<<
ตุลาคม 2560
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
13 ตุลาคม 2560

**การเตรียมความพร้อมก่อนทำสมาธิมีความจำเป็นเพื่อให้มีความก้าวหน้าและยั่งยืน**



สำหรับผู้ที่ต้องการเจริญวิปัสสนาเพื่อทำสมาธิเบื้องต้น หรือ ผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนาแล้วแต่รู้สึกว่าไม่คืบหน้า และไม่สามารถควบคุมจิตให้อยู่ในสมาธิได้อย่างยั่งยืน บทความนี้เสนอข้อแนะนำบางประการอันเป็นพื้นฐานนำท่านไปสู่ความก้าวหน้าและยั่งยืนในการเจริญวิปัสสนา

ก่อนอื่น ต้องขอเรียนก่อนว่า ข้อแนะนำเหล่านี้สำหรับท่านผู้เป็นพุทธศาสนิกชนเป็นหลัก ท่านอาจนับถือศาสนาอื่นใดก็ได้ก็ไม่เป็นการขัดขวางการนำข้อแนะนำนี้ไปใช้ แต่ความลึกซึ้งและเข้าถึงเมื่อได้นำไปปฏิบัติแล้ว อาจไม่สอดคล้องกับความเชื่อของผู้ที่มิได้นับถือศาสนาพุทธ

การเจริญวิปัสสนาก็ดี การเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็ดี การเจริญวิปัสสนาภาวนาก็ดีแล้วแต่จะเรียกขานต่างกันออกไป แต่ล้วนหมายถึงการฝึกจิต ทำสมาธิตามแนวทางของพุทธศาสนาทั้งสิ้น แต่หากใช้คำว่า “การฝึกสมาธิ” ก็เป็นคำกว้างๆ ใช้กับการฝึกจิตให้อยู่บนฐานที่กำหนดไม่จำเพาะว่าต้องเป็นตามหลักศาสนาพุทธ เพราะการฝึกสมาธิมีมาก่อนสมัยพุทธกาลเสียอีก จึงจะเป็นคนของศาสนาใดก็ได้ หรือแม้แต่ผู้ที่ฝึกโยคะ ก็มีการฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบอยู่ในฐานที่ต้องการให้เป็นได้ทั้งสิ้น

การเตรียมความพร้อมเพื่อการเจริญวิปัสสนานี้ หากจะหาความรู้อันเป็นหลักปฏิบัติโดยแท้ก็สามารถหาอ่านได้จากในอินเตอร์เน็ต โดยค้นคำว่า “กัมมัฏฐานสังคหวิภาค” หรือใช้คำชาวบ้านทั่วๆ ไป“การเตรียมความพร้อมสำหับการเจริญวิปัสสนา” ก็จะปรากฏหัวข้อขึ้นมาให้เลือกอ่าน ซึ่งบทความนี้ก็ได้คัดลอกส่วนหนึ่งมาไว้ท้ายบทความนี้เพื่อประกอบการศึกษาในบริบทที่เป็นพุทธพจน์

แต่ข้อเสนอแนะที่จะแนะนำนี้ ถือเป็นหลักปฏิบัติที่เข้าใจได้ง่ายๆสำหรับผู้เริ่มต้น และผู้ที่ไม่คุ้นเคยในการอ่าน ภาษาในพระสูตร ซึ่งอ่านและทำความเข้าใจได้ยากกว่า อาจใช้ข้อแนะนำนี้ไปลองฝึกดู ซึ่งให้ผลทัดเทียมกัน

ก่อนที่จะเจริญวิปัสสนา ขอให้ท่านสำรวจความพร้อมขององค์ประกอบโดยรอบตัวท่าน4 ประการ ดังนี้..

1)  1)  ความพร้อมทางความรู้

2)      2) ความพร้อมทางกาย

3)      3) ความพร้อมทางใจ

4)      4) ความพร้อมของปัจจัยแวดล้อม

ขอขยายความแต่ละหัวข้อโดยสังเขปด้งนี้..

1—ความพร้อมทางความรู้

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า การเจริญสมาธิในที่นี้ เป็นไปตามแนวทางของศาสนาพุทธ ดังนั้น ท่านจะเข้าถึง และเจริญภาวนาได้อย่างลึกซึ้งในลำดับที่ยั่งยืนได้ ท่านต้องเข้าใจแก่นแท้ของพุทธศาสนาให้ได้เสียก่อน มิฉะนั้น ฝึกไป ก็จะถึงทางตัน และล้มเลิกในที่สุด

อุปมาดั่ง การทดลองทางวิทยาศาสตร์ แม้จะรู้ขั้นตอนการปฏิบัติ แต่ไม่ได้ศึกษาทางทฤษฏีมาอย่างพอเพียงเมื่อผลลัพธ์ของการทดลองออกมาล้มเหลว ก็ต้องกลับมาทบทวนหาข้อผิดพลาด โดยกลับไปศึกษาทฤษฏีอีกครั้งนั่นแล

ความรู้ที่ว่านี้ ได้แก่..

