แนวคิดบนพื้นฐานความเสี่ยงกับการบริหารความเสี่ยง (Risk based thinking กับ Risk Management ) สองคำนี้ เป็นทั้งคำถามและข้อถกเถียงที่กำลังเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากในองค์กรที่ขอรับการรับรอง (Certification) ISO 9001:2015 หรือมาตรฐานข้อกำหนดระบบบริหารคุณภาพ ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดจากปี 2008 ในช่วงปลายปี 2015 คำว่า ความเสี่ยง (Risk) ก็ได้ถูกกำหนดไว้ในข้อกำหนดที่ 6.1.1 นำมาสู่การตีความ การนำไปปฏิบัติ และแนวทางการตรวจที่ยังคงไม่ชัดเจน
ทั้งที่จริงแล้วในสถานการณ์ปัจจุบันนั้น เราจะพบเห็นการประยุกต์ใช้ Risk based thinking และ Risk Management อยู่มากมาย เช่น กรมสรรพากรได้พัฒนา “ระบบการคัดเลือกผู้เสียภาษีเพื่อกำกับและตรวจสอบ (Risk Based Audit System : RBA)” เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถคัดเลือกผู้เสียภาษีที่มีความเสี่ยงและเลือกใช้เครื่องมือตรวจสอบที่มีความเหมาะสมกับพฤติการณ์ของผู้เสียภาษี เพื่อให้มีความเป็นกลาง โปร่งใส และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ระบบนี้เป็นการใช้ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งข้อมูลภายใน และข้อมูลภายนอกกรมสรรพากร มารวบรวมเพื่อประเมินความเสี่ยง แล้วส่งให้หน่วยปฏิบัติดำเนินการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับผู้เสียภาษีแต่ละราย
เมื่อไม่นานมานี้ ศาลยุติธรรมมีการนำระบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยตัวชั่วคราวมาทดลองใช้ โดยหลักการของระบบนี้คือ เมื่อตำรวจจับตัวคนร้ายได้ก็จะนำมาฝากขัง และผู้ต้องหาก็มักที่จะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจะพิจารณาอนุญาตโดยอาศัย พฤติการณ์แห่งคดีของผู้ต้องหา จะมีเจ้าหน้าที่สืบเสาะข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย และประเมินเป็น "คะแนน" ออกมาว่าจำเลยมีความเสี่ยงที่จะหลบหนีหรือไม่ เช่น บุคคลที่เป็นโสดโอกาสหนีจะมีมากกว่าบุคคลที่มีครอบครัวแล้ว หรือบุคคลนั้นเคยกระทำความผิดหรือไม่ ทำงานอะไรอยู่ งานประจำหรือไม่มีอาชีพที่แน่นอน คะแนนก็จะแตกต่างกันออกไป เมื่อมีการเอาตัวเลขมาประเมิน ตัวเลขก็จะบอกได้ว่าจำเลยมีความเสี่ยงที่จะหนีมากหรือน้อย ซึ่งคะแนนก็จะแตกต่างกัน ถ้าคะแนนประเมินความเสี่ยงบอกว่าบุคคลนี้ไม่มีโอกาสหนีหรือโอกาสหนีน้อยมาก ก็จะให้ปล่อยชั่วคราวไปโดยไม่มีมีหลักประกันก็ได้
แล้วข้อกำหนด ในเรื่องความเสี่ยงที่อ้างอิงตามข้อกำหนด ISO 9001:2015 ข้อ 6.1.1 นั้น ได้กล่าวถึง Risk based thinking หรือ Risk Management กันแน่ องค์กรต่างๆ จำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องประยุกต์ใช้กระบวนการที่คล้างคลึงกับ กระบวนการของสรรพากร หรือ ศาลยุติธรรม......ติดตามต่อในตอนที่ 2
p2s partnership to success
ploenploen standard