ดูกายดูใจแบบไหนที่ถือว่า "ผิด" ...


ดูกายดูใจแบบไหนที่ถือว่า "ผิด" ไปจากความเป็นจริง


ดูกายดูใจแบบไหนที่ถือว่า "ผิด" ไปจากความเป็นจริง เมื่อมีที่ผิดแสดงว่าการดูกายดูใจแบบที่ถูกต้องตามความเป็นจริงย่อมมีอยู่เป็นของคู่กัน (ทิวนิยม) บริบทในเรื่องการ "ดูกาย" นี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่หมายถึงกายที่มีรูปร่างให้จับต้องได้ แต่เป็นกายในกายที่เป็นภายใน ที่เรียกว่า อทิสมานกาย, นามกาย หรือทิพยกาย คือ กายทิพย์ เป็นกายในกายที่ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์ทุกรูป-นามที่ยังมีชีวิตินทรีย์ เป็นกายที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิด

การ "ดูกายดูใจ" ที่เป็นเรื่องกำลังฮอตฮิตติดตลาดในหมู่นักปฏิบัติธรรมรุ่นใหม่ เพราะเข้าใจว่าเป็นเรื่องง่าย สบายๆ และลัดสั้น ไม่ต้องเพียรเพ่งฌาน ทำเป็นรูปแบบก็พอ เพียงตื่นรู้ไหลไปตามความคิด แล้ว "สติ" จะเกิดขึ้นเองได้นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การสะดุ้งรู้ตัวว่าเผลอ ไม่ใช่สติ แต่เป็นเพียงสัญญาอารมณ์ที่รู้ว่าเผลอ ไม่ใช่ "สัมมาสติ" ในอริยมรรค

การดูกายดูใจแบบที่สอนกันอยู่นั้น เป็นการฝึกสั่งสมอบรมระวัง "สังวรสำรวมอินทรีย์" ให้มากขึ้น เพื่อให้กาย-ใจพร้อมเหมาะสมกับการ "ภาวนามยปัญญา" เพื่อให้รู้จัก "จิต" ที่แท้จริง เพื่อก้าวพ้นอาการของจิต หรือจิตสังขาร อันเป็นนามกายที่คอยปรุงแต่งกาย-ใจไปต่างๆ นานา

เราเปรียบ "กาย" เหมือนบ้านที่ได้อาศัย เราคือจิตที่เข้ามาอาศัยร่างกายนี้อยู่ มีช่องทางรับรู้อารมณ์ทั้งภายนอกภายในอย่างละ ๖ ช่องทาง-คู่กัน แต่ละช่องทางนั้น ล้วนรับอารมณ์มาลงที่ใจ เพราะใจเป็นช่องทางรับอารมณ์ของ "จิต"... มีพระพุทธพจน์รับรองชัดเจนว่า "มโน(ใจ)" ไม่ใช่ "จิต"

สรุปสุดท้ายว่า เมื่อไม่มีพื้นฐานการ "ภาวนามยปัญญา" เพื่อเข้าถึงกายในกาย(จิต) การดูกายก็ติดอยู่เพียงหนังที่หุ้มอยู่ ดูใจก็ติดอยู่ที่อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด นานวันเข้ารู้สึกเบากาย-เบาใจ เกิดจากความคุ้นชิน(เฉย)ต่ออารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น ฉลาดแบบโลกๆ รู้จักการเปลี่ยนอารมณ์ความนึกคิดของตนไปในทิศทางที่ชอบ ที่ดี ที่เป็นกุศลเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการปล่อยวางอารมณ์

ส่วนการดูกาย-ดูใจที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านได้สอน มักต้องปูพื้นฐานในด้าน "ภาวนามยปัญญา" หรือ "กรรมฐาน" ให้รู้จักฐานที่ตั้งของสติ(สติปัฏฐาน)เกิดขึ้นก่อน ทำให้การดูกาย-ดูใจนั้น เข้าถึง กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เมื่ออยู่เป็นสุขด้วยนามกาย (สัมมาสมาธิฌานที่ ๓) รู้จักละสุขนั้น มาที่อุเบกขา สติปาริสุทธิง (สัมมาสมาธิฌานที่ ๔) จิตบริสุทธิ์ มีสติกุมเฉยอยู่ เป็นตทังควิมุตติ (หลุดพ้นช่วยคราว)


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 17 ธันวาคม 2559
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2560 14:00:23 น.
Counter : 1191 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์