ข้อมูลเล็กน้อยเกี่ยวกับมะเร็งตับอ่อน...มฤตยูที่ฆ่าสตีฟ จ๊อบส์
คงไม่มีข่าวไหนใหญ่ไปกว่าการเสียชีวิตของสตีฟ จ็อบส์ อดีตซีอีโอคนดังของ Apple อีกแล้ว เขาเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 56 ปีจากโรคมะเร็งตับอ่อน (pancreatic cancer) ที่เขาได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี

สตีฟ จ๊อบส์ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับอ่อนในปี 2004 ในตอนนั้นแพทย์วินิจฉัยว่าเขาเป็นมะเร็งตับอ่อนชนิด islet cell neuroendocrine tumor ซึ่งหายากมากๆ (คิดเป็นประมาณ 5% ของผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนทั้งหมด) และมีโอกาสหายได้หากได้รับการผ่าตัด

อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งก็กลับมาคุกคามสตีฟ จ็อบส์อีกครั้ง แม้ว่าจะผ่าตัดเนื้องอกออกไปแล้ว ซึ่งไม่น่าแปลกใจเท่าไร เพราะมีโอกาสมากถึง 85% ที่ผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนจะกลับมาเป็นอีกหลังการผ่าตัด และส่วนใหญ่จะมีชีวิตได้ไม่เกิน 5 ปีหลังการผ่าตัดครั้งแรก

โดยรวม หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับอ่อนแล้ว ผู้ป่วย 75% จะตายภายในหนึ่งปี และ 94% ตายภายในห้าปี แต่มะเร็งแบบที่สตีฟ จ๊อบส์เป็นนั้นรุนแรงน้อยกว่าพอสมควร มีแค่ 58% ของผู้ป่วยเท่านั้นที่ตายภายใน 5 ปีหลังการวินิจฉัย

ทำไมมะเร็งตับอ่อนถึงได้ร้ายแรงนัก?

สาเหตุที่ผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนมีอัตราการตายสูงเหลือเกินนั้นมาจากลักษณะอาการของมันซึ่งมักจะแฝงตัวอยู่เงียบๆ ส่วนใหญ่กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวและมาตรวจ มะเร็งก็ลุกลามจนถึงระยะ metastasis แล้ว (ระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ) มีเพียง 8% เท่านั้นที่โชคดีเจอเนื้องอกก่อนที่มันจะลุกลามเป็นมะเร็ง

แม้ว่ามะเร็งตับอ่อนจะเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตชาวอเมริกันมากเป็นอันดับสี่ แต่ว่าการฆ่าของมันเงียบกริบมาก อาการสำคัญที่จะทำให้แพทย์สงสัยว่าเป็นมะเร็งตับอ่อน คือ ดีซ่าน เนื่องจากเนื้อมะเร็งไปกีดขวางท่อน้ำดี (common bile duct) หรือไปกินเนื้อตับ (liver) ทำให้ร่างกายสะสม bilirubin มากจนผิวหนังกลายเป็นสีเหลือง กรณีที่ผมบอกว่าโชคดีเจอก่อนนั้น ส่วนใหญ่ก็คือกรณีที่เนื้องอกของผู้ป่วยเริ่มลุกลามตรงบริเวณส่วนหัวของตับอ่อนซึ่งใกล้ท่อน้ำดี (คิดดูแล้วกันครับ ขนาดว่าอันที่เจอเร็วๆ ก็ยังต้องรอให้ตัวเหลืองทั้งตัวก่อน)

อาการอื่นๆ ที่สังเกตเห็นได้ของโรคมะเร็งตับอ่อน ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดบริเวณช่องท้อง อาเจียน บางครั้งอาจพบอาการปวดหลังร่วมด้วยในกรณีที่มะเร็งกินลุกลามไปยังเนื้อเยื่อด้านหลัง

นอกจากนั้นการตรวจเนื้องอกในตับอ่อนก็ทำได้ยากอีกด้วย เนื่องจากตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่ลึกเข้าไปในช่องท้อง แม้แต่ CT-scan ก็ไม่สามารถใช้ตรวจหาเนื้องอกได้ จำเป็นต้องตัดเอาชิ้นเนื้อมาตรวจ (biopsy) อย่างเดียว

วิธีรักษา

การรักษามะเร็งตับอ่อนก็สามารถทำได้เหมือนการรักษาโรคมะเร็งอื่นๆ คือ การรักษาด้วยเคมี (chemotherapy) เช่น Gemcitabine, การฉายรังสี, และการให้ยาปฏิชีวนะพวก Tarceva ส่วนการผ่าตัดนั้นเป็นกรณีที่พิเศษจริงๆ มีผู้ป่วยประมาณ 10% เท่านั้นที่แพทย์สามารถให้การผ่าตัดได้

ในการผ่าตัดนั้น แพทย์จะผ่าเอาเนื้องอกรวมทั้งเนื้อเยื่อตับอ่อนออกไปจนเกือบหมด เหลือไว้เพียงประมาณ 5% เท่านั้นเพื่อให้ร่างกายยังสามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ

แม้ว่าผู้ป่วยจะมีชีิวิตได้โดยไม่ต้องมีตับอ่อนเต็มๆ แต่มะเร็งก็ยังคร่าชีวิตได้ด้วยการลุกลามไปยังตับ และทำให้การทำงานของตับล้มเหลว ส่วนการรักษาทางเคมีส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ผลอะไรมากเนื่องจากมะเร็งเติบโตจนเกินเยียวยาแล้ว

นอกจากนี้ต่อให้เป็นมะเร็งตับอ่อนแบบที่ผ่าตัดได้ หากมะเร็งลุกลามไปถึงอวัยวะส่วนอื่นแล้วหรือมะเร็งกินเข้าไปถึงเส้นเลือดหลักที่ไปเลี้ยงช่องท้องส่วนบน (superior mesenteric vein and superior mesenteric artery) แพทย์ที่ไหนก็ไม่สามารถผ่าตัดได้ ขอให้เตรียมกลับไปสั่งเสียคนข้างหลังไว้ได้เลย

บางทีเราอาจจะสามารถนับรวมเรื่องที่สตีฟ จ๊อบส์สามารถต่อสู้กับมะเร็งได้ยาวนานถึง 7 ปี ไว้เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์แห่งชีวิตของเขาก็ได้

หมายเหตุ: ข้อมูลตัวเลขในข่าวนี้เป็นสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกา

ป.ล. Ralph Steinman เจ้าของรางวัลโนเบลร่วมสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ปี 2011 นี้ก็เพิ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนเช่นเดียวกัน

ที่มา: Jusci.com



Create Date : 09 ตุลาคม 2554
Last Update : 9 ตุลาคม 2554 18:37:06 น.
Counter : 429 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Momotoy
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ตุลาคม 2554

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
10
12
13
14
15
16
17
21
23
25
28
29
31
 
 
All Blog