Group Blog
 
 
มกราคม 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
18 มกราคม 2551
 
All Blogs
 
Ubuntu Manual Guide

การใช้งานเบื้องต้น

ในบทนี้จะแนะนำเรื่องของการใช้งานในเบื้องต้น ตั้งแต่แนะนำให้คุณรู้จักกับส่วนต่างๆบนหน้าจอ การปรับแต่งค่าพื้นฐานเล็กๆน้อยๆ ไปจนถึงแนะนำโปรแกรมสำหรับใช้งานทั่วไป ที่ได้รวบรวมมาแล้วพร้อมกันในแผ่น Ubuntu
รู้จักกับระบบไฟล์และโฟลเดอร์

หลังจากที่เราติดตั้งกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนที่เราจะเปิดเครื่องเพื่อทำความรู้จักกับส่วนต่างๆของ Ubuntu นั้น สิ่งแรกที่คุณควรรู้และทำความเข้าใจไว้ก่อนคือเรื่องของระบบไฟล์และโฟลเดอร์ของ Ubuntu ครับ

ระบบไฟล์ของ Ubuntu หรือแม้แต่ลินุกซ์ตัวอื่นๆก็ตาม จะไม่เหมือนกับ Windows ที่เราจะเห็นว่ามี Drive C, Drive D นะครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจไว้ก่อน เดี๋ยวจะงง

เมื่อถึงตอนที่คุณเริ่มใช้งานแล้ว คุณจะเห็นพาธต่างๆของ Ubuntu ซึ่งผมจะอธิบายคร่าวๆไว้ เฉพาะพาธที่สำคัญๆ ว่าพาธไหนคืออะไรครับ

* / : root path พาธที่เป็นต้นราก
o bin : เก็บไบนารี่คำสั่งต่างๆของระบบไว้
o boot : เก็บไฟล์ที่จำเป็นสำหรับการบูตระบบ
o etc : เก็บการตั้งค่าที่จำเป็นสำหรับโปรแกรมต่างๆ
o home : คล้าย My Document
+ user1 : My Document ของผู้ใช้ชื่อ user1
# Desktop : Desktop ของ user1
# .Trash : ถังขยะของ user1
+ gumara : My Document ของ gumara
# Desktop : Desktop ของ gumara
# .Trash : ถังขยะของ gumara
o media : อุปกรณ์ต่างๆเรียกใช้ได้ที่นี่ เช่น CD, Floppy
+ cdrom : Drive CD
+ fda0 : Floppy
o sbin : เก็บคำสั่งสำคัญของระบบ เช่น ปิดเครื่อง, รีสตาร์ท
o tmp : ที่เก็บไฟล์ชั่วคราว จะถูกลบเมื่อรีสตาร์ท
o usr : ที่เก็บไฟล์ต่างๆที่ผู้ใช้จะใช้
o bin : เก็บคำสั่งต่างๆ
+ firefox : คำสั่งเรียก Firefox
+ openoffice : คำสั่งเรียก OpenOffice.org

ทั้งหมดนี้เป็นพาธสำคัญๆที่น่าจะรู้จักไว้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อใช้งานคุณคงไม่ได้ยุ่งกับพาธเหล่านี้โดยตรงสักเท่าไหร่ ซึ่งจริงๆแล้วผมแค่อยากให้คุณรู้จักไว้เท่านั้น เผื่อว่าเปิดเข้ามาเจอว่ามันไม่เหมือนที่เคยใช้บน Windows จะได้ไม่ต้องตกใจ
เปิดเครื่อง

หลังจากที่ได้ทำการติดตั้ง Ubuntu เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อคุณทำการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ คุณจะได้พบกับเมนูสำหรับเลือกระบบปฏิบัติการ (กรณีติดตั้งคู่กับ Windows) เพื่อที่คุณจะสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าใช้งาน Ubuntu หรือ Windows ตามภาพจะเห็นว่าในเมนูจะมีให้เลือกอยู่หลายตัว ซึ่งจะมีอยู่ 3 ตัวเลือกที่สำคัญคือ

* Ubuntu : สำหรับเข้าใช้งาน Ubuntu
* Recovery mode : เพื่อแก้ไขปัญหาสำหรับ Ubuntu
* Windows : สำหรับเข้าใช้งาน Windows

เมื่อผ่านจากเมนูสำหรับเลือกระบบปฏิบัติการมาแล้ว คุณจะพบกับหน้าต่างล๊อกอิน เพื่อเข้าระบบ ที่หน้าจอนี้คุณจะเห็นช่องสำหรับกรอกชื่อผู้ใช้ ที่ด้านบนเขียนกำกับไว้ว่า Username: ให้คุณกรอกชื่อที่ตั้งไว้ในตอนที่ติดตั้ง จากนั้น Enter หนึ่งครั้ง คำว่า Username: ที่เขียนกำกับไว้จะเปลี่ยนเป็น Password: ให้คุณกรอกรหัสผ่านลงไป เสร็จแล้วระบบจะพาคุณเข้าสู่หน้าจอการใช้งาน Ubuntu
หน้าจอการทำงาน

หน้าจอของ Ubuntu แม้จะมีความเรียบง่ายมากแล้ว แต่สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มใช้ ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรหากจะหยิบจับอะไรไม่ค่อยถูกเพราะความไม่เคยชิน เพราะฉะนั้นผมจะพาไปทำความรู้จักกับส่วนต่างๆของหน้าจอกันสักเล็กน้อยครับ

อธิบายตามภาพนะครับ

1. เมนูต่างๆสำหรับเรียกโปรแกรม ซึ่งเดี๋ยวจะอธิบายอีกทีครับ
2. Application Launcher สำหรับเรียกโปรแกรม
3. ตัวแจ้งเตือนการอัพเดทระบบ
4. System tray สำหรับแสดงสถานะของระบบ และโปรแกรมที่ทำการซ่อนตัวอยู่
5. ปุ่มปิดเครื่องและออกจากระบบ
6. ปุ่มแสดงหน้าจอ สำหรับซ่อนและแสดงหน้าต่างทั้งหมด
7. Window List จะแสดงโปรแกรมต่างๆที่กำลังทำงานอยู่
8. Workspaces Switcher สำหรับสลับหน้าจอการทำงานเสมือน
9. Trash ถังขยะเก็บไฟล์ที่ถูกลบแล้ว

เมนูหลักของ Ubuntu

จากภาพ ในลำดับที่หนึ่งจะเห็นเมนูอยู่ทั้งหมด 3 เมนูคือ Applications, Places และ System ซึ่งเมนูแต่ละอย่างจะมีหน้าที่ต่างกันดังนี้ครับ
เมนู Applications

โปรแกรมต่างๆจะถูกจัดหมวดหมู่เก็บไว้เป็นอย่างดีในเมนูนี้ ซึ่งคุณสามารถเรียกใช้โปรแกรมต่างๆที่มีได้ ผ่านทางเมนู Applications นี้เลยครับ
เมนู Places

ที่เมนูนี้จะเก็บ Shortcut สำหรับเข้าถึงโฟลเดอร์สำคัญต่างๆไว้ เช่น Home (คล้าย My Document), Computer (คล้าย My Computer) หรืออื่นๆ ที่เห็นตามในเมนูครับ
เมนู System

ในเมนู System จะมีอยู่สองส่วนสำคัญคือการตั้งค่า Preferences หมายถึงการตั้งค่าส่วนตัว และ Administration หมายถึงการปรับแต่งค่าของระบบ

ทั้งหมดนี้คือส่วนประกอบหลักๆบนหน้าจอของ Ubuntu เมื่อเราติดตั้งเสร็จ และด้วยความยืดหยุ่นของ Linux ทำให้เราสามารถปรับแต่งได้ตามใจชอบครับ
ปรับแต่งการแสดงผล

ในตอนนี้เราจะมาปรับแต่ง Ubuntu ของเราในส่วนของการแสดงผลกันครับ เช่นเดียวกับระบบปฏิบัติการอื่นๆ Ubuntu สามารถปรับแต่งการแสดงผลได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งก็เพียงพอต่อความต้องการแล้วครับ
ความละเอียดหน้าจอ

เมื่อคุณติดตั้ง Ubuntu เสร็จ Ubuntu จะเลือกความละเอียดมากที่สุด ที่จอภาพและการ์ดแสดงผลรองรับ ซึ่งบางครั้งมันก็ละเอียดมากซะจนทำให้ไอคอนและตัวหนังสือต่างๆนั้นดูเล็กไปซะหมด ซึ่งเราสามารถปรับความละเอียดของหน้าจอให้ตรงตามความต้องการได้ครับ การปรับค่าความละเอียดหน้าจอนั้นสามารถทำได้ โดยไปที่ เมนู System > Preferences > Screen Resolution หน้าต่างการตั้งค่าความละเอียดหน้าจอจะถูกเรียกขึ้นมา ซึ่งคุณสามารถเลือกความละเอียดได้ตามต้องการครับ เสร็จแล้วกดที่ Apply เพื่อใช้งานค่าที่เลือกได้ทันทีครับ
เปลี่ยนภาพพื้นหลัง

ก่อนที่จะเริ่มเปลี่ยนภาพพื้นหลังกันได้นั้น (หรือที่เราเรียกกันอย่างติดปากว่า wallpaper) แน่นอนว่าก่อนอื่นคุณต้องมีภาพพื้นหลังที่จะใช้ก่อน คุณสามารถใช้ภาพในฟอร์แมทใดมาทำเป็นภาพพื้นหลังก็ได้ แค่พยายามหาให้ภาพนั้นมีความละเอียดไม่น้อยไปกว่า Resolution ของหน้าจอเป็นดี

เมื่อได้ภาพที่ต้องการมาแล้วให้คุณไปที่เมนู System > Preferences > Desktop Background หรือคลิกขวาบนที่ว่างบนหน้าจอแล้วเลือก Change Desktop Background ก็ได้ครับ ระบบจะทำการเรียกโปรแกรม Desktop Background Preferences ขึ้นมา

ภายในหน้าจอของนี้ คุณจะเห็นภาพหน้าจอที่มีให้อยู่แล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งคุณสามารถเลือกที่ภาพและใช้งานได้ทันที แต่ถ้าคุณไม่อยากใช้ภาพพื้นหลัง คุณสามารถเซตให้เป็นสีเดียวก็ได้ โดยที่ช่อง Wallpaper ให้เลือก No Wallpaper และเลือกสีที่ต้องการที่ช่อง Desktop Colors

ส่วนการนำภาพที่ต้องการมาทำ Wallpaper นั้นให้คลิกที่ปุ่ม Add Wallpaper แล้วเลือกไฟล์ภาพที่คุณต้องการ เพียงเท่านี้ภาพที่คุณต้องการก็จะปรากฏขึ้นมาเป็น Wallpaper แล้วครับ
เปลี่ยนและตั้งชุดตกแต่ง

หน้าตาของ Ubuntu ที่คุณเห็นอยู่นี้ เป็นการจัดวางองค์ประกอบลักษณะหนึ่ง คือการจัดวาง Panel ในรูปแบบที่เห็น และในส่วนของหน้าต่าง ไอคอน หรือปุ่มกดต่างๆที่เราเห็นว่ามีหน้าตาเช่นนี้นั้น เกิดขึ้นจากการจัดการของชุดตกแต่ง หรือที่เรียกว่า Theme ซึ่ง Theme มาตรฐานที่ Ubuntu ใช้อยู่นี้ จะมีชื่อว่า Human ที่มีสีออกไปในโทนน้ำตาล Theme นี้ Ubuntu ใช้มาตั้งแต่ Ubuntu เวอร์ชั่นแรก (4.10)

แต่นอกจากชุดตกแต่งในแบบที่เราเห็นอยู่ในตอนนี้ Ubuntu สามารถเปลี่ยน Theme ได้ตามต้องการครับ วิธีเปลี่ยน Theme นั้นให้ไปที่ เมนู System > Preference > Theme หน้าต่าง Theme Preference จะถูกเรียกขึ้นมา ซึ่งจะมี Theme แบบต่างๆให้คุณเลือกใช้ได้อยู่จำนวนหนึ่ง คุณสามารถเลือกใช้ได้ตามสะดวกเลยครับ หรือถ้ายังไม่ตรงกับความต้องการจะหามาติดตั้งเพิ่มเติมก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่าง ใดครับ เพียงแต่ว่า Theme ที่เราจะนำมาติดตั้งนั้น จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบต่างๆ จึงจะเห็นออกมาเป็นหน้าตาในรูปแบบนี้ครับ
องค์ประกอบของชุดตกแต่ง

ก่อนที่คุณจะติดตั้ง Theme ได้ คุณต้องเข้าใจองค์ประกอบของมันก่อนครับ ว่าใน Theme หนึ่งชุดที่เราเลือกขึ้นมาใช้นั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง ให้คุณลองคลิกที่ Theme สักชุดนึง แล้วคลิกที่ปุ่ม Customize... ครับ คุณจะเห็นว่าในหนึ่ง Theme จะประกอบด้วย

* Controls: ส่วนประกอบต่างๆ ของหน้าต่างโปรแกรม เช่น Scroll bar, ปุ่มกดต่างๆ
* Colors: เป็นการปรับสีส่วนต่างๆของ Theme จะปรับได้ต่อเมื่อ Theme นั้นๆ รองรับ
* Window Border: ส่วนขอบของหน้าต่าง
* Icons: ไอคอนที่เราเห็นทั่วไปบนหน้าจอ ในเมนู

องค์ประกอบต่างๆนี้ คุณสามารถหยิบเอาส่วนที่ต้องการ เช่น Window Border ของอีก Theme มาประกอบกับ Icons ของอีก Theme เพื่อใช้เป็น Theme ใหม่ได้ครับ

ตามภาพผมปรับแต่งให้คล้ายกับหน้าจอการทำงานของ Windows เพื่อให้คนที่เพิ่งหันมาลองใช้ ที่แต่เดิมใช้ Windows อยู่จะคุ้นเคยได้ง่ายกว่า ซึ่งคุณผู้อ่านคงจะพอเห็นเป็นแนวทางแล้วว่าหน้าตาของ Ubuntu นั้น สามารถปรับแต่งได้และยืดหยุ่นพอสมควร อย่างไรแล้วก็ทดลองปรับแต่งกันให้ตรงตามที่ชอบใจนะครับ
เพิ่มและปรับแต่ง Panel

จากที่ได้แนะนำให้รู้จัก Panel ไปแล้วในส่วนของ “หน้าจอการทำงาน” Panel นี้เราสามารถปรับได้ครับ ไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่งของ Panel หรือส่วนต่างๆที่อยู่ใน Panel
เพิ่ม/ลบ/ย้าย Panel

ตัว Panel เองเราสามารถย้ายตำแหน่งได้ด้วยการคลิกค้างที่พื้นที่ว่างบน Panel จากนั้นลากไปไว้ที่มุมใดของหน้าจอก็ได้ เมื่ออยู่ในตำแหน่งที่ต้องการแล้วให้ทำการปล่อยเมาส์ Panel จะถูกวางลงในตำแหน่งที่เลือก

ส่วนการเพิ่มและลบนั้น ให้คุณคลิกขวาที่พื้นที่ว่างของ Panel คุณจะพบเมนูสำหรับจัดการ Panel โดยปุ่ม New Panel จะเป็นการสร้าง Panel ใหม่ ส่วน Delete This Panel หมายถึงลบ Panel ที่เลือกทิ้งไป นอกจากนี้คุณยังตั้งค่ารายละเอียดของ Panel ได้โดยการเลือกที่ Properties จะปรากฏหน้าต่าง Panel Properties ขึ้นมา ให้คุณทดลองตั้งค่าได้ตามชอบใจครับ
Object Panel

พวกไอคอนเรียกโปรแกรม, ปุ่มปิดเครื่อง, ถังขยะและอื่นๆที่อยู่บน Panel จะเรียกรวมๆว่า Object Panel ครับ พวกนี้เราสามารถเพิ่ม, ลบ หรือย้ายได้ตามต้องการ

หากโปรแกรมที่คุณต้องการเพิ่มลงในไอคอนมีอยู่ใน เมนู Applications แล้ว คุณสามารถคลิกค้างที่ปุ่มเรียกโปรแกรมในเมนูนั้นๆแล้วนำมาวางใน Panel ได้ทันที ส่วนการย้าย, ลบ หรือล๊อกติดกับ Panel สามารถทำได้โดยการคลิกขวาที่ไอคอนนั้นๆ แล้วเลือกทำตามที่ต้องการครับ
เปลี่ยนฟอนต์ที่ใช้แสดงผล

แบบอักษร หรือที่เรียกว่าฟอนต์ที่ใช้ในการแสดงผล ในส่วนต่างๆของ Ubuntu เราสามารถเปลี่ยนเป็นรูปแบบอักษรแบบอื่นได้ตามใจชอบ วิธีการเปลี่ยนแบบอักษรนี้ให้ไปที่ เมนู System > Preferences > Font หน้าต่างการตั้งค่า Font Preferences จะเปิดขึ้นมา ซึ่งคุณสามารถเลือกแบบอักษรให้กับส่วนประกอบต่างๆของหน้าจอได้ ในขั้นตอนนี้ให้คุณเลือกและทดสอบการตั้งค่าต่างๆด้วยตนเองเลยครับ

ในส่วนของ Font Rendering นั้น เป็นรูปแบบวิธีในการแสดงผลของแบบอักษรบนหน้าจอ วิธีการเลือกที่ง่ายและดีที่สุดนั้นคือ ให้เลือกแบบที่คุณมองแล้วสบายตาเป็นใช้ได้ครับ

ถ้าหากคุณใช้หน้าจอเป็นภาษาไทย (จะแนะนำการตั้งค่าหน้าจอภาษาไทยใน Unit 4) คุณต้องเลือกแบบอักษรที่เป็นภาษาไทยด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งแบบอักษรภาษาไทยที่มีให้ใช้ใน Ubuntu จะมีแบบอักษรต่างๆดังนี้ครับ

1. Norasi
2. Garuda
3. Loma
4. Purisa
5. Freeserif
6. TLWG mono

แนะนำโปรแกรมพื้นฐาน

เมื่อคุณทำการติดตั้ง Ubuntu เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีโปรแกรมพื้นฐานมาให้พร้อมใช้ในทันที ซึ่งไม่จำเป็นต้องติดตั้งเพิ่มแต่อย่างใด สำหรับในตอนนี้ ผมจะแนะนำโปรแกรมพื้นฐานแต่ละตัวให้รู้จักกันครับ เพื่อจะได้เลือกใช้งานได้อย่างถูกต้อง
File Manager

โปรแกรมจัดการไฟล์ใน Ubuntu จะมีชื่อเรียกว่า Nautilus ครับ ทุกครั้งที่คุณเปิดโฟลเดอร์บ้าน หรือดับเบิลคลิกที่โฟลเดอร์ใดๆก็ตาม Nautilus จะถูกเรียกขึ้นมาทำงาน โปรแกรม Nautilus นี้มีหน้าตาไม่แตกต่างจาก File Manager ของ Windows มากนัก การเรียนรู้จึงไม่ยาก
ส่วนต่างๆใน Nautilus

1. เมนูหลัก
2. แถบเครื่องมือ
3. ตำแหน่ง
4. ย่อ/ขยาย และมุมมอง
5. เมนูข้าง
6. ไฟล์และโฟลเดอร์
7. แถบสถานะ

เทคนิคในการใช้งาน

การแสดงแฟ้มซ่อนให้คุณกด Ctrl+H โปรแกรมจะแสดงไฟล์และแฟ้มที่ถูกซ่อนขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไฟล์ที่ใช้ในการบันทึกการตั้งค่าส่วนตัว การสร้างแฟ้มซ่อนนั้นเพียงแค่เปลี่ยนชื่อไฟล์หรือแฟ้มนั้นๆ แล้วใส่ “จุด” นำหน้า เช่น โฟลเดอร์ชื่อ hidden เปลี่ยนชื่อเป็น .hidden ไฟล์หรือแฟ้มนั้นๆ จะถูกซ่อนในทันที ในส่วนของตำแหน่งในหมายเลข 3 ถ้าคุณรู้ตำแหน่งที่แน่นอนที่ต้องการไป เช่น /media/cdrom คุณสามารถพิมพ์ตำแหน่งลงไปได้เลย โดยการกด Ctrl+L แถบที่ใช้บอกตำแหน่งด้วยปุ่มจะเปลี่ยนเป็นแถบยาวๆคล้ายของ Web Browser เพื่อให้คุณพิมพ์ตำแหน่งที่ต้องการได้เลย เมนูด้านข้างคุณสามารถเปลี่ยนจากสถานที่สำคัญ เป็นข้อมูลของแฟ้มหรือมุมมองแบบรากไม้ก็ได้ ด้วยการคลิกที่ข้อความที่เขียนว่า Places แล้วเลือกตัวเลือกที่ต้องการ
Web Browser

โปรแกรม Web Browser หรือที่เรียกกันติดปากว่าโปรแกรมท่องอินเทอร์เน็ตนั้น จะเป็นโปรแกรม Firefox ซึ่งวิธีการใช้งานนั้นเหมือนกับ Firefox ที่เป็นเวอร์ชั่นของ Windows อยู่แล้ว วิธีเรียกใช้โปรแกรม Firefox นี้ สามารถเรียกได้จาก เมนู Applications > Internet > Firefox Web Browser
ตั้งค่าภาษาไทย

การตั้งค่าภาษาไทยสำหรับ Firefox เพื่อใช้เว็บไซต์ภาษาไทยนั้น เราจะต้องทำการตั้งค่าเพื่อใช้งานสำหรับการเข้ารหัสสองแบบคือ UTF-8 และ TIS-620

วิธีการตั้งค่าให้คุณคลิกที่ Edit > Preferences หน้าต่างการตั้งค่าจะถูกเปิดขึ้นมา ให้คุณเลือกที่ Content (ที่มีไอคอน ลูกโลก) โปรแกรมจะแสดงส่วนปรับตั้งค่าสำหรับการแสดงผลของเว็บไซต์ขึ้นมา ดูที่กรอบ Fonts & Colors ที่ช่อง Default Font ผมแนะนำให้เลือก Loma ซึ่งเป็นฟอนต์ที่สวยมากๆตัวหนึ่ง จากนั้นท้ายช่อง Default Font ให้คลิกที่ Advanced...

หน้าต่างสำหรับตั้งค่าฟอนต์จะเปิดขึ้นมา ที่ช่องบนสุดให้คลิกเลือกเป็น Thai ก่อน เพื่อปรับแต่งค่าสำหรับเว็บไซต์ที่เข้ารหัสแบบ TIS-620 ที่ช่อง Serif และ Sans-serif ให้เลือกฟอนต์เป็น Loma เสร็จแล้ว ที่ช่อง Fonts for ที่เราได้เลือกเป็น Thai เมื่อสักครู่ ให้เปลี่ยนเป็น Western เพื่อตั้งค่าการแสดงผลสำหรับเว็บที่เข้ารหัสแบบ UTF-8 ที่ช่อง Serif และ Sans-serif ให้เลือกเป็น Loma เช่นเดิม เสร็จแล้วที่กรอบ Character Encoding ด้านล่าง ให้เลือกเป็น Thai (TIS-620) เพื่อให้หน้าเว็บที่ไม่ได้กำหนดรหัสภาษาใช้การเข้ารหัสแบบ TIS-620 โดยอัตโนมัติ เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการตั้งค่าภาษาของ FireFox ครับ
Movie Player

โปรแกรมดูหนังใน Ubuntu จะมีชื่อว่า Totem ครับ ใช้สำหรับเล่นไฟล์ภาพยนต์ต่างๆ รวมถึง CD และ DVD ด้วย ตัวโปรแกรมสามารถเรียกได้ทาง เมนู Applications > Sound & Video > Movie Player โดยในเบื้องต้นหลังจากที่ติดตั้ง Ubuntu เสร็จแล้ว โปรแกรมจะไม่สามารถเล่นไฟล์บางประเภทได้ เนื่องจากการเข้ารหัสของไฟล์บางประเภทนั้นติดสิทธิบัตร ฉะนั้น Ubuntu จึงไม่ได้รวมตัวถอดรหัสมาให้จึงไม่สามารถชมภาพยนตร์ได้ทันที จำเป็นต้องติดตั้งแพคเกจบางอย่างเพิ่ม ซึ่งผมจะแนะนำไว้ใน Unit 4 ครับ
Music Player

