EMPIRE DOGS
 

การดูแลสุนัข

"การดูแลสุนัข"

สุนัขจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของ ทั้งในด้านการดูแลขน การอาบน้ำ การดูแลสภาพทั่วไปของหู ตา จมูกและเล็บเท้า รวมไปดึงการดูแลสุขภาพของเหงือกและฟันตลอดจนการออกกำลังกาย การได้รับอาหารที่ดี และการได้รับการตรวจเช็คสุขภาพโดยสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอด้วย
การทำความสะอาดใบหน้า
1.ในการทำความสะอาดตา ให้ใช้สำลีสะอาดชุบน้ำบิดให้แห้งเช็ดขอบตา ควรใช้สำลีแผ่นใหม่สำหรับตาแต่ละข้าง และถ้าพบว่าสุนัขมีขี้ตาหรือมีอาการตาอักเสบ ควรนำไปปรึกษาสัตวแพทย
์ 2.ในการทำความสะอาดช่องหู ควรได้รับการดูแลอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยใช้สำลีพันปลายไม้ชุบน้ำอุ่น น้ำยาเช็ดหูสำหรับสุนัขทำความสะอาดซอกหูและช่องหู ควรใช้สำลีใหม่สำหรับหูแต่ละข้าง ถ้าพบอาการอักเสบให้หยุดการเช็ดทันทีแล้วรีบปรึกษาสัตวแพทย์
3.ทำความสะอาดบริเวณที่พับย่นเพื่อป้องกันการสะสมของสิ่งสกปรก กำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายและแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการระคายเคืองและการติดเชื้อ

การดูแลสุขภาพภายในช่องปาก
สัตวแพทย์สามารถจัดยาสีฟันที่เหมาะสมสำหรับสุนัขให้ได้ และไม่ควรใช้ยาสีฟันสำหรับคนกับสุนัข
1.ควรตรวจสุขภาพฟันและเพื่อให้แน่ใจว่าสุนัขไม่มีปัญหาเหงือกอักเสบหรือคราบหินปูนเกาะฟันซึ่งเป็นสาเหตุของเหงือกอักเสบ
2.แปรงฟันให้สุนัขอย่างนิ่มนวล ควรใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม อาจใช้น้ำเกลือเจือจางหรือยาสีฟันสำหรับสุนัข

การตัดเล็บ
การตัดเล็บจะต้องไม่ตัดให้ลึกถึงบริเวณที่เห็นเป็นสีชมพู เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีเลือดและเส้นประสาทมาเลี้ยงมาก เรียกว่า เนลเบด (nail bed) หรือ ควิก (quick) ถ้าไม่แน่ใจควรให้สัตวแพทย์เป็นผู้ตัดเล็บให้แก่สุนัข
1.จับนิ้วสุนัขให้แยกจากกัน และตรวจดูระหว่างนิ้ว เช็ดสิ่งสกปรกและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วด้วยสำลีชุบน้ำ
2.ตัดเล็บด้วยความระมัดระวัง ตะไบปลายเล็บให้เรียบร้อย ถ้าสุนัขตัวนั้นมีนิ้วติ่งให้ตัดเล็บที่นิ้วติ่งออกไปด้วย

การดูแลผิวหนังและขน
วัตถุประสงค์ในการดูแลผิวหนังและขนสุนัขมี 2 ประการด้วยกัน ประการแรกคือเพื่อให้ขนและผิวหนังรวมทั้งเหงือก ฟัน และเล็บของสุนัขมีสุขภาพดี ส่วนประการที่สองก็คือ เป็นการฝึก หรือย้ำเตือนสุนัขให้เชื่อฟังคำสั่ง และยอมรับว่าเจ้าของมีอำนาจเหนือกว่า เมื่อสุนัขยอมให้ดูแลผิวหนังและขนควรให้รางวัลด้วยการสัมผัสหรือลูบคลำตัวสุนัขเท่านั้น แต่บางครั้งอาจให้อาหารเป็นรางวัลก็ได้ กรณีที่สุนัขไม่ยอมให้ดูแลผิวหนังและขน จำเป็นต้องออกคำสั่งบังคับให้สุนัขนั่งลงหรือให้อยู่นิ่งๆ สุนัขพันธุ์ใหญ่บางพันธุ์ เช่น พันธุ์โดเบอร์แมน และเกรตเดน ซึ่งมีขนสั้นและเรียบ อาจมีขนแข็งคล้ายเข็มซึ่งจะแทงทะลุผิวหนังบริเวณที่มีการกดทับของสุนัขขณะนอนลง เช่น ข้อศอก และข้อขา บริเวณที่บอบบางเหล่านี้ควรใช้แชมพูปรับสภาพเพื่อให้ขนอ่อนนุ่มและป้องกันการอักเสบของผิวหนัง

การแปรงขนให้สุนัขที่มีขนเรียบ
1.สุนัขขนเรียบ เช่น พันธุ์บ๊อกเซอร์ไม่ต้องการการดูแลขนมากนัก แต่ควรแปรงขนสัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง ขั้นตอนแรกควรใช้แปรงยางหรือถุงมือแปรงย้อนขน เพื่อขจัดขนที่หมดอายุแล้วรวมทั้งสิ่งสกปรกบนผิวหนัง

2.กำจัดขนและผิวหนังที่ตายออกโดยใช้แปรงขนสัตว์แปรงทุกส่วน ตั้งแต่หัวถึงหาง อาจใช้ครีมปรับสภาพผิวหนังทาเพื่อให้ขนดูเงางาม

3.ขัดขนอย่างรวดเร็วด้วยผ้าชามัวร์เพื่อทำให้ขนดูเงางาม สุนัขที่มีขนเรียบเป็นสุนัขที่ดูแลผิวหนังและขนง่ายที่สุด และสามารถทำให้ดูดีได้ด้วยการดูแลอย่างสม่ำเสมอ


การแปรงขนสุนัขที่มีขนสั้น
1.สุนัขที่มีขนสั้นและหนาควรดูแลเป็นประจำและใช้แปรงพิเศษที่เรียกว่า สลิกเกอร์ เพื่อช่วยไม่ให้ขนติดกัน

2.แปรงขนทั่วตัวด้วยแปรงขนสัตว์เพื่อกำจัดขนที่หมดอายุและสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ ขณะที่แปรงขนสุนัข สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การตรวจดูว่ามีเห็บหมัด หรือมีความผิดปกติอื่นๆ หรือไม่

3.ใช้หวีซี่ละเอียดแปรงขนบริเวณหางและขา ใช้กรรไกรเล็มขนที่ขึ้นไม่เป็นระเบียบออกไป

การแปรงขนสุนัขที่มีขนคล้ายเส้นไหม
เช่น พันธุ์ยอร์กไชร์ เทอร์เรีย
1.ใช้แปรงสลิกเกอร์สางขนที่พันกันออก การสางขนที่เกาะกันเป็นก้อนต้องกระทำอย่างระมัดระวัง และอย่าดึงแรงจนกระทั่งขาด

2.แปรงอีกครั้งด้วยแปรงขนสัตว์เพื่อให้ขนเงางาม การแปรงขนในขั้นนี้ไม่ควรแปรงสะดุด

3.แสกขนตามแนวกลางหลังแล้วหวีขนแต่ละด้านให้เหยียดลง ตัดแต่งด้วยกรรไกรให้เป็นระเบียบ

4.เล็มขนรอบเท้าและหูและตัดเล็บด้วย 5.ขนที่ยาวเหนือตาควรเล็มออก หรือรวบรวมด้วยริบบิ้นหรือโบว์

การแปรงขนสุนัขขนยาว เช่น พันธุ์คอลลี่
1.ใช้แปรสลิกเกอร์ค่อยๆ สางขนที่พันกันและเป็นปมอย่างนุ่มนวล และควรระมัดระวัง อย่าฝืนดึงขนหรือแปรงอย่างรุนแรงจนทำให้สุนัขเจ็บ

2.แปรงขนซ้ำอีกครั้งด้วยแปรงขนหมุด การแปรงในขั้นนี้ไม่ควรมีขนที่พันกันแล้ว

3.ใช้ด้ามหวีตรงที่มีซี่หวีกว้างหวีอีกครั้ง โดยเฉพาะช่วงขาที่มีขนยาว

4.ตัดขนที่ยาวรอบเท้าโดยเฉพาะระหว่างนิ้ว ซึ่งเป็นบริเวณที่มักมีสิ่งสกปรกและสิ่งแปลกปลอมเข้าไปสะสม ซึ่งจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง

5.ตัดขนบริเวณข้อขา เพื่อป้องกันการพันกันของขนที่ยาวซึ่งจะเป็นที่สะสมของสิ่งสกปรกและผิวหนังที่ตาย

อุปกรณ์ในการดูแลขน
เนื่องจากสุนัขแต่ละพันธุ์มีลักษณะขนที่แตกต่างกัน การเลือกอุปกรณ์ในการดูแลขนจึงแตกต่างกันไป ขึ้นกับลักษณะและสภาพขนของสุนัขพันธุ์นั้นๆ สุนัขที่มีขนสั้นหรือขนเรียบอาจใช้แค่แปรงธรรมดากับ hound glove ในขณะที่สุนัขขนยาวบางตัวจำเป็นต้องอาศัยมีดตัดขนในการเล็มขนที่ยาวออกเป็นต้น

- แปรงสำหรับแปรงขน
1.Pin Brush เป็นแปรงที่มีลักษณะขนของแปรงเป็นลวดแข็งๆ เหมาะสำหรับสุนัขที่มีขนยาว เช่น พันธุ์ อาฟกันฮาวนด์, ปักกิ่ง, ซาลูกิ

2.Slicker Brush เป็นแปรงที่มีขนาดเบาและมีขนแปรงที่ทำมาจากลวดที่มีปลายแหลม เหมาะที่จะใช้ในการสางขนที่มีลักษณะหยิกเป็นลอน เช่นพันธุ์ พุดเดิ้ล

3.Bristle Brush เป็นแปรงที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม เหมาะสำหรับสุนัขที่มีลักษณะขนเป็นเส้นตรงและมีขนมันเงางาม เช่น พันธุ์ ยอร์กไชร์ เทอร์เรีย

4.Hound Glove เป็นแปรงที่มีที่สวมมือคล้ายกับถุงมือ เหมาะสำหรับสุนัขที่มีขนเรียบเช่น พันธุ์เกรตเดน , ชิวาวา และสุนัขใน
ตระกูลฮาวนด์





- หวีสำหรับสุนัข
1.Half Fine / Half Coarse Comb เป็นหวีที่มีซี่หวีเป็นโลหะ ด้านหนึ่งจะมีซี่หวีถี่แต่อีกด้านจะมีซี่หวีห่าง เหมาะที่จะใช้กับสุนัขทั่วๆ ไป
2.De-Matting Comb เป็นหวีที่มีซี่ยาวและกว้าง เหมาะที่จะใช้ในการสางขนที่ติดแน่นเป็นก้อน
การดูแลผิวหนังและแปรงขนสุนัขอย่างสม่ำเสมอจะช่วยทำให้ผิวหนังและขนอยู่ในสุขภาพดี แต่ในบางครั้งก็จำเป็นต้องอาบน้ำให้สุนัขถ้ามีกลิ่นตัวที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ การอาบน้ำยังช่วยกำจัดพยาธิภายนอกบางชนิด รวมทั้งปรับสภาพผิวหนังที่แห้งหรือมันเกินไป ซึ่งสัตวแพทย์สามารถแนะนำแชมพูยาและครีมปรับสภาพขนที่เหมาะสมกับสุนัข การใช้แชมพูและครีมปรับสภาพขนให้ได้ผลดีจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต
แชมพูที่ล้างออกไม่หมดจะระคายเคืองต่อผิวหนัง และทำให้คันซึ่งสุนัขอาจเกาจนเป็นแผล ระหว่างการอาบน้ำอาจใส่ปลอกคอเพื่อใช้จับสุนัขและป้องกันสุนัขกระโดดออกจากอ่างน้ำการวางผ้ายางไว้ในอ่างน้ำจะช่วยไม่ให้สุนัขลื่น
วิธีการอาบน้ำ
1.หลังจากแปรงขนให้สุนัขแล้วให้ใช้ก้อนสำลีอุดหูสุนัขไว้ แล้วจับสุนัขยืนในอ่างน้ำ โดยใช้ผ้ายางรองพื้นอ่าง ใช้มือจับปลอกคอสุนัขแล้วใช้น้ำอุ่นค่อยๆ ราดลงบนตัวสุนัข
2.ใช้แชมพูสำหรับสุนัขหรือแชมพูที่ไม่ระคายเคืองตาฟอกให้ทั่วตัว ยกเว้นบริเวณหัว จับสุนัขให้มั่นคงเพื่อป้องกันสุนัขลื่นหรือกระโดดออกจาอ่างน้ำ ถูนวดย้อนขนจนแชมพูเป็นฟอง ระวังอย่าให้แชมพูกระเด็นเข้าตาสุนัข
3.บริเวณหัวให้ใช้แชมพูที่ไม่ระคายเคืองตาเทลงมือ แล้วนวดขนสุนัขอย่างนุ่มนวล ระวังอย่าให้น้ำและฟองแชมพูกระเด็นเข้าปากของสุนัข
4.ล้างแชมพูบริเวณหัวออกและเช็ดให้แห้งก่อน จากนั้นจึงล้างแชมพูบริเวณลำตัว วิธีจะช่วยป้องกันสุนัขสะบัดน้ำกระจายไปทั่ว
5.ล้างแชมพูออกให้หมดด้วยน้ำอุ่นอีกครั้ง ถ้าจำเป็นอาจใช้แชมพูปรับสภาพ นวดขนแล้วล้างออกให้หมด
6.บีบไล่น้ำที่ติดค้างตามขนออกให้มากที่สุด แล้วใช้ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่เช็ดตัวสุนัขให้แห้ง จากนั้นเอาสาลีที่อุดหูออกและเช็ดในรูหูให้แห้ง
7.สุนัขที่มีผิวหนังสมบูรณ์อาจใช้เครื่องเป่าผมเป่าขนให้แห้ง โดยปรับอุณหภูมิปานกลาง และแปรงขนไปในทิศทางออกจากตัว สำหรับสุนัขที่มีอาการคันควรงดเครื่องเป่าผมเพราะว่า ความร้อนจะทำให้คันมากขึ้น
หลังอาบน้ำสุนัขมักจะวิ่งไปทั่วอย่างตื่นเต้น ควรระวังไม่ให้สุนัขไปเกลือกกลิ้งบนพื้นสกปรก และพยายามสร้างกลิ่นตัวให้เหมือนสิ่งแวดล้อมด้วยการไปคลุกกับสิ่งเหล่านี้
การอาบน้ำสุนัข
ควรอาบน้ำให้สุนัข เมื่อสุนัขเริ่มสกปรก และมีกลิ่น บ้านเราเป็นเมืองร้อน การอาบน้ำอาจจะทำได้ถี่กว่าสุนัขที่อยู่ในเมืองหนาว อาจจะเดือนละครั้ง หรือ 2 เดือนครั้งก็ได้ ขึ้นกับสุนัขของคุณว่า มอมแมมง่ายแค่ไหน ควรอาบน้ำให้สุนัขตอนเช้าๆ ที่แดดไม่ร้อนจนเกินไป ขนจะได้แห้งง่าย หลีกเลี่ยงการอาบน้ำสุนัขตอนกลางคืน เพราะจะทำให้สุนัขเป็นหวัดได้ โดยเฉพาะสุนัขที่มีขนยาว
ต่อไปนี้เป็นเทคนิคการอาบน้ำสุนัข
ถ้าสุนัขคุณเป็นสุนัขตัวเล็กๆ อาจให้อาบในกะละมัง (คล้ายกะละมังอาบน้ำเด็ก) แล้วใช้ขันใบเล็กๆ ตักน้ำราด แต่ถ้าเป็นสุนัขตัวใหญ่อาจผูกไว้กับหลัก (เช่น รั้วบ้าน) แล้วใช้สายยางรด ควรเริ่มราดน้ำจากด้านหลังสุนัข ด้านข้าง ขา ใต้ท้อง ก้น อย่าราดน้ำที่หัวของสุนัขโดยตรง เพราะสุนัขจะสะบัดน้ำทันที เมื่อหัวเปียกน้ำ ให้ค่อยๆ วักน้ำ ลูบที่หัว และหน้า และให้โอกาสมันสะบัดน้ำก่อน จะเทแชมพู
แชมพูที่ใช้ อาจใช้แชมพูสำหรับเด็ก หรือแชมพูสำหรับสุนัขก็ได้ การฟอกแชมพูควรเริ่มในลักษณะเดียวกับการราดน้ำ คือ เริ่มจากหลังก่อน ด้านข้าง แล้วย้ายมาที่ขา ใต้ท้อง ก้น หาง คอ และหน้า (ที่หน้าอาจฟอกเฉพาะบริเวณหัว บริเวณอื่นๆ ใช้น้ำลูบก็พอ)
ล้างแชมพูออก โดยเริ่มจากที่หลังก่อน แล้วไล่ไปเรื่อยๆ จบที่หน้า
เช็ดขนให้หมาดด้วยผ้าเช็ดตัว ถ้าสุนัขขนยาวอาจใช้ดรายเป่าผม เป่าให้ขนแห้ง
สำหรับสุนัขที่ไม่คุ้นกับเสียงดรายเป่าผม ควรเริ่มเป่าจากด้านหน้าสุนัขก่อน เพื่อให้สุนัขทำความรู้จักกับดรายก่อน สุนัขจะได้ไม่ตกใจ เมื่อขนแห้งแล้ว ค่อยแปรงขนให้เรียบ (ขั้นตอนการแปรงขนต้องใจเย็นหน่อย ไม่งั้นสุนัขจะทำตาขวางใส่ ไม่ก็หนีสุดชีวิต ทำเอาเหนื่อยเชียวล่ะ) ถ้าเป็นสุนัขขนสั้น อาจมัดให้ตากแดดอ่อนๆ จนขนแห้ง ก็เป็นอันเสร็จ




 

Create Date : 27 เมษายน 2550    
Last Update : 27 เมษายน 2550 14:00:09 น.
Counter : 436 Pageviews.  

การเจริญพันธุ์

การเจริญพันธุ์
สำหรับผู้รักสุนัขแล้ว การได้ลูกหมาน้อยๆ มาชื่นชม นับเป็นความยินดีอย่างหนึ่ง แต่ถึงแม้ว่า คุณจะมีเหตุผล อะไรก็ตามที ที่ไม่ต้องการสุนัขเพิ่มอีก คุณก็ควรมีความรู้ เกี่ยวกับการเจริญพันธุ์สุนัข เพื่อจะได้ป้องกัน ไม่ให้เจ้าสุนัขของคุณท้องโย้ และคลอดลูก ออกมา จนเลี้ยงไม่ไหว
ระบบสืบพันธุ์แบบหมาๆ
โดยทั่วไปแล้ว สุนัขตัวเมียจะติดสัดปีละ 2 ครั้ง ยกเว้นสุนัขพันธุ์บาเซนจิ ที่ยังคงระบบ สืบพันธุ์แบบดั้งเดิม จึงติดสัดเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ช่วงที่สุนัขจะติดสัดคือ เดือน ม.ค.-มี.ค และ ส.ค.-ก.ย.
โดยธรรมชาติแล้ว สุนัขไม่ใช่สัตว์ประเภทผัวเดียว เมียเดียว จึงไม่น่าแปลกนัก หากจะพบสุนัขตัวเมีย 1 ตัว กับสุนัขตัวผู้อีก 1 โขยง แต่มีสุนัขบางพันธุ์เหมือนกันที่พึงพอใจ กับการใช้ชีวิตแบบผัวเดียว เมียเดียว เช่น หมาป่า สุนัขจิ้งจอก หมาป่าโคโอท เป็นต้น นอกจากนี้ สุนัขบ้านอย่างบีเกิล ก็มีแนวโน้มที่จะรักชีวิตคู่เช่นเดียวกัน

