วังสะพานขาว
ย้อนไปเมื่อสมัยเกือบ 90 ปีที่ผ่านมา ย่านถนนหลานหลวงและกรุงเกษมมีบ้านเรือนผู้คนอยู่ไม่หนาแน่น ส่วนใหญ่จะเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวและสองชั้นรูปทรงดูค่อนข้างทึบ หลังคาบ้านแบบปั้นหยา ตัวบ้านสร้างแข็งแรง แต่ภายในโปร่งสบาย เพราะใช้หน้าต่างบานเกล็ดไม้ รับลมเย็นและอากาศบริสุทธิ์จากลำคลองที่ใสแจ๋ว ไม่ดำขุ่นคลั่กอย่างในปัจจุบัน ในย่านนี้เอง เป็นที่ตั้งของ วังสะพานขาว ของ เสด็จฯ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร พระนามเดิม พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ พระราชโอรสองค์ที่ 42 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระองค์ที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาทับทิม เจ้าจอมมารดาผู้นี้ มีพระราชโอรสและพระราชธิดาถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง 3 พระองค์คือ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช พระองค์เจ้าหญิงประเวศวรสมัย และ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ เป็นธรรมเนียมอยู่ว่า เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใด เจริญพระชันษาออกวังได้ หมายถึง พอจะรับราชการ และมีครอบครัวเป็นของตนเองได้แล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็จะทรงสร้างวังพระราชทานให้วังหนึ่งให้เป็นทั้งที่ประทับและเป็นทั้งที่ทรงงานว่าราชการด้วย เมื่อพระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือมาจากประเทศอังกฤษ จึงได้พระราชทานที่วังและวังสะพานขาว ซึ่งสร้างเสร็จทำพิธีขึ้นตำหนักเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2450 ทรงเสกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงพร้อมเพราพรรณ พระธิดาในเสด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรับราชการตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือชายทะเลในสมัยนั้น และ ทรงกรมเป็นหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร ทรงเลื่อนเป็นกรมหลวงในรัชการที่ 7 เมื่อรวมทหารบกและและทหารเรือเป็นกระทรวงเดียวกัน ก็ได้ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมด้วยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ประทับอยู่ ณ วังนี้จนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2490 รวมพระชนมายุได้ 64 พรรษา ทรงเป็นต้นราชสกุล วุฒิไชย หลังจากท่านเจ้าของวังสิ้นพระชนม์ กระทรวงมหาดไทยจึงซื้อที่ดินจากทายาท ใน พ.ศ. 2493 เพื่อเป็นที่ตั้งกรมประชาสงเคราะห์ เดิมอาศัยพื้นที่พระราชวังสราญรมย์อยู่ และได้มีการทยอยกันรื้อถอนอาคารเก่าในเขตวังเดิมออกไป เพื่อปลูกสร้างอาคารราชการขึ้นแทน ตำหนักที่ประทับเป็นตึกรูปทรงแข็งแรง สง่างาม ดูเหมือนทึบ แต่ภายในโปร่งสบาย เพราะระบายอากาศด้วยการใช้หน้าต่างบานเกล็ดไม้ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 5 ตัวอาคารส่วนใหญ่เป็นสองชั้น ด้านหลังมีหอคอยเพิ่มขึ้นมาเป็นสามชั้น ตึกฝรั่งรุ่นรัชกาลที่ 5-6 มักนิยมสร้างหอคอยกันมาก เพราะสามารถมองออกไปได้ไกลสุดลูกหูลูกตา และมองได้อย่างสบายเพราะไม่มีตึกระฟ้าสูง รกตาเหมือนอย่างเช่นในปัจจุบัน ด้านข้างของปีกขวา ชั้นล่างต่อเป็นห้องครึ่งวงกลมรับระเบียงดาดฟ้าชั้นบน แผ่นพื้นระเบียงเป็นกันสาดให้ชั้นล่างไปในตัว รับด้วยค้ำยันประดับบัว ให้ความรู้สึกมั่นคงแข็งแรง อาคารสมัยรัชกาลที่ 5 เน้นความสง่างาม หนักแน่น เคร่งขรึม แต่ดูไม่แข็งความกระด้างด้วยมีการใช้ศิลปะลายปูนปั้นประดับตามซุ้มหน้าต่าง ตามรอยต่อนอกอาคารระหว่างชั้นบน ชั้นล่าง มุมอาคาร เหนือคูหาโค้งที่มุขหน้า ซึ่งทำไว้เป็นที่จอดรถ หรือคูหาโค้งตามช่องเฉลียงชั้นล่าง ชั้นบนด้านหลังมีระเบียงแล่นไปจดกับส่วนหอคอย ดูหนักแน่นแต่อยู่สบาย เพราะการออกแบบคำนวณทิศทางลมไว้ดีแล้ว น่าสังเกตว่าอาคารสมัยก่อนล้วนแต่ออกแบบได้ถูกต้องตามทำเลและภูมิสถาปัตย์ ทำให้อยู่ได้สบายไม่ร้อนทึบหรืออึดอัดภายในตัวตำหนัก แบ่งซอยเป็นห้องต่างๆ 10 ห้อง ชั้นล่าง 4 ห้อง ชั้นบน 6 ห้อง (ไม่นับโถงบันได โถงกลางชั้นบน และห้องน้ำ ซึ่งอยู่ด้านหลัง) ห้องทุกห้องในแต่ละชั้น มีประตูเปิดทะลุถึงกันหมด ประตูและหน้าต่างแต่ละบานล้วนสูงใหญ่ ล้อมด้วยกรอบไม้สีเข้ม ดูโอ่อ่า เหนือบานประตูและหน้าต่างมีทับหลังเป็นแผ่นไม้ฉลุลายละเอียดยิบ บนผนังห้องประดับด้วยศิลปะปูนปั้น เป็นแบบเดียวกับภายนอกตำหนัก สอดรับกับลายฉลุบนเพดานห้องอย่างเหมาะเจาะ ปัจจุบันตัวตำหนักของวังสะพานขาว ได้รับการบูรณะอย่างดีน่าไปเยี่ยมชมมากๆคับ