โปรแกรมสำหรับฟังเพลงใน Ubuntu นั้น มีชื่อว่า Rhythmbox ครับ สามารถเรียกใช้งานได้ผ่าน เมนู Applications > Sound & Video > Rhythmbox Music Player และเช่นเดียวกับโปรแกรม Movie Player ที่โปรแกรมจะยังไม่สามารถเล่นไฟล์ได้ในบางประเภท เนื่องจากปัญหาเดียวกันคือเรื่องของ สิทธิบัตร ส่วนวิธีแก้ไขนั้นผมจะแนะนำไว้ใน Unit 4 ครับ
Image Editor

โปรแกรมสำหรับตัดต่อและตกแต่งภาพนั้น Ubuntu เลือกเอาโปรแกรม GIMP เข้ามารวมไว้เป็นโปรแกรมหลักที่ใช้สำหรับตกแต่งภาพครับ ซึ่งมีความสามารถไม่แพ้โปรแกรมตกแต่งภาพชั้นนำในท้องตลาดเลย ทั้งการทำงานแบบเลเยอร์ ฟิลเตอร์ต่างๆที่มีให้เลือกใช้ แถมยังรองรับไฟล์หลากหลายรูปแบบที่เป็นที่นิยม ไม่เว้นแม้แต่ไฟล์ .psd ของโปรแกรม Photoshop ก็ตาม การเรียกโปรแกรมนั้นให้ไปที่ เมนู Applications > Graphics > GIMP Image Editor ครับ
Image Viewer

โปรแกรมดูภาพใน Ubuntu จะแบ่งออกเป็นสองโปรแกรมด้วยกันคือ eog (Eye Of Gnome ตามภาพที่ 3.19) โปรแกรมขนาดเล็กสำหรับดูภาพ และการปรับแต่งระดับพื้นฐาน เช่น หมุนภาพ ปรับขนาด และอีกโปรแกรมคือโปรแกรมดูรูปภาพที่มีความสามาถขึ้นมาอีกระดับคือ gThumb (ภาพที่ 3.20) โปรแกรม gThumb มีความสามารถมากกว่า eog คือ สามารถจัด Catalogs ให้รูปภาพได้ ปรับความมืด สว่าง และค่าต่างๆเกี่ยวกับสีได้ ตัดภาพให้เหลือเฉพาะส่วนที่ต้องการได้ แปลงภาพไปเป็นไฟล์ภาพสกุลอื่นได้

การเรียกใช้งาน eog สามารถเรียกได้โดยการดับเบิ้ลคลิกที่ภาพที่ต้องการดูได้เลย โปรแกรม eog จะถูกเรียกขึ้นมาทำงานพร้อมกับแสดงภาพที่ต้องการขึ้นมา ส่วนการเรียกโปรแกรม gThumb นั้นเรียกได้จาก เมนู Applications > Graphics > gThumb Image Viewer
Office Suite

โปรแกรมด้านสำนักงาน (การพิมพ์เอกสาร, ตารางคำนวน ฯลฯ) ใน Ubuntu จะมีโปรแกรมที่ชื่อ OpenOffice.org ให้ใช้ ซึ่งในชุดของ OpenOffice.org จะรวมโปรแกรมสำหรับทำงานต่างๆไว้ภายใน ดังต่อไปนี้

* Writer : พิมพ์เอกสาร
* Calc : ตารางคำนวน
* Impress : การนำเสนอ
* Base : ฐานข้อมูล
* Draw : วาดกราฟ, ไดอะแกรมอย่างง่าย

การเรียกใช้โปรแกรม OpenOffice.org ให้คุณไปที่ เมนู Applications > Office คุณจะเห็นโปรแกรมคำสั่งเพื่อเรียกโปรแกรม OpenOffice.org ด้วยกันสี่คำสั่งดังนี้

* OpenOffice.org Database
* OpenOffice.org Presentation
* OpenOffice.org Spreadsheet
* OpenOffice.org Word Processor

จากคำสั่งเรียกโปรแกรมทั้งสี่ คุณสามารถเรียก OpenOffice.org ขึ้นมาทำงานนั้นๆได้ทันที ส่วนการเรียกใช้ OpenOffice.org Draw ซึ่งไม่มีให้เรียกผ่านเมนูนั้น คุณต้องเปิด OpenOffice.org ตัวใดตัวหนึ่งขึ้นมาก่อน แล้วคลิกที่ File > New > Drawing
การตั้งค่าเพื่อใช้งานภาษาไทย

เพื่อการใช้งานภาษาไทยที่สมบูรณ์แบบ คุณต้องไปเปิดใช้งานในส่วนของ ภาษาประเภท CTL เสียก่อน ที่โปรแกรม OpenOffice.org คลิกที่ Tools > Options... หน้าต่าง Options จะเปิดขึ้นมาเพื่อให้คุณตั้งค่าต่างๆ ในการตั้งค่าภาษานั้นให้คุณคลิกเลือกที่ Language Settings > Languages ให้คุณตั้งค่าตามนี้

* Locale setting : Thai
* Default currency : THB ฿ Thai
* CTL : Thai

เพียงเท่านี้การใช้งานภาษาไทยในงานเอกสารของคุณก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นแล้วครับ
Chat MSN

หลายครั้งที่ผมชวนให้คนหันมาใช้ Ubuntu สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่กังวลคือจะไม่ได้แชทกับเพื่อนผ่านทาง MSN Messenger แต่ที่จริงแล้วใน Ubuntu มีโปรแกรมสำหรับแชทที่ชื่อ Gaim ซึ่งรองรับการแชทในแทบจะทุกเครื่อข่ายที่เป็นที่นิยม ตั้งแต่ MSN, Yahoo, Gmail, ICQ, IRC, AOL etc. และยังสามารถที่จะออนไล์หลายเครือข่ายพร้อมกันได้อีกด้วย
ตั้งค่าแชท MSN

แม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น ตั้งชื่อได้ด้วยความยาวที่จำกัด ใช้เอฟเฟกต์ต่างๆไม่ได้ (เช่น สั่นหน้าต่าง) เป็นต้น แต่ในการใช้งานพื้นฐาน เช่น พูดคุย หรือส่งไฟล์ให้กันนั้นสามารถทำได้เป็นอย่างดี

* เปิดโปรแกรม Gaim ขึ้นมา โดยคลิกที่ เมนู Applications > Internet > Gaim Internet Messenger
* จะมีหน้าต่างของโปรแกรม Gaim ปรากฏขึ้นมาสองหน้าต่างคือ Buddy List และ Accounts
* ที่หน้าต่าง Accounts ให้คลิกที่ Add จะเป็นการสร้างบัญชีผู้ใช้สำหรับออนไลน์
* โปรแกรมเพิ่มบัญชีผู้ใช้จะถูกเรียกขึ้นมา ให้ป้อนค่าตามนี้
o Protocal : MSN
o Screen Name : ใส่อีเมล์ของคุณ
o Password : รหัสผ่านของคุณ (รอกรอกตอน Login ก็ได้)
o ในส่วนของ User Options จะสามารถใส่ภาพได้ ซึ่งจะใส่หรือไม่ก็ได้
* เสร็จแล้วคลิกที่ Save เพื่อทำการบันทึก
* คุณจะกลับมาที่หน้า Account อีกครั้งให้คลิกเลือกที่ช่อง Enabled เพื่อออนไลน์
* รอระบบทำการเชื่อมต่อ แล้วก็แชทได้เลย

Email Client

โปรแกรม Email Client ใน Ubuntu จะมี Evolution มาให้ใช้ครับ สามารถได้ใช้ได้ผ่านทาง เมนู Applications > Internet > Evolution Mail ครับ Evolution เป็นโปรแกรมที่มีความสามารถมากกว่าที่จะใช้สำหรับรับส่งอีเมล์เพียงอย่างเดียว มันสามารถเป็นทั้งสมุดจดชื่อที่อยู่ ตารางปฏิทิน จดบันทึกต่างๆ ฯลฯ

