ดูจิตให้ดูที่สมถะและวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น
ดูจิตให้ดูที่สมถะและวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น
เมื่อพูดถึงการ "ดูจิต" นักปฏิบัติธรรมกรรมฐาน คนรุ่นใหม่มักเข้าใจไปว่า คือการระวัง "กายใจ" หรือที่เรียกว่า "สังวรอินทรีย์" นั้น นั่นเป็นการปฏิบัติธรรมขั้นวิปัสสนากรรมฐาน (ปัญญา) แล้ว และพากันเข้าใจไปว่า นี้เป็นทางที่ง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น เหมาะสำหรับบุคคลที่มีปัญญา ไม่มีเวลา "ภาวนามยปัญญา" การ "ดูจิต" ที่ขาดพื้นฐานสำคัญคือ การ "ภาวนา" ที่เรียกว่า "สมถะกรรมฐาน" นั้น นั่นเป็นเพียงการดูจิตที่ติดอยู่กับความคิดเองเออเองของตน ไม่ใช่การ "ดูจิต" ที่เกิดจากพิจารณา "จิตในจิต" ซึ่งเป็นการ "ดูจิต" ในมหาสติปัฏฐาน ที่รู้จักจิตและอาการของจิตที่ดิ้นรนกวัดแกว่งไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดตามความเป็นจริง แต่การ "ดูจิต" ที่ติดความคิดเองเออเองของตน เป็นความคิดปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อหลอกตนเองว่า "รู้สึกเฉยๆ" (อัญญาณุเบกขา) ความ "รู้สึกเฉยๆ" ที่เป็นเพียงความ "รู้สึก" ที่ปรุงแต่งขึ้นเอง ไม่ใช่ "เฉย" ที่เป็นอุเบกขาธรรม อันเกิดจากปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาสำเร็จ จนปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้ โดยมีอัตโนมัติอาจารย์บางท่าน ได้สั่งสอนตามมติของตน จนเกิดความสับสน ทำให้มองข้ามความสำคัญของ "สมถะกรรมฐานภาวนา" อันมี "สัมมาสติ" ในอริยมรรคเป็นพื้นฐานของกรรมฐาน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นของจิต กลับมีการแอบอ้างว่า "การเจริญสมถะกรรมฐานภาวนา" ที่ว่านั้น เป็นเพียงแค่รูปแบบบ้างล่ะ เป็นเพียงหินทับหญ้าบ้างล่ะ เป็นการหลีกหนีปัญหาบ้างล่ะ ฯลฯ แถมยังลบหลู่พุทธปัญญา โดยกล่าวหาว่าการเพียรเพ่งภาวนาที่ว่านั้น เป็นการทำให้การปฏิบัติธรรมของตนเนิ่นช้าลง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ยืนอยู่บนหลักเหตุผล มีพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วว่า "สมถะกรรมฐานภาวนา" หรือที่เรียกว่า "ภาวนามยปัญญา" นั้น เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ที่ทำให้เข้าถึงวิปัสสนาญาณในขั้นปรมัตถ์ธรรม เพื่อความหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งหลายได้ หากกล่าวถึงเรื่อง "สมถะกรรมฐานภาวนา" หรือที่เรียกว่า "ภาวนามยปัญญา" ได้มีนักฉกฉวยโอกาสบางพวก กลับไปอ้างเอา "สมถะภาวนากรรมฐานของพวกพราหมณ์" ซึ่งเป็น "สมถะ" ที่เกิดมีมาก่อนพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นเสียอีก ว่าเป็นการ "ภาวนา" ในพระพุทธศาสนา "สมถะภาวนากรรมฐานแบบพราหมณ์" นั้น ทำให้เกิดปัญญาได้เช่นกัน แต่เป็นปัญญาในทางโลก (โลกียปัญญา) ไม่อาจที่จะนำจิตของตนไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์ได้ ยังจัดว่าอยู่ใน "เฉยโง่" เป็นอุเบกขาที่ประกอบไปด้วยอามีส (เครื่องล่อ) เป็นการปฏิบัติธรรมทางจิตของพวกพราหมณ์ เพื่อให้จิตของตนเองสงบตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ฌานอันละเอียดอย่างแนบแน่น เป็นสุขอยู่กับอารมณ์รูปฌาน และอรูปฌาน เป็นการปฏิบัติธรรม เพื่อละวางอารมณ์หยาบ นำไปสู่การติดอยู่ในอารมณ์อันละเอียด ที่เป็นสุขกว่าอารมณ์หยาบอย่างมากมาย แต่ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้ ฉะนั้น "สมถะกรรมฐานภาวนาของพวกพราหมณ์" ที่กล่าวถึงนี้ ย่อมทำให้จิตสงบตั้งมั่นได้จริง แต่ "จิตของตน" ก็ยังมีความหวั่นไหวไปกับอารมณ์ รูปฌานและอรูปฌาน อันละเอียดที่เป็นสุขอยู่นั้น ตลอดเวลาเช่นกัน จิตของตนยังเจือปนไปด้วยทุกข์อยู่ เพราะเกรงไปว่าอารมณ์ฌานอันละเอียดที่ตนยึดไว้เป็นสุขอยู่นั้น จะจืดจางลงไป ยังต้องอาศัยสัญญาจดจำอารมณ์กรรมฐานนั้น จิตจึงยึดมั่นในอารมณ์ฌานอันละเอียดเหล่านั้นไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมปล่อยวางลงไปสักที เพราะจิตปล่อยวางอารมณ์ออกไปไม่เป็นนั่นเอง มีพระพุทธพจน์ตรัสรับรองไว้ถึงผู้ที่ได้อารมณ์ฌานอันละเอียดเหล่านั้นว่า "เป็นผู้ที่มีกิเลสเบาบาง เป็นบัณฑิต ฉลาด มีเมธา มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อย" แต่ไม่สามารถเชื่อมต่อไปถึงขั้นวิปัสสนาญาณ(รู้เห็นตามความเป็นจริง) เพื่อให้เกิดปัญญา นำไปสู่การหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงไปได้เลย เพราะยังมีอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น(ทิฐิ)อยู่ กับฌานอันละเอียดเป็นสุข ที่เกิดจาก "ถิรสัญญา" นั่นเอง สรุปได้ว่า "สมถะกรรมฐานภาวนา" ที่เป็นฌานซึ่งมีมาก่อนพระพุทธองค์จะอุบัติขึ้นมานั้น เป็น "สมถะกรรมฐานภาวนา" ที่มีพวกนักฉวยโอกาสมักชอบนำมาแอบอ้าง เพื่อให้นักปฏิบัติธรรมที่เป็นอนุชนคนรุ่นใหม่ หลงเข้าใจผิด จนเกิดการกลัวต่อการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน "สมถะภาวนา" ที่เป็น "ภาวนามยปัญญา" หรือที่เรียกว่า "สัมมาสมาธิของพระอริยะ" โดยสอนให้ข้าม "สมถะภาวนา" ตามแบบพระพุทธองค์ มุ่งหน้าสู่การ "ดูจิต" อันเป็น "วิปัสสนากรรมฐาน" เพียงอย่างเดียวก็พอ เป็นการปฏิบัติธรรมด้วยวิธีที่ง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น เหมาะกับคนมีปัญญาและไม่มีเวลา (ไม่มีเวลาแม้กระทั่งหายใจ อย่างนั้นล่ะหรือ?) โดยไม่ต้องพากเพียรพยายาม ด้วยความลำบากยากเย็น กับการต้อง "เพียรเพ่งภาวนา" อะไรเลย แถมยังขู่สำทับว่า "ความพากเพียรเพ่งภาวนา" ข้างต้นนั้น จัดเป็นพวก "อัตกิลมถานุโยค" ไปแบบหน้าตาเฉย(โง่) ส่วนการปฏิบัติธรรม "ดูจิต" แบบง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น ที่มีในปัจจุบัน กลับกลายเป็นการปฏิบัติธรรมชั้นสูง เพียงแค่คอยระวังกาย วาจา ใจของตน หรือที่เรียกว่า "สังวรอินทรีย์" และคอยตามระลึกรู้อยู่กับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่เป็นเหตุใกล้ เพื่อให้ "สติ" เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เพียงแค่นี้ ก็กล่าวว่าเป็นการเดินสู่วิปัสสนาญาณ (รู้เห็นตามความเป็นจริง) แล้ว ตามที่ "อัตโนมัติอาจารย์" บางท่าน กล่าวสอนมานั้น ในความเป็นจริงแล้ว วิธีดังกล่าวเป็นเพียง "ถิรสัญญา" ไม่ใช่ "สติปัญญา" ที่เกิดจากการประกอบ "ภาวนานุโยค" (มีพระพุทธพจน์รองรับ) เพราะเหตุใดจึงไม่สามารถ "ดูจิต" ได้ โดยข้ามผ่านขั้นตอนของ "สมถะกรรมฐานภาวนา" ไป เพราะการ "ปฏิบัติธรรมสมถะกรรมฐาน" นั้น ได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติ "ภาวนามยปัญญา" ทำให้รู้จักจิต และอาการของจิต ที่เป็นสุข-ทุกข์ หวั่นไหว ไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด เมื่อยังไม่รู้จัก "จิต" ก็ควรปฏิบัติธรรมตามพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว คือ ให้หมั่นฝึกฝนอบรมจิตด้วยการ "ประกอบภาวนานุโยค" ทุกข์ควรกำหนดรู้ เมื่อระลึกรู้แล้ว ไม่ต้องจดจำเพราะระลึกรู้ได้แล้ว ควรละเหตุแห่งทุกข์ ไม่ใช่แบบที่สอนให้เข้าใจแบบ "ผิดๆ" ว่า เมื่อรู้แล้ว กลับให้จดจำอารมณ์นั้นเอาไว้อย่างแม่นยำจนขึ้นใจ กลายเป็น"ถิรสัญญา" ไป เป็น "รู้" ที่เกิดจาก "สัญญา" ย่อมจืดจางลงได้ตามกาลเวลา เพราะเป็น "สัญญาอารมณ์" ไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ส่วน "รู้" ที่เกิดจาก "ภาวนามยปัญญา" อันมีพื้นฐานมาจากสัมมาสติในอริยมรรค ๘ ที่มีองค์ภาวนาอยู่ในกายสังขารของตน จิตของผู้ภาวนาอยู่นั้น เมื่อระลึกรู้ได้แล้ว (สัมมาสติ=ระลึกชอบ) ย่อมเกิดสติปัญญา แลเห็น (รู้เห็นตามความเป็นจริง) ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รูป-นามขันธ์ ๕ ที่จิตของตนเคยหลงผิดยึดมั่นเอาไว้ ว่าเป็นของๆตนได้อย่างชัดเจน ที่เรียกว่า "รู้ชัดว่า" ดังพระพุทธพจน์ทรงตรัสไว้ว่า "จิตตันติ" หรือ "รู้ชัดว่า" เมื่อจิต "รู้ชัดว่า" อะไรเป็นอะไร (รู้เห็นตามความเป็นจริง) ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด จิตจึงบริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ * จากบทความนี้ ได้มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสรับรองไว้อย่างมากมายในหลายพระสูตร แต่ละพระสูตรนั้น ล้วนเชื่อมโยงถึงกันหมด โดยเฉพาะพระพุทธพจน์ในสมาธิสูตรต่างๆ พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า "สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้" (สมาธิสูตร) * "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลสามเบื้องต่ำที่กำหนดไว้เท่าใด ที่บุคคลพึงบรรลุด้วยญาณของพระเสขะ ด้วยวิชชาของพระเสขะ ผลนั้นทั้งหมดข้าพระองค์บรรลุแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่ยิ่งขึ้นไปแก่ข้าพระองค์เถิด ดูกรวัจฉะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงเจริญธรรมทั้งสอง คือ สมถะและวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้นไปเถิด ดูกรวัจฉะ ธรรมทั้งสอง คือสมถะและวิปัสสนานี้ เธอเจริญให้ยิ่งขึ้นไปแล้ว จักเป็นไปเพื่อแทงตลอดธาตุหลายประการ" (มหาวัจฉโคตตสูตร) * บทส่งท้าย การศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น ควรยืนอยู่บนหลักเหตุผล ที่ตริตรองตามความเป็นจริงได้ แล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดมรรคผลขึ้นจริงๆ แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นว่า สอนให้มีความเชื่อไว้ก่อนโดยขาดการพิสูจน์ หรือตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง ว่าลงกันได้กับ "พระธรรมและพระวินัย" หรือไม่ ทั้งๆ ที่ความรู้ ความเชื่อ ที่ได้เรียนรู้มานั้น เป็นความรู้ที่ขาดเหตุผล อันจะตริตรองตามความเป็นจริงได้ เป็นเพียง "ตรรกะ" อาศัยปัญญาทางโลก(สัญญา) แต่ก็ยังจะเลือกในทางที่จะเชื่อไว้ก่อน เพราะเป็นความเชื่อที่สอนตามๆ กันมา และชอบตรงที่ง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น และความเชื่อที่ว่านั้น ยังสร้างความขัดแย้งในวงการปฏิบัติธรรม ทำให้ท่านพระอาจารย์ทั้งหลายที่เป็นนักปฏิบัติ ฝ่ายปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ซึ่งอยู่ทางฝ่ายอรัญญวาสี ที่เน้นหนักในเรื่องการ "ภาวนามยปัญญา" หรือที่เรียกว่า "สัมมาสมาธิ" หมดความน่าเชื่อถือลงไป เท่ากับเป็นการจ้องทำลายล้างฝ่าย "สมถกรรมฐานภาวนา" อันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ให้หมดสิ้นไปจากพระพุทธศาสนา ดีๆนี่เอง เจริญในธรรมทุกๆท่าน ธรรมภูต การดูจิตติดถิรสัญญา แต่หลงเข้าใจไปว่า ทำให้เกิดปัญญาได้
ในปัจจุบันนี้ มักมีการตีความคำว่า สัญญา กับ สติ ปนเปกันไปหมด โดยไม่ใช้หลักเกณฑ์ในพระพุทธวจนะเป็นเครื่องตัดสิน พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์เรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน และสามารถนำมาเปรียบเทียบ เทียบเคียง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจได้ถูกต้องตามความเป็นจริงยิ่งๆขึ้น
คำว่า สัญญา กับ สติ นั้น เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไปนานเข้า ความเข้าใจในเรื่องสติและสัญญา ถูกนำมาใช้แบบผิดๆ จนกระทั่งเกิดคำศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น คำว่า ถิรสัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายได้อย่างแม่นยำ ซึ่งก็คือ "สัญญาขันธ์" ดีๆนั่นเอง จำได้หมายรู้ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้บ่อยๆครั้งเข้า จนจดจำอารมณ์นั้นได้อย่างแม่นยำ เลยเรียกว่าเกิด "ถิรสัญญา" ขึ้น เมื่อมีการนำคำว่า ถิรสัญญา มาถกธรรมกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ความหมายของคำว่า ถิรสัญญา ก็ยิ่งพิศดารพันลึกมากขึ้นไปด้วยโดยลำดับ จนกระทั่งเข้าใจไปเองว่า ถิรสัญญานี่แหละ ทำให้มีความสามารถในการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆได้ หรือ ตัว "ถิรสัญญาเป็นตัวปัญญาเสียเอง" เลยก็มี ซึ่งเป็นการสอนที่ผิดไปจากความเป็นจริง และขัดแย้งกับพระพุทธพจน์โดยสิ้นเชิง คำสั่งสอนที่มีมาในพระสูตรชั้นต้นๆ ทรงสั่งสอนให้ฝึกฝนอบรม ศีล สมาธิ(สติ) ปัญญา ที่เรียกว่า"ทางอันเอก" ไม่มีตรงไหนในพระสูตร ในพระพุทธวจนะ ที่ทรงสั่งสอนให้ฝึกฝนอบรม "ถิรสัญญา" ให้เกิดขึ้น มีแต่ทรงสั่งสอนให้เพียรสร้างสติ เพื่อยังสมาธิให้เกิดขึ้น จึงจะรู้เห็นตามความเป็นจริงได้ โดยผู้ปฏิบัติธรรม ต้องกระทำให้มาก เจริญให้มาก ซึ่งอานาปานสติกรรมฐาน สัญญา นั้น เป็นหนึ่งในขันธ์ ๕ มีหน้าที่จดจำและหมายรู้ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ทั้งฝ่ายกุศล อกุศล และอัพยากฤตธรรมทั้งหลาย ซึ่งมีพระพุทธพจน์กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า สัญญาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ ยิ่งเป็น "ถิรสัญญา" ด้วยแล้ว ยิ่งจะต้องถูกปฏิเสธไปยิ่งกว่าสัญญาขันธ์เสียอีก เพราะอะไร? เพราะว่า ยิ่งจิตจดจำสัญญาอารมณ์ทั้งหลายได้อย่างแม่นยำเท่าไหร่ จิตยิ่งสร้างความคุ้นชินให้เกิดขึ้นต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อจิตจดจำอารมณ์ได้อย่างแม่นยำ (จนคุ้นชิน) แล้ว รู้จักอารมณ์เหล่านั้นเป็นอย่างดี จึงสามารถเก็บอาการ (ทางกายและวาจา) ได้ เมื่อกระทบกับอารมณ์เหล่านั้น ก็ไม่แสดงอาการของจิตออกไปทางกายและวาจาให้เห็นได้ แต่จิตใจยังรับอารมณ์ (เกิดมโนวิญญาณ) เร่าร้อนอยู่ เพราะจิตได้คุ้นชินกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นนั่นเอง เป็นเพียงปัญญาทางโลก ที่เกิดจากถิรสัญญาเท่านั้น ไม่ใช่ปัญญาทางธรรม เพราะยังปล่อยวางอารมณ์ไม่เป็น ย่อมแตกต่างจาก สัญญา ๑๐ ประการ ที่มีมาในอาพาธสูตร สัญญา ๑๐ ประการ ได้แก่ อนิจจสัญญา ๑ อนัตตสัญญา ๑ อสุภสัญญา ๑ อาทีนวสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ นิโรธสัญญา ๑ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ๑ อานาปานัสสติ ๑ สัญญา ๑๐ นี้ พระพุทธองค์ท่านทรงให้ท่านพระอานนท์นำไปสาธยายให้ ท่านพระคิริมานนท์ซึ่งป่วยหนัก เพื่อแก้ทุกขเวทนา อันเป็นเหตุให้ทุกขเวทนาสงบระงับลงโดยเร็ว ได้ฟัง สัญญา ๑๐ ล้วนเป็นสัญญา อันเป็นเหตุให้ปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆทั้งหลายออกไปจากจิตของตน ด้วยการพิจารณาเห็นว่า ควรวางจิตอย่างไร? เพื่อให้ถ่ายถอนความยึดมั่นถือมั่นออกไปได้ ตามกำลังของสัมมาสมาธิในองค์แห่งอริยมรรคที่ตนได้ปฏิบัติไว้ จิตจึงสามารถปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายออกไปได้ โดยอาศัยอานาปานสติหรือพิจารณากายในกาย (สัมมาสมาธิ) เป็นบาทฐานนั่นเอง สัมมาสมาธินั้นเป็นการเริ่มต้นด้วยสัญญาก็จริง แต่การดำเนินงานทางจิตต่อไป ล้วนเป็นไปเพื่อปล่อยวางอุปกิเลสทั้งหลายออกไปให้ได้ เกิดจากการสร้างสติให้เกิดขึ้น เพื่อระลึกรู้ในสัญญาเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องเนืองๆอยู่ จนกระทั่งจิตระลึกได้ จิตเกิดนิพพิทาญาณ ย่อมเห็นความเกิดดับของสรรพสังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความเบื่อหน่ายในอุปาทานขันธ์ทั้งหลาย เมื่อเบื่อหน่าย จิตย่อมคลายกำหนัด เมื่อจิตคลายกำหนัด จิตก็หลุดพ้นโดยลำดับ แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ ไม่ใช่การจำได้หมายรู้อย่างแม่นยำ ที่เรียกว่า "ถิรสัญญา" แต่ประการใดเลย เป็นการระลึกรู้ (สัมมาสติ) ถึงสัญญา ๑๐ ประการเหล่านั้น ได้อย่างชำนาญจนเป็นวสี (ไม่ต้องจำ ระลึกได้แล้ว) กระทั่งจิตเกิดญาณปัญญา รู้เห็นตามความเป็นจริงในข้อธรรมทั้งหลาย (อุปาทาน) เหล่านั้นนั่นเอง ส่วนที่มีการสอนว่า ถิรสัญญานั้นให้จำได้อย่างแม่นยำลงที่กายและใจนั้น ปุถุชนคนทั่วไปทั้งคนดีและคนชั่วทุกคน เมื่อเผลอไป เมื่อมีการระลึก (จำ) ขึ้นมาได้นั้น ล้วนระลึกลงไปที่กายและใจหรือ รูป-นามของตนเองด้วยกันทั้งสิ้น ไม่อาจที่จะระลึกได้ในที่อื่นนอกไปจากกายและใจของตนเองเลย อย่างเช่น พวกที่ชอบสร้างอกุศลธรรม-กรรมชั่วเป็นนิจ ทำจนจิตติดเป็นนิสัยสันดาน ล้วนมีถิรสัญญาในอกุศลธรรมกรรมชั่วทั้งหลายเหล่านั้นเช่นกัน จนจิตคุ้นชิน ไม่สะดุ้งสะเทือนต่อบาปอกุศลทั้งหลายที่ตนได้กระทำลงไปเลย ขณะเมื่อกระทำอกุศลธรรมกรรมชั่วอยู่นั้น แม้ระลึกได้ว่ายังมีพลเมืองดีและตำรวจคอยสอดส่องอยู่ ก็ระลึกได้ลงที่กายและที่ใจของตนเองทั้งสิ้น ไม่เห็นว่าถิรสัญญาที่ว่ามานั้น จะช่วยให้เกิดปัญญาเพื่องดเว้น ละวางอกุศลธรรมกรรมชั่วที่กำลังทำอยู่นั้นได้เลย ส่วนถ้าเป็นถิรสัญญาในฝ่ายกุศลนั้น ล้วนเป็นเรื่องดี ช่วยให้เป็นคนดีของสังคมได้ ซึ่งไม่แตกต่างไปจากที่ศาสนาอื่นสอนๆกันอยู่ ล้วนสั่งสอนให้ทำถิรสัญญาให้เกิดขึ้นเช่นนี้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้พ้นทุกข์ หรือ ทำให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสและอุปกิเลสทั้งหลายได้เลย ถิรสัญญาที่สอนกันอยู่นั้น เป็นเพราะผู้สอนเองยังไม่มีภูมิธรรมคุณธรรมความดีในตนพอ และเข้าใจผิดไปเอง เมื่อเห็นตนเองนั้น มีความสามารถในการยับยั้งอารมณ์บางอย่างได้ ก็เข้าใจไปว่า นั่นคือการปล่อยวางอารมณ์ลงได้ ซึ่งเป็นแต่เพียงการปล่อยวางลงได้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ยังไม่ใช่เป็นการละเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง เราชาวพุทธจำเป็นต้องลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เพื่อให้จิตสงบมีกำลังสติคอยระลึกรู้อยู่ที่สัญญา ๑๐ ประการข้างต้น ด้วยความชำนาญจนเป็นวสี คือ ระลึกได้โดยไม่ต้องจำ จึงจะทำจิตให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้... เจริญในธรรมทุกๆท่าน ธรรมภูต |
ในความฝันของใครสักคน
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์ Group Blog All Blog |
||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |