Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
7 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 
ทวิตเตอร์ “ฮีโร่” ช่วยน้ำท่วม... รู้ทันมวลน้ำถล่มบ้าน

เมื่อวันที่ 20 ต.ค.54 เว็บไซต์ Thaitrend เว็บข้อมูลสถิติเกี่ยวกับผู้ใช้ทวิตเตอร์(twitter) ในประเทศไทย ได้รวบรวมข้อมูลจากข้อความทวิตภาษาไทย และพูดถึงสถิติการทวิตในช่วงเดือนต.ค.ที่ผ่านทาง @thaitrend บนทวิตเตอร์ ว่า ปริมาณทวิตภาษาไทยสูงขึ้นมากเนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยในหลายจังหวัดของประเทศ

โดยเว็บไซต์ Thaitrend รายงานว่า พบปริมาณทวิตภาษาไทยทั้งวันกว่า 2 ล้านครั้ง (หรือประมาณ 1% ของทวิตทั้งโลก )โดย ใน 2 ล้านกว่าทวิตนี้เป็นทวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมประมาณ 15% หรือกว่า 3 แสนครั้ง และตั้งแต่เริ่มมีน้ำท่วมมา มีปริมาณคนไทยสมัครสมาชิกทวิตเตอร์เพิ่มขึ้นประมาณ 20%

ท่ามกลางข้อมูลเรื่องการเตรียมรับมือน้ำท่วมของภาครัฐที่ไม่ชัดเจนส่งผลให้สื่อสังคมออนไลน์ทั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คกลายเป็นช่องทางรับรู้ข่าวสารที่รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์แบบวินาทีต่อวินาที ทั้งยังมีภาพประกอบจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จริง

แม้ทวิตเตอร์จะมีข้อจำกัดเรื่องการสื่อสารที่มีพื้นที่ให้นำเสนอข้อมูลเพียง 140 ตัวอักษร หากโพสต์รูปขึ้นด้วยยิ่งทำให้พื้นที่ของจำนวนตัวอักษรลดลง แต่ความรวดเร็วเป็นเลิศกว่าการสื่อสารทุกรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน จากข้อมูล @thaitrend ระบุว่า เดือนตุลาคม 2554 มีคนที่ทวิตไทยทั้งหมด 426,845 ยูเซอร์ เทียบกับเดือนกันยายน 2554 ที่ 356,060 ยูเซอร์ และเดือนสิงหาคม2554 อยู่ที่ 330,491 ยูเซอร์ ในตัวเลข 4 แสนกว่าคนนี้ มีกว่า 18,784 ยูเซอร์ที่ "ทวิตทุกวัน" ตลอดเดือนตุลาคม และกว่าครึ่ง (217,667 ยูเซอร์) ทวิตอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และมียูเซอร์ที่เป็นคนไทยสมัครใหม่เดือนตุลาคมกว่า 47,000 คน (ค่าประมาณ) เทียบกับเดือนกันยายนที่ 36,500 คน และเดือนสิงหาคมที่ 27,500 คน

ส่วนเฟซบุ๊คที่คาดการณ์ว่าในสิ้นปีนี้จะมีคนไทยใช้งาน 10 ล้านคน แม้มีพื้นที่ในการนำเสนอข้อความและเนื้อหาได้เยอะกว่า แต่ก็ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการสื่อสารแบบวินาทีต่อวินาทีเหมือนทวิตเตอร์ในการแจ้งข่าวสารกับวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้

#Thaiflood มากกว่าเตือนภัยแต่ช่วยคนไทยพ้นอันตราย

“#Thailflood เป็นการจัดหมวดหมู่ข้อความในทวิตเตอร์ ช่วยให้ผู้ใช้ติดตามข่าวสารได้ง่ายขึ้น” คำอธิบายสั้นๆ แต่ได้ใจความของ นายปรเมศวร์ มินศิริ เว็บมาสเตอร์ เว็บไซต์ kapook.com ผู้ริเริ่มการติดแทก #Thaiflood ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งขณะนี้ได้ถอนตัวออกจากการทำงานร่วมกับ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) แล้ว