วิธีการตั้งค่าเพื่อใช้งานอีเมล์นั้น จะคล้ายกับโปรแกรม Email Client ตัวอื่นๆ ซึ่งค่าที่จะตั้งนั้น คุณต้องสอบถามกับผู้ดูแลระบบของหน่วยงานของคุณเอง
ตั้งค่าเพื่อใช้งานภาษาไทย

เช่นเดียวกับโปรแกรม Firefox ที่เราต้องตั้งค่าภาษาไทยเสียก่อนจึงจะอ่านภาษาไทยออก แต่สำหรับ Evolution จะตั้งค่าการเข้ารหัสภาษาแบบ UTF-8 มาอย่างดีแล้ว ที่เราต้องทำคือปรับค่าเพิ่มเติมสำหรับอีเมล์ที่ถูกส่งมาโดยเข้ารหัสแบบ TIS-620 ครับ

* ไปที่ Edit > Preferences
* เลือก Mail Preferences
* ช่อง Default character encoding เลือก Thai (TIS-620)
* ช่อง Message Fonts เลือกฟอนต์ตามต้องการ

Dictionary

Ubuntu มีโปรแกรมแปลภาษา (หรือที่เรียกกันว่าดิกชั่นนารี่) มาให้แล้ว เพียงแต่เราต้องทำการปรับแต่งเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย เพื่อให้โปรแกรมสามารถแปลคำศัพท์ภาษาไทยได้ การเรียกใช้โปรแกรมนั้น ให้ไปที่ เมนู Applications > Accessories > Dictionary
ตั้งค่าเพื่อแปลภาษาไทย

* คลิกที่ Edit > Preferences
* คลิกเลือกที่ Longdo Thai-English Dictionaries

เมื่อทำการตั้งค่าตามขั้นตอนข้างตนแล้ว โปรแกรมจะทำการแปลข้อความที่ป้อนจาก ไทย > อังกฤษ และ อังกฤษ > ไทย โดยอัตโนมัติ
การติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติม

นอกเหนือจากโปรแกรมที่ได้แนะนำมาแล้วนั้น เรายังสามารถติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติมลงไปได้อีกด้วย ซึ่งการติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติมบน Ubuntu นั้นง่ายมากๆ เพราะคุณไม่ต้องไปหาดาวน์โหลดโปรแกรมมาจากเว็บไซต์ไหนเลย เพียงแค่คุณเปิดโปรแกรม Add/Remove Applications เลือกโปรแกรมที่ต้องการ แล้วกดติดตั้ง เพียงเท่านี้โปรแกรมที่คุณต้องการก็จะถูกนำมาเสริฟไว้ตรงหน้าของคุณทันที
เพิ่ม Repository

การติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติมผ่านระบบจัดการแพคเกจของ Ubuntu นั้น จะขึ้นอยู่กับแหล่งจัดเก็บซอฟต์แวร์หรือ Repository ที่จะเป็นตัวบอกว่ามีโปรแกรมอะไรบ้างที่เราจะติดตั้งได้ผ่านระบบจัดการแพคเกจ ซึ่ง Repository ในค่าตั้งต้นที่ Ubuntu ตั้งไว้จะตั้งไปที่ Repository ที่มีเฉพาะซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สและส่วนของไดร์เวอร์ฮาร์ดแวร์ต่างๆเท่านั้น แต่เราก็สามารถเพิ่ม Repository ให้ชี้ไปที่ที่มีซอฟต์แวร์ที่ไม่ใช่โอเพนซอร์สได้ด้วย ซึ่ง Repository ที่เราจะเพิ่มเข้ามานี้ แม้จะมีซอฟต์แวร์ที่ไม่ใช่โอเพนซอร์สรวมอยู่ แต่ก็เป็นโปรแกรมที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ทั้งสิ้นครับ ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้มีซอฟต์แวร์ให้เราเลือกได้หลายหลายมากยิ่งขึ้นครับ

วิธีการทำงานของระบบจัดการแพคเกจคือ ระบบจะดูว่า Repository ที่เราตั้งไว้ชี้ไปที่ไหน ซึ่งระบบก็จะวิ่งไปอัพเดทรายชื่อซอฟต์แวร์ที่นั่น (บนเซิร์ฟเวอร์ตามที่ระบุไว้ใน Repository) และเราจะสามารถติดตั้งซอฟต์แวร์ได้ตามรายชื่อซอฟต์แวร์ที่ได้ทำการอัพเดท

การเพิ่มเติม Repository นั้น ให้ไปที่ เมนู System > Administration > Software Sources จะปรากฏหน้าต่าง Software Sources ขึ้นมา ให้มองที่ส่วนของ Internet จะถูกเลือกอยู่ที่บางช่องเท่านั้น ซึ่งแต่ละช่องนั้นมีความหมายดังนี้

* Community Maintained .... หมายถึง Repository ที่เก็บซอฟต์แวร์ที่เป็นโอเพนซอร์สไว้ ดูแลโดยนักพัฒนาอิสระ
* Canonical supported .... หมายถึง Repository ที่เก็บซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สไว้ ซึ่งดูแลโดยทีมพัฒนา Ubuntu เอง
* Software restricted .... หมายถึง Repository ที่เก็บซอฟต์แวร์ที่อาจติดเรื่องของสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์ไว้ด้วย
* Proprietary .... หมายถึง Repository ที่เก็บไดรว์เวอร์ต่างๆจากผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เอาไว้
* Source code หมายถึง ระบบจะทำการรวมซอร์สโค้ดจาก Repository ต่างๆ ไว้ในรายชื่อซอฟต์แวร์ด้วยเมื่อคุณทำการอัพเดท
* Download from หมายถึง เซิร์ฟเวอร์ที่จะทำการอัพเดทซอฟต์แวร์ลิสต์ ซึ่งถ้าเป็น Thailand ก็แน่นอนว่าจะเร็วกว่าต่างประเทศครับ

เมื่อคุณเข้าใจแล้วว่ารายการไหนคืออะไรคุณก็สามารถเลือกได้ตามสะดวกเลยครับ แต่ถ้าคุณไม่เข้าใจเลยสักนิดและยังงงๆอยู่ก็ไม่เป็นไรครับ ลบไปจากหัวได้เลย และคลิกเลือกให้หมดไปเลยยกเว้ย Source code ครับ เพราะเราคงไม่ได้ใช้ Source code ของโปรแกรมในการใช้งานทั่วๆไปอยู่แล้ว
ทดลองติดตั้งโปรแกรม

หลังจากปรับแต่ง Repository แล้ว เรามาลองติดตั้งโปรแกรมกันครับ ให้คุณคลิกที่ เมนู Applications > Add/Remove... โปรแกรม Add/Remove Applications จะถูกเรียกขึ้นมาทันที ที่หน้าต่างของโปรแกรมนี้จะถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนด้วยกัน

* ช่องซ้ายจะเป็นการแบ่งกลุ่มของโปรแกรมซึ่งจะช่วยให้คุณเลือกโปรแกรมที่ต้องการได้ง่ายขึ้น
* ช่องขวาบน เป็นรายชื่อของโปรแกรม ซึ่งจะแสดงขึ้นมาตามกลุ่มที่คุณได้เลือกไว้จากช่องทางซ้าย
* ช่องขวาล่าง รายละเอียดของโปรแกรมที่คุณคลิกเลือกจากช่องทางขวาบน

โปรแกรมที่ผมแนะนำเพื่อทดสอบการติดตั้งจะมีชื่อว่า Frozen-Bubble ให้คุณคลิกเลือกที่กลุ่มโปรแกรม Games ครับ จากนั้นให้เลื่อนหาโปรแกรม Frozen-Bubble เมื่อเจอแล้วคลิกที่เช็คบ๊อกด้านหน้า จากนั้นให้กดที่ OK โปรแกรมจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการติดตั้งโปรแกรมในครั้งนี้ว่า มีโปรแกรมใดถูกติดตั้งบ้าง เมื่อมั่นใจแล้วให้กด Apply โปรแกรมจะถามพาสเวิร์ดของผู้ดูแล ซึ่งถ้าคุณมีสิทธิ์ในฐานะของผู้ดูแลเครื่องนั้น (Administrator) ให้ใส่พาสเวิร์ดของคุณลงไปครับ เสร็จแล้วให้รอสักครู่ ระบบจะทำการดาวน์โหลดโปรแกรมจาก Repositories ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ให้คุณรอจนเสร็จ