--ศีล อันเป็นข้อห้ามมิให้ประพฤติปฏิบัติ 5 ข้อแรก โดยผู้เจริญสมาธิภาวนาต้องถือศีล5 อย่างเคร่งครัด

--นิวรณ์ ได้แก่ กิเลสตัณหาที่เป็นอุปสรรคหรือตัวถ่วงของการเจริญสมาธิ มีองค์ประกอบ 5 อย่างได้แก่..กามฉันทะ ..พยาบาท.. ถีนมิทธะ..อุทธัจจะกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา การเจริญภาวนาก็เพื่อระงับนิวรณ์เหล่านี้ให้สงบลงไป แต่มิได้หมายความว่า นิวรณ์เหล่านี้จะสงบไปชั่วกาลนานอาจจะกลับมาได้อีกทุกเมื่อ หากมีการกระตุ้น จากสิ่งเร้า

--อริยสัจ 4 และอริยมรรค ที่มีองค์ 8 เป็นหนทางไปสู่สำเร็จในการปฏิบัติภารกิจและแนวทางปฏิบัติสู่การดับทุกข์

--.พระไตรลักษณ์ เพื่อมิให้ยึดมั่น ถือมั่น ในความมีอยู่และยึดมั่น ถือมั่นในตัวตนของสรรพสิ่งในโลกนี้

--อุปทานขันธ์ หรือเบญจขันธ์ ได้แก่ รูป..เวทนา..สัญญา..สังขารและวิญญาณ เพื่อให้รู้ที่มาและที่ตั้งแห่งตนที่มีองค์ประกอบเป็นดินน้ำ ลม ไฟ การผันแปรและปรับเปลี่ยนสภาวะของจิตไปตามอารมณ์และผลกระทบ ถ้าเข้าใจเรื่องอุปาทานขันธ์แล้ว ก็จะเข้าใจเรื่องพระไตรลักษณ์ได้ดีขึ้น

--อายตนะภายใน อันได้แก่..ตา..หู ..จมูก..ลิ้น..กาย..ใจและอายตนะภายนอก อันได้แก่.. รูป.. เสียง.. กลิ่น.. รส.. โผฏฐัพพะ..ธรรมารมณ์ เพื่อให้รู้ว่าสื่อเชื่อมต่อที่ทำให้กายและจิตได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ต่างๆนั้นเกิดได้อย่างไร

--สติปัฏฐาน เพื่อให้รู้แจ้งเข้าใจ ความเป็นไปของสิ่งที่ผู้ดำรงตนกำลังเผชิญอยู่ รู้แจ้งในสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นเกิดและดับไปอย่างไร ได้แก่ กาย..เวทนา..จิต..ธรรม ด้วยการกำหนดให้เป็นผู้รู้ตื่นอยู่ตลอดเวลา มิให้จิตถูกครอบงำโดยกิเลสและสภาวะต่างๆ กัน สติปัฏฐานจึงเปรียบเสมือนตั้งเวรยามด้วยธรรมคอยเฝ้าระวังจิตอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

--ระดับของสมาธิ เพื่อให้รู้จักการดำเนินไปของสมาธิในระดับขั้นต่างๆ ตั้งแต่ ขณิกะ..อุปจาระ..อัปปนา จนถึงฌาน รู้จักว่าเมื่อเข้าถึงฌานได้แล้ว ฌานจะมีองค์ 8แบ่งเป็นรูปฌาน 4 และ อรูปฌาน 4 ไปจนถึงสิ้นสุดที่ฌานสมาบัติ เหตุที่ต้องรู้จักระดับความแนบแน่นของสมาธิเพื่อ เช็คตัวเองได้ตลอดเวลาว่า การเจริญวิปัสสนาที่ทำอยู่นี้ ไปถึงจุดหมายที่ตนเองต้องการหรือยัง ในระดับปุถุชนที่ต้องประกอบกิจธุระประจำวันอยู่อาจต้องการแค่ระดับ ขณิกสมาธิ ก็เพียงพอ ในขั้นที่ลึกลงไปๆ ก็ต้องอยู่ที่ความพร้อมของผู้ปฏิบัติเอง

--สังโยชน์ 10 สังโยชน์คือกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์เอาไว้ เป็นเหตุให้ปุถุชนทั่วไปยังวนเวียนอยู่กับ ความโลภโกรธ และหลง การละสังโยชน์ก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงความเป็นอริยบุคคล คือผู้ประเสริฐ ผู้ที่ห่างไกลจากกิเลส อันมีลำดับชั้น คือ ละสังโยชน์เบื้องต่ำ 3 ข้อแรก ได้โสดาปัตติผล บรรลุเป็นโสดาบัน ละสังโยชน์เบื้องต่ำ 3 ข้อแรก และข้อ 4,5ให้เบาบางลง ได้บรรลุเป็น สกทาคามี ลำดับต่อไปคือ อริยบุคคลที่ละสังโยชน์เบื้องด่ำได้ทั้ง 5 ข้อได้ชื่อว่าเป็น อนาคามี สุดท้าย คืออริยบุคคลที่ละสังโยชน์ได้ทั้งเบื้องต่ำ และเบื้องสูง ทั้ง 10 ข้อสำเร็จเป็นพระอรหันต์

การเรียนรู้สังโยชน์ ก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้กำหนดเป้าหมายเบื้องต้นของตนเองได้และพยายามไปให้ถึงเป้าหมายนั้น

หากผู้ปฏิบัติมีความรู้พื้นฐานทางพุทธศาสนาเพียงพอ ก็เหมือนผู้ศึกสำเร็จการศึกษาในทางทฤษฎี(ปริยัติ) มีวุฒิเป็นประกาศนียบัตร ปริญญาบัตรในทางโลก สามารถนำความรู้ที่ศึกษานั้นไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติต่อไป

คำสั่งสอนในพุทธศาสนา มีคำศัพท์ที่มีรากฐานมาจากภาษาบาลีอยู่หลายคำ เป็นคำที่ถอดมาจากพระคัมภีร์ที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ไม่มีใช้ในภาษาไทยทั่วไป ผู้ที่ปฏิบัติจึงต้องมีความพากเพียรตั้งใจจริง อ่านทบทวนซ้ำไปซ้ำมา รวมถึงสอบถามกัลยาณมิตรที่อรรถาธิบายได้ จนกระทั่งเมื่อพูดถึงคำศัพท์เหล่านั้นผู้ปฏิบัติรับรู้ความหมายที่เกิดขึ้นได้ในใจโดยไม่ต้องอาศัยการแปลเป็นไทยก่อน จึงจะเรียกว่า เข้าถึงและเข้าใจได้แล้ว

