การดูแลน้ำหนักและโภชนาการคุณแม่ตั้งครรภ์
น้องอุ๋ยลูกแม่


อีกเรื่องนึงที่แม่อยากเล่าให้ฟัง ก็คือเรื่องอาหารการกินของแม่ในช่วงที่มีหนูนี่แหละค่ะ


ตอนที่แม่ไปฝากท้องครั้งแรก คุณพยาบาลก็ซักประวัติ วัดความดัน น้ำหนัก ส่วนสูง เพื่อทำประวัติ
ซึ่งในวันนั้น แม่กับป๋าได้เข้าเรียน “โรงเรียนพ่อแม่ ครั้งที่ 1” ซึ่งจัดโดยทางโรงพยาบาลด้วยค่ะ

ฟรีอีกแล้ว อิอิ


ในการอบรมครั้งนี้ เค้าให้แม่ทำตารางน้ำหนัก และทำกราฟด้วย ว่าน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ของคุณแม่แต่ละคน สูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์

หนูลองทายซิลูก ว่าของแม่ สูงหรือต่ำ ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก.......



ถูกต้องนะคร้าบบบบบ ของแม่สูงกว่าเกณฑ์ค่า 5555555


วันที่แม่ฝากครรภ์วันแรก น้ำหนักอยู่ที่ 61.8 กิโลกรัม ซึ่งตอนนั้นท้องได้ประมาณ 2 เดือนแล้ว

ก่อนท้องแม่หนักประมาณ 60 กิโลกรัม แต่น้ำหนักที่เหมาะสมของแม่ (ก่อนท้อง) มันต้องไม่เกิน 50 กิโลกรัม

นั่นแปลว่า แม่มีทุนเดิมมาประมาณ 10 กิโลกรัม.....แม่เจ้า

10 กิโลกรัมที่เกินมา พอๆกับน้ำหนักเฉลี่ยที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะขึ้นตลอดระยะ 9 เดือนเลยนะลูก

เมื่อเป็นดังนั้น คุณหมอจึงแนะนำแม่ว่า แม่ต้องดูแลควบคุมเรื่องโภชนาการระหว่างตั้งครรภ์ให้ดี น้ำหนักจะขึ้นแบบแม่ๆคนอื่นที่เค้าขึ้นกัน 18 โล 20 โลอะไรอย่างนี้ ไม่ได้เชียว

น้ำหนักเหมาะสมที่คุณหมอแนะนำคือ ตลอดการตั้งครรภ์ให้ขึ้นระหว่าง 9-12 กิโลกรัมเท่านั้นค่ะ

ถ้าขึ้นน้อยกว่านี้ ลูกจะตัวเล็ก แต่ถ้าขึ้นเยอะกว่านี้ แม่จะตัวใหญ่ค่ะ 555555


สำหรับช่วงนี้ฝากถึงคุณแม่ท่านอื่นๆที่ยังไม่ทราบว่า ตัวเองน้ำหนักต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์ ลองคำนวนง่ายตามสูตรนี้นะคะ

เอาส่วนสูงของตัวเองเป็นเมตร ยกกำลังสอง (คูณกันเอง) x 20 = น้ำหนักมาตรฐาน

ตัวอย่าง ถ้าคุณแม่สูง 158 เซนติเมตร ก็คำนวนตามนี้ค่ะ

(1.58x1.58)x20 = 49.93 กิโลกรัม บวกลบได้ 3 กิโลกรัม คือ 47-53 กิโลกรัม

ถ้าคุณแม่น้ำหนักน้อยกว่านี้ ในช่วงไตรมาสแรก (12สัปดาห์แรก) ควรอย่างยิ่งที่จะพยายามบำรุงตัวเองให้น้ำหนักขึ้นมาอยู่ตามเกณฑ์ค่ะ

