"เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา จงเลือกเอา สิ่งดี ที่มีอยู่ เป็นประโยชน์ แก่โลกบ้าง ยังน่าดู ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย" "ท่านพุทธทาส"

 
พฤศจิกายน 2553
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
13 พฤศจิกายน 2553
 

การเมืองเรื่องก๋วยเตี๋ยว


ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์เครือข่ายวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน

"ก๋วยเตี๋ยว" เป็นอาหารที่เกือบจะกลายเป็นอาหารหลักของคนไทย
ในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเป็นอาหารที่หารับประทานได้ง่าย สะดวก และมีให้เลือกหลากรสชาติ จนมีคำกล่าวว่า เราสามารถทานก๋วยเตี๋ยวติดต่อกัน
สามเดือนโดยไม่ซ้ำรสชาติและประเภทได้ นอกจากก๋วยเตี๋ยวจะเป็น
อาหารยอดนิยมสำหรับทุกเพศ ทุกวัย แล้ว คุณทราบหรือไม่ว่า
ในสมัยหนึ่ง "ก๋วยเตี๋ยว"เป็นเครื่องมือที่ " ผู้นำ" ประเทศ ใช้เป็นนโยบาย
ในการบริหารประเทศ "ก๋วยเตี๋ยว" จะมีความเกี่ยวพันกับกฎหมายและการเมืองอย่างไร? และจะมีความสำคัญกับประเทศไทยแค่ไหน?
มาอ่านรายละเอียด ของเรื่องนี้กันนะคะ

ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๗ เป็นช่วงที่ประเทศไทยตกอยู่
ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น พันเอกหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งดำรง
ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีแนวคิดที่จะใช้นโยบาย
"รัฐนิยม" ปลุกระดมความรักชาติให้ประชาชนคนไทย มีความรัก
ความหวงแหนในความเป็นไทยและปรับปรุงวัฒนธรรมของไทย
ให้เหมือนอารยประเทศ โดยออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
จำนวน ๑๒ ฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้คนไทยต้องมี
"ประเพณีนิยมประจำชาติ" เพื่อให้เป็นชนชาติที่มีคุณสมบัติทัดเทียม
กับอารยประเทศ ซึ่งนโยบาย "รัฐนิยม" นี้ มีผลให้คนไทยต้องปรับเปลี่ยน
วิถีการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เช่น การกำหนดให้ประชาชน
ต้องแต่งกายแบบสากลนิยม ต้องใส่หมวกเมื่อออกจากบ้านไปติดต่อ
กับทางราชการ เพื่อแสดงถึงความมีวัฒนธรรม หรือที่เรียกกันว่า "มาลา
นำไทยไปสู่มหาอำนาจ"เป็นต้น

นโยบาย "รัฐนิยม"ที่สำคัญประการหนึ่งของ"ท่านผู้นำ" ในขณะนั้น
คือการส่งเสริมให้ประชาชนทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้บริโภคใน
ครอบครัว และนำผักสวนครัวและเนื้อสัตว์นั้นมาปรุงเป็น “ก๋วยเตี๋ยว”
ซึ่งเหตุผลในการที่ “ท่านผู้นำ” ได้เลือก “ก๋วยเตี๋ยว” มาเป็นอาหาร
ที่ต้องส่งเสริมให้คนไทยกินกันนั้นได้มีการกล่าวถึงเหตุผลในเรื่องดังกล่าว
ไว้ในบทประพันธ์เรื่องสี่แผ่นดิน ของ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ดังนี้
“เขาเล่ากันว่า ใครก็ไม่รู้เกิดนึกสนุกทำก๋วยเตี๋ยวเรือไปเลี้ยง
ในทำเนียบ ระหว่างน้ำท่วมอย่างไรล่ะ พอท่านผู้มีบุญวาสนาท่าน
ได้รับประทานก๋วยเตี๋ยวอร่อยกันเข้า ท่านก็เห็นว่าก๋วยเตี๋ยวเป็นของดี
เป็นของวิเศษ เลยเกิดเรื่องนิยมก๋วยเตี๋ยวกันเป็นการใหญ่ ชักชวนให้
ราษฏรกินก๋วยเตี๋ยวกันให้กลุ้มไปหมด และนัยว่าๆ จะสับสนุนให้คนไทย
ขายก๋วยเตี๋ยวเป็นการใหญ่ด้วย”

เมื่อวิเคราะห์สาเหตุของการเลือก “ก๋วยเตี๋ยว” มาเป็นสัญญลักษณ์
ในการดำเนินนโยบายทางการเมืองของ “ท่านผู้นำ” ก็คงได้บทสรุปว่า
เนื่องจาก “ท่านผู้นำ” เห็นว่า ก๋วยเตี๋ยว มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์
ต่อร่างกายครบถ้วน ปรุงง่าย และมีรสชาติอร่อย และเพื่อให้นโยบาย
ดังกล่าวเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม “ท่านผู้นำ” จึงออกหนังสือเวียนไปยัง
ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้
ข้าราชการในจังหวัดนั้นๆ เช่น นายอำเภอ และครูใหญ่ทุกโรงเรียน
ต้องขายก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งหาบ เพื่อเป็นตัวอย่างให้ประชาชนเห็น
และทำตาม นอกจากนั้น ยังให้กรมประชาสงเคราะห์จัดทำคู่มือ
การทำก๋วยเตี๋ยวแจกจ่าย สมัยนั้น ข้าราชการที่มีหน้ามีตา
จึงต้องขายก๋วยเตี๋ยวกันเป็นการใหญ่ ประกอบกับขณะนั้นเศรษฐกิจ
ของประเทศตกต่ำเกิดสภาวะเงินเฟ้อ “ท่านผู้นำ” จึงมีแนวคิด
ที่จะใช้ “ก๋วยเตี๋ยว” เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ของประเทศด้วยดังจะเห็นได้จากการที่"ท่านผู้นำ" ได้ออกประกาศ
เชิญชวนให้คนไทยกินก๋วยเตี๋ยว เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕
ว่า
"อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยว มีประโยชน์
ต่อร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวานพร้อม ทำเองได้ในประเทศไทย
หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละ
หนึ่งชามทุกวัน วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลง
วันหนึ่งค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทยหนึ่งวันเท่ากับเก้าสิบล้านสตางค์
เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้
เงินเก้าแสนบาทนั้น ก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเลทั่วกัน
ไม่ตกไปอยู่ในมือใครคนหนึ่งคนใดเพียงคนเดียว และเงินหนึ่งบาท
ก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรก็ไม่ได้
เหมือนอย่างทุกวันนี้ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยชน์เต็มที่ในค่าของเงิน.."

และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมากินก๋วยเตี๋ยวตาม
นโยบายของ “ท่านผู้นำ” วงดนตรีสุนทราภรณ์ก็ได้แต่งเพลง
"ก๋วยเตี๋ยว" ขึ้นเพื่อใช้ในการเชิญชวนให้คนไทยหันมาขาย
และรับประทานก๋วยเตี๋ยวกัน โดยเนื้อเพลง มีดังนี้
"ก๋วยเตี๋ยวเอ๊ย...ก๋วยเตี๋ยวมาแล้วจ้า...ก๋วยเตี๋ยวมาแล้วจ้า..
ก๋วยเตี๋ยวจ้า...ก๋วยเตี๋ยวเอ๊ย...ของไทยใช้พืชผล เกิดใน
ไทยรัฐทั้งสิ้น...ทรัพย์ในดินหาได้ทั่วไป ...ช่วยซื้อขายกันให้มั่งมี
เพราะไทยเรานี้ช่วยกันตลอดไป..."

