วัดหนองโว้ง Wat Nong Wong, Sukhothai.
ที่ตั้ง
        วัดหนองโว้งตั้งอยู่ที่บ้านหนองโว้ง หมู่ที่ ๑ ตำบลเมืองบางยม อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย

ประวัติ:
        วัดหนองโว้งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองสุโขทัย วัดเดิมเป็นวัดเก่าโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยซึ่งภายหลังได้กลายเป็นสำนักสงฆ์หรือวัดป่าสำหรับเผาศพและฝังศพ ส่วนวัดในปัจจุบันนั้นเชื่อกันว่าเป็นวัดหลวงที่เจ้าเมืองบางยมสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๒๔๒ และอุปถัมภ์สืบต่อกันมา
        ประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๑ สมัยพระอุปัชฌาย์พุกเป็นเจ้าอาวาส เจ้าเมืองบางยมมีความเลื่อมใสจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถจนแล้วเสร็จเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๙๙ และได้ให้ช่างเขียนจิตรกรรมฝาผนังไว้อย่างสวยงาม นอกจากนั้น ยังได้สร้างมณฑปจตุรมุขไว้เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองอีกด้วย วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๙
        ต่อมา ประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๖ ชาวบ้านหนองโว้งไปถางป่าบริเวณบ้านปากน้ำซึ่งอยู่ห่างจากบ้านหนองโว้งประมาณ ๔ กิโลเมตร ได้พบซากอุโบสถเก่าซึ่งหักพังเป็นเนินดินสูง มีต้นไม้และเถาวัลย์ปกคลุมหนาแน่น ชาวบ้านเห็นว่าเป็นวัดร้างจึงช่วยกันขุดเนินดินออกและได้พบพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยสมัยสุโขทัย ๔ องค์ เป็นองค์ใหญ่ ๒ องค์และองค์เล็ก ๒ องค์ ชาวบ้านจึงได้มอบ ๒ องค์ให้กับวัดหนองโว้ง ส่วนอีก ๒ องค์มอบให้วัดปากน้ำ ระยะแรก วัดหนองโว้งประดิษฐานพระพุทธรูปที่ได้มาไว้ที่มณฑปรอยพระพุทธบาทและให้นามพระพุทธรูปทั้งสองว่า “หลวงพ่อสองพี่น้อง”
        ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ พระครูวินัยธรทองคำ ยสสุวณฺโณเจ้าอาวาสได้เชิญหม่อมเจ้าอัศนีฟ่องฟ้า เทวกุล ณ อยุธยามาวางศิลาฤกษ์และอุปถัมภ์การก่อสร้างวิหารเพื่อประดิษฐานหลวงพ่อสองพี่น้อง เมื่อสร้างเสร็จ สมเด็จพระวันรัตฯ ได้มาประกอบพิธียกช่อฟ้าในปี พ.ศ. ๒๔๗๒  ต่อมา ทางคณะสงฆ์ยังได้ใช้วิหารนี้เป็นที่ประกอบพิธีสังคายนาเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติของสงฆ์อีกด้วย
        วัดหนองโว้งได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖
        สำหรับชื่อวัดนั้น แต่เดิม ด้านหน้าวัดหันเข้าหาแม่น้ำยม ชาวมอญซึ่งมีอาชีพขายเครื่องปั้นดินเผาตามลำน้ำยมได้มาจอดเรือพักอาศัยและนำโอ่งมาขายในวัดเป็นจำนวนมากจนชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า “วัดหนองโอ่ง” ต่อมา แม่น้ำยมได้เซาะตลิ่งพังเป็นรูปเว้าโค้ง ซึ่งภาษาพื้นบ้านเรียกความเว้าโค้งว่า “โว้ง” จึงพากันเรียกชื่อวัดใหม่ว่า “วัดหนองโว้ง”  ถึงแม้ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จะพระราชทานนามวัดหนองโว้งใหม่ว่า “วัดวาปีวงการาม” แต่คนก็ยังเรียกกันติดปากว่า “วัดหนองโว้ง” มาจนทุกวันนี้
        (ขอบคุณข้อมูลจาก //sti.onab.go.th/index.phpoption=com_content&view=article&id=116)

ที่ตั้งภาพจิตรกรรม: 
โบสถ์เก่า (สมัยรัชกาลที่ ๔ ปัจจุบันใช้เป็นที่เก็บของ) และวิหารหลวงพ่อสองพี่น้อง (สมัยรัชกาลที่ ๗)

