Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
3 กันยายน 2553
 
All Blogs
 
บทที่ ๖ วิธีลดอัตตา (จบ) ลำดับแห่งปฏิจจสมุปบาท

ขอทบทวนความจำว่า เราจะบริสุทธิ์หลุดพ้นทุกข์ได้ ก็ด้วยปัญญา สิ่งทั้งปวงไม่ควรเข้าไปเอา หรือเข้าไปเป็นด้วยความยึดมั่น เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น จึงไม่ทำให้เกิด "อัตตา" ถ้าผิดไปจากนั้นก็เป็นพุทธศาสนาปลอม ดังที่มีผู้อธิบายไปด้วยอคติหวังประโยชน์เข้าตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ เราจึงมีหน้าที่ที่จะค้นให้พบว่าการปฏิบัติธรรมแนวไหน ที่จะเป็นการไม่ยึดมั่นถือมั่นตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุดจริงๆ แล้วก็ง่ายดายสำหรับคนที่มีการศึกษาน้อยด้วย

ทั้งๆ ที่สิ่งทั้งปวงไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็น เพราะมันเป็นมายาหลอกลวง และพร้อมที่จะกลายเป็นยาพิษอยู่เสมอแต่บางครั้งความจำเป็นตามธรรมชาติ หรือทางสังคม หรือ ทางร่างกายได้บังคับให้เรามี หรือเป็น หรือได้ เช่น ต้องครอบครองอะไรๆ ต่างๆ อย่างไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น เราจะต้องดูให้ดีๆ ว่าจะไปเอาไปเป็นอย่างไร จึงจะไม่เกิดทุกข์ ผลสุดท้าย ก็พบว่า จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันในลักษณะที่เป็นของไม่น่าเอาน่าเป็น นั่นเอง คือเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยสติปัญญาเหมือนอย่างว่า ถ้าจะเป็นจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสัตว์ร้ายเช่นเสือ ก็ต้องไปเกี่ยวข้องกับเสือ ด้วยสติปัญญาให้มากที่สุด บกพร่องหรือเผลอไม่ได้ จึงจะทำมันให้อยู่ในอำนาจของเราได้ อารมณ์ต่างๆ นั้นมีอันตรายยิ่งกว่าเสือ แต่ก็ไม่มีใครมองเห็นเช่นนั้น ทั้งนี้ เพราะอารมณ์เหล่านั้นกำลังทำอันตรายคนอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออกทั่วทุกคน ไม่ยกเว้นใครในบรรดาที่เป็นปุถุชน และทำอันตรายถึงขนาดทำให้เสียผู้เสียคน หรือเสียเกียรติแห่งความเป็นมนุษย์ จึงน่ากลัวกว่าเสือ ดังนั้นเราจึงต้องมีชีวิตอยู่ในท่ามกลางของอารมณ์ที่ไม่น่าเอาน่าเป็นนี้ ด้วยนโยบายหรืออุบายอันแยบคาย หรือด้วยศิลปะอันสูงสุด คือการคิดไว้ว่าจะไม่เอาอะไรและไม่เป็นอะไรเลย แม้สังคมหรือโดยกฏหมายจะถือว่า คนนั้นได้สิ่งนั้น มีสิ่งนี้ หรือเป็นอย่างนั้น เราก็ให้เป็นไปแต่สักว่าโดยโลกสมมติ หรือตามกฏหมาย ส่วนภายในจิตใจส่วนลึกๆจริงๆ ที่คนอื่นรู้ไม่ได้นั้น มันยังสงบเฉยอยู่ คือ เท่ากับไม่ได้เอา ไม่ได้เป็น ไม่ได้มี ไม่ได้ยึดครองสิ่งใด เลยได้ผลดีทั้งสองด้าน คือทางภายนอกหรือทางโลก ก็มีกินมีใช้มีการเป็นอยู่ที่สบาย ทำอะไรกับใครก็ได้ มีภาระหน้าที่อย่างสูงอย่างไรก็ได้ ส่วนทางภายในคือจิตใจก็ยังคงว่างจากตัวตน หรือเป็นปกติอยู่ตามเดิม ไม่มีความร้อนใจ ไม่มีความหนัก ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่หวั่นไหวเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งต่างๆ ภายนอกเพราะผิดคาดผิดหวัง หรือได้สมหวัง การเป็นอยู่ชนิดนี้ถ้าจะกล่าวโดยอุปมาก็ต้องกล่าวว่า ข้างนอกเป็นวัฏฏสงสาร แต่ข้างในเป็นนิพพาน แท้ที่จริงนั้นก็เป็นนิพพานไปหมด คือว่างจากทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์โดยประการทั้งปวง นี่แหละคือศิลปะแห่งการมีชีวิตที่เป็นไปตามหลักแห่งพุทธศาสนา

ที่กล่าวว่า ใช้ได้แม้แก่คุณย่าคุณยายที่ไม่รู้หนังสือนั้น ข้อนี้หมายความว่า ผู้เฒ่าเหล่านั้นไม่ต้องศึกษาอะไร นอกจากหัดมองดูที่ความไม่น่าเอาน่าเป็นของสิ่งต่างๆ เช่นเป็นคนดีก็มีความทุกข์ไปตามแบบของคนดี เป็นคนชั่วก็มีความทุกข์ไปตามแบบของคนชั่ว ดังนั้น การไม่เป็นอะไรนี่แหละจึงจะไม่มีทุกข์ อีกทีหนึ่งก็ว่า ถ้าเป็นคนมีบุญก็ต้องเป็นทุกข์ไปตามประสาของคนมีบุญ ซึ่งแตกต่างไปจากความทุกข์ของคนมีบาป แต่เป็นทุกข์เหมือนๆ กัน ก็ตรงที่ว่า มันยังเป็นการแบกของหนักทางใจเอาไว้ด้วยกันทั้งนั้น ผิดกันแต่ว่า ของหนักของคนชั่วนั้นกำลังลุกเป็นไฟ แต่ของหนักของคนดีนั้น ถึงจะหอมหวนเยือกเย็นอะไรก็ตาม แต่มันก็หนักอย่างเร้นลับ อีกทีหนึ่งซึ่งสูงขึ้นไปก็ว่าเกิดมาเป็นผู้มีความสุข ก็ยังต้องทุกข์ไปตามประสาของคนมีความสุข เพราะความสุขนั้นมันก็ยังเป็นสิ่งที่ต้อง "แบก" และความสุขนั้น ตั้งรากฐานอยู่บนความเปลี่ยนแปลง  บนอารมณ์ทั้งหลายที่เป็นมายาที่สุด สู้ไม่เป็นอะไรเสียเลยไม่ได้ นี่แหละจึงว่าไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็น

ทีนี้ เมื่อต้องดูไปถึงสิ่งทั้งปวง ก็จะมองเห็นได้ว่า สิ่งทั้งหลายมีความหมายอยู่เพียง ๒ อย่าง คือเป็นคุณอย่างหนึ่ง และเป็นโทษอย่างหนึ่ง และทุกอย่างจะต้องมีทั้งคุณและโทษ ไม่มีอะไรที่จะมีได้แต่คุณอย่างเดียว หรือโทษอย่างเดียว แต่เป็นเพราะปุถุชนมองมันไม่ออกเท่านั้น จึงได้หลงไปว่า อย่างนั้นเป็นคุณอย่างนี้เป็นโทษ แต่ก็ล้วนแต่เป็นมายายึดถือเข้าไม่ได้ เพราะยึดถือแล้วจะเป็นทุกข์ สู้ไม่เอาอะไรเสียเลยดีกว่า คือมีจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งทั้งสองนั้น แล้วก็ควบคุมสิ่งทั้งสองนั้นให้อยู่ในใต้อำนาจเท่าที่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกับมัน นี่แหละคือความหมายของคำว่า "ไม่เอาอะไร" ซึ่งคู่กับคำว่า "ไม่เป็นอะไร"

ถ้าจะให้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ ก็ตั้งปัญหาไปในทำนองว่า มันน่าสนุกไหมในการที่จะเป็นคน? เป็นผู้หญิงน่าสนุกไหม? เป็นผู้ชายน่าสนุกไหม? เป็นผัวน่าสนุกไหม? เป็นเมียน่าสนุกไหม? เป็นแม่เขาน่าสนุกไหม? แล้วผู้เฒ่าเหล่านั้นจะสั่นศีรษะกันไปทุกคนทีเดียว เพราะได้มีความชำนิชำนาญในสิ่งเหล่านั้นมาอย่างโชกโชนซึมซาบเต็มที่แล้ว ไม่เหมือนกับเด็กๆ หรือคนหนุ่มคนสาวที่ยังไม่ประสีประสาต่อความเป็นเช่นนั้น แต่อาจจะมีคนหนุ่มสาวบางคนที่ถ้าได้รับคำอธิบายแล้ว ก็เข้าใจได้เหมือนกัน นั่นแหละคือลักษณะของผู้ที่จะเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี ดังที่ถือกันว่ามีอยู่ ๒-๓ คนในประวัติศาสตร์แห่งพุทธศาสนา ถ้าผู้เฒ่าเหล่านั้น ปลงตกและทำได้ ก็จะมีความสุขสดชื่นกลับกลายเป็นความหนุ่มความสาวขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง ที่ไม่กลับแก่เฒ่าแม้ว่าร่างกายจะเน่าเข้าโลงไปนี่แหละ คือศิลปะแห่งชีวิต ตามหลักหัวใจของพุทธศาสนา จึงทำให้เราเห็นได้ว่า พุทธศาสนาคือยอดของศิลปะของการดำเนินชีวิต ชนิดที่ผู้เฒ่าไม่รู้หนังสืองกๆ เงิ่นๆ ก็เข้าถึงได้ในเมื่อดำเนินตนไปอย่างถูกทางดังที่กล่าวแล้ว

ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น คือมีชีวิตอยู่มาจนกระทั่งถึงขณะที่จะตาย โอกาสก็มีอยู่ในวินาทีสุดท้ายที่จิตจะดับ คือถือเอาอุบายชนิดที่เรียกว่า "ตกกระไดพลอยกระโจน" กล่าวคือ เมื่อร่างกายจะแตกดับโดยแน่นอนแล้ว ก็พลอยกระโจนตามไปด้วยความแน่ใจว่า ไม่มีอะไรเหลืออยู่ที่ไหนที่น่าเอาน่าเป็น ความรู้ในเรื่องไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็นที่ได้ศึกษาและปฏิบัติมาบ้างนั้น อาจจะมาช่วยได้ทันท่วงที นี้แหละเรียกว่าการดับขันธ์ได้ด้วยสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง และอาจลุถึงนิพพานได้ด้วยอุบายที่เรียกว่า "ตกกระไดพลอยกระโจน" แม้ว่าจะตายโดยอุบัติเหตุ และเวลาจะเหลืออยู่สักวินาทีหนึ่ง หรือครึ่งวินาทีก็ตาม ก่อนแต่จะหมดความรู้สึกตัว ก็ให้ผู้เฒ่าเหล่านั้นระลึกถึงความรู้ในเรื่องความดับไม่เหลือขึ้นมา และถ้าสามารถน้อมจิตใจไปสู่ความดับไม่เหลือได้ แล้วปล่อยให้นามรูปดับไป ก็เป็นการบรรลุนิพพานได้ เพราะไม่ได้นึกถึงอะไร ไม่ได้นึกถึงผู้ช่วยเหลือหรือทรัพย์สมบัติ ลูกหลานหรือสิ่งต่างๆ ในขณะนั้นนึกถึงแต่เพียงอย่างเดียว คือ ความดับไม่เหลือเท่านั้น