เมื่อเข้าไตรมาสสอง และสาม จึงดูแลน้ำหนักให้เป็นอย่างเหมาะสม

ส่วนคุณแม่ที่น้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ ก็ไม่จำเป็นต้องลดน้ำหนักให้มาเหลือตามเกณฑ์นะคะ เพราะช่วงนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาสำหรับการลดความอ้วนหรือลดน้ำหนักค่ะ เพียงแต่เราต้องเข้มงวดเรื่องโภชนาการให้มากหน่อย และไม่ควรปล่อยให้น้ำหนักขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์มากกว่า 12 กิโลค่ะ


อ่ะ กลับมาที่แผนการควบคุมน้ำหนักกันต่อนะคะลูก

เนื่องจากคุณหมอให้โจทย์มาว่า ตลอดการตั้งครรภ์ แม่จะขึ้นได้แค่ 9-12 กิโลกรัมเท่านั้น

แม่ก็เลยเอามาเขียนลงในกราฟซึ่งอยู่ในคู่มือการตั้งครรภ์ที่ทางรพ.แจก โดยกำหนดน้ำหนักที่ควรจะเป็นในแต่สัปดาห์ ยกตัวอย่างนะคะ

น้ำหนักเป้าหมายตามกราฟของแม่ คือเมื่อถึงกำหนดคลอดในสัปดาห์ที่ 40 น้ำหนักแม่ต้องไม่เกิน 72 กิโลกรัม พูดง่ายๆคือ ขอใช้โควต้า 12 กิโลกรัมเป๊ะๆ 55555

น้ำหนักแม่ตามแผนก็ต้องเป็นดังนี้ค่ะ




จากตาราง จะเห็นว่า ระยะแรก และระยะสุดท้ายของการตั้งครรภ์ น้ำหนักจะไม่ขึ้นเยอะมาก

โดยไตรมาสแรก คุณแม่บางคนน้ำหนักไม่ขึ้นเลยด้วยซ้ำ เนื่องจากมีอาการแพ้ท้อง ซึ่งก็ไม่ต้องวิตกกังวลมาก นอกจากว่าน้ำหนักเดิมจะน้อยกว่ามาตรฐาน อันนี้คงต้องแข็งใจบำรุงกันหน่อย

เฉลี่ยไตรมาสแรกก็จะขึ้นอยู่ประมาณ 2 กิโลกรัมค่ะ

มาไตรมาสที่สอง คือเดือนที่สี่ ถึงเดือนที่หก น้ำหนักก็จะขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1 กิโลกรัม

พอครบหกเดือนหรือครบ 24 สัปดาห์นี่สิ ต้องบำรุงเพิ่มแล้ว เพราะลูกในท้องช่วงนี้โตเร็ว ควรขึ้นเฉลี่ย 2 กิโลกรัม หรืออย่างน้อยต้อง 1.5 กิโลกรัม จำง่ายๆก็สัปดาห์ละครึ่งกิโลแหละ

จนถึงสัปดาห์ที่ 34-35 น้ำหนักคุณแม่จะเริ่มนิ่ง จะขึ้นไม่เยอะแล้ว ขยับขึ้นเล็กน้อย บางคนก็คลอดตั้งแต่สัปดาห์ที่ 36 กันเลยทีเดียว แต่กำหนดคลอดจริงๆจะอยู่ที่ 38-42 สัปดาห์ ถ้าคลอดก่อน 38 สัปดาห์ถือว่าเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด

คุณแม่บางคนน้ำหนักลงเล็กน้อยด้วยซ้ำ แถมบางคน อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียนกลับมาอีกต่างหาก


แม่จะชั่งน้ำหนักทุกวัน แล้วบันทึกไว้ โดยพยายามไม่ให้เกินน้ำหนักตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผน น้ำหนักแรกคลอดของหนูก็จะอยู่ประมาณ 3,200 – 3,500 กรัม และไม่เหลือน้ำหนักส่วนเกินติดตัวแม่ไว้เยอะนัก


จะปล่อยให้เยอะได้ไงล่ะคะ ของเดิมที่มีก็ลดแทบไม่ไหวแล้ว เหอๆ


ตอนนี้ผ่านมาประมาณ 27 สัปดาห์ แม่ก็ยังควบคุมได้ดีอยู่ค่ะ ทั้งนี้ การที่จะควบคุมน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์และลูกออกมาสมบูรณ์ แข็งแรง โภชนาการนั้นสำคัญมากๆ


ทีนี้ เรามาดูโภชนาการที่เหมาะสมกันดีกว่า

โดยปกติแล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่ได้ต้องการอาหารมากมาย แม่หมายถึงปริมาณนะคะ

บางคนเข้าใจว่า มีอีกหนึ่งชีวิตในท้องเลยกินเบิ้ลสอง หุหุ อันนั้นกองอยู่ที่แม่หมดค่ะ

ในแต่ละวัน คุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องการพลังงานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 25 กิโลแคลอรี่ ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แล้วบวก 300 กิโลแคลอรี่

อย่างแม่ตอนนี้หนักประมาณ 65 กิโลกรัม ก็ต้องการ (25x65)+300= 1,925 กิโลแคลอรี่เท่านั้นค่ะ ไม่ต้องเยอะกว่านี้ ในแง่ของปริมาณ

โดยคุณหมอได้แนะนำให้แบ่งมื้ออาหารออกเป็นมื้อเล็กๆ ทานน้อย แต่ทานบ่อย เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการพลังงานที่สม่ำเสมอต่อเนื่องทั้งวัน และยังเป็นการลดอาการคลื้นไส้ แพ้ท้อง อาเจียน และอาการกรดไหลย้อนที่เกิดขึ้นได้ง่ายด้วย

แม่เลยแบ่งมื้ออาหารออกเป็นแบบนี้จ้ะ


มื้อแรกหลังตื่นนอน แม่จะเลือกทานตามที่เห็นในรูปนี้นะคะ




ข้างบนที่เป็นกล่องๆคือ healthy mate รสผัก เป็นซีเรียลชงร้อนคล้ายเนสวีต้า แต่แม่ว่ามันอร่อยกว่า และหวานน้อยกว่า เลยชอบยี่ห้อนี้ค่ะ

ถัดมาคือไมโล แม่ว่าโอวัลตินอร่อยกว่านะ แต่ไมโลน้ำตาลมันน้อยกว่าค่ะ คุณค่าทางอาหารเทียบดูแล้วพอๆกัน เลยเลี่ยงน้ำตาลก่อนดีกว่า หวานมากเดี๋ยวเบาหวานจะถามหา ซึ่งเบาหวานนี่ แม่จะเล่าให้ฟังในตอนถัดๆไปนะจ๊ะ ภาวะเบาหวานเกิดได้ง่าย และอันตรายทีเดียว แต่มันยาว ขอแปะไว้ก่อนนะคะ

โอวัลตินไฟว์เกรน อันนี้ก็อร่อยดีมีประโยชน์ ใยอาหารสูง


โอวัลตินนมถั่วเหลือง และอีกอันคือไวท์มอลต์ สองอย่างนี้แม่เฉยๆค่ะ เอาไว้ทานสลับๆแก้เบื่อ แต่ไม่ค่อยชอบ รู้สึกว่ามันหวาน จะชอบสามอย่างแรกนั้นมากกว่า


แต่ถ้าบางวัน ขี้เกียจชง ขี้เกียจเสียบน้ำร้อน ก็จะเลือกเอาจากข้างล่างนี้จ้ะ





อันแรก เนเจอร์อัพ นมถั่วเหลืองผสมธัญญาหารผสมน้ำส้ม (ผสมหลายสิ่งจัง) อร่อยมากกกกกก แคลอรี่ต่ำ แค่ 80 kcal เอง ใยอาหารสูงกว่าอันอื่น แม่จะหยิบอันนี้บ่อยสุด

ถัดมาเป็น Dumex Mama Prebio Proteq อันนี้ส่วนใหญ่แม่จะเลือกไว้ดื่มช่วงบ่ายหรือก่อนนอนค่ะ จะไม่ค่อยหยิบตอนเช้า เพราะไม่คุ้นกับการกินนมวัวตอนเช้าหรือตอนท้องว่างค่ะ รู้สึกท้องมันปั่นป่วน แต่จำนวนนมคุณแม่ทั้งหลาย แม่ดื่มอันนี้แล้วท้องป่วนน้อยสุด ปกติก่อนท้องแม่ไม่ค่อยดื่มนมวัว

ถัดมา แอนมัม มาเทอร์น่า เป็นนมถั่วเหลืองผสมงาดำ เป็นอีกทางเลือกนึงค่ะ อย่างที่บอก โดยปกติแม่ไม่ค่อยดื่มนมวัว จะดื่มนมถั่วเหลืองเป็นหลัก เห็นตัวนี้ผสมสารอาหารต่างๆที่จำเป็นต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ แม่ก็สอยซะ แต่นมถั่วเหลืองยี่ห้ออื่นๆอย่างแลคตาซอย ดีน่า ฯลฯ แม่ก็ดื่มนะ เพียงแต่ไม่ได้ถ่ายรูปเท่านั้นเอง

มาลี ไอคอน น้ำนมข้าวโพด อันนี้ของโปรดป๋าจ้ะ อีกยี่ห้อคือไวตามิลค์นมข้าวโพด แต่ตอนที่ถ่ายไม่มีในตู้เย็น เลยไม่ได้ถ่ายรูป อร่อยทั้งสองยี่ห้อค่ะ เอาไว้ดื่มสลับๆเหมือนกัน

อันสุดท้าย ทิปโก้ ฟรุตพลัส ตัวนี้ต่างจากน้ำผลไม้อันอื่นๆตรงที่ใยอาหารสูง คุณแม่ตั้งครรภ์ควรทานใยอาหารเยอะๆเพื่อช่วยระบบขับถ่าย เพราะจะเจออาการท้องผูกกันบ่อยๆ

อีกอันที่แนะนำ แต่ไม่มีรูปคือ น้ำพรุนสกัดผสมฟิก ของทิปโก้นี่แหละค่ะ กล่องเล็กๆ ช่วยระบายได้เหมือนกัน


ร่ายมาซะยาว มื้อแรกของวัน ส่วนใหญ่แม่จะเลือกเครื่องดื่มร้อนก่อน นอกจากขี้เกียจชงถึงเลือกเครื่องดื่มเย็น มื้อนี้จะอยู่ที่ประมาณ 80-130 kcal แล้วแต่ว่าจะเลือกกินอะไร


มื้อที่สองคือมื้อเช้าที่เป็นมื้อหลักค่ะ แม่กะทานประมาณ 8.45 – 9.00 น.

ส่วนใหญ่มื้อนี้จะเป็นฝีมือยายของหนูค่ะ ก็จะเน้นโปรตีนเป็นหลัก ที่ง่ายๆก็พวกต้มจืดเต้าหู้หมูสับ ไข่ตุ๋น น้ำพริกผักต้ม หมูทอด บวบผัดไข่ ฯลฯ แล้วแต่ยายจะทำให้

โดยแม่จะตักข้างแค่ประมาณครึ่งทัพพี หรืออย่างมากทัพพีเดียวแบบไม่พูน จะไม่ทานข้าวมาก มื้อนี้ก็อยู่ที่ประมาณ 350-400 kcal แล้วแต่กับข้าวและปริมาณว่าทานมากหรือน้อย (ขึ้นอยู่กับว่า กับข้าวยายมื้อนั้นอร่อยมั้ย
ด้วย อิอิ)

***คุณแม่ท่านไหนที่ทานมื้อเช้าเร็วกว่าแปดโมงเช้า ก็ขยับนมหรืออาหารว่างเป็นตอนสิบโมงเช้าได้ค่ะ ไม่ต้องทานตั้งแต่ตื่น เราทานค่อนข้างสายเลยต้องรองท้องตอนหลังตื่นค่ะ***


มื้อที่สาม คือมื้อเที่ยง ก็อาหารของยายบ้าง ก๋วยเตี๋ยวบ้างไปตามเรื่อง แต่เหมือนเดิม คือเน้นโปรตีนเป็นหลัก ข้าวแป้ง น้ำตาลน้อยๆ

อาหารสุดฮิตของแม่ถ้าไม่ได้กินข้าวกับยาย ก็จะประมาณเส้นหมี่หมู เส้นน้อย พิเศษหมูกับลูกชิ้น ข้าวกระเพราหมูสับ ไข่ดาว แต่กินข้าวแค่ครึ่งเดียวหรือบอกแม่ค้าเอาข้าวน้อย

มื้อนี้ก็ประมาณ 400-500 kcal (กระเพราหมูไข่ดาว แคลอรี่ค่อนข้างเยอะค่ะ)


มื้อที่สี่ ตอนบ่ายสาม แม่ก็จะเลือกเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นจากข้างบนนั่นแหละค่ะ เป็นอาหารว่างช่วงบ่าย เพราะมื้อเที่ยงกับมื้อเย็นห่างกันค่อนข้างมาก บางทีนอกจากเครื่องดื่ม ก็มีขนมทานเล่นบ้าง พวกถั่ว ผลไม้ที่ไม่หวาน เช่นมะละกอ ฝรั่ง สับปะรด ชมพู่ ส้ม ส้มโอ (เคยฮิตทานมะม่วงน้ำดอกไม้สุกอยู่ช่วงนึง น้ำตาลพุ่งปรี๊ดเลยค่ะ หยุดอย่างว่อง) แต่จะไม่ทานพวกขนมถุงๆอย่างมันฝรั่งทอดหรือพวกแป้งๆ มื้อนี้ก็ประมาณ 200 kcal


มื้อที่ห้า หกโมงเย็น ก็เป็นอาหารมื้อหลักทั่วไปค่ะ เน้นโปรตีน ผัก แล้วทานข้าว แป้ง น้ำตาลน้อยๆเหมือนเคย มื้อนี้ก็ประมาณ 400-500 kcal


มื้อสุดท้าย ประมาณสามทุ่ม ก็เป็นพวกเครื่องดื่มข้างบนแหละค่ะ เลือกมาซักอย่าง พอให้ท้องสบาย อย่าทานหนักเดี๋ยวจะอึดอัด นอนไม่หลับ และเกิดอาการกรดไหลย้อนได้ มื้อนี้ 80-130kcal

ครบ 6 มื้อ ก็ประมาณ 1,800-1,900 kcal ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป


ในแง่ของสารอาหาร หรือคุณภาพและคุณค่าของอาหาร อันนี้สำคัญมาก สารอาหารที่คุณแม่ควรได้รับอย่างเพียงพอในระหว่างตั้งครรภ์ มีหลายอย่าง เช่น


โปรตีน จำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความสมบูรณ์ของร่างกายลูกน้อย คุณแม่จึงต้องการโปรตีนเพิ่มขึ้น เช่นเนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่ว โดยเฉพาะเนื้อปลาซึ่งเป็นโปรตีนคุณภาพดี และมีไขมันดีมากกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น นอกจากนี้ควรทานตับสัปดาห์อย่าง 2-3 ครั้ง ดื่มนมหรือนมถั่วเหลืองวันละ2-3แก้ว


คาร์โบไฮเดรตหรืออาหารจำพวกข้าว แป้ง น้ำตาล กลุ่มนี้ให้พลังงาน คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรทานอาหารประเภทนี้มากเกินไป แต่ควรควบคุมด้วยซ้ำ เนื่องจากระหว่างตั้งครรภ์ระบบย่อยไม่ค่อยปกติ อาจทำให้ท้องอืดท้องเฟ้อ และอาจเกิดภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้

โดยเฉพาะน้ำตาล เป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างมาก อย่าอยากอาหารรสหวานหรือขนม ให้เลี่ยงไปทานผลไม้จะดีกว่าค่ะ หรือทานแค่พอหายอยากคำสองคำ อย่าทานเพลิน


ไขมัน กลุ่มนี้ให้พลังงานและความอบอุ่น ร่างกายต้องการ แต่ควรควบคุมไม่ให้ปริมาณมากเกินไปนัก เพราะให้ผลร้ายคล้ายๆกับคาร์โบไฮเดรต แถมดูจะร้ายกว่าด้วยซ้ำ ดังนั้นควรเลี่ยงพวกไขมันสัตว์ อาหารทอดๆทั้งหลาย


กลุ่มวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ อันนี้สิคะที่เหล่าคุณแม่จะต้องให้ความสำคัญ เพราะมีบทบาทต่อการย่อยสารอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์ของลูกน้อย ตลอดจนปรับกลไกต่างๆของร่างกาย ถ้าขาดวิตามินตัวใดตัวหนึ่ง ร่างกายอาจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติหรืออย่างเต็มประสิทธิภาพได้

นอกจากอาหารการกินในมื้อปกติ รวมถึงพวกเครื่องดื่มหรือนมคุณแม่ที่ออกมาวางจำหน่ายเต็มท้องตลาดแล้ว บางครั้งคุณหมอผู้ดูแลครรภ์ก็อาจจ่ายพวกอาหารเสริมให้ด้วยค่ะ


อย่างของแม่เอง ตอนไปฝากครรภ์ครั้งแรก คุณหมอก็จ่ายกรดโฟลิก กับวิตามินบี6 มาให้ โฟลิกจะมีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดงในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ สร้างหลอดประสาทและสมองของหนูให้สมบูรณ์ (สงสัยยายจะไม่ค่อยทานโฟลิกตอนท้องแม่เนอะ สมองแม่เลยดูขาดๆเกินๆชอบกล)

ส่วนวิตามินบี 6 ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างเม็ดเลือดแดง ยังช่วยลดอาการแพ้ท้อง อาเจีย อ่อนเพลียละเหี่ยใจในช่วงไตรมาสแรกได้จ้ะ


พอพ้นไตรมาสแรก คุณหมอก็เปลี่ยนเป็น โอบิมินกับแคลเซียมให้ค่ะ

โดยโอบิมิน ตัวนี้เป็นตัวเสริมสารอาหารที่จำเป็นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร

ส่วนแคลเซียมก็จำเป็นมาก เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องการแคลเซียมมากกว่าปกติเกือบสองเท่า ถ้าได้รับไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน หรือแม้กระทั่งฟันผุได้ รวมถึงแคลเซียมยังช่วยลดอาการตะคริวได้ด้วยค่ะ





ตามรูป คุณหมอจ่ายมาให้แม่สองกระปุกบนค่ะ เป็นโอบิมินกับแคลเซียม ซึ่งแคลเซียมที่คุณหมอจ่าย เป็นแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งแม่ไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่ มันทำมาจากพวกแร่หิน เศษเปลือกหอยเปลือกปู ดูดซึมได้น้อยและตกค้างในร่างกายได้

แม่เลยเลือกที่จะซื้อแถวล่าง อันแรกจากซ้ายมา เป็นแคลเซียมที่เป็นมิลค์แคลเซียม ดูดซึมได้มากกว่า ปลอดภัยกว่า และแน่นอน เสียเงินซื้อเอง เพราะอันที่หมอจ่ายมา แม่ได้มาฟรีค่ะ

แต่บวกลบคูณหารแล้ว ยอมจ่ายดีกว่า เพื่อผลระยะยาว


แถวล่างนี่ แม่ซื้อเองหมดนะคะ คุณหมอไม่ได้จ่ายให้

ตัวแรกเป็นมิลค์แคลเซียม ผสมทองแดง สังกะสี แมกนีเซี่ยม เหล็กและคอโรฟิลล์ แม่กินทดแทนแคลเซียมที่คุณหมอจ่ายอย่างที่บอกไปแล้ว


ตัวที่สอง เป็นน้ำมันปลา คุณหมอไม่ได้แนะนำ แต่แม่ทราบมาว่า น้ำมันปลามี Omega3 , EPA , DHA ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญ และมีความจำเป็นในการช่วยสร้างเซลล์สมองของหนู (คาดว่ายายไม่ได้ทานตอนท้องเหมือนกัน กร๊ากกก)

แต่น้ำมันปลาก็มีข้อจำกัดในการรับประทาน คือควรหยุดเมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 7 เดือน เพราะผลข้างเคียงของการทานน้ำมันปลา จะทำให้เลือดเหลว แข็งตัวยาก เลือดไหลไม่หยุด อาจทำให้แม่เสียเลือดเป็นจำนวนมากในระหว่างคลอดหนูได้จ้ะ เลยต้องหยุดก่อนคลอดซักสองเดือน

อ่อ ถ้าคุณแม่ท่านใดมีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ควรเลี่ยงน้ำมันปลาด้วยนะคะ เพราะน้ำมันปลามีผลให้การควบคุมระดับน้ำตาลไม่ค่อยดีด้วยค่ะ


ตัวที่สามเป็นวิตามินซี ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ทั้งสามอย่างข้างล่างเป็นอาหารเสริมที่แม่ทานเป็นประจำอยู่แล้ว หาข้อมูลและปรึกษาคุณหมอแล้วว่าไม่เป็นอันตราย แม่ก็เลยทานต่อเนื่องค่ะ


อีกอย่างที่สำคัญ นอกจากการดูแลอาหารให้เหมาะสมแล้ว ควรจะงดพวกพวกอาหารมันๆ รสจัด เพื่อลดอาการกรดไหลย้อน ลดอาหารหวาน (เสี่ยงภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์) และเลี่ยงเค็ม เพราะอาจทำให้เกิดอาการบวมได้


ร่ายมายืดยาว สรุปง่ายๆก็คือ การควบคุมน้ำหนักและดูแลโภชนาการระหว่างตั้งครรภ์ ควรเน้นคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ และสิ่งที่สำคัญก็คือ วินัยในการดูแลอาหารการกินค่ะ


ขอบคุณหนูมากนะคะลูกอุ๋ย ที่ทำให้แม่กลายเป็นคนที่มีวินัยในการดูแลตัวเองสุดๆ

เพราะแม่รู้ดีว่า การที่แม่จะเอาอะไรเข้าปาก มันไม่ใช่เพื่อการดำรงชีวิตหรือสนองความยากของปากแม่อย่างเดียวแล้ว แต่มันคือความสมบุรณ์แข็งแรงของหนูด้วย

การที่แม่ควบคุมดูแลตัวเองได้ดีขนาดนนี้ ขอยกความชอบให้หนูเต็มๆเลยลูก นี่ยังคิดๆอยู่ ถ้าแม่มีวินัยในการดูแลการกินมาก่อนหน้านี้ คงลดความอ้วนสำเร็จไปนานแล้ว

หนูว่าแม่เก่งมั้ยล่ะลูก คุมน้ำหนักได้ตามตารางเป๊ะๆ ท้องหนูจะครบเจ็ดเดือนแล้ว น้ำหนักขึ้นมา 6 กิโลกว่าเอง คุณหมอก็บอกว่า หนูแข็งแรง น้ำหนักและขนาดตัวเติบโตในเกณฑ์ดี ผลอัลตราซาวนด์ก็ตามเกณฑ์เป๊ะ หมายมั่นปั้นมือมาก ว่าจนคลอดหนู แม่จะรักษามาตรฐานนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง คือขึ้นไม่เกิน 12กิโล (เพื่อนแม่บางคน น้ำหนักขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ตั้ง 28 กิโลแน่ะ หุหุ)


ขอบคุณป๋าของหนูด้วยนะลูก คนที่ใกล้ชิดแม่ที่สุด ป๋าหนูน่ารักมาก ดูแลแม่ทู้กกกกอย่าง ไม่ขัดใจ ไม่ทำให้แม่หงุดหงิด (ป๋าก็คงรู้แหละ ว่ามันส่งผลถึงหนูเหมือนกัน ก็ป๋าเห่อหนูใช่ย่อยซะที่ไหน) อยากซื้ออะไร ไปไหน กินอะไร ป๋าไม่ขัด จัดให้ทุกอย่าง นี่ยังลุ้นอยู่ คลอดหนูแล้ว ป๋าจะเปลี่ยนไปเห่อหนูแทนแล้วลืมแม่หรือเปล่า 55555


ขอบคุณยายของหนู ที่คอยเป็นห่วง ไถ่ถามความคืบหน้าของหนูตลอด ว่าตัวเล็กเป็นไงบ้างแล้ว ไปตรวจหมอว่ายังไงบ้าง และที่สำคัญ ยายเป็นฝ่ายเสบียงที่ชนะเลิศในสามโลกค่ะลูก กับข้าวแต่ละมื้อ แม่บอกเน้นโปรตีน ยายก็จัดตามคำเรียกร้อง อะไรที่ว่าดี ยายจัดให้ น้ำมะพร้าวนี่ ยายซื้อมาให้แม่ตั้งแต่รู้ว่าแม่ท้อง จนแม่ต้องบอกน่ะ ว่าไว้ท้องแก่ๆค่อยกิน กินท้องอ่อนๆไม่ค่อยดี แถมกลัวน้ำตาลขึ้นด้วย ยายถึงเพลาๆ นี่ยายวางแผนไปจนถึงอาหารหลังคลอดตอนอยู่ไฟแล้วนะเนี่ย


ท้ายสุด ขอบคุณ ปู่กับย่า และป้าๆของหนูด้วย รวมถึงเพื่อนๆของแม่และป๋า ที่ไถ่ถามด้วยความเป็นห่วงตลอดมา อบอุ่นจริงๆบรรยากาศคนท้องเนี่ย จนแม่ชักติดใจการมีลูกซะแล้วสิ


ไว้หนูคลอดมา เรามาประชุมกันนะลูก แม่ ป๋า หนู ว่าเราจะมีน้องให้หนูอีกซักคนดีมั้ย??


ตอนนี้ ลุ้นให้หนูลืมตาบนโลกนี้อย่างแข็งแรง ปลอดภัย นี่คือสิ่งที่แม่และป๋ารอคอยอย่างที่สุด


รักหนูที่สุดในชีวิตเลยลูก


แม่น้องอุ๋ย





Create Date : 19 มีนาคม 2555
Last Update : 19 มีนาคม 2555 10:51:52 น.
Counter : 70678 Pageviews.

2 comments
  
ช่างเป็นบทความที่อ่านแล้ว เราบอกตรงๆ ว่าเรารู้สึกประทับใจม๊วกๆ เลย

ขอเปนแรงกำลังใจ +1 น่ะจ้าาา
แม่ท้อง ท้องแรก ท้องยาก ตั้งครรภ์ คลอด
โดย: น้องเทพโคตรน่ารัก วันที่: 14 ตุลาคม 2555 เวลา:23:45:29 น.
  
ได้ความรู้ดีค่ะ

ฝากเพจ เคล็ดลับ...ลดหุ่นหลังคลอด //bit.ly/like-fmo-page
โดย: มะนาว (สมาชิกหมายเลข 2716342 ) วันที่: 21 ตุลาคม 2558 เวลา:9:49:23 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มังกรเผือก
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



มีนาคม 2555

 
 
 
 
1
2
3
4
5
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31