เนื้อหา: 
          โบสถ์เก่า  เขียนเต็มผนังทั้ง ๔ ด้านโดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่อยู่เหนือหน้าต่างและประตู ด้านหลังพระประธานเป็นภาพเหล่าเทวดาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ด้านทางเข้าเป็นภาพมารผจญ ส่วนด้านข้างเป็นภาพเทพชุมนุม ๒ แถว สำหรับพื้นที่ระหว่างหน้าต่างและประตูเขียนเรื่องทศชาติครบทั้ง ๑๐ ชาติ ยกเว้นรักแร้ผนัง ด้านหลังพระประธานเขียนภาพปรินิพพานทั้ง ๒ ข้าง ส่วนด้านทางเข้า เข้าใจว่าเป็นภาพพระมาลัย จากสภาพที่เห็น ภาพเขียนยังพอแจ่มชัดอยู่เป็นส่วนใหญ่แต่มีหลายส่วนที่เลอะคราบน้ำฝน ปูนเริ่มร่อนและน่าจะเหลือให้เห็นได้อีกไม่นานเพราะถูกใช้เป็นที่เก็บของซึ่งทั้งอับชื้นและถูกขีดข่วนจากข้าวของที่เก็บอยู่ในห้อง
          วิหารหลวงพ่อสองพี่น้อง เขียนเต็มผนังทั้ง ๔ ด้านโดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนบนสุดโดยรอบแบ่งออกเป็น ๒ แถว แถวบนเขียนภาพนักสิทธิ์ วิทยาธร ส่วนแถวล่างเขียนภาพเทพชุมนุม ส่วนกลางที่อยู่เหนือประตูหน้าต่างเขียนพุทธประวัติ ส่วนล่างสุดที่อยู่ระหว่างประตูหน้าต่างนั้นไม่แน่ใจว่าเขียนเรื่องอะไร หลายภาพเป็นเรื่องราวขององคุลีมาล แต่ก็มีภาพพระมาลัยและภาพชีวิต เช่น การคลอดแบบพื้นบ้าน ปนอยู่ด้วย



โบสถ์เก่า

พระประธาน

ทางเข้า

พระเตมีย์

พระมหาชนก

พระจันทกุมาร

พระเวสสันดร

วิหารหลวงพ่อสองพี่น้อง

พระประธาน


ทางเข้า

ผนังด้านข้าง

วังกรุงกบิลพัสดุ์

ปัญจวัคคีย์

พระมาลัย

ปล้นเกวียน

องคุลีมาล

คลอดลูกแบบพื้นบ้าน

ตะกร้อ

หมากรุก

มหรสพ


Wat Nong Wong, Sukhothai 

Location:
          Mu 1, Tambon Muang Bang Yom, Amphoe Sawankhalok, Sukhothai.

Location of murals: Inside the old Bot (the main temple, 1856, now a storeroom) and inside Vihara (the main assembly hall, 1929).

Stories: 

          In the old Bot, the area above the entrance paints the Buddha’s Victory over Mara. The rest of the areas above the windows are painted with angels’ gathering whereas the areas between windows tell the stories of the Buddha’s Ten Previous Lives.
          In the Vihara, all the 4 walls are divided into 3 sections.  The top one is covered with 2 rows of the gathering of hermits and angels. The middle section above the doors and windows tells the Buddha Story.  The areas between windows are covered with Angulimala’s story as well as Phra Malai and some life scenes.


แผนที่












บล็อค "ชวนชม"  จะเปลี่ยนวัดใหม่ทุกวันที่ ๑, ๑๑  และ ๒๑ ของเดือนนะคะ
A new set of murals will be uploaded on the 1st, 11th and 21st of the month.

ขอขอบคุณกรมส่งเสริมวัฒนธรรมสำหรับการสนับสนุนเบื้องต้นในการจัดทำคลังภาพจิตรกรรม



Create Date : 14 เมษายน 2558
Last Update : 8 สิงหาคม 2558 7:47:37 น.
Counter : 2293 Pageviews.

2 comments
  
ส่วนตัวว่าภาพเขียนในโบสถ์เก่าสวยกว่าในวิหาร อาจจะเพราะมีอายุเก่ากว่า น่าเสียดายว่าเข้ายากถ้าเทียบกับวิหาร

อยากทราบว่าถ้าจะเข้าชมโบสถ์เก่า ต้องติดต่ออย่างไรบ้างครับ
โดย: Bright - J (Bright - J ) วันที่: 17 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา:19:46:53 น.
  
ตอนที่ไป ก็เดินไปขอกุญแจพระที่วัดค่ะ ไม่ได้ติดต่อล่วงหน้า ปกติวัดนี้จะมีพระประจำอยู่ด้านหน้าแถวพระวิหารอยู่แล้วค่ะ
โดย: อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย (nanakawaii ) วันที่: 1 มีนาคม 2562 เวลา:23:40:33 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

nanakawaii
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]



New Comments
เมษายน 2558

 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog