การดูจิตติดถิรสัญญา แต่หลงเข้าใจไปว่า ทำให้เกิดปัญญาได้
ในปัจจุบันนี้ มักมีการตีความคำว่า “สัญญา” กับ “สติ” ปนเปกันไปหมด โดยไม่ใช้หลักเกณฑ์ในพระพุทธวจนะเป็นเครื่องตัดสิน พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์เรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน และสามารถนำมาเปรียบเทียบ เทียบเคียง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจได้ถูกต้องตามความเป็นจริงยิ่งๆขึ้น

คำว่า “สัญญา” กับ “สติ” นั้น เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไปนานเข้า ความเข้าใจในเรื่องสติและสัญญา ถูกนำมาใช้แบบผิดๆ จนกระทั่งเกิดคำศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น

คำว่า “ถิรสัญญา” คือ ความจำได้หมายรู้ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายได้อย่างแม่นยำ ซึ่งก็คือ "สัญญาขันธ์" ดีๆนั่นเอง จำได้หมายรู้ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้บ่อยๆครั้งเข้า จนจดจำอารมณ์นั้นได้อย่างแม่นยำ เลยเรียกว่าเกิด "ถิรสัญญา" ขึ้น

เมื่อมีการนำคำว่า “ถิรสัญญา” มาถกธรรมกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ความหมายของคำว่า “ถิรสัญญา” ก็ยิ่งพิศดารพันลึกมากขึ้นไปด้วยโดยลำดับ จนกระทั่งเข้าใจไปเองว่า ถิรสัญญานี่แหละ ทำให้มีความสามารถในการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆได้ หรือ ตัว "ถิรสัญญาเป็นตัวปัญญาเสียเอง" เลยก็มี ซึ่งเป็นการสอนที่ผิดไปจากความเป็นจริง และขัดแย้งกับพระพุทธพจน์โดยสิ้นเชิง

คำสั่งสอนที่มีมาในพระสูตรชั้นต้นๆ ทรงสั่งสอนให้ฝึกฝนอบรม ศีล สมาธิ(สติ) ปัญญา ที่เรียกว่า"ทางอันเอก" ไม่มีตรงไหนในพระสูตร ในพระพุทธวจนะ ที่ทรงสั่งสอนให้ฝึกฝนอบรม "ถิรสัญญา" ให้เกิดขึ้น มีแต่ทรงสั่งสอนให้เพียรสร้างสติ เพื่อยังสมาธิให้เกิดขึ้น จึงจะรู้เห็นตามความเป็นจริงได้ โดยผู้ปฏิบัติธรรม ต้องกระทำให้มาก เจริญให้มาก ซึ่งอานาปานสติกรรมฐาน

“สัญญา” นั้น เป็นหนึ่งในขันธ์ ๕ มีหน้าที่จดจำและหมายรู้ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ทั้งฝ่ายกุศล อกุศล และอัพยากฤตธรรมทั้งหลาย ซึ่งมีพระพุทธพจน์กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า สัญญาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้

ยิ่งเป็น "ถิรสัญญา" ด้วยแล้ว ยิ่งจะต้องถูกปฏิเสธไปยิ่งกว่าสัญญาขันธ์เสียอีก เพราะอะไร?


เพราะว่า ยิ่งจิตจดจำสัญญาอารมณ์ทั้งหลายได้อย่างแม่นยำเท่าไหร่ จิตยิ่งสร้างความคุ้นชินให้เกิดขึ้นต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อจิตจดจำอารมณ์ได้อย่างแม่นยำ (จนคุ้นชิน) แล้ว รู้จักอารมณ์เหล่านั้นเป็นอย่างดี จึงสามารถเก็บอาการ (ทางกายและวาจา) ได้

เมื่อกระทบกับอารมณ์เหล่านั้น ก็ไม่แสดงอาการของจิตออกไปทางกายและวาจาให้เห็นได้ แต่จิตใจยังรับอารมณ์ (เกิดมโนวิญญาณ) เร่าร้อนอยู่ เพราะจิตได้คุ้นชินกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นนั่นเอง เป็นเพียงปัญญาทางโลก ที่เกิดจากถิรสัญญาเท่านั้น ไม่ใช่ปัญญาทางธรรม เพราะยังปล่อยวางอารมณ์ไม่เป็น ย่อมแตกต่างจาก สัญญา ๑๐ ประการ ที่มีมาในอาพาธสูตร

สัญญา ๑๐ ประการ ได้แก่ อนิจจสัญญา ๑ อนัตตสัญญา ๑ อสุภสัญญา ๑ อาทีนวสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ นิโรธสัญญา ๑ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ๑ อานาปานัสสติ ๑

สัญญา ๑๐ นี้ พระพุทธองค์ท่านทรงให้ท่านพระอานนท์นำไปสาธยายให้ ท่านพระคิริมานนท์ซึ่งป่วยหนัก เพื่อแก้ทุกขเวทนา อันเป็นเหตุให้ทุกขเวทนาสงบระงับลงโดยเร็ว ได้ฟัง

สัญญา ๑๐ ล้วนเป็นสัญญา อันเป็นเหตุให้ปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆทั้งหลายออกไปจากจิตของตน ด้วยการพิจารณาเห็นว่า ควรวางจิตอย่างไร? เพื่อให้ถ่ายถอนความยึดมั่นถือมั่นออกไปได้ ตามกำลังของสัมมาสมาธิในองค์แห่งอริยมรรคที่ตนได้ปฏิบัติไว้ จิตจึงสามารถปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายออกไปได้ โดยอาศัยอานาปานสติหรือพิจารณากายในกาย (สัมมาสมาธิ) เป็นบาทฐานนั่นเอง

สัมมาสมาธินั้นเป็นการเริ่มต้นด้วยสัญญาก็จริง แต่การดำเนินงานทางจิตต่อไป ล้วนเป็นไปเพื่อปล่อยวางอุปกิเลสทั้งหลายออกไปให้ได้ เกิดจากการสร้างสติให้เกิดขึ้น เพื่อระลึกรู้ในสัญญาเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องเนืองๆอยู่ จนกระทั่งจิตระลึกได้ จิตเกิดนิพพิทาญาณ ย่อมเห็นความเกิดดับของสรรพสังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความเบื่อหน่ายในอุปาทานขันธ์ทั้งหลาย เมื่อเบื่อหน่าย จิตย่อมคลายกำหนัด เมื่อจิตคลายกำหนัด จิตก็หลุดพ้นโดยลำดับ แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ

ไม่ใช่การจำได้หมายรู้อย่างแม่นยำ ที่เรียกว่า "ถิรสัญญา" แต่ประการใดเลย เป็นการระลึกรู้ (สัมมาสติ) ถึงสัญญา ๑๐ ประการเหล่านั้น ได้อย่างชำนาญจนเป็นวสี (ไม่ต้องจำ ระลึกได้แล้ว) กระทั่งจิตเกิดญาณปัญญา รู้เห็นตามความเป็นจริงในข้อธรรมทั้งหลาย (อุปาทาน) เหล่านั้นนั่นเอง

ส่วนที่มีการสอนว่า ถิรสัญญานั้นให้จำได้อย่างแม่นยำลงที่กายและใจนั้น ปุถุชนคนทั่วไปทั้งคนดีและคนชั่วทุกคน เมื่อเผลอไป เมื่อมีการระลึก (จำ) ขึ้นมาได้นั้น ล้วนระลึกลงไปที่กายและใจหรือ รูป-นามของตนเองด้วยกันทั้งสิ้น ไม่อาจที่จะระลึกได้ในที่อื่นนอกไปจากกายและใจของตนเองเลย

อย่างเช่น พวกที่ชอบสร้างอกุศลธรรม-กรรมชั่วเป็นนิจ ทำจนจิตติดเป็นนิสัยสันดาน ล้วนมีถิรสัญญาในอกุศลธรรมกรรมชั่วทั้งหลายเหล่านั้นเช่นกัน จนจิตคุ้นชิน ไม่สะดุ้งสะเทือนต่อบาปอกุศลทั้งหลายที่ตนได้กระทำลงไปเลย ขณะเมื่อกระทำอกุศลธรรมกรรมชั่วอยู่นั้น แม้ระลึกได้ว่ายังมีพลเมืองดีและตำรวจคอยสอดส่องอยู่ ก็ระลึกได้ลงที่กายและที่ใจของตนเองทั้งสิ้น ไม่เห็นว่าถิรสัญญาที่ว่ามานั้น จะช่วยให้เกิดปัญญาเพื่องดเว้น ละวางอกุศลธรรมกรรมชั่วที่กำลังทำอยู่นั้นได้เลย

ส่วนถ้าเป็นถิรสัญญาในฝ่ายกุศลนั้น ล้วนเป็นเรื่องดี ช่วยให้เป็นคนดีของสังคมได้ ซึ่งไม่แตกต่างไปจากที่ศาสนาอื่นสอนๆกันอยู่ ล้วนสั่งสอนให้ทำถิรสัญญาให้เกิดขึ้นเช่นนี้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้พ้นทุกข์ หรือ ทำให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสและอุปกิเลสทั้งหลายได้เลย

ถิรสัญญาที่สอนกันอยู่นั้น เป็นเพราะผู้สอนเองยังไม่มีภูมิธรรมคุณธรรมความดีในตนพอ และเข้าใจผิดไปเอง เมื่อเห็นตนเองนั้น มีความสามารถในการยับยั้งอารมณ์บางอย่างได้ ก็เข้าใจไปว่า นั่นคือการปล่อยวางอารมณ์ลงได้ ซึ่งเป็นแต่เพียงการปล่อยวางลงได้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ยังไม่ใช่เป็นการละเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

เราชาวพุทธจำเป็นต้องลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เพื่อให้จิตสงบมีกำลังสติคอยระลึกรู้อยู่ที่สัญญา ๑๐ ประการข้างต้น ด้วยความชำนาญจนเป็นวสี คือ ระลึกได้โดยไม่ต้องจำ จึงจะทำจิตให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้...


