มิถุนายน 2555

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
24
27
28
29
30
 
ทำทานอย่างไร จึงจะถูกหลักวิชา และ ได้ผลมาก

ทำทานอย่างไร จึงจะถูกหลักวิชา และ ได้ผลมาก


การทำทาน หรือ ให้ทาน

คือ การให้ หรือ แบ่งปัน ข้าวของ เครื่องใช้ เงินทอง ให้กับผู้อื่น   ด้วยเหตุผลก็เพื่อสละความตระหนี่ออกไปจากใจ

พระพุทธเจ้าทรงตรัสเปรียบเทียบว่า  การทำทานนั้น เหมือนกับการทำนาปลูกข้าว โดยที่ผู้รับเป็นเหมือนนาข้าว  ของที่ให้เหมือนเมล็ดพันธุ์ข้าว  กิเลสของผู้รับและผู้ให้ เหมือนวัชพืชในนาข้าวนั้น  ความตั้งใจของผู้ให้ เหมือนความตั้งใจในการหว่านเมล็ดพันธุ์ให้ตกลงในนาไม่ให้กระจายออกนอกนา  ศรัทธาของผู้ให้เปรียบเหมือนปุ๋ย  ความปีติของผู้ให้เหมือนน้ำ  ผลบุญที่จะได้รับเปรียบเหมือนผลผลิตที่ได้จากการทำนานั้น

การทำนานั้น ถ้าใช้ข้าวพันธุ์ดี ปลูกในนาที่มีดินดี  ขณะหว่านก็ตั้งใจหว่านให้ข้าวตกลงในท้องนาอย่างพอดี ไม่กระจัดกระจายนอกนา  มีน้ำ มีปุ๋ยสมบูรณ์  ไม่มีวัชพืชมาคอยแย่งอาหาร  ผลผลิตที่ได้ย่อมมากมายเต็มเม็ดเต็มหน่วย ฉันใด

การทำบุญด้วยวัตถุอันเลิศ ให้กับบุคคลอันเลิศ ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใดๆ ทำด้วยความตั้งใจแน่วแน่มั่นคง ประกอบด้วยศรัทธาอันดี ถึงพร้อมด้วยปีติ เบิกบานใจ  ผลบุญนั้นย่อมได้ไพบูลย์ ฉันนั้น

ปัจจัยที่ส่งผลให้ทานได้ผลมากหรือน้อย มี 3 ประการใหญ่ๆ คือ

1. ผู้ให้ทาน

2. วัตถุทาน

3. ผู้รับทาน

ผู้ให้ทาน

    ในแง่ของผู้ให้ทานนั้น สิ่งที่จะมีผลต่อผลของทานนั้น หลักๆคือ การกระทำทางกาย และ จิตใจ  ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนถึงการทำทานที่สัปบุรุษ (คนดี คนสงบ คนที่พร้อมด้วยธรรม) พึงกระทำ มีดังนี้  เรียกว่า "สัปปุริสทาน 5"

    1.1 ให้ทานด้วยศรัทธา  คำว่า "ศรัทธา" หมายถึง ความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา  นั่นคือ ไม่ใช่เชื่ออย่างงมงาย แต่เชื่อด้วยเหตุผล ต้องพิจารณาแล้วเห็นตามความเป็นจริง จึงจะเชื่อ การศรัทธาจึงรวมถึง ศรัทธาว่าการให้ทานนั้นดี ศรัทธาในผลแห่งทาน  และศรัทธาในบุคคลที่สมควรศรัทธา

อานิสงส์ที่ได้  คือ ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปร่างงาม น่าดู น่าชม ประกอบด้วยเป็นผู้มีผิวพรรณงดงามอย่างยิ่ง

    1.2 ให้ทานด้วยความเคารพ  ที่่ว่าเคารพนั้น คือ

         -  เคารพในบุคคลที่รับทาน คือ ให้ด้วยกิริยานอบน้อมทั้งกายและใจ  ไม่เว้นแม้จะให้กับขอทาน (คงไม่ต้องไหว้ก่อนให้ เพียงแต่ให้ด้วยกิริยาไม่ดูหมิ่น ไม่สักแต่โยนๆไปให้)

         -  เคารพในวัตถุทานที่ให้   คือ เคารพในบุญของเรา  เพราะการที่เรามีวัตถุทานอยู่ในความครอบครองของเราก็เพราะเรามีบุญ จึงทำให้มีสิ่งเหล่านี้  ดังนั้นหากจะให้ ก็ควรให้ด้วยมือของตนเอง เพราะเราเป็นเจ้าของบุญ  ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรฝากคนอื่นทำ  และต้องไม่ลืมที่จะอธิษฐานกำกับเพื่อให้ผลบุญจากทานของเรานั้นไม่ตกหล่นข้างทางซะก่อน

อานิสงส์ที่ได้ คือ   ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเขามีบุตร ภรรยา คนรับใช้ บุคคลเหล่านั้น ย่อมสนใจฟัง และเชื่อถ้อยฟังคำ

    1.3 ให้ทานตามกาล  คือ ให้ในสิ่งที่ผู้รับต้องการในเวลานั้นๆ  เช่น เกิดเหตุอุทกภัย มีปัญหาเรื่องอาหารการกิน เครื่องอุปโภคบริโภค  ก็ควรจัดหาสิ่งที่เขาต้องการไปให้ ให้ตรงตามความต้องการ

         อานิสงส์  คือ  ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และความต้องการทั้งหลายที่เกิดขึ้นตามกาลย่อมบริบูรณ์

    1.4 ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ คือ  ให้ด้วยใจเมตตา กรุณา ต้องการให้ผู้รับได้พ้นจากความทุกข์ และได้รับความสุข จากทานที่ให้ไป เช่น  ให้อาหารก็ด้วยหวังให้เขาพ้นจากความหิว และ สุขใจจากความเอร็ดอร่อยของอาหาร   การคิดด้วยคาดหวังผลตอบแทน จัดว่าไม่ได้มีจิตอนุเคราะห์

อานิสงส์ที่ได้  คือ  ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก  และจิตของเขาย่อมน้อมไปเพื่อการบริโภคอันโอฬาร (หมายถึง บริโภคตามกำลังฐานะ  เช่น เศรษฐีบางคน รวยล้นฟ้า แต่ก็กินแค่ข้าวต้ม ผักดอง  อย่างนี้ไม่ถือว่าบริโภคตามกำลังฐานะ เพราะเคยให้ทานแต่ขาดจิตอนุเคราะห์นั่นเอง) 

    1.5 ให้ทานโดยไม่กระทบตนเอง และ ผู้อื่น 

         -  ไม่กระทบตนเอง คือ ให้ทานแล้วไม่ทำให้ต้องตนต้องทุกข์ยากลำบาก เพราะไม่มีกิน จนอาจต้องไปลักไปขโมยใคร หรือ ไปกู้เงินเพื่อเอาเงินมาทำบุญ  อย่างนี้ก็ถือว่ากระทบตนเอง (รวมถึงคนในครอบครัวด้วย)

         -  ไม่กระทบผู้อื่น คือ ให้ทานแล้วไม่ทำให้ผู้อื่นต้องลำบากเพราะเรา  เช่น โรบินฮู้ด ขโมยเงินคนรวยมาให้คนจน เป็นทานก็จริง แต่กระทบผู้อื่น  ทานเช่นนี้แม้จะมีมากแต่ก็ได้ผลไม่มาก และ ล่มจมได้ในภายภาคหน้า

อานิสงส์ที่ได้  คือ  ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก   และความล่มจมแห่งโภคะของเขา ย่อมไม่มาจากที่ใหนๆ คือจากไฟ จากน้ำ จากโจร หรือจากทายาท (ผู้รับมรดก) ซึ่งไม่เป็นที่รัก


 นอกเหนือจาก สัปปุริสทาน 5 แล้ว ยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงอีกคือ  

1.  ควรมีจิตผ่องใส เบิกบาน ปีติยินดี ในการทำทานทั้ง 3 วาระ คือ 

    -  ก่อนให้  ก็ดีใจว่าจะได้ทำทาน

    -  ขณะให้  หากมีอารมณ์ขุ่นมัว ไม่ว่าจะจากความโกรธ หงุดหงิดไม่พอใจ หรือ จากความเสียดายในทรัพย์ที่บริจาคไป  หรือ จากความลังเลสงสัยในทาน และผลของทาน   ไม่ว่าจะวาระใด ย่อมทำให้ผลแห่งทานนั้น ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย  (พูดภาษาชาวบ้าน คือ บุญกระฉอกหกหล่นตามข้างทาง) 

     ที่สำคัญ คือ ต้องไม่คิดเสียดายในทานนั้นๆ  (บางคนไปตามทวงคืนด้วยซ้ำ)  เพราะนอกจากจะได้บุญไม่เต็มที่แล้ว  ในภายภาคหน้าเมื่อบุญส่งผล  แม้จะได้โภคทรัพย์ แต่ก็อาจจะต้องเสียทรัพย์นั้นในภายหลัง

    -  หลังให้   ไม่ควรคิดเสียดาย แม้กาลเวลาจะผ่านล่วงเลยมาแล้ว ก็ไม่ควรคิดในทางไม่ดี  ในทางกลับกัน คือ ควรระลึกถึงบ่อยๆครั้งในทางที่ดี และปลื้มใจในการทำทานนั้นๆด้วย

2.  ให้ทานโดยไม่หวังผลตอบแทน 

     คนจำนวนไม่น้อย ทำทานแล้วหวังผล ไม่ว่าจะให้ถูกหวย หรือ หวังได้รับการเลือกตั้ง หรือ หวังให้คนนับหน้าถือตา ช่วยให้ชื่อเสียงกิจการดีขึ้น  เช่นนี้เรียกว่า ทำบุญเจือด้วยกิเลส (โลภะ)  การทำบุญปนบาป ย่อมทำให้ได้บุญไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยแน่นอน   แม้แต่บุญ ก็ควรจะระลึกรู้ไว้ว่า ถ้าทำบุญ ย่อมต้องได้บุญอยู่แล้ว  จึงไม่ควรที่จะคิดโลภหวังได้บุญมากๆ   เพราะมันก็คือ บุญปนความโลภนั่นเอง   ควรที่จะอธิษฐานเพื่อกำกับให้ผลบุญจากทานนั้น ส่งผลในทางที่ถูกทำนองคลองธรรม ไม่เอาไปใช้ในทางที่ผิด ไม่เอาบุญมาซื้อบาป  และเพื่อเข้าสู่พระนิพพานในภายภาคหน้า

3. ให้ทานโดยตัดความอาลัยในทรัพย์นั้น   คือ  หากคิดจะบริจาค ก็ให้คิดสละออกไปโดยไม่รู้สึกเสียดาย  แม้ผู้ได้รับจะนำทานนั้นๆไปทำอย่างไรก็ไม่ใส่ใจ  เปรียบเหมือนกับถ่มน้ำลายออกไปแล้ว ก็ไม่รู้สึกว่าเสียดายน้ำลายนั้น   เพราะการบริจาค หรือ ให้ทานนั้น เป้าหมาย คือ การละความตระหนี่  ถ้าเรายังอาลัยอาวรณ์ในทรัพย์นั้น ก็จะเกิดความเสียดาย บุญที่ควรจะได้เต็มก็จะลดทอนลง  เช่นเดียวกับพระเวสสันดร เมื่อตั้งใจจะบริจาคบุตร (คือ กัณหา ชาลี) ให้แก่ชูชกแล้ว  แม้ชูชกจะทุบตีต่อหน้าพระพักตร์ พระองค์ก็ไม่ทรงเสียดาย หรือ อาลัยอาวรณ์  เพราะได้ทรงสละออกไปจากใจแล้วนั่นเอง  

    (ปล.  เรื่องพระเวสสันดร จะอธิบายอีกครั้งในตอนหลังครับ)

4. ก่อนและให้ทาน ควรเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ และ ควรมีจิตสงบเป็นสมาธิ  จะสังเกตได้ว่า ก่อนถวายสังฆทาน พระท่านจะให้เราสมาทานศีล 5 เสียก่อน เพื่อให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ บางวัดอาจให้นั่งสมาธิเพื่อกลั่นกาย วาจา ใจ ให้ใสสะอาด ก่อนถวาย  ก็เพื่อให้กาย วาจา ใจ สะอาดบริสุทธิ์ก่อนทำทานนั่นเอง 

5. ให้ทานอย่างเต็มกำลัง  ไม่ให้อย่างขยักขย่อน  เปรียบเหมือน น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนกักน้ำ หากปล่อยเพียงเล็กน้อย ย่อมได้ปริมาณน้อย และไม่รุนแรง  แต่หากเปิดประตูน้ำเต็มที่ น้ำที่ไหลก็จะออกมามาก และ เชื่ยวแรง  ทานที่เราให้อย่างเต็มกำลัง  ย่อมให้ผลที่เต็มกำลังเช่นกัน

ทานวัตถุ

ลักษณะของทานวัตถุที่ดี มีดังนี้

1. เป็น ของเลิศ ของสะอาด ประณีต  คิดง่ายๆว่า เราอยากได้ของดี ของสวยงาม สะอาด  ประณีต  ผู้รับก็ต้องการเช่นกัน  ดังนั้นถ้าเราต้องการได้ของดีๆ  ก็ต้องให้ของดีๆด้วยเช่นกัน   แต่ทั้งนี้ในกรณีของผู้ที่ยากจน การจะให้ของดี แพงๆ ประณีตก็คงจะทำได้ยาก  ดังนั้นการที่คนยากจนทำทาน โดยให้ของแม้ไม่มีราคาค่างวด แต่ตั้งใจทำ จัดวางอย่างสวยงามประณีต  ก็จัดว่าเป็นของดีของเลิศ ได้เช่นกัน  เช่น  คนจนมีแต่ข้าวสาร ก็เลือกข้าวเม็ดสวย ไม่แตกหัก เอาเศษแกลบ กรวดทรายออก  หุงเองด้วยความตั้งใจ  ตักเอาข้าวปากหม้อ จัดในภาชนะให้เรียบร้อย มาถวายพระ  เช่นนี้แม้จะไม่มีกับข้าวอื่นเลย ก็ถือได้ว่าเป็นของเลิศสำหรับคนระดับนั้น

2. เป็นของที่ได้มาด้วยความชอบธรรม  คือ ไม่ได้ลักขโมยใครมา  หรือ ไม่ได้มาจาก มิจฉาวณิชชา  (คือ จากการค้ามนุษย์  ค้าสัตว์เพื่อทำอาหาร  ค้าอาวุธ  ค้าสุรายาเมายาเสพติด  ค้ายาพิษ)  หากได้มาไม่ชอบธรรมดังกล่าว  แม้จะได้บุญก็เป็นบุญปนบาป  ได้บุญน้อย แม้ได้ทรัพย์มาก็เป็นทรัพย์ร้อน ต้องสูญเสียวิบัติไปในที่สุด

3. เป็นของที่มีคุณค่ากับผู้ให้  คือ ยิ่งให้ของที่มีคุณค่ามาก ย่อมได้บุญมาก  ซึ่งเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้ดังนี้

     ชีวิต  >  อวัยวะ >  ทรัพย์  บุตร ภรรยา 

    ในแง่ของทรัพย์นั้น  เงิน 100 บาท เท่ากัน  อาจเป็นแค่เศษเงินสำหรับเศรษฐี   แต่เป็นเงินจำนวนไม่น้อยสำหรับคนยากจน  ดังนั้นหากคนจนบริจาคเงิน 100 บาท ก็อาจมีค่ามากกว่าเศรษฐีบริจาค 100 บาทได้ เมื่อบริจาคให้คนๆเดียวกัน  (ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยของผู้ให้ดังที่กล่าวในข้อข้างต้นด้วย)  

ผู้รับทาน

มีอยู่หลายระดับ ซึ่งจำแนกตามความบริสุทธิ์ของ ศีล  สมาธิ (จิต)  ปัญญา ตามลำดับ ดังนี้

1. สัตว์เดรัจฉาน

2. มนุษย์ผู้ทุศีล

3. มนุษย์ผู้รักษาศีลบริสุทธิ์  ทั้งต่อหน้าและลับหลัง  ซึ่งก็จะแบ่งระดับกันไปตามการรักษาศีล เช่น ผู้รักษาศีล 227 ข้อ ได้บริสุทธิ์ ก็ย่อมมีบุญกว่า ผู้ที่รักษาศีลแค่ 5 ข้อ เป็นต้น  การรักษาศีล เป็นการควบคุมแค่กาย และวาจาของผู้นั้น โดยเป็นการควบคุมกิเลสแค่อย่างหยาบ

4. มนุษย์ผู้อบรมจิต ด้วยการเจริญสมาธิ   จะระงับนิวรณ์ 5 (ความรักใคร่ในกามคุณ 5 , ความง่วงซึม , ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ , ความลังเลสงสัย , ความโกรธแค้นเคือง)  ไม่ให้ถูกครอบงำในช่วงที่เจริญสมาธิอยู่  เป็นการควบคุมใจ โดยคุมกิเลสละเอียดปานกลาง  แต่กิเลสละเอียดนั้นยังไม่สามารถคุมหรือกำจัดได้  และเป็นการคุมเฉพาะตอนที่อยู่ในสมาธิ หากออกจากสมาธิ หรือ สมาธิเสื่อมไป ก็อาจคุมกิเลสไม่ได้

5. มนุษย์ผู้อบรมปัญญา (ทางธรรม) จนสามารถตัดกิเลสได้เกือบหมด หรือ หมดสิ้น   ซึ่งก็ได้แก่ พระอริยบุคคล ตั้งแต่ชั้น โสดาบัน สกทาคามี  อนาคามี  และ พระอรหันต์ ตามลำดับ

6. พระปัจเจกพุทธเจ้า  ซึ่งเป็นผู้บำเพ็ญบารมีมามากจนสามารถชำระกิเลสได้ด้วยตนเอง  แต่ไม่มีบุญมากพอที่จะประกาศศาสนาเป็นศาสดาได้

7. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้ด้วยตนเอง และมีบุญมากพอที่จะประกาศศาสนาเป็นศาสดา เป็นครูของมนุษย์และเทวดา 

แต่ถ้าจำแนกรูปแบบการให้ทานแด่ภิกษุสงฆ์ จะแบ่งได้ดังนี้

1. ปาฏิปุคคลิกทาน คือ การบริจาคทานจำเพาะเจาะจงผู้รับ  เช่น เลือกให้พระรูปนั้นรูปนี้  การตั้งใจถวายเฉพาะพระพุทธเจ้า ก็ถือว่าเป็นปาฏิปุคคลิกทานเช่นกัน

2. สังฆทาน คือ การบริจาคทานไม่จำเพาะเจาะจงผู้รับ นั่นคือถวายทานแด่หมู่สงฆ์ แม้ภิกษุที่มารับทานนั้นอาจจะเป็นเพียงภิกษุใหม่ ไม่ได้บรรลุคุณวิเศษใดๆ แต่หากเราตั้งใจถวายแด่หมู่สงฆ์  ก็จัดเป็นสังฆทาน

ซึ่งสังฆทานนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสสรรเสริญว่าเลิศยิ่งกว่าทานที่ถวายเฉพาะแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียอีก  เหตุเพราะ ปาฏิปุคคลิกทานนั้น ยังมีการเลือกให้เฉพาะคน ซึ่งยังถือว่ามีกิเลสเจือปนอยู่  แต่หากบริจาคแบบสังฆทาน จะไม่เลือกว่าของที่ถวายจะตกอยู่แก่ใคร จะเป็นพระอริยบุคคล หรือ แค่พระบวชใหม่ก็ได้ทั้งนั้น  เป็นการสละกิเลสได้อีกระดับหนึ่งเลยทีเดียว

ปล.  จากประเด็นข้างต้น เรื่อง พระเวสสันดร

      คงจะมีผู้อ่านหลายๆคนสงสัยกันว่า  การที่พระเวสสันดรทำการมอบลูกทั้งสอง (กัณหา ชาลี) แก่ชูชก และ มอบภรรยา (พระนางมัทรี) แก่พราหมณ์ (ซึ่งก็คือพระอินทร์จำแลงมา) นั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ 

ตอบ   ก่อนอื่นต้องเข้าใจการสร้างบารมีก่อนครับ  พระโพธิสัตว์ผู้ซึ่งปรารถนาจะพุทธภูมิ จำเป็นต้องบำเพ็ญพุทธการกธรรม (ธรรมอันจะทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งก็คือ บารมี 10 ทัศ  ได้แก่ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา)   ซึ่งแต่ละข้อจะมีอยู่ 3 ระดับ คือ บารมี (ระดับธรรมดา) อุปบารมี (ระดับอันยิ่ง) และ ปรมัตถบารมี (ระดับสูงสุด)   รวมเป็นบารมี 30 ทัศ   ซึ่งในแง่ของทานก็เช่นกัน  แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

         - ทานบารมี  คือ  สร้างบารมีด้วยการบริจาคทรัพย์  บุตร ภรรยา

         - ทานอุปบารมี  คือ สร้างบารมีด้วยการบริจาคอวัยวะ

         - ทานปรมัตถบารมี คือ สร้างบารมีด้วยการบริจาคชีวิต  (คนละเรื่องกับการฆ่าตัวตายที่ออกข่าวกันบ่อยๆนะครับ)

         ในแง่นี้ พระองค์ต้องบำเพ็ญทานบารมีเพื่อให้เต็ม ซึ่งการบริจาคบุตรภรรยานั้น ระดับสูงกว่าเมื่อเทียบกับทรัพย์สินทั่วๆไป จำเป็นต้องใช้กำลังใจมากกว่าการสละทรัพย์ทั่วไปนัก

         ถ้ามองในมุมของคนปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในยุค สิทธิมนุษยชน  ก็คงต้องบอกว่า พระองค์ไม่มีสิทธิจะทำเช่นนั้น   แต่จริงๆแล้ว เราต้องมองว่าในยุคพุทธกาล (เมื่อ 2553 กว่าปีก่อน) นั้น ในชมพูทวีป มีความเชื่อว่า สามีเป็นเจ้าของบุตรและภรรยา  ตามไอเดียของศาสนาพราหมณ์  ซึ่งเขามองว่า บุตร ภรรยา ก็เป็นทรัพย์สินของสามี  เพียงแต่ว่าเป็นทรัพย์สินที่ต้องใช้กำลังใจในการบริจาคอย่างมาก เพราะจะบังเกิดความหวงแหน รักใคร่อย่างมาก จนทำให้ไม่อยากจะบริจาค  ยิ่งโดยเฉพาะบุตรของตนร้องไห้ขอความช่วยเหลือ ก็ยิ่งทำให้ใจแป้วไปมากที่เดียว   แต่ดัวยความตั้งพระทัยของพระองค์ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์  ปรารถนาพระโพธิญาณเหนือสิ่งอื่นใด จึงตัดพระทัยที่จะบริจาค แม้จะทรงเสียพระทัยอยู่บ้างก็ตาม

         อีกทั้งเมื่อพระองค์ได้คุยเหตุผลกับพระโอรส พระธิดา และ พระนางมัทรี แล้ว  ทั้งสามพระองค์ก็ยินดีที่จะไปโดยมิได้โกรธ เพราะต้องการให้พระเวสสันดรบรรลุในสิ่งที่พระองค์ตั้งเป้าหมายไว้ (ทั้งสามพระองค์เคยเป็นพ่อแม่ลูกกันมาหลายภพหลายชาติแล้ว สร้างบารมีร่วมกันมาหลายภพหลายชาติ)  แต่แน่นอนว่า เมื่อเด็กๆต้องจากอกพ่อแม่ไป อีกทั้งถูกทุบตีโดยชูชก ก็ต้องร้องไห้คร่ำครวญเป็นธรรมดา