นายปรเมศวร์ กล่าวว่า การติดแทก #Thaiflood (ไทยฟลัด) ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค.2553 ในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่จ.นครราชสีมา จ.น่าน จนกระทั่งน้ำท่วมที่กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบัน #Thaiflood มีข้อความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษติดแทกเฉลี่ยวันละ 150,000 ทวิต ซึ่งการติดแทกในทวิตเตอร์เพื่อต้องการประกาศข่าวสาร ซึ่งอาจหมายรวมถึงการขอความช่วยเหลือและนำไปสู่การช่วยเหลือได้ เป็นการช่วยเหลือกันของผู้ที่ใช้ทวิตเตอร์ซึ่งทราบข่าวจากทวิตและอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งคนที่ใช้งานทวิตเตอร์สามารถให้ความช่วยเหลือกันได้โดยไม่ต้องรอหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือโดยตรง

“ผมมองว่าในทวิตเตอร์ทั้งติดแทก #Thaiflood และไม่ติดแทกการทวิตข้อความในทวิตเตอร์มีกรณีที่ผู้อ่านทวิตให้การช่วยเหลือและส่งต่อข้อความนั้นไปสู่หน่วยงานที่จะให้ความช่วยเหลือเยอะมาก ซึ่งทวิตเตอร์วันนี้มีประโยชน์มากในการสื่อสารข้อมูล และ#Thaiflood วันนี้เป็นแทกที่นิยมมากที่สุด ขณะที่ทวิตเตอร์@Thaiflood มีผู้ตาม(โฟลโล)จำนวน 99,300 คน”

นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ทวิตเตอร์ก็เหมือนการส่งข้อความสั้น(เอสเอ็มเอส) แต่พิเศษกว่าตรงที่สามารถส่งลิงก์ได้ และเป็นการนำเสนอข้อความข่าวสารแบบที่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ซึ่งคนที่อ่านข้อมูลข่าวสารในทวิตเตอร์ก็ต้องตรวจสอบข้อมูลกันเอง ซึ่งข้อความที่ทวิตจะน่าเชื่อถือหรือไม่ขึ้นอยู่ที่ว่าตรวจสอบแล้วใช่หรือไม่ ไม่ใช่อยู่ที่ว่าหน่วยงานที่ทวิตมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะบางหน่วยงานที่อยู่ในสถานะที่มีความน่าเชื่อถือก็ไม่ทวิตข้อความที่เป็นความจริงเสมอไป

“ปรเมศวร์” กล่าวทิ้งท้ายว่า ทวิตเตอร์เป็นการสนทนาแบบ 2 ทาง (two way) ซึ่งวิกฤติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คมีบทบาทเท่าๆ กัน เพียงแต่ทวิตเตอร์ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นการรายงานแบบทันทีทันใดมากกว่า

#Thonflood ปรากฏการณ์คนฝั่งธนบุรีแจ้งข่าวกันเอง

การติดแทก(#) อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ของผู้ที่ใช้ทวิตเตอร์ เพราะการจัดงานสัมมนาช่วงปีที่ผ่านมา มีการนำเสนอข้อมูลผ่านทวิตเตอร์โดยติดแทกกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ที่สนใจงานสัมมนาแต่มาร่วมงานไม่ได้มีโอกาสอ่านข้อมูลหรือตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

แต่วันนี้อุทกภัยครั้งใหญ่ สร้างปรากฏการณ์ติดแทกเพื่อเป็นช่องทางให้คนในพื้นที่ใช้เกาะติดข้อมูลอย่างใกล้ชิด ชนิดสื่อหลักยังต้องยอมในเรื่องการนำเสนอข้อมูลแบบเจาะลึก

น.ส.อศินา พรวศิน ประธานชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอทีพีซี) และนักข่าวสายไอทีหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ซึ่งมีบ้านอยู่ฝั่งธนบุรีและเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมอยู่ในผู้ที่เกาะติดข่าวสารจากทวิตเตอร์ในพื้นที่ด้วยการติดแทก #Thonflood (ธนฟลัด) เล่าว่า ผู้ที่ริเริ่มการติดแทก #Thonflood คือ @Pariwat ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในฝั่งธนบุรี ซึ่งตนอ่านเจอจึงร่วมติดแทกเมื่อมีข่าวหรือข้อมูลเกี่ยวกับฝั่งธนบุรี โดยผู้ที่ติดแทกส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่

“ส่วนตัวมองว่าข่าวเกี่ยวกับน้ำท่วมในฝั่งธนบุรีค่อนข้างน้อย ซึ่งข้อมูลจากรัฐก็ไม่เพียงพอ เพราะข้อมูลจากรัฐจะเป็นข้อมูลในมิติเดิมๆ ขณะที่สื่อหลักก็ไม่มีการเปิดประเด็นใหม่ๆ ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่เดินตามเส้นทางน้ำ ไม่มีการนำเสนอข้อมูลที่เดินก้าวไปไกลกว่าเส้นทางน้ำ เช่น ถ้าน้ำมาถึงฝั่งธนบุรีจะมีการระบายน้ำออกอย่างไร และระบายได้ปริมาณเท่าไหร่ พื้นที่ไหนจะได้รับผลกระทบบ้าง และนานเท่าไหร่ เป็นต้น”

น.ส.อศินา กล่าวต่อว่า การติดตามข้อมูลวิกฤติน้ำท่วมในทวิตเตอร์ช่วยให้ได้ข้อมูลที่ลึกกว่าสื่อหลักและเป็นข้อมูลในเวลาจริงมากกว่า เช่น กรณีแม่น้ำจากเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมถนนเยาวราช สื่อหลักรายงานเพียงว่าน้ำท่วมเยาวราช ซึ่งช่วงบ่ายน้ำก็ลดแล้วแต่สื่อหลักไม่นำเสนอทำให้เกิดผลกระทบกับผู้ที่ทำมาหากินและค้าขายในบริเวณนั้น แต่ในทวิตเตอร์มีการนำเสนอว่าน้ำลดแล้ว การค้าขาย การสัญจรเป็นไปตามปกติ ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นความจริงในเวลานั้น รวมทั้งการพูดถึงพื้นที่อพยพและพื้นที่น้ำท่วมของสื่อหลัก และภาครัฐ ซึ่งอาจพูดรวมๆ ว่าเขต แต่ไม่ได้แบ่งแขวง และแขวงก็มีหลายถนน หลายซอย ทำให้ข้อมูลจากสื่อหลักเป็นข้อมูลแบบรวมๆ แต่ข้อมูลจาก #Thonflood จะเป็นข้อมูลแบบลงลึกเฉพาะพื้นที่มาก

อย่างไรก็ตาม แม้บางครั้งข้อมูลจากทวิตเตอร์อาจดูเกินจริงไปบ้างในบางทวิต แต่น.ส.อศินา บอกว่า การเกาะติดข่าวสารจากทวิตเตอร์ก็ต้องวิเคราะห์แล้วนำข้อมูลมาประกอบกันเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เที่ยงตรงที่สุด ซึ่งข้อมูลจากการติดแทก#Thonflood ถือว่าเป็นข้อมูลที่ใกล้ตัวและทำให้การเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤติมวลน้ำก้อนใหญ่ที่กำลังมุ่งหน้าสู่ฝั่งธนบุรีเป็นไปได้อย่างไม่ตื่นตระหนกกับข้อมูลข่าวสาร

@GCC_1111 รับแจ้งขอความช่วยเหลือ

@GCC_1111 เป็นทวิตเตอร์ของศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) ใช้เป็นช่องทางในการแจ้งข่าวสารของศปภ.สู่ประชาชน และรับแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านทางทวิตเตอร์เป็นหลัก (จากการตรวจสอบเมื่อวันที่ 5 พ.ย.54 มีผู้ตามทวิตเตอร์อยู่ 18,289 คน เปิดใช้งานวันแรกเมื่อวันที่ 9 ต.ค.54)

นายจักรินทร์ มงคลพิทักษ์สุข หรือ เล็ก (@Nailek507) ภาคประชาชนที่เข้าไปดูแลประสานให้ความช่วยเหลือเรื่องของคอลเซ็นเตอร์และทวิตเตอร์ที่ประชาชนขอความช่วยเหลือ กล่าวว่า ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนผ่านการแจ้งขอความช่วยเหลือทางทวิตเตอร์ @GCC_1111 ผู้ขอความช่วยเหลือควรแจ้งเบอร์โทรศัพท์มือถือหรือเบอร์โทรศัพท์บ้านมาด้วย

“ตามขั้นตอนการช่วยเหลือจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลทวิตเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อมีผู้ขอความช่วยเหลือมาทางทวิตเตอร์เจ้าหน้าที่จะจดบันทึกข้อมูลแล้วนำไปให้เจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์เพื่อติดต่อกลับไปยังผู้ที่ขอความช่วยเหลือ”

นายจักรินทร์ กล่าวว่า จากการมอนิเตอร์ทวิตเตอร์ทั้งของตัวเองและจากของ @GCC_1111 จะมีการข้อความขอความช่วยเหลือทางทวิตเตอร์ประมาณ 400-500 ทวิตต่อวัน ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้ว และอาจมีผู้อื่นหรือหน่วยงานอื่นช่วยเหลือไปแล้วจึงเหลือผู้ที่จะช่วยเหลือเฉลี่ยวันละ 200-300 ทวิต โดยเฉลี่ยแล้วจะมีคอลเซ็นเตอร์ ติดต่อประสานงานชั่วโมงละ 10 ราย หรือวันละกว่า 100 รายที่ได้รับความช่วยเหลือ

นายจักรินทร์ กล่าวต่อว่า กรณีที่มีการแจ้งข้อความช่วยเหลือแต่ไม่มีเบอร์โทรศัพท์อาจขอเป็นรหัสไปรษณีย์ก็ได้ เนื่องจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มีเจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลและให้ความช่วยเหลือประจำท้องถิ่นซึ่งคอยติดต่อประสานงานกับผู้นำหมู่บ้านเพื่อนำความช่วยเหลือเข้าสู่ประชาชนที่ขอมาได้

“ขณะนี้การช่วยเหลือผ่านรหัสไปรษณีย์ประสบความสำเร็จแล้วประมาณ 4-5 กรณีจากวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ คือ ที่บางบัวทอง จ.นนทบุรี ที่บางพูน และบางคูวัด จ.ปทุมธานี”

ส่วน@FloodThailand (ศปภ.) เป็นทวิตเตอร์ที่ใช้เป็นช่องทางในการให้ข้อมูลข่าวสาร ดูแลขอมูลโดยนาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ส่วนใหญ่เน้นใช้แจ้งข่าวเป็นหลัก มีผู้ตามทวิตเตอร์ 7,913 คน ( 5 พ.ย.54)

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อ (ไอซีที) กล่าวว่า @GCC_1111 เป็นทวิตเตอร์ของศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน โดยจะทำงานประสานกับคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากการช่วยเหลือไม่สามารถทำผ่านทวิตเตอร์ได้ เพราะต้องมีการบันทึกข้อมูลอย่างละเอียดก่อนส่งต่องานให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปช่วยประชาชน ซึ่งปัจจุบันคอลเซ็นเตอร์ GCC 1111 กด 5 มีคู่สายไว้รองรับการโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ 364 คู่สาย

วิกฤติน้ำท่วมปีพ.ศ.2554 ที่กำลังเผชิญอยู่การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการติดตามข่าวช่วยให้การเตรียมพร้อมเพื่อฝ่าวิกฤติเต็มร้อยยิ่งขึ้น

น้ำเพชร จันทา
namphetc@dailynews.co.th
twitter.com/phetchan



Create Date : 07 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2554 19:55:58 น. 1 comments
Counter : 458 Pageviews.

 
เข้ามาเยี่ยมชมบล็อคครับ อย่าลืมแวะไปทักทายกันบ้างนะครับ


โดย: Sahassa วันที่: 16 พฤศจิกายน 2554 เวลา:20:01:02 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

byjai
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add byjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.