เมื่อเสร็จแล้วคุณสามารถใช้งานโปรแกรมที่ติดตั้งได้ทันที ในกรณีนี้คือเกม Frozen-Bubble คุณสามารถเรียกเกมนี้ขึ้นมาเล่นได้โดยไปที่ เมนู Games > Frozen-Bubble

สำหรับการติดตั้งโปรแกรมอื่นๆนั้น จะใช้วิธีเดียวกันกับในขั้นตอนที่ผ่านมานี้ครับ ซึ่งโปรแกรมดีๆและเกมสนุกๆนั้นมีอยู่เยอะ ลองเลือกดูและติดตั้งใช้งานกันนะครับ
Tips

ในบทนี้จะแนะนำเทคนิคในการใช้งานเล็กๆน้อยๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการใช้งานจริง เพื่อให้คุณใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้นครับ
กู้คืนไฟล์ที่ถูกลบ

เช่นเดียวกับ Windows ที่ไฟล์หรือโฟลเดอร์ ที่ถูกลบจะถูกนำไปไว้ในถังขยะก่อน ซึ่งถังขยะนี้จะอยู่ในโฟลเดอร์บ้านของคุณนั่นเอง เพียงแต่ว่าอยู่ในรูปแบบของแฟ้มซ่อน ซึ่งในหน้าต่างโปรแกรม File Manager (Nautilus) ให้คุณกด Ctrl+h คุณจะพบโฟลเดอร์ที่ชื่อว่า .Trash เมื่อคุณเปิดขึ้นมาดู คุณจะพบไฟล์ต่างๆที่ลบไปแล้ว ซึ่งสามารถย้ายออกไปไว้ในตำแหน่งที่คุณต้องการ และใช้งานไฟล์นั้นได้ทันที

อีกทางหนึ่งที่น่าจะสะดวกกว่าที่จะเข้าถึงถังขยะได้คือไอคอนที่ Panel ด้านขวาล่าง เมื่อคุณคลิก จะเปิดโปรแกรม File Manager พร้อมแสดงไฟล์ที่ถูกลบไปแล้วเช่นเดียวกัน
พิมพ์ภาษาไทย

ในขั้นตอนการติดตั้งที่ผมแนะนำให้เลือกคีย์บอร์ดภาษาไทย คุณจะสามารถพิมพ์ภาษาไทยได้ในทันที แต่ผมจะแนะนำเรื่องของการติดตั้งการพิมพ์ภาษาอื่นๆเพิ่มเติมอีกครั้ง เผื่อว่าคุณอาจต้องการใช้ภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยในการทำงานด้วย

วิธีเพิ่มภาษาสำหรับการพิมพ์นั้น ให้ไปที่ เมนู System > Preferences > Keyboard หน้าต่าง Keyboard Preferences จะถูกเรียกขึ้นมา ให้คุณคลิกเลือกที่แถบ Layouts คุณจะเห็น Layouts ของภาษาไทยและอังกฤษอยู่ ให้คลิกที่ Add จะมีหน้าต่าง Choose a Layouts ขึ้นมา คุณสามารถเลือกผังคีย์บอร์ดที่ต้องการใช้ได้ทันที

ส่วนของปุ่มสลับภาษานั้นสามารถเปลี่ยนได้ที่หน้าต่าง Keyboard Preferences เช่นเดียวกัน โดยให้คลิกเลือกที่แถบ Layout Options ส่วนของคีย์ลัดสำหรับสลับภาษาจะอยู่ที่ Group Shift/Lock behavior ซึ่งสามารถเปลี่ยนได้ตามที่ระบบมีให้เลือกเท่านั้น
ปุ่มสลับภาษา

บน Windows เราจะเห็นปุ่มสลับภาษาอยู่ที่ Panel ด้านล่างติดกับ System tray ซึ่ง Ubuntu นั้นสามารถเพิ่มปุ่มในลักษณะเดียวกันนี้ลงใน Panel ได้เช่นเดียวกัน ปุ่มสลับภาษานี้นอกจากจะใช้ในการคลิกสลับภาษาแล้ว ยังสามารถใช้บอกภาษาปัจจุบันที่เรากำลังใช้อยู่ได้อีกด้วย การเพิ่มปุ่มสลับภาษานี้ให้คุณคลิกขวาบน Panel ในตำแหน่งที่ต้องการวางปุ่มสลับภาษา จากนั้นเลือก Add to Panel หน้าต่าง Add to Panel จะปรากฏขึ้นมา ให้คุณมองหาไอคอนรูปธงที่มีข้อความกำกับว่า Keyboard Indicator จากนั้นกด Add หนึ่งครั้ง และคลิกที่ Close เพื่อปิดหน้าต่างได้เลย เพียงเท่านี้ปุ่มสลับภาษาก็จะอยู่บน Panel ตามที่เราต้องการแล้วครับ
ปรับแต่งให้แสดงผลภาษาไทย

ในขณะที่เราใช้งาน Ubuntu อยู่นี้ เราสามารถพิมพ์ภาษาไทยได้แล้วก็จริง แต่ว่าในส่วนภาษาของระบบ เช่น เมนู หรือที่โปรแกรมต่างๆนั้น สามารถแสดงข้อความเป็นภาษาไทยได้ด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์มากสำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ที่ไม่มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษ หรืออาจจะไม่ถนัดในการใช้ภาษาอังกฤษ

การปรับแต่งระบบให้แสดงผลภาษาไทยนั้นให้ไปที่ เมนู System > Administration > Language Support ระบบจะถามรหัสผ่านของผู้ดูแลก่อน เพราะการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลต่อระบบทั้งหมด เมื่อป้อนรหัสผ่านแล้ว หน้าต่าง Language Support จะเปิดขึ้นมา ให้คุณเลือกภาษาไทยแล้วคลิก OK ได้เลย แต่หากคุณต้องการใช้ภาษาไทยเป็น ภาษาปริยายของระบบ ให้คุณคลิก Apply ก่อนหนึ่งครั้ง เพื่อให้ระบบดาวน์โหลดแพคเกจภาษาไทยลงมาก่อน เสร็จแล้วที่ช่อง Default Language จึงจะมีภาษาไทยให้เลือกครับ

เมื่อคุณได้ติดตั้งให้ใช้งานภาษาไทยแล้ว คุณจะยังไม่เห็นผลในทันที คุณจะต้องออกจากระบบโดยการล๊อกเอาท์เสียก่อน หรือจะรีสตาร์ทก็ตามแต่ จนคุณมาถึงหน้าล๊อกอินเพื่อเข้าระบบอีกครั้ง ก่อนที่คุณจะล๊อกอินให้สังเกตุที่มุมซ้ายล่าง จะเห็นข้อความที่เขียนว่า Options ให้คลิกลงไปแล้วเลือกที่ Select Language จากนั้นให้เลือกเป็น Thai หรือจะเลือกเป็น System Default ก็ได้ หากคุณตั้งให้ภาษาไทยเป็น Default Language ไว้ในขั้นตอนที่ผ่านมา
จับภาพหน้าจอ

ใน Ubuntu จะมีโปรแกรมจับภาพหน้าจออยู่ โดยสามารถเรียกโปรแกรมได้จาก เมนู Applications > Accessories > Take Screenshot โปรแ กรมจับภาพหน้าจอจะถูกเรียกขึ้นมา จะมี 2 ตัวเลือกให้คุณเลือกคือ Grab the whole desktop หมายถึงการจับภาพหน้าจอทั้งหน้าจอ และอีกตัวเลือกหนึ่งคือ Grab the current window หมายถึง จับภาพเฉพาะหน้าต่างที่กำลังทำงานอยู่เท่านั้น ส่วนของ Grab after a delay of ... หมายถึงจะให้จับภาพหลังจากที่คลิก Take Screenshot แล้วกี่วินาที ซึ่งคุณสามารถจัดสภาพแวดล้อมก่อนที่จะจับภาพได้ด้วยตัวเลือกการหน่วงเวลานี้

นอกจากการเรียกตามวิธีด้านบนแล้ว คุณยังสามารถจับภาพหน้าจอด้วยคีย์ลัดได้ด้วย ด้วยการกดปุ่ม Print Screen บนคีย์บอร์ด โปรแกรมจะจับภาพพร้อมแสดงหน้าต่างโปรแกรมขึ้นมาเช่นเดียวกับวิธีในข้างต้น หรือคุณอาจจับภาพเฉพาะหน้าต่างที่ทำงานอยู่ได้ด้วย โดยการคลิกเลือกหน้าต่างที่ต้องการก่อน จากนั้นกดปุ่ม Alt+ Print Screen โปรแกรมจะจับภาพเฉพาะหน้าต่างที่คุณเลือก
ดูหนังฟังเพลง

ดังที่ผมได้กล่าวไว้ใน Unit 3 เรื่องของโปรแกรม Movie Player และ Music Player ว่าไฟล์บางประเภทนั้นจะไม่สามารถเล่นได้ในทันทีจะต้องติดตั้งแพคเกจเพิ่มเติม เสียก่อน วิธีนั้นอาจยุ่งยากนิดหน่อย แต่แลกกับผลลัพภ์ที่ได้แล้วคุ้มค่าแน่นอนครับ

ทำการ "เพิ่ม Repository" (ตาม Unit 3) เสียก่อน

* เปิดโปรแกรม Add/Remove Applications ขึ้นมา
* ที่หน้าจอทางซ้ายให้เลือกหมวดหมู่เป็น Sound & Video
* ให้ติดตั้ง Plugin 3 ชุด คือ
o Gstreamer extra plugins
o Gstreamer ffmpeg video plugin
o Xine extra plugins

ด้วยปลั๊กอินสามชุดที่คุณได้ทำการติดตั้ง เพียงเท่านี้คุณก็พร้อมที่จะเล่นไฟล์ภาพยนต์และเพลงในรูปแบบต่างๆได้แล้วครับ
เขียนซีดี

การเขียนซีดีใน Ubuntu นั้น เราสามารถเขียนได้ผ่านโปรแกรม File Manager ได้ทันที โดยถ้าหากคุณใส่แผ่นซีดีเปล่าเข้ามาในเครื่อง จะมีหน้าต่างขึ้นมาถามคุณเองว่าคุณต้องการที่จะ สร้างซีดีเพลงจากไฟล์เพลงดิจิตอล (Make Audio CD) เช่น จากไฟล์ WAV หรือสร้างซีดีข้อมูล (Make Data CD) หรือไม่ทำอะไรเลย (Ignore)

หากคุณเลือกที่เขียนซีดีเพลง จะมีโปรแกรม Serpentine เข้ามาทำหน้าที่ในส่วนนี้ ซึ่งวิธีใช้งานนั้นผมขอข้ามไป เพราะไม่ยากอยู่แล้วสำหรับคุณที่คิดจะใช้ Ubuntu ส่วนโปรแกรม Serpentine นั้น คุณสามารถเรียกโปรแกรมนี้ขึ้นมาทำงานเองก็ได้ โดยเรียกที่ เมนู Applications > Sound & Video > Serpentine Audio CD Creator ซึ่งก็ได้ผลลัพภ์เดียวกัน

ย้อนกลับมาที่อีกทางเลือกหนึ่งเมื่อคุณใส่แผ่นซีดีเปล่าเข้าไปคือ สร้างแผ่นซีดีข้อมูล (Make Data CD) หากคุณเลือกตัวเลือกนี้ โปรแกรม File Manager จะถูกเรียกขึ้นมา พร้อมกับไปที่ส่วนของการสร้างซีดีข้อมูล ในหน้าต่างนี้คุณสามารถลากไฟล์ใส่ลงไปได้เลย จนเมื่อคุณพร้อมแล้วให้กดที่ปุ่ม Write to Disc เพื่อเขียนข้อมูลลงแผ่นซีดี ส่วนการเรียกโปรแกรม File Manager ขึ้นมาเขียนซีดีโดยไม่ผ่านหน้าต่างตัวเลือกนั้น คุณสามารถเรียกได้ที่ เมนู Places > CD/DVD Creator

ส่วนการเขียนซีดีจากไฟล์ .iso เช่นเดียวกับตอนที่เราสร้างแผ่น Ubuntu จากโปรแกรม nero บนวินโดวส์ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันครับ โดยหลังจากที่คุณใส่แผ่นซีดีเปล่าลงในเครื่องแล้ว ให้คุณคลิกขวาที่ไฟล์ .iso ที่คุณต้องการ จากนั้นเลือก Write to Disc... เพียงเท่านี้ครับ

กรณีที่แผ่นของคุณเป็นแผ่น RW (ลบและเขียนใหม่ได้) ไม่ต้องมองหาโปรแกรมลบข้อมูลใน CD แต่อย่างใดครับ ให้คุณลบไฟล์ในซีดีเหมือนกับว่าเป็นไฟล์ที่อยู่ในฮาร์ดดิสก์ได้เลย และเมื่อถึงตอนที่จะเขียนข้อมูลลงแผ่น โปรแกรมจะลบข้อมูลเดิมที่อยู่ในซีดีก่อนที่จะเขียนข้อมูลลงไปใหม่ให้เองโดยอัต โนมัติ
ล๊อกอินเข้าระบบแบบอัตโนมัติ

ทุกครั้งที่คุณเปิดเครื่อง คุณจำเป็นที่จะต้องป้อนชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านก่อนทุกครั้งจึงจะมีสิทธิ์เข้าใช้ งานเครื่อง เพื่อยืนยันว่าคุณเป็นใครและมีสิทธิ์ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งมันจะมีประโยชน์มากถ้าคุณใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยกันหลายคน แต่ถ้าคุณเป็นเจ้าของเครื่อง และใช้อยู่คนเดียว คงน่ารำคาญไม่น้อยที่ต้องมาคอยกรอกชื่อและรหัสผ่านเพื่อบอกว่าคุณเป็นใครในเมื่อ คุณใช้เครื่องอยู่แค่คนเดียว

คุณสามารถตั้งค่าให้เข้าระบบอัตโนมัติได้ โดยเลือกชื่อผู้ใช้ของคุณเป็นชื่อผู้ใช้หลักเพื่อทำการเข้าระบบอัตโนมัติได้ ให้คุณไปที่ เมนู System > Administration > Login Window หน้าต่างนี้จะเป็นส่วนของการตั้งค่าการเข้าระบบ เช่น เปลี่ยนหน้าตาต้อนรับตอนเข้าระบบ ที่คุณต้องทำคือ ไปที่ Tab Security ให้คุณเช็คบ็อกซ์ที่ช่อง Enable Automatic Login จากนั้นให้เลือกชื่อผู้ใช้ของคุณเสร็จแล้วทำการ Close เพื่อปิดหน้าต่างการตั้งค่าได้ทันที
Startup Programs (เปิดโปรแกรมอัตโนมัติ)

เช่นเดียวกับบน Windows ที่เราสามารถสั่งให้โปรแกรมใดสักโปรแกรม ทำงานเองโดยอัตโนมัติเมื่อระบบพร้อมทำงานหลังจากที่เราเข้าสู่ระบบ วิธีนั้นทำได้ไม่ยากเพียงแต่คุณต้องรู้ชื่อคำสั่งที่ใช้เรียกโปรแกรมนั้นด้วย เท่านั้น วิธีตั้งค่านั้นให้คุณไปที่ เมนู System > Preferences > Sessions หน้าต่างการตั้งค่า Session จะถูกเปิดขึ้นมา

ในหน้านี้คุณจะเห็นรายชื่อโปรแกรมที่ถูกสั่งให้ทำงานทันทีเมื่อเปิดเครื่อง และระบบพร้อมที่จะทำงาน เช่น update-notifier ซึ่งเป็นตัวเตือนให้คุณอัพเดทระบบ ถ้าหากว่าคุณรู้สึกรำคาญคุณสามารถ Delete ออกไป หรือจะ Disable ไว้ก่อนก็ได้เช่นกัน ส่วนการเพิ่มโปรแกรมแกรมที่ต้องการให้ทำงานเมื่อเปิดเครื่องนั้น ให้คุณกด Add ระบบจะถามถึงคำสั่งที่ใช้ในการเรียกโปรแกรมนั้น ซึ่งคุณอาจต้องศึกษาดูเองว่าโปรแกรมที่คุณต้องการเรียกมีคำสั่งที่จะเรียกขึ้น มาทำงานอย่างไร ซึ่งโปรแกรมส่วนใหญ่นั้นจะมีคำสั่งเรียกใช้งานตรงกับชื่อโปรแกรมเอง เช่น firefox, gimp เป็นต้น
เพิ่ม User