         ที่สำคัญ พระเวสสันดร ทรงมองการณ์ล่วงหน้าไว้แล้วว่า  ชูชกเป็นคนโลภ เมื่อใช้งานจนสมใจ ก็อาจจะเอาบุตรของพระองค์ไปขายต่อ จึงทรงตั้งราคาไว้ในราคาสูงมากๆ เพื่อให้ใครก็ซื้อไม่ไหว ยกเว้นพระราชา (คือ พระเจ้าสัญชัย ซึ่งก็คือ พระราชบิดาของพระองค์ หรือ พระอัยกา ของบุตรทั้งสองนั่นเอง)  ที่จะทรงไถ่ตัวได้   ซึ่งก็เป็นตามคาด เพราะชูชกก็นำเด็กทั้งสองไปขายแก่พระเจ้าสัญชัย   ดังนั้นเด็กทั้งสองจึงกลับสู่อ้อมอกของพระองค์ในที่สุด 

         ส่วนกรณีของพระนางมัทรีนั้น  พระอินทร์ทรงเล็งเห็นว่า หากมีคนรู้ข่าวว่าพระเวสสันดรมอบลูกให้ชูชกได้ ก็อาจจะมาขอพระนางมัทรีไปเป็นเมียได้เช่นกัน  อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้การบริจาคของพระเวสสันดรนั้นสำเร็จลุล่วงได้ดี จึงทรงจำแลงกายเป็นพราหมณ์มาขอพระนาง  เมื่อพระเวสสันดรมอบให้แล้ว  พราหมณ์จึงถวายคืนแด่พระเวสสันดร และขอปฏิญญาจากพระเวสสันดรว่าจะไม่มอบแก่ใครอีก

         ดังนั้นเมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว ก็น่าจะเข้าใจเหตุผลของพระเวสสันดรแล้วนะครับ



พระเวสสันดรตามหาพระกัณหาชาลี เพื่อขอให้ยอมไปกับชูชก



ชูชกทุบตีพระโอรสพระธิดาต่อหน้าพระเวสสันดร



ขณะที่ชูชกหลับ เทวดาและเทพธิดาก็มาเห่กล่อมให้เด็กทั้งสองหลับอย่างสบาย




Create Date : 26 มิถุนายน 2555
Last Update : 26 มิถุนายน 2555 22:03:27 น.
Counter : 4062 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ระเบิดเด่น
Location :
นครราชสีมา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]



ผมเป็นศัลยแพทย์ รพ.นครราชสีมา ครับ เรียกผมว่า "หมอบีม" ก็ได้ครับ
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ความรู้เรื่องของสุขภาพ โรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคทางศัลยกรรม (เนื่องจากผมเป็นศัลยแพทย์) โดยผมจะเน้นให้ความรู้อย่างกว้างๆเพื่อให้ทราบสาเหตุของโรค และวิธีการรักษาโรค อาจจะไม่ลงลึกนักนะครับ อยากเน้นให้ทราบวิธีปฏิบัติตัวมากกว่า หากต้องการถามคำถาม ให้ฝากคำถามไว้ใน "ฝากข้อความหลังไมค์" นะครับ ผมจะตอบให้ครับ รบกวนอย่าถามไว้ในกระทู้ หรือ blog แต่ละเรื่องนะครับ เพราะผมอาจจะไม่ได้เข้าไปอ่านนะครับ ส่วน "blog ธรรมจรรโลงใจ" นั้น เพิ่มเข้ามาเผื่อผู้สนใจเกี่ยวกับธรรมะครับ ถ้าอยากจะแสดงความเห็น ก็ลงในความคิดเห็น หรือ จะส่งข้อความหลังไมค์ก็ได้ครับ ยินดีครับ