Group Blog
 
All blogs
 

ซีลาแคนธ์ ฟอสซิลมีชีวิต



ปลาซีลาแคนธ์ ถือเป็นสิ่งที่พิเศษที่สุดของอาณาจักรสัตว์ในยุคปัจจุบันนี้ โดยเรื่องราวต่างๆของปลาซีลาแคนธ์ได้ถูกกล่าวขานกันเป็นอย่างมากในวงศ์การวิทยาศาสตร์ อีกทั้ง ยังจุดประกายให้นักวิทยาศาสตร์ ตื่นตัวกับการค้นพบปลาชนิดนี้


ปลาซีลาแคนธ์กล่าวได้ว่าเป็นฟอสซิลที่ยังมีชีวิต เนื่องจากรูปร่าง ลักษณะ มีความคล้ายคลึงกับปลาในยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งอยู่ในช่วงที่ไดโนเสาร์กำลังครองโลกอยู่ ปลาซีลาแคนธ์ เป็นปลาที่ช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปของสายวัฒนาการของปลาในยุคปัจจุบัน ด้วยรูปแบบที่ยังคงคล้ายคลึงกับปลาดึกดำบรรพ์นั้นไว้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง

ปริศนาแห่งการวิวัฒนาการ
ปลาซีลาแคนธ์ เป็นปลาเพียงกลุ่มเดียว ที่ยังหลงเหลือมาจนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งครั้งหนึ่งพวกมันเคยมีอยู่อย่างมากกมาย และหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในวงศ์ (Order) Sarcopterygian (Fleshy finned) มีมากกว่า 120 ชนิด (ซึ่งทราบได้จาก ฟอสซิลของปลาซีลาแคนธ์ที่ถูกขุดพบ) แต่พวกมันไม่ได้มีชีวิตรอดมาจนถึงปัจจุบันได้ทั้งหมด ซึ่งพวกเราเชื่อกันว่ามันสูญพันธุ์ไปตั้งแต่เมื่อ สิ้นยุค Cretaceous เมื่อ 65 ล้านปีก่อน

ปลาซีลาแคนธ์ จัดได้ว่าเป็นญาติกับ Eusthenopteron ซึ่งเป็นปลาในยุคเริ่มแรกที่มีขา และเริ่มที่จะวิวัฒนาการมาเป็นพวกสัตว์บก แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้เสนอแนวคิดใหม่ที่ว่า Icthyostega Panderirchthyes และ Acanthotega เป็นบรรพบุรุษของ Tetrapod (สัตว์ 4 เท้า เช่นพวก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ, สัตว์เลื้อยคลาน, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงมนุษย์ด้วย) แต่แนวคิดนี้ก็ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ว่า ปลาซีลาแคนธ์ มีความใกล้ชิด และ เกี่ยวข้องกับปลา Rhipidistai มากกว่า Tetrapod สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ อีกทั้งยังมีปลาอีกชนิดหนึ่งที่เป็นปลาดึกดำบรรพ์ด้วยเช่นกันที่มีความเกี่ยวข้องกับ Tetrapod มากกว่าปลาซีลาแคนธ์ ซึ่งก็คือปลาปอด (Lung fish) ซึ่งยังหลงเหลือมาถึงปัจจุบันอยู่ 3 สกุล
ฟอสซิลปลาซีลาแคนธ์ดึกดำบรรพ์ สามารถพบได้ในทุกทวีปยกเว้นทวีป Antarctica

