|
| 1 | 2 |
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
31 | |
|
|
|
|
|
|
|
ศาลาเฉลิมไทย : วัฒนธรรมใหม่ที่ไม่อาจบดบังพลังเก่า
 ศาลาเฉลิมไทยแห่งความบันเทิงสมัยใหม่ของชาวพระนคร
หากนั่งรถออกมาจากลานพระบรมรูปทรงม้าผ่านถนนราชดำเนินใน เรื่อยมาจนสะพานผ่านฟ้า คงเห็นสถานที่สำคัญทางราชการและทรงคุณค่าหลายแห่ง แม้ราชดำเนินกลางเองก็มีสถานที่อาคารโบราณเรียงรายเป็นแถวยาว วัดวาอารามสำคัญอย่าง วัดราชนัดดาราชวรวิหารและยังมีโลหะปราสาทตระหง่านอวดโฉม
แต่หากย้อนกลับไปเมื่อสัก ๓๐-๔๐ ปีก่อน คนรุ่นคุณปู่คุณย่าคงจำได้ดีสำหรับสถานที่ให้ความบันเทิงกลางพระนครหลวง
ศาลาเฉลิมไทย
ศาลาเฉลิมไทย หรือบางคนก็เรียกว่า โรงหนังเฉลิมไทย เคยตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนราชดำเนินกลางกับถนนมหาชัย สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๙ ในสมัยรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม แล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๒
เมื่อเริ่มแรก ดำริของรัฐบาลประสงค์สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นโรงละครแห่งชาติ มีที่นั่งราว ๑,๒๐๐ ที่นั่งพร้อมที่นั่งชั้นบน เวทีเป็นแบบมีกรอบหน้า มีเวทีแบบเลื่อนบนราง (Wagon Stage) เพื่อความรวดเร็วในการเปลี่ยนฉาก เริ่มใช้แสดงละครเวทีอาชีพตั้งแต่เปิดใช้งานกระทั่ง พุทธศักราช ๒๔๙๖ จึงได้เปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์
ศาลาเฉลิมไทยเคยเป็นแหล่งความบันเทิงสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองไทย ถึงแม้ไม่ใช่โรงภาพยนตร์แห่งแรก แต่ก็สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจได้ด้วยภาพยนตร์ทั้งจากของไทยและต่างประเทศ โปสเตอร์นาดยักษ์ ตั้งเด่นเชิญชวนให้เห็นได้แต่ไกล
บริเวณโดยรอบๆ ยังเต็มไปด้วยของค้าของขาย ส่วนใหญ่ก็เป็นอาหารกับข้าวกับปลา และของกินเล่นอย่างไส้กรอก ข้าวโพดคั่ว เครื่องดื่ม น้ำอัดลม รวมถึงขนมของเด็กๆอย่าง ท๊อฟฟี่ กูลิโกะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแผงขายหนังสือเรียงรายอยู่เต็ม เป็นความบันเทิง แหล่งพักผ่อนหย่อนใจและเวลาของครอบครัวสำหรับคนสมัยก่อน
 ศาลาเฉลิมไทยสร้างด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ไม่มีรูปหลังคาให้เห็นชัด
อย่างไรก็ตามนักวิชาการปัจจุบันบางส่วนที่มองปรากฏการณ์ในการเกิดขึ้นของ ศาลาเฉลิมไทย วิเคราะห์ในเชิงว่า ศาลาเฉลิมไทยเกิดขึ้นจากเป้าประสงค์ใช้ ศาลาเฉลิมไทย เป็นหนึ่งในเครื่องมือลดความศักดิ์สิทธิ์ ความสำคัญ และวัฒนธรรมจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
หากพิจารณาแล้ว ศาลาเฉลิมไทยสร้างขึ้นสมัยจอมพลป. พิบูลสงครามหนึ่งในคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง และเชิดชูวัฒธรรมใหม่ตามแนวทางของคณะราษฎร ดูจากลักษณะสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นสมัยใหม่ และสอดคล้องกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมของอาคารที่สร้างบริเวณใกล้เคียง อีกทั้งจุดที่ตั้ง ยังตั้งอยู่ด้านหน้าวัดราชนัดดา บดบังโลหะปราสาทอันสร้างขึ้นครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เมื่อหมดยุคของคณะราษฎร จึงเริ่มมีเสียงวิพากษ์เกี่ยวกับจุดที่ตั้งและลักษณะทางสถาปัตยกรรมซึ่งสร้างขึ้นในช่วงนั้น
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยให้ความเห็นไว้ว่า
...การสร้างโรงหนังเฉลิมไทย ณ ที่นั้น เป็นการปิดบังวัดราชนัดดาโดยสิ้นเชิง แทนที่จะเห็นวัดราชนัดดาอันเป็นสิ่งสวยงามกลับแลเห็นโรงหนังเฉลิมไทยอันเป็นโรงมหรสพและมีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ซึ่งต่ำทรามกว่าวัดราชนัดดาเป็นอย่างยิ่ง...คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่รับผิดชอบในการสร้างถนนราชดำเนินกลางขึ้นนั้น มิได้มีใจรักศิลปะหรือวัฒนธรรมไทยแต่อย่างใดเลย และออกจะไม่เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นของสำคัญและจำเป็นอีกด้วย จึงสามารถทำกับวัดราชนัดดาได้ถึงเพียงนี้...
กระทั่งวันที่ ๑๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๒ คณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีมติให้รื้อศาลาเฉลิมไทย ด้วยเหตุผลเพื่อเปิดทัศนียภาพของวัดราชนัดดาราชวรวิหาร และโลหะปราสาท
ถือเป็นจุดสิ้นสุดของศาลาเฉลิมไทย
วันนี้ที่ตั้งของศาลาเฉลิมไทยได้ถูกรังสรรค์ใหม่เป็น ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ สถานที่ประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ท่ามกลางไม้ประดับสวยงาม ในขณะที่ศาลาเฉลิมไทยสถานที่ร่วมสมัยยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามได้สูญสลายเหลือเพียงความทรงจำ และร่องรอยหลักฐานในร้านขายของเก่า
หม่อมศึกฤทธิ์ ยังเคยให้ความเห็นต่อไว้ว่า
เมื่อโรงหนังเฉลิมไทยถูกทุบทิ้งไปแล้ว ภาพของวัดราชนัดดาและโลหะปราสาทก็จะปรากฏแจ่มแจ้ง...เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรยินดีและเป็นที่น่าภูมิใจของคนในกรุงเทพมหานครทั้งหมด ในยุค ๕๐ ปีที่ผ่านมานี้ ได้มีการสร้างตึกรามที่น่าเกลียดน่ากลัวเอาไว้ในกรุงเทพมหานครอีกมากพอสมควร เพราะฉะนั้นเมื่อเริ่มทุบทิ้งอะไรกันขึ้นแล้ว เราก็ควรรู้สึกมันมือ เที่ยวทุบทิ้งตึกอื่นๆ ที่อยู่ผิดที่ผิดทาง และมีสถาปัตยกรรมอันไม่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมของกรุงเทพฯ...
อย่างไรก็ตามหากคิดอย่างเป็นธรรมแล้ว ทุกอย่าง ทุกสถานที่ล้วนแต่มีคุณค่าอยู่ในตัวเองทั้งสิ้น แต่อย่างแต่ละแห่งไม่ว่าจะศาลาเฉลิมไทย ตึกรามสองข้างถนนราชดำเนิน วัดราชนัดดา โลหะปราสาท ฯลฯ ล้วนส่งผ่านความหมายและคุณค่าตามแต่ละแห่งอยู่ร่วมสมัย ไม่มีใครปฏิเสธ คุณค่าของวัดราชนัดดา และโลหะปราสาท ทั้งในแง่ศิลปะ ความรุ่งเรืองของสยามยุคต้นรัตนโกสินทร์ และแง่พระพุทธศาสนา
ทว่าศาลาเฉลิมไทยเองก็ย่อมมีคุณค่า และส่งผ่านความหมายและเรื่องราวอีกมากมายจากอดีต
ดังนั้นการรื้อทิ้งศาลาเฉลิมไทยย่อมเป็นการสูญเสียสถานที่ส่งผ่านเรื่องราวจากอดีตไปอย่างไม่ต้องสงสัย หากแต่สิ่งที่น่าคิดคือ ความคุ้มค่าในทุกๆ แง่ ในสำหรับสิ่งที่สูญเสีย และสิ่งที่ได้มา อย่างไหนจะมีค่าต่อเรามากกว่ากัน ทุกๆ คนคงต้องช่วยกันคิด เพราะปรากฏการณ์นี้จะยังเกิดขึ้นในสังคมเราอีกหลายครั้ง และต่อไปอีกนาน
 ที่ตั้งเดิมของศาลาเฉลิมไทย ปัจจุบันกลายเป็นลานพลับลามหาเจษฎาบดินทร์ โดยมีฉากหลัง เป็นวัดราชนัดดา และโลหะปราสาท
*******
Create Date : 31 ตุลาคม 2553 |
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2553 9:18:59 น. |
|
0 comments
|
Counter : 7030 Pageviews. |
 |
|
|
| |
|
|
|
|
|
|
|
|
|