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 08 กันยายน 2553
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:54:13 น.
Counter : 435 Pageviews.

7 comments
  
เข้ามาอ่านครับ ขอบคุณสำหรับบทความครับ

พระพุทธพจน์มีว่า (เขียนจากความจำ)

ภิกษุทั้งหลาย จงเจริญสมาธิเถิด
เมื่อ สมาธิตั้งมั่น จักเห็นธรรมตามความเป็นจริง
โดย: นมสิการ วันที่: 8 กันยายน 2553 เวลา:8:13:18 น.
  
คลิกที่รูป เพื่อเอาโค้ดรูปนี้ไปแปะ
[ของตกแต่งโดนๆคลิกเลย]

ขอบคุณที่นำมาฝากค่ะ
โดย: แม่ออมบุญ วันที่: 8 กันยายน 2553 เวลา:9:10:38 น.
  
ดีครับที่เอาเรื่องดีๆมาฝากกัน
โดย: wingang (wingang ) วันที่: 8 กันยายน 2553 เวลา:10:41:49 น.
  
ดีครับเอาเรื่องดีๆมาฝากกันแบบนี้
โดย: wingang (wingang ) วันที่: 8 กันยายน 2553 เวลา:10:49:25 น.
  
อนุโมทนาค่ะ คุณธรรมภูต

โดยส่วนตัวขอบอกว่า ไม่รู้จักคำว่า ถิรสัญญา ค่ะ
รู้แค่ สติ กับ สัญญา

มาอ่านเนื้อหาวันนี้โดยรวมๆ เข้าใจนะคะ แต่คงยังไม่เข้าถึง
ก็เลยออกงงๆ ค่ะ
รู้จักสติ คือ ระลึกรู้
สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้

เมื่อระลึกรู้ กับกายและใจ มากเข้าๆ
ก็จะไม่มั่นหมายในความจำได้หมายรู้ในเรื่องหรือสิ่งนั้นๆ
จิตก็จะสลัดคืน จางคลายจากอาสวะกิเลสที่หมักดองอยู่
เพียงแต่ต้องอาศัยความเพียร ทำให้เป็นวสี (ซึ่งยากมาก)
จนเกิดปัญญา รู้เห็นตามความเป็นจริง

ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกหรือเปล่า นะคะ
เพราะโดยส่วนตัว จิตก็ยังไม่สลัดคืน ยังตกเป็นทาสกิเลสบ่อยเลยค่ะ
แต่ก็จะทำต่อไป และต่อไป

ขอบคุณที่แวะไปฟังเพลงที่บล๊อกนะคะ

โดย: พ่อระนาด วันที่: 8 กันยายน 2553 เวลา:21:28:44 น.
  
สวัสดีครับคุณปุ๊ก

ถูกต้องแล้วครับ ที่ต้องระลึกรู้ลงไปที่กาย เวทนา จิต และธรรม

"จิตก็จะสลัดคืน จางคลายจากอาสวะกิเลสที่หมักดองอยู่
เพียงแต่ต้องอาศัยความเพียร ทำให้เป็นวสี (ซึ่งยากมาก)
จนเกิดปัญญา รู้เห็นตามความเป็นจริง "

จะสัญญาหรือถิรสัญญา เป็นความจำได้หมายรู้ลงไปในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด

ที่จะยึดมั่นถือมั่นฝ่ายเดียว

ส่วนสัญญา๑๐ มีสัมมาสติกำกับนั้น ระลึกรู้ลงไปที่กาย เวทนา จิต และธรรม

เพื่อปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ทั้งหลาย (สติปัฏฐาน)

พระมหาบุรุษรัตน์ ทรงมีมหาสติตื่นอยู่เสมอ(ชาคโร) ไม่ใช่ถิรสัญญานะครับ

สัญญาจำได้ก็ลืมได้ เพราะเป็นแค่ความจำได้หมายรู้

ไม่ใช่ปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง เป็นเพียงสํญญาที่ยังต้องจำอยู่ร่ำไปครับ

ส่วนสตินั้น เมื่อระลึกรู้เข้าไปจนกระทั่งรู้แจ้งเห็นจริงในสังขารธรรมทั้งหลายได้แล้วไม่มีวันลืม

เป็นปัญญาในอันที่จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ในอุปาทานขันธ์ทั้งหลายครับ

"รู้ไม่ต้องจำ จำเพราะไม่รู้"

ธรรมภูต

โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 9 กันยายน 2553 เวลา:20:30:36 น.
  
ขอบคุณค่ะ
โดย: พ่อระนาด วันที่: 10 กันยายน 2553 เวลา:9:51:15 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์