ยินดีต้อนรับสู่ "กระท่อมตาเชย"
space
space
space
space

ว่านเสน่ห์จันทน์ ชนิดที่ 2 ว่านเสน่ห์จันทน์ขาว
ชนิดที่ 2 ว่านเสน่ห์จันทน์ขาว

 นับจากว่านเสน่ห์จันทน์ขาวนี้เป็นต้นไป ล้วนเป็นไม้ที่นำเข้ามาจากนอกทั้งสิ้น

ลักษณะ  ต้นคล้ายบอน ใบเหมือนใบโพธิ์แต่มีทางขาว ก้านขาว หัวมีครีบ มีกลิ่นหอมดังกลิ่นจันทน์ (ตาเชยได้คัดลอกลักษณะว่านทุกชนิดมาตามที่ตำราเก่าบันทึกไว้ทุกอย่าง ฉะนั้นถ้าใครไปเจอลักษณะว่านซึ่งได้บรรยายไว้ที่ไหนก็ตามแตกต่างไปจากที่ตาเชยบอกนี้ ก็ขอให้พึงเข้าใจนะครับว่าข้อความเหล่านั้นคนเขียนท่านเขียนของท่านขึ้นมาเองทั้งหมด)



สรรพคุณ  ปลูกไว้เป็นสิริมงคล เกิดเป็นเสน่ห์เมตตามหานิยม ช่วยป้องกันภัยอันตราย ค้าขายดี





 

Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2556   
Last Update : 20 ธันวาคม 2558 15:01:43 น.   
Counter : 4015 Pageviews.  
space
space
ว่านเสน่ห์จันทน์ ชนิดที่ 1 ว่านเสน่ห์จันทน์

ชนิดที่ 1 ว่านเสน่ห์จันทน์


ในปัจจุบันถ้าเขียนเพียงคำว่า " ว่านเสน่ห์จันทน์ " ขึ้นมาลอยๆ ร้อยทั้งร้อยจะต้องนึกไปถึง ว่านเสน่ห์จันทน์ขาว ว่านเสน่ห์จันทน์แดง หรือว่านเสน่ห์จันทน์เขียว ฯลฯ ไปโน่น

มีใครจะนึกบ้างว่านี่แหละ คือชื่อว่านต้นแรกของว่านจำพวกว่านเสน่ห์จันทน์ทั้งหลาย ที่ถูกบันทึกไว้ในตำรากบิลว่านเล่มแรกซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นมาเมื่อ 83 ปีที่แล้ว และชื่อว่านต้นนี้ได้ถูกลบเลือนหายไป เมื่อมีการจัดพิมพ์ตำราว่านเล่มที่ 7 ใน พ.ศ. 2504 โดยว่านต้นนี้ได้ถูกนำไปรวมไว้ในว่านเสน่ห์จันทน์เขียว กลายเป็นว่าว่านเสน่ห์จันทน์เขียวมี 2 ต้น คือต้นหอมมาก กับต้นหอมน้อย

นับแต่นั้นมาก็ไม่มีใครรู้จัก หรือเอ่ยถึงว่านชื่อนี้อีกเลย ทั้งๆ ที่ตำราเก่าระบุไว้ชัดเจนว่าว่านต้นนี้แหละที่มีอานุภาพสูงที่สุดในบรรดาว่านเสน่ห์จันทน์ทั้งหลาย ไม่เพียงแค่นั้นสรรพคุณของว่านต้นนี้ยังถูกก๊อบปี้เอาไปใส่ให้ว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์จนกลายเป็นว่า ว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์ต่างหากที่มีอานุภาพสูงที่สุดอยู่ในปัจจุบัน

ต่อมาภายหลัง แม้แต่ที่ตำราระบุว่าว่านเสน่ห์จันทน์เขียวมี 2 ชนิด ก็ยังไม่มีใครสนใจคงเล่นกันอยู่แต่ต้นหอมน้อย ตลอดมา พอมาถึงช่วงที่นิยมเล่นว่านกัน(พ.ศ. 2520 - 2526) จึงค่อยมีคนหันมาสนใจพวกว่านเสน่ห์จันทน์ทั้งหลายบ้าง เล่นไปเล่นมาปรากฏว่ามันมีต้นที่หอมมากๆ อยู่ 3 ต้นด้วยกัน คือ

1) ว่านเสน่ห์จันทน์ขาว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีเพราะดูง่ายเนื่องจากก้าน ใบ ตลอดไปจนถึงเส้นใบมีสีขาวจัด
2) ว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์ ซึ่งกลายมาจากจันทน์ขาว รูปร่างและกลิ่นจึงเหมือนจันทน์ขาวทุกอย่าง เว้นแต่ต้น ก้าน ใบ มีสีเขียว
3) เหลือว่านอีก 1 ต้นซึ่งเขียวทั้งต้นและใบ แต่รูปใบจะยาวกว่าว่านเสน่ห์จันทน์ทุกประเภท ส่วนกลิ่นก็หอมไม่แพ้ 2 ต้นแรกนั่นเลย แต่หาชื่อไม่ได้เพราะต่างคนต่างก็ไม่รู้จัก นายหล่อ ขันแก้ว นายกสมาคมว่านในสมัยนั้น จึงได้เรียกชื่อว่านต้นนี้ว่า ว่านเสน่ห์จันทน์ศรีมหาโพธิ์  คือเลียนชื่อมาจากว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์นั่นเอง ชื่อว่านเสน่ห์จันทน์ศรีมหาโพธิ์จึงเกิดขึ้นมาด้วยประการฉะนี้

