จิต คือ ตน จิต คือ ตน ทำไมจิตคือตน ถ้าจิตไม่ใช่ตน (อนัตตา) จะมีจิตที่เป็นธาตุรู้ไปเพื่ออะไร? แม้ในพระสูตรต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงเรื่องรูป-นาม (ขันธ์ ๕) จะกล่าวถึงเฉพาะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่านั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา เป็นอนัตตาธรรม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน เมื่อมีที่ "ไม่ใช่" ที่ "ใช่" ก็ต้องมี เพราะเป็นของคู่กัน (ทวินิยม) ดังนี้ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี". (อนัตตลักขณสูตร) สภาพธรรมเดิมของ "จิต" คือ ธาตุรู้ ผู้รู้ ในพระอภิธรรมปิฎก (ตำรา) ได้นิยาม "จิต" ไว้ว่า มีหน้าที่ รู้ จำ นึก คิด ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่จิตได้เข้ามาอาศัยอยู่ในโลกแล้ว สภาพเดิมของ "จิต" ในพระสูตรนั้นกล่าวไว้ว่า จิตเป็นเพียง "ธาตุรู้" เมื่อถูกอวิชชาครอบงำจิต จิตก็รู้ผิดไปจากความเป็นจริง นั่นคือ เมื่อรับรู้เรื่องอะไร มักมีอุปาทาน-ยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์เหล่านั้นไปเสียหมด จิตแบบนี้มักวุ่นวาย สับสน ซัดส่าย หวั่นไหวไปมา พึ่งพาอาศัยไม่ได้ ไม่ใช่ตน เพราะถูกอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เข้ามาปรุงแต่ง ครอบงำอยู่ อะไรล่ะที่เรียกว่า "ตนหรือที่พึ่ง" พอพูดถึงตน คนทั่วไปมักจินตนาการไปเองเรียบร้อยว่า ต้องเป็นอะไรที่มีตัวตน จับต้องได้ มีรูปร่างให้มองเห็นเท่านั้น ทั้งๆ ที่คำว่า "ตน" มีความหมายหลายนัยยะ เช่น นัยยะที่แปลว่า "ที่พึ่ง ที่อาศัย" อย่างคนโบราณมักสอนลูกหลานว่า "เมื่อไหร่เอ็งถึงจะเป็นตัวเป็นตนสักที" ทั้งๆ ที่ผู้ถูกกล่าวถึงก็นั่งหัวโด่อยู่ตรงหน้า แต่กลับถูกถามว่าเมื่อไหร่จะเป็นตัวเป็นตน เป็นเรื่องแปลกมั้ย? ไม่เลย เพราะเราเข้าใจได้ว่า สิ่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่กล่าวถึงนั้น คือ ความรับผิดชอบต่อชิวิตตนเองและผู้อื่น นั่นหมายถึง ขณะเวลานั้นจิตใจของผู้ถูกกล่าวถึง ยังหลงไหลไปอยู่กับอารมณ์ความรู้นึกคิดปรุงแต่งรอบข้าง ไม่สนใจที่จะรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น จึงพึ่งพาอาศัยไม่ได้ ต่อเมื่อกลับจิตกลับใจ ใช้ "สติ" พิจารณาว่าอะไรควรหรือไม่ควรได้แล้ว นั่นแหละ จึงได้ชื่อว่า "เป็นตัวเป็นตน" อะไรล่ะที่ได้ชื่อว่า "เป็นตัวเป็นตน" ถ้าไม่ใช่ "จิต" เพราะจิตเป็นนาย คอยสั่งการในเรื่องราวต่างๆ ให้ร่างกายที่จิตเข้ามาอยู่อาศัยนั้น ทำตามความประสงค์ของตน ดังมีพระสูตรกล่าวไว้ดังนี้ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในโคจรซึ่งเป็นวิสัยอันสืบมาจากบิดาของตน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในโคจร ซึ่งเป็นวิสัยอันสืบมาจากบิดาของตน มารจักไม่ได้โอกาส มารจักไม่ได้อารมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญนี้เจริญขึ้นอย่างนี้ เพราะเหตุถือมั่นธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศล ฯ" ยังมี "พระพุทธภาษิต" ที่ได้ทรงตรัสไว้ "จิตที่อบรมดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้" แสดงให้เห็นว่า จิตของตนสามารถฝึกฝนอบรมให้รู้ถูก ที่เรียกว่า รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง จิตไม่เคยดับตายหายสูญ ส่วนที่ต้องตายหายสูญไปนั้นเป็นรูปร่างกายที่จิตอาศัยในแต่ละภพชาติ มีพระบาลีตรัสไว้ดังนี้ "จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตาเสว ชาติสุ ความเวียนว่ายของเรา เข้าไปในชาติน้อยใหญ่ทั้งหลายอันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนี้" บุคคลที่ได้ชื่อว่า บัณฑิต ตามพระบาลีธรรมบท ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ย่อมต้องฝึกฝนตนคือ จิต "ปริโยท เปยฺย อตฺตานํ จิตฺตกิเลเสหิ ปณฺฑิโต บัณฑิตพึงชำระตนคือจิต ให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส" เมื่อได้ยินคำว่า "บัณฑิต" ผู้คนทั่วไปมักเข้าใจว่าต้องเป็นบุคคลที่มีการศึกษาสูง เพราะเคยเห็นป้ายผ่านตามาบ่อยๆว่า "ยินดีต้อนรับบัณฑิตใหม่" จึงเข้าใจว่า ต้องจบปริญญาตรี โท เอก หรือ มีปริญญาหลายใบต่อกันไปยาวเป็นหางว่าว ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นยังถูกอาบย้อมไปด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ยังหวั่นไหวไปตามอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดต่างๆ มีตัวอย่างเมื่อนานมาแล้ว บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นด็อกเตอร์ มีปริญญาหลายใบ บรรลุแก่โทสะ คว้าไม้กอล์ฟกระหน่ำตีภรรยาด้วยขาดสติ จนถึงแก่ชีวิต เมื่อถูกนักข่าวถามว่า มีเจตนาทำให้เสียชีวิตหรือไม่? ได้คำตอบว่าไม่เลย เพียงแต่ตีแรงไปหน่อยไม่นึกว่าจะเสียชีวิต สรุปสุดท้ายว่า จิต คือ ตนนั้น เป็นจิตที่เราพึ่งพาอาศัยได้ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง จิตแบบนั้นเป็นจิตที่ทรงคุณค่าควรกราบไหว้ ส่วนจิตที่ไม่ใช่ตน (อนัตตา) นั้น ย่อมเป็นจิตที่หลงไหลได้ปลื้มไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้น มักแสดงอาการของจิตออกมาในรูปของ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างชัดเจนว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นอนัตตา พวกเธอพึงละสิ่งนั้นเสีย" แล้วอย่าคะเน (วินิจฉัย) ไปเองว่า แม้พระนิพพานก็เป็นอนัตตา เพราะย่อมขัดแย้งกับพระบรมศาสดา ที่ทรงกล่าวไว้ว่า "ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง" ดังนี้ เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน ธรรมภูต |
ในความฝันของใครสักคน
Rss Feed Smember ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?] หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์ Group Blog All Blog
|
||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |