ออกกำลังความคิด
Group Blog
 
All Blogs
 
General Equilibrium เศรษฐศาสตร์แนวแฟนตาซี ตอนกล่องของ Edgeworth



ปกป้อง หรือ อาจารย์ป้อง , มิตรทางปัญญาและสหายสมัยเรียนธรรมศาสตร์ , เคยเขียนแนะนำหนังสือเรื่อง The Making Modern Economic : the lives and ideas of the great thinkers ของ นาย Mark Skousen

หลังจากที่ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มดังกล่าวแล้ว ผมรู้สึกถึงเสน่ห์แบบแปลกๆของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังทั้งหลาย และทำให้นึกไปถึงคำพูดที่ว่า “มีเส้นบางๆกั้นกลางระหว่างอัจฉริยะกับคนบ้า” ครับ

อย่างไรก็ตามผมกลับคิดว่าความบ้าหรือเพี้ยน(Freak) ของคนเหล่านี้มีเสน่ห์และไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใครแถมยังสร้างประโยชน์ให้กับโลกวิชาการ ซึ่งต่างจากคนดีๆ ที่มักจะบ้าอำนาจ บ้าชื่อเสียง บ้าเกียรติยศ

หัวเรื่องที่จั่วไว้คงเป็นศัพท์เฉพาะทางที่เด็กเศรษฐศาสตร์คงจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี ใช่แล้วครับ! วันนี้ผมจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องของ General Equilibrium ซึ่งแปลเป็นไทยว่า "ดุลยภาพทั่วไป"

สมัยที่ผมเริ่มเรียนเรื่องนี้ใหม่ๆ ผมมักประหลาดใจในความช่างคิดของกูรูเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายว่า ทำไม (แ ... ง) ไม่มีอะไรให้คิดแล้วเหรอ เพราะหลังจากที่เราเจอกราฟตั้งแต่เส้นเดียวไปยังหลายเส้น บางเส้นก็เป็นเส้นตรงบางเส้นเว้าแบบ Convex บางเส้นคว่ำแบบ Concave แถมยังเจอการ Shiftของกราฟทั้งแบบปกติและพิสดาร สารพัดที่จะเจอครับ สุดท้ายพอมาถึงเรื่อง General Equilibrium ผมกลับมาเจอ "กล่อง" (Box) อีก โอ้!...พระเจ้ายอด มันจอร์จมากเลย

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ผมมองว่าเรื่อง General Equilibrium มีความเป็นแฟนตาซีสูง เพราะ มันมีความสวยงามอยู่ในตัว เพียงเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าตลาดทุกตลาดในระบบเศรษฐกิจนั้นมันมี ดุลยภาพอย่างไร หรือพูดให้ยากขึ้นไปอีก คือ ทุกตลาดมันจะหาทางปรับตัวเข้าหาดุลยภาพของมันเองจนท้ายที่สุดเกิดดุลยภาพทั่วไปทั้งหมด ดังนั้นเรื่องของ General Equilibrium จึงมีความแตกต่างจาก Partial Equilibrium ที่พิจารณาเจาะจงไปที่ตลาดใดตลาดหนึ่ง

อย่างที่เราทราบกันดีว่า "เศรษฐศาสตร์จุลภาค" นั้นเติบโตอย่างมั่นคงในแผ่นดินยุโรป โดยมีสำนัก Cambridge เป็นหัวขบวน ภายใต้การนำของปรมาจารย์ Alfred Marshall และ Authur C. Pigou ขณะที่ในเวียนนามีสำนักคิดที่เรียกตัวเองว่าเป็นพวก Austrian School มีนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำเชื้อสายออสเตรียน อย่าง Carl Menger , Ludwig Von Missie และ Eugen Bohm Bawerk (สำหรับรายหลังนี้ จัดเป็นยอดรัฐมนตรีคลังของออสเตรีย ถึงขนาดที่รัฐบาลออสเตรียนำหน้าของเขาไปปรากฏบนธนบัตรเลยทีเดียว) ส่วนในสวีเดนมีสำนัก Stockholm ของ Knut Wicksell ต่อมาสำนักนี้พัฒนาตัวเองจนขึ้นชื่อในเรื่องทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ และฐานที่มั่นสุดท้ายของวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคอยู่ที่สวิสเซอร์แลนด์ครับ ภายใต้การนำของ Leon Walras และ Vifredo Pareto ทั้งสองสร้างสรรค์ให้สำนัก Lusanne มีชื่อเสียงในเรื่องของ General Equilibrium โดยเฉพาะ Walras ได้รับการยกย่องเป็นพิเศษจากนักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังว่าเป็นผู้บุกเบิกเอาวิชาคณิตศาสตร์มาผสมกับเศรษฐศาสตร์ได้อย่างลงตัว

กลับมาที่พระเอกของเราครับ , ผมขอแนะนำนักเศรษฐศาสตร์เผ่าพันธุ์ไอริช นามว่า Francis Ysidro Edgeworth (1845 – 1926 ) ครับ Edgeworth เป็นนักเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัยเดียวกับ Leon Walras (1834-1910) Alfred Marshall (1842-1924 )และ Vifredo Pareto (1848 - 1923) ทั้งหมดล้วนมีอิทธิพลต่อการสร้างองค์ความรู้ของวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาค

Edgeworth มีประวัติการศึกษายอดเยี่ยม เขาจบการศึกษาที่ Trinity College โดยนอกจากจะมีพื้นความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ระดับเอกอุแล้วเขายังชำนาญการทางสถิติชนิดที่หาตัวจับยาก Edgeworth เริ่มงานเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์และการเมือง (Political Economy) ที่ Oxford อีกสำนักหนึ่งที่เป็นคู่แข่งกับ Cambridge School ซึ่งงานส่วนใหญ่ของเขาเป็นงานที่ใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมืออธิบายเศรษฐศาสตร์ ผมตั้งข้อสังเกตว่าช่วงเวลาดังกล่าววิชาเศรษฐศาสตร์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะมีคณิตศาสตร์มาเป็นอาวุธสำคัญที่สนับสนุนความคิด

นักเรียนเศรษฐศาสตร์หลายคนคงจะยังไม่ทราบว่า Edgeworth นี่เองที่เป็นผู้ประดิษฐ์เส้น Indifference Curve ในเรื่อง Utility ซึ่งเจ้าเส้น IC นี้แหละครับที่ทำให้ Alfred Marshall ใช้อธิบายที่มาของเส้นดีมานด์ที่ชื่อ Marshallian Demand อย่างไรก็ตาม แม้คนส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าเขาเป็นคนคิดเส้น IC แต่กล่องเจ้าปัญหาของเขาหรือ Edgeworth Box ก็ได้รับการจดจำในฐานะที่เป็นเครื่องมืออธิบายการแลกเปลี่ยนของผู้บริโภค 2 คน ที่มีสินค้า 2 ชนิด แล้วเอามาแลกกันจนกว่าจะได้รับความพอใจด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งแนวคิดการแลกกันหรือ Exchange / Trade กันนั้น ได้ถูกนำมา ต่อยอดอธิบายเรื่องของ General Equilibrium

ดังนั้น อย่าแปลกใจเลยครับเวลาที่เราเรียนเรื่อง General Equilibrium แล้วเราจะคุ้นเคยกับชื่อ Edgeworth Box , Walrasian Economy และ Pareto Optimal

สำหรับผมแล้วสิ่งเหล่านี้ยังเป็นแฟนตาซีทางเศรษฐศาสตร์ที่ดูยังไงคนธรรมดาๆอย่างเราๆท่านๆคงไม่อยากคิดอะไรให้มันสลับซับซ้อนใช่มั๊ยครับ

Hesse004




Create Date : 29 ธันวาคม 2550
Last Update : 29 ธันวาคม 2550 12:13:43 น. 1 comments
Counter : 996 Pageviews.

 
<<<<Happy New Year นะคะ>>>>


โดย: โสมรัศมี วันที่: 29 ธันวาคม 2550 เวลา:16:33:00 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

hesse004
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add hesse004's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.