ห้องสมุด Xiengyod
ว่าด้วยเรื่องธงต่างๆ ในเมืองไทยและนานาสาระ

เซียงยอด
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เซียงยอด's blog to your web]
Links
 

 

ธงแสดงยศสำหรับทหารเรือ (ตอนที่ 2)

ข้อความทั้งหมดคัดลอกจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ
(//www.navy.mi.th/navalmuseum/002_history/html/his_b12_flat_thai.htm)


พ.ศ. 2479 ตามพระราชบัญญัติธง ได้มีการแบ่งธงเครื่องหมายยศทหารเรือ ออกเป็น 4 ชั้น ดังนี้คือ


1. ธงจอมพลเรือ ธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นสีขาบมีรูปจักร 4 จักรสีขาว อยู่ที่มุมธงทั้งสี่มุม และ ที่ศูนย์กลางธง มีรูปสมอไขว้กับจักรภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้ เป็นสีเหลือง


2. ธงนายพลเรือเอก รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นสีขาบมีรูปจักรสีขาว 3 จักร เรียงเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า


3. ธงนายพลเรือโท รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นสีขาบมีรูปจักรสีขาว 2 จักร ที่กลางพื้นธงเรียงกันในแนวดิ่ง


4. ธงนายพลเรือตรี รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นสีขาบมีรูปจักรสีขาว 1 จักร ที่ศูนย์กลางธง

5. ส่วนธงนายพลเรือจัตวานั้น ได้ยกเลิกไป



พ.ศ. 2499 ตามพระราชบัญญัติธง ที่ได้ตราขึ้นใหม่นั้น แบ่งธงหมายยศ สำหรับนายทหารเรือ 5 ชั้นคือ


1. ธงจอมพลเรือ รูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 5 ส่วน ยาว 6 ส่วน พื้นสีขาบ ที่ศูนย์กลางธง มีรูปคทาไขว้ เหนือช่อชัยพฤกษ์ อยู่กลางกลุ่มจักร 5 จักร เรียงเป็นรูปห้าเหลี่ยมด้านเท่า รูปเหล่านี้สีขาว


2. ธงพลเรือเอก มีขนาด และ สีเหมือนธงจอมพลเรือ มีรูปจักรสีขาว 4 จักร เรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่กลางผืนธง


3. ธงพลเรือโท มีรูปจักรสีขาว 3 จักร เรียงเป็น สามเหลี่ยมด้านเท่าอยู่กลางผืนธง


4. ธงพลเรือตรี มีรูปจักรสีขาว 2 จักร เรียงตามยาวอยู่กลางผืนธง


5. ธงพลเรือจัตวา มีรูปจักรสีขาว 1 จักร อยู่กลางผืนธง



พ.ศ. 2522 ได้มีการเปลี่ยนแปลงธงแสดงยศสำหรับทหารเรือขึ้นใหม่ ดังปรากฏในพระราชบัญญัติธง ดังนี้

ธงแสดงยศทหารเรือ มีลักษณะเป็น รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นธงสีขาบ มีรูปจักรสีขาว เป็นจักรแปดแฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้าย มี 5 ชั้น คือ


1. ธงจอมพลเรือ มีรูปจักร 5 จักร อยู่ที่มุมธงทั้ง 4 มุม มุมละ 1 จักร และอยู่ตรงกลางผืนผ้าธงอีก 1 จักร


2. ธงพลเรือเอก มีรูปจักร 4 จักร อยู่ที่มุมธงทั้ง 4 มุม มุมละ 1 จักร


3. ธงพลเรือโท มีรูปจักร 3 จักร เรียงเป็น รูปสามเหลี่ยมด้านเท่า อยู่ตรงกลางของผืนธง ให้ด้านฐาน ของรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า อยู่ด้านล่าง ขนานกับ ขอบล่างของผืนธง


4. ธงพลเรือตรี มีรูปจักร 2 จักร เรียงกันในแนวดิ่งอยู่ตรงกลางของผืนธง


5. ธงพลเรือจัตวา มีรูปจักร 1 จักร อยู่ตรงกลางของผืนธง





 

Create Date : 30 เมษายน 2550    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2551 14:22:16 น.
Counter : 8777 Pageviews.  

ธงแสดงยศสำหรับทหารเรือ (ตอนที่ 1)

ข้อความทั้งหมดคัดลอกจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ
(//www.navy.mi.th/navalmuseum/002_history/html/his_b12_flat_thai.htm)


ธงแสดงยศสำหรับทหารเรือ



ธงเกตุ


ธงเกตุ นอกจากจะใช้เป็นธง เพื่อแสดงให้รู้ว่าเรือลำใดเป็นเรือของหลวงแล้ว ยังนำมาใช้เป็นธงสำหรับหมายยศตำแหน่งแม่ทัพเรืออีกด้วย ซึ่งนำมาใช้ เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2435 ลักษณะของธงเกตุ เป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าหาเสา ใช้เป็นธงหมายยศแม่ทัพเรือ มี 3 ชั้น ธงนี้ชักขึ้นตามลำดับเสา เพื่อแสดงยศของแม่ทัพเรือ ซึ่งอยู่ในเรือลำนั้น ดังนี้คือ

1. ตำแหน่งนายพลเรือเอก ชักขึ้นที่เสาใหญ่
2. ตำแหน่งนายพลเรือโท ชักขึ้นที่เสาหน้า
3. ตำแหน่งนายพลเรือตรี ชักขึ้นที่เสาท้าย



ธงแสดงยศ พ.ศ. 2440





ธงฉาน/ธงนายพลเรือเอก




ธงนายพลเรือโท




ธงนายพลเรือตรี




ธงหางแซงแซวรับซัว/ธงนายพลเรือจัตวา


พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้เรียก ธงเกตุ ว่า ธงฉาน และยังคงนำมาใช้ ชักขึ้นแสดงยศเช่นเดิม สำหรับนายพลเรือเอกชักขึ้นบนเสาใหญ่ สำหรับนายพลเรือโท เพิ่มรูปจักรสีขาวที่มุมธงข้างหน้าช้างจักรหนึ่งชักขึ้นบนเสาหน้า นายพลเรือตรีเพิ่มจักรสีขาวข้างมุมบน มุมล่างหน้าช้าง 2 จักร ชักขึ้นบนเสาหลังหรือถ้าเป็นเรือสองเสาชักขึ้นบนเสาหน้า

ธงหางแซงแซว โปรดให้ใช้ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2440 เป็นธงที่แสดงยศนายพลเรือจัตวาเอาธงฉาน ตัดชายเป็นแฉกอย่างหางนกแซงแซว สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ เป็นที่หมายว่านายพลเรือจัตวา อยู่ในเรือนั้น ธงนี้ ใช้ต่อมา ถึงรัชกาลที่ 6



ธงแสดงยศ พ.ศ. 2453




ธงจอมพลเรือ




ธงฉาน/ธงนายพลเรือเอก




ธงนายพลเรือโท




ธงนายพลเรือตรี




ธงหางแซงแซวรับซัว/ธงหมายยศนายพลเรือจัตวา


ต่อมาใน พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้สร้างธงหมายตำแหน่งยศขึ้น เหมือนกับธงฉาน ดังนี้คือ
ธงจอมพลเรือ - เหมือนกับธงฉาน แต่ข้างหน้าช้าง มีรูปสมอไขว้ 2 ตัว กับ มหามงกุฎสีเหลือง ถ้าใช้ในเรือใหญ่ ใช้ชักขึ้นที่เสาใหญ่
ธงนายพลเรือ - เหมือนกับธงฉาน เป็นเครื่องหมายยศตำแหน่ง ยศนายพลเรือเอก ใช้ชักขึ้นที่เสาใหญ่ ถ้าธงนี้มีรูปจักรสีขาวอยู่ที่มุมบนข้างหน้าช้าง เป็นธงหมายตำแหน่งยศนายพลเรือโท ถ้ามีรูปจักรสีขาวอยู่ทั้งมุมข้างบนและข้างล่าง หน้าช้าง 2 จักร เป็นธงหมายตำแหน่งยศนายพลเรือตรี ธงนายพลเรือโทนั้นถ้าใช้ในเรือ ให้ชักขึ้นที่เสาหน้า ส่วนนายพลเรือตรี ถ้าเป็นเรือ 3 เสาให้ชักขึ้น ที่เสาหลัง ถ้าเป็น 2 เสาให้ชักขึ้นที่เสาหน้า สำหรับธงนายพลเรือจัตวานั้น ยังคงมีลักษณะเช่นเดิม แต่ถ้าใช้ในเรือให้เปลี่ยนมาชักขึ้นที่เสาหลัง

พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้ ตราพระราชบัญญัติใหม่ แต่ธงแสดงยศ สำหรับ ทหารเรือ ยังคงรูปแบบเดิม ตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2453





 

Create Date : 30 เมษายน 2550    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2551 9:26:59 น.
Counter : 2309 Pageviews.  

ธงฉาน

ข้อความทั้งหมดคัดลอกจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ
(//www.navy.mi.th/navalmuseum/002_history/html/his_b12_flat_thai.htm)




ธงเกตุ สมัยรัชกาลที่ 4



ธงฉานเริ่มมีใช้ครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในสมัยนั้น ธงประจำเรือหลวงและธงประจำเรือค้าขายของราษฎรใช้ธงชนิดเดียวกันคือธงพื้นแดงมีช้างเผือกอยู่ตรงกลาง ยากแก่การสังเกตว่าเรือใดเป็นเรือหลวง เรือใดเป็นเรือราษฎร์ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงบัญญัติให้ใช้ธงพื้นสีขาบ ตรงกลางมีรูปช้างเผือก (ตัวเปล่า) หันหน้าเข้าหาเสา ใช้ชักขึ้นที่หน้าเรือหลวงและเรียกธงนี้ว่า “ธงเกตุ”





ธงเกตุ พ.ศ. 2434


พ.ศ. 2434 ธงเกตุเปลี่ยนจากรูปช้างเผือก (ตัวเปล่า) เป็นช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นธงสีขาบหันหน้าเข้าหาเสา สำหรับใช้ชักที่หน้าเรือรบ และเป็นธงสำหรับหมายยศตำแหน่งแม่ทัพเรือด้วย คือ.-
ตำแหน่งที่นายพลเรือเอก ชักขึ้นที่เสาใหญ่
ตำแหน่งที่นายพลเรือโท ชักขึ้นที่เสาหน้า
ตำแหน่งที่นายพลเรือตรี ชักขึ้นที่เสาท้าย





ธงฉาน (พ.ศ. 2434 - 246) และธงนายพลเรือเอก (พ.ศ. 2434 - 2479)



ธงนายพลเรือโท (พ.ศ. 2440 - 2479)



ธงนายพลเรือตรี (พ.ศ. 2440 - 2479)


พ.ศ. 2440 ธงเกตุเปลี่ยนชื่อเป็นธงฉาน มีลักษณะคงเดิม และปรับปรุงการใช้ใหม่ ดังนี้คือ.-

1. สำหรับชักขึ้นที่หน้าเรือหลวงทั้งปวง
2.ชักขึ้นบนเสาใหญ่ เป็นที่หมายว่าเรือนั้นอยู่ในความบังคับบัญชาของนายพลเรือเอก
3.ถ้าธงนี้มีจักรสีขาวอยู่มุมบนข้างหน้าช้างชักขึ้นบนเสาหน้า เป็นที่หมายว่าเรือนั้นอยู่ในความบังคับบัญชาของนายพลเรือโท
4.ถ้าธงนี้ มีจักรสีขาวอยู่ทั้งมุมบนและมุมล่างข้างหน้าช้าง ชักขึ้นบนเสาหลังหรือถ้าเป็นเรือสองเสาชักขึ้นบนเสาหน้า เป็นที่หมายว่าเรือนั้นอยู่ในความบังคับบัญชาของนายพลเรือตรี

พ.ศ. 2453 ธงฉานมีรูปลักษณะคงเดิม แต่เปลี่ยนแปลงการใช้ ดังนี้คือ.-

1. สำหรับใช้ชักที่เสาหน้าเรือหลวงทั้งปวง ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งหรือเรือรบในขณะที่อยู่ในราชการ
2. ถ้าชักขึ้นที่ปลายพรวนเสาหน้าเรือลำใด เป็นเครื่องหมายว่าเรือลำนั้นเป็นเรือยามประจำอ่าว
3. ใช้เป็นธงประจำกอง สำหรับกองทหารเรือในเวลาขึ้นบกด้วย





ธงฉาน พ.ศ. 2460 - ปัจจุบัน


พ.ศ. 2460 ธงฉานได้เปลี่ยนจากพื้นสีขาบ มาเป็นธงชาติตรงกลางมีรูปสมอไขว้กับจักร และมีพระมหามงกุฎอยู่เบื้องบน รูปเหล่านั้นเป็นสีเหลืองสำหรับความหมายแห่งการใช้ยังคงอยู่ตามเดิม

พ.ศ. 2479 ได้มีการตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ แต่ธงฉานคงมีลักษณะและสัณฐานเช่นเดิม เพียงแต่ปรับปรุงการใช้ขึ้นใหม่ ดังนี้คือ