ระยะสัด
สุนัขจะเริ่มติดสัดเมื่ออายุราว 8 เดือน - 1 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับความสมบูรณ์ของสุนัข ระยะเวลาที่สุนัขติดสัดจะกินเวลาประมาณ 18-21 วัน ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 ช่วง คือ
• ระยะเริ่มสัด กินเวลาประมาณ 4-14 วัน (โดยเฉลี่ยประมาณ 10 วัน) ระยะนี้ อวัยวะเพศตัวเมียจะเริ่มบวมขึ้นเรื่อยๆ และจะมีเมือกใสๆ ไหลออกมา ก่อนจะ เปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น จนมีเลือดปนออกมา ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ตัวผู้เริ่มให้ความสนใจ ตัวเมีย โดยอาจจะมาดมก้น และพยายามผสมพันธุ์ แต่ตัวเมียจะไม่ยอมให้ผสม
• ระยะสัด กินเวลาประมาณ 4-8 วัน ในระยะนี้เลือดจะเริ่มหยุดไหล ช่องคลอด จะขยายใหญ่ และตัวเมียจะเริ่มยินยอมให้ตัวผู้ผสมพันธุ์ ช่วงนี้ถือเป็นช่วงทอง สำหรับเจ้าของที่ต้องการลูกสุนัข การผสมควรผสมในช่วง 24 ช.ม. แรกของระยะสัด และผสมซ้ำอีกครั้งใน 2 วันต่อมา เพื่อให้มั่นใจว่า สุนัขจะตั้งท้องจริงๆ สุนัขตัวเมียที่เหมาะแก่การผสมพันธุ์ ควรจะติดสัดเป็นครั้งที่ 3 ขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อให้ระบบสืบพันธุ์สมบูรณ์ที่สุด
สำหรับเจ้าของสุนัขที่ไม่ต้องการให้สุนัขตั้งท้อง ก็อาจจะให้สุนัขกิน หรือฉีดยาคุมกำเนิด เพื่อไม่ให้ติดสัด ทั้งนี้ก็ต้องปรึกษาสัตวแพทย์ค่ะ หรือถ้าจะคุมกำเนิดแบบถาวร ก็สามารถให้สัตวแพทย์ทำหมันได้เลยค่ะ

ท้อง ไม่ท้อง
เมื่อไข่ได้รับการผสมกับอสุจิ ก็จะพัฒนาเป็นตัวอ่อนฝังในมดลูก ปกติแล้ว สุนัขจะตั้งท้องประมาณ 58-63 วัน โดยในช่วงแรกๆ ของการตั้งท้อง รูปร่างของแม่สุนัข แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย กว่าจะสังเกตได้ ก็เริ่มเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 นู่นแหละ ที่ท้องจะเริ่มโตขึ้น ประมาณ 35 วัน เต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น หัวนมจะโตขึ้น และมีสีชมพูเรื่อๆ และในช่วง 3-4 วันก่อนคลอดจะมีน้ำใสๆ ไหลออกมาจากหัวนม สำหรับสุนัขที่เคยตั้งท้องมาแล้วหลายครั้ง เต้านมอาจไม่ขยาย จนกว่าจะสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งท้อง
ในช่วงนี้เจ้าของควรให้อาหารสุนัขมากเป็นพิเศษ และเพิ่มวิตามินรวม แคลเซียม ให้กับสุนัขด้วย (ดู อาหารสุนัข) นอกจากนี้ ควรถ่ายพยาธิตัวกลมให้สุนัขในช่วงตั้งท้อง 3 ครั้ง คือ ช่วงเริ่มท้องใหม่ๆ 10 วันก่อนคลอด และ 10 วัน