นี้เรียกว่า ปฏิบัติธรรมอย่างลัดสั้นที่สุด ง่ายที่สุด และใช้ได้แก่ทุกคน เท่าที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ เป็นการชี้ให้เห็นลักษณะต่างๆ ของสิ่งที่เรียกว่า "ตัวตน-ของตน" ให้เห็นมูลเหตุแห่งการเกิดขึ้นของมัน ให้เห็นสิ่งตรงกันข้าม (คือความว่างจากความมี"ตัวตน-ของตน") และให้เห็นวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความว่างจาก "อัตตา" ในฐานะที่เป็นปัญหาสำคัญสำหรับมนุษยชาติทั้งมวล เพราะว่าความทุกข์ของคนทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในภูมิไหนสูงต่ำอย่างไร ก็ล้วนแต่มีความทุกข์เนื่องมาจากสิ่งที่เรียกว่า "ตัวตน-ของตน" นี้ทั้งนั้น "อัตตา" นั่นแหละเป็นตัวทุกข์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "โดยสรุปอย่างสั้นที่สุดแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั่นแหละเป็นตัวทุกข์" อวิชชาก็เป็นมูลเหตุให้เกิดอัตตา การดับอวิชชาเสียได้ คือการดับทุกข์สิ้นเชิง การมีชีวิตอยู่อย่างถูกต้องทุกลมหายใจเข้า-ออก ทั้งในขณะปกติที่ไม่มีอารมณ์รบกวน และทั้งในขณะที่เผชิญหน้ากันกับอารมณ์นั่นแหละ คือการปฏิบัติชอบ หรือตัวพรหมจรรย์ในพุทธศาสนาที่จะดับอวิชชาอันเป็นบ่อเกิดแห่งอัตตาเสียได้ อันจะทำให้มนุษยชาติประสบสันติสุขอันถาวรทั้งภายนอกและภายใน รวมทั้งส่วนสังคมและส่วนเอกชนตลอดเวลาที่มนุษย์เราไม่เข้าถึงความจริงข้อนี้ โลกนี้จะยังคงมีวิกฤติการณ์ถาวระระส่ำระสายวุ่นวายไม่มีหยุด อย่างที่ไม่มีใครจะช่วยได้ เพราะเป็นการกระทำที่ฝืนหลักความจริงของธรรมะ หรือของธรรมชาติกล่าวอย่างปุคคลาธิษฐาน ก็ว่าฝืนพระประสงค์ของพระเป็นเจ้านั่นเอง ฉะนั้นจึงอย่าได้ประมาท ในเรื่องอัตตา จงได้พิจารณาดูกันใหม่ ให้มีสัมมาทิฏฐิ หรือความเข้าใจอย่างถูกต้องทั้งทางกายทางวาจาทางใจ แล้วก็จะได้ประสบสิ่งที่ดีที่สุดหรือประเสริฐที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้รับ โดยไม่ต้องสงสัยเลย

พุทธศาสนามีความมุ่งหมายเพียงเท่านี้ ใจความสำคัญของคำสอนของพุทธศาสนาจึงมีอยู่เพียงเท่านี้ ผู้หวังที่จะเข้าถึงตัวพุทธศาสนาอย่างแท้จริงโดยรวดเร็ว หรือหวังจะได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ จงพยายามศึกษา และพิจารณาด้วยการกระทำที่สุขุม และรอบคอบเถิด จะได้รับประโยชน์ครบถ้วนจากพุทธศาสนา ไม่เสียทีที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาโดยไม่ต้องสงสัยเลย




Create Date : 03 กันยายน 2553
Last Update : 3 กันยายน 2553 8:17:25 น. 0 comments
Counter : 203 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

phugamon
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add phugamon's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.