2—ความพร้อมทางกาย

หมายถึง ผู้ปฏิบัติต้องไม่มีความกังวลใดๆ เกี่ยวกับสมรรถภาพทางร่างกายของตนเองตลอดระยะเวลาที่กำหนดว่าจะทำวิปัสสนา ใช่ว่าทุกคนจะทำวิปัสสนากรรมฐานได้ในทันทีที่ต้องการโดยไม่เตรียมความพร้อมทางร่างกาย ความพร้อมทางกายนี้เกี่ยวข้องกับตัวของผู้ปฏิบัติเอง ทั้งสิ้น อาทิ..

--โรคประจำตัวที่ทำให้ไม่อาจอยู่ในสมาธิได้นาน เช่นบางคนนั่งขัดสมาธิไม่ได้นานเนื่องจากเป็นโรคไขข้อ ก็ต้องอนุโลมให้อยู่ในท่าสบายแก่ร่างกายเพื่อให้ปฏิบัติได้หรือมิฉะนั้นอาจเลือกไปเดินจงกรมภาวนาแทน เป็นต้น หากมีโรคที่รักษาได้ ขอให้ท่านทำการรักษาให้ได้ผลดีเสียก่อน หากเป็นโรคที่รักษาไม่ได้โดยง่ายเช่นโรคเรื้อรัง ขอให้เลือกเวลาที่โรคไม่กำเริบมาทำสมาธิภาวนา อาการบางอาการเช่นปวดหลังปวดเอวขณะดำเนินวิปัสสนาภาวนาอยู่ ไม่นับเป็นโรค แต่เป็นไปตามสภาวะสังขารผู้ปฏิบัติต้องจัดการท่านั่งให้ถูกจริตกับสรีระ หรือภาวนาระงับความเวทนานั้นให้ดับไปเอง

--ชำระล้างร่างกายให้สะอาด อย่าให้รู้สึกเหนียวเหนอะหนะ , มีกลิ่นไม่พึงประสงค์

--ขจัดอาการระคายเคืองของร่างกายทุกอย่างให้สำเร็จเสียก่อนทำวิปัสสนา เช่น อาการคัน , กางเกงคับ ,ขอบกางเกงรัดหรือกดหน้าท้อง , คลื่นไส้ใคร่อาเจียน , คัดจมูก , น้ำมูกไหล ,จุกเสียดแน่นท้องเพราะทานอาหารมากเกินไป หรือ หิวจนท้องร้อง

อย่าเห็นว่าเป็นอาการเล็กๆน้อยๆ เพราะเมื่ออยู่ในอารมณ์ของการวิปัสสนา ปัญหาเล็กๆ เหล่านี้อาจกวนใจผู้ปฏิบัติตลอดเวลา การระงับด้วยการกำหนดภาวนาทำได้ยากกว่ากำจัดปัญหาก่อนการเริ่มต้น

3—ความพร้อมทางใจ

ผู้ปฏิบัติ ต้องเตรียมใจให้พร้อม หากคิดจะปฏิบัติธรรมภาวนาเป็นอาจิณสิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องเตรียมใจเอาไว้ก่อน มีดังนี้..

--การใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ฟุ้งเฟ้อจะลดลง ท่านอาจปฏิเสธเสื้อผ้าราคาแพง งานเลี้ยงสังสรรค์ที่ฟุ่มเฟือย อาหารราคาแพงๆ

--ความรักสวยรักงามในตนเองจะลดลง ท่านอาจแต่งตัวอย่างง่ายๆ สบายๆ ในการปรากฏตัวในสถานที่ต่างๆ, อาจลดเครื่องประดับลง หรืออาจเลิกย้อมผม แต่งหน้า เลยก็ได้

--ท่านอาจมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อยลง ห่างเหินจากเพื่อนฝูงญาติพี่น้องไปบ้างจากที่เคย , ปฏิเสธการร่วมงานเลี้ยงงานสังสรรค์ที่ไม่จำเป็น แม้แต่กิจกรรมทางเพศกับคู่สมรสก็มีความปรารถนาน้อยลง

--ท่านอาจรู้สึกสบายตัว สบายใจขึ้น หากได้ปลีกวิเวกไปจากสังคมที่เคยสังกัดอยู่สักชั่วครู่หนึ่ง

--ท่านอาจได้รับผลกระทบในหน้าที่การงานที่ประจำอยู่ เมื่อความทะเยอทะยานน้อยลงไป รายได้และผลกำไรอาจไม่ใช่สิ่งจูงใจในการทำงานอีกต่อไป

สิ่งต่างๆที่กล่าวมานี้จะเห็นจริงเห็นจังมากขึ้นเมื่อท่านได้ทำการวิปัสสนากรรมฐานอย่างต่อเนื่องและเริ่มเห็นผลแต่ก็มิได้หมายความว่า ทุกคนจะต้องเตรียมใจรับเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นเหมือนกันหมด

4--ความพร้อมของปัจจัยแวดล้อม

ความพร้อมนี้เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ต้องมีการเตรียมการเอาไว้เป็นอย่างดีก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ หากปัจจัยแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยผู้ปฏิบัติไม่อาจเจริญสมาธิได้อย่างมีประสิทธิผล ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ได้แก่..

