Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
10 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 

เกิด 'แฝงแสงหิ่งห้อย' 'บูมทัวร์อัมพวา''ปัญหา'ล้นใต้พรม?

วันนี้อ่านเจอในนสพ. เดลินิวส์ แบบว่าคิดเอาใจเค้าใส่ใจเรา เลยอยากให้ใครที่ผ่านเข้ามาลองอ่านดูค่ะ จริงๆ เราเป็นคนหนึ่งที่ชอบเที่ยว และกะว่าจะพาที่บ้านไปเที่ยวดูอยู่แล้ว....



เกิด 'แฝงแสงหิ่งห้อย' 'บูมทัวร์อัมพวา''ปัญหา'ล้นใต้พรม?



ณ วันนี้ “แหล่งท่องเที่ยวอัมพวา” เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของ จ.สมุทรสงคราม อัมพวากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เติบโตชนิดก้าวกระโดดจากการถูกบูม-ถูกปลุกปั้นด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ โดยมี “ทัวร์ชมหิ่งห้อย” เป็นจุดขาย-จุดดึงดูดที่สำคัญ ทว่า...ปัจจุบันปัญหาที่เกิด ตามมาก็กำลังขยายตัวไม่หยุด...

“ถ้าความเจริญที่เกิดขึ้นต้องทำให้เราสูญเสียวิถีชีวิตดั้งเดิม เราก็คงไม่เอา !!” ...เป็นเสียงของ ปรีชา เจี๊ยบหยู ประธานศูนย์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านลมทวน ต.บ้านปรก แกนนำชุมชนที่พยายามนำเสนอแนวคิดทัวร์ชมหิ่งห้อยอัมพวาด้วย “เรือพาย” ไม่ใช่เรือติดเครื่องยนต์ เพื่อลดผลกระทบต่อผู้คนริมคลองและต่อหิ่งห้อย แต่ถึงวันนี้ก็ยังมีเรือหางเรือยนต์ทัวร์คลอง-ชมหิ่งห้อยคลาคล่ำ-แผดเสียงอยู่

“เคยมีคนเสนอเลยนะว่าให้เอาหนังสติ๊กยิง เอาขี้ขว้างใส่ แต่เราก็ไม่ทำ ถ้าไปโดนนักท่องเที่ยวจะยิ่งบานปลาย จะมีที่ทำกันครั้งเดียวก็คือตัดกิ่งต้นลำพู ซึ่งไม่ได้โค่นทิ้งอย่างที่เป็นข่าว”

...แกนนำชุมชนบ้านลมทวนกล่าว พร้อมสะท้อนภาพให้ฟังต่อไปว่า... เค้าลางวิกฤติปัญหาของคนในชุมชนริมคลองอัมพวาที่เกิดขึ้น เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2548 ภายหลังที่ อ.อัมพวา ถูกใช้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ด้านการท่องเที่ยวของ จ.สมุทรสงคราม โดยมีการจัดเรือทัวร์ชมหิ่งห้อยเป็นจุดขายสำคัญ แล้วหลังจากนั้นจำนวนเรือจากเดิมที่มีอยู่เพียงไม่กี่สิบลำก็เพิ่มขึ้นเป็น 50-60 ลำ พอผ่านเข้าปี 2549 ก็ขยายตัวเป็น 170 ลำ

ในช่วงเวลาเพียง 2 ปีที่จำนวนเรือเพิ่มขึ้น ได้ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตผู้คนมาก โดยเรือทุกลำที่เข้าสู่ขบวนทัวร์หิ่งห้อยต่างต้องวิ่งผ่านชุมชนบ้านลมทวน ซึ่งเส้นทางของทัวร์ชมหิ่งห้อยเริ่มต้นจากปากคลองอัมพวาผ่านวัดปากง่ามเลี้ยวขวาไปทางคลองผีหลอก เข้าแม่น้ำแม่กลองเลี้ยวขวาผ่านวัดช่องลม และเข้าแหลมลมทวนวิ่งต่อไปจนถึงปากคลองเทวดาซึ่งเป็นจุดชมหิ่งห้อยจุดใหญ่ ก่อนเรือทุกลำจะวกกลับเข้าคลองอัมพวา และเรือทุกลำจะรีบเร่งเครื่องกลับให้ไวที่สุดเพื่อรับนักท่องเที่ยวชุดใหม่ ซึ่งยิ่งทำรอบได้มากก็หมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเม็ดเงินทางเศรษฐกิจที่ดีดตัวสูง แต่คุณภาพชีวิตของชาวบ้านจำนวนไม่น้อยกลับเสื่อมโทรมลง โดยแกนนำชาวบ้านคนเดิมบอกว่า... “ช่วงตั้งแต่ทุ่มครึ่งจนถึงห้าทุ่ม ถือเป็นช่วงเวลาที่โหดมาก เพราะทำอะไรไม่ได้เลย ดูทีวีไม่รู้เรื่อง นอนก็ไม่ไหว เสียงเรือดังสะท้านก้องไปทั่วคุ้งน้ำ”

แต่ก่อนชาวบ้านแม้จะเครียดแต่ก็ยึดหลักทนได้ก็ทนไปก่อน จนเส้นแห่งความอดทนถึงจุดสะบั้นขาด เมื่อมีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งไปจอดเรือดูหิ่งห้อยหน้าบ้านชาวบ้านรายหนึ่ง แล้วตะโกนให้คนในบ้านปิดไฟ เพื่อจะดูหิ่งห้อย จนชาวบ้านรายนั้นโมโห และประกาศจะตัดต้นลำพูทิ้ง ซึ่งก็เกิดขึ้น จริง ๆ ตัดเพราะความรำคาญ แต่ก็เป็นการตัดแค่กิ่ง ไม่ได้โค่นต้นทิ้ง แล้วก็ลามเป็นลูกโซ่ ชาวบ้านรายอื่นพากันทำตาม-ตัดตาม

“สะท้อนได้ว่าทุกข์เรื่องนี้อยู่ในใจชาวบ้านมานานแล้ว”

...ปรีชา กล่าว ก่อนจะเล่าอีกว่า... ชาวบ้านได้ลองแก้ปัญหากันเองแบบชาวบ้านทุกอย่าง ทั้งติดป้ายขอความเห็นใจ ใช้ไม้ปักกั้นไม่ให้เรือเข้าใกล้ฝั่ง ร้องเรียนรัฐก็หลายครั้ง แต่ไม่คืบหน้า ขณะที่ปัญหารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากผลกระทบเรื่องเสียง ต่อมาก็เพิ่มปัญหาเรื่องคลื่นจากเรือยนต์กัดเซาะจนตลิ่งริมน้ำพังยาวกว่า 3 กิโลเมตร ทำให้ต้นลำพูแถวหน้าเสียหายหนักจนหิ่งห้อยไม่มีที่เกาะ-ที่วางไข่ แหล่งอาหารอย่างหอยตาเดียวก็ลดน้อยลงจนหิ่งห้อยต้องถอยร่นไปเกาะที่ยอดต้นมะพร้าวหรือต้นไม้อื่น ๆ แทน จนทำให้จำนวนหิ่งห้อยลดลงไปเรื่อย ๆ

“เราก็พยายามทำในจุดที่เราทำได้ แต่เราเองก็ต้องทวนกระแสหลักของกลุ่มที่มีผลประโยชน์อย่างหนัก เรามักถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกถ่วงความเจริญ ซึ่งเราก็ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการฉุด แต่ถ้าความเจริญที่เกิดขึ้นต้องทำให้เราสูญเสียวิถีชีวิตดั้งเดิม เราก็คงไม่เอา” ...แกนนำชาวบ้านรายเดิมกล่าวย้ำ

ในมุมของผู้ประกอบการด้านที่พัก พุทธปราณี ตั้งวิชิตฤกษ์ บอกว่า... เรื่องผลกระทบจากเรือนำเที่ยวนั้น รู้สึกเห็นใจชาวบ้านปลายทางที่อยู่ใกล้กับแหล่งชมหิ่งห้อย นี่เป็นปัญหาที่สะสมขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ในขณะที่แนวทางการป้องกันยังไม่ชัดเจน ยังรวมตัวกันไม่ค่อยติด ต่างฝ่ายต่างก็มองกันคนละมุม

“อยากให้คนในชุมชนทั้งหมดมาช่วยกันคิด หาวิธีทำให้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ผสมผสานไปกันได้กับธุรกิจ หาจุดสมดุลที่ดีที่สุดที่ไม่เกิดผลกระทบกับใครหรืออะไร” ...ผู้ประกอบการรายนี้กล่าว

ด้าน สุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว.สมุทรสงคราม ระบุถึงเรื่องนี้ว่า... การรวมตัวของชุมชนบ้านลมทวนเป็นกระจกสะท้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็วเกินไป ในขณะที่ยังไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบ การรวมตัวของชาวบ้านก็เพียงเพื่อสะท้อนให้สังคมได้รู้ว่ามีปัญหา เพื่อให้คนในพื้นที่ได้รู้ว่าอัมพวากำลังป่วย ควรจะได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีและควรจะโดยคนพื้นที่เป็นหลัก

“ทุกวันนี้คนรู้ปัญหา แต่ไม่พูดกัน ไม่หาวิธีแก้กัน แกล้งลืม ๆ กันไป พยายามบอกว่าทุกอย่างยังดีอยู่ พยายามเอาปัญหาซุกใต้พรม อย่างนี้มันไม่ถูก แต่เราควรยอมรับว่าขณะนี้ปัญหามันได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อยอมรับว่ามีปัญหาก็ต้องมาช่วยกันแก้ช่วยกันทำ” ...ส.ว.สมุทรสงคราม กล่าว ก่อนจะทิ้งท้ายว่า...

“เวลานี้อัมพวาควรต้องได้รับการดูแลและจัดระบบใหม่ให้เกิดความยั่งยืน ถ้าทุกคนยังอยากให้เป็นเมืองท่องเที่ยวแบบนี้ไปอีกยาวนาน ไม่อยากให้กลับไปเงียบเหงาเหมือนในอดีต”

ก็น่าคิดทั้งกับคนพื้นที่...และกับนักท่องเที่ยวด้วย !!.

ที่มา เดลินิวส์ 10 ก.ค.51













 

Create Date : 10 กรกฎาคม 2551
2 comments
Last Update : 11 กรกฎาคม 2551 18:29:41 น.
Counter : 1225 Pageviews.

 

เคยไปดูหิ่งห้อยและพักที่คลองผีหลอก ได้ไปกับเรือพายชอบมาก กลัวแต่เรือติดเครื่องมาชนเพราะไม่มีไฟ ก็จะดูหิ่งห้อยก็ต้องมืดๆนะถึงจะสวย เรือเร็วเสียงดังคลื่นก็แรงกว่าเรือพายด้วย

 

โดย: tuk-tuk@korat 11 กรกฎาคม 2551 10:50:52 น.  

 

เมื่อก่อนมีเสน่ห์กว่านี้มากค่ะ เดี๋ยวนี้เรือยนต์มีมากมาย ชาวบ้านไม่ได้หลับนอน ธุรกิจท่องเที่ยวบูม แต่ธรรมชาติจะอยู่กับเราได้ไม่นาน

 

โดย: phety talon 11 กรกฎาคม 2551 12:23:29 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


chantra_aor
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add chantra_aor's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.