สังคมปริทัศน์ สาระเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของผู้ใฝ่รู้ทั่วไป... มิติและมุมมองเป็นสิ่งที่แตกต่างและขัดแย้งได้...เพราะความแตกต่างหรือความขัดแย้งเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่โลกเสมอมามิเคยหมดสิ้นไป..รังแต่จะเพิ่มความแตกต่างและขัดแย้งเพิ่มขึ้นเพื่อขับเคลื่อนโลกให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด...
Group Blog
 
All Blogs
 

มองสังคมไทยผ่านทฤษฎีความขัดแย้ง

Coffey, Cook, and Hunsaker (1994) ให้ความหมาย "ความขัดแย้ง" คือ เป็นการไม่เห็นด้วยระหว่างสองฝ่ายหรือมากกว่าสองฝ่าย (disagreement between two or more parties) เช่น การที่คนสองคนมีความเห็นต่างกัน การไม่ลงรอยระหว่างกลุ่ม หรือระหว่างองค์การ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ การตระหนักของบุคคลต่อสถานการณ์หนึ่งที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เกิดการกำหนดเป้าหมายที่ขัดแย้งกันได้ ความขัดแย้งจึงมักถูกมองว่าเป็นสิ่งไม่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วในบางกรณี ความขัดแย้งก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดวิธีแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ได้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาความขัดแย้งทั้งเชิงบวกและเชิงลบ

ทฤษฎีความขัดแย้ง (conflict theory)
ถือได้ว่า เป็นเครื่องชี้วัดให้ประจักษ์ ถึงวิวัฒนาการทางความคิดของความขัดแย้งที่มีพัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบัน รากฐานของทฤษฎีความขัดแย้ง พัฒนามาจากสมมติฐานที่ว่า "สังคม คือ ระบบที่มีสักษณะซับซ้อนของความไม่เท่าเทียมกัน (inequality) และความขัดแย้ง (conflict) จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม"

หัวใจสำคัญของแนวคิดกลุ่มนี้คือ การขัดแย้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ความขัดแย้งเป็นปรากฎการณ์ที่มีอยู่อย่างแพร่หลายทั่วไปเราจึงไม่ควรมองพฤติกรรมขัดแย้งว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี หรือเป็นปรากฏการณ์ที่ผิดปกติ
ทฤษฎีความขัดแย้งทางสังคม จึงมีแนวความคิดว่าสังคมนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแบ่งแยก (division) อันเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม วิธีการสำคัญที่นักปราชญ์และนักสังคมศาสตร์ ใช้วิเคราะห์ปรากฎการณ์ที่ขัดแย้งต่าง ๆ คือ วิธีการที่เรียกว่า "ไดอาเล็คติค" (Dialectic Method) เป็นวิธีการที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ สมัยโซเครตีส (Socrates) ใช้เป็นวิธีถามและตอบเพื่อแสวงหาความรู้ที่แจ่มแจ้งและสมบูรณ์ ทำให้เกิดการสมเหตุสมผลมากขึ้น (logical consistency) ต่อมานักปรัชญาชาวเยอรมันได้พัฒนา Dialectic สมัยใหม่ที่ว่าด้วย ข้อเสนอเบื้องต้น (thesis) และข้อเสนอแย้ง (anti thesis) และ คานท์ (Kant) แสดงความ เห็นว่า สาเหตุของความไม่กลมกลืน หรือไม่คล้องจองกัน เป็นเพราะระบบความคิดของคนเรา ซึ่งมีอิทธิพลมากกว่าอิทธิพลทางสังคมและวัฒนธรรม ความขัดแย้งที่มีอยู่ในตัวของบุคคลเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งภายนอกอื่น ๆ หากทำความเข้าใจ เรื่องความขัดแย้งที่มีอยู่ในตัวบุคคลได้แล้ว และหาทางขจัดความขัดแย้งนั้นออกไป ความขัดแย้งทางสังคมและวัฒนธรรมก็อาจหายไปได้ นักทฤษฎีความขัดแย้งด้านสังคมวิทยาที่สำคัญ 3 คน คือ