นอกจากนั้นผลพวงจากนโยบาย"รัฐนิยม" ที่ต้องการปลุกระดม
ความรักชาติให้คนไทยมีความรัก ความหวงแหนในความเป็นไทยของ
ท่านผู้นำในสมัยนั้น ยังได้ก่อกำเนิดให้เกิดอาหารประจำชาติไทยขึ้น
อีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนี้ นั่นก็คือ "ก๋วยเตี๋ยว
ผัดไทย"

โดยในขณะนั้นแม้ "ท่านผู้นำ" จะเห็นว่าก๋วยเตี๋ยวจะมีรสชาติ
อร่อยและมีประโยชน์มากมายขนาดไหน แต่ต้นกำเนิดของก๋วยเตี๋ยวนั้น
ก็มาจากคนจีน ไม่ใช่อาหารไทยแท้ๆ จึงดำริให้มีการคิดสูตรก๋วยเตี๋ยว
ที่มีเอกลักษณ์เป็นไทยแท้ๆ ขึ้น ซึ่งก็ได้มีการนำ "ก๋วยเตี๋ยวผัด"
มาดัดแปลงสูตรให้มีความเป็นไทยมากขึ้น โดยนำเส้นจันทร์มาผัด
และหั่นเต้าหู้เหลืองเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ลงไป ใส่กุ้งแห้ง ใบกระเทียม
แล้วตอกไข่ คนให้ทั่ว ปรุงรสด้วย น้ำมะขามเปียก พริกป่น ถั่วป่น
หากใส่กุ้งใหญ่ ก็จะได้ผัดไทยกุ้งสด ประดับจานด้วยถั่วงอก
และต้นกระเทียม โดยผัดไทยนั้นจะต้องไม่ใส่หมู เพราะเหตุว่า
ในขณะที่คิดค้นสูตรนั้นถือว่า เนื้อหมูเป็นอาหารของคนจีน เพราะคนไทยแท้ๆ จะกินแต่ผัก ปลา ไก่ เป็นอาหารหลัก เนื้อหมูนั้นจะกินก็ต่อเมื่อมีงานฉลองใหญ่ๆ เท่านั้น ดังนั้น "ผัดไทย" ซึ่งเป็นอาหารที่ต้องการให้มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยแท้ๆ จึงต้องไม่มีหมูซึ่งเป็นอาหารหลักของคนจีนมาประกอบให้เสียเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทย

(ขอขอบคุณภาพประกอบ "ผัดไทย" จาก //www.thai-delicious-foods.blogspot.com)

แม้นโยบาย “รัฐนิยม” ในสมัยนั้น จะมีผลกระทบกับสิทธิและ
เสรีภาพของประชนโดยตรง แต่ในสมัยนั้นเป็นสมัยที่ประเทศไทย
เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
มาเป็นระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ดังนั้น แนวความคิด
เรื่องประชาธิปไตยสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนก็ยัง
ไม่แพร่หลายนัก ประชาชนจึงยังคุ้นเคยกับการทำตามคำสั่งของ
“ทางการ” โดยไม่มีใครกล้าโต้แย้งคัดค้านหรือแสดงความเห็น
เป็นอย่างอื่น ซึ่งความคิดของประชาชนในขณะนั้น ก็ได้ถูกสะท้อน
เอาไว้ในบทประพันธ์ เรื่อง สี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
ว่า
“ตายแล้ว ! พลอยร้อง นี่ฉันมิต้องถูกบังคับให้ขายก๋วยเตี๋ยวด้วยอีกคนหนึ่ง เหมือนกับเมื่อครั้งนิยมใส่หมวกกันนั่นหรือ..เห็นจะไม่ถึงเพียงนั้นหรอกแม่พลอย.. พ่อเพิ่มตอบพลางหัวเราะชอบใจ .. เพียงแต่กินก๋วยเตี๋ยวบ่อยๆ ก็เห็นจะช่วยชาติพอแล้วสำหรับเรา แต่ก็อย่าเพิ่งไปแน่ใจอะไรนัก
สมัยนี้จะไปคาดหมายอะไรให้แน่นอนก็ยาก สิ่งไรที่ไม่เคยพบก็ได้พบ
ที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น ฉันเองก็อ่อนใจเหมือนกัน...”

และความอีกตอนหนึ่งว่า“ทีแรกฉันก็ไม่เชื่อนึกว่าหูฉัน
ได้ยินผิดไป แต่แล้วก็จริง เขาพูดกันถึงเรื่องคุณวิเศษต่างๆ ของก๋วยเตี๋ยว
จนไม่รู้จะฟังอย่างไรได้ เดี๋ยวนี้ถึงกับว่าๆ ก๋วยเตี๋ยวชามเดียวนี้แหละ
อาจแก้เศรษฐกิจของชาติได้ อ้อ! แล้วถ้าใส่หมวกอีกใบหนึ่ง
กินก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งละก้อ เป็นมหาอำนาจได้เลย แม่พลอยเอ๋ย”

จากปรากฏการณ์การเมืองเรื่องก๋วยเตี๋ยวที่กล่าวมาแล้ว
ใครจะคิดว่าเพียงแค่ “ก๋วยเตี๋ยว” อาหารจานเดียวพื้นๆ ที่ปรุงง่าย
กินง่าย และมีให้เห็นในทุกตรอกซอกซอย จะมีความความสำคัญ
ถึงขนาดที่“ท่านผู้นำ” ของประเทศไทยในยุคสมัยหนึ่งใช้เป็นเครื่องมือ
ในการ “สร้างชาติไทย” เลยทีเดียว

และจากเรื่อง“ก๋วยเตี๋ยว” นี้ ก็ได้ให้ข้อคิดและสะท้อนให้เห็นนัยสำคัญอย่างหนึ่งว่า คนทุกคน ของทุกอย่าง ล้วนมีด้านที่ดีแฝงอยู่ในตัวเองทั้งสิ้น แม้รูปลักษณ์ หรือคุณสมบัติของคนหรือของสิ่งนั้นจะเรียบง่าย
ไม่โดดเด่นสะดุดตาก็ตาม แต่ก็อยู่ที่ว่าใครจะมีวิสัยทัศน์และสายตา
ที่แหลมคมมองเห็น “สิ่งดีๆ” ที่แฝงอยู่ในตัวบุคคลหรือสิ่งของนั้น
และดึงออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ได้มากน้อยเพียงใด ดังเช่นการที่
“ท่านผู้นำ” ในอดีตของไทย ได้หยิบยกเอาของธรรมดาๆ อย่าง
“ก๋วยเตี๋ยว” มาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
และใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างชาติไทย รวมทั้งทำให้ “ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย”
กลายเป็นอาหารประจำชาติไทยที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก
มาจนถึงปัจจุบัน

นโยบายเรื่อง “ก๋วยเตี๋ยวสร้างชาติ” ดังกล่าว น่าจะเป็นข้อคิดให้
นักการเมืองไทยหรือ “ชนชั้นปกครอง” ของไทยในปัจจุบันนำมา
ใคร่ครวญและปรับใช้ให้เหมาะสมกับกาลปัจจุบันได้เพราะอย่างน้อย
นโยบายส่งเสริมให้กิน “ก๋วยเตี๋ยว” ก็จะน่าจะส่งผลดีต่อประเทศชาติมากกว่าการชวนกันกิน “เกาเหลา” นะคะ หรือท่านผู้อ่านเห็นว่าอย่างไร?

(ขอบคุณภาพประกอบ"เกาเหลา" จาก //farm2.static.flickr.com/1356/1344675903_93cb534e96.jpg



Create Date : 13 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2553 0:04:08 น. 2 comments
Counter : 4440 Pageviews.  
 
 
 
 
อยากกินอิตายแล้ว อาย่อยหม้ายอ่ะ
 
 

โดย: น้องม่อนต่อน IP: 203.172.212.193 วันที่: 4 กรกฎาคม 2554 เวลา:15:32:15 น.  

 
 
 
ต้องขอโทษด้วยนะคะ ป้าเน็ทเพิ่งสังเกตุว่าคุณมีบล๊อกด้วยค่ะ วันนี้เลยเข้ามาเยี่ยม ถึงบ้านนี้จะเก่าแล้วก็ตาม อยากให้ปัดฝุ่นมาคุยกันนะค๊า...
 
 

โดย: phanet วันที่: 5 มิถุนายน 2555 เวลา:16:57:20 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

ระกำอบน้ำผึ้ง
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add ระกำอบน้ำผึ้ง's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com