ในช่วง 200 ล้านปีก่อน พวกนั้นมีกันมากกว่า 30 ชนิด ที่อาศัยอยู่ในช่วงเวลานั้น ถือว่าเป็นยุคทองของปลาซีลาแคนธ์เลยก็ว่าได้ มีอยู่ 3 ชนิดจากทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด โดยมีอยู่ 2 ชนิดที่ไม่นับรวมเป็นปลาซีลาแคนธ์โบราณเนื่องจากว่า ทั้ง 2 ชนิดนี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก น้อยตัวที่จะมีขนาดใหญ่กว่า 55 ซม. ส่วนปลาซีลาแคนธ์ที่พบในยุคปัจจุบันยาวได้ร่วม 6 ฟุต (1.8 เมตร) และมีน้ำหนักถึง 150 ปอนด์ หรือมากกว่านั้น (ยักษ์ใหญ่แห่งโมแซมบิค ตัวอย่างที่จับได้ตัวนี้เป็นตัวเมียที่มีขนาดใหญ่มากมีขนาดถึง 1.8 เมตร และหนังถึง 95 กิโลกรัม) โดยทั่วไปแล้วปลาซีลาแคนธ์จะมีขนาดเล็กกว่านี้ โดยเฉพาะตัวผู้มีขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ 1.65 เมตร

ปลาซีลาแคนธ์นั้นสามารถกินปลาได้แทบทุกชนิดที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นทะเลไม่ว่าจะเป็น Lantern Fish , Stout beard fish, Cardinal Fish, Cuttle Fish, Deep water snapper, ปลาหมึกทุกชนิด, ปลาไหลใต้ทะเลลึก, Sniper eel, Swell shark และปลาทั่วๆไปที่พบได้ในบริเวณ แนวหินใต้ทะเลลึก ส่วนสีสันของปลาซีลาแคนธ์นั้นจะเป็นสีน้ำเงิน มีจุดสีขาวกระจายตามลำตัว และยังมีอีกชนิดที่รูปร่างคล้ายกันแต่ต่างกันตรงที่พื้นสีที่จะเป็นสีน้ำตาลแทนที่จะเป็นสีน้ำเงิน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าความมีลักษณะเฉพาะตัวของซีลาแคนธ์ ทำให้มันมีชีวิตได้ยืนยาวกว่า 60 ปี

เมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 410 ล้านปีก่อนที่ ปลาซีลาแคนธ์ดึกดำบรรพ์ได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของยุค Devonian ปลาซีลาแคนธ์ยุคนั้นยังเป็นปลากระดูกอ่อน ซึ่งภายในกระดูกสันหลังประกอบด้วยท่อที่เป็นกระดูกอ่อนที่บรรจุของเหลวอยู่ภายใน ซึ่งสามารถโค้งงอได้ Hollow fin spine ซึ่งพบในฟอสซิลเป็นที่มาของชื่อ ซีลาแคนธ์ (Coelacanth) ซึ่งมีความหมายในภาษากรีกว่า Hollow spine ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างจาการที่ไม่มีขากรรไกร มาเป็น มีเหงือกหลักแบบบานพับ และมีกะโหลกที่แข็งแรง (ปลาในสมัยก่อนหน้านี้ กระดูกจะหุ้มส่วนหัวอยู่ภายนอก จนดูเหมือนใส่เกราะ เพื่อป้องกันส่วนหัวไม่ให้ได้รับอันตราย) ฟันถูกจัดวางบริเวณสันของขากรรไกรล่าง และฟันบนอยู่บริเวณเพดานปาก (ถือได้ว่าเป็นขากรรไกรแท้จริง) สมองมีขนาดเล็กอยู่ภายในกะโหลกแข็ง กระดูกพับบริเวณส่วนกลางช่วยขยายขนาดของปาก เพื่อใช้ในการกินอาหาร (ลักษณะเช่นนี้พบได้ในสัตว์จำพวกกบ) ตาได้ถูกพัฒนาให้ดีขึ้น โดยมีเซลล์สะท้อนแสงที่เรียกว่า tapila เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการมองในที่มืด, (Chamber heart pump blood)ห้องของหัวใจเป็นต้นแบบของมนุษย์ยุคปัจจุบัน บริเวณจมูกมีรอยเว้า 3 รอยแต่ละข้าง ซึ่งช่องนี้จะเรียกว่า Rostal Organ ภายในเต็มไปด้วยเจล อวัยวะส่วนนี้จะทำหน้าที่เป็นเครื่องรับกระแสไฟฟ้า (Electro receptor) เพื่อใช้ในการหาตำแหน่งของเหยื่อ, เส้นข้างลำตัวที่รับแรงสั่นสะเทือนจะพัฒนาไปเป็นส่วนรับสัมผัส (Ploximity) ในปลาชนิดอื่นๆ ซึ่งใช้ตรวจสอบสภาพแวดล้อมที่พวกมันอาศัยอยู่ จังไม่เป็นที่สงสัยเลยว่ามันจะมีประโยชน์แค่ไหนเมื่อพวกมันว่ายผ่านเข้าไปยังถ้ำใต้ทะเล

ปลาซีลาแคนธ์มีครีบหลัง 2 คู่ และยังมีครีบอีกอีก 1 ครีบบริเวณช่วงข้อต่อของส่วนหาง โดยครีบ 2 คู่แรกจะอยู่ตรงครีบอก และครีบตรงเชิงกราน ครีบเหล่านี้จะเป็นลักษณะพูเนื้อมีกระดูกเป็นแกนอยู่ภายในคล้ายกับ Eusthenopteron ซึ่งต่อมาจะพัฒนาไปเป็นแขนและขา ในพวกสัตว์บก อย่างไรก็ตามปลาซีลาแคนธ์ยังไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่จะใช้ในการเดินใต้พื้นทะเล. ครีบอกและครีบบริเวณเชิงกราน จะเป็นรูปแบบ pre-adaption (รูปแบบดั้งเดิมก่อนจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอวัยวะที่ใช้เคลื่อนไหวบนบก). การใช้ประโยชน์ครีบเหล่านี้ในน้ำนั้นนอกจากจะใช้เดินใต้พื้นทะเลแล้ว ยังใช้ในการคอยรักษาความนิ่ง ความสมดุล แต่ในญาติของปลาซีลาแคนธ์ Eusthenopteron จะทำหน้าที่เหมือนเป็นขาทั้ง 4 ข้างเพื่อใช้ในการเดิน

เกล็ดของปลาซีลาแคนธ์มีความหนาและเป็นเส้นโดยวางตัวในลักษณะฟันปลาเรียงกันแน่น, การแยกปลาซีลาแคนธ์ออกจากปลาชนิดอื่นทำได้ง่ายเนื่องจากว่า ลักษณะหางของปลาซีลาแคนธ์จะมีลักษณะเป็น 3 พู ซึ่งลักษณะหางแบบนี้ทำให้ช่วยในการวิเคราะห์ตัวอย่างที่มีชีวิตที่พบเป็นครั้งแรกเมื่อเทียบกับฟอสซิลทำได้ง่ายขึ้น

ประชากรของปลาซีลาแคนธ์ พบเฉพาะถิ่นในบริเวณที่เคยถูกคุกคามจากการจับทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจซึ่งเมื่อถูกจับขึ้นมาจะถูกทิ้งไว้ทิ้งบริเวณผิวน้ำซึ่งปลาไม่สามารถกลับลงไปในระดับเดิมได้และตายลงในที่สุด ปัจจุบันปลาซีลาแคนธ์จัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤต (Critically endangered) จากการประเมินประชากรพบว่ามีอยู่ระหว่าง 200-500 ตัว ส่วนชนิดของอินโดนีเซียยังไม่ทราบจำนวน

การนับจำนวนที่แน่ชัดของปลาซีลาแคนธ์ ทำได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากถ้ำที่ปลาซีลาแคนธ์อาศัยอยู่นั้นยาวไปตามแถบชายฝั่งตะวันตกของเกาะ Grand Comoro และ จากการสำรวจนั้นพบว่าประชากรของประชากรที่เกาะ Grand Comoro มีจำนวนไม่ถึง 100 ตัว อย่างไรยังมีข้อให้สงสัยกันอยู่ว่า จำนวนประชากรที่อยู่ในเกาะใกล้เคียงนั้นจะมีอยู่เท่าใด และเมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานที่ยังไม่เป็นที่ยืนยันว่า พบปลาซีลาแคนธ์เพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้น

ปลาซีลาแคนธ์ทั้งสองชนิด (ชนิดที่พบที่โคโมรอส และ ชนิดที่พบสุลาเวสี) พบใหญ่สุด 1.8 เมตร ในตัวเมีย และตัวผู้ 1.5 เมตร หนักถึง 98 กิโลกรัม เจริญพันธุ์ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป ตั้งท้องนาน 13 เดือน และออกลูกเป็นตัวขนาด 38 เซนติเมตร ประมาณ 5-25 ตัว

บันทึกการค้นพบปลาซีลาแคนธ์
2-3 วันก่อนคริสมาสต์ในปี 1938 ปลาซีลาแคนธ์ได้ถูกจับขึ้นมาได้จากปากแม่น้ำ Chalumna ทางชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกาใต้ ปลาถูกจับได้ในตาข่ายดักฉลาม โดย กัปตันเฮนดริค กูเซ่น (Capt. Hendric Goosen) และลูกเรือ พวกเขาคิดว่าปลาที่จับได้นี้แปลกประหลาดมากเขาจึงแจ้งไปยังพิพิธพันธ์ท้องถิ่นในเมืองเล็กๆในแอฟริกาใต้ 22 ธันวาคม 1938 Courtney-Latimer ได้รับสายโทรศัพท์จาก กูเซ่น ที่ท่าเรือซึ่งได้ลากปลาแปลกประหลาดขนาดใหญ่ขึ้นมาใกล้กับปากแม่น้ำ Chalumna Courtney Latimar ไม่รู้ว่าเป็นปลาอะไร แต่เธอสังหรณ์ใจว่าควรเก็บมันไวที่โรงพยาบาลในห้องเก็บศพ เธอได้ส่งภาพสเก็ตและรายละเอียดไปให้ J.L.B Smith หลังจากนั้นเธอได้รับจดหมายจาก Smith ตอบกลับมาว่าภาพวาดของเธอนั้นเป็นปลาซีลาแคนธ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อกว่า 80 ล้านปีก่อน Smith ได้แจ้งไปยัง Courtney ให้เก็บรักษาตัวอย่างปลานี้ไว้ แต่ว่าข้อความนั้นมาช้าไปทำให้อวัยวะภายในของปลาซีลาแคนธ์นั้นเริ่มเน่าเสีย และเมื่อ ปลาชนิดนี้ต่อมาได้ได้ชื่อว่า Latimeria chalumnae เพื่อเป็นเกียรติแก่ Courtney latimiar ผู้ซึ่งพบปลาชนิดนี้เป็นคนแรก และแหล่งน้ำที่พบมัน ปลาตัวนี้ได้ถูกยืนยันว่าเป็นฟอสซิลที่ยังมีชีวิต

Sulawesi Coelacanth
ในปี 1997 Arnaz Menta Erdmann และสามีของเธอ Mark ได้เดินเล่นบริเวณตลาดกลางแจ้งใน ManadoTua เมืองที่อยู่ปลายเกาะ Sulawesi ในอินโดนีเซีย พวกเขาจำได้ทันทีเลยว่าเป็นซีลาแคนธ์แน่นอน แต่มันกลับมีสีน้ำตาลแทนที่จะเป็นสีน้ำเงิน มาร์คไม่เชื่อสายตาว่านี่คือปลาซีลาแคนธ์ชนิดใหม่ จนกระทั่งเขาเห็นรูปของปลาซีลาแคนธ์บนเว็บไซท์ จากการตรวจ DNA เผยให้ห็นว่าชนิดนี้ที่เรียกกันว่า Raja laut (ราชาแห่งท้องทะเล) โดยชาวอินโดนีเซีย ไม่ได้เกี่ยวพันกับปลาซีลาแคนธ์ที่พบในที่ Comoro เลย
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 1998 ปลาซีลาแคนธ์ได้ถูกจับขึ้นอีกครั้งหนึ่งในตาข่ายดักฉลามบริเวณทะเลลึก โดยชาวประมงท้องถิ่นห่างจากเกาะภูเขาไฟของ Manado Tua ทางเหนือของ สุลาเวสี อินโดนีเซีย ซึ่งที่ที่พบนี้อยู่ทางตะวันออกของ มหาสมุทรอินเดียตะวันตกไปประมาณ 10,000 กม.
ชาวประมงนำปลาที่จับได้นี้ไปให้ Arnaz Menta Erdmann และสามีของเธอ Mark อีกครั้ง ผู้ซึ่งเคยเห็นตัวอย่างปลาชนิดนี้มาแล้วในตลาดกลางแจ้งเมื่อกันยายน ปีก่อนหน้านี้ เมื่อพวกเขาได้ปลาซีลาแคนธ์จากสุลาเวซี เมื่อนำมาเทียบกับหลักฐานที่มีก็พบว่า ปลาซีลาแคนธ์แห่งเกาะสุลาเวสีนี้แตกต่างกับปลาซีลาแคนธ์ที่พบที่เกาะ Comoros ซึ่งจุดแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็คือสี ปลาซีลาแคนธ์ที่ Comoros นั้นจะมีสีน้ำเงิน ส่วนซีลาแคนธ์ที่เกาะสุลาเวสี นี้มีสีน้ำตาล และในปี 1999 ปลาซีลาแคนธ์แห่งสุลาเวสี ถูกบรรยายว่าเป็นปลาซีลาแคนธ์ชนิดใหม่ โดยมีชื่อว่า Latimeria menadoensis จากการพบซีลาแคนธ์ชนิดใหม่นี้ ได้จุดประกายความเป็นไปได้ว่า ปลาซีลาแคนธ์อาจจะมีการแพร่กระจายที่กว้าง และมีจำนวนมากกว่าที่ได้เคยสันนิษฐานกันไว้เมื่อก่อน

ปลาซีลาแคนธ์ อยู่ในวงศ์ Coelacanthiformes; coelacanths มี 1 สกุล คือ Latimeriidae - (Gombessa) ซึ่งพบอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดคือ
Latimeria chalumnae
Latimeria menadoensis
ลักษณะโดยทั่วไปเป็นปลาขนาดใหญ่ที่มีส่วนหัวโต ปากกว้าง มีฟันเขี้ยว ครีบหลังและครีบอก ครีบท้อง ครีบก้นเป็นใบพาย มีโคนครีบหนาคล้ายระยางค์ ครีบหางเป็นแผ่นกว้างแบ่งเป็น 3 ตอน เกล็ดใหญ่ ผิวหยาบ ตัวสีน้ำเงิน ลายประขาว ชนิด L. menadoensis มีสีน้ำตาลทอง และมีส่วนหัวสั้นกว่า

ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้ถูกจัดอยู่ในสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด แต่อย่างไรก็ตามได้ ทั้ง 2 ชนิดนี้ ถูกบรรจุอยู่ในบัญชี CITES แล้ว

ปัจจุบันปลาซีลาแตนธ์ถูกใช้เป็นตัวอย่างเพื่อการจัดแสดงและวิจัย (ตัวอย่างดอง) ในพิพิธภัณฑ์ อย่างน้อย 74 ตัว ถูกเก็บไว้ในสถาบันต่าง ๆ ทั่วโลก และเชื่อว่าของเหลวในแกนสันหลังของปลาทำยาอายุวัฒนะได้ จึงถูกสั่งซื้อโดยประเทศจีน ไต้หวัน ปลามีราคาสูงถึง 500-2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในตลาดจีน และ ไต้หวัน

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าปลาซีลาแคนธ์คงจะดำเนินชีวิตอยู่ในท้องทะเลไปอีกนานแสนนานโดยไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์โดยน้ำมือมนุษย์เหมือนสัตว์ชนิดอื่นๆ




 

Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2550 17:31:07 น.
Counter : 1473 Pageviews.  

