หัวใจพระพุทธศาสนา


🌷 น้อมถวายเป็นพุทธบูชา
เนื่องในวันมาฆบูชา ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓


วันมาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๓ เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ แก่พระภิกษุจำนวน ๑,๒๕๐ รูป ที่มาประชุมกันโดยมิได้มีการนัดหมาย และพระภิกษุทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้า

"โอวาทปาติโมกข์" ถือกันว่าเป็นหลักคำสอนที่เป็น "หัวใจพระพุทธศาสนา"
สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญแต่ความดี
สจิตฺตปริโยทปนํเอตํ พุทธาน สาสนํฯ การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เมื่อกล่าวถึง "หัวใจพระพุทธศาสนา" แล้ว เรามักคิดไปถึงการที่ชาวพุทธทั้งหลาย ต้องไปเข้าวัดเพื่อทำบุญ รับศีล และขอพรจากพระสงฆ์ เพียงเท่านั้น ความจริงแล้วเรื่องที่เป็นกุศลทั้งหลายนั้นก็ล้วนรวมอยู่ด้วยเช่นกัน อาทิเช่น การให้ทานในรูปแบบต่างๆ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความเสียสละ ล้วนจัดอยู่ในธรรมฝ่ายกุศลทั้งสิ้น

แต่ธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลจริงๆ จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องพิจารณาถึงธรรมข้อแรกที่ทรงตรัสไว้ว่า ให้ละการทำความชั่วทั้งปวง ซึ่งเป็นข้อธรรมฝ่ายการละอกุศล เป็นการทำได้ยากยิ่งกว่าการทำบุญทำกุศลทั้งหลาย (บำเพ็ญความดี) ต้องอาศัยกำลังใจ และพลังจิตของตนต้องเข้มแข็งเพียงพอที่จะทำการ ลด ละ เลิก ในการทำสิ่งที่ไม่ดีและเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม การที่กล่าวว่าการละบาปนั้นทำได้ยากกว่า เราสามารถพบเห็นได้ในสังคมทุกวันนี้ คนที่ทำชั่ว เอารัดเอาเปรียบ คดโกง เสพติดในสิ่งสารพัดที่จะเสพติดได้ แต่เราก็ยังได้เห็นบุคคลเหล่านั้นสร้างภาพ โดยการเข้าวัดเข้าวา ทำบุญกุศล บริจาคทาน ช่วยเหลือเจือจานต่อสังคมที่มองเห็นได้ โดยความเป็นจริงแล้วยังมีบุคคลในกลุ่มนี้ ที่ต้องการ ลด ละ เลิกการทำความชั่วทั้งปวง แต่ยังขาดพลังจิตที่มากพอในการนั้น

เมื่อเรามีความคิดเพียงแค่ว่าอยากจะ ลด ละ เลิก ก็ได้แต่เพียงคิดไปว่าเท่านั้น คงเป็นความจริงขึ้นมาไม่ได้ ต่อให้เราเข้าวัดไปขอพรเพื่ออำนวยให้ และรับปากต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ยังเชื่อใจไม่ได้อยู่ดี ว่าจะทำสิ่งนั้นสำเร็จได้จริง เพราะขาดซึ่งพลังจิต ต้องเป็นบุคคลที่เคยมีพื้นฐานทางอบรมจิตมาบ้าง อาจจะทำให้การลด ละ เลิก เบาบางลงได้จริง

แต่นัยยะที่สำคัญในเรื่องนี้เราต้องพึ่งพาธรรมในข้อที่ ๓ ใน "หัวใจพระพุทธศาสนา" ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า "การทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" แล้วจะทำอย่างไรได้ล่ะ ?

การจะทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใสให้ได้นั้น จะมีเฉพาะในกลุ่มพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ที่ได้ลงมือปฎิบัติธรรมกรรมฐานอย่างจริงจังต่อคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงเน้นลงที่เรื่อง "อริยสัจ ๔" ซึ่งในอริยสัจ ๔ นั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงหนทางในอันจะนำบุคคลไปสู่ความเป็นอริยะ การที่จะเข้าถึงหนทางนี้ได้ ต้องลงมือปฎิบัติธรรมกรรมฐานอย่าจริงจัง เพื่อให้เข้าถึงธรรมอันเอก ซึ่งเป็นธรรมที่เหนือกว่าธรรมฝ่ายที่เป็นกุศลและอกุศลทั้งหลาย อันเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงได้ แต่อย่างน้อยการปฎิบัติธรรมกรรมฐานตามหนทางนี้ สามารถทำให้พลังจิตเข้มแข็งตั้งมั่นพอ ต่อการลด ละ เลิก ในการไม่ทำความชั่วในที่ทั้งปวงได้อย่างแน่นอน