1.สำหรับใช้ชักที่หน้าเรือรบ และเรือพระที่นั่งในระหว่างเวลาประจำการ
2.ถ้าชักขึ้นที่ปลายพรวนเสาหน้าของเรือลำใดเป็นเครื่องหมายว่าเรือลำนั้นเป็นเรือยามประจำอ่าว
3.ถ้าชักขึ้นที่เสาก๊าฟของเรือลำใด เป็นเครื่องหมายว่าในเรือลำนั้นเป็นที่ตั้งของศาลทหาร ซึ่งดำเนินการพิจารณาคดีอยู่
สำหรับกองทหารฝ่ายบกหรือหน่วยทหารเรือ ที่ไม่มีธงประจำกองในเวลายกพลขึ้นบก เพื่อจะให้มีธงประจำไปกับ กองทหารด้วย ก็ให้ใช้ธงฉานเป็นธงประจำกองทหารเรือ

หลังจาก พ.ศ. 2479 เป็นต้นมา ได้มีการตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่หลายครั้ง แต่สำหรับธงฉานนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2522 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติธงฉบับใหม่ ลักษณะธงฉาน ในมาตรา 19 กล่าวว่า ธงฉาน มีลักษณะเช่นเดียวกับธงชาติ แต่ตรงกลางของผืนธงมีรูปจักรแปดแฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้าย และมีสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลืองธงนี้เป็นธงที่ใช้ในเรือพระที่นั่งและเรือหลวง หรือเป็นธงสำหรับหน่วยทหารเรือที่ยกพลขึ้นบก ซึ่งหน่วยทหารนั้นไม่ได้รับพระราชทานธงไชยเฉลิมพล




 

Create Date : 22 เมษายน 2550    
Last Update : 1 กรกฎาคม 2551 23:54:44 น.
Counter : 3536 Pageviews.  

ธงชัยเฉลิมพลทหารเรือ

ข้อความทั้งหมดคัดลอกจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ
(//www.navy.mi.th/navalmuseum/002_history/html/his_b12_flat_thai.htm)


ธงไชยเฉลิมพล





ธงชัยเฉลิมพล ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รัตนโกสินทรศก 110

ธงไชยเฉลิมพล หรือ ธงประจำกองทหารนี้ คงจะมีมาก่อน พ.ศ. 2435 สำหรับกองทัพเรือนั้น เมื่อคราวที่ส่งทหารมะรีนไปช่วยทหารบกปราบพวกฮ่อ สันนิษฐานว่าคงจะมีธงประจำกองทหารมะรีนเช่นเดียวกัน แต่ธงประจำกองทหารในสมัยนั้นไม่เป็นแบบเดียวกัน เป็นต้นว่าส่วนสัดไม่ถูกต้องตามแบบที่เขามีมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงประจำกองทหารใหม่ ให้เป็นแบบธรรมเนียมเดียวกันเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2435 กองทัพเรือจึงได้รับพระราชทานธงไชยเฉลิมพลเป็นครั้งแรกในวันนี้เช่นเดียวกัน ธงไชยเฉลิมพลที่ได้รับในครั้งนั้นจะมีลักษณะเช่นใด ไม่ปรากฏหลักฐาน คงจะมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) ข้อ 4 ความว่า “ธงไชยเฉลิมพล พื้นธงเป็นสีต่างๆ ตามแต่ทหารจะเห็นสมควร แต่ที่มุมธงข้างบนมีแพรแดงเป็นรูปธงโตหนึ่งในหกส่วนของธงใหญ่มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่พื้นธงนอกจากธงช้างที่มุมมีตราสำหรับกองทหารนั้น เป็นธงสำหรับใช้เมื่อมีการรับเสด็จในเวลาพระราชพิธีใหญ่ และสำหรับเกียรติยศตามซึ่งจะโปรดเกล้าฯ ให้รับ และเมื่อกองทหารจะไปปราบศัตรูก็ใช้ธงนี้ไปในกองทัพด้วย”

พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทร์ศก 118 ขึ้นใหม่ ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110 ตามพระราชบัญญัติใหม่นี้ไม่ปรากฏว่ามีธงไชยเฉลิมพล





ธงฉาน พ.ศ. 2434-2460 กำหนดให้ใช้เป็นธงประจำกองสำหรับทหารเรือในเวลาขึ้นบก พ.ศ. 2453


พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทร์ศก 129 ขึ้นใหม่ โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 130 (2454) ในพระราชบัญญัตินี้ ได้กำหนดการใช้ธงฉานเพิ่มเติมว่า “เป็นธงประจำกองสำหรับทหารเรือในเวลาขึ้นบก” ในปี พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ โปรดให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ ธงฉานจึงเปลี่ยนจากธงช้างมาเป็นแบบธงฉานในปัจจุบัน คือ มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ตรงกลางของผืนธง มีรูปจักรแปดแฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้าย และมีสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหามงกุฎ





ธงฉาน พ.ศ. 2460


พ.ศ. 2478 กองทัพเรือได้ประกอบพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงไชยเฉลิมพล ที่สนามบริเวณพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ก็ได้ใช้ธงฉานเป็น ธงไชยเฉลิมพล

พ.ศ. 2479 ได้มีการตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ เรียกว่า พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2479 มาตรา 11 ได้กำหนด ธงประจำกองทหาร ไว้ 3 ชนิด คือ ธงประจำกองทหารบก ธงประจำกองทหารเรือ และ ธงประจำกองทหารอากาศ สำหรับ ธงประจำกองทหารเรือมีลักษณะเช่นเดียวกับธงฉาน และมีข้อกำหนด เพิ่มเติมว่า กองทหารเรือฝ่ายบกหรือหน่วยทหารเรือที่ไม่มีธงประจำกองในเวลายกพลขึ้นบก เพื่อจะให้มีธงประจำไปกับกองทหารด้วยก็ได้ใช้ธงฉานเป็นธงประจำกองทหารเรือ

สำหรับธงประจำกองทหารบกนั้น พระราชบัญญัตินี้กำหนดว่า มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ธงไชยเฉลิมพล” ส่วนธงประจำกองทหารเรือและธงประจำกองทหารอากาศไม่ได้กำหนดเรียกว่า “ธงไชยเฉลิมพล” เหมือนอย่างธงประจำกองทหารบก

ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2479 หน่วยทหารบกทหารเรือก็ได้รับพระราชทานธงไชยเฉลิมพลใหม่ กองทัพเรือได้จัด “กองพันทหารเรือ” 2 กองพัน ในบังคับบัญชาของนายเรือเอก ทองหล่อ ขำหิรัญ เข้ารับพระราชทานธงประจำกองด้วย ธงประจำกองทหารเรือที่ได้รับพระราชทานนั้น ที่ยอดคันธงมีรูปช้างสามเศียร ธงประจำกองที่ได้รับพระราชทานมา 2 ธง จึงเป็นธงประจำกองพันนาวิกโยธินเพียงธงเดียว อีกธงหนึ่งที่เหลือคงจะใช้เป็นธงประจำกองสำหรับหน่วยทหารเรืออื่นๆ ในเวลาที่ต้องการ ต่อมาจากนั้นอีกหลายปี จึงได้มีพิธีพระราชทานธงประจำกองทหารในกองทัพเรืออีก และรูปร่างลักษณะของธงนั้นก็ยังคงเหมือนเดิม สำหรับในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานธงไชยเฉลิมพลแก่หน่วยทหารต่างๆ ในกองทัพเรืออีกหลายครั้งด้วยกัน




ธงชัยเฉลิมพลทหารเรือ พ.ศ. 2479-ปัจจุบัน

สำหรับส่วนประกอบของธงมีดังนี้

1. ยอดคันธง เป็นรูปช้างสามเศียรภายใต้พระมหามงกุฎ ทำด้วยโลหะสีทอง
2. คันธง กว้างขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 เซนติเมตร ยาว 2.43 เมตร
3. คันธงระหว่างฐานช้างสามเศียรกับมุมบนของธง มีแถบธงชาติเป็นโบหูกระต่ายห้อย ชายทั้งสองยาวเลยมุมธงด้านล่าง ปลายชายแถบทั้งสองเป็นครุย
4. คันธงตอนที่ตรงกับธงมีสักหลาดสีแดงต่อกับริมธงหุ้มรอบคันธง มีหมุดทำด้วยโลหะสีทอง 15 หมุด หมุดที่ 1 เป็นรูปประเทศไทย หมุดที่ 2 เป็นรูปเสมาธรรมจักร หมุดที่ 3 เป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อ หมุดที่ 4 เป็นรูปรัฐธรรมนูญ หมุดต่อไป เป็นรูปเครื่องหมาย กองทหารเรือ หมุดที่ 1 อยู่บนสุด หมุดต่อไป เรียงลงมาตามลำดับ




 

Create Date : 22 เมษายน 2550    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2551 2:11:56 น.
Counter : 2097 Pageviews.  

ธงราชนาวี

ข้อความทั้งหมดคัดลอกจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ
(//www.navy.mi.th/navalmuseum/002_history/html/his_b12_flat_thai.htm)


ธงราชนาวีและธงที่ใช้ในกองทัพเรือ


ธงราชนาวี




ประเทศไทยเรามีธงราชนาวีมาตั้งแต่โบราณกาล ธงราชนาวีธงแรกที่มีขึ้นในประเทศไทยนั้น คือ ธงสีแดง และใช้เป็นเครื่องหมายของธงราชนาวีตลอดมาจนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์




พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีพระราชดำริว่า บรรดาเรือหลวงกับเรือราษฎร์ควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นแตกต่างกัน เพื่อจะได้สังเกตว่าลำไหนเป็นเรือหลวง ลำไหนเป็นเรือราษฎร์ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สั่งให้เรือหลวงทั้งปวงทำรูปจักรสีขาวไว้ตรงกลางพื้นสีแดงเป็นธงราชนาวีซึ่งใช้เป็นธงประจำเรือหลวง ส่วนเรือราษฎร์นั้นยังคงใช้ธงพื้นสีแดง




พ.ศ. 2360 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ ทรงได้ช้างเผือกมาสู่พระราชอาณาจักรถึง 3 เชือก นับว่าเป็นพระเกียรติยศอย่างยิ่งของพระมหากษัตริย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำรูปช้างสีขาว (ไม่ทรงเครื่อง) อยู่ในวงจักรสีขาวติดไว้ที่กลางธงแดง หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก เป็นธงราชนาวี ใช้เฉพาะเรือหลวงเท่านั้น




พ.ศ. 2398 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริให้เรือค้าขายของเอกชน ใช้ธงเหมือนอย่างเรือหลวง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เอารูปจักรออก (เพราะรูปจักรเป็นของสูง เป็นเครื่องหมายสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน) คงเหลือแต่รูปช้างสีขาวอยู่บนพื้นธงสีแดง ให้ใช้ได้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือราษฎร์




พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) ขึ้นเป็นพระราชบัญญัติธงฉบับแรก (ได้ทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะธงจากเดิมไปบ้าง) ได้เรียกชื่อธงราชนาวีใหม่ว่า “ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น” ลักษณะของธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดงตรงกลางธง มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาเสา และตรงมุมธงเบื้องบนด้านซ้าย มีจักรสีขาว 1 จักร ธงนี้สำหรับใช้ชักที่ท้ายเรือพระที่นั่งและเรือรบหลวง




พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขพระราชบัญญัติธงฉบับแรกใหม่ และเรียกพระราชบัญญัติธงฉบับนี้ว่า “พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก 116” และเปลี่ยนชื่อธงจากชื่อธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นเป็น ธงเรือหลวง ลักษณะของธงยังเหมือนเดิม แต่ไม่มีจักรสีขาวที่มุมธงธงราชนาวี




พ.ศ. 2453 ได้เปลี่ยนแปลงธงราชนาวีไปจากเดิม คือ เปลี่ยนชื่อจากธงเรือหลวงเป็น ธงทหารเรือ และเปลี่ยนลักษณะรูปร่างจากพื้นแดงตรงกลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น เพิ่มเครื่องหมายสมอไขว้กับจักรภายใต้มหาพิชัยมงกุฎสีเหลือง ที่มุมธงข้างหน้าช้างสำหรับใช้ชักที่ท้ายเรือ และสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องแสดงว่าเรือและสถานที่นั้นๆ ขึ้นอยู่กับ กระทรวงทหารเรือ




พ.ศ. 2460 ได้มีการเปลี่ยนแปลงธงราชนาวีใหม่คือ เปลี่ยนจาก "ธงทหารเรือ" เป็น "ธงราชนาวี" มีลักษณะเหมือนธงไตรรงค์ แต่ตรงกลางมีวงกลมสีแดง ภายในวงกลมมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาเสา นับตั้งแต่ พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติธงอีกหลายครั้งด้วยกัน แต่ธงราชนาวีก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงใช้อย่างเดิมนั่นเอง




 

Create Date : 21 เมษายน 2550    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2551 0:04:49 น.
Counter : 5930 Pageviews.  

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.