Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2548
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
3 สิงหาคม 2548
 
All Blogs
 

คุณภาพแสง (ตอนที่ ๓)

คุณภาพแสง
คุณเคยไปซื้อเสื้อ ซื้อผลไม้ไหมครับ มันต้องเคยบ้างซิน่าไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง คุณเคยนิยาม คุณภาพของๆ ที่คุณซื้อหาไหมครับ ว่าอะไรเรียกว่ามีคุณภาพ อะไรเรียกว่าไม่มีคุณภาพ

แสงก็เหมือนกันครับ ใช่ว่าจะมีคุณภาพตั้งแต่เช้าจรดเย็น มันมีช่วงเวลา และก็เป็นหน้าที่ของคนรักการถ่ายภาพอย่างเราๆ ท่านๆ ที่จะต้องหาเวลาคุณภาพแสงเหล่านั้นให้เจอ และบันทึกไว้ให้จงได้ ตั้งปฎิฐานไว้ก่อนครับ ทำทีหลัง

แสงที่ผมจะพูดถึงก่อนคือแสงธรรมชาตินะครับ ช่วงเวลาที่ถือได้ว่าเหมาะสมสำหรับประเทศไทยนะ ประเทศอื่นผมไม่อาจแนะนำเพราะไม่เจนพอ คือช่วงเช้าตรู่ และช่วงโพล้เพล้ เหมาะแก่การถ่ายภาพวิว ส่วนช่วงสายๆ สักแปดโมงถึงสิบโมงเช้า นี่เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคลเพราะไม่แรงมากนักและผู้ที่เป็นแบบหน้าตายังสดใส เพราะเพิ่งตื่นมานั่นเอง ใครที่อยากได้ไฮไลต์กับผม (Hair) ถ้าพลาดช่วงดังกล่าวก็มาหาช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ ชนิดถือไม้เท้าเดินก็ได้ เอ้ามุขไป 1 ดอก ก็ไม่น่ารังเกียจ ลองหลับตานึกช่วงไปปิคนิคก็ได้ครับ ส่วนตอนกลางวันนั้นควรหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพ เพราะแสงแรงมาก และตำแหน่งแสงมันตั้งฉากอยู่บนหัวพอดี ดังนั้น คุณจะได้เงาแข็งๆ มาด้วย ซึ่งของแถมนี้ไม่ยักกับมีคนอยากได้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามคุณภาพแสงตอนเที่ยงที่บางคนขยาดนั้น ผมพบว่ามันคือช่วงเวลาที่ดีสำหรับการถ่ายภาพเชิง Infrared มากๆ ผมไม่สามารถเขียนให้ความรู้เรื่องนี้ได้ แต่คุณสามารถหาอ่านจากแหล่งความรู้ที่มีผู้รู้ที่เก่งด้านนี้ในเว็บไซต์อยู่แล้ว โดยรวม คุณภาพแสงที่ดีคือให้รูปทรง มิติและสีของภาพที่คุณอยากจะบันทึก ไม่จืด ไม่มากเกินไปครับ

เมื่อเข้าใจเรื่องแสงแล้วทีนี้เรามาพูดถึงเรื่องกล้องและเลนส์กันเลย การทำงานของกล้องนั้นถ้าขาดเลนซ์ซึ่งเป็นตัวรวมแสงและก่อให้เกิดภาพกับฟิล์ม หรือกับตัวรับภาพ (CMOS, CCD, etc) ก็ไม่สามารถทำให้เกิดภาพได้ โดยที่ดังเดิมแล้วระบบของกล้องถ่ายภาพถือกำเนิดมาแบบกลไก ไม่ใช่อิเลคโทรนิค หากคุณมีคุณตา คุณอาที่สะสมกล้อง คุณจะเห็นได้ว่าความเก๋า (Classic) และมนต์เสน่ห์ของระบบที่พึ่งพาไฟฟ้าน้อยมากนั้นน่าทึ่งเพียงใด อย่าทำเป็นเล่นนะครับ กล้องสมัยนี้พัฒนามาสู่ยุคดิจิตอลแล้ว แต่ล้วนแล้วอาศัยไฟฟ้าเป็นสำคัญยิ่งทั้งนั้น ถ้าคุณไม่มีแบต ก็คงได้แต่มองดูวิวสวยๆ หรือภาพที่อยากถ่ายนั้นผ่านไปอย่างอาดูร ไม่เหมือนกล้องกลไกที่คุณยังสามารถถ่ายภาพโดยไม่ต้องอาศัยแบตเตอรี่ เรื่องวัดแสงเขามีกฎอย่าง ซันนี่16 หรือถ้ามีประสบการณ์อยู่แล้วก็พอกะๆ ค่าเอาได้ครับ ทำให้มันเป็นเพื่อนที่เชื่อใจได้มากที่สุด หรืออย่างน้อยก็ทนกว่ากล้องอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบันรุ่นใหม่ๆ อยู่มากโขละ (ดูเหมือนจะอยากระบายความอัดอั้นตันใจอย่างไรไม่รู้)

กลับมาที่กล้องต่อครับ ผมจะไม่พูดถึงเรื่องการเกิดภาพบนแผ่นฟิล์มเมื่อแสงมาตกกระทบที่ตัวเนื้อฟิล์มที่มีการเปิดรับแสง (Exposure) หรือกับตัวรับภาพและชิพประมวลผลในกล้องดิจิตอล เพราะเนื้อหาส่วนนี้หาอ่านได้ไม่ยากนัก แต่ถ้ามีใครสงสัยก็ถามกันมาได้ครับจะเข้ามาตอบให้ต่างหากดีกว่า

ขอแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับศัพท์ที่จะคุ้นหูไปจนกว่าจะเลิกถ่ายภาพสองคำนั่นคือ รูรับแสง (Aperture) และความไวชัตเตอร์ (Shutter speed) กัน คำสองคำนี้แตกต่างกันอย่างไรและมีความหมายอย่างไร
รูรับแสง และความไวชัตเตอร์เป็นคู่ฝาแฝดที่คลานตามๆกันมาตั้งแต่เกิด เป็นเสมือนประตูทางเข้าของแสง และตัวควบคุมจังหวะช้าหรือเร็วอะไรทำนองนี้ รูรับแสงจะชอบอยู่ที่เลนซ์มีตัวเลขที่คุ้นๆ กัน ตั้งแต่ f 1.0, f 1.4, f 2.0,
f 2.8, f 4, f 5.6, f 8, f 11, f 16, f 22, f 32, f 64 ถ้าใครเห็นตัวเลขมากกว่านี้อีกขอให้ทำใจว่าคงไม่มีปัญญาจะไปใช้ ตัวเลขที่น้อยบอกเราว่ามันเป็น เลนซ์ที่ไวแสง ถ้าตัวเลขมากก็ เลนซ์ช้าแสง (ผมว่างั้นเองนะ) ด้วยคุณสมบัติความไวแสงนี่เองที่กำหนดความยากในการผลิต เพราะผู้ผลิตเลนซ์ต้องควบคุม ออกแบบ และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับตัวเลนซ์อย่างรัดกุม และพิถีพิถันมากกว่าเลนซ์ที่ไวแสงน้อย ทำให้คุณจะพบว่าราคาค่าตัวของเลนซ์ไวแสงนั้นสูงเป็นเงาตามตัว ความไวแสงที่ว่าทำให้โอกาสที่ช่างภาพจะบันทึกภาพภายใต้สภาพแสงน้อยได้โดยไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้อง หรือได้ความไวชัตเตอร์ที่ทำให้ภาพไม่สั่นไหวนั้นดีกว่า บางคนก็สงสัยต่ออีกว่าไอ้ตัวเลขนั่นทำไมต้องเป็นเลขนั้นเท่านั้น ทำไมไม่เป็นเลขอื่น คำตอบและคำแนะนำของผมคือ ไปอ่านประวัติการถ่ายภาพและการคิดค้นกล้องในหนังสือต่อครับ สำหรับผมผมคิดว่ามันไม่มีนัยสำคัญที่จะต้องพิสูจน์ไปถึงต้นตอ เพราะทุกวันนี้ก็ใช้ตัวเลขเหล่านี้ถ่ายรูปได้แบบสบายดีอยู่ครับ อ้อ ระยะห่างระหว่างตัวเลข เช่นจาก f 2.8 ไปถึง
f 4 นั้นเรียกว่า ห่างกัน 1 สตอป (Stop) นะครับ ใครเจอตัวเลขแปลกเช่น f 3.5, f 5 ก็อย่าตกใจที่จริงมันเป็นความห่างระหว่าง ½ สตอปครับ

ความไวชัตเตอร์ที่ควบคุมอยู่ที่ตัวกล้อง (Body) นั้นมีตัวเลขแตกต่าง เพราะเป็นเรื่องความเร็วก็ต้องมีเวลาเป็นตัวบอก ทีนี้หลักๆที่เคยพบเจอมาก็เริ่มกันตั้งแต่ 15 วินาที, 8 วิ, 4 วิ, 2 วิ, 1 วิ, ½ ¼ 1/8 1/15 1/30 1/60 1/125 1/250 1/500 1/1000 1/2000 1/4000 1/8000 ส่วนตัวเลขที่อยู่ระหว่างนั้นบางตัวเช่น 1/80 ที่หลายคนพบในกล้องดิจิตอลก็ไม่ใช่เลขลูกเมียน้อยแต่อย่างใด แต่หมายถึงการแบ่งย่อยเศษในเสี้ยววินาทีออกเป็น ½ หรือ1/3 สตอป เพื่อการชดเชยแสงก็ดี หรือทำให้ค่าแสงพอดีก็ดี (อันนี้จะอธิบายละเอียดในขั้นตอนการชดเชยแสงต่อไป)

ทีนี้เราจับเอาทั้งรูรับแสง และความไวชัตเตอร์มาอธิบายกันต่อไปว่ามันทำงานควบคู่กันอย่างไร และมีผลอะไร
จำให้ดีนะครับ หลักพื้นๆ ก็คือ รูรับแสงที่เลนซ์นั้นมีไว้ควบคุมระยะชัดตื้น ชัดลึก และชัดเละ อันหลังนี่ผมหมายถึงความละเอียดในระดับที่มีดเรียกว่าพี่ นั่นคือตัวอย่างถ้าคุณใช้รูรับแสงที่ f2.8 ระยะชัดตื้นจะมาก และระยะชัดลึกจะน้อย ในทางกลับกัน ถ้าคุณใช้รูรับแสงที่ f32 คุณจะได้ระยะชัดลึกมาก และชัดตื้นน้อย สังเกตเห็นอะไรไหมครับ มันแป็นเกมครับ ด้านไหนเพิ่ม อีกด้านลด ขอให้จำตรงนี้ไว้ให้ดี มันเป็นหลักที่จะนำไปใช้ได้ต่อๆ ไป ทีนี้ขอกลับมาอธิบายเรื่องชัดตื้นและชัดลึกที่บางคนอาจจะยังไม่เข้าใจ ผมเชื่อว่าคุณต้องเคยอ่านหนังสือพิมพ์กันบ้าง อย่างน้อยก็ข่าวแวดวงกีฬา คุณเคยเห็นภาพของเดวิด เบ็คแคมในจังหวะ เตะบอลในหน้าหนังสือพิมพ์ชนิดตัวเด้งออกมาจากฉากหลังไหมครับ นั่นแหละครับที่ผมเรียกว่าระยะชัดตื้น แต่ในอีกมุมหนึ่งคุณไปเปิดนิตยสารบ้านและสวน หรือนิตยสารท่องเที่ยวที่มีรูปภาพวิวทิวทัศน์สวยๆ ชนิดเห็นทุกอย่างในภาพชัดเจนตั้งแต่บ้านไปจนถึงวิวด้านหลังที่อยู่ไกลลิบ อย่างนั้นผมเรียกว่าภาพมีความชัดลึก ชัดเจนไหมครับ

ทีนี้ขอกลับมาที่ภาพข่าวกีฬาของเดวิด แบ็คแคมอีกที ภาพๆ นี้บางคนถามว่าทำไมถึงต้องเป็นภาพที่เน้นชัดตื้น ชัดลึกไม่ได้เหรอ คำตอบคือได้ครับทำไมจะไม่ได้ แต่คุณอาจไม่ได้ภาพที่คมนิ่ง หรือหยุดการเคลื่อนไหวของตัวแบบได้ฉะงัดนัก กอปรกับคุณจะเห็นฉากหลังที่ไม่เบลอมีหน้าแฟนบอลยืนแย่งความเด่นของแบบอีก ทำให้จุดสนใจของภาพมีมากเกินไปครับ ด้วยความที่ถ้าเราเลือกใช้รูรับแสงที่กว้าง เช่น 2.8 ก็จะทำให้ได้ค่าความไวชัตเตอร์มันสูงขึ้นตาม ผลก็คือคุณสามารถหยุดเหตุการณ์ลงบนฟิล์มได้อย่างเหมาะเจาะและคมชัดครับ

ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสง และความไวชัตเตอร์
ผมขอให้คุณทำความเข้าใจให้ถี่ถ้วนกระบวนความจากเรื่องข้างต้น และมาเรียนรู้ต่อถึงเรื่องความสัมพันธ์แบบกิ๊กที่ทั้งสองทีให้แก่กันต่อไปดังนี้

ความสัมพันธ์แบบผกผัน นั่นก็คือถ้าคุณ เพิ่มด้านไหน อีกด้านลดลงทันที ตัวอย่างเช่น

เมื่อคุณได้ค่าวัดแสง(ยังไม่ต้องตกใจนะ เรื่องการวัดแสง จะพูดในตอนต่อไปแน่ๆ)ที่จะถ่ายรูปที่ f 2.8, s 1/500 ค่าที่เหมือนๆ กันกับค่านี้คือ
f 4, s 1/250
f 5.6, s 1/125
f 8, s 1/60
f 16, s 1/ 30
…
ความแตกต่างของค่าเหล่านี้ก็คืออะไรครับ คนที่อ่านเข้าใจข้างต้นคงรู้คำตอบแล้ว

ถ้าจะไม่กล่าวถึง iso เลยก็คงไม่ใช่คนแล้ว (อะไรขนาดนั้น) ทั้งค่ารูรับแสง และความไวชัตเตอร์ ที่ผมอ้างอิงข้างต้นเป็นค่าที่ iso 100 ค่าๆ นี้มันย่อมาจากอะไรผมจำไม่ได้แล้ว แต่รู้ว่ามันเป็นตัวที่บอกความละเอียดของภาพ และความไวแสงของฟิล์มที่เราต้องตั้งให้กล้องรู้ไว้ว่าเราใช้ฟิล์ม iso อะไร หรือถ้าเป็นกล้องดิจิตอลก็เป็นการบอกกล้องว่าจะใช้ความไวของตัวรับภาพที่เท่าไหร่ จำไว้ว่ายิ่งค่า iso สูงมากเท่าไหร่ เกรน และความละเอียดก็จะหยาบขึ้นไปเท่านั้น (ดิจิตอลคือ noise สูง) ใน iso กลับกันคุณจะได้ภาพที่มีเกรนและความละเอียดที่ดีจนถึงดีเยี่ยมเลย (ดิจิตอลคือ noise ต่ำ) ประโยชน์ของ iso นั้นยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เราใช้วิธีการ push และ pull ในกรณีคนที่ใช้ฟิล์ม กับ iso เช่นในกล้องที่ใช้อยู่มีฟิล์ม iso 100 แต่ต้องไปถ่ายงานคอนเสิรต์เปิดอัลบัม เอ...ทำไงดีหว่า จะไปกางขาตั้งกล้องเพื่อถ่ายคงไม่มีที่แน่ ต้องถือถ่าย แต่ความไวแสงของฟิล์มแค่นี้ สั่นแน่ ได้ความไวชัตเตอร์ที่ต่ำแน่ อืมม..เอาละกดบอกกล้องไปเลยว่าใช้ iso 400 แล้วค่อยไปบอกกับร้านล้างฟิล์มว่า push 2 stops นะพี่ทีหลัง ทีนี้ได้ความไวที่พอจะจับภาพได้บ้างละน่า ตรงกันข้าม ถ้ามีฟิล์ม iso 400 แต่ดันต้องไปถ่ายภาพน้ำตก ด้วยความไวฟิล์มมากขนาดนี้ จะถ่ายสายน้ำให้พริ้วสวยๆ ได้อย่างไร คงถ่ายได้แต่ภาพน้ำแข็งทื่อเป็นแน่ ไม่สวย เอ้า..วะ กดบอกกล้องว่าใช้ iso 100 แล้วตอนเอาฟิล์มไปล้าง บอกร้านล้างว่าพี่ pull 2 stops พี่ เท่านั้นแหละก็สมปองหมาย และนี่คือประโยชน์และบทบาทของ iso ครับ ส่วนผู้ใช้กล้องดิจิตอลนั้นก็รู้ศัพท์นี้ไว้จะได้รู้ที่มาที่ไป ถึงแม้ว่าจะไม่ต้องไปล้างรูปแล้วก็ตาม

ครั้งต่อไป(เจอกันทุกจันทร์)จะว่าด้วยเรื่องของการวัดแสง ที่ถือว่าใครวัดแสงได้เก่ง จักสามารถควบคุมแสงได้อย่างใจต้องการ ว่าไปนั่นเชียว เออ...ถือว่าเป็นกระทิทีเดียวนะครับ ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง



ขออภัย ช่วงนี้งานยุ่ง หน่อยนะครับ เลยยังเขียนบทความภาคต่อไม่เสร็จ ไม่ทันตามกำหนดที่บอกไว้คือวันนี้ วันจันทร์ ถ้าเช่นนั้นขอยกยอดไปเป็นอีกจันทร์หนึ่งนะครับ




 

Create Date : 03 สิงหาคม 2548
4 comments
Last Update : 8 สิงหาคม 2548 14:19:10 น.
Counter : 525 Pageviews.

 

ขอบคุณค่ะ เราก็ชอบถ่ายรูปอ่ะ ให้คนอื่นถ่ายนะ

 

โดย: what for ^.~ 3 สิงหาคม 2548 11:58:22 น.  

 

มานั่งเรียนครับ... ทฤษฎีแน่นปึ๊กเลย...


ขอบคุณคร้าบ...

 

โดย: star_hunt 10 สิงหาคม 2548 16:31:18 น.  

 

 

โดย: pang_pa_77 IP: 124.120.238.192 13 มิถุนายน 2549 10:58:50 น.  

 

ขอบคุณคร้าบ...

 

โดย: cp_mut IP: 61.19.47.117 6 พฤษภาคม 2551 15:44:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Lord of Rabbit
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Lord of Rabbit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.