ต่อมามีผู้ที่รู้มากแต่รู้ไม่หมด คือท่านทราบว่าไม้ตัวนี้มีการเล่นหากันมานมนานมาก ก่อนที่ว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์จะเกิดขึ้นเสียอีก ท่านก็ว่าไม้ตัวนี้สมควรชื่อว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์จึงจะถูกต้อง ส่วนต้นที่กลายจากจันทน์ขาวนั่นจึงสมควรชื่อว่านเสน่ห์จันทน์ศรีมหาโพธิ์เพราะเกิดทีหลัง นับแต่นั้นมาวงการว่านก็มีการใช้ชื่อว่านทั้งสองต้นนี้สลับกันไปมาอยู่ตลอด แล้วแต่ความเชื่อของใคร

ก็เมื่อท่านรู้อยู่ว่าต้นที่หอมมากแต่ใบยาวนี้ มีการเล่นหากันมานานมาก(บางตำราอ้างว่าเล่นกันมาแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ) แล้วทำไมไม่เฉลียวใจบ้างล่ะว่าที่จริงแล้วว่านตัวนี้ก็คือต้นที่ถูกบันทึกไว้ในตำราว่านเล่มแรกว่าชื่อ ว่านเสน่ห์จันทน์ แล้วต่อมาได้ถูกยุบรวมเป็นว่านเสน่ห์จันทน์เขียว ต้นหอมมาก และต่อมาได้ถูกหลงลืมไปในที่สุดนั่นเอง

ตาเชยจะเรียงลำดับชื่อว่านก่อนหลังไปตามลำดับ เหมือนดังที่ตำราว่านรุ่นเก่าท่านได้บันทึกไว้นะครับ  ว่านเสน่ห์จันทน์ ชนิดแรกนี้ เป็นต้นที่เล่นหากันมานานประมาณครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี และเป็นว่านเสน่ห์จันทน์ในสกุลบอนเพียงต้นเดียวที่เป็นไม้ของไทยแท้

ลักษณะ
  จากตำราเก่า ก้านเหมือนอุตพิต ใบเหมือนใบโพธิ์ หลังใบขาวเป็นนวล ยอดเหมือนพลับพลึง มีกลิ่นหอมดังกลิ่นจันทน์

สรรพคุณ  ตำราบูรพาจารย์กล่าวว่าเป็นว่านมหัศจรรย์ แม้ผู้ใดปลูกว่านชนิดนี้ไว้ในบ้าน จะสามารถบันดาลจิตใจของผูัคนทั้งหลายที่ได้พบเห็นเรา ให้เกิดความนิยมชมชอบอยู่เสมอ และดลใจให้ผู้คนทั้งหลายให้มาคบค้าสมาคมติดต่ออยู่เสมอมิได้ขาด
ว่านนี้มีอานุภาพมากนัก ท่านว่าจะตีราคาบ่มิได้ เมื่อพบว่านนี้ให้บัดพลีเสียก่อนแล้วเสกน้ำมนต์รดจึงขุดเอามาได้ ให้นำหัวว่านมาแกะเป็นรูปต่างๆ ตามประสงค์ ก่อนแกะให้ถือศีลทำน้ำมนต์รดตัวเสกให้ได้พันคาบ แกะแล้วใส่ลงในขันเติมน้ำมันหอมให้ท่วม นำเข้าไปในโบสถ์จัดให้มีบายศรีทั้งซ้ายขวาจึงเสกให้ได้พันคาบ หรือจนกว่าน้ำมันหอมจะวนเป็นทักษิณาวัตร จึงเอาน้ำมันทาหน้าผาก ใครเห็นใครก็รัก ปรารถนาสิ่งใดได้ทุกอย่าง ทั้งอยู่คงกระพันฟันแทงมิเข้า ใครก็จับมิอยู่ ถ้าจะให้ล่องหนเอาน้ำมันนั้นมาทาตัวใครก็มองไม่เห็น ฯลฯ มันยาวมากขี้เกียจพิมพ์แล้ว

ลักษณะเด่น  รูปใบแคบยาวกว่าว่านเสน่ห์จันทน์ทุกชนิด มีกลิ่นหอมแรงมากทุกส่วน ไม่แพ้ว่านเสน่ห์จันทน์ขาว หรือว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์เลย

ชื่อที่เรียกกันอยู่ในปัจจุบัน  ว่านเสน่ห์จันทน์ศรีมหาโพธิ์  ว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์  ว่านเสน่ห์จันทน์หอม






 

Create Date : 27 มกราคม 2556   
Last Update : 20 ธันวาคม 2558 15:07:54 น.   
Counter : 19710 Pageviews.  
space
space
ว่านเสน่ห์จันทน์ ความจริงที่ควรรู้เกี่ยวกับว่านเสน่ห์จันทน์
ความจริงที่ควรรู้เกี่ยวกับว่านเสน่ห์จันทน์