บิเชีย รอยต่อของอดีตและปัจจุบัน



ขอประเดิมด้วยปลาหน้าตาแปลกๆเลยละกันครับ (งานของเดิมนะครับเอามาลงใหม่) กับปลาหน้าตาโบราณๆอย่างบิเชีย หรือ ไบเคอร์ (อ่านจริงๆต้องอ่านว่าไบเคอร์ แต่เอาเป็นว่าผมเรียกแบบที่เคยชินและที่ชาวบ้านเขาเรียกกันนะครับ)

เมื่อเอ่ยถึงไบเคอร์ หลายท่านอาจจะงง หรือไม่รู้จัก แต่ถ้าได้เห็นรูปก็อาจจะร้องอ๋อได้ทันที เพราะว่าที่คนส่วนใหญ่เรียกกัน อีกทั้งที่ี้่ร้านค้าเขาเรียกกัน จะเรียกกันว่า บิเชีย (Bichir) ผมเชื่อว่าคนที่ชอบปลาออกจะโบราณๆ สักหน่อย คงจะไม่พลาดที่จะมีปลาหน้าตาโบราณๆแบบนี้ไว้ในครอบครองนะครับ เจ้าปลาชนิดนี้ค่อนข้างน่าสนใจมากนะครับ ซึ่งเดี๋ยวผมจะบอกให้ทราบต่อไป

ด้วยความที่บิเชียเป็นปลาที่มีลักษณะโบราณ และมีเอกลักษณ์อย่าชัดเจน ทำให้เป็นที่น่าสนใจ ในการศึกษาทางโครงสร้างและวิวัฒนาการของมัน ด้วยบิเชียมีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างไปจากปลากระดูกอ่อน และ พวกปลากระดูกแข็ง คือในส่วนของกระดูกแข็งนั้นพบว่ามีการค้นพบกระดูกออกเป็นจำนวนมาก และภายในลำไส้มี spiral valve และ spiracles 1 คู่ ซึ่งจะเป็นลักษณะเฉพาะของปลาในกลุ่มฉลามและกระเบน ทั้งยังมีเหงือกแบบพิเศษอยู่หลังตาแต่ละข้าง ซึ่งนับว่าค่อนข้างน่าทึ่งกับการพัฒนาในส่วนต่างๆของเจ้าบิเชีย อีกทั้งมันยังมีความพิเศษอีกอย่างคือสามารถปรับตัวให้มีชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้อีกด้วย ดูๆไปแล้วบิเชียเหมือนกับเป็นรอยต่อระหว่างปลาโบราณกับปลายุคปัจจุบันเลยนะครับ

บิเชีย เป็นปลาในอันดับ Polypteriformes ซึ่งมีปลาอยู่ในกลุ่มนี้เพียงแค่ ตระกูลเดียว คือ Polypteridae มีอยู่ด้วยกัน 17 ชนิด (ซึ่งจะแจงชนิดให้ทราบในภายหลัง

ลักษณะทั่วไปของปลาในกลุ่มนี้ เกล็ดเป็นแบบ ganoid รูปทรงข้าวหลามตัด (เดี๋ยวจะอธิบายรูปแบบของเกล็ดอีกทีนะครับ), หัวมีขนาดเล็กแต่กว้าง ช่วงลำตัว รวมกับส่วนอก (pelvics)มีลักษณะยาวเรียว คล้ายกับรูปทรงของงู รับกับครีบหาง, ส่วนอกนั้น มีครีบที่ค่อนข้างแข็งแรง มีลักษณะเป็นฐานพูเนื้อคลุมด้วยเกล็ด คอยช่วยยึดเส้นครีบทั้งหลายที่แผ่ออกมาเป็นแฉกๆเหมือนจานพังผืด(ส่วนนี้ทำให้ดูเหมือนว่าปลาบิเชียจะมีขา เหมือนกับปลาโบราณในกลุ่ม ซีลาแคนธ์ ซึ่งจะมีครีบเป็นแบบครีบเนื้อ ซึ่งครีบนี้มีความพิเศษคือมันสามารถใช้ในการเดินได้)., ในส่วนท้องจะมีถุงลม 2 ถุง ช่วยในการหายใจทำหน้าที่คล้ายกับปอด ถุงลมด้านซ้ายมีการพัฒนาน้อยกว่าด้านขวา (เหมือนในกลุ่ม Lung fish) ตั้งอยู่บริเวณช่องท้องโดยยึดติดกับหลอดอาหาร; โดยที่ทำงานร่วมกับเหงือก ทำให้พวกบิเชียสามารถอยู่โดยปราศจากน้ำได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง, ในชนิด Calamoichthys calabaricus (Reed fish) จะไม่มีส่วนท้อง, ส่วนหลังของปลาบิเชียจะมีชุดครีบ (finlets) ประกอบไปด้วย 5 - 18 ครีบ ซึ่งรวมกันเป็นครีบหลังของปลา แต่ละครีบนั้นจะมีแกนครีบเดี่ยว 1 แกน รองรับด้วยพังผืดเล็กๆในแต่ละครีบ

เกล็ดของปลาบิเชียนั้นเป็นลักษณะ เกล็ดแบบ ganoid ซึ่งเกล็ดแบบ ganoid นี้จะพบได้ในปลากลุ่มบิเชีย (Polypteridae),Bowfin (Amia calva), ฉลามปากเป็ด (Polyodontidae), การ์ (Lepisosteidae), และ สเตอร์เจียน (Acipenseridae) ซึ่งเกล็ดของปลาบิเชีย เป็นเกล็ดที่พบในปลามีกระดูกสันหลังในยุคแรก (เจอในฟอสซิลของ ปลา paleoniscoid). เกล็ดชนิดนี้จะมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน และมีส่วนยื่นรับกับข้อต่อ ระหว่างเกล็ดแต่ละชิ้น

บิเชีย นั้น มีการกระจายพันธุ์อยู่แต่ในแหล่งน้ำจืดในแอฟริกา ปลากลุ่มบิเชียนั้นบางชนิดมีความยาวได้เต็มที่ประมาณ 1.2 เมตร แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีขนาดประมาณ 30 ซม. 9 ใน 10 ชนิดของปลาบิเชีย จะพบแค่ใน แหล่งเก็บน้ำ Zaire (ในปลาบิเชียที่ยังเล็กนั้นจะมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากตัวเต็มวัยก็คือเหงือกจะโผล่ออกมาเป็นกิ่งก้านสาขาคล้ายต้นไม้ให้เห็นออกมาภายนอกบริเวณแผ่นปิดเหงือกด้านข้างลำตัว และจะค่อยๆหายไปเมื่อพวกมันโตขึ้น)

การแยกเพศของปลาบิเชียสามารถแยกได้โดยดูลักษณะครีบก้น (anal fin) เพศผู้จะมี ครีบก้นที่มีขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย การเพาะพันธุ์ทำได้ค่อนข้างยากในที่เพาะเลี้ยง ตัวเมียจะออกไข่ครั้งละ 300 ฟอง และตัวอ่อนจะออกจากไข่ภายในระยะเวลา 4 วันนับจากแม่ปลาวางไข่

การเลี้ยงดูโดยปกติแล้ว บิเชีย เหมาะจะเป็นแทงค์เมทปลาอื่นๆได้เป็นอย่างดีเพราะมันเป็นปลาที่ไม่มีนิสัยก้าวร้าวแต่อย่าใด (แต่ถ้าปลาที่เลี้ยงด้วยกันเล็กกว่าปากของบิเชียร์ ก็อาจจะกลายเป็นเหยื่อของปลาบิเชียได้นะครับ) และด้วยเกล็ดที่มีความหนาและเหนียวทำให้มันสามารถทนการงับของปลาใหญ่เช่นอะโรวาน่าได้ การเลี้ยงเจ้าบิเชียนั้นควรทำที่หลบซ่อนให้มันด้วย และระดับน้ำควรลึกอย่างน้อย 1 ฟุต และควรมีฝาปิดตู้ด้วยครับ เพราะเจ้าบิเชียสามารถโดดได้เช่นเดียวกับปลาอื่นๆ อาหารการกินนั้น บิเชียสามารถกินได้ทั้งอาหารเม็ด และ ปลาเหยื่อ หรือสัตว์อะไรก็ตามที่เล็กกว่าปากมัน สามารถเขมือบได้หมด อาหารเม็ดนั้นผมให้อาหารชนิดจมดูท่ามันจะชอบเป็นพิเศษ




 

Create Date : 23 ตุลาคม 2549    
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2550 14:53:15 น.
Counter : 857 Pageviews.  


อีกาตัวดำๆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add อีกาตัวดำๆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.