คติ ๘ ภาษาคน-ภาษาธรรม






คติทั้ง ๘ นี้ ก็มีพูดอย่างภาษาคน หรือภาษาสมมติของชาวบ้าน
นั้นอย่างหนึ่ง เมื่อพูด ภาษาธรรมของนักปราชญ์ของผู้รู้
โดยแท้จริงนั้นก็อีกอย่างหนึ่ง

ของ ๘ อย่างนี้ ถ้าพูดอย่าง ภาษาชาวบ้าน ที่เขาพูดทางศีลธรรม
ชักชวนให้กลัวบาปกลัวกรรม ตามแบบของชาวบ้านนั้น เขาก็พูด
เป็นบ้านเป็นเมืองเป็นโลก

นรก ก็คือเมืองนรก อยู่ข้างใต้ลงไปนี้ ร้อนเป็นทุกข์.

เดรัจฉาน คือ โลกของสัตว์เดรัจฉาน: วัว ควาย ช้าง ม้า เป็ด ไก่.

เปรต คือ สัตว์ที่ผอมโซ เพราะความหิว เจ็บป่วย ร่างกายเปื่อยเน่า
ผุพัง นี่เป็นพวกเปรต อยู่ในโลกที่มองเห็นได้ยากเหลือเกิน เพราะ
ไม่มีร่างกายที่ดูได้ง่ายๆ.

อสุรกาย คือ พวกที่ไม่เห็นตัวเลย ซ่อนตัวได้มิดชิด ไม่มีใครเห็นตัว
เรียกว่า อสุรกาย นี้ภาษาชาวบ้านพูด แล้วเขียนรูปภาพตามผนัง
โบสถ์เป็นอย่างนี้.

แต่ว่า ภาษาธรรม นั้น หมายอีกอย่างหนึ่ง
คือ เป็นสภาพ เป็นภาวะ- ทางจิตใจ เพราะเป็นภาษาจิตใจ
ก็ชี้ไปยังภาษาของจิตใจ หรือภาวะทางจิตใจ

นรก นี่คือ ภาวะที่กำลังร้อนใจ เป็นไฟเผาลน อยู่ในตัวคน

เดรัจฉาน คือ ความโง่ ที่มีอยู่ในตัวคน เพราะ สัตว์เดรัจฉาน
นั่นคือ โง่ ความโง่ นั้นมาอยู่ในตัวคน
โลกเดรัจฉาน มาอยู่ในใจคน ในตัวคน

เปรต คือ ความทะเยอทะยาน ความหิว ด้วยกิเลสตัณหา
ในนั่นในนี่ ในกามารมณ์ หรือ ในความหวัง อะไรก็ตาม
หวังจนนอนไม่หลับ หิวจนนอนไม่หลับ เปรียบเหมือนกับว่า
มีปากเท่ารูเข็ม มีท้องเท่าภูเขา
มันจะกินเข้าไปให้ทันได้อย่างไร มันก็หิวเรื่อย.

อสุรกาย คือ ความกลัว ความกลัวเป็นปัญหาใหญ่ รบกวนจิตใจ
เหลือเกิน นี่คือ อสุรกาย หรือ โลกของอสุรกาย ที่มันอยู่ในใจคน

นี่พูดอย่างภาษาผู้รู้ ทั้ง ๔ อย่างนี้ ทุคติทั้ง ๔ อย่างนี้
มีอยู่ในคน อยู่ในจิตใจของคน เมื่อพูดอย่างที่ชาวบ้านพูด คือ
ชาวบ้านเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องอย่างนี้ไม่ได้ ก็เลยพูดให้มันเป็นวัตถุ
เป็นโลกทางวัตถุขึ้นมา โลกนรก โลกเดรัจฉาน โลกเปรต
โลกอสุรกาย อยู่ที่นั่นที่นี่ ทิศนั้นทิศนี้ มีอาการอย่างนั้นอย่างนี้

โดยเฉพาะ โลกนรกอยู่ข้างล่าง ข้างใต้สุดลงไป มีหลายชนิด
เหมือนกัน นรกล้วนแต่ร้อน ล้วนแต่เจ็บปวด คือเดือดร้อนทั้งนั้น
มันก็คือ คติที่จะต้องไปหรือการไป ไปสู่โลกนรกไปสู่โลกเดรัจฉาน
ไปสู่โลกเปรต ไปสู่โลกอสุรกาย นี้ก็ต้องถือว่าผิด ไม่มีใครต้องการ
ไม่มีใครปรารถนา ที่ไป ๔ แห่ง นี้เป็นทางผิด เรียกว่า ทุคติ.

ทีนี้ สุคติ ความเป็นมนุษย์เป็นเทวดา ๓ ชนิด รวมกันเป็น ๔ ชนิดนี้
เขาเรียกว่า สุคติ ยังน่าไป หรือ มันชวนให้ไป.

สำหรับความเป็นมนุษย์ นี้ พูดตรงกัน คือในโลกอย่างมนุษย์นี้
แต่ภาษาชาวโลกภาษาโลก เอาตัวแผ่นดินโลกนี้ เอาตัวคนที่สักว่า
เป็นคนนี้ เป็นมนุษย์โลก แต่ภาษาธรรมะ เขาเอาความหมาย หรือ คุณสมบัติของความเป็นคน ว่าเป็นมนุษย์ ว่าเป็นคน

อย่างเมื่อคุณบวช ถูกถามว่าเป็นมนุษย์หรือเปล่า
นี่มีความหมายพิเศษ เห็นอยู่โต้งๆ ว่า รูปร่างเป็นมนุษย์
ทำไมยังถามว่า เป็นมนุษย์หรือเปล่า?
ข้อนี้เล็งไปถึง คุณสมบัติอย่างมนุษย์ ความรู้สึกอย่างมนุษย์
ความต้องการอย่างมนุษย์ คุณมีหรือเปล่า?
นั่นแหละ คือ ความเป็นมนุษย์
มนุษย์ในภาษาธรรม มันหมายถึงอย่างนี้
ไม่ใช่ หมายถึง เกิดมามีรูปร่างอย่างนี้ หรือว่าอยู่ในโลกนี้.

ทีนี้ เทวดาในกามโลก ตามภาษาคน
ก็มีข้างบน เป็นสวรรค์ เป็นวิมาน มีเทวบุตร มีนางฟ้า
มีพระอินทร์ อะไรก็แล้วแต่ คือว่า เป็นกลุ่มของสัตว์ที่
สนุกสนาน สบาย สวยสด งดงาม อะไรนี่ นี่ภาษาโลกๆ ภาษาคน
ภาษาธรรมะ ภาษาของสติปัญญา ก็คือว่าภาวะที่กำลังสมบูรณ์
ด้วยกามารมณ์ คือของถูกอกถูกใจ ในเวลาใดเป็นอย่างนั้นเวลานั้น
เรียกว่า เป็นสวรรค์ชั้นกามาวจร ในจิตใจของคนนั่นเอง
เมื่อคนบางคน หรือว่า บางขณะก็ตาม เขามีโอกาสที่จะมี
ความเพลิดเพลิน อยู่ด้วยกามารมณ์ เวลานั้น ขณะนั้น ที่นั้น
เขาก็เป็นเทวดา ประเภท กามาวจร

เทวดาที่สูงขึ้นไป เป็น รูปพรหม นั้น เป็นเทวดาที่ไม่แตะต้อง
กามารมณ์ อยู่ด้วยวัตถุ รูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่บริสุทธิ์
เพลิดเพลินอยู่กับสิ่งนั้น ภาษาคนก็พูดไว้เป็นโลกอีกโลกหนึ่ง
สูงขึ้นไปอีก สูงขึ้นไปจากโลก อย่างที่เป็นอย่าง กามารมณ์นั้น
แต่ถ้าเป็นภาษาจิตใจ ก็หมายถึง จิตใจในบางครั้ง มันเกลียด
กามารมณ์ จิตใจสูง เกินกว่าที่จะไปรัก กามารมณ์ ในบางขณะ
ของคนเรานี้ ภาวะจิตอย่างนั้น เรียกว่า รูปพรหม เป็นได้น้อยๆ
ชั่วขณะก็ยังดี หรือ มันจะเป็น จนตลอดชีวิต ก็ได้ สำหรับบางคน
อยู่ได้ด้วยความผาสุก ไม่เกี่ยวข้องกามารมณ์ จนตลอดชีวิต จะ
อยู่ด้วย วัตถุสิ่งของ ที่เป็นที่พอใจ หรือว่า อยู่ด้วยสมาธิ ที่เกิด
มาจาก รูปธรรม ที่เป็นอารมณ์ สบายอยู่ด้วยสมาธิ อย่างนั้น ก็
เรียกว่า รูปพรหม

เทวดาอันสุดท้าย ก็เป็น อรูปพรหม คล้ายๆ กัน แต่ไม่เอาสิ่งที่มีรูป
เป็นที่เพลิดเพลิน เอาสิ่งที่ไม่มีรูป เป็นนามธรรม ที่เกี่ยวกับสมาธิ
หรือ สมาบัติ เขาเอาความว่างเปล่า ไม่มีอะไร เป็นอารมณ์ ของ
สมาธิ แล้วจิตหยุดอยู่ด้วยความพอใจ ในความเป็นอย่างนั้น มันก็
สบายถึงที่สุด สูงสุดไปตามแบบของเขา

รวมความแล้วก็ว่า ถ้าพูดอย่างภาษาคน ภาษาชาวบ้าน ก็เป็นวัตถุ
เป็นโลก เป็นบ้าน เป็นเมือง ทั้ง ๘ แห่งนี้ ถ้าพูดอย่าง ภาษาธรรม
ภาษาจิตใจ ก็คือ ภาวะของจิตใจ ๘ ชนิด ที่มีอยู่ใน จิตใจของคน
คนนี่ มันเป็น เหมือนกับ มิเดียม ตรงกลาง จะเปลี่ยนเป็นอย่างไร
ก็ได้ ในที่สุด นับตัวเอง เข้าไปด้วย ก็เลยเป็น ๘ อย่าง ถ้าจะเอา
ความหมาย ให้ชัดเจน เฉพาะมนุษย์ นี้ก็คือ มนุษย์นี่ต้อง ลำบาก
พอสมควร เพื่อจะแลกเอา กามารมณ์ เอาสิ่งที่ตัวรัก ตัวชอบใจ
นี่เป็นมนุษย์ แต่ถ้าเป็นเทวดา ไม่ต้องอาบเหงื่อ ต่างน้ำ เหมือน
มนุษย์ ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย เพื่อแลกกามารมณ์ นี่มีบุญมาก มี
เหตุปัจจัย ที่ทำไว้อย่างนั้น





~~~อ้างอิงจาก คัดจาก หนังสือ ธรรมานุกรมธรรมโฆษณ์ ฉบับประมวลธรรม เล่ม ๒ เรียบเรียงโดย
นาย พินิจ รักทองหล่อ พิมพ์ ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๐ โดย ธรรมทานมูลนิธิ
~~~




 

Create Date : 09 มกราคม 2553   
Last Update : 9 มกราคม 2553 22:11:46 น.   
Counter : 495 Pageviews.  

8 คำสอนของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ















































 

Create Date : 09 มกราคม 2553   
Last Update : 9 มกราคม 2553 18:46:39 น.   
Counter : 1433 Pageviews.  

หลักความเชื่อ 10 ประการ ท่านพุทธทาสภิกขุ



หลักความเชื่อ 10 ประการ พระธรรมโกศาจารย์ (ท่านพุทธทาสภิกขุ)

หลักนี้มีที่มาใน กาลามสูตร และสูตรอื่นๆ ที่ตรัสไว้สำหรับให้ทุกคน มีความเชื่อในเหตุผลของตนเอง ในเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นว่า สิ่งที่มีผู้นำมากล่าวหรือสั่งสอนนั้น ตนควรจะเชื่อถือเพียงไรหรือไม่ มีผู้ไปทูลถามว่า เขาได้รับความลำบากใจ ในการที่สมณะพราหมณ์พวกหนึ่ง ก็สอนไปอย่างหนึ่ง สมณะพราหมณ์พวกอื่นก็สอนไปอย่างอื่น หลายพวกหลายอย่างด้วยกัน จนไม่รู้ว่า จะเชื่อใครดี ในที่สุด พระองค์ตรัสหลักสำหรับ ทำความเชื่อแก่คนพวกนั้น มีใจความว่า

๑. มา อนุสฺสาเวน อย่าเชื่อโดยฟังตามกันมา
๒. มา ปรมฺปราย อย่าเชื่อโดยเหตุสักว่าตามสืบๆ กันมา
๓. มา อิติ กิราย อย่าเชื่อโดยตื่นข่าว
๔. มา ปิฎกสัมฺปทาเนน อย่าเชื่อโดยอ้างปิฎก
๕. มา ตกฺกเหตุ อย่าเชื่อโดยนึกเดาเอาเอง
๖. มา นยเหตุ อย่าเชื่อโดยคาดคะเน
๗. มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าเชื่อโดยการตรึกตรองตามอาการ
๘. มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนกฺขนฺติยา อย่าเชื่อโดยเห็นว่าถูกตามลัทธิของตน
๙. มา ภพฺพรูปตาย อย่าเชื่อโดยเห็นว่า ผู้พูดควรเชื่อได้
๑๐. มา สมโฌ โน ครุ อย่าเชื่อโดยถือว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา


แต่ให้เชื่อ การพิจารณาของตนเอง ว่า คำสอนเหล่านั้น เมื่อประพฤติ กระทำตาม ไปแล้ว จะมีผลเกิดขึ้นอย่างไร ถ้ามีผลเกิดขึ้น เป็นการทำตนเองและผู้อื่น ให้เป็นทุกข์ เดือดร้อน ก็เป็นคำสอน ที่ไม่ควรปฏิบัติตาม ถ้าไม่เป็นไป เพื่อทำตนเอง และผู้อื่นให้เดือดร้อน แต่เป็นไปเพื่อ ความสุข ความเจริญ ย่อมเป็นคำสอน ที่ควรทำตาม ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการพูดถึง ราคะ โทสะ โมหะ ว่าเป็นสิ่ง ควรละหรือไม่ ผู้ฟังจะต้องพิจารณา ให้เห็นชัด ด้วยตนเองว่า ราคะ โทสะ โมหะ เป็นสิ่งที่นำมาซึ่ง ความทุกข์ หรือ ความสุข ให้เห็นชัดแก่ใจ ของตนเสียก่อน เมื่อเห็นว่า ราคะ โทสะ โมหะ เป็นของร้อน จึงละเสีย ตามคำสอน ถ้ายังพิจารณา ไม่เห็นแม้แต่เล็กน้อย ก็เป็นสิ่งที่ให้รอไว้ก่อน ยังไม่ปฏิบัติตาม จนกว่า จะได้พิจารณาเห็นแล้ว จึงปฏิบัติตาม โดยสัดส่วน ของการพิจารณาเห็น ไม่ยอมเชื่อ และปฏิบัติตาม สักว่า โดยเหตุ ๑๐ อย่าง ดังกล่าวแล้วข้างต้น

หลักนี้ เป็นการแสดงถึงความที่พระพุทธศาสนา ให้ความเป็นอิสระ ในความเชื่ออย่างถึงที่สุด พึงรู้ไว้ในฐานะ เป็นอุปกรณ์ แห่งการควบคุม ความเชื่อของตน ให้เป็นไปในทาง ที่จะปฏิบัติ ให้เป็นผลสำเร็จได้จริงๆ

คำว่า ฟังตามกันมา หมายถึง สิ่งที่บอกเล่า ต่อๆ กันมาตาม ธรรมเนียม เป็นต้น

คำว่า ทำตามสืบๆ กันมา หมายถึง การทำตามสืบๆ กันมา โดยไม่ต้องคำนึงถึงเหตุผล แต่ถือเอาการที่ทำสืบๆ กันมานั้นเองเป็น เหตุผล ลักษณะเช่นนี้เรียกกันว่า เถรส่องบาตร

คำว่า ตื่นข่าว หมายถึง สิ่งน่าอัศจรรย์ ที่กำลังลือกระฉ่อน กันอยู่ในขณะนั้น

คำว่า อ้างปิฎก หมายถึง มีหลักฐานที่อ้างอิงในตำรับตำรา หรือแม้แต่ในพระไตรปิฎก

คำว่า นึกเดาเอาเอง คำว่า คาดคะเนเอาเอง และ คำว่า ตรึกตรองตามอาการ ทั้งสามนี้ คล้ายกันมาก หากแต่ว่า หนักเบากว่ากัน ตามลำดับ

คำว่า เดา หมายถึง การใช้เหตุผลชั่วแล่น ชั่วขณะ ตามวิสัยของคนธรรมดาทั่วไป

คำว่า คาดคะเน ก็มีลักษณะอย่างนั้น หากแต่ว่ามีการเทียบเคียงโดยนัยต่างๆ ที่รัดกุมกว่า ซึ่งเป็นวิสัยของผู้มีปัญญา คำว่า ตรึกตามอาการ คือการใช้เหตุผล หรือใช้สิ่งแวดล้อมเป็นเหตุผลตามที่มีปรากฏ อยู่เฉพาะหน้า ในที่นั้นๆซึ่งรัดกุมยิ่งไปกว่า การคาดคะเน

คำว่า ต้องตามลัทธิของตน หมายความว่าเข้ากันได้กับ ความคิดเห็นของตน หรือเข้ากับลัทธิ ที่ตนถืออยู่แล้วแต่ก่อน

คำว่า ผู้พูดควรเชื่อได้ หมายความว่า ผู้พูดเป็นผู้ที่ใครๆ พากันเชื่อถือ เพราะเป็นบัณฑิต นักปราชญ์เป็นคนเฒ่าคนแก่เป็นคนเคยไปในที่นั้นๆ มาแล้ว เป็นต้น

คำว่า ถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา หมายความถึง ครูบาอาจารย์โดยตรง


~~~อ้างอิงจาก //www.amulet.in.th/forums/view_topic.php?t=200&sid=94e3beeacb773703f7660938a69da57f~~~




 

Create Date : 09 มกราคม 2553   
Last Update : 9 มกราคม 2553 18:37:59 น.   
Counter : 510 Pageviews.  

วิธีสร้างสมาธิเพื่อการเรียนที่ดี




พระมหาวิชาญ สุวิชาโน รวบรวม




สาเหตุของการไม่มีสมาธิ
๑. ขาดความสนใจในสิ่งที่ทำ
๒. สนใจในสิ่งที่ทำมากจนเกินไป
๓. สนใจหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน
๔. ความเป็นคนหัวดี ปัญญาดี ทำให้คิดไปที่อื่นเร็ว
๕. จิตครอบงำด้วยนิวรณ์

การสร้างนิสัยให้มีสมาธิในชีวิตประจำวัน
๑. สร้างนิสัย “ลงมือทำทันที”
๒. สร้างนิสัย “เรียนล่วงหน้า” มิใช่แค่ “เรียนตาม”
๓. สร้างนิสัยมุ่งมั่นว่า “ถ้าทำไม่เสร็จจะไม่ใส่ใจอะไรอื่น”
๔. จัดลำดับของเรื่องที่จะทำก่อนลงมือ
๕. หัดคิดทีละเรื่อง โดยให้เจาะลึกในเรื่องนั้นๆ อย่าผิวเผิน
๖. สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะแก่การมีสมาธิ
๗. รู้จักพักเป็นช่วงๆ
๘. สร้างความเต็มใจและจริงใจที่จะทำสิ่งนั้นๆ
๙. พยายามหัดคิดในเรื่องสร้างสรรค์
๑๐. เลิกนิสัยมากเรื่องในการจะทำอะไรสักอย่าง

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน ได้แนะนำวิธีการทำสมาธิในห้องเรียนว่า
๑. หาที่นั่งที่สามารถมองเห็นครูและกระดานได้ชัดเจน
๒. เมื่อครูเดินเข้ามา ส่งจิตไปรวมที่ครูผู้สอน
๓. จับใจความให้ได้ตามที่ครูต้องการ
๔. เวลาว่างแทนที่จะนั่งคิดสิ่งอื่น ก็นำบทเรียนมาคิด
๕. ให้สติรู้ตัวทุกอิริยาบถ ในการทำ พูด คิด


จงมีฝัน แม้มันจะไร้สาระเต็มทีก็ตาม
อย่าดูถูกความฝันของคนอื่น
อย่าทำลายความฝันของตนเอง…






 

Create Date : 09 มกราคม 2553   
Last Update : 9 มกราคม 2553 18:28:10 น.   
Counter : 284 Pageviews.  

วิธีทำสมาธิเบื้องต้น.....




พระธรรมโกศาจารย์ (ท่านเจ้าคุณพุทธทาส อินทปัญโญ)





ในกรณีปกติให้นั่งตัวตรง

(กระดูกสันหลังจรดกันสนิทเต็มหน้าตัดของมันทุกๆข้อ)


๑. ศรีษะตั้งตรงตามองไปที่ปลายจมูกให้อย่างยิ่งจนไม่เห็นสิ่งอื่น จะเห็นหรือไม่เห็นอะไรหรือไม่ก็ตามขอให้จ้องมองเท่านั้น พอชินเข้าจะได้ผลดีกว่าหลับตา และไม่ชวนง่วงนอนได้ง่ายด้วย โดยเฉพาะคนขี้ง่วงให้ทำอย่างลืมตานี้แทนหลับตา ทำไปเรื่อยๆ ตามันจะหลับของมันเองในเมื่อถึงขั้นที่มันจะต้องหลับ หรือจะทำอย่างหลับตาเสียตั้งต่ต้นก็ตามใจ แต่วิธีที่ลืมตานั้นจะมีผลดีกว่าหลายอย่าง แต่ว่าสำหรับบางคนรู้สึกว่าทำยาก โดยเฉพาะพวกที่ยึดถือในการหลับตาย่อมไม่สามารถทำอย่างลืมตาได้เลย

๒. มือปล่อยวางไว้บนตักซ้อนกันตามสบาย ขาขัดหรือซ้อนกันโดยวิธีที่จะช่วยยันน้ำหนักตัวให้นั่งได้ถนัดและล้มยาก ขาขัดอย่างซ้อนกันธรรมดา หรือจะขัดไขว้กันนั้นแล้วแต่จะชอบหรือทำได้ คนอ้วนจะขัดขาไขว้กันอย่างที่เรียกว่า ขัดสมาธิเพชรนั้น ทำได้ยากและไม่จำเป็น ขอแต่ให้นั่งคู้ขาเข้ามา เพื่อรับน้ำหนักตัวให้สมดุลล้มยากก็พอแล้ว ขัดสมาธิอย่างเอาจริงเอาจัง ยากๆแบบต่างๆ นั้น ไว้สำหรับเมื่อจะเอาจริงอย่างโยคีเถิด

๓. ในกรณีพิเศษสำหรับคนป่วยคนไม่ค่อยสบายหรือแม้แต่คนเหนื่อย จะนั่งอิงหรือนั่งเก้าอี้หรือเก้าอี้ผ้าใบสำหรับเอนทอดเล็กน้อย หรือนอนเลย สำหรับคนเจ็บไข้ก็ทำได้ ทำในที่ไม่อับอากาศ หายใจได้สบายไม่มีอะไรกวนใจเกินไป

๔. เสียงอึกทึกที่ดังสม่ำเสมอ และไม่มีความหมายอะไร เช่น เสียงคลื่น เสียงโรงงาน เหล่านี้ไม่มีอุปสรรค เว้นแต่จะไปยึดถือเอาว่าเป็นอุปสรรคเสียเอง เสียงที่มีความหมายต่างๆ เช่น เสียงคนพูดกันนั้นเป็นอุปสรรคแก่ผู้หัดทำ ถ้าหาที่เงียบเสียงไม่ได้ ก็ให้ถือว่าไม่มีเสียงอะไร ตั้งใจทำไปก็แล้วกัน มันจะค่อยได้เอง

๕. ทั้งที่ตามองเหม่อดูปลายจมูกอยู่ก็สามารถรวม ความนึกหรือความรู้สึก หรือเรียกภาษาวัดว่า สติ ไปกำหนดจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของตัวเองได้ คนที่ชอบหลับตา ก็หลับตาแล้วตั้งแต่ตอนนี้ คนที่ชอบลืมตาลืมไปได้เรื่อยจนมันค่อยๆหลับของมันเองเมื่อเป็นสมาธิมากขึ้นๆ

๖. เพื่อจะให้กำหนดได้ง่ายๆ ในขั้นแรกหัด ให้พยายามหายใจให้ยาวที่สุดที่จะยาวได้ด้วยการฝืนทั้งเข้าและออกหลายๆครั้งเสียก่อน เพื่อจะได้รู้ของตัวเองให้ชัดเจนว่าลมหายใจที่มันลากเข้าลากออกเป็นทางอยู่ภายในนั้น มันลากถูหรือกระทบอะไรบ้าง ในลักษณะอย่างไร และกำหนดได้ง่ายๆ ว่ามันไปรู้สึกว่าสุดลงที่ตรงไหนที่ในท้อง โดยเอาความรู้สึกที่กระเทือนนั้นเป็นเกณฎ์พอเป็นเครื่องกำหนดง่ายๆ เท่าที่จะกำหนดได้

๗. คนธรรมดาจะรู้สึกลมหายใจกระทบปลายจะงอยจมูก ให้ถือเอาตรงนั้นเป็นที่สุดข้างนอก ถ้าคนจมูกแฟบ หน้าหัก ริมฝีปากบนเชิด ลมจะกระทบริมฝีปากบน อย่างนี้ก็ให้กำหนดเอาที่ตรงนั้นว่าเป็นที่สุดท้ายข้างนอก แล้วก็จะได้จุดทั้งข้างนอกและข้างใน โดยกำหนดเอาว่าที่ปลายจมูกจุดหนึ่งที่สะดือจุดหนึ่ง แล้วลมหายใจได้ลากตัวมันเองไปมาอยู่ระหว่างสองจุดนี้ ขึ้นลงอยู่เสมอ

๘. ทีนี้ทำใจของเราให้เป็นเหมือนอะไรที่คอยวิ่งตามลมนั้นไม่ยอมพรากทุกครั้งที่หายใจทั้งขึ้นและลงตลอดเวลาที่ทำสมาธินี้ จัดเป็นขั้นหนึ่งของการกระทำ เรียกกันง่ายๆ ในที่นี่ก่อนว่า ขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา" กล่าวมาแล้วว่าเริ่มต้นทีเดียวให้พยายามฝืนหายใจให้ยาวที่สุด และแรงๆ และหยาบที่สุดหลายๆครั้ง เพื่อให้พบจุดหัวท้ายแล้วพบเส้นที่จะลากอยู่ตรงกลางๆให้ชัดเจน

๙. เมื่อ จิตหรือสติ จับหรือกำหนดลมหายใจที่เข้าๆ ออกๆ ได้โดยทำความรู้สึกที่ๆ ลมมันกระทบลากไปแล้วไปสุดลงที่ตรงไหน แล้วจึงกลับเข้าหรือกลับออกก็ตามดังนี้แล้ว ก็ค่อยๆ ผ่อนให้การหายใจนั้นค่อยๆ เปลี่ยนเป็นหายใจอย่างธรรมดา โดยไม่ต้องฝืน แต่สตินั้นคงกำหนดที่ลมได้ตลอดเวลา ตลอดสาย เช่นเดียวกับเมื่อแกล้ง หายใจหยาบแรงๆ นั้น เหมือนกัน คือ กำหนดได้ตลอดสายที่ลมผ่านจากจุดข้างในคือสะดือ หรือท้องส่วนล่างก็ตาม ถึงจุดข้างนอกคือปลายจมูก หรือปลายริมฝีปากบนแล้วแต่กรณี ลมหายใจจะละเอียดหรือแผ่วลงอย่างไร สติก็คงกำหนดได้ชัดเจนอยู่เสมอไปโดยให้การกำหนดนั้นละเอียดเข้ามาตามส่วน

๑๐. ถ้าเผอิญเป็นว่าเกิดกำหนดไม่ได้ เพราะลมหายใจละเอียดเกินไปก็ให้ตั้งต้นหายใจให้หยาบ หรือแรงกันไปใหม่ แม้จะไม่เท่าทีแรกก็เอาพอให้กำหนดได้ชัดเจนก็แล้วกัน กำหนดกันใหม่จนให้มีสติรู้สึกอยู่ที่ลมหายใจไม่มีขาดตอนให้จนได้ คือจนกระทั่งหายใจอยู่ตามธรรมดาไม่มีฝืนอะไรก็กำหนดได้ตลอด มันยาวหรือสั้นแค่ไหนก็รู้ มันหนักหรือเบาเพียงไหนก็รู้พร้อมอยู่ในนั้น เพราะสติเพียงแต่คอยเกาะแจอยู่ติดตามไปมาอยู่กับลมตลอดเวลา ทำได้อย่างนี้เรียกว่า ทำการบริกรรมใน ขั้น "วิ่งตามไปกับลม" ได้สำเร็จ