ในปัจจุบันนี้ กลับมีความพยายามที่จะสอนการปฎิบัติธรรมกรรมฐานกันแบบง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น ซึ่งไม่ต้องเพียรเพ่งนั้นไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงการสอนแบบเอาใจ เป็นการสอนแบบให้กำลังใจกันเท่านั้น สำหรับชาวพุทธที่ยังมีอนุสัยปัจจัยอ่อนอยู่ จิตยังมีความวุ่นวายไม่เข้มแข็งมากพอที่จะตัดใจ ตัดเป็น ตัดตาย ลงมือปฎิบัติธรรมกรรมฐานให้เกิดขึ้นจริง ทั้งๆ ที่มีพระพุทธพจน์ทรงตรัสรับรองไว้ดีแล้วมากมาย เช่น

"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยัง (สัมมา) สมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญา) ดังนี้"


*

ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง
เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท
อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง
นี้เป็น "คำพร่ำสอน"ของเราแก่พวกเธอฯ

(อินทรียภาวนาสูตร ที่ ๑๐)

*

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้แล ฯ
ภิกษุผู้มีความเพียร มีเรี่ยวแรง มีปัญญา เพ่งพินิจ
มีสติ คุ้มครองอินทรีย์ พึงครอบงำทั่วทุกทิศ ด้วยอัปปนาสมาธิ
ประพฤติทั้งอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา ฯลฯ

ภิกษุเช่นนั้น บัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบ
เป็นนักปราชญ์ เป็นผู้ถึงที่สุดของการปฏิบัติในโลก
ท่านผู้ประกอบด้วยวิมุตติอันเป็นที่สิ้นตัณหา
ย่อมมีจิตหลุดพ้นจากสังขารธรรม
เพราะวิญญาณดับสนิท เหมือนความดับของประทีป ฉะนั้น ฯ"



สรุปสุดท้าย "หัวใจพระพุทธศาสนา" นั้น เปรียบได้กับ ทาน ศีล ภาวนา รวมลงที่กายยาววา หนาคืบ กว้างศอก ที่มีจิตครอง "ธรรมทั้งปวงล้วนรวมลงที่จิต" ให้ดูจิต เมื่อจะแก้ควรต้องแก้กันที่จิตของตน ไม่ใช่อาศัยเพียงความรู้สึกนึกคิดที่ตกผลึกแล้วจะแก้ได้ แต่ต้องมีความเพียรเพ่งนึก (ระลึก) ลงที่กาย เวทนา จิต ธรรม เพื่อให้จิตหยุดคิด จิตจึงจะมีพลังในการปล่อยว่างอารมณ์ออกจากจิตของตนได้แล


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2563
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2563 14:03:13 น.
Counter : 590 Pageviews.

5 comments
  
หัวใจพระพุทธศาสนา

๑. ให้รู้จักทุกข์ ให้รู้ว่าทุกข์คืออะไร รู้จักสาเหตุแห่งทุกข์ (คือรู้จักผล คือทุกข์) แต่ต้องมารู้สาเหตุแห่งทุกข์ จะต้องใช้หลักอริยสัจ ๔

๒. รู้วิธีแก้ทุกข์จะทำยังไง รู้จักแก้ไขทุกข์ ก็จะใช้วิปัสสนากรรมฐาน โยนิโสมนสิการเป็นตัวดำเนินงาน ใช้หลักอิทธิบาท ๔ มรรคมีองค์ ๘ ข้อปฏิบัติแก้ทุกข์

๓. รักษาความดีและป้องกันไม่ให้เกิดทุกข์ซ้ำซาก เราอย่าไปทำบาปเพิ่ม เราทำเหตุเช่นใดย่อมได้รับผลตามเหตุเช่นนั้นๆ พิจารณากรรม ๕ พิจารณาวิบาก ๗ จะเป็นตัวป้องกันได้ (ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ) จะเข้าใจตรงนี้จะต้องใช้หลักวิปัสสนากรรมฐาน เครื่องมือดำเนินงานด้วยโยนิโสมนสิการ

พระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๒. อลคัททูปมสูตร ว่าด้วยข้ออุปมาด้วยอสรพิษ [๒๘๖] การวางใจเป็นกลางในลาภสักการะ กล่าวว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมบัญญัติทุกข์ และความดับทุกข์ ทั้งในกาลก่อนและในกาลบัดนี้" และป้องกันทุกข์

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ทุกข์และรู้แก้ทุกข์

อริยสัจ ๔ บอกว่าทุกข์คืออะไร รู้จักทุกข์ มีวิธีอะไรที่จะแก้ทุกข์ได้
โดย: พรหมสิทธิ์ วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา:0:35:03 น.
  
๑. สัพพะปาปัสสสะ อะกะระณัง คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง

๒. กุสะลัสสูปะสัมปะทา คือ การทำกุศลให้ถึงพร้อม

กุศล คือ สร้างเหตุให้สัปปายะพร้อมเกิดสิทธิที่จะได้รับโอกาส เพื่อให้ได้รับปัญญา เข้าใจรู้ถึงธรรมต่างๆ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้

กุศลนี้ทำให้เราเกิดพบปะกัลยาณมิตร หรือผู้มีวาสนาบุญต่อกัน ผู้หวังดีต่อกัน ซึ่งมาเอื้อ-เกื้อ-กันและกัน

ปัญญาที่รู้ข้อที่ตนผิดพลาดและแก้ไขใหม่ให้ดีถูกต้องเจริญตามธรรม หมายถึง การที่เรารู้ข้อผิดพลาดของตน เช่น การกระทำ พีามฤติกรรมที่ไม่ดี นิสัยที่ไม่ดีของตน แล้วแก้ไขการกระทำ พฤติกรรม นิสัยของตนให้ดีถูกต้องตามครรลองครองธรรม ชื่อได้ว่าเป็นกุศล หรือพูดง่ายๆว่า เราทำผิด ยอมรับผิด แล้วแก้ไข ไม่ทำผิดอีกต่อไป ชื่อว่ากุศล (กรรมที่ทำให้เราเจริญ)
โดย: พรหมสิทธิ์ วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา:0:36:52 น.
  
อกุศล แปลว่า ไม่ฉลาด, บาป, ชั่ว, ไม่รู้ข้อผิดพลาดของตนและยังทำชั่วต่อไป ซึ่งตรงข้ามกับกุศล (กรรมที่ทำให้เราเสื่อมในธรรม)

ความสัมพันธ์ระหว่างบุญก่อเกิดกุศล กุศลทำให้เกิดบุญ คือ ความอิ่มเอิบใจว่าเราได้ทำดี ส่งผลให้เราประจักษ์ว่าสิ่งนี้ดียังไง มีอะไรดีต่อตัวเรา เราได้รับผลแห่งสิ่งนั้นดียังไง พอซึ้งประจักษ์แล้วส่งผลอะไร? มั่นใจทำมากขึ้น กลายเป็นกุศล กลายเป็นมีโอกาสที่จะทำบุญมากขึ้น
โดย: พรหมสิทธิ์ วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา:0:37:16 น.
  
อานิสงส์กุศล
๑. กุศลมี ได้โอกาส
๒. มีปัญญา
๓. นำมาวิเคราะห์ ทำความเข้าใจเหตุกับผล
๔. วิเคราะห์ถึงเหตุ ผล
๕. เจริญโยนิโสมนสิการให้ละเอียดขึ้น
๖. รู้ประจักษ์ กระจ่าง
๗. เอาสิ่งที่ประจักษ์ไปทำ
๘. สิ่งที่ทำมาวิเคราะห์เหตุและผล
๙. เจริญการแก้ไข ลด/เพิ่ม
๑๐. เข้าสุ่การปฏิบัติอย่างแน่วแน่ ชัดเจน จริงจัง จริงใจ เด็ดขาด (จจด.)
๑๑. เสริมทางตบะ
๑๒. สรุปผลที่ได้ขณะนั้นเป็นอย่างไร
วนเป็นรอบๆ
โดย: พรหมสิทธิ์ วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา:0:37:29 น.
  
๓. สะจิตตะปะริโยทะปะนัง คือ การทำจิตให้ผ่องใส

ทำจิตใจให้ผ่องใส หมายถึง มีสติสัมปชัญญะทำจิตใจให้ระมัดระวังความชั่ว ความผิด เพราะว่า ถ้าเราไปย่ำกรายกับความทุกข์เราย่อมเกิดทุกข์ เหตุเพราะว่าการทำอกุศลจะทำให้เกิดทุกข์ ผลก็คือทุกข์ และคำว่า "บริสุทธิ์" บริสุทธิ์จากความชั่ว ความคิดที่ชั่ว การกระทำที่ไม่ดี อกุศล
โดย: พรหมสิทธิ์ วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา:0:37:46 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์