Group Blog
 
 
ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
23 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 
วัฒนธรรม

Reino de España
เรอิ โน เด เอสปันยา
ราชอาณาจักรสเปน
ธงชาติและตราแผ่นดิน

คำขวัญ: Plus Ultra
(ละติน: "มากกว่าอย่างยิ่ง")

เพลงชาติ: มาร์ชาเรอัล

เมืองหลวง:มาดริด 40°26′N 3°42′W

เมืองใหญ่สุด:มาดริด

ภาษาราชการ:ภาษาสเปน (คาสเตยาโน่)

รัฐบาล:ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ


สมเด็จพระราชาธิบดี:ฆวน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน

นายกรัฐมนตรี:โคเซ ลุยส์ โรดรีเกซ ซาปาเตโร

การสร้างชาติ
• การดองกันของราชวงศ์:พ.ศ. 2035
• รวมเป็นประเทศ
• โดยพฤตินัย:พ.ศ. 2235
• โดยนิตินัย:พ.ศ. 2059
เข้าร่วม EU:1 มกราคม พ.ศ. 2529
เนื้อที่ทั้งหมด:504,782 กม.² (อันดับที่ 50) 194,897 ไมล์²
พื้นน้ำ (%):1.04%
ประชากร ม.ค. 49 ประมาณ:46,061,274 (อันดับที่ 28) 2549:44,708,964
ความหนาแน่น:88.39/กม² (อันดับที่ 106) 220/ไมล์²
GDP (PPP):2548 ค่าประมาณรวม1.133 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 12)
ต่อประชากร26,320 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 25)
HDI (2547)0.938 (อันดับที่ 19) – สูง
สกุลเงินยูโร (€)2 (EUR)

เขตเวลา:CET3 (UTC+1)
ฤดูร้อน (DST):CEST (UTC+2)
รหัสอินเทอร์เน็ต:.es
รหัสโทรศัพท์:+34
Note 1: ภาษาคาตาลัน ภาษาบาสก์ และภาษากาลิเซียเป็นภาษาราชการร่วมในบางแคว้นปกครองตนเอง ส่วนภาษาอารันเป็นภาษาราชการร่วมในบัลดารัน
Note 2: ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2542: เปเซตา
Note 3: ยกเว้นหมู่เกาะคะเนรีซึ่งอยู่ในเขตเวลามาตรฐานกรีนิชและ UTC+1 (ในฤดูร้อน)
สเปน (Spain) หรือชื่อทางการคือ ราชอาณาจักรสเปน (Kingdom of Spain)[1] เป็นประเทศทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ตั้งอยู่บนคาบสมุทรไอบีเรียร่วมกับโปรตุเกสและอันดอร์รา สเปนมีพรมแดนติดกับฝรั่งเศสทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวเทือกเขาพิเรนีส
ชนชาติต่าง ๆ ได้เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนที่เป็นประเทศสเปนตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น เคลต์ ไอบีเรียน โรมัน วิซิกอท และมัวร์ ในยุคกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การปกครองของชาวมุสลิมเป็นเวลาอย่างน้อยห้าร้อยปี พวกมัวร์์ยังคงหลงเหลืออยู่ในคาบสมุทรไอบีเรียจนกระทั่งในปี ค.ศ. 1492 (พ.ศ. 2035) ซึ่งเป็นปีที่ราชอาณาจักรคาสตีลและอารากอนสามารถขับไล่พวกมัวร์ออกไปได้สำเร็จหลังจากเกิดกระบวนการพิชิตดินแดนคืนที่ยาวนานถึง 770 ปี และในปีเดียวกัน คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสยังได้ค้นพบโลกใหม่ นำไปสู่การกำเนิดจักรวรรดิสเปนที่แผ่ขยายไปทั่วโลก สเปนกลายเป็นประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดในยุโรปขณะนั้น แต่สงครามที่มีอย่างต่อเนื่องและปัญหาอื่น ๆ ก็ทำให้ความยิ่งใหญ่ของประเทศลดลงไป ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 สเปนมีการปกครองระบอบเผด็จการ แต่ปัจจุบันปกครองโดยพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและรัฐสภา ที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่มีการผ่านรัฐธรรมนูญของสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521)
ชื่อประเทศ สเปน (Spain หรือ España ในภาษาสเปน) มาจากชื่อเรียกในภาษาละตินว่า ฮิสปาเนีย (Hispania)
ประวัติศาสตร์
ยุคก่อนประวัติศาสตร์และก่อนโรมัน
หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์แรกสุดของมนุษย์วานรโฮมินิดส์ที่อาศัยอยู่ในยุโรปถูกค้นพบที่ถ้ำอาตาปวยร์กา (Atapuerca) ในสเปน ซึ่งกลายเป็นกุญแจสำคัญของการศึกษาบรรพชีวินวิทยาของโลก เนื่องจากได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุประมาณ 1 ล้านปีที่นั่นด้วย

มนุษย์สมัยใหม่พวกโครมันยองได้เริ่มเข้ามาในคาบสมุทรไอบีเรียจากทางเหนือของเทือกเขาพิเรนีสเมื่อ 35,000 ปีมาแล้ว สัญลักษณ์ที่โดดเด่นของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์คือ ภาพวาดที่มีชื่อเสียงในถ้ำอัลตามีรา (Altamira) ทางภาคเหนือ เขียนขึ้นเมื่อ 15,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และได้รับการยกย่องร่วมกับภาพเขียนที่ปรากฏในถ้ำลาสโก (Lascaux) ประเทศฝรั่งเศส ในฐานะตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของจิตรกรรมถ้ำ
วัฒนธรรมเมืองแรกเริ่มสุดที่ถูกอ้างถึงในเอกสารได้แก่ เมืองกึ่งโบราณทางภาคใต้ที่มีชื่อว่า ตาร์เตสโซส (Tartessos) ก่อนปี 1100 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวฟีนิเชียน กรีก และคาร์เทจที่ท่องไปตามท้องทะเลได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งตามชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหลายครั้งและได้ตั้งอาณานิคมการค้าขึ้นที่นั่นอยู่เป็นเวลาหลายศตวรรษ
ประมาณปี 1100 ก่อนคริสต์ศักราช พ่อค้าชาวฟีนิเชียนได้มาตั้งสถานีการค้าที่เมืองกาดีร์ (ปัจจุบันคือเมืองกาดิซ) ใกล้กับตาร์เตสโซส ในศตวรรษที่ 9 ก่อนคริสต์ศักราช นิคมชาวกรีกแห่งแรก ๆ เช่น เอมโพเรียน (เอมปูเรียสในปัจจุบัน) เป็นต้น เกิดขึ้นตามชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันออก ส่วนชายฝั่งทางใต้เป็นนิคมฟีนิเชียน
ในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวคาร์เทจได้มาถึงไอบีเรียขณะที่เกิดการต่อสู้กับชาวกรีก (และชาวโรมันในเวลาต่อมา) เพื่อควบคุมบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตก อาณานิคมคาร์เทจที่สำคัญที่สุดคือ คาร์ทาโกโนวา (Carthago Nova) ซึ่งเป็นชื่อภาษาละตินของเมืองการ์ตาเฮนาในปัจจุบัน ชาวคาร์เทจได้ครอบครองชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเวลาสั้น ๆ ในช่วงสงครามพิวนิก จนกระทั่งถูกชาวโรมันพิชิตและขับไล่ออกไปในที่สุด[2]
ชนพื้นเมืองที่ชาวโรมันพบขณะที่ขยายอำนาจเข้าไปในบริเวณสเปนปัจจุบันนั้น คือพวกไอบีเรียน (Iberians) อาศัยอยู่ตั้งแต่ส่วนตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรตลอดจนถึงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพวกเคลต์ (Celts) ที่ส่วนใหญ่ตั้งหลักแหล่งอยู่ทางเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทร ส่วนทางตอนในซึ่งเป็นที่ที่ชนทั้งสองกลุ่มได้เข้ามาติดต่อกัน ได้เกิดกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมแบบผสมและเป็นลักษณะเฉพาะตัว คือ เคลติเบเรียน (Celtiberian)
การรุกรานของจักรวรรดิโรมันและพวกเยอรมัน



Create Date : 23 ธันวาคม 2550
Last Update : 14 มกราคม 2551 14:35:13 น. 4 comments
Counter : 1070 Pageviews.

 
วัฒนธรรมทั่วไป


คนสเปนมีนิสัยรักพวกพ้องเครือญาติ สนุกสนาน ชอบพูดคุย ชอบทานอาหารและดื่มเหล้านอกบ้าน (ถ้ามีเงินพอ) คนที่ทำงานแล้วและยังไม่มีครอบครัวมักจะอยู่กินดื่มนอกบ้านในคืนวันศุกร์และเสาร์ จนถึงเช้าวันใหม่ ปัจจุบันการอยู่ร่วมกันก่อนแต่งงานถือเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ชายมีลักษณะเจ้าชู้และมักมีความสัมพันธ์นอกสมรส ซึ่งเป็นลักษณะที่ขัดแย้งกับการแสดงตนเป็นผู้เคร่งครัดในศาสนา อย่างไรก็ดี จำนวนชาวแคธอลิกที่ปฏิบัติศาสนกิจเป็นประจำก็ได้ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ


ชาวสเปนจะไม่ค่อยรีบร้อน ทำอะไรตามสบายและไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องเวลา คำว่า ช่วงบ่าย ของคนสเปน ส่วนใหญ่จะหมายถึงตั้งแต่ 16.00 น.เป็นต้นไป และอาจล่วงเลยไปจนถึงตอนค่ำ ช่วงเวลาการทำงานของคนสเปน และเวลาเปิดทำการของร้านค้า คือ 10.00 – 14.00 น. และ 16.00 – 20.00 น. โดยรับประทานอาหารกลางวันตอน 14.00 น. และอาหารค่ำตอน 21.00 น.


อาหารประจำชาติสเปนได้แก่ ข้าวผัดสเปน หรือ Paella ซึ่งมีวิธีปรุงหลากหลาย และทานได้ทั้งในมื้อกลางวันและเย็น โดยถือว่าเป็น pasta อย่างหนึ่ง ส่วนอาหารเช้าที่มีชื่อเสียงคือ Porras (คล้ายปาท่องโก๋) และ Churros (แป้งเส้นกลมใหญ่ทอดเป็นวง) สำหรับอาหารว่างได้แก่ Tapas (อาหารจิ้ม) ซึ่งมีหลายรูปแบบ และทานแกล้มกับเครื่องดื่มในบาร์


การสู้วัวกระทิง


การสู้วัวกระทิงมีมานานแล้วในประวัติศาสตร์สเปน เมื่อประมาณ 600 ปีก่อน ตระกูลชั้นสูงของสเปนจะมีหน้าที่ผสมพันธุ์วัว และนำมาสู้ต่อหน้ากษัตริย์และขุนนาง ชายคนแรกที่ทำให้การสู้วัวเป็นอาชีพขึ้นมาคือ Francisco Romero เมื่อกลางศตวรรษที่ 18 แต่ผู้ที่ถือว่าเป็นบิดาแห่งการสู้วัวสมัยใหม่คือ Pedro Romero หลานชาย ในทศวรรษ 1830 ซึ่งได้ก่อตั้งโรงเรียนสู้วัวกระทิงขึ้นอย่างเป็นระบบ


การสู้วัวกระทิงอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 19 มีนาคม – 12 ตุลาคม ของทุกปี โดยถือว่าเป็นศิลปะที่นำเอา สีสัน อันตราย ประเพณี ความงาม ความกล้า เลือด และความตื่นเต้นเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีเสียงคัดค้านและขอให้ยกเลิกกีฬานี้จากผู้ที่เมตตาสัตว์มากขึ้น


ระบำฟลามิงโก


ฟลามิงโกมีกำเนิดจากนิทานพื้นบ้านของสเปนใต้ แล้วพัฒนาเป็นศิลปะที่มีรูปแบบซับซ้อน ทั้งเพลง ดนตรี และการเต้นรำ โดยเมื่อแรกอยู่ในหมู่คนยากไร้ในสังคม ความเป็นมาของระบำฟลามิงโกกล่าวกันหลายแบบ บ้างว่ามาจากชาวตาร์เตสซาน ที่อพยพมาจากแอฟริกา เมื่อ 400-600 ปีก่อนคริสตกาล บ้างก็ว่าพัฒนามาจากระบำยิปซี โดยผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นของสเปนเองโดยเฉพาะในแถบอันดาลูเซีย แต่ประการหลังน่าจะมีความน่าเชื่อถือกว่า ในทศวรรษ 1760 ฟลามิงโก เริ่มเป็นที่รู้จักในแถบกาดิซ เฆเรซ และเซบิญา และในต้นศตวรรษที่ 19 ระบำฟลามิงโกก็เข้าสู่โรงละครและผ่านไปสู่สถาบันการเต้นรำ ปัจจุบัน สามารถชมการแสดงระบำฟลามิงโกได้ตามภัตตาคารที่มีการแสดงนี้


การเผยแพร่วัฒนธรรมของสเปน


เนื่องจากสเปนเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งทางศิลปวัฒนธรรม และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก รวมทั้งการที่สเปนเคยเป็นเจ้าอาณานิคม ดังนั้น สเปนจึงมีความสนใจที่จะทำการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับประเทศที่เคยเป็นอาณานิคม หรือประเทศที่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาหลัก เช่น ประเทศในลาตินอเมริกา และฟิลิปปินส์ เป็นต้น นอกจากนี้ คนสเปนยังเป็นผู้ที่ยึดมั่นและภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของประเทศตนในอดีตมาก ดังนั้น การติดต่อราชการ ธุรกิจการค้า และการศึกษาในระดับต่าง ๆ ในสเปน จึงยังคงต้องใช้ภาษาสเปนเป็นหลัก แม้ว่าจะมีการเพิ่มหลักสูตรสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนต่าง ๆ กันบ้างแล้วก็ตาม การศึกษา


รัฐบาลสเปนรับภาระด้านการศึกษาสำหรับโรงเรียนของรัฐจนถึงมัธยมปลาย 1ใน 3 ของนักเรียนมักเรียนในโรงเรียนของวัดแคธอลิก ซึ่งรัฐให้เงินอุดหนุนบ้าง การเรียนในมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสอบเข้า ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะจัดสอบเอง มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีได้แก่ มหาวิทยาลัย Complutense มหาวิทยาลัย Autonoma และมหาวิทยาลัย Carlos III ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ในกรุงมาดริด


การท่องเที่ยว


สเปนให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของตนมาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้หลักให้กับประเทศ ถึงปีละ 12% ของ GNP และสร้างงานได้ถึงร้อยละ 11 ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนสเปนปีละกว่า 52 ล้านคน อย่างไรก็ดี คาดว่าตลาดการท่องเที่ยวของสเปนกำลังจะถึงจุดอิ่มตัว และจะต้องแข่งขันกับตลาดท่องเที่ยวแห่งใหม่ ๆ ที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าที่กำลังเกิดขึ้น ได้แก่ ตุรกี และยุโรปตะวันออก นอกจากนั้น สเปนยังประสบกับปัญหาเกี่ยวกับการก่อการร้ายอีกด้วย


สิทธิมนุษยชน


สเปนพยายามแสดงออกถึงการให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน เพื่อแสดงออกถึงภาพพจน์ที่ดีของตน โดยพยายามกล่าวย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า ความสัมพันธ์กับประเทศใด ๆ ก็ตาม จะต้องนำประเด็นในเรื่องของปัญหาสิทธิมนุษยชนมาประกอบการพิจารณาด้วย นอกจากนี้ สเปนยังมีนโยบายที่จะไม่ทำการติดต่อทางการค้ากับประเทศที่มีการใช้แรงงานอย่างทารุณและริดรอนสิทธิเสรีภาพของชนกลุ่มน้อย และย้ำว่า สเปนพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับทุกองค์การทั้งในสหภาพยุโรป และในองค์การสหประชาชาติ ในการปฏิบัติการเพื่อพิทักษ์สิทธิมนุษยชน มีชาวสเปนจำนวนไม่น้อยที่เป็นสมาชิกองค์การเพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งมักจะช่วยกันส่งจดหมายแสดงความห่วงใยในกรณีด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ในประเทศไทยมาที่สถานเอกอัครราชทูต ฯ บ่อย ๆ


การต่อต้านการค้ายาเสพติด


สเปนให้ความสำคัญกับปัญหายาเสพติด โดยเห็นว่าเป็นปัญหาที่ทุกประเทศควรรับผิดชอบร่วมกัน โดยสเปนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ในการปราบปรามยาเสพติด ทั้งความร่วมมือทางการศาลและควบคุมการฟอกเงินจากการค้ายาเสพติดให้มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สเปนตระหนักดีว่า ยาเสพติดจำนวนมากที่ถูกนำมาขายในยุโรปตะวันตกมาจากประเทศในแถบลาตินอเมริกาและแอฟริกาเหนือ โดยเฉพาะโคลัมเบียและโมรอกโก โดยถูกส่งผ่านทางสเปน และเป็นที่รู้กันว่า นอกจากเจ้าพ่อยาเสพติดในสเปนแล้ว ในประเทศอื่น ๆ เช่น อิตาลีและรัสเซียก็มีการลักลอบค้ายาเสพติดด้วยเช่นกัน ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหายาเสพติดนี้ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน





โดย: สถานฑูตไทยประจำสเปน IP: 203.156.22.93 วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:18:27:29 น.  

 
สภาวะเศรษฐกิจมหภาคของสเปน (ดัชนี ปี พ.ศ.2547)


เศรษฐกิจ


ข้อมูลทั่วไป


สเปนได้พัฒนาจากการเป็นประเทศเกษตรกรรมมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมในปัจจุบันและมีสภาวะการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ทัดเทียมกับประเทศแนวหน้าของยุโรป เห็นได้จากการที่สเปนจัดอยู่ในกลุ่มประเทสสมาชิกกลุ่มแรกที่สามารถเข้าเป็นสมาชิก สหภาพการเงินยุโรปและร่วมใช้เงินสกุลยูโรได้ในปี 2542


สเปนจัดอยู่ในประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับที่ 22 ของโลก โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2547 ร้อยละ 2.6


สเปนภายใต้การบริหารรัฐบาลของนาย José Luis Rodríguez Zapatero ยังคงมีนโยบายทางด้านเศรษฐกิจไปในแนวทางเดียวกับรัฐบาลก่อน คือ สนับสนุนระบบการค้าเสรี (liberalisation) และเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเดิมและกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปใหม่ให้มากยิ่งขึ้น ส่วนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปอเมริกาใต้ก็ยังจะคงความสำคัญเหมือนเดิม แต่กับประเทศในทวีปเอเชียยังไม่แน่ชัดนักว่าสเปนจะเพิ่มบทบาทความสัมพันธ์มากน้อยเพียงใด


นโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลนาย José Luis Rodríguez Zapatero


- ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจของสเปนให้ทันสมัยและคงไว้ซึ่งระบบการแข่งขัน เสรีทางเศรษฐกิจ (liberalisation)


- รักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพของงบประมาณ (budget balance)


- มุ่งเน้นการส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยและการพัฒนา (Research & Development) เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาคการผลิต


- จะเสนอแนวทางการปฏิรูปทางการเงิน (fiscal reform) ในช่วงปีที่สองของการ ดำรงตำแหน่ง


- สร้างการจ้างงานที่มีคุณภาพเพื่อเพิ่มทักษะแรงงาน (labor skills)


- เน้นการมีส่วนร่วมของเขตปกครองตนเอง (ภาคประชาสังคม) ในการจัดทำแผนการดำเนินงานทางเศรษฐกิจ


โครงสร้างทางเศรษฐกิจ (สัดส่วนร้อยละของ GDP)


ภาคบริการ ร้อยละ 65


ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 15


ภาคการก่อสร้าง ร้อยละ 8


ภาคการเกษตร ร้อยละ 4


ภาคอื่น ๆ ร้อยละ 8


สภาวะเศรษฐกิจสเปนปี 2547


จำนวนประชากร 43 ล้านคน


ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 970 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


รายได้ประชากร (หัว:ปี) 22,000 ดอลลาร์สหรัฐ


อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 2.7


อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3.0


อัตราการว่างงาน ร้อยละ 11.0


มูลค่าการส่งออก 138 พันล้านยูโร (ม.ค.-พ.ย. 2547)


มูลค่าการนำเข้า 195 พันล้านยูโร (ม.ค.-พ.ย. 2547)


สินค้าส่งออกสำคัญ ยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน พลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลไม้สด เชื้อเพลิง ผักสดและอบแห้ง เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เหล็ก


สินค้านำเข้าสำคัญ ยานยนต์ เครื่องจักรและส่วนประกอบ เชื้อเพลิง เหล็ก พลาสติกและผลิตภัณฑ์ พลาสติก เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องมือจักษุ แพทย์ ผลิตภัณฑ์ประมง


ประเทศคู่ค้าสำคัญ สหภาพยุโรป กลุ่มประเทศละตินอเมริกา สหรัฐอเมริกา


มูลค่าการค้าและตัวสินค้าสำคัญระหว่างไทยและสเปน


- สเปนเป็นคู่ค้าของไทยลำดับที่ 25


- ในปี 2547 ไทยส่งสินค้าออกมาสเปนเป็นมูลค่า 880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยนำเข้าสินค้าจากสเปนเป็นมูลค่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


- สินค้าออกของไทยที่สำคัญ : เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ชิ้นส่วนและ อะไหล่รถยนต์ ยางพารา เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องเล่นวีดีโอ เครื่องเสียงและอุปกรณ์ มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องแปรรูป ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ


- สินค้าเข้าจากสเปนที่สำคัญ : เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรอุตสาหกรรม เหล็ก อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยานพาหนะ โลหะภัณฑ์ สุขภัณฑ์และเครื่องทำความสะอาด สินค้าพลาสติก เครื่องแก้ว


โดย: สถานฑูตไทยประจำสเปน IP: 203.156.22.93 วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:18:28:57 น.  

 
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรปบนคาบสมุทรไอบีเรีย อาณาเขต ทิศเหนือ จรด ทะเลกันตาบริโก ราชรัฐอันดอร์รา และประเทศฝรั่งเศส ทิศตะวันออก จรด ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศใต้ จรด ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ช่องแคบยิบรอลต้า และมหาสมุทรแอตแลนติก ทิศตะวันตก จรด ประเทศโปรตุเกส และมหาสมุทรแอตแลนติก

เนื้อที่ 504,880 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับสามในยุโรป รองจากรัสเซียและฝรั่งเศส เนื้อที่ของประเทศสเปนแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่
ส่วนที่เป็นคาบสมุทร คือ
- คาบสมุทรไอบีเรีย และ
- ดินแดนทางเหนือของโมร็อกโก ได้แก่ เซวตา (Ceuta) และเมลิยา (Melilla)
ส่วนที่เป็นหมู่เกาะ คือ
- หมู่เกาะบาเลอาริค (Balearic Islands)
- หมู่เกาะคะเนรี (Canary Islands)
นอกจากนี้ ยังมีดินแดนอื่นที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของรัฐบาลสเปน
- Islas Chafarinas
- Penon de Alhucemas
- Penon de Velez de la Gomera

ภูมิอากาศ ประเทศสเปนตั้งอยู่ในเขตอบอุ่น แต่เนื่องจากลักษณะของภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูงๆ ต่ำๆ อากาศของภูมิภาคต่างๆ จึงมีลักษณะแตกต่างกันไปตามสภาพของภูมิประเทศ เช่น ภาคเหนือ มีสภาพอากาศของริมฝั่งทะเล ซึ่งโดยปกติในฤดูหนาวไม่หนาวจัด และเย็นสบายในฤดูร้อน แต่เป็นภาคที่ฝนตกฉุกและมีความชื้นสูง ส่วน ภาคกลาง และ ภาคใต้ สภาพอากาศแห้ง ฝนตกน้อย ในฤดูร้อนอากาศร้อนจัด แต่ในฤดูหนาวไม่หนาวจัด

เมืองหลวง กรุงมาดริด

เมืองสำคัญ
* บาร์เซโลนา (Barcelona)
* บาเลนเซีย (Valencia)
* เซวิญ่า (Sevilla)
* ซาราโกซา (Zaragoza)
* มาลากา (Malaga)
* บิลเบา (Bilbao)

ประชากร 45.2 ล้านคน (ปี 2550)
ประกอบด้วยเชื้อชาติต่างๆ ได้แก่ * Spanish (ร้อยละ 74)
* Catalan (ร้อยละ 15.9)
* Galician (ร้อยละ 6.3)
* Basque (ร้อยละ 4.8)

สเปนมีอัตราการขยายตัวของประชากร ร้อยละ 0.1 (ปี 2550)
ศาสนา ชาวสเปนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันแคธอลิก (ร้อยละ 94)

ภาษา ภาษาราชการ คือ ภาษาสเปน (Castellano)
ภาษาท้องถิ่น ได้แก่ ภาษากาตาลัน (Catal?n) พูดในแค้วนกาตาลุนยา
ภาษากาเยโก (Gallego) พูดในแค้วนกาลิเซีย
ภาษาบาเลนเซียโน (Valenciano) พูดในแคว้นบาเลนเซีย
ภาษาบาสโก (Vasco) พูดในแคว้นบาสก์

วันชาติ 12 ตุลาคม

สกุลเงิน ยูโร (EURO)
การเมืองการปกครอง
รูปแบบการปกครอง
ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional monarchy)

ประมุข
สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์ลอส ที่ 1 (Juan Carlos I) ทรงขึ้นครองราชย์วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ทรงอภิเษกสมรสกับ สมเด็จพระราชินีโซเฟีย (Queen Sofia)

นายกรัฐมนตรี
นาย โฆเซ่ หลุยส์ โรดริเกซ ซาปาเตโร (Mr. Jose Luis Rodriguez Zapatero) เข้ารับตำแหน่งเมื่อ วันที่ 16 เมษายน 2547 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของสเปน นับเป็นนายกรัฐมนตรี สเปนที่อายุน้อยที่สุด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นาย มิเกล อังเคล โมราติโนส กูเยาเบ (Miguel Angel Moratinos Cuyaube) เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2547
การเมือง
เขตการปกครองประเทศสเปนแบ่งเขตการปกครองเป็นแคว้นอิสระ 17 แคว้น(autonomous communities) และ 2 จังหวัดอยู่ทางตอนเหนือของโมร็อกโก (autonomous provinces) โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปิดโอกาสให้แคว้นต่างๆ มีสิทธิในการปกครองตนเองได้ในระดับที่ต่างกันตามภูมิหลังการปกครองตนเองของแต่ละแคว้น โดยที่แต่ละแคว้นมีสภาของตนเอง มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาทุก ๆ 4 ปี และได้รับสิทธิและอำนาจบริหารท้องถิ่นของตนเอง ทั้งนี้ ภายใต้รัฐบาลสเปน

แคว้นอิสระทั้ง 17 แคว้น ประกอบด้วย
* Andalucia * Aragon * Asturias * Balearic Islands
* Canary Islands * Cantabria * Castilla La Mancha
* Castilla y Leon * Cataluna * Comunidad Valenciana
* Extremadura * Galicia * Madrid
* Murcia * Navarra * Pais Vasco
* Rioja
จังหวัดอิสระ autonomous provinces
* Ceuta * Melilla

สถาบันทางการเมือง
ประเทศสเปนมีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521หลังจากที่ถูกปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการโดยจอมพลฟรังโก(General Francisco Franco) มา 36 ปี (พ.ศ. 2482- 2518) ในปี พ.ศ. 2521 เมื่อสเปนเปลี่ยนมาปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2521 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ประมุขแห่งรัฐ
ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2521) ของสเปน พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐและทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสเปน

-ทรงมีพระราชอำนาจที่จะอนุมัติและประกาศใช้พระราชบัญญัติต่างๆ
- เรียกประชุม ยุบรัฐสภา และประกาศ ให้มีการเลือกตั้ง
- ทรงเสนอนามผู้ที่ทรงเห็นว่าสมควรจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ทรงแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรีภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
-ทั้งนี้ พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับราชการจะต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องผู้หนึ่ง ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และผู้รับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในพระราชกรณียกิจนั้นๆ

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีบทบัญญัติว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ไว้ว่าให้เป็นไปตามลำดับแห่งความเป็นทายาทองค์แรกของพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงสืบเชื้อสายพระราชวงศ์ที่ใกล้ชิดที่สุด และในเชื้อสายพระราชวงศ์เดียวกันพระโอรสมีลำดับมาก่อนพระธิดา หากทรงเป็นเพศเดียวกันให้พระโอรสผู้มีพระชันษามากกว่ามีลำดับมาก่อน รัชทายาทองค์ปัจจุบันของสเปน คือ เจ้าชายฟิลิเป (Felipe de Borbon, Principe de Asturias)


รัฐสภา
รัฐสภาสเปน คือ สภากอร์เตส (Las Cortes) ทำหน้าที่เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐ
-ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับงบประมาณ
-ควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล ใช้อำนาจอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
รัฐสภาสเปนประกอบด้วย
สภาผู้แทนราษฎร (Congreso de los Diputados or Congress of Deputies) ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 300 คน และอย่างมาก 400 คน ขึ้นอยู่กับการแบ่งเขตเลือกตั้งและจำนวนพลเมือง ปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกทั้งหมด 350 คน และ อยู่ในตำแหน่งวาระละ 4 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 พรรคสังคมนิยมแรงงานได้รับชัยชนะเป็นพรรครัฐบาล (164ที่นั่ง)
วุฒิสภา (Senado or Senate) รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีจำนวนสมาชิกเท่าใด แต่กำหนดให้เลือกตั้งทำนองเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปัจจุบันวุฒิสภามีสมาชิก 259 คน โดยสมาชิก 208 คนจะได้รับการเลือกตั้งโดยตรง และ 51 คน จะได้รับแต่งตั้งจากแคว้นต่างๆ 19 แคว้นสมาชิกวุฒิสภาดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี
หลักเกณฑ์การเลือกตั้งกำหนดไว้ว่า ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ สำหรับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ในกรณีที่เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล (ไม่รวมถึงนายกรัฐมนตรี) ข้าราชการพลเรือนและทหารจะต้องลาออกจากตำแหน่งก่อนจึงจะมีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกตั้งได้

รัฐบาล
ตามรัฐธรรมนูญของสเปน รัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจและหน้าที่ฝ่ายบริหารภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นผู้กำหนดและดำเนินนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งการป้องกันประเทศ รัฐบาลประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี (President of the Government)
รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้โดยกฎหมายในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์จะทรงปรึกษาหารือกับผู้แทนของพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีสมาชิกอยู่ในรัฐสภา แล้วเสนอชื่อผู้ที่เห็นสมควรได้รับการเลือกตั้งไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอรับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงข้างมากโดยเด็ดขาด (absolute majority) พระมหากษัตริย์จะได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้เสนอรายชื่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องขอรับความไว้วางใจจากรัฐบาลอีก รัฐบาลมีวาระ 4 ปี หรือจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป

สถาบันตุลาการ
รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติไว้ว่า ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ตุลาการเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่บริหารราชการตุลาการอย่างเป็นอิสระในนามของพระมหากษัตริย์ ผู้ใดจะถอดถอน ไล่ออก สั่งพักราชการและโยกย้ายมิได้ทั้งสิ้น เว้นแต่การกระทำที่กล่าวข้างต้นจะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ

พรรคการเมือง สเปนมีพรรคการเมืองที่สำคัญ ดังนี้
1.พรรค Partido Socialista Obrero Espanol - PSOE (Spanish Socialist Workers Party) พรรคสังคมนิยมแรงงาน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 และเป็นพรรครัฐบาลมีนาย Jose Luis Rodriguez Zapatero ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสเปน เป็นเลขาธิการพรรค (General Secretary) มีอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งไม่ซ้ายจัดนัก หรือ ที่เรียกว่า middle left center ทั้งนี้ PSOEเป็นพรรคที่เคยมีบทบาทสำคัญและเป็นรัฐบาลของสเปนติดต่อกัน ยาวนานถึง 14 ปี (2525-2539) ก่อนหน้าที่ พรรค PP จะเข้าดำรงตำแหน่งในรัฐบาล 2 สมัยก่อนหน้านี้
2.พรรค Partido Popular - PP (Popular Party) พรรคฝ่ายขวา แบบcenter-right เป็นพรรครัฐบาลในสมัยที่ผ่านมา (พฤษภาคม 2539 - มีนาคม 2547) หัวหน้าพรรค คือ นาย Mariano Rajoy Brey ในการเลือกตั้งปี 2547 ได้รับการเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ 2 ปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายค้าน นโยบายหลักของพรรคโดยทั่วไป คือ สนับสนุนการค้าเสรี ร่วมมืออย่างใกล้ชิดทางการเมืองและเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป
3. พรรค Izquierda Unida - IU (United Left) แต่เดิมคือพรรค Communist มีนาย Gaspar Llamazares Trigo เป็นเลขาธิการพรรค (General Secretary)
4. พรรค Convergencia i Unio - CiU (Convergence and Union) มีนาย Artur Mas เป็นหัวหน้าพรรค
5. Partido Nacionalista Vasco - PNV (Basque Nationalist Party) หรือรู้จักกันในอีกชื่อคือ Eusko Alderdi Jeltzalea เป็นพรรคการเมืองของแคว้น Basque มีนาย Xavier Arzallus เป็นหัวหน้าพรรค
6. พรรค Coalicion Canaria - CC (Coalition of Canary Islands) พรรคการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของหมู่เกาะ Canary มีนาย Paulino Rivero Baute เป็นหัวหน้าพรรค


เศรษฐกิจการค้า
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 1,310.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2550)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 27,914 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2550)
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 2.7 (ปี 2550)
อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2.9 (ปี 2550)
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 8.6 (ปี 2550)
Global Competitiveness Index (2006-2007) by World Economic Forum ลำดับที่ 28 คะแนน 4.77
สินค้าส่งออกสำคัญ เครื่องจักร ยานพาหนะและส่วนประกอบ ผักและ ผลไม้สด/แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์การสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและเหล็กกล้า

เงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป
ระหว่างปี ค.ศ. 2007-2013 สเปนยังเป็นผู้รับเงินสุทธิจากสหภาพยุโรป (Net recipient) ด้วยเงิน 16,181 ล้านยูโร ซึ่งแบ่งเป็นงบต่างๆดังนี้
1. เงินช่วยเหลือ cohesion fund จำนวน 3250 ล้านยูโรทั้งนี้ส่วนใหญ่ของเงินช่วยเหลือดังกล่าวที่สเปนได้รับ ทางรัฐบาลมีแผนที่จพัฒนาช่วยเหลือแคว้นที่ยังไม่มีการพัฒนามากนัก กล่าวคือ extramadura, Andalucia, Galicia Castilla-La Mancha

2. เงินช่วยเหลือจาก Structural Funds โดยเงินจำนวน 27,300ล้านยูโร เป็นงบประมาณให้กับแคว้นต่างๆ และงบประมาณอีก 44,129 ล้านยูโร ให้ทางการเกษตร การประมง และการรักษาพื้นที่ในชนบท
3. เงินช่วยเหลือพัฒนาการค้นคว้าและวิจัย R&D เป็นจำนวน 2,000 ล้านยูโร
4. และ เงินสำหรับโครงการวิจัยและพัฒนาภายใต้ Technological Fund เป็นเงินจำนวน 2000 ล้านยูโร

ทั้งนี้ จากสูตรงบประมาณของสหภาพยุโรป (Modulation) สเปนจะได้รับเงินมากกว่าให้เงินกับงบประมาณเหล่านี้ เป็นจำนวนลดลงในแต่ละปี ตั้งแต่ ปี 2007 (4524 ล้านยูโร) ปี 2008 (3710 ล้านยูโร) ปี 2009 (2209 ล้านยูโร)ปี 2010 (1835 ล้านยูโร) ปี 2011 (1544 ล้านยูโร) ปี 2012 (1326 ล้านยูโร)ปี 2013 (993 ล้านยูโร)

ซึ่งสเปนได้รับเงินช่วยเหลือลดลงจากช่วงงบประมาณระยะยาวก่อนหน้านี้ (ค.ศ. 2000-2006) ประมาณร้อยละ 40

นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล
รัฐบาลชุดปัจจุบันเน้นการให้ความสำคัญกับ
I. การคิดค้น การวิจัยและการพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามรถทางการแข่งขัน (Competitiveness) และศักยภาพการผลิตให้สามารถแข่งขันกับประเทศเทศสมาชิกสหภาพยุโรปด้วยกันเอง และคู่แข่งสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน โดยจะเน้นการให้นโยบายเพื่อเพิ่มสเถียรภาพทางการเศรษฐกิจให้กับสเปน และแก้ปัญหาต่างๆ อาทิ ปัญหาการเพิ่มของราคาอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากธุรกิจที่ดินและการก่อสร้างมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
II. การรักษาสภาวะดุลงบประมาณ โดยในปี ค.ส. 2004 สภาวะการขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ร้อยละ 1 ของ GDP ซึ่งอยู่นระดับที่น่าพอใจ และอยู่ในเกณฑ์ของ Pact of Stability and Growth 1ของสหภาพยุโรป โดยรัฐบาลให้ความจริงจังกับการรักษาสเถียรภาพของดุลงบประมาณและประกาศร่างกฎหมายเพื่อควบคุมดุลงบประมาณของประเทศ (Ley de Estabilidad presupuestaria)
III. นโยบายลดการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบและส่งเสริมการพัฒนาการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างนิ่งพลังงานนิวเคลียร์และพลังงานแสงอาทิตย์
IV. การลดอัตราว่างงานและส่งเสริมการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงระหว่างกลุ่มสหภาพผู้ประกอบการและสหภาพแรงงาน ในปี พ.ศ. 2548 จำนวนแรงงานของสเปน คือ 18,894,900 คน แบ่งเป็น ชาย 11,317,800 คน หญิง 7,577,100 คนและในปี พ.ศ. 2549 มีการคาดการการเพิ่มตำแหน่งงานประมาณ 469,000 ตำแหน่ง

แผนงบประมาณในปี พ.ศ. 2549 โดยมุ่งเน้นการเพิ่มเงินงบประมาณสำหรับ 5 สาขาคือ
1. ควาร่วมมือกับสหภาพยุโรป เกี่ยวกับการค้นคว้าการวิจัย
2. การพัฒนาระบบโครงสร้างสาธารณูปโภค
3. การช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อการพัฒนา
4. การมีส่วนร่วมในทางการเมืองจากภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนา
5. การพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ


สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักรและส่วนประกอบ เชื้อเพลิงน้ำมัน เคมีภัณฑ์ ยานพาหนะ รถยนต์และส่วนประกอบ

ประเทศคู่ค้าในการส่งออกที่สำคัญ สหภาพยุโรป (ฝรั่งเศส โปรตุเกส เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักร) ลาตินอเมริกา สหรัฐอเมริกา

ประเทศคู่ค้าในการนำเข้าที่สำคัญ สหภาพยุโรป (ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เบเนลักซ์ สหราชอาณาจักร) กลุ่ม OPEC สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ลาตินอเมริกา

การท่องเที่ยวของสเปน สเปนมีความโดดเด่นมากเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายได้จากการท่องเที่ยวต่อปีสูงเป็นอันดับสองของโลก (ในปี พ.ศ. 2548 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาสเปนจำนวน 53.8 ล้านคน และรายได้ประมาณ 46.1 พันล้านยูโร) รองจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งประเทศไทยอาจพิจารณาศึกษาเรียนรู้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของสเปน เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยต่อไป


ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชอาณาจักรสเปน
ความสัมพันธ์ทางการทูตและการเมือง
สเปนเริ่มติดต่อกับไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ไทยและสเปนได้มี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2413 (ค.ศ. 1870) ซึ่งทั้งสองประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรี การพาณิชย์ และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) และนับตั้งแต่ปี 2426 (ค.ศ.1883) ไทยได้แต่งตั้งอัครราชทูตประจำประเทศยุโรปให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำกรุงมาดริดด้วยอีกตำแหน่ง โดยแต่งตั้งให้
หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย อัครราชทูตประจำกรุงลอนดอนดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำกรุงมาดริดเป็นคนแรก และทั้งสองฝ่ายได้ยกฐานะสถานอัครราชทูตขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูตฯ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2504 (ค.ศ. 1961) ไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตขึ้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงมาดริด เมื่อปี 2506 (ค.ศ. 1963) และแต่งตั้งนายมนู อมาตยกุล ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริดคนแรก
เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสเปน นางอัจฉรา เสริบุตร
เอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย H.E. Juan Manuel Lopez Nadal
กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำนครบาร์เซโลน Mr. Jaime Sabate Herce
กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำ Santa Cruz de Tenerife Mr. Wolfgang Kiessling(หมู่เกาะคะเนรี)

หมายเหตุ : * สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาดริด มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศตูนิเซีย
* สถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศ
พม่า ลาว และกัมพูชา

สำนักงานอื่นๆ ที่ดูแลกิจการด้านต่างๆ ของไทยในประเทศสเปน ประกอบด้วย
1) สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและทหารเรือ ณ กรุงมาดริด
2) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด
3) สำนักงานการบินไทย ณ กรุงมาดริด
4) สำหรับด้านการท่องเที่ยว สำนักงานการท่องเที่ยวไทย ณ กรุงโรม ดูแลงานส่งเสริมการท่องเที่ยวในสเปน
5) สำหรับด้านการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ณ กรุงปารีส ดูแลงานส่งเสริมการลงทุนในสเปน


ทั้งนี้เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2548 รัฐบาลปัจจุบันของสเปนได้เสนอแผนปฏิบัติการเอเชีย-แปซิฟิก (Plan of Action and Pacific 2005-2008) ซึ่งกล่าวถึงการที่สเปนตระหนักถึงความสำคัญและศักยภาพทางเศรษฐกิจและขนาดของตลาดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยแผนปฏิบัติการนี้ระบุถึงการเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่จังหวัดภูเก็ต การเปิดตัวหนังสือ Don Quixote ฉบับแปลเป็นภาษาไทยแล้ว (ซึ่งได้เปิดตัวไปเมื่อเดือน ก.พ. 2549) และแผนการส่งเสริมการต้าและการลงทุนทางตรงของสเปนในประเทศไทย ที่กำหนดวงเงินเพื่อการดังกล่าวไว้ 1.5 ล้านยูโร ในช่วงปี พ.ศ. 2548-พ.ศ. 2550

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
โดยทั่วไปการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสเปนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศในปัจจุบันยังมีไม่มากนัก เนื่องมาจากผลกระทบจากภาวะทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงก่อนหน้านี้ แต่แนวโน้มการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของทั้งสองประเทศจะเป็นแรงจูงใจให้นักธุรกิจของทั้งสองประเทศหันมาค้าขายและลงทุนระหว่างกันมากขึ้น

ตารางความสัมพันธ์ด้านการค้า ดังเอกสารแนบ

การค้ารวม
สเปนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 25 ของไทย และเป็นลำดับที่ 7 ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ในปี 2549 การค้ารวมระหว่างไทยกับสเปน มีมูลค่า 1,429 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 89.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนำเข้า 348.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐและส่งออก 1,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ยางพารา เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องวีดีโอ เครื่องเสียงอุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ส่วนสินค้าออกที่มีศักยภาพ ได้แก่ ยางพารา ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ข้าว เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และเลนส์ เป็นต้น

ปัญหาและอุปสรรคด้านการค้า
1) สเปนเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ทำให้ปัญหาการค้าทวิภาคีไทย-สหภาพ ยุโรป กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการค้าระหว่างไทยและสเปนด้วย
2) สเปนตรวจพบสารแคดเมี่ยมในปลาหมึกในน้ำมันและปลาหมึกแช่แข็ง เชื้อ salmonella ในปลาหมึกแช่แข็ง เชื้อแบคทีเรียในปลา Hake เชื้อ vibrio Chelerae ในกุ้งกุลาดำ สาร 3MCPD ในซอสปรุงรส เชื้อ Aerbio Mesofilos ในปลาหมึกแช่แข็ง และเพลี้ยไฟในดอกกล้วยไม้ นำเข้าจากไทย จึงได้ใช้มาตรการกักกันสินค้าที่มีปัญหาเพื่อนำตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์ก่อน (automatic detention) หากตรวจไม่พบเชื้อโรคจะอนุญาตให้นำเข้าได้ การยกเลิกมาตรการดังกล่าวอยู่ในดุลพินิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ

ความสัมพันธ์ด้านการลงทุน
การลงทุน
ในช่วงปี 2538-ปี 2549 มีเงินลงทุนโดยตรงจากสเปน ดังนี้ ในปี 2549 มีโครงการลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อยู่ 2 โครงการ มีมูลค่ารวมประมาณ 330 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการลงทุนจากสเปนที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสาขาผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร (ร้อยละ 35.7) สาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 21.4) สาขาบริการ (ร้อยละ 21.4) และสาขาเคมีภัณฑ์ กระดาษและพลาสติก (ร้อยละ 14.3) ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกับสภาหอการค้าสเปน (High Council of Chambers of Commerce in Spain) เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2547 ก็เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่าย
กิจการขปนซึ่งมีศักยภาพที่จะมาลงทุนในไทย ได้แก่ สาขาผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร ยานยนต์ เทคโนโลยีชีวภาพ เคมีภัณฑ์ อีเล็กทรอนิกส์ ภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และพลังงานสะอาด
ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวชาวสเปนที่เดินทางมาเยือนไทยในช่วงห้าปีที่ผ่านมา (ปี 2545 - 2549) มีจำนวนเพิ่มขึ้นในปี 2545 มีจำนวน 48,491 คน ในปี 2546 มีจำนวน 31,850 คน ในปี 2547 มีจำนวน 51,910 คน ในปี 2548 มีจำนวน 51,135 คน ในปี 2549 มีจำนวน 51,889 คน และระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2550 มีจำนวน 71,388 คน

ความร่วมมือและความตกลงต่างๆ
ความร่วมมือและความตกลงที่ลงนามแล้ว
1.ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ (Air Services Agreement)ลงนามเมื่อ 6 กันยายน ค.ศ.1979
2.ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (Agreement on Economic and Industrial Cooperation) ลงนามเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1986
3.ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (Agreement en Cooperation on Tourism)ลงนามเมื่อ 17 มีนาคม ค.ศ.1987
4.สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญาระหว่างไทย-สเปน (Treaty on Cooperation in the Execution of Penal Sentences)ลงนามเมื่อ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1983 และมีผลบังคับใช้เมื่อ 20 พฤศจิกายน ค.ศ.1987
5.ความตกลงด้านวัฒนธรรม (Cultural Agreement) ลงนามเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ.1987
6. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งกำลังบำรุงระหว่างกระทรวงกลาโหมไทย-กระทรวงกลาโหมสเปน (Memorandum of Understanding on Logistics Support)ลงนามเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1994
7.ระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้า อุตสาหกรรม และ ชิปปิ้งของสเปน (The High Council of Chambers of Commerce, Industry and Shipping of Spain) ลงนามเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ.1995
8.อนุสัญญาเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (Convention on the Avoidance of Double Taxation and the Prevention of Fiscal Evasion with Respect to Taxes on Income)ลงนามเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ.1997 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1998
9.ความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือกันทางการศาลในคดีแพ่งและพาณิชย์ (Agreement on Judicial Assistance in Civil and Financial Affairs) ลงนามเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1998 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน ค.ศ.1999



โดย: เรียบเรียงโดย กองยุโรป 2 กรมยุโรป IP: 203.156.23.35 วันที่: 5 เมษายน 2551 เวลา:20:35:02 น.  

 
10.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างไทย-สเปน (Memorandum of Understanding on Financial Cooperation) ลงนามเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1998

การแลกเปลี่ยนการเยือน
ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์ (ระหว่างปี 2503-2550)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 3 - 8 พฤศจิกายน 2503 เสด็จ ฯ เยือนสเปนอย่างเป็นทางการ
สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 17 - 28 มกราคม 2539 เสด็จฯ เยือนสเปนเพื่อทรงประกอบพิธีปล่อยเรือหลวงจักรีนฤเบศ
ลงน้ำที่เมืองเฟโรล (Ferrol)
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- วันที่ 27 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2531 เสด็จฯ เยือนสเปนอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์ลอส ที่ 1
- วันที่ 22 - 28 กรกฎาคม 2535 เสด็จฯ เยือนสเปนอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชาบดีฆวน คาร์ลอส ที่ 1 เพื่อทรงร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 25 ณ นครบาร์เซโลนา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 29 - 31 พฤษภาคม 2535 เสด็จฯ เยือนสเปนอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์ลอส ที่ 1 และเสด็จฯ เป็นองค์ประธานในคืนวันประจำชาติไทยในงานแสดงสินค้าโลกที่เมืองเซบิญ่า (Sevilla)
- ระหว่างวันที่ 7 - 9 เมษายน 2536 เสด็จฯ เยือนสเปนเพื่อทรงร่วมงานพระราชพิธีพระศพของ เคาท์ ฆวน เด บอรบอน (Count Juan de Borbón) พระราชบิดาของสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์ลอส ที่ 1
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
- วันที่ 25 กันยายน - 3 ตุลาคม 2536 เสด็จเยือนสเปนเป็นการส่วนพระองค์
รัฐบาล
นายกรัฐมนตรี
- วันที่ 16 - 19 มีนาคม 2530 พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเยือนสเปนอย่างเป็นทางการ
รัฐมนตรี
- วันที่ 14 - 15 ตุลาคม 2540 นายประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนสเปนอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 11 - 16 มิถุนายน 2541 นายสุทัศน์ เงินหมื่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและคณะเยือนสเปนอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 17 - 22 พฤศจิกายน 2541 นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะ เดินทางเยือนสเปนเพื่อขอความสนับสนุนในการสมัครเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO)
- วันที่ 7 - 8 พฤษภาคม 2542 นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะเยือนสเปน
- วันที่ 6 - 7 มิถุนายน 2545 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนสเปนเพื่อร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป (ASEM-FMM) ครั้งที่ 4 ณ กรุงมาดริด

ฝ่ายสเปน
พระราชวงศ์
สมเด็จพระราชาธิบดี ฆวน คาร์ลอส ที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโซเฟีย
- เมื่อปี 2505 และ 2508 เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ (ขณะดำรงพระยศเจ้าชายแห่งสเปน)
- วันที่ 18 - 22 พฤศจิกายน 2530 เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 21 - 23 กุมภาพันธ์ 2549 เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระราชินีโซเฟีย
- วันที่ 27 - 28 พฤศจิกายน 2539 เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 20 - 21 กุมภาพันธ์ 2545 เสด็จฯ แวะผ่านประเทศไทยเพื่อเสด็จฯ ต่อไปยังเวียดนาม
- วันที่ 4 มีนาคม 2546 เสด็จฯ แวะผ่านประเทศไทยเพื่อเสด็จฯ ต่อไปยังฟิลิปปินส์
- วันที่ 11 - 14 มิถุนายน 2549 เสด็จฯ เยือนประเทศไทยเพื่อร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี
เจ้าชายเฟลิปเป มกุฎราชกุมารแห่งสเปน
- วันที่ 16 - 19 ธันวาคม 2530 เสด็จฯ เยือนไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว
เจ้าหญิงเอเลน่าแห่งสเปน
- วันที่ 14 - 18 ธันวาคม 2538 เสด็จเยือนไทยพร้อมด้วยพระสวามี ในฐานะแขกของรัฐบาล
รัฐบาล
รัฐมนตรี
- เดือนมกราคม 2537 นายฆาเบีย โซลาน่า (Javier Solana) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสเปนเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 1 - 2 มีนาคม 2539 นายคาร์ลอส เวสเตนดอร์ป (Carlos Westendorp) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสเปนในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรีสเปนเดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 1
- วันที่ 2 เมษายน 2542 นายรามอน เด มิเกล (Ramon de Miguel) รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการต่างประเทศสเปน เยือนไทย
- วันที่ 11 - 12 มกราคม 2548 นายมิเกล อังเคล โมราติโนส (Miguel Angel Moratinos) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสเปนเยือนไทย ในโอกาสที่เดินทางเยือนประเทศในเอเชียที่ประสบธรณีพิบัติภัย เพื่อประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการฟื้นฟูบูรณะแก่ประเทศที่ประสบภัย และได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีและนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 21 - 23 กุมภาพันธ์ 2549 นายมิเกล อังเคล โมราติโนส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสเปนเยือนไทย และเข้าพบนายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ

จำนวนคนไทยในสเปน
1059 คน นักเรียนไทย 60 คน แรงงานไทย 252 คน และต้องโทษ 1 คน
สถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย
ที่ตั้ง Royal Embassy of Spain
ที่ต้ง Lake Rajada Office
Complex, 23rd Floor,
193, Ratchadapisek Road,
Bangkok 10110
เวลาทำการสอท สเปน
Visa Section:
09.00-12.00 (Monday - Friday)
เบอร์โทรศัพท์ Tel: 02 661 8284 และ 02 661 8287 Fax: 02 661 9220

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาดริด
ที่ตั้ง Royal Thai Embassy Calle Joaquin Costa, 29
28002 Madrid, Spain
Tel:001 (34) 91 563 2903 Fax : 001 (34) 91 564 0033
001 (34) 91 563 7959 001 (34) 91 562 4128
e-mail: madthai@wanadoo.es

Website ที่เกี่ยวข้อง
- //www.embesp.or.th (สถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย)
- //www.moc.go.th/thai/dbe (กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์)
- //www.thaitrade.com (กรมส่งเสริมการส่งออก)
- //www.tat.or.th (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)

Web site ที่เกี่ยวข้อง
- //www.sispain.org ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประเทศสเปน
- //www.embesp.or.th สถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย
- //www.la-moncloa.es รัฐบาลสเปนและกระทรวงต่างๆ
- //www.mae.es กระทรวงการต่างประเทศสเปน
- //www.tourspain.es การท่องเที่ยวสเปน
- //www.economist.com/countries/spain ข้อมูลพื้นฐานประเทศสเปนและข่าวสารเกี่ยวกับประเทศสเปน
- //www.odci.gov/cia/publications/factbook/geos/sp.html ข้อมูลพื้นฐานประเทศสเปน
- //www.cnnenespanol.com CNN - ข่าวสารเกี่ยวกับประเทศสเปน (ภาษาสเปน)
- //www.elpais.es หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น El Pais
- //www.abc.es หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ABC
- //www.elmundo.es หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น El Mundo


โดย: เรียบเรียงโดย กองยุโรป 2 กรมยุโรป IP: 203.156.23.35 วันที่: 5 เมษายน 2551 เวลา:20:36:02 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

naraiya
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




คนไทยคนหนึ่งที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทย และเติบโตมาทดแทนคุณบุพการีและแผ่นดิน ให้สมกับที่เกิดบนแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัวและปู่ ย่า ตา ยาย ที่สร้างมาให้ก็จากพระบารมีแห่งพระมหากษัตริย์ไทยทุกๆพระองค์ ....
เป็นไกด์มา 20 ปี และกำลังจะเลิกทำ วันนี้มีโอกาสได้รับใช้ชาติโดยการแบ่งปันความรู้ภาษาสเปนให้กับเพื่อนๆ และ น้องๆ หลานๆ ที่สนใจภาษาสเปน และต่อจากนี้ไปกำลังมีแผนการย้ายออกจากเมืองหลวง ไปสอนให้เด็กที่อยู่ต่างจังหวัด ให้เขาได้มีโอกาสมากพอๆกับเด็กในเมืองหลวง และชีวิตก็จะมีความสุขมากกว่านี้ที่ได้อยู่กับความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงมากกว่าการเดินชนหน้ากากทุกๆวัน
Cursor by nuthinbutnet.net
Friends' blogs
[Add naraiya's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.