หลังจากติดตั้ง Ubuntu เสร็จแล้ว จะมีชื่อผู้ใช้เพียงชื่อเดียวเท่านั้น ซึ่งหากคุณใช้คอมพิวเตอร์ด้วยกันหลายคนในเครื่องเดียว การสร้างชื่อผู้ใช้เพิ่มตามจำนวนคนย่อมสมเหตุสมผลกว่า เพื่อที่การตั้งค่าตามความต้องการของแต่ละคนจะได้เป็นไปอย่างอิสระ

การเพิ่มผู้ใช้ใหม่ ให้คุณไปที่ เมนู System > Administration > Users and Groups ระบบจะถามรหัสผ่านของผู้ดูแลระบบก่อน ให้คุณใส่รหัสผ่านของคุณลงไป โปรแกรมจัดการ Users and Groups จะแสดงขึ้นมา วิธีเพิ่ม User ให้คุณคลิกเลือกที่ Add User จากนั้นหน้าต่าง New user account จะเปิดขึ้นมาให้คุณใส่รายละเอียดของผู้ใช้คนใหม่ให้เรียบร้อย หรืออาจใส่แค่ Username กับ Password ก็ได้ ส่วนค่าอื่นๆนั้น ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตนเอง เมื่อเพิ่ม User เสร็จแล้วอย่าเพิ่งปิดหน้าต่าง ให้เลือกที่แถบ User privileges เพื่อมอบสิทธิ์ให้แก่ผู้ใช้ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ว่าจะให้ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งคุณอาจกำหนดให้มีสิทธิ์ในระดับ Administrator เช่นเดียวกับคุณเลยก็ได้
การบีบอัดไฟล์ และคลายไฟล์ที่ถูกบีบอัด

โปรแกรมบีบอัดไฟล์นั้น Ubuntu ได้จัดเตรียมมาให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ไม่มีเมนูหรือไอคอนสำหรับเรียกโปรแกรมขึ้นมาทำงานโดยตรงเท่านั้น วิธีเรียกใช้โปรแกรมบีบอัดไฟล์ เพียงแค่คุณดับเบิลคลิกที่ไฟล์บีบอัดโปรแกรมบีบอัดไฟล์จะถูกเรียกขึ้นมาเอง

การบีบอัดไฟล์ คุณสามารถทำได้ง่ายๆโดยการคลิกขวาที่ไฟล์หรือโฟลเดอร์ที่ต้องการบีบอัด จากนั้นเลือก Create Archive... จะมีหน้าต่างให้ตั้งชื่อไฟล์บีบอัดและสกุลของไฟล์เพียงเท่านี้การบีบอัดไฟล์ก็ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในทางกลับกัน คุณสามารถคลายไฟล์บีบอัดด้วยการคลิกขวาแล้วเลือก Extract Here ได้เช่นกัน
เพิ่มแบบอักษร

แม้ว่า Ubuntu จะได้จัดเตรียมแบบอักษรไทย มาให้ใช้อย่างดีแล้วก็ตาม แต่หากคุณมีแบบอักษรที่คุณต้องการใช้ คุณก็สามารถติดตั้งลงไปได้เช่นกัน
ติดตั้งแบบใช้คนเดียว

การติดตั้งแบบใช้คนเดียวหมายถึงผู้ใช้คนอื่นจะไม่สามารถใช้แบบอักษรที่คุณ เพิ่มลงไปได้ แต่จะสะดวกตรงที่ผู้ไม่มีสิทธิ์ในฐานะ Administrator ก็สามารถเพิ่มแบบอักษรเพื่อใช้เองได้ วิธีเพิ่มแบบอักษรนั้นให้คุณเปิดโฟลเดอร์บ้าน โดยไปที่ เมนู Places > Home Folders โปรแกรม File Manager จะเปิดขึ้นมา ให้คุณกด Ctrl+h เพื่อแสดงแฟ้มซ่อน จากนั้นให้สร้างโฟลเดอร์ชื่อ .fonts แล้วให้คุณนำไฟล์ฟอนต์ที่เตรียมมา ใส่ลงในโฟลเดอร์ที่สร้างขึ้นมาใหม่ ก็เป็นอันเรียบร้อย
ติดตั้งแบบใช้ทั้งระบบ

การติดตั้งแบบใช้ทั้งระบบ คุณจำเป็นจะต้องมีสิทธิ์ในฐานะ Administrator ด้วยจึงจะใส่ฟอนต์ลงในระบบได้ การติดตั้งฟอนต์ด้วยวิธีนี้ ผู้ใช้ทุกคนในเครื่องจะสามารถใช้งานฟอนต์นี้ได้ วิธีติดตั้งฟอนต์ ให้คุณกดปุ่ม Alt+F2 หน้าต่าง Run Application จะถูกเปิดขึ้นมา ให้คุณพิมพ์คำสั่งลงไปว่า sudo nautilus /usr/share/fonts พร้อมทั้งทำเครื่องหมายถูกที่ช่อง Run in terminal จากนั้นคลิกที่ Run จะมีหน้าต่าง Terminal (คล้ายหน้าต่างดอส) ขึ้นมาให้คุณป้อนรหัสผ่านแล้ว Enter โปรแกรม File Manager จะถูกเรียกขึ้นมา ให้คุณนำฟอนต์ใส่ลงไปเลยครับ
ตั้งค่าส่วนตัวและเปลี่ยนรหัสผ่าน

เราสามารถตั้งค่าส่วนตัวของเรารวมถึงเปลี่ยนรหัสผ่านที่ใช้สำหรับล๊อกอินเข้า ระบบได้ครับ วิธีการตั้งค่านั้นให้ไปที่ เมนู System > Preferences > About Me จะปรากฏหน้าต่าง About you ขึ้นมา คุณสามารถตั้งค่าได้ตามต้องการครับ ส่วนการเปลี่ยนรหัสผ่านนั้น คุณต้องกรอกรหัสผ่านเดิมก่อนด้วย เพื่อเป็นการยืนยันตน
กู้รหัสผ่าน

เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะลืมรหัสผ่านเข้าระบบได้ ซึ่ง Ubuntu ก็ได้เตรียมส่วนของ Recovery mode ไว้แล้ว สิ่งที่คุณต้องทำคือ เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาแล้ว ที่เมนูสำหรับเลือกระบบปฏิบัติการให้เลือกที่เมนูที่มีวงเล็บว่า recovery mode ต่อท้าย ระบบจะทำงานไปเรื่อยๆจนไปจบที่หน้า Command line ซึ่งมีข้อความว่า root@computer-name:~# เมื่อขึ้นมาแล้ว คุณสามารถเปลี่ยนรหัสผ่านได้ทันที ด้วยการพิมพ์คำสั่งว่า passwd user-name จากนั้น Enter แล้วพิมพ์รหัสผ่านใหม่ที่ต้องการลงไป (ขณะพิมพ์จะไม่เห็นอักษรใดทั้งสิ้น คล้ายว่ากดไม่ติด ให้พิมพ์ไปเลย) เสร็จแล้ว Enter แล้วพิมพ์รหัสผ่านซ้ำอีกครั้ง ระบบจะแจ้งว่า passwd: password update successfully หมายความว่าเรียบร้อยแล้ว (ถ้าไม่ได้ ให้เริ่มพิมพ์คำสั่งใหม่ตั้งแต่ต้น) จากนั้นพิมพ์คำสั่งว่า reboot เพื่อรีสตาร์ทเครื่องแล้วเข้าระบบด้วยรหัสผ่านใหม่ได้เลย

//source
////lib.blognone.com/Ubuntu_Manual_Guide


Create Date : 18 มกราคม 2551
Last Update : 25 มกราคม 2551 16:18:40 น. 0 comments
Counter : 764 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

iGiroro
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add iGiroro's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.