Marx  (อ้างถึงใน เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์, 2534) เป็นผู้ที่ใช้วิธีวิเคราะห์ แบบ Dialectical วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของทุก ๆ สังคมว่า เกิดจากความสัมพันธ์ของ "อำนาจการผลิต" ซึ่งได้แก่ ที่ดิน ทุน เทคโนโลยีและการจัดการด้านแรงงานกับ "ความสัมพันธ์ทางสังคมของการผลิต" อันได้แก่ เจ้าของปัจจัยการผลิต และผู้ใช้แรงงาน ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มักเกิดจากความขัดแย้งระหว่างชนชั้นเจ้าของปัจจัยการผลิต กับชนชั้นผู้ใช้แรงงาน

Sills (1968) อธิบายว่า ความขัดแย้งก่อให้เกิดผลทั้งด้านลบและด้านบวก ความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ถือเป็นสภาวะหนึ่งของมนุษย์ความขัดแย้งสามารถแก้ปัญหาความแตกแยกและทำให้เกิดความสามัคคีภายในกลุ่มได้เพราะในกลุ่มหนึ่ง ๆ ย่อมมีทั้งความเป็นมิตรและความเป็นศัตรูอยู่ด้วยกัน ดังนั้นความขัดแย้งจึงเป็นตัวสนับสนุนไห้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ได้เสนอเพิ่มเติมว่าความขัดแย้งทำให้เกิดการแบ่งกลุ่ม ลดความเป็นปรปักษ์ต่อกัน อันจะพัฒนาสู่ความร่วมมือได้ หรือทำให้เกิดความแปลกแยกได้

Dahrendorf (1968) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันที่ปฏิเสธแนวคิดของมาร์กช์ เรื่อง ความขัดแย้งระหว่างชนชั้น Dahrendorf อธิบายคุณลักษณะ "ความขัดแย้ง" ว่ามีลักษณะสอดคล้องกับทุกสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ทุกสังคมจึงเกิดความขัดแย้งได้ตลอดเวลา ซึ่งเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิอำนาจ ทำให้สังคมเกิดกลุ่มแบบไม่สมบูรณ์ขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่เบื้องหลัง แต่ละฝ่ายจึงพยายามรักษาผลประโยชน์ของฝ่ายตนไว้ ทำให้ระดับของความรุนแรงจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการจัดการและการประสานผลประโยชน์ของกลุ่มที่ครอบงำกลุ่มอื่น ความขัดแย้งจึงสามารถควบคุมได้โดยการประนีประนอม และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นผลมาจากความกดดันจากภายนอกโดยสังคมอื่น ๆ ด้วย

สรุปแนวคิดนี้ได้ว่า
1.สังคมจะดำรงความขัดแย้งอยู่เสมอเนื่องจากสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไม่เคยหยุดนิ่งแต่จะรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมนั้นๆ ในเวลานั้นๆ
2.ปัจจัยของความขัดแย้งทางสังคมมีมากมายแต่โดยพื้นฐานมาจากความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมในด้านต่าง ๆ
3.สังคมไทยในปัจจุบันจะเข้าเงื่อนไขความขัดแย้งตามทฤษฎีอย่างไร ท่านลองคิดดูเอา

บรรณานุกรม

สุพัตรา จิตตเสถียร. (2550). การจัดการความขัดแย้งในสถานพยาบาลของรัฐระดับจังหวัด. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต รัฐประศาสนศาสตร์, มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์. (2534). ความขัดแย้ง การบริหารเพื่อความสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ตะเกียง.
Dahrendorf, R. (1968). Essays in the theory of society. Stanford, CA: Stanford University Press.
Sills, D. L. (1968). International encyclopedia of the social sciences. New York: Macmillan.




 

Create Date : 11 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 11 กรกฎาคม 2555 13:50:19 น.
Counter : 3037 Pageviews.  


ท้าวคำไหล
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




รีวิวการศึกษา
Friends' blogs
[Add ท้าวคำไหล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.