๑๑. การทำไม่สำเร็จนั้นคือ สติ หรือความนึก ไม่อยู่กับลมตลอดเวลา เผลอเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มารู้เมื่อมันไปแล้ว และก็มีรู้มันไปเมื่อไร โดยอาการอย่างไร เป็นต้น พอรู้ก็จับตัวมันมาใหม่และฝึกกันไปกว่าจะได้ขั้นนี้ ครั้งหนึ่ง ๑๐ นาที เป็นอย่างน้อยแล้วค่อยฝึกขั้นต่อไป

๑๒. ขั้นต่อไปซึ่งเรียกว่า ขั้นที่สอง หรือ ขั้น "ดักดูอยู่แต่ตรงที่แห่งใดแห่งหนึ่ง" นั้น จะทำต่อเมื่อทำขั้นแรกข้างต้นได้แล้วเป็นดีที่สุด หรือใครจะสามารถข้ามมาทำขั้นที่สองนี้ได้เลยก็ไม่ว่า ในขั้นนี้จะให้ สติหรือความนึก คอยดักกำหนดอยู่ตรงที่ใดแห่งหนึ่งโดยเลิกการวิ่งตามลมเสีย ให้กำหนดความรู้สึกเมื่อลมหายใจเข้าไปถึงที่สุดข้างใน คือสะดือ ครั้งหนึ่งแล้วปล่อยว่างหรือวางเฉย แล้วมากำหนดรู้สึกกันเมื่อลมออกมากระทบที่สุดข้างนอก คือปลายจมูกอีกครั้งหนึ่งแล้วก็ปล่อยว่างหรือวางเฉย จนมีการกระทบส่วนสุดข้างในคือสะดืออีก ทำนองนี้เรื่อยไปไม่มีการเปลี่ยนแปลง

๑๓. เมื่อเป็นขณะที่ปล่อยวาง หรือวางเฉยนั้น จิตก็ไม่ได้หนีไปอยู่บ้านช่องไร่นา หรือที่ไหนเลยเหมือนกัน แปลว่า สติคอยกำหนดที่ส่วนสุดข้างในหนึ่ง ข้างนอกแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้นปล่อยเงียบหรือว่าง เมื่อทำได้อย่างนี้เป็นที่แน่นอนแล้ว ก็เลิกกำหนดข้างในเสีย คงกำหนดแต่ข้างนอก คือที่ปลายจมูกแห่งเดียวก็ได้ สติคอยเฝ้ากำหนดอยู่แต่ที่จะงอยจมูกไม่ว่าลมจะกระทบเมื่อหายใจเข้าหรือเมื่อหายใจออกก็ตาม ให้กำหนดรู้ทุกครั้ง สมมติเรียกว่า เฝ้าแต่ตรงปากประตูให้มีความรู้สึกครั้งหนึ่งๆ เมื่อลมผ่านออกนั้นว่างหรือเงียบ ระยะกลางที่ว่างหรือเงียบนั้น จิต ไม่ได้หนีไปอยู่ที่บ้านช่องหรือที่ไหนอีกเหมือนกัน

๑๔. ทำได้อย่างนี้เรียกว่า ทำบริกรรมใน ขั้น "ดักอยู่แต่ในที่แห่งหนึ่ง" นั้นได้สำเร็จ จะไม่สำเร็จก็ตรงที่จิตหนีไปเสียเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มันกลับเข้าไปในประตู หรือเข้าประตูแล้วลอดหนีไปทางไหนเสียก็ได้ ทั้งนี้เพราะระยะที่ว่างหรือเงียบนั้น เป็นไปไม่ถูกต้องและทำไม่ดีมาตั้งแต่ข้างต้นของขั้นนี้ เพราะฉะนั้น ควรทำให้ดีหนักแน่นและแม่นยำมาตั้งแต่ขั้นแรก คือ ขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา" นั้นทีเดียว

๑๕. แม้ขั้นต้นที่สุดหรือที่เรียกว่า "วิ่งตามตลอดเวลา" นั้น ก็ไม่ใช่ทำได้ง่ายสำหรับทุกคน และเมื่อทำได้ก็มีผลเกินคาดมาแล้วทั้งกายและใจ จึงควรทำให้ได้และทำให้เสมอๆ จนเป็นของเล่น อย่างการบริหารกายมีเวลาสองนาทีก็ทำ เริ่มหายใจให้แรงจนกระดูกลั่นก็ยิ่งดี จนมีเสียงหวีดหรือซูดซาดก็ได้ แล้วค่อยบ่อนให้เบาๆ ไปจนเข้าระดับปกติของมัน

๑๖. ตามธรรมดาที่คนเราหายใจอยู่นั้นไม่ใช่ระดับปกติ แต่ว่าต่ำกว่าหรือน้อยกว่าปกติโดยไม่รู้สึกตัว โดยเฉพาะเมื่อทำกิจการงานต่างๆ หรืออยู่อิริยาบถที่ไม่เป็นอิสระนั้น ลมหายใจของตัวเองอยู่ในลักษณะที่ต่ำกว่าปกติที่ควรจะเป็นทั้งที่ตนเองไม่ทราบได้ เพราะฉะนั้นจึงให้เริ่มด้วยหายใจอย่างรุนแรงเสียก่อน แล้วจึงค่อยปล่อยให้เป็นไปตามปกติ อย่างนี้จะได้ลมหายใจที่เป็นสายกลางหรือพอดี และทำร่างกายให้อยู่ในสภาพปกติด้วย เหมาะสำหรับจะกำหนดเป็นนิมิตของอานาปานัสสติในขั้นต้นนี้ด้วย

๑๗. ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การบริกรรมขั้นต้นที่สุดนี้ ขอให้ทำจนเป็นของเล่นปกติสำหรับทุกคน และทุกโอกาสเถิดจะมีประโยชน์ในส่วนสุขภาพทั้งทางกายและทางใจ อย่างยิ่งแล้วจะเป็นบันไดสำหรับขั้นสองต่อไปอีกด้วย แท้จริงความแตกต่างกันในระหว่าง ขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา" กับขั้น "ดักดูอยู่เป็นแห่งๆ" นั้น มีไม่มากมายอะไรนัก เป็นแต่การผ่อนให้ประณีตเข้า คือ มีระยะการกำหนดด้วยสติน้อยแต่คงมีผล คือ จิตหนีไปไม่ได้เท่ากัน

๑๘. เพื่อให้เข้าใจง่าย จะเปรียบกันกับพี่เลี้ยงที่ไกวเปลเด็กอยู่ข้างเสาเปล ขั้นแรกก็จับเด็กใส่ลงในเปลแล้วเด็กยังไม่ง่วง ยังคอยจะดิ้นหรือลุกออกไปจากเปล ในขั้นนี้พี่เลี้ยงจะต้องคอยจับตาดูแหงนหน้าไปมา ดูเปลไม่ให้วางตาได้ซ้ายทีขวาทีอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เด็กมีโอกาสตกลงมาจากเปลได้ ครั้นเด็กชักจะยอมนอนคือไม่ค่อยจะดิ้นรนแล้ว พี่เลี้ยงก็หมดความจำเป็นที่จะต้องแหงนหน้าไปมา ซ้ายทีขวาที ตามระยะที่เปลไกวไปไกวมา พี่เลี้ยงคงเพียงแต่มองเด็กเมื่อเปลไกวมาตรงหน้าตนเท่านั้นก็พอแล้ว มองแต่เพียงครึ่งหนึ่งๆ เป็นระยะๆ ขณะที่เปลไกวไปมาตรงหน้าตนพอดี เด็กก็ไม่มีโอกาสลงจากเปลเหมือนกันเพราะเด็กชักจะยอมนอนขึ้นมาดังกล่าวแล้ว

๑๙. ระยะแรกของการบริกรรม กำหนดลมหายใจในขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา" นี้ก็เปรียบกันได้กับระยะที่พี่เลี้ยงต้องคอยส่ายหน้าไปมาตามเปลที่ไกวไม่ให้วางตาได้ ส่วนระยะที่สองที่กำหนดลมหายใจเฉพาะที่ปลายจมูกหรือที่รียกว่า ขั้น "ดักอยู่แห่งใดแห่งหนึ่ง" นั้น ก็คือขั้นที่เด็กชักจะง่วงและยอมนอนจนพี่เลี้ยงจับตาดูเฉพาะเมื่อเปลไกวมาตรงหน้าตนนั้นเอง

๒๐. เมื่อฝึกหัดมาได้ถึงขั้นที่สองนี้อย่างเต็มที่ ก็อาจฝึกต่อไปถึงขั้นที่ผ่อนระยะการกำหนดของ สติ ให้ประณีตเข้าๆ จนเกิด สมาธิชนิดแน่วแน่ เป็นลำดับไปจนถึง ฌานขั้นใดขั้นหนึ่งได้ ซึ่งพ้นไปจากสมาธิ อย่างง่ายๆในขั้นต้น สำหรับคนธรรมดาทั่วไปและไม่สามารถนำมากล่าวรวมกันไว้ในที่นี้เพราะเป็นเรื่องละเอียดรัดกุม มีหลักเกณฑ์ที่ซับซ้อนต้องศึกษากัน เฉพาะผู้สนใจถึงขั้นนั้น ในขณะนี้เพียงแต่ขอให้สนใจในขั้นมูลฐานกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเป็นของเคยชินเป็นธรรมดาอันอาจจะตะล่อมเข้าขั้นสูงขั้นไปตามลำดับในภายหลัง


สิ่งที่มนุษย์ควรจะได้พบ

ขอให้ฆราวาสทั่วไปได้มีโอกาสทำสมาธิ ชนิดที่อาจทำประโยชน์ทั้งทางกายและทางใจ สมความต้องการในขั้นต้นเสียขั้นหนึ่งก่อน เพื่อจะได้เป็นผู้ชื่อว่ามี ศีล สมาธิ ปัญญา ครบสามประการ หรือ มีความเป็นผู้ประกอบตนอยู่ในมรรคมีองค์แปดประการได้ครบถ้วน แม้ในขั้นต้น ก็ยังดีกว่าไม่มีเป็นไหนๆ กายระงับลงไปกว่าที่เป็นกันอยู่ตามปกติก็ด้วยการฝึกสมาธิขั้นสูงขึ้นไปตามลำดับๆ เท่านั้น และจะได้พบ "สิ่งที่มนุษย์ควรจะได้พบ" อีกสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้ไม่เสียทีที่เกิดมา

..............

บทความจาก

//pusawan.site88.net






 

Create Date : 09 มกราคม 2553   
Last Update : 9 มกราคม 2553 18:23:32 น.   
Counter : 317 Pageviews.  

1  2  

FanTewada
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ถ้าทำวันนี้ให้ดี...อดีตและอนาคตของเราก็จะดี_งับป๋ม
[Add FanTewada's blog to your web]