หลังคลอด
จัดเตรียมสถานที่ที่เงียบสงบ และสะอาด ให้พร้อมสำหรับการคลอด โดยอาจจะใช้กล่อง ตะกร้า หรือคอกที่แยกต่างหากจากสัตว์อื่นๆ รองพื้นสถานที่นั้นด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าๆ และทับด้วยผ้านิ่มๆ อีกชั้นหนึ่ง ถ้าคุณเป็น มือใหม่ จะปรึกษาสัตวแพทย์ไว้เผื่อขาด เผื่อเหลือ ก็น่าเข้าทีดีเหมือนกัน
อุแว้ อุแว้
เมื่อครบกำหนดคลอด แม่สุนัขจะมีอาการเบื่ออาหาร เริ่มกระวนกระวาย เดินวน ขุดคุ้ยหาสถานที่คลอด (ซึ่งอาจจะไม่ใช่ที่คุณเตรียมไว้) หัวนมจะมีน้ำใสๆ ซึมออกมา บางครั้งอาจมีน้ำใสๆ ซึมที่ช่องคลอดด้วย
เมื่อถึงเวลาคลอด แม่สุนัขจะนอนเบ่งในสถานที่ที่เลือกไว้ หลังจากเบ่งไม่นาน ถุงน้ำคร่ำจะโผล่ออกมา และแตกออก จากนั้นหัวลูกสุนัขจะค่อยๆ โผล่ออกมาทีละตัว โดยการคลอดแต่ละตัวจะห่างกันประมาณ 10-30 นาที ตามปกติแล้ว แม่สุนัขจะกัดถุงน้ำคร่ำ และสายสะดือให้ขาด พร้อมกับเลียตัวลูก เพื่อทำความสะอาด หากกรณีนี้ ไม่เกิดขึ้น และมีเยื่อถุงน้ำคร่ำพันหน้าลูกสุนัขอยู่ เป็นหน้าที่ที่คุณจะต้องช่วยดึงมันออก และตัดสายรกให้ขาด โดยใช้นิ้วจับสายสะดือ แล้วดึงให้ห่างจากตัวลูกสุนัขประมาณ 4 ซ.ม. เสร็จแล้วรีบนำลูกสุนัขส่งคืนให้กับแม่สุนัข ส่วนรกที่ถูกขับออกมา แม่สุนัขจะกินเข้าไป เพราะรกมีฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นในหลั่งน้ำนม หลังจากนั้น ก็เป็นหน้าที่ของแม่สุนัข ที่จะเลี้ยงลูกน้อยต่อไป โดยมีคุณเอาใจช่วยอยู่ห่างๆ ตามปกติแล้ว แม่สุนัขจะให้นมลูกราว 35-50 วัน ก็จะหย่านม ให้ลูกสุนัขกินอาหารอื่นต่อไป

บอกไว้ เผื่อฉุกเฉิน
การคลอดของสุนัขจะกินเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงหลังจากถุงน้ำคร่ำแตกออก หากภายใน 2 ชั่วโมงลูกสุนัขยังไม่ถูกคลอดออกมา ต้องรีบนำสุนัขส่งสัตวแพทย์ค่ะ ระหว่างการคลอด หากแม่สุนัขเบ่งลูกสุนัขออกมาช้ามากๆ และลูกสุนัขคาอยู่ระหว่างช่องคลอด คุณอาจจะต้องช่วยดึงลูกสุนัขออกมา ก่อนอื่นเลย ต้องล้าง และถูมือด้วยสบู่ให้สะอาดหมดจด จับลูกสุนัขให้แน่น สังเกตจังหวะเบ่งของแม่สุนัข เมื่อแม่สุนัขเริ่มออกแรงเบ่ง ให้ค่อยๆ ดึงลูกสุนัขอย่างเบามือ ช้าๆ ในลักษณะหมุนมือไปมาเล็กน้อย จนลูกสุนัขหลุดออก จากช่องคลอด




 

Create Date : 25 เมษายน 2550    
Last Update : 25 เมษายน 2550 11:02:42 น.
Counter : 171 Pageviews.  

 
 

Empire dogs
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add Empire dogs's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com