poivang
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




Cursors scrollbar background bullet สีfont สีlink webpage ลบกรอบ ภาพcomment
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2550
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
30 สิงหาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add poivang's blog to your web]
Links
 

 
ฝึกสมาธิช่วยแก้ปัญหาต่างๆได้



ฝึกสมาธิช่วยแก้ปัญหาต่างๆได้
จากหนังสือคู่มือดับทุกข์โดยท่านอิสระ

ในสังคมเราทุกวันนี้มีปัญหามากมายรุมเร้าใจ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจภายในครอบครัว ปัญหาหนี้สิน ปัญหาครอบครัวระหว่างสามีภรรยา ปัญหาเรื่องลูก ปัญหาในที่ทำงานระหว่างหัวหน้าหรือลูกน้อง ปัญหาการเมือง เป็นต้น หลายคนเจอปัญหาเหล่านี้และไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรทำให้เกิดความทุกข์ใจ ความเครียด ความหงุดหงิดใจ อารมณ์ไม่ดี ไม่มีกำลังใจ ฯลฯ

การฝึกสมาธิจึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับขจัดปัญหาต่างๆได้ แก้ความเครียดซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยตามมา และการฝึกสมาธินี้ยังเป็นบุญเป็นกุศลอีกด้วย ทำให้จิตสะอาดผ่องใส แก้ปัญหาทั้งทางโลกและเจริญในทางธรรม

ในการฝึกสมาธินั้น ให้นั่งอยู่อย่างสำรวมอย่าเคลื่อนไหวอวัยวะมือเท้า จะนั่งกับพื้นเอาขาทับขาข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ หรือจะนั่งพับเพียบก็ได้หรือจะนั่งบนเก้าอี้ตามสบายก็ได้ไม่มีปัญหา

วิธีการฝึกสมาธินั้นขอให้เข้าใจว่าท่านจะทำจิตให้สงบ ปราศจากความนึกคิดปรุงแต่งในเรื่องภายนอกทุกอย่างชั่วระยะเวลาทำสมาธินั้น ท่านจะไม่ปรารถนาเห็นรูป สี แสง เสียง สวรรค์ นรก หรือเทวดา อินทร์ พรหมที่ไหน เพราะสมาธิที่แท้จริงย่อมไม่มีสิ่งเหล่านั้นอยู่ในจิตใจ สมาธิที่แท้จะมีแต่จิตบริสุทธิ์และสงบเย็นเท่านั้น

พอเริ่มทำสมาธิโดยปกติแล้วให้หลับตาพอสบาย สำรวมจิตเข้านับที่ลมหายใจ ทั้งหายใจเข้าและหายใจออก โดยอาจนับอย่างนี้ว่า หายใจเข้านับ๑ หายใจออกนับ๒ อย่างนี้เรื่อยไป ทีแรกนับช้าๆเพื่อให้สติต่อเนื่องอยู่กับการนับนั้น แต่พอจิตสงบเข้าที่แล้วมันก็จะหยุดนับของมันเอง

หรือบางทีอาจจะกำหนดพุทโธก็ได้ หายใจเข้ากำหนดว่าพุท หายใจออกกำหนดว่าโธ อย่างนี้ก็ได้ไม่ขัดแย้งกันเลย เพราะการนับอย่างนี้มันเป็นเพียงอุบายที่จะทำให้จิตหยุดคิดนึกปรุงแต่งเท่านั้น

แต่การฝึกแรกๆท่านจะยังนับหรือกำหนดไม่ได้อย่างสม่ำเสมอ หรืออย่างตลอดรอดฝั่งเพราะมันจะมีความคิดต่างๆแทรกเข้ามาในจิตใจ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ช่างมันให้เข้าใจว่าการฝึกสมาธิแรกๆมันเป็นอย่างนี้เอง ให้ท่านตั้งนาฬิกาไว้ตามเวลาที่ท่านพอใจ ว่าจะทำสมาธินานเท่าไร

เริ่มแรกอาจจะทำสัก๑๕นาทีอย่างนี้ก็ได้ ให้เฝ้านับกำหนดอยู่จนครบเวลาที่ตั้งไว้ จิตมันจะมีความคิดมากหรือคิดน้อยก็ช่างมัน ให้พยายามกำหนดนับตามวิธีการที่กล่าวมาแล้วจนครบเวลา ไม่นานนักจิตมันก็จะหยุดคิดและสงบได้เองของมัน

การฝึกสมาธินี้ให้พยายามทำทุกวัน ทำวันละ๒-๓ครั้งก็ยิ่งดี แรกๆให้ทำครั้งละ๑๕นาที แล้วจึงค่อยเพิ่มมากขึ้นๆจนถึงครั้งละ๑ชั่วโมงหรือกว่านั้นตามปรารถนา

ครั้นกำหนดจิตด้วยการนับอย่างนั้นจนมีประสบการณ์พอสมควรแล้ว ท่านจะรูสึกว่าจิตนั้นสะอาด สงบ เย็น ผ่องใส ไม่หงุดหงิด ไม่หลับใหล ไม่วิตกกังวลกับสิ่งใด นั่นแหละคือสัญลักษณ์ที่แสดงว่า สมาธิกำลังเกิดขึ้นในจิต

เมื่อจิตสงบเย็นไม่หงุดหงิดเช่นนั้นแล้วอย่าหยุดนิ่งเฉยเสีย ให้ท่านน้อมจิตพิจารณาเรื่องราวต่อๆไป ถ้ามีปัญหาชีวิตหรือปัญหาใดๆที่กำลังทำให้ท่านเป็นทุกข์กลัดกลุ้มอยู่ ก็จงน้อมจิตเข้าไปคิดนึกพิจารณาปัญหา ด้วยความสุขุมรอบคอบด้วยความมีสติ

จงยกเอาปัญหานั้นขึ้นมาพิจารณาว่า ปัญหานี้มันมาจากไหน? มันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะอะไรท่านจึงหนักใจกับมัน ทำอย่างไรท่านจึงจะสามารถแก้ไขมันได้ ? ทำอย่างไรท่านจึงจะเบาใจไม่เป็นทุกข์กับมัน?

การพิจารณาอยู่ด้วยจิตอันสงบนี้ การถามหาเหตุผลกับตัวเองอย่างนี้ จิตของท่านมันจะค่อยๆรู้เห็นและเกิดการคิดนึกรู้สึกฉลาดขึ้นมาโดยธรรมชาติของมัน จิตจะสามารถเข้าใจต้นสายปลายเหตุของปัญหาต่างๆได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง นักปฏิบัติจึงต้องพยายามพิจารณาปัญหาต่างๆอย่างนี้เรื่อยไป หลังจากที่จิตสงบแล้ว

ในกรณีที่ยังไม่มีปัญหาความทุกข์เกิดขึ้น หลังจากที่ทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ จงพยามยามหาหัวข้อธรรมหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งมาพิจารณา เช่นยกเอาชีวิตของตัวเองมาพิจารณาว่ามันมีความมั่นคงจีรังยั่งยืนเพียงไหน ท่านจะได้อะไรจากชีวิตคือร่างกายจิตใจนี้ ท่านจะอยู่ในโลกนี้นานเท่าไหร่ เมื่อท่านตายท่านจะได้อะไร ให้พยายามถามตัวเองเช่นนี้เสมอ

หรือท่านอาจจะน้อมจิตไปสำรวจการกระทำของตัวเองที่ผ่านมา เช่นท่านทำอะไรที่มีประโยชน์บ้าง หรือทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง ทำให้คนอื่นเดือดร้อนไม่สบายใจหรือไม่ ทำดีอะไรมาบ้าง ทำอะไรเพื่อผู้อื่นบ้าง เป็นต้น

เป้าหมายการฝึกสมาธิคือการทำจิตให้สงบจากอารมณ์ภายนอกชั่วระยะหนึ่ง เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้วจิตนั้นจะมีกำลังและมั่นคง สภาวะจิตเช่นนั้นเองที่มันจะมีความพร้อมในการที่จะเรียนรู้ และเข้าใจปัญหาต่างๆหรือสิ่งต่างๆที่แวดล้อมตัวท่านอยู่ได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง

ท่านจะฝึกสมาธิเพื่อเรียกกำลังจิตจากสมาธินั้นไปพัฒนาความนึกคิดหรือความรู้สึกของท่านให้ถูกต้อง ซึ่งความรู้สึกนึกคิดที่ถูกต้องนั้น แท้จริงแล้วก็คือปัญญานั่นเอง

ปัญหาอันยิ่งใหญ่ในชีวิตของท่านคือความทุกข์ ความกลัดกลุ้มใจ และความทุกข์นั้นจะไม่หมดไปได้ เพราะการวิงวอนบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แต่มันจะหมดไปจากใจท่านได้ ถ้าท่านมีปัญญารู้เท่าทันตามความเป็นจริงในสิ่งที่ทำให้ท่านเป็นทุกข์

ท่านจะต้องรู้ความจริงด้วยว่าปัญหาต่างๆ ท่านไม่สามารถแก้ไขมันได้เพราะมันเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ตามสภาวะแวดล้อมของมัน ยอมรับในทุกสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามเหตุปัจจัยของมัน เพราะทุกสิ่งเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอนอะไร บางทีมันก็ดีบางทีมันก็ไม่ดี มันเป็นอยู่อย่างนี้เอง

ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้น ท่านจะต้องพยายามหาวิธีทำกับมันให้ดีที่สุด โดยคิดว่าท่านทำดีที่สุดเพียงเท่านี้ ผลจะเกิดอย่างไรก็ช่างมัน ปัญหาจะหมดไปหรือไม่ก็ช่างมัน จะได้หรือเสียก็ช่างมัน ท่านทำดีที่สุดแล้ว จะดีหรือร้ายจะได้หรือเสียก็ไม่ใช่เรื่องของท่าน ทำใจปล่อยวางลงให้ได้

จงรู้จักธรรมะข้อที่ว่า”อนิจจัง” แปลว่าความไม่เที่ยง สิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง มันเป็นอย่างนี้เอง มันไม่เที่ยงแท้แน่นอนเลยสักสิ่งเดียว

จงรู้จักธรรมะข้อที่ว่าด้วย "ทุกขัง” ลักษณะความทุกข์ได้แก่ ความเกิด แก่ ตาย ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ พลัดพราก เป็นต้น

จงรู้จักธรรมะข้อที่ว่าด้วย “อนัตตา” คือความไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นต้น สิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตนแก่นสารที่ถาวร หมายความว่าสิ่งเหล่านั้นมันจะมีอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง จะนานหรือไม่นานแล้วแต่เหตุปัจจัยของมัน ไม่มีสิ่งใดจะคงอยู่ในโลกนี้ได้ตลอดไป ดังนั้นตัวตนที่ยั่งยืนถาวรของมันจึงไม่มี

เมื่อทุกสิ่งเป็นของไม่เที่ยง ชวนแต่จะให้เราทุกข์กับมัน และไม่ใช่สิ่งที่เป็นแก่นสารถาวรเช่นนั้นแล้ว เราจะมัวไปหลงใหลอยากได้อยากเป็นอะไรในมัน ให้มากเรื่องไปโดยเปล่าประโยชน์อีกเล่า










Create Date : 30 สิงหาคม 2550
Last Update : 30 สิงหาคม 2550 14:31:17 น. 1 comments
Counter : 1714 Pageviews.

 
ทุกสิ่งเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน



โดย: นวลกนก วันที่: 30 สิงหาคม 2550 เวลา:23:17:47 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.