--ความพร้อมเรื่องเวลา ผู้ปฏิบัติต้องอุทิศเวลาส่วนตัวเพื่อปฏิบัติได้ เป็นเวลาส่วนหนึ่งของทุกวัน กิจกรรมที่เคยทำในห้วงเวลานั้นอาจได้ทำน้อยลงหรือหายไป

--สถานที่ที่สุขสงบ หากเคหะสถานที่ท่านพำนักอยู่มีความสุขสงบขอให้ท่านเลือกเวลาปฏิบัติที่เหมาะสมในแต่ละวันแต่หากในเคหะสถานที่ท่านพำนักอยู่ไม่มีความสุขสงบ มีแต่เสียงอึกทึกครึกโครมท่านต้องคัดสรรเวลาที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นตอนกลางคืนหรือเช้าตรู่ หรือปลีกตัวไปหาสถานที่อื่นที่สงบกว่า วัดเป็นอีกสถานที่หนึ่งซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีแต่ก็ต้องคำนึงถึงระยะเวลา การเดินทาง และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยหากต้องเดินทางทุกวัน

--สมาชิกในครอบครัว หากท่านอยู่ในครอบครัวที่สมาชิกเห็นดีเห็นงามด้วยก็น่ายินดีแต่หากมีสมาชิกในครอบครัวคัดค้าน เพราะศรัทธา หรือเพราะไม่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ก็อาจมีปัญหาระหองระแหงได้

--ตัดปลิโพธออกจากจิตใจ ปลิโพธ คือ ภาระผูกพันที่ทำให้เกิดความพะวักพะวน ขุ่นข้องในจิตใจ มีอยู่ 10ประการ ได้แก่..

๑. อาวาสปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับวัดหรือที่อยู่

๒. กุลปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับตระกูลญาติหรืออุปัฏฐาก

๓. ลาภปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับลาภ

๔. คณปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับคณะศิษย์หรือหมู่ชนที่ตนต้องรับผิดชอบ

๕. กรรมปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการงาน เช่น การก่อสร้าง

๖. อัทธานปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางไกลเนื่องด้วยกิจธุระ

๗. ญาติปลิโพธความกังวลเกี่ยวกับญาติหรือคนใกล้ชิดที่จะต้องเป็นห่วงซึ่งกำลังเจ็บป่วยเป็นต้น

๘. อาพาธปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับความเจ็บไข้ของตนเอง

๙. คันถปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน

๑๐. อิทธิปลิโพธความกังวลเกี่ยวกับฤทธิ์ของปุถุชนที่จะต้องคอยรักษาไม่ให้เสื่อม

สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่อาจไม่สามารถตัดทั้ง 10ข้อออกจากใจได้ แต่ก็ขอให้พยายามตัดออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เมื่อทำความพร้อมทั้ง 4 ประการได้ในระดับที่พอใจแล้วจึงลงมือปฏิบัติจริงก็จะได้รับผลที่ดีตามมา หากท่านไม่มีความรู้เรื่องการเจริญวิปัสสนามาก่อน ให้ท่านเสาะหาผู้รู้หรือเรียกว่า กัลยาณมิตรของท่าน อาจเป็นผู้ที่ท่านเคารพยกย่องในความเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบมีวิชาความรู้พอที่จะถ่ายทอดได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพระสงฆ์เสมอไป

อนึ่ง พึงทราบด้วยว่า การเจริญวิปัสสนา หรือ ทำสมาธินั้น ไม่กำหนดว่าท่านจะใช้เวลาในแต่ละคราวนานเท่าใดจึงจะเห็นผล บางท่านอาจจะเริ่มต้นที่วันละ 15 นาทีก่อน เมื่อทำไปนานๆ หลายๆครั้งเข้า ก็ค่อยเพิ่มเวลาเป็น 20 – 30 นาทีในแต่ละครั้งก็ได้ ข้อสำคัญคือ ต้องหมั่นฝึกฝนเป็นประจำทุกวันอย่าได้ขาด ความสม่ำเสมอสำคัญกว่าการใช้เวลาครั้งละนานๆ แต่ทำบ้างไม่ทำบ้าง

ขอให้สาธุชนที่สนใจการปฏิบัติธรรมและได้เข้ามาอ่าน กับหยิบไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง มีความสุขกับการเจริญภาวนาและได้มรรคผลสมดังที่ตั้งใจด้วยเทอญ




Create Date : 13 ตุลาคม 2560
Last Update : 13 ตุลาคม 2560 9:10:52 น. 1 comments
Counter : 2516 Pageviews.  

 
คัดลอกจากเฟซบุคของ..พระอภิธัมมัตถสังคหะ
กัมมัฏฐานสังคหวิภาค (เฉพาะสมถกัมมัฏฐาน ตอนที่ ๖) (ภาวนา ๓, นิมิต ๓)
แสดงภาวนา ๓
มีเนื้อความในพระอภิธัมมัตถสังคหะบาลี แสดงว่า ปริกมฺมภาวนา อุปจารภาวนา อปฺปนาภาวนา เจติ ติสฺโส ภาวนา ฯ
แปลความว่า
“พึงทราบ ภาวนา มี ๓ อย่างดังนี้ คือ บริกรรมภาวนา, อุปจารภาวนา และ อัปปนาภาวนา”
๑.) บริกรรมภาวนา หมายความว่า มหากุศลจิต หรือ มหากิริยาจิต ที่ เกิดขึ้นก่อน ๆ ติดต่อเนื่องกันตั้งแต่ได้เริ่มต้นเจริญสมถกรรมฐานใหม่ๆ ตลอด มาจนจดขอบเขตแห่งอุคคหนิมิตนั้น ชื่อว่า บริกรรมภาวนา มีวจนัตถะว่า
อปฺปนํ ปริกโรติ ปริสงฺขโรตีติ = ปริกมฺมํ
วิถีจิตอันใด ย่อมจัดแจงปรุงแต่งอัปปนาจิต ฉะนั้น วิถีจิตนั้น ชื่อว่า บริกรรม อีกนัยหนึ่ง
อาทิภูตํ กมฺมํ = ปริกมฺมํ
วิถีจิตที่เป็นเหตุแห่งการเจริญกรรมฐานเบื้องต้น ชื่อว่า บริกรรม
วิถีจิตที่จัดแจงปรุงแต่งอัปปนา หรือวิถีจิตที่เป็นเหตุแห่งการเจริญ กรรมฐานเบื้องต้นนี้ พระโยคาวจรควรกระทําให้เกิดขึ้นติดต่อกันอยู่เรื่อยๆ และ ทวีมากขึ้นไปเป็นลําดับ ฉะนั้น วิถีจิตนั้น ชื่อว่า บริกรรมภาวนา มีวจนัตถะว่า
ปริกมฺมญฺจ สา ภาวนา จาติ = ปริกมฺมภาวนา
วิถีจิตใดชื่อว่า บริกรรมด้วย ชื่อว่า ภาวนาด้วย ฉะนั้น วิถีจิตนั้นชื่อว่า บริกรรมภาวนา
๒.) อุปจารภาวนา หมายถึง มหากุศลจิต หรือ มหากิริยาจิต ที่เกิดขึ้น ใกล้กันกับอัปปนาฌาน ชื่อว่า อุปจารภาวนา มีวจนัตถะว่า อปฺปนาย สมีเป จรติ ปวตฺตตีติ = อุปจาโร
วิถีจิตอันใดเกิดขึ้นใกล้เคียงกันกับขอบเขตของอัปปนาฌาน ฉะนั้นวิถีจิตนั้น ชื่อว่า อุปจาร
อุปจาโร จ สา ภาวนา จาติ = อุปจารภาวนา
วิถีจิตใด ชื่อว่า อุปจารด้วย ชื่อว่า ภาวนาด้วย ฉะนั้น วิถีจิตนั้น ชื่อว่า อุปจารภาวนา
หมายความว่า วิถีจิตที่ชื่อว่าอุปจารนี้แหละ ที่พระโยคาวจรกระทํา ให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ และทวีมากยิ่งขึ้น วิถีจิตนั้นได้ชื่อว่า อุปจารภาวนา
๓.) อัปปนาภาวนา คําว่า “อัปปนา” เมื่อว่าโดยธรรมแล้วเป็นชื่อของ วิตก โดยตรง ส่วนธรรมอื่นมีมหัคคตจิต, โลกุตตรจิต และ เจตสิกที่ประกอบนั้น เป็นการเรียกชื่อ อัปปนา โดยอ้อม ดังมีวจนัตถะแสดงว่า อปฺเปติ สมฺปยุตฺตธมฺเม อารมฺมณํ อภินิโรเปตีติ = อปฺปนา
ธรรมชาติอันใด ย่อมยกสัมปยุตธรรมขึ้นสู่อารมณ์เฉพาะหน้า ฉะนั้นธรรมชาตินั้นชื่อว่า "อัปปนา" ได้แก่ วิตก องค์ฌานท่ีประกอบกับมหัคคตจิต และโลกุตตรจิต
อปฺปนา จ สา ภาวนา จาติ = อปฺปนาภาวนา
ธรรมชาติอันใดเป็นอัปปนาด้วย เป็นการกระทบที่ถึงแล้วซึ่งความเจริญนั้นด้วย ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า อัปปนาภาวนา
ภาวนาทั้ง ๓ ประการนี้ บริกรรมภาวนา มี ๒ ตอน คือ ตอนแรกของ มหากุศลหรือมหากิริยา ที่เกิดขึ้นก่อน ๆ ยังอยู่ห่างไกลจากมหัคคตฌานนั้น มหากุศล หรือ มหากิริยานั้น ชื่อว่า บริกรรมภาวนา
เมื่อเจริญอยู่เรื่อยๆ และมีกําลังทวียิ่งๆ ขึ้นตามลําดับ จนใกล้ที่มหัคคตฌานจะเกิดขึ้น มหากุศลหรือมหากิริยานั้น ชื่อว่า อุปจารภาวนา
นิมิต ๓
เนื้อความในอภิธัมมัตถสังคหบาลี แสดงว่า ปริกมฺมนิมิตฺตํ อุคฺคหนิมิตฺตํ ปฏิภาคนิมิตฺตญฺเจติ ตีณิ นิมิตฺตานิ จ เวทิตพฺพานิ ฯ
พึงทราบ นิมิต ๓ ดังนี้ บริกรรมนิมิต, อุคคหนิมิต, ปฏิภาคนิมิต
๑.) บริกรรมนิมิต หมายถึง อารมณ์ของกรรมฐานต่างๆ มีปฐวีกสิณ เป็นต้น ชื่อว่า “นิมิต” มีวจนัตถะว่า อารมฺมณิกธมฺเมหิ นิมิยเต ฌานิยเต = นิมิตฺตํ
