
แต่ที่เศร้าหมองไปนั้น เพราะมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง"


เมื่อพิจารณาจากพระบาลี จะเห็นได้ว่าจิตของคนเราที่เกิดความเศร้าหมองไปนั้น ก็เพราะเหตุอันมีอุปกิเลสเป็นแขกจร เข้ามาครอบงำจิตของตนในภายหลัง จึงทำให้จิตของตนหมองเศร้าลงไปด้วยเหตุฉะนี้

ในขณะที่จิตของตนยังรู้สึกเฉยๆ อยู่ ด้วยไม่รู้จักอารมณ์ที่มากระทบในขณะเวลานั้น หรือยังไม่ได้รับอารมณ์ใหม่ ที่เรียกว่า "แขกจร" เข้ามาในจิตของตน จิตของตนในขณะเวลานั้นจะอยู่ในสภาพที่ยัง "ปภัสสรผ่องใส" อยู่

สภาพความปภัสสรผ่องใสของจิตในขณะที่ว่านั้น เป็นสภาพเดิมของจิตขณะที่ยังไม่มีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามา แต่เป็นลักษณะของจิตที่ยังเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะสงสาร เป็นสภาพความประภัสสรผ่องใสของจิต ที่ยังไม่ได้รับความบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ด้วยยังไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง


ในปัจจุบันมีการถกธรรมในเรื่องนี้ เพื่อค้นหาข้อยุติ โดยพยายามค้นหาสัจธรรมความจริง ที่ไม่อาจหักล้างด้วยตรรกะพื้นๆ ทั่วไปได้ เรื่องที่ว่านั้นคือ

สภาพเดิมของจิต ที่เรียกว่าจิตเดิมแท้นั้น มีความบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย อยู่ก่อนแล้ว แต่มาเศร้าหมองลงไปในภายหลัง เมื่อบรรลุ "พระนิพพาน" เพราะสิ้นตัณหาแล้ว จึงปรากฎความบริสุทธิ์ขึ้นที่จิตของตน

หรือว่า สภาพของจิตเดิมแท้นั้นคือตัวกิเลส ได้รับความบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่เรียกว่า บรรลุ "พระนิพพาน" มาปรากฏขึ้นในภายหลัง ด้วยการเพียรเพ่งปฏิบัติธรรมภาวนามยปัญญา เพื่อให้เข้าสู่ "สภาวะธรรม" ดังกล่าว

ฝ่ายที่เห็นว่า พระนิพพานไม่มีอยู่ในจิตของตน แต่มาปรากฏขึ้นในภายหลังนั้น ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ถ้ามีสภาวะธรรมที่ว่ามานั้นปรากฏอยู่ก่อนแล้ว จิตจะเข้ามาเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะอีกทำไม ถ้าเรามีนิพพานอยู่แล้ว เหมือนกับเรามีความสุขอยู่แล้ว เราจะยอมมีความทุกข์ไหม

เพื่อหาข้อสรุป ที่เราพอจะพิจารณาตริตรอง ให้เห็นตามความเป็นจริงได้ ต้องเปรียบเทียบ เทียบเคียง เพื่ออุปมาอุปมัย ให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งๆ ขึ้น

ในการนำไปพิจารณา เราเปรียบ "จิตของตน" เหมือน "น้ำ"

เดิมนั้น "น้ำ" มีสภาพใสสะอาด แต่ที่ต้องเศร้าหมองสกปรกไป เหตุเพราะมีสิ่งสกปรก ไม่สะอาดเป็นแขกจรเข้ามาเจือปนในภายหลัง น้ำที่เราเห็นด้วยตาเนื้อ เราย่อมชี้ชัดลงไปได้ว่ามีความใสสะอาด แต่ก็เชื่อได้ว่า น้ำนั้นยังไม่ได้รับบริสุทธิ์หมดจด เพราะยังมีรสชาติอยู่ และน้ำนั้นก็ยังไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดี ใช่หรือไม่?

เมื่อนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เห็นได้ว่า "ความบริสุทธิ์หมดจดของน้ำ" เป็นคุณลักษณะประจำตัวของน้ำอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเรานำน้ำมากลั่นกรองอย่างพิถีพิถัน จนน้ำใสสะอาดบริสุทธิ์ ความใสสะอาดบริสุทธิ์ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่เป็นทุนเดิม ย่อมปรากฏเป็นของน้ำนั้น

ไม่ใช่ว่าพอปรากฏความใสสะอาดบริสุทธิ์ของน้ำเกิดขึ้นมาแล้ว น้ำดังกล่าวนั้นต้องหายไป หรือไม่อาจเรียกว่าน้ำอีกต่อไปแล้ว และความใสสะอาดบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นมานั้น ก็ใช่ว่าจะมาแทนที่น้ำนั้นเสียเมื่อไหร่ ความใสสะอาดบริสุทธิ์และน้ำก็ยังต้องอยู่ร่วมกับน้ำเป็นปรกติสุข

เพราะน้ำที่ว่ามานั้นเป็นแม่ธาตุ ที่คงความใสสะอาดบริสุทธิ์เป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว ฉันใด เราจึงสามารถที่จะกลั่นกรองน้ำ ให้กลับคืนสู่สภาพความใสสะอาดบริสุทธิ์หมดจดได้ ฉันนั้น

เช่นเดียวกับทองคำแท้ที่บริสุทธิ์สุกปลั่ง ความสุกปลั่งย่อมเป็นคุณสมบัติของทองคำแท้บริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซนต์ เมื่อทองคำนั้นมีสิ่งอื่นเข้ามาผสมเจือปน ย่อมทำให้ทองคำนั้นหม่นหมองลงไป เมื่อแยกเอาสิ่งแปลกปลอมที่เจือปนอยู่ในเนื้อทองคำออกไป ย่อมทำให้ทองคำนั้นกลับมาบริสุทธิ์สุกปลั่งเหมือนเดิม เพราะคุณสมบัติที่สุกปลั่ง เป็นทุนเดิมของทองคำแท้บริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์นั่นเอง

เมื่อมาพิจารณาโดยตรรกะให้ลึกลงไป จะเห็นได้ว่าเรื่องคุณลักษณะหรือคุณสมบัตินั้น เป็นเรื่องที่ต้องติดอยู่กับวัตถุสิ่งของนั้นๆ อยู่ก่อนแล้ว เราจึงสามารถทำให้วัตถุสิ่งของดังกล่าวกลับมามีคุณลักษณะ หรือมีคุณสมบัติที่เป็นทุนเดิมอยู่ก่อนนั้น ปรากฏให้รู้เห็นได้

ถ้าวัตถุสิ่งของดังที่กล่าวมานั้นเป็นสิ่งเหลวไหล หรือมีความสกปรกโสมมเป็นทุนเดิมอยู่ก่อน เราก็ไม่อาจชำระหรือกระทำการใดๆ ให้วัตถุสิ่งของเหล่านั้น ใสสะอาดบริสุทธิ์หมดจดได้ เพราะวัตถุสิ่งของเหล่านั้นมีสภาพเดิมเป็นของเหลวไหล มีความสกปรกโสมมเป็นทุนเดิมอยู่ก่อน

เช่นเดียวกัน ถ้า "จิตเป็นตัวทุกข์ จิตเป็นตัวกิเลส จิตเป็นตัวอวิชชา" เสียแล้ว อย่างที่มีคนเคยกล่าวไว้ เราย่อมไม่อาจปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เพื่อขจัดขัดเกลา ชำระ ลด ละ เลิก กิริยาอาการของจิตชนิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาได้ เพราะคุณลักษณะหรือทุนเดิมที่อยู่ประจำจิตนั้น เป็นทุกข์ มีกิเลส โสมมด้วยอวิชชา คือความรู้ผิด ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ซึ่งหาเป็นเช่นนั้นไม่?


มีพระพุทธพจน์จากนิพพานสูตรที่ ๓ ตรัสไว้ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลายถ้า ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว
อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้
การสลัดออกซึ่ง ธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว
อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย


จากพระพุทธพจน์ได้ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเอง(ธรรมชาติ) อันไม่ไปเกิดอีกแล้ว ไม่เป็นไปในภพใดแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัดออก การสลัดคืน ซึ่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ย่อมไม่พึงปรากฏให้เห็นในโลกนี้ได้เลย

เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาที่กล่าวไว้ข้างต้น แม่ธาตุที่มาประชุมกันเป็นรูปร่างกายอันมีจิตครองอยู่นั้น เมื่อได้เริ่มปรากฏครั้งแรกขึ้นมา ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้ได้ แม้ผู้มีปัญญาไม่อาจตามรู้ได้ว่ามาจากไหน โดยเฉพาะ "จิต" ที่เรียกธาตุรู้ มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ชัดเจนว่า

"อนมตคฺโคยํ ภิกฺขเว สงฺสาโร ปุพฺพาโกฏิ น ปญฺญายติ แปลว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรนี้ มีอยู่ก่อนนานมาแล้ว
ซึ่งผู้มีปัญญาไม่อาจตามรู้ได้ว่ามาจากไหน และจะไปสิ้นสุดเอาเมื่อใด"



ยังมีพระพุทธพจน์รับรองเรื่อง อวิชชา จากพระสุตตันตปิฎก กล่าวไว้ว่า

"ปุริมา ภิกฺขเว โกฏิ น ปญฺญายติ อวิชฺชาย,
อวิชฺชา ปุพฺเพ นาโหสิ อถ ปจฺฉา สมฺภวิ
แปลว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เบื้องต้นและที่สุดของอวิชชานั้น
ผู้มีปัญญาตามรู้ไม่ได้, อวิชชานี้ไม่ได้เกิดมีมาก่อน
เพราะฉะนั้นจึงเกิดมีขึ้นในภายหลัง"


พอสรุปได้ว่า ธาตุรู้ที่เป็นแม่ธาตุเมื่อแรกปรากฏขึ้นมานั้น ไม่รู้จักสุขที่เกิดจากการดับสนิทที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะตน เมื่อรู้อะไรก็เอนเอียงไม่เที่ยงตรงคงที่ต่อธาตุรู้ รู้อะไรรับเอาสิ่งที่รู้ไว้หมด เพราะยังไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง เมื่อรับเอาไว้มากๆ ก็เกิดมีความพอใจ ความไม่พอใจเกิดขึ้น โดนอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ครอบงำจิตของตนโดยไม่รู้ตัว อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ได้ห่อหุ้มบดบังความสะอาดบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจนหมดไป

เมื่อลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาอย่างจริงจัง ได้รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้หนทางที่จะออกจากทุกข์ รู้การดับทุกข์ เมื่อรู้จักทุกข์ดี ย่อมมีคู่เทียบให้เปรียบ ทำให้รู้จักสุขอันเกิดจากความสงบตั้งมั่น พร้อมรู้แจ้งในความดับสนิทของอุปกิเลสทั้งหลายได้

อันมีพระพุทธอุทาน ที่ได้ทรงเปล่งออกภายใต้ต้นโพธิ์ เมื่อตอนตรัสรู้ใหม่ๆ ว่า

"วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา แปลว่า
จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง, บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว"


และดังตัวอย่างคำพังเพยของผู้รู้ ที่กล่าวตามๆ กันมาว่า
สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ
นิพพานนั้นก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล เพียงหายใจก็ได้ยิน

และเป็นที่ยอมรับกันว่าถูกต้องเสียด้วย


บทส่งท้าย เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์ที่นำเสนอมานั้น ธรรมะทางภาคปฏิบัติล้วนเป็นอัชฌัตตาธัมมา ไม่ใช่พหิทธาธัมมา เป็นเรื่องธรรม ณ ภายในกายใจของตน ยิ่งพิจารณาลงไปที่กายในกายของตน ตามหลักปฏิบัติธรรมในมหาสติปัฏฐานสูตรด้วยแล้ว ย่อมทำให้กระเทือนไปถึง เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม

การค้นหาธรรม ณ ภายในจิตของตน ธรรมนั้นย่อมต้องมีอยู่ก่อน จึงทำให้ธรรมนั้นปรากฏขึ้นมาได้ เพียงแต่ถูกบดบังไว้ด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เมื่อเราเพียรเพ่งภาวนาปฏิบัติธรรมกรรมฐาน เพื่อบรรลุพระนิพพาน เป็นการสลัดออกซึ่ง อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ย่อมทำให้จิตของตนปรากฏความบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายได้

เมื่อกล่าวถึงท่านพระอรหันต์ที่เป็นอริยสาวก ที่ยังมีชีวิตินทรีย์อยู่นั้น ท่านก็ยังต้องดำรงชีวิตแบบสามัญชนคนธรรมดาเช่นกัน ยังต้องดื่ม กิน นึกคิด พิจารณา รู้เย็นร้อน อ่อนแข็ง เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ท่านพระอรหันต์อริยสาวกนั้น ท่านกระทำไปด้วยจิตใจที่ปราศจาก อวิชชา ตัณหา และอุปาทานครอบงำ เป็นเพียงหน้าที่

ส่วนสามัญชนคนธรรมดา ที่ยังหนาไปด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ย่อมกระทำไปตามความรู้สึกนึกคิดที่ยังรัก ชอบ ชังอยู่ มีความยึดมั่นถือมั่นในจิตของตน สาธุ



เจริญในธรรมทุกๆท่านครับ
ธรรมภูต








Create Date : 13 มีนาคม 2558
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2560 13:55:46 น.
Counter : 2137 Pageviews.

การชำระจิตของตนให้ผ่องใส นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทธานสาสนํ
การชำระจิตของตนให้ผ่องใส นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์พระองค์นั้น

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว เรามักเรียกว่า "พระพุทธพจน์" หรือ "พระพุทธวจนะ" นั้น เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ดังพระดำรัสที่ทรงตรัสไว้ในวันมาฆบูชาว่า

๑.สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
๒.กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญแต่ความดี
๓.สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องใส
เอตํ พุทธานสาสนํฯ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


วันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ๔ ประการ

๑.พระสงฆ์สาวก ๑,๒๕๐ รูป ได้มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
๒.พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา ผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
๓.พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็น พระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา ๖
๔.และวันดังกล่าวตรงกับ วันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓

ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔

ในโอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนอันสำคัญเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานในวันมาฆบูชา มีใจความอันสำคัญล้วนเกี่ยวเนื่องกับเรื่อง "จิตของตน" พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ได้ทรงสั่งสอนให้ฝึกฝนอบรมชำระจิตของตน ให้รู้จักละชั่ว หมั่นสร้างความดี เพียรเพ่งเพื่อชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ด้วยการภาวนามยปัญญา

ในอินทริยภาวนาสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้พอสรุปได้ว่า การเพียรเพ่งฌาน เพื่อจิตของตนจะได้ไม่เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ มีพระพุทธพจน์ดังนี้

"ดูกรอานนท์ เราแสดงการเจริญอินทรีย์อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ แสดงพระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่ แสดงพระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล

ดูกรอานนท์ กิจใดอันศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ

ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ"


เมื่อพิจารณาจากคำสอนของพระองค์ที่ได้ทรงวางหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจนในการปฏิบัติธรรมของพระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่ และพระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว ไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ จนกระทั่งทำให้มารและเสนามารหลง คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ไม่อาจตรงเข้าครอบงำจิตของตน เพราะมารและเสนามารหลงทางไม่สามารถเข้าครอบงำจิตของตน

การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาจึงเป็นการทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วปราศจากกิเลส ตัณหา อุปาทานได้

หลักเกณฑ์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางไว้ดีแล้วนั้น มิได้ทรงตรัสยกเว้นให้กับภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือใครคนใดคนหนึ่งเลย ที่จะบรรลุมรรคผลได้โดยไม่ต้องผ่านเรื่องฌานในสัมมาสมาธิมาก่อนก็ได้ ปัจจุบันมักมีการแอบอ้างเอาพระอรหันต์ประเภทสุขวิปัสสโกมา เพื่อเป็นเกราะกำบังให้กับตน ด้วยความเกียจคร้าน เพื่อตนเองจะได้ไม่ต้องปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา ที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา หรือสัมมาสมาธิก็ได้

หากเป็นเช่นดังกล่าวมาแล้ว อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่อาจจะสมังคีรวมลงได้ การที่มรรคมีองค์ ๘ จะสมังคีรวมลงเป็นหนึ่งเดียวได้นั้น ต้องครบองค์ ๘ เท่านั้นจึงจะสมังคีรวมลงได้ เมื่อขาดองค์ใดองค์หนึ่งไปก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ อันเป็นการลบหลู่ กล่าวตู่พระพุทธพจน์โดยไม่รู้ตัว

เหมือนรถยนต์ที่ขาดน้ำมันเพื่อสร้างแรงขับดัน จะเอากำลังที่ไหนมาขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อให้เกิดประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านจนสำเร็จลงได้ล่ะ ในพระสูตรพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า เพียรเพ่งฌาน อย่าได้เดือดร้อนในภายหลัง บุคคลที่จะไม่เดือดร้อนในภายหลังได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีความเพียรเพ่งจนโลภะ โทสะ โมหะเบาบางลง จึงได้ชื่อว่าไม่เดือดร้อนในภายหลัง

ฉะนั้นวิธีลัดสั้นจึงไม่มีอยู่จริง ดังในพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

"ดูกรอานนท์ เราแสดงการเจริญอินทรีย์อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ แสดงพระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่ แสดงพระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล"

เมื่อมีการกล่าวถึงการปฏิบัติธรรมฐานภาวนาที่ต้องอาศัยการเพียรเพ่งฌาน เพื่อจะได้ไม่เดือดร้อนในภายหลัง มักมีการแอบอ้างถึงท่านพระอาจารย์พาหิยะ และท่านพระอาจารย์จูฬปันถกเสมอไป แต่มักทำเป็นลืมไปว่า ท่านทั้งสองนั้น ได้เพียรสร้างสมบุญบารมีมาอย่างยาวนานนับไม่ถ้วน แม้นในชาติปัจจุบันยังผ่านการเคี่ยวกร่ำด้วยการเพียรเพ่งรูปฌาน อรูปฌานอันเป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยนั้น มาจนเชี่ยวชาญชำนาญเป็นวสีอย่างยิ่ง แต่การเพียรเพ่งฌานในลักษณะนั้น เป็นฌานที่พระพุทธองค์ไม่ทรงสรรเสริญ ไม่ช่วยให้บรรลุอมตธรรมได้ ทำได้เพียงมีธุลีในจักษุน้อย กิเลสเบาบางลงได้เท่านั้น

มีหลักฐานที่มาในช่วงเวลาที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้เองโดยชอบเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใหม่ๆ นั้น พระองค์ได้ทรงเล็งญาณเห็นว่า พระองค์ควรจะไปโปรดใครเป็นบุคคลแรก ทรงเล็งเห็นท่านอาจารย์ทั้งสองเป็นลำดับ แต่ด้วยท่านอาจารย์ทั้งสองได้ล่วงไปแล้ว มีพระพุทธพจน์ดังนี้

"เราพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครรู้จักทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน
ครั้นแล้ว อาตมภาพได้มีความเห็นว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรนี้
เป็นบัณฑิต ฉลาด มีเมธา มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมานาน
ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อนเถิด
เธอรู้จักทั่วถึงธรรมนี้โดยฉับพลัน

ที่นั้น เทวดาทั้งหลายเข้ามาหาอาตมภาพแล้วได้กล่าวว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาฬารดาบส กาลามโคตรทำกาละเสียเจ็ดวันแล้ว
และความรู้ความเห็นก็เกิดขึ้นแก่เราว่า
อาฬารดาบส กาลามโคตรทำกาละเสียเจ็ดวันแล้ว"


เมื่อพิจารณาพระสูตรจะเห็นว่า บุคคลที่บรรลุธรรมของพระองค์อย่างรวดเร็วได้นั้น จำเป็นต้องสร้างสมบุญบารมีและยังผ่านการเคี่ยวกรำด้วยการเพียรเพ่งรูปฌานและอรูปฌานมานานจนเชี่ยวชาญชำนาญมาก่อน เมื่อฟังธรรมแล้วสามารถละทิ้งทิฐิที่มีอยู่ก่อนออกไปได้ ย่อมเข้าถึงอมตธรรมได้ ด้วยการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาเพียรเพ่งในสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเป็นธรรมอันเอก ทางเดียวเท่านั้น

ณ ปัจจุบันยังมีการแอบอ้างเอาที่มีผู้อธิบายไว้ว่า กาย เวทนา จิต ธรรม เหมือนเส้นทางสี่เส้น จากประตูเมืองมุ่งเข้าสู่พระราชวังกลางเมืองจะเดินทางไหน ถ้าเดินไปจนสุดทางได้ ก็เข้าสู่พระราชวัง คือบรรลุธรรมได้อยู่ดี ถามว่าเป็นไปได้หรือ? ในเมื่อมีพระพุทธพจน์ที่ได้ทรงตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรอย่างชัดเจนว่า

"เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค แปลว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น"

ในเมื่อทางมีเพียงทางเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ ๔ ทางอย่างที่พยายามอธิบายกัน ที่มีเรื่องราวเหตุการณ์ที่จะต้องดำเนินไปด้วยกัน ๔ ประการอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ เมื่อได้มีการอธิบายกันมาก่อนหน้าตามมติที่ตนเองมีความเชื่อตามๆ กันมาอย่างนั้น โดยไม่มีการตรวจสอบ สอบสวนหรือเทียบเคียงกับพระสูตรอื่นที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ มีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน ถึงวิธีของการเริ่มต้นปฏิบัติธรรมกรรมฐานในมหาสติปฏิปัฏฐานสี่ว่า ควรเริ่มต้นอย่างไร? จึงจักทำให้สติปัฏฐานสี่นี้บริบูรณ์ลงได้

ย่อมทำให้เกิดความสับสนขึ้นมาได้แบบง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้นอย่างที่เกิดขึ้นอยู่ในทุกวันนี้เช่นกัน ทำให้เกิดความเกียจคร้านมักง่ายในการลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐาน เพราะเชื่อตามที่มีผู้อธิบายไว้ว่า สติปัฏฐานนั้น มี ๔ ทาง เดินทางใดทางหนึ่งก็ได้เข้าถึงศูนย์กลางเช่นกัน ซึ่งการอธิบายไว้เช่นนี้เป็นการอธิบายที่ขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ที่มีมาในอานาปานสติสูตร

อานาปานสติสูตรนั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ชัดเจนอย่างยิ่งโดยไม่ต้องตีความใดๆ ให้เหนื่อยยากลำบากกายใจเลย พระพุทธองค์ทรงอธิบายไว้เป็นลำดับชัดเจนลงไปเลยว่า ในการเข้ากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ล้วนต้องมีอานาปานสติ หรือองค์ภาวนาเป็นบาทฐานทั้งสิ้น ดำเนินไปเป็นลำดับ ต่อเมื่อรู้จักทางที่ทำให้มีสติแบบต่อเนื่องแล้ว ปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาจากฐานไหนใน ๔ ฐานก็ได้เช่นกัน เพราะเชื่อมโยงเป็นเอกายโน มคฺโค

การเพียรเพ่งฌานที่พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวถึงในพระสูตรต่างๆ ก็คือการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาอานาปานสตินั่นเอง เป็นองค์ภาวนาเพื่อให้เข้าถึงฌานในสัมมาสมาธิ อันมี ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จะได้ไม่ประมาท ไม่เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง ดังมีพระพุทธพจน์รองรับไว้ดังนี้

"ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว
ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้
เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
ข้อนี้เป็นความแตกฉานแห่งญาณข้อที่สามของอริยสาวกนั้น
เปรียบเหมือนลูกไก่เจาะเปลือกไข่ออก ฉะนั้น."

(เสขปฏิปทาสูตร)


สรุปว่า การจะทำให้มรรคสมังคีได้นั้น มรรคจะต้องครบองค์ ๘ ประการ จึงจะสมังคีจนกลายเป็นอริยมรรค ส่วนการจะบรรลุมรรคผลโดยไม่ต้องผ่านฌานนั้น เป็นเรื่องที่กล่าวกันขึ้นมาเองในภายหลัง เพราะเชื่อว่ามีการปฏิบัติที่ง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น อย่างที่ชอบแอบอ้าง เพื่อปิดบังความเกียจคร้านเพียรเพ่งของตน ยิ่งการปฏิบัติธรรมในมหาสติปัฏฐาน ๔ ด้วยแล้ว ต้องควรเรียนรู้ว่า ตนเองควรเริ่มต้นลงมือปฏิบัติธรรมจากตรงไหนอย่างไรจึงจะถูกต้อง เพื่อยังให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ อย่าปล่อยให้ความเชื่อมาครอบงำ ควรเป็นใหญ่ในความเชื่อด้วยตนเองจากการศึกษา เรียนรู้ตริตรองให้รู้เห็นตามความเป็นจริงดังนี้ สาธุฯ


เจริญในธรรมที่สมควรแก่ธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต







Create Date : 04 มีนาคม 2558
Last Update : 13 มีนาคม 2558 17:52:21 น.
Counter : 6768 Pageviews.

ความเพียรมีผล ความพยายามมีผล


ความเพียรมีผล ความพยายามมีผล


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์พระองค์นั้น

สวัสดีครับพบกับรายการสนทนาสาระธรรมแบบธรรมภูต เป็นการนำเอาผลของการปฏิบัติธรรมกรรมฐานมาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงกับพระพุทธพจน์

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว เรามักเรียกว่า "พระพุทธพจน์" หรือ "พระพุทธวจนะ" นั้น เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ดังพระดำรัสที่ทรงตรัสไว้ว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ เพราะความเพียร

เมื่อพิจารณาจากพระบาลี ควรปลุกใจทำความรู้จักกับคำว่า ทุกข์ ทุกข์ คือ สภาพธรรมที่บีบคั้น เบียดเบียน มีความลำบากกาย มีความคับแค้นใจ อันมีเหตุมาจากความไม่สมปรารถนา ไม่ได้ดั่งใจ ได้สิ่งของมาแล้วไม่ถูกใจ ตลอดถึงการพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรักชอบใจ เป็นเหตุแห่งความทุกข์ สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ว่า "ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ" ที่เรียกว่าสังขารร่างกายนี้ล้วนเป็น "ทุกข์"

ทุกข์ทางกาย คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือที่เรียกว่า สภาวทุกข์ นั้น ไม่มีใครที่ไม่รู้ว่าตนเอง เมื่อเกิดมาแล้วต้องเจริญเติบโตขึ้นตามกาลเวลา จนกระทั่งแก่เฒ่าเข้าวัยชรา ในระหว่างทางนั้น ต้องมีความเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยกันทุกคนไม่มากก็น้อย และต้องตกตายไปตามสภาวะอันควรแห่งกรรมกำหนดโดยไม่มีการยกเว้นให้ใครคนใดคนหนึ่งเลย

สภาวทุกข์ที่ต้องเกิดขึ้นด้วยกันทุกคนนั้น แม้รู้อยู่แก่ใจตนเองดี แต่ก็ยังไม่วายที่อยากจะยึดโยงให้อยู่กับสภาวะนั้นไปนานๆ สำหรับในพวกที่โชคดีมีบุญนำกรรมแต่งให้อยู่อย่างสุขกาย ส่วนพวกต้องทนทุกข์ยากลำบากกายที่มีวิบากแห่งกรรมกำหนดไว้ ก็อยากจะสลัดมันให้ออกไปให้ไกลๆโดยเร็ว

ทุกข์ทั้งหลายไม่ว่าทุกข์ทางกายหรือทุกข์ทางใจ ล้วนมาจากเหตุ คือ อวิชชา-ความโง่ไม่รู้จักทุกข์ ตัณหา-ความต้องการทะยานยาก อุปาทาน-ความยึดมั่นถือมั่นเอาขันธ์ ๕ เป็นตน โดยบทบาลีว่า สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธาทุกฺขา โดยย่นย่อแล้ว การยึดถือขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ดังนี้ โดยมี อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่ครอบงำจิตของตนอยู่ ทำให้เกิดทุกข์ทางใจ เรียกว่า ปกิณกะทุกข์

มีบทกลอนของท่านพ่อแม่ครูบาอาจารย์กล่าวไว้ดังนี้

ร้อนอะไร ในมนุษย์ ที่จุดจบ
ไม่ร้อนลบแรงราดซ้ำซากเผา
เพลิงตัณหา ราคา มิซาเซา
ร้อนรุมเร่า ลุกลน ไปจนตาย

อันร้อนกาย ไข้หนัก พอรักษา
ใช้หยูกยา ถูกตรง ก็คงหาย
แต่ร้อนจิต ติดแน่น สุดแคลนคลาย
เป็นโรคร้าย เรื้อรัง ไม่ฟังยา


ทุกข์ มีเหตุเกิดจากจิตเข้าไปยึดครองเอารูปร่างกายที่ตนได้อาศัยอยู่ว่าเป็นตน เป็นของๆ ตน โดยลืมไปว่ารูปร่างกายที่ปรากฏอยู่นี้ เป็นบิดา มารดาให้มา ส่วนชีวิตินทรีย์เกิดขึ้นจากบุญนำกรรมแต่ง ส่งให้ธาตุรู้หรือวิญญาณธาตุที่เรียกว่า "จิต" เข้าไปปฏิสนธิด้วยรูปร่างกาย เป็นปฏิสนธิจิตเข้ามาอาศัยถือครองสกลกายที่อาศัยนี้อยู่

จากพระบาลีที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้วว่า บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ เพราะความเพียรเราต้องพิจารณาเป็นมิติที่ทับซ้อนลงไป มิติแรกเป็นการล่วงทุกข์แบบโลกๆ คือ ความบากบั่นอุตสาหะฟันฝ่าต่อสู้ดิ้นรน เพื่อสร้างตนเองให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่สุขสบายกายดีขึ้น ด้วยความเพียรพยายามนั้น เป็นการล่วงพ้นทุกข์ ที่ยังมีความสุขและความทุกข์ เวียนเกิดเวียนดับสลับกัน มีทั้งทุกข์มีทั้งสุขเจือปนกันไป ขึ้นอยู่กับสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นมาในขณะนั้นๆ

โดยมองข้าม ทุกขอริยสัจ ที่ซ้อนเร้นอยู่ ซึ่งเป็นการล่วงทุกข์ในมิติที่ทับซ้อน ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนเน้นย้ำไว้ทุกๆ ที่ คือ อริยสัจ ๔ เป็นวิธีการที่จะพ้นทุกข์แบบถาวร ที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์ไว้สำหรับแก้ทุกข์ที่เหตุแห่งทุกข์ เพื่อให้จิตบริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เรียกว่า "อริยมรรค" คือเสันทางเดินของจิตเพื่อความเป็นอริยะ

เส้นทางที่ว่ามานั้น เป็นการฝึกฝนอบรมจิตของตน ไม่ใช่จิตของใครอื่น และอบรมจิตให้กันไม่ได้เสียด้วยสิ จิตใครจิตเค้า ที่ต้องแก้ไขไปตามจริตนิสัยที่จิตของตน ได้สั่งสมพฤติกรรมต่างๆ มาอย่างยาวนานนับไม่ถ้วน

เมื่อมีกล่าวถึงเรื่อง "ตน" มักเกิดการถกเถียงกันออกไปอย่างกว้างขว้าง เป็นด้วยมายาคติที่ได้ครอบงำความรู้สึกนึกคิดอยู่ว่า เมื่อมีการกล่าวถึงเรื่องตน ต้องเป็นเรื่องของอัตตาตัวตนเสมอไป เป็นการยึดมั่นถือมั่นล้วนๆ ขึ้นชื่อว่า "ตน" แล้ว เชื่อว่าต้องมีการยึดมั่นถือมั่นทั้งสิ้น

ส่วน "ตน" ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ในที่อื่นๆหลายพระสูตร ซึ่งเป็น "ตน" ในความหมายที่ทรงหมายถึง ตนที่เป็นที่พึ่งที่อาศัย เช่น ดูก่อนอานนท์ เธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง พระพุทธองค์ทรงหมายถึงจิตของพระอานนท์ที่ได้อบรมฝึกฝนมาดีแล้ว จิตของตนย่อมเชื่อถือได้ เชื่อมั่นได้ว่าอุดมไปด้วยศีล สมาธิ และปัญญา

เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสให้เห็นถึงความเข้าใจผิดของสามัญชนทั่วไป ที่ยังยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นของๆ ตน ไม่รู้จักเบื่อหน่าย ถ่ายถอน ซึ่งใน อนัตตลักขณสูตร นั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสชี้ชัดลงไปว่า อุปาทานขันธ์ ๕ นั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน (เป็นอนัตตา)

ลองพิจารณาพระบาลีคำว่า "อนัตตา" ให้ดีๆ ในความหมายชัดๆ คือ ไม่ใช่ตน คำว่า "ไม่ใช่" เป็นคำปฏิเสธสิ่งนั้นคือขันธ์ ๕ ว่า "ไม่ใช่ตน" แสดงว่าที่ "ใช่ตน" ต้องมี

เพื่อเป็นข้อเปรียบเทียบให้ชัดเจน ท้ายพระสูตรพระบาลีมีปรากฏคำว่า "อตฺตมนา ปญฺจวคฺคิยา ภิกฺขู" เมื่อพิจารณาจากพระบาลีคำว่า อัตตะมะนา มาจากคำว่า "อัตตา" รวมกับคำว่า "มโน" หมายความว่ามี "ใจเป็นตน" เข้าถึงตนอันเป็นที่พึ่งที่แท้จริงที่อยู่ ณ ภายใน

ซึ่งสอดคล้องกับพระบาลีในบัณฑิตวรรคแห่งพระธรรมบท กล่าวไว้ชัดเจนว่า
ปริโยท เปยฺย อตฺตานํ, จิตฺตกิเลเสหิ ปณฺฑิโต แปลว่า
บัณฑิตพึงชำระตนคือจิต ให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส

สรุปได้ว่า ความเพียรสูงสุด คือเพียรชำระจิตของตน ให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย เป็น วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ขั้นปรมัติ สาธุ



เจริญในธรรมที่สมควรแก่ธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต







Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2558
Last Update : 13 มีนาคม 2558 17:51:58 น.
Counter : 3914 Pageviews.

1  2  

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์