คนจนผู้ยิ่งใหญ่
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
22 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 
รวยกว่านี้มีอีกมั้ย

ประวัติ โชติกะเศรษฐี
ประวัติ - การเกิด , ความเป็นอยู่ และปราสาทแก้ว ๗ ชั้น
ท่านโชติกะถือกำเนิดในตระกูลเศรษฐีตระกูลหนึ่งในกรุงราชคฤห์ ซึ่งนครนี้มีพระราชาทรงพระนามว่า พระเจ้าพิมพิสาร
ในวันที่ท่านเกิดนั้น สรรพาวุธทั้งหลายในพระนครทั้งสิ้นรุ่งโรจน์แล้ว แม้เครื่องประดับ คือ อาภรณ์ทั้งหลายที่สวมกายของบรรดาปวงชนทั้งหลาย ก็เป็นราวกับว่ารุ่งโรจน์ คือ มีแสงสว่างโชติช่วง เปล่งรัศมีออกจากทุกคน พระนครนั้นสว่างไสวไปหมด แล้วท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดาของท่านก็ได้ไปสู่ที่บำรุงของพระราชาแต่เช้าตรู่
คราวนั้นพระราชาได้ตรัสถามบิดาของท่านว่า วันนี้สรรพาวุธทั้งหลายรุ่งโรจน์เป็นแสงสวยแล้ว พระนครทั้งหมดก็รุ่งโรจน์เป็นอันเดียวกัน ท่านทราบเหตุเรื่องนี้ไหม บิดาของท่านก็กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทราบพระพุทธเจ้าข้า พระราชาตรัสถามว่า เป็นเพราะอะไรจึงได้เป็นอย่างนั้น บิดาของท่านกล่าวว่าทาสของพระองค์ เกิดในเรือนของข้าพระพุทธเจ้า พระเจ้าข้า ความรุ่งโรจน์นั้นได้มีแล้ว ด้วยเดชแห่งบุญของเขานั้นแล
พระราชาจึงได้ตรัสถามว่า เขาจะเป็นโจรกระมัง บิดาของท่านก็กราบถวายบังคมว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้อนั้นไม่มี สัตว์ผู้มีบุญได้ทำอภินิหารแล้วพระพุทธเจ้าข้า พระราชาจึงตรัสว่าถ้ากระนั้น เธอเลี้ยงเขาไว้ให้ดี จึงจะเป็นการสมควร เงินทองส่วนนี้จงเป็นค่าน้ำนมสำหรับเขา โดยพระราชาทรงตั้งทรัพย์ค่าเลี้ยงดูสำหรับเลี้ยงดูท่านซึ่งยังเป็นเด็กพึ่งเกิดในวันนั้นวันละ ๑,๐๐๐ กหาปณะ
ครั้นในวันตั้งชื่อ บรรดาประชาชนทั้งหลายจึงได้ตั้งชื่อของท่านว่า โชติกะ (โชติกะ แปลว่ารุ่งโรจน์) เพราะเหตุว่าทำพระนครทั้งสิ้นให้รุ่งโรจน์ มีแสงสว่างในวันที่ท่านเกิด
ต่อมาในเวลาที่ท่านเติบโตแล้ว ชนทั้งหลายจึงจับจองทำพื้นที่ เพื่อต้องการจะปลูกเรือนสำหรับท่าน ซึ่งทำให้ภพของท้าวสักกะแสดงอาการร้อน ท้าวโกสียสักกเทวราช (พระอินทร์) ใคร่ครวญดูว่า นี่มันเหตุอะไรหนอ ก็ทรงทราบว่า ชนทั้งหลายกำลังจับจองที่สำหรับปลูกเรือนให้ท่านโชติกะ ท้าวสักกะทรงดำริว่า โชติกะนี้ จะไม่อยู่ในเรือนที่ชนทั้งหลายเหล่านั้นได้ทำแล้ว การที่เราไปในที่นั้น จึงเป็นการสมควร
แล้วก็เสด็จไปที่นั้นด้วยเพศแห่งนายช่างไม้ แล้วจึงตรัสว่า พวกท่านทำอะไรกัน คนทั้งหลายเหล่านั้นก็กล่าวว่า พวกฉันจับจองที่จะปลูกเรือนสำหรับโชติกะ ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) จึงตรัสว่า พวกท่านจงหลีกไป โชติกะนี้ จะไม่อยู่ในเรือนที่ท่านทั้งหลายปลูก แล้วก็ทรงทอดพระเนตรแลดูภาคพื้น มีปริมาณ ๑๖ กรีส ทรงใช้ฤทธิ์ของท่าน ปรับพื้นที่นั้นให้สม่ำเสมอกัน แล้วท้าวสักกเทวราชก็ทรงดำริว่าขอปราสาท ๗ ชั้นที่สำเร็จไปด้วยแก้ว ๗ ประการ จงชำแรกแทรกแผ่นดินขึ้นมา ณ ที่นี้ แล้วปราสาทที่สวยงามดังกล่าวก็ปรากฏขึ้นมา
จากนั้นท้าวสักกเทวราชาก็ทรงดำริอีกว่า ขอกำแพง ๗ ชั้น ที่สำเร็จแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ จงปรากฏขึ้นแวดล้อมปราสาทนี้แล้วกำแพงสวยงามดังกล่าวก็ปรากฏขึ้น ท้าวสักกเทวราชก็ดำริต่อไปว่าขอต้นกัลปพฤกษ์ทั้งหลาย จงผุดขึ้นในที่สุดรอบกำแพงนั้น (ต้นกัลปพฤกษ์ คือ ต้นไม้ที่ใครปรารถนาอยากได้อะไรก็ได้ อยากได้เพชร สอยลงมา ก็เป็นเพชร อยากได้ผ้า สอยลงมาก็เป็นผ้า) แล้วต้นกัลปพฤกษ์ก็เกิดขึ้นที่นั้น จากนั้นท้าวสักกเทวราชก็ดำริว่า ขอขุมทรัพย์ทั้ง ๔ จงผุดขึ้นที่ ๔ มุมแห่งปราสาทแล้วขุมทรัพย์สมบัติ ๔ ขุมก็เกิดขึ้น ซึ่งแต่ละขุมมีขนาดดังนี้ คือ ขุมหนึ่งประมาณ ๑ โยชน์, อีกขุมประมาณ ๓ คาวุต, อีกขุมประมาณ กึ่งโยชน์ และ อีกขุมประมาณ ๑ คาวุต
แล้วนอกจากนั้นท้าวสักกเทวราชยังดำริให้มีซุ้มประตูถึง ๗ ซุ้ม รอบปราสาท ๗ ชั้นนั้น ซึ่งแต่ละซุ้มประตูจะมีเทวดายืนทำการรักษาประตูไว้ โดย -
ซุ้มประตูที่ ๑ มีเทวดาชื่อว่า ยมโมลี พร้อมไปด้วยเทวดาที่เป็นบริวาร ๑,๐๐๐ ตน รักษาประตูอยู่
ซุ้มประตูที่ ๒ มีเทวดาชื่อว่า อุปปละ พร้อมไปด้วยเทวดาที่เป็นบริวาร ๒,๐๐๐ ตน รักษาประตูอยู่
ซุ้มประตูที่ ๓ มีเทวดาชื่อว่า วชิระ พร้อมไปด้วยเทวดาที่เป็นบริวาร ๓,๐๐๐ ตน รักษาประตูอยู่
ซุ้มประตูที่ ๔ มีเทวดาชื่อว่า วชิรพาหุ พร้อมไปด้วยเทวดาที่เป็นบริวาร ๔,๐๐๐ ตน รักษาประตูอยู่
ซุ้มประตูที่ ๕ มีเทวดาชื่อว่า สกฏะ พร้อมไปด้วยเทวดาที่เป็นบริวาร ๕,๐๐๐ ตน รักษาประตูอยู่
ซุ้มประตูที่ ๖ มีเทวดาชื่อว่า สกฏัตถะ พร้อมไปด้วยเทวดาที่เป็นบริวาร ๖,๐๐๐ ตน รักษาประตูอยู่
ซุ้มประตูที่ ๗ มีเทวดาชื่อว่า ทิสามุขะ พร้อมไปด้วยเทวดาที่เป็นบริวาร ๗,๐๐๐ ตน รักษาประตูอยู่
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่ามีปราสาท ๗ ชั้นที่สำเร็จไปด้วยแก้ว ๗ ประการมีกำแพงแก้ว ๗ ชั้น มีซุ้ม ๗ ซุ้ม มีขุมทรัพย์ ๔ ขุม เกิดขึ้นแล้วเพื่อท่านโชติกะ พระราชาจึงได้ทรงส่งฉัตรตำแหน่งของมหาเศรษฐี ไปให้ท่านโชติกะ (สมัยนั้นคนที่จะเป็นมหาเศรษฐี พระราชาต้องแต่งตั้งให้) ทำให้ท่านเป็น "โชติกเศรษฐี"
ปรากฏว่า มีหญิงนางหนึ่ง นามว่า สตุลกายะ ซึ่งเป็นผู้ที่มีบุญกรรมอันกระทำไว้แล้วกับท่านเศรษฐีในชาติก่อนนั้น ได้เกิดขึ้นใน อุตตรกุรุทวีป (เป็นทวีปที่อยู่คนละโลกกับโลกของเรา แต่ว่าอยู่ในเขตของจักรวาลมนุษย์ ที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์ และสวยสดงดงามมาก ผู้คนที่นี่เขาไม่ใช้ไฟหุงต้ม เขาใช้แก้วมณี แสงสว่างทั้งหมดก็ใช้ด้วยอำนาจของแก้วมณี และแต่ละคนก็มีแก้วมณีติดกาย ทำให้แสงสว่างเกิดขึ้นรอบกาย แลดูสวยสดงดงามมาก ดังนั้นคนที่นี่จึงไม่รู้จักไฟ หรือแสงสว่างที่เกิดจากไฟ)
ตามพระบาลีท่านกล่าวว่า ครั้งนั้น เทวดานำนาง สตุลกายะ นี้มาจากอุตตรกุรุทวีปนั้นแล้ว ก็ให้อยู่ในห้องหนึ่งที่สวยงามและเป็นมงคล
เมื่อมา แม่นางผู้นี้ ก็ถือเอาทะนานข้าวสารทะนานหนึ่ง และแผ่นศิลาอันลุกโพลง ๓ แผ่น (แผ่นหินนี้ก็ คือ แก้วมณี ไม่มีเปลวไฟ มีแต่แสงออกมา) ซึ่งอาหารสำหรับจะทาน ก็ปรากฏขึ้นในทะนานข้าวสารนั้นตลอดชีวิต คือ ไม่จำเป็นต้องทำงานหรือต้องหาซื้อ เมื่อเวลาที่ต้องการจะทานข้าว ข้าวก็เกิดขึ้นในทะนานนั้น ต้องการจะทานขนมหรืออาหารชนิดใด สิ่งที่ต้องการนั้นก็เกิดขึ้นในทะนานนั้น โดยเวลาที่จะหุงอาหารก็เพียงใส่ข้าวสารลงไปในหม้อ แล้วก็วางไว้บนแผ่นศิลานั้น แล้วแผ่นศิลาก็ลุกโพลงขึ้นในขณะนั้นนั่นเอง เมื่ออาหารสุกแล้ว แสงสว่างก็ดับไป ก็จะรู้ว่าอาหารสุกแล้ว หรือถ้าต้องการจะแกงก็ทำวิธีเดียวกัน
ตามพระบาลีท่านกล่าวต่อไปว่า สมบัติของท่านโชติกเศรษฐีนั้นมีมากถึงประการดังนี้ ได้ปรากฏไปทั่วชมพูทวีปทั้งสิ้น (คือ ความรวยของท่านได้ดังไปทั่ว) บรรดามหาชนทั้งหลาย ต่างพากันมาเพื่อดูทรัพย์สินของท่าน
ท่านมหาเศรษฐี ได้สั่งให้หุงต้มอาหาร ด้วยอาหารจากทะนานที่นำมาจาก อุตตรกุรุทวีป แล้วให้แจกจ่ายแก่บุคคลทั้งหลายที่มาชมบ้านชมเมืองของท่าน แล้วก็บอกว่า ท่านทั้งหลาย จงถือเอาผ้า จงถือเอาเครื่องประดับจากต้นกัลปพฤกษ์ทั้งหลาย จากนั้นท่านมหาเศรษฐีก็เปิดปากขุมทรัพย์ ขุมหนึ่งที่มีขนาดประมาณ ๑ คาวุต แล้วก็บอกว่าท่านทั้งหลายจงถือเอาทรัพย์พอแก่ยังอัตภาพที่สามารถจะนำไปได้ (คือเอาไปเท่าที่สามารถเอาไปได้) เป็นอันว่า บรรดาชนทั้งหลายในชมพูทวีปทั้งสิ้น ถือเอาทรัพย์ไป แต่ปากแห่งขุมทรัพย์ก็มิได้พร่อง หรือลดลงเลย
ในกาลต่อมาเมื่อบุคคลที่มาปราสาทของท่านมหาเศรษฐีน้อยลง พระราชามีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรปราสาทของท่านโชติกเศรษฐี จึงได้ตรัสกับบิดาของท่านมหาเศรษฐีว่า ฉันมีความประสงค์จะชมปราสาทบุตรของท่าน บิดาของท่านจึงได้กราบทูลว่า ดีละ พระพุทธเจ้าข้า แล้วบิดาของท่านก็บอกกับท่านว่า พ่อ พระราชามีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรปราสาทของเธอ ท่านมหาเศรษฐีรับคำจากบิดาว่า ดีละ คุณพ่อ ขอพระองค์จงเสด็จมาเถิด
พระราชาได้เสด็จไปที่ปราสาทของท่านพร้อมกับพระราชกุมารอชาตศัตรู และพร้อมไปด้วยข้าราชบริพารอีกเป็นอันมาก เมื่อไปถึงก็ทรงทอดพระเนตรเห็น ทาสี (ทาสผู้หญิง) ผู้ปัดกวาดหยากเยื่อที่ซุ้มประตูที่หนึ่ง ซึ่งนางนั้นได้ถวายมือแด่พระราชา (ไหว้พระราชา) พระราชาทรงละอาย ด้วยสำคัญว่า หญิงนั้นคือภรรยาของท่านมหาเศรษฐี เพราะนางมีความงามมาก และแม้ที่ซุ้มประตูที่เหลือทั้งหลาย ที่มีทาสีอยู่ พระราชาก็สำคัญว่าเป็นภรรยาของท่านมหาเศรษฐีทั้งหมด
ท่านมหาเศรษฐีได้ออกมาต้อนรับพระราชา พร้อมทั้งถวายบังคมแล้วก็มานั่งอยู่เบื้องหน้าของพระองค์ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอเชิญพระองค์เสด็จไปข้างหน้าเถิดพระพุทธเจ้าข้า - แต่แผ่นดินที่ประดับไปด้วยแก้วมณี ย่อมปรากฏแก่พระราชาเป็นเสมือนกับเหวลึกตั้ง ๑๐๐ ชั่วคน (หมายความว่าแผ่นดินทั้งผืน ที่ใช้สร้างปราสาท ต่างมีแก้วมณีเต็มไปหมด แล้วเพราะแก้วมณีใสมาก มองไปแล้วเหมือนกับเป็นเหวลึก) พระราชาจึงคิดว่า โชติกะนี้ขุดบ่อไว้เพื่อต้องการจะจับเรา พระราชาท่านจึงบอกว่า ท่านไม่อาจที่จะเสด็จไปได้เพราะเกรงว่าจะตกหลุม ท่านมหาเศรษฐีจึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพข้างหน้านี้ไม่ใช่บ่อหรือหลุม พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์เสด็จไปข้างหลังข้าพระพุทธเจ้าเถิดพระเจ้าข้า แล้วท่านมหาเศรษฐีก็นำเสด็จพระราชาไป ซึ่งพระราชาทรงเหยียบพื้นในบริเวณที่ท่านมหาเศรษฐีเหยียบแล้ว เสด็จเที่ยวทอดพระเนตรปราสาททุกชั้น ซึ่งมีความสวยสดงดงามมาก
คราวนั้น พระราชกุมารอชาตศัตรู ทรงจับองคุลีของพระราชบิดา (จับนิ้วมือของพระเจ้าพิมพิสาร) เสด็จเที่ยวไปอยู่ ทรงดำริว่า โอ..หนอ ทูลกระหม่อมของเราเป็นคหบดี ยังอยู่ปราสาทที่ทำด้วยแก้ว ๗ ประการนี้ได้ บิดาของเราเป็นถึงพระราชา ยังประทับอยู่ในพระราชมณเฑียรที่ทำด้วยไม้ เมื่อเราเป็นพระราชาแล้ว จักไม่ให้คหบดีผู้นี้อยู่ในปราสาทหลังนี้ (ความเป็นอันธพาลของพระราชกุมารอชาตศัตรู เริ่มตั้งแต่เป็นเด็ก อิจฉาท่านโชติกเศรษฐี คิดว่า ถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อไร จะยึดปราสาทหลังนี้มาเป็นของตน)
เมื่อพระราชากำลังเสด็จอยู่ที่พื้นปราสาทนั่นเองเป็นเวลาเสวยพระกระยาหารเช้า พระราชาตรัสเรียกท่านมหาเศรษฐีแล้วตรัสว่า พวกเราจักบริโภคอาหารเช้าในที่นี้ ท่านมหาเศรษฐีกราบทูลว่าข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ก็ทราบอยู่ พระกระยาหารสำหรับสมมติเทพ ข้าพระองค์เตรียมไว้แล้วพระพุทธเจ้าข้า
พระราชาทรงสรงสนาน (อาบน้ำ) ด้วยน้ำหอม ๑๖ หม้อ แล้วประทับบนบัลลังก์ อันเป็นที่นั่งของท่านโชติกเศรษฐี ซึ่งทำด้วยแก้วมณีเช่นกัน
ครั้งนั้น บุรุษทั้งหลาย ถวายน้ำสำหรับล้างพระหัตถ์แล้ว ก็คดข้าวปายาสที่เปียก จากภาชนะทองคำที่มีค่าได้แสนหนึ่งวางไว้ตรงหน้าพระพักตร์ พระราชาทรงเริ่มเสวย ด้วยมีความสำคัญว่าเป็นโภชนะ (อาหารสำหรับเสวย) ท่านมหาเศรษฐีกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ นี่ไม่ใช่โภชนะพระพุทธเจ้าข้า อันนี้เป็นข้าวปายาสเปียก ซึ่งข้าวนี้มีไว้สำหรับรองรับโภชนะ (ถ้าเป็นบ้านอื่น ข้าวปายาสก็คืออาหาร แต่ที่นี่พิเศษกว่าที่อื่น) การบริโภคโภชนะ ด้วยไออุ่นที่ฟุ้งขึ้นมากจากภาชนะข้าวปายาสเปียกนั้น ย่อมเป็นเหตุนำมาซึ่งความสบาย พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อพระราชาเสวยโภชนะที่มีรสอร่อย ก็มิได้ทรงรู้จักประมาณ ท่านมหาเศรษฐีจึงกราบทูล ว่าพอเถิดพระพุทธเจ้าข้า เพียงเท่านี้พอแล้ว พระองค์ไม่ทรงสามารถ เพื่อจะบริโภคให้ยิ่งไปกว่านี้ได้ พระราชาจึงตรัสถามว่า คหบดี เธอมีความหนักใจหรือ (กลัวสิ้นเปลืองหรือ) จึงได้ทูลทัดทานเราอย่างนี้
ท่านมหาเศรษฐีจึงกราบทูลว่า ข้อนั้นหามิได้พระพุทธเจ้าข้า เพราะว่าภัตรเพื่อหมู่พลของพระองค์แม้ทั้งหมดก็แบบนี้ แกงก็แบบนี้เช่นกัน มีเพียงพอสำหรับทุกคน แต่ทว่าข้าพระองค์กลัวแต่ความเสื่อมยศ พระราชาทรงถามว่า ที่ฉันกินแบบนี้ มันจะเสื่อมยศอย่างไร ท่านมหาเศรษฐีจึงกราบทุลว่า ด้วยเหตุสักว่า ความอึดอัดแห่งพระวรกายจะพึงมีแก่สมมติเทพ ข้าพระองค์กลัวแต่คำตำหนิว่าวานนี้พระราชาทรงเสวยพระกระยาหารในเรือนของท่านมหาเศรษฐี มหาเศรษฐีคงจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งถวายเป็นแน่ พระราชาจึงทรงพระประชวร
พระราชาจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงนำอาหารกลับไปและจงนำน้ำมา และเวลาที่เสร็จภัตตกิจแห่งพระราชา ข้าราชบริพารทั้งหมดก็ทานของที่พระราชาทรงเสวย (ที่บ้านนี้เขาไม่ได้แยกว่าพ่อบ้านแม่เรือนทานอย่างนี้ คนรับใช้ทานอย่างนี้ เพราะความเป็นมหาเศรษฐีของเขา ทุกคนจึงได้ทานเหมือนกัน)
เมื่อพระราชาทรงประทับนั่งสนทนาปรารภถึงความสุข ตรัสเรียกท่านมหาเศรษฐี แล้วตรัสว่า ภรรยาของท่านในเรือนนี้ไม่มีหรือ (ความจริง พระราชาเห็นทาสี ที่หน้าประตูซุ้มในตอนแรก ก็เข้าใจว่าเป็นภรรยาของท่านมหาเศรษฐีแล้ว แต่พอเข้ามาในปราสาทเห็นว่าคนที่นี่ไม่มีใครที่ไม่ประดับประดาร่างกายด้วยแก้ว ๗ ประการ แม้แต่คนใช้เทกระโถน ก็แต่งตัวดีเช่นกัน จึงได้มีความสงสัย) ท่านมหาเศรษฐีจึงกราบทูลว่ามีพระพุทธเจ้าข้า พระราชาจึงตรัสถามว่า เวลานี้ภรรยาของท่านอยู่ที่ไหน ท่านมหาเศรษฐีจึงกราบทูลว่า นางนั่งอยู่ในห้องอันมีสิริ ยังไม่ทราบเกล้าว่า องค์สมมติเทพเสด็จมาพระพุทธเจ้าข้า
ลำดับนั้นท่านโชติกเศรษฐีรู้ว่า พระราชามีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรภรรยาของตน จึงไปสำนักของภรรยาแล้วบอกว่า พระราชาเสด็จมาแล้ว การที่เธอจะเข้าไปเฝ้าพระราชา เธอเห็นว่า สมควรหรือไม่สมควรประการใด (คือ ท่านเศรษฐีมีประชาธิปไตย ถามภรรยาก่อนว่า ควรจะไปเฝ้าพระราชาไหม) นางจึงกล่าวว่า นาย ชื่อว่าพระราชาเป็นอย่างไร (นางไม่รู้จัก เพราะนางอยู่อย่างมีความสุขมาก ไม่เคยต้องเดือดร้อนเรื่องเสียภาษี อยากได้อะไรก็มีต้นกัลปพฤกษ์ให้) ท่านเศรษฐีจึงบอกว่า คนที่เป็นใหญ่ของพวกเรา ชื่อว่า พระราชา
นางจึงพูดว่า พวกเรามีแม้บุคคลผู้เป็นใหญ่ นับว่าทำบุญกรรมทั้งหลายไว้ไม่ดีหนอ จึงถึงสมบัติอันเกิดแล้วในท้องที่ของชนอื่นผู้เป็นใหญ่ (คือ เราคงทำบุญไว้ไม่ดีพอ จึงยังคงมีผู้ที่ใหญ่กว่าอยู่อีก) แล้วนางก็กล่าวว่า นาย บัดนี้ฉันจักทำอย่างไร ท่านมหาเศรษฐีจึงบอกว่า เธอจงถือเอาพัดก้านตาล ไปพัดถวายพระราชา ให้พระราชามีความสุข เมื่อนางถือพัดก้านตาลมาพัดถวายพระราชาอยู่ ลมกลิ่นแห่งภูษาสำหรับพระราชากระทบนัยน์ตาของนาง ทำให้น้ำตาของนางไหลออกจากตา พระราชาทอดพระเนตรเห็นอาการอย่างนั้น จึงตรัสถามกับท่านมหาเศรษฐีว่า ท่านมหาเศรษฐี ธรรมดามาตุคามมีความรู้น้อย ชะรอย จะร้องไห้ เพราะกลัวว่าพระราชาจะยึดเอาสมบัติของสามี ท่านจงปลอบนางว่า เราไม่มีความต้องการได้สมบัติของนาง
ท่านมหาเศรษฐีจึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ นางไม่ได้ร้องไห้ พระพุทธเจ้าข้า น้ำตาของนางไหลออกเพราะกลิ่นแห่งภูษาสำหรับโพกพระเศียรของพระองค์ และภรรยาของข้าพระองค์ไม่เคยเห็นแสงสว่างของประทีป (แสงสว่างของไฟ) ย่อมนั่งและนอนด้วยแสงสว่างของแก้วมณีเท่านั้น ส่วนสมมติเทพคงจักประทับนั่งด้วยแสงสว่างแห่งประทีป
ตอนนี้พระราชาแปลกใจ พระราชาจึงได้ตรัสว่าถูกแล้ว ท่านมหาเศรษฐี ในพระราชฐานเขาใช้ตะเกียง เขาใช้โคมไฟกัน ที่นี่เขาไม่ได้ใช้หรืออย่างไร ท่านมหาเศรษฐีจึงกราบทูลว่าข้าแต่สมมติเทพ ถ้าเช่นนั้นจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไปขอพระองค์จงประทับนั่ง ด้วยแสงสว่างแห่งแก้วมณี แล้วก็ได้ถวายแก้วมณีอันมีค่ามาก ใหญ่ประมาณเท่ากับผลแตงโม
พระราชาทรงทอดพระเนตรปราสาทและทรัพย์สมบัติต่างๆของท่านมหาเศรษ,ฐีแล้ว ทรงตรัสว่าสมบัติโชติกะนี้มากจริงๆน่ะ แล้วก็ทรงเสด็จกลับพระราชวัง



Create Date : 22 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2554 5:44:53 น. 0 comments
Counter : 443 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

apre
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




มหาวิทยาลัยจนศาสตร์ มีความพร้อมทางการศึกษาที่จะนำทางสู่ความยากจน
Friends' blogs
[Add apre's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.