ความสำคัญของวันวิสาขบูชา


น้อมถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชา ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์พระองค์นั้น

เนื่องในวาระวันวิสาขบูชาได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง วันวิสาขบูชา เป็นวันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์นั้นได้เกิดตรงกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขมาส (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง จึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ"

เราชาวพุทธควรได้ตระหนักถึงความสำคัญในวันนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องนำมาพิจารณาศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบ เพื่อนำไปสมาทานสู่การปฏิบัติธรรม ในสิ่งที่ถูกที่ควรให้เกิดมีขึ้นในตน

พระพุทธองค์ได้ทรงประสูติในวันนี้ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นการประสูติในพระชาติสุดท้ายของพระพุทธองค์ ด้วยพระพุทธองค์ได้ทรงสร้างสมทศบารมีธรรม บวกรวมกับบารมีธรรมอันมีองค์ประกอบเป็นบารมีธรรม ๓๐ ทัศ

การได้มาซึ่งบารมีดังกล่าว พระพุทธองค์ทรงต้องใช้ระยะเวลาอย่างยาวนานนับไม่ถ้วน กว่าที่บารมีธรรมเหล่านี้จะครบสมบูรณ์นั้น ต้องอาศัยความพากเพียรพยายามอย่างยิ่งยวดจึงสำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ลงได้

เมื่อเรารู้แล้วว่า พระพุทธองค์ทรงต้องอาศัยความพากเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด ในการสร้างสมทศบารมีธรรมให้สำเร็จเสร็จสมบูรณ์ เพื่อเป็นกำลังหนุนสำคัญในกาลข้างหน้า ก่อเกิดเป็นศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อนำไปสู่การตรัสรู้เองโดยชอบด้วยพระองค์เอง

การสำเร็จเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาตินี้ เป็นเรื่องที่แสนเหนื่อยยากลำบากทั้งกาย-ใจของพระพุทธองค์ ไม่ใช่ทรงได้มาแบบง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น อย่างที่มีความพยายามหลอกล่อให้เชื่อว่ามีเรื่องการปฏิบัติธรรมแบบง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้นจริง

แล้วพระพุทธองค์ทรงตรัสว่ารู้เรื่องอะไรล่ะ? จึงสามารถทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเครื่องขวางกั้นทางที่นำไปสู่ความดับทุกข์ทั้งปวงได้

อวิชชา คือ ความไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ไม่กำหนดรู้ว่านั่นทุกข์ ไม่เพียรพยายามละเหตุแห่งทุกข์ จิตของตนจึงหลงไหลได้ปลื้มไปกับรูป-นามขันธ์ ๕ หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเอารูป-นามขันธ์ ๕ ที่จิตของตนอาศัยอยู่นั้น ว่าเป็นตน เป็นของๆ ตน

เมื่อพระพุทธองค์ทรงได้มารู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงแล้ว ทำให้พระพุทธองค์ทรงรู้จักเหตุ และความสิ้นไปของเหตุแห่งธรรมทั้งหลายนั้น เพราะจิตของพระองค์ไม่หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเอารูป-นามขันธ์ ๕ ที่จิตยึดครองอยู่นั้น ว่าเป็นตน เป็นของๆ ตน

ดังในอนัตตลักขณสูตร ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วว่า รูป-นามขันธ์ ๕ (นั่น)ไม่ใช่เรา เราไม่เป็นนั่น (รูป-นามขันธ์ ๕) รูป-นามขันธ์ ๕ (นั่น)ไม่ใช่ตัวตนของเรา ในครั้งกระนั้นมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ เพราะรู้เห็นตามความเป็นจริง จิตเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตจึงหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในรูป-นามขันธ์ ๕

เมื่อจิตของตนไม่หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูป-นามขันธ์ ๕ ก็ไม่มีการปรุงแต่ง (วิสังขาร) เมื่อไม่มีการปรุงแต่ง เวทนาต่างๆ เช่น สุข-ทุกข์ ก็ไม่เกิดขึ้นที่จิต เมื่อเวทนา สุข-ทุกข์ ไม่เกิดขึ้นที่จิต จิตก็ไม่ต้องไปจดจำ (สัญญา) มาเป็นอารมณ์ เมื่อไม่ต้องไปจดจำมาเป็นอารมณ์ จิตก็ไม่แจ้ง (วิญญาณ) ในอารมณ์นั้นๆ

มีพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรับรองไว้ดังนี้
"วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา แปลว่า
จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว"

