"พี่ปาย" กับ "น้องพราว"
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
24 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 
วัคซีน IPD

วัคซีน"ไอพีดี" หรือเข็มนี้มีความสำคัญ

"วัคซีนไอพีดี" เป็นชื่อของวัคซีนราคาแพงเข็มใหม่ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นต่อคุณภาพชีวิตของเด็กในปัจจุบัน โดยชื่อของ IPD มาจากคำว่า Invasive Pneumococcal Disease ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสขั้นรุนแรง (ประกอบด้วยกลุ่มโรครุนแรงสองกลุ่มคือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด)

ชื่อโรค "เยื่อหุ้มสมองอักเสบ" และเชื้อแบคทีเรีย "นิวโมคอคคัส" อาจฟังไม่สะดุดหูสำหรับผู้ที่ไม่ทราบว่าตนเองตกอยู่ในภาวะเสี่ยง แต่ก็เป็นสองชื่อที่สร้างความหวาดหวั่นให้กับวงการกุมารแพทย์ และผู้ปกครองของเด็ก ๆ จำนวนมาก หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศตัวเลขการเสียชีวิตในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบถึงกว่าปีละ 2 ล้านคนต่อปีจากการติดเชื้อดังกล่าว (ส่วนมากของการเสียชีวิตเกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งมีฐานะยากจนและไม่สามารถจ่ายเงินซื้อวัคซีนราคาแพงชนิดนี้ได้) ซึ่งความรุนแรงของปัญหานี้ยังทำให้ WHO ขอความร่วมมือให้แต่ละประเทศพิจารณาบรรจุวัคซีน IPD ให้เป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กเล็ก โดยในปัจจุบันมี 37 ประเทศที่บรรจุวัคซีนไอพีดีอยู่ในแผนสาธารณสุขแห่งชาติ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดาออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง รวมถึงประเทศในสหภาพยุโรปอีกจำนวนมาก

กระเทาะเชื้อ"นิวโมคอคคัส"

เชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า สเตปโตคอคคัส นิวโมนิเอ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคปอดบวมที่ทำให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกเสียชีวิต และยังทำให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรงอื่น ๆ ตามมาได้ ยกตัวอย่างเช่น การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง (ทำให้เกิดอาการปอดบวม หรือปอดอักเสบ) การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (ทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบ หูน้ำหนวก หรือหูชั้นกลางอักเสบ) การติดเชื้อในกระแสเลือด และการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง (ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ)

ทั้งนี้ อาการและความรุนแรงของโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ติดเชื้อ หากติดเชื้อในระบบประสาท เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีอาจเสียชีวิตหรือเกิดความพิการได้ แต่ถ้าหากติดเชื้อในกระแสเลือด อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา และเชื้อยังสามารถกระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด กระดูก เยื่อหุ้มสมองได้

เชื้อนิวโมคอคคัสนี้สามารถพบได้ทั่วไปในโพรงจมูกและลำคอของคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ การไอ จาม จึงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการแพร่กระจายเชื้อโรคดังกล่าว สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดโรค IPD ได้คือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กที่มีอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก เด็กในชุมชนแออัด เด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือเด็กที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด เป็นต้น

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และประธานการจัดงานประชุมสัมมนาแพทย์ระดับชาติ เรื่องโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในประเทศไทย ครั้งที่ 1 เปิดเผยว่า "ปัญหาของเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสในปัจจุบันคือการดื้อยา ทันทีที่มีการพัฒนายาปฏิชีวนะตัวใหม่ขึ้นมา ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดเชื้อโรคดื้อยาตัวใหม่ขึ้นมา ทำให้วงการสาธารณสุขของไทยต้องมีการศึกษาวิจัยว่าจะรับมือโรคนี้อย่างไรจึงจะเหมาะสม"

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีน IPD เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถป้องกันโรคได้ โดย นพ.ทวีชี้แจงถึงว่า เป็นเพราะที่ผ่านมาหากเป็นการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแล้ว โอกาสที่เชื้อโรคจะดื้อยามีสูง แต่ยังไม่เคยมีกรณีของเชื้อโรคดื้อวัคซีนมาก่อน ส่งผลให้การป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัสด้วยวัคซีนจึงได้รับความนิยม

"การพิจารณาว่าจะใช้วัคซีนหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงปัญหาที่เกิดในประเทศ ว่าระหว่างการรักษาไปเรื่อย ๆ กับการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน ด้านไหนมีความเหมาะสมมากกว่ากัน ข้อมูลจากการทำวิจัยซึ่งเป็นข้อมูลที่ยืนอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มีความสำคัญมากต่อปัญหานี้ เพราะจะช่วยยืนยันว่ามันคุ้มค่าไหมสำหรับคนไทย ตอนนี้เรายังขาดข้อมูลในอีกหลายส่วน และต้องวิจัยต่อไป เพื่อจะได้มองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมว่า ปัญหาของประเทศไทยใหญ่แค่ไหน"

อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชากรเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีไม่สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวมีราคาแพง (ประมาณเข็มละ 3,500 - 5,000 บาท) ทั้งนี้บริษัทผู้ผลิตยาในต่างประเทศได้อ้างถึงเทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้ในการผลิต ทำให้ไม่สามารถลดราคาค่าวัคซีนลงได้ และหากถามถึงศักยภาพของประเทศไทยในการผลิตวัคซีนขึ้นใช้เองนั้น นพ.ทวีกล่าวว่า เทคโนโลยีของประเทศไทยยังไม่ก้าวหน้าในระดับดังกล่าว จึงทำให้โอกาสในการผลิตวัคซีนขึ้นใช้เองนั้นไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลย

ด้วยเหตุนี้ ทำให้แนวทางการรักษาของประเทศไทยจึงยังคงพึ่งพายาปฏิชีวนะร่วมกับวิธีทางการแพทย์อื่น ๆ ซึ่งจะได้ผลดีหากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แต่กรณีที่พบเชื้อนิวโมคอคคัสดื้อยา ก็จะกลายเป็นปัญหาทางการรักษาทันที และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนถึงแก่ชีวิต หรือพิการทางสมองได้

นอกเหนือจากการฉีดวัคซีนแล้ว แนวทางป้องกันที่ดีที่สุดอาจเป็นการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ เนื่องจากน้ำนมแม่มีสารอาหาร - ภูมิต้านทานที่จำเป็นต่อการเติบโตของทารก อีกทั้งยังต้องสอนให้เด็กมีสุขอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อย ๆ รวมถึงการหลีกเลี่ยงการพาลูกไปในที่ที่มีคนเยอะ เพื่อลดโอกาสในการสัมผัสเชื้อโรค เหล่านี้ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันได้เช่นกัน




Create Date : 24 ตุลาคม 2554
Last Update : 24 ตุลาคม 2554 13:41:32 น. 0 comments
Counter : 466 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

inlovepai2525
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add inlovepai2525's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.