ธรรมอันใด พึงรู้ได้เป็นนิตย์ด้วยจิต และเจตสิกซึ่งเป็นอารัมมณิกธรรม ทั้งหลาย ฉะนั้น ธรรมนั้น ชื่อว่า “นิมิต” ได้แก่ อารมณ์ นั่นเอง
คําว่า “บริกรรมนิมิต” หมายถึง อารมณ์ของบริกรรมภาวนา ดังมีวจนัตถะว่า ปริกมฺมสฺส นิมิตฺตํ = ปริกมฺมนิมิตฺตํ
อารมณ์ของ บริกรรมภาวนา นั่นแหละ ชื่อว่า “บริกรรมนิมิต” ได้แก่ รูปารมณ์, โผฏฐัพพารมณ์ หรทอ ธรรมารมณ์ ซึ่งเป็นตัวกรรมฐานที่พระโยคาวจร ใช้เพ่งเป็นอารมณ์ มีปฐวีกสิณ เป็นต้น
๒.) อุคคหนิมิต เป็นนิมิตที่ปรากฏขึ้นทางใจ โดยไม่ต้องอาศัยตาเพ่ง อารมณ์กรรมฐานนั้น มีวจนัตถะว่า อุคฺคเหตพฺพนฺติ = อุคฺคหํ
อารมณ์ใด พึงยึดไว้แล้วโดยมโนทวาริกกุศล หรือ กิริยาชวนะ ฉะนั้น อารมณ์นั้น ชื่อว่า “อุคคหะ”
อุคฺคหญฺจ ตํ นิมิตฺตญฺจาติ = อุคฺคหนิมิตฺตํ อารมณ์ที่พึงยึดแล้วโดยมโนทวาริกกุศล หรือ กิริยําชวนะด้วย เป็นนิมิต ด้วย ฉะนั้น อารมณ์นั้นชื่อว่า “อุคคหนิมิต” อีกนัยหนึ่ง
อุคฺคณาตีติ = อุคฺคโห วิถีจิตอันใดยึดไว้ซึ่งอารมณ์กรรมฐาน ฉะนั้น วิถีจิตนั้นชื่อว่า “อุคคหะ” ได้แก่ มโนทวารวิถี ที่มีกุศล หรือ กิริยาชวนะ
อุคฺคหสฺส นิมิตฺตํ = อุคฺคหนิมิตฺตํ อารมณ์ของมโนทวารวิถีจิตนั้นแหละชื่อว่า อุคคหนิมิต
ความแตกต่างกันระหว่างบริกรรมนิมิต กับ อุคคหนิมิต
อารมณ์กรรมฐานที่เป็นบริกรรมนิมิต และอุคคหนิมิตนี้ ต่างกันแต่เพียงว่า บริกรรมนิมิต นั้น พระโยคาวจรเห็นได้ด้วยตา ขณะเพ่งปัจจุบันรูปารมณ์ นั้นเอง ส่วน อุคคหนิมิต นั้นเป็นภาพที่เห็นได้ด้วยใจ และเป็นอดีตรูปารมณ์ ไปแล้ว แต่เมื่อว่าโดยรูปร่างสัณฐาน สีสันวรรณะและขนาดขององค์กรรมฐาน ก็คงเหมือนกันทุกประการ
๓.) ปฏิภาคนิมิต อารมณ์ของกรรมฐานที่มีส่วนคล้ายกันกับอุคคหนิมิต ชื่อว่า “ปฏิภาคนิมิต” มีวจนัตถะว่า ปฏิภาคํ นิมิตฺตํ = ปฏิภาคนิมิตฺต อารมณ์ของกรรมฐานที่มีสภาพคล้ายกันกับอุคคหนิมิต ชื่อว่า “ปฏิภาค - นิมิต”
ความต่างกันระหว่างอุคคหนิมิตกับ ปฏิภาคนิมิต
อารมณ์กรรมฐานที่เป็นอุคคหนิมิต กับ ปฏิภาคนิมิตนี้ เป็นอารมณ์ที่ ปรากฏขึ้นทางใจด้วยกัน ต่างกันเพียงอุคคหนิมิตนั้น มีสภาพคงที่เหมือนกับ บริกรรมนิมิตของเดิมทุกประการ ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น มีอารมณ์ผิดแผกไปจากอารมณ์ของอุคคหนิมิต แม้นิมิตนั้นจะปรากฏขึ้นทางใจเช่นเดียวกันก็ตาม แต่ปฏิภาคนิมิตนี้มีความใส สะอาดบริสุทธิ์หมดจดกว่าอุคคหนิมิตหลายร้อยเท่า เหมือนความบริสุทธิ์ ของดวงจันทร์ในวันเพ็ญที่ใสสะอาดปราศจากเมฆหมอกกําบัง เพราะอํานาจ สมาธิของพระโยคาวจร ปฏิภาคนิมิตนี้ไม่มีสภาวะของปรมัตถธรรมรับรองแต่ ประการใด ดังในวิสุทธิมรรคมหาฎีกาแสดงว่า
“ตญฺจ โข ปฏิภาคนิมิตฺตํ เนว วณฺณวนฺตํ น สณฺฐานวนฺตํ อปรมตฺถ- สภาวตฺตา ฯ”
แปลว่า เมื่อว่าโดยความเป็นจริงแล้ว ปฏิภาคนิมิตนั้นไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่มีสีสันวรรณะแต่อย่างใด เพราะมิใช่เป็นปรมัตถสภาวะเพียงแต่มีสภาพเป็น บัญญัติ
ปุพพกิจของผู้ปฏิบัติ
ผู้ปฏิบัติ ก่อนจะลงมือปฏิบัตินั้นมีกิจเบื้องต้น ที่จะต้องปฏิบัติก่อน ๗ ประการ คือ
๑.) ตั้งตนอยู่ในศีล ๒.) ตัดมหาปลิโพธเครื่องกังวลใหญ่ ๑๐ ประการ ๓.) แสวงหากัลยาณมิตร ๔.) ศึกษาอบรมกรรมฐานที่เหมาะสมกับจริต ๕.) เว้นจากสถานที่ที่เป็นโทษแก่การปฏิบัติ ๖.) อยู่ในสถานที่สะดวกแก่การปฏิบัติ ๗.) ตัดขุททกปลิโพธิ เครื่องกังวลเล็กๆ น้อยๆ จักได้ขยายความในปุพพกิจ ๗ ประการ ตามลําดับ ดังนี้
๑.) ตั้งตนอยู่ในศีล ผู้ปฏิบัติจะต้องชำระศีลของตนให้สะอาด ก่อนลงมือปฏิบัติตามควรแก่ฐานะของตน
คฤหัสถ์ : ต้องตั้งอยู่ในศีล ๕ หรืออาชีวัฏฐมกศีล
ชี : ต้องตั้งอยู่ในศีล ๘
สามเณร : ต้องตั้งอยู่ในศีล ๑๐
ภิกษุ : ต้องตั้งอยู่ในปาฏิโมกขสังวรศีล ๒๒๗
๒.) มหาปลิโพธ ๑๐ ประการ
ผู้ปฏิบัติกรรมฐาน ก่อนอื่น ต้องตัดปลิโพธ เครื่องกังวลใหญ่ ที่ทําให้จิต เป็นกังวล ห่วงใย ไม่สงบระงับ เนื่องจากปลิโพธ ๑๐ ประการ คือ
ก.) อาวาสปลิโพธ คือ ความเป็นห่วงที่อยู่อาศัย เช่น ห่วงกุฏิ, ห่วงบ้าน เป็นต้น
ข.) กุลปลิโพธ คือ ความเป็นห่วง กลัวจะห่างเหิน ทายก ทายิกา ผู้อุปัฏฐาก-อุปถัมภ์ เป็นต้น
ค.) ลาภปลิโพธ คือ ความเป็นห่วง รายได้หรือลาภผล ที่ตนเคยได้ เป็นต้น
ง.) คณปลิโพธ คือ ความเป็นห่วงหมู่ คณะ
จ.) กัมมปลิโพธ คือความเป็นห่วงการงานที่กำลังทำค้างอยู่ หรือที่จะลงมือทำ เช่นกำลังบูรณปฏิสังขรณ์โบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ หรือปลูกบ้าน ซ่อมแซมเรือน เป็นต้น
ฉ.) อัทธานปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการเดินทาง
ช.) ญาติปลิโพธ ความเป็นห่วงญาติ
ญ.) อาพาธปลิโพธ ความกังวลในความเจ็บไข้ได้ป่วย
ฎ.) คันถปลิโพธ ความเป็นห่วงการศึกษาเล่าเรียน
ฐ.) อิทธิปลิโพธ ห่วงการแสดงฤทธิ์ต่างๆ
ดังวจนัตถะแสดงว่า
อาวาโส จ กุลํ ลาโภ คโณ กมฺมญฺจ ปญฺจมํ
อทฺธานํ ญาติ อาพาโธ คนฺโถ อิทฺธีติ เต ทส ฯ
แปลความว่า เครื่องก่อให้เกิดความห่วงใย มี ๑๐ ประการ คือ ท่ีอยู่ อาศัย, ตระกูล, ลาภสักการะ, หมู่คณะ, การงานที่ต้องปฏิสังขรณ์ทั้ง ๕ ประการนี้ กับทั้งการเดินทาง, ญาติพี่น้อง, โรคภัยไข้เจ็บ, การศึกษาเล่าเรียน และการแสดงฤทธิ์ต่างๆ
๓.) แสวงหากัลยาณมิตร คือ ต้องเข้าหากัลยาณมิตรที่เคยปฏิบัติมา
ปิโย ครุ ภาวนีโย วตฺตา จ วจนกฺขโม
คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา โน จฏฺาเน นิโยชเย ฯ
แปลความว่า ผู้ที่จะเป็นอาจารย์ คือ กัลยาณมิตรของผู้ปฏิบัติจะต้อง ประกอบด้วยคุณ ๗ ประการ คือ
- ปิโย เป็นผู้น่าเลื่อมใส เพราะมีศีลบริสุทธิ์
- คุรุ เป็นผู้น่าเคารพ เพราะประกอบด้วยคุณธรรม คือ ศีล สมาธิ และ การถือธุดงค์
- ภาวนีโย เป็นผู้น่าสรรเสริญ เพราะมีจิตเที่ยงธรรม ไม่ลําเอียง
- วตฺตา เป็นผู้สามารถ อบรมชี้แจงได้ดี
- วจนกฺขโม เป็นผู้ยอมรับคําตักเตือนจากสหธรรมิก
- คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา เป็นผู้สามารถแสดงธรรมอันลึกซึ้ง มีขันธ์ ๕ สัจจะ ๔ เป็นต้น
- โน จฏฺฐาเน นิโยชเย เป็นผู้เว้นจากการชักชวนทําในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่คอยชักนําให้ทําในสิ่งที่เป็นประโยชน์ในพุทธศาสนาอยู่เป็นนิตย์
คุณทั้ง ๗ ประการนี้ ย่อมมีคุณแก่ตน และแก่ผู้ปฏิบัติทั่วไปในพระพุทธศาสนา ในวิสุทธิมรรคอรรถกถา แสดงกัลยาณมิตรว่าผู้เป็นกัลยาณมิตร คือ ผู้เป็นมิตรที่ดี เป็นผู้ตั้งตนอยู่ในฝ่ายเจริญ แสวงหาประโยชน์ เกื้อกูลผู้อื่นไปฝ่ายเดียว ดังมีพระพุทธพจน์ว่า
“ดูกร อานนท์ จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว ย่อมพ้นจากความเกิดได้” ดังนี้เป็นต้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เดียว จึงเป็นกัลยาณมิตรที่ถึงพร้อม ด้วยอาการทั้งปวง
เพราะเหตุนั้น เมื่อพระองค์ยังดํารงอยู่ กรรมฐานที่ถือเอาในสํานักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น จึงเป็นการถือเอาอย่างดี แต่เมื่อพระองค์ดับขันธปรินิพพานแล้ว บรรดามหาสาวก ๘๐ องค์ พระมหาสาวกใดยังทรงชีพอยู่ การถือเอากรรมฐานในสํานักพระมหาสาวกองค์นั้นจึงควร
แม้นพระมหาสาวกนั้นไม่มีแล้ว พึงถือเอาในสํานักพระขีณาสพ ผู้ที่ทําจตุตถฌานหรือปัญจมฌาน ให้เกิดด้วยอํานาจกรรมฐานบทนั้น แล้วเจริญ วิปัสสนาอันมีฌานเป็นบาท จนได้บรรลุอาสวักขยนั้นเถิด
ถ้าไม่มีพระอรหันต์ขีณาสพ เป็นผู้ให้กรรมฐาน พึงถือเอาในสํานัก พระอนาคามี, พระสกทาคามี, พระโสดาบัน, ปุถุชนผู้ได้ฌาน, ผู้ทรงไตรปิฎก, ผู้ทรงทวิปฎก, ผู้ทรงเอกปิฎก แม้นว่า ผู้ทรงเอกปิฎกไม่มี ภิกษุผู้ชำนาญพระสูตรแม้นิกายหนึ่ง พร้อมอรรถกถา และตัวท่านเองเป็นลัชชีด้วย ก็พึงถือเอาในสำนักภิกษุนั้นเถิด เพราะภิกษุเช่นนี้ ย่อมเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งแบบแผนตามรักษาวงศ์,รักษาประเพณี ถือตามอาจารย์เป็นสำคัญ ไม่ถือเอาแต่อัตโนมัติของตน
๔.) ศึกษาอบรมกรรมฐานที่เหมาะสมกับจริต แสดงการจําแนกกรรมฐานที่เหมาะสมกับจริต
กรรมฐานใดที่เหมาะสมกับบุคคลที่มีจริตประเภทใดในจริต ๖ ที่แสดงไว้ ในอภิธัมมัตถสังคหะบาลีว่า
๑.) จริตาสุ ปน ทส อสุภา กายคตาสติสงฺขาตา โกฏฺฐาสภาวนา ราคจริตสฺส สปฺปายา ฯ
๒.) จตสฺโส อปฺปมญฺญาโย นีลาทีนิ จ จตฺตาริ กสิณานิ โทสจริตสฺส ฯ
๓.) อานาปานํ โมหจริตสฺส วิตกฺกจริตสฺส จ ฯ
๔.) พุทฺธานุสฺสติอําทโย ฉ สทฺธาจริตสฺส ฯ
๕.) มรณอุปฺปสมสญฺญาววตฺถานานิ พุทฺธิจริตสฺส ฯ
๖.) เสสานิ ปน สพฺพานิปิ กมฺมฏฐานาน สพฺเพสมฺปิ สปฺปายานิ ฯ
๗.) ตตฺถาปิ กสิเณสุ ปุถุลํ โมหจริตสฺส ขุทฺทกํ วิตกฺกจริตสฺเสวาติ ฯ อยเมตฺถ สปฺปายเภโท ฯ
แปลความว่า
๑.) ในบรรดาจริต ๖ อย่างนั้น อสุภกรรมฐาน ๑๐, โกฏฐาส ๓๒ ที่เรียกว่า กายคตาสติ เหล่านี้ ย่อมเหมาะสมแก่ผู้มี ราคจริต
๒.) อัปปมัญญา ๔ วัณณกสิณ ๔ มีนีลกสิณ เป็นต้น เหล่านี้ ย่อมเหมาะสมแก่ผู้มี โทสจริต
๓.) อานาปานัสสติ ย่อมเหมาะแก่ผู้มีโมหจริต และ วิตกจริต
๔.) อนุสสติ ๖ มีพุทธานุสสติ เป็นต้น ย่อมเหมาะแก่ผู้มี ศรัทธาจริต
๕.) มรณานุสสติ, อุปสมานุสสติ, อาหาเรปฏิกูลสัญญํา, จตุธาตุววัตถาน เหล่านี้ ย่อมเหมาะแก่ผู้มี พุทธิจริต
๖.) กรรมฐานที่เหลือทั้งหมด คือ ปฐวีกสิณ, อาโปกสิณ, เตโชกสิณ, วาโยกสิณ, อากาสกสิณ, อาโลกกสิณ, อรูปกรรมฐาน ๔ เหล่านี้ ย่อมเหมาะแก่ บุคคล ทุกจริต
๗.) บรรดากรรมฐานเหล่านั้น ในกสิณ ๑๐ องค์กสิณต้องมีขนาดกว้าง เท่าลานนวดข้าว จึงเหมาะสมแก่ผู้ที่มี โมหจริต และองค์กสิณต้อง
มีขนาดเล็กเท่ากระด้ง จึงเหมาะสมแก่ผู้ที่มี วิตกจริต
การจําแนกกรรมฐานที่เหมาะสมกับจริต ตามที่กล่าวมานี้ โดยจําแนก ประเภทและวัตถุที่เป็นสัปปายะเท่านั้น ยังมิได้ทําให้แจ้งในความพิสดารแห่ง บทมาติกาโดยลําดับ เพราะฉะนั้น พึงทราบการถือเอากรรมฐาน ๔๐ อันอนุกูล แก่จริยาของตนโดยอาการ ๑๐ เหล่านี้ก่อน (ยังมีต่อ)
จบ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค (ตอนที่ ๖)
ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้น

จากวัฏฏทุกข์ด้วยครับ
ณัฏฐ สุนทรสีมะ


โดย: *bonny วันที่: 13 ตุลาคม 2560 เวลา:9:12:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

*bonny
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




[Add *bonny's blog to your web]