เมื่อกล่าวถึงเรื่อง "จิต" มักเป็นที่ถกเถียงไม่ลงกันไปในกว้าง นักตำรานิยมที่ได้ศึกษาค้นคว้าจากการอ่าน จำ นึก คิด เชื่อไปตามตำรา ที่มีการเพิ่มเติ่มเสริมแต่งขึ้นในภายหลังว่า "จิตบังคับบัญชาไม่ได้" เนื่องเพราะจิตเหลวไหลปรวนแปรไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามาครอบงำจิตของตน จึงมีความรู้สึกไปว่าจิตของตนนั้นไม่สามารถบังคับบัญชาได้

มีเรื่องแปลกแต่จริงของนักตำรานิยมในปัจจุบัน ที่โยนทุกๆ อย่างลงไปที่จิต เพราะเชื่อตามๆ กันมาว่า จิตมีเป็นร้อยๆ ดวง เป็นที่รองรับของอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นกลางๆ แถมยังเชื่อไปว่า อารมณ์เกิดจิตจึงเกิด อารมณ์ดับจิตจึงดับ และทั้งหมดนี้ ย่นย่อลงเป็น "ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์ เท่านั้นที่ดับไป"

แล้วทุกข์เกิดขึ้นที่ไหน? ถ้าไม่ใช่เกิดขึ้นที่จิตของตน จิตคือผู้รู้ อารมณ์คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ เมื่อสิ่งที่ถูกรู้ดับไป จิตรู้มั้ย? ย่อมต้องรู้แน่นอน

ได้โยนทุกสิ่งทุกอย่างลงไปที่จิต แต่เมื่อเก็บกวาดทุกสิ่งทุกอย่างที่โยนลงไปนั้น จนสะอาดหมดจด กลับเชื่อไปอีกว่า ไม่ใช่สะอาดที่จิต แต่ไปสะอาดที่ไหนก็ไม่รู้ โดยขาดความสำนึกพิจารณาให้รอบคอบ ไม่ตริตรองด้วยเหตุผลตามความเป็นจริง เชื่อไปแบบเชื่อตามๆ กันมา

เราเพียงแค่ใช้หลักตรรกะง่ายๆ ก็จะเห็นได้ว่า จิตของตนนั้นสามารถฝึกฝนอบรมให้เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง ควบคุมบังคับให้คงที่ได้ มีพระพุทธพจน์ตรัสรับรองไว้ว่า "จิตเที่ยงตรงคงที่ ต่อพระนิพพาน"

ถ้าจิตของตนไม่อาจบังคับบัญชาได้จริงๆ แล้ว ในโลกนี้คงเกิดเรื่องโกลาหลวุ่นวายน่าดู เพราะเมื่อจิตของตนเกิดมีทุกข์เป็นความอาฆาตมาดร้ายขึ้นมา ก็อย่าได้หวังเลยว่า จิตของตนจะหายไปจากความทุกข์ที่เกิดขึ้นมานั้นได้ เพราะจิตของตนไม่สามารถบังคับบัญชาได้ อย่างที่เคยเชื่อแบบตามๆ กันมานั่นเอง

เมื่อไม่นานนี้ได้พบท่านพระอาจารย์ที่เคารพ ท่านมาเทศน์อบรมญาติโยมในกรุงเทพ มีตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า ญาติโยมที่นั่งฟังอยู่นี้ ล้วนมีความรู้ โดยเฉพาะความรู้ในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าด้วยแล้ว ท่านเทศน์อะไรไปรู้หมด แต่ทำไมจึงยังลด ละ เลิกไม่ได้เสียที อย่างอาตมาเองนั้นไม่รู้อะไรมากเลย รู้เพียงว่า หายใจเข้ารู้ว่า "พุท" หายใจออกรู้ว่า "โธ" เท่านั้น ทำไมถึง ลด ละ เลิกได้ล่ะ ครั้งแรกที่บวชก็ว่าจะบวชเพียงแค่พรรษาเดียวเพื่อแก้บน เผลอแผลบเดียว พรรษาที่ ๔๐ เข้าไปแล้ว

โดยความเป็นจริง จิตของทุกๆคน ล้วนมีทั้งสุข ทุกข์ รัก ชอบ ชัง หมุนเวียนเปลี่ยนไป ปรวนแปรไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่เข้ามาครอบงำจิตของตนอยู่ในขณะนั้นๆ เป็นทุกข์ไปกับการเปลี่ยนแปลงแปรปรวน แต่กลับมองไม่ออก เพราะการเปลี่ยนแปลงปรวนแปรที่เป็นทุกข์โดยปรมัติเกิดขึ้นนั้น ยังมีทั้งรัก ชอบ ชัง ที่ทำให้เป็นสุขอันประกอบด้วยอามิสเจืออยู่ เป็นเครื่องฉาบทาไว้เพื่อลวงตา

มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ว่า

"เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่ การสมมติว่าสัตว์ (จิตที่ติดข้องในอารมณ์) ย่อมมี ฉันนั้นฯ ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด ทุกข์ย่อมตั้งอยู่และเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับฯ"

เมื่อพิจารณาตามพระพุทธพจน์ข้างต้น จะเห็นว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกทั้งหลาย ที่เรียกว่า "โลกียธรรม" นั้น ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่และเสื่อมสิ้นไปตามเหตุปัจจัย พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนไว้ในอริยสัจ ๔ว่า ทุกข์ ควรกำหนดรู้ สมุทัย ต้องละเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย สิ่งสำคัญอันนำไปสู่ "โลกุตตรธรรม" เพื่อจิตพ้นโลก (ทุกข์) จิตพ้นจากสิ่งติดข้องทั้งหลาย (สัตว์) คือ มรรค ทางเดินของจิตนำไปสู่ความเป็นอริยะ ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงย่อมดับไปเป็น นิโรธ

สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำและให้ความสำคัญยิ่ง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นปัจจัยหลักที่ทำอริยสัจ ๔ ให้บริบูรณ์ เราสามารถแยกหมวดอริยมรรคออกเป็นหมวดๆ ดังนี้คือ ๑.สัมมาทิฐิ ๒.สัมมาสังกัปปะ เป็นหมวดปัญญา ๓.สัมมาวาจา ๔.สัมมากัมมันตะ ๕.สัมมาอาชีวะ เป็นหมวดศีล ๖.สัมมาวายามะ ๗.สัมมาสติ ๘.สัมมาสมาธิ เป็นหมวดสมาธิ

อริยมรรคมีองค์ ๘ ดังกล่าว มีพระพุทธพจน์ตรัสรับรองไว้ในมหาจัตตารีสกสูตรดังนี้

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ แก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังสัมมาสมาธินั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้าฯ"

สัมมาสมาธิของพระอริยะ ต้องมีองค์ประกอบอีก ๗ ที่เหลือ ในองค์ประกอบ ๗ ประการที่เหลือนั้น พระพุทธองค์ทรงยกให้สัมมาทิฐิ คือการรู้เห็นตามความเป็นจริงเป็นประธาน เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบพอสรุปได้ว่า การที่รักษาจิตของตนให้สงบตั้งมั่นไม่ไหวหวั่นได้นั้น ย่อมทำให้มีสติรู้เห็นอริยมรรคองค์อื่นๆ ตามความเป็นจริงได้ เป็นการเห็นชอบ (สัมมาทิฐิ) เพราะจิตมีสติสงบตั้งมั่น ส่วนบุคคลที่ยังมีจิตหวั่นไหววุนวายเป็นอาจิณอยู่นั้นฉันใด ย่อมไม่อาจรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงได้ฉันนั้น

บทสรุปสุดท้าย

สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้คืออริยสัจ ๔ นั้น เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา ซึ่งเป็นข้อธรรมที่แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะทั้งสองสิ่งนี้เป็นอัญญะ-มัญญะปัจจัย สนับสนุนซึ่งกันและกันตลอดเวลา ตามกำลังสติ สมาธิ ปัญญา

มีข้อสังเกตแบบง่ายๆ คือ บุคคลที่มีจิตใจยังไม่สงบสับสนวุ่นวายหวั่นไหวได้ง่ายนั้น ยังจะหวังว่าเข้าถึง "โลกุตตรธรรม" ได้หรือ ต่อให้บุคคลนั้น เป็นคนที่มันสมองดี เรียนเก่ง มีปริญญายาวเป็นหางว่าวก็เถอะ เมื่อยังไม่สามารถทำจิตของตนให้สงบตั่งมั่นไม่หวั่นไหวได้อย่างรวดเร็วแล้วล่ะก็ ความรู้ความเข้าใจเหล่านั้นย่อมไม่มีความหมายต่อการหลุดพ้นเลย ดังนี้



เจริญในธรรมทุกๆท่านครับ
ธรรมภูต








Create Date : 01 มิถุนายน 2558
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2560 13:54:57 น.
Counter : 1322 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์