ข้อความที่ตาเชยจะเขียนต่อไปนี้ มีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอความเป็นจริงในทุกๆ เรื่องของว่านเสน่ห์จันทน์ให้ปรากฏไว้เป็นหลักฐาน เป็นแบบอย่างสำหรับอ้างอิง และเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่อยากจะศึกษา หรือปลูกเลี้ยงว่านเสน่ห์จันทน์ในยุคหลังๆ สืบต่อไป

ปัญหาแรก  คือการเขียน " ชื่อ " ครับ เราควรจะเขียนชื่อว่านพวกนี้ว่า เสน่ห์จันทร์ หรือ เสน่ห์จันทน์ จึงจะถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริง..

เท่าที่ตาเชยได้อ่านตำราว่านหลักของไทยตั้งแต่เล่มแรก พิมพ์ พ.ศ. 2473 จนถึงเล่มที่ 12 พิมพ์ พ.ศ. 2516 พบว่าถ้าเป็นตำราเล่มที่ผู้เขียนมีความรู้ค่อนข้างดีแล้ว มักจะเขียนเป็นเสน่ห์จันทน์ครับ เหตุผลที่เรียกชื่ออย่างนี้ก็มาจากคำบรรยายลักษณะของว่านที่บอกว่า " ว่านเหล่านี้ มีกลิ่นหอมดังกลิ่นจันทน์ " นั่นเอง จากคำแปลของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน " เสน่ห์ : ลักษณะที่ชวนให้รัก; จันทน์ : ชื่อพรรณไม้ที่มีเนื้อไม้ ดอก หรือผลหอม " เมื่อนำมารวมกันเป็น เสน่ห์จันทน์ จึงมีความหมายว่า " ไม้ทีมีกลิ่นหอมและมีลักษณะน่ารัก " ซึ่งทุกอย่างก็ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงและไม่น่าจะมีปัญหา

แต่จุดที่เป็นปัญหาก็คือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ท่านกลับเขียนเป็น ว่านเสน่ห์จันทร์ขาว และ ว่านเสน่ห์จันทร์แดง ซึ่งพอจะแปลความหมายได้ว่า " ดวงจันทร์ที่มีลักษณะชวนให้รัก " เมื่อฟังแล้วจะรู้สึกได้ว่ามันขัดกับความเป็นจริง มันไม่น่าจะมาเกี่ยวข้องอะไรกับว่านพวกนี้เลย ตาเชยจึงได้ตรวจสอบดูว่าราชบัณฑิตย์ท่านไปเอาคำว่าจันทร์ขาว กับ จันทร์แดง นี้มาจากไหน ไปดูที่พจนานุกรมเล่มแรก พ.ศ. 2493 ก็ยังไม่มีคำว่า จันทร์ขาว และ จันทร์แดง ปรากฏอยู่เลย แสดงว่าท่านเพิ่งไปเก็บสองคำนี้มาในภายหลัง เมื่อตรวจสอบบรรณานุกรมแล้วพบว่าการเก็บคำในเรื่องของว่าน ได้เก็บคำมาจากตำรากบิลว่านของหลวงประพัฒสรรพากร ได้เรื่องละทีนี้

"ตำหรับ กระบิลว่าน" ของหลวงประพัฒสรรพากร รวบรวมพิมพ์(ในงานปลงศพสนองคุณ นางเอี่ยม กาญจนโภคิน) โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2475 เป็นตำราเล่มที่สองของไทยครับไม่ใช่เล่มแรก เมื่อไปเปิดดูสารบัญรายชื่อว่านจากหนังสือเล่มนี้ก็เห็นชัดเลยครับว่าท่านไปเก็บ 2 ชื่อนี้มาจากที่นี่จริงๆ แต่ราชบัณฑิตท่านดูแค่สารบัญครับ ไม่ได้ดูเนื้อหาข้างในเลย ท่านลืมไปกระมังว่าคนเขียนสารบัญนั้นส่วนมากเป็นคนของสำนักพิมพ์ ไม่ใช่คนเขียนเรื่องเป็นผู้เขียนเอง ทำไมตาเชยพูดอย่างนี้ ก็เพราะว่าตรงสารบัญเค้าเขียนเป็นเสน่ห์จันทร์ก็จริง แต่ในเนื้อหาข้างในนั้นเค้าเขียนชื่อเป็น ว่านเสน่ห์จันทน์ขาว และ ว่านเสน่ห์จันทน์แดง ทุกแห่งเลยน่ะสิ

ที่จริงปัญหานี้น่าจะหมดไป ถ้าราชบัณฑิตท่านไปเก็บคำมาจากตำราว่านเล่มแรก "ลักษณะว่าน" นายชิต วัฒนะ เป็นผู้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2473 แต่ไม่ทราบว่าเพราะตำราเล่มนี้มันไม่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติแล้ว หรือว่าท่านหาตำราเล่มนี้ไม่ได้ก็เลยไปใช้เล่มที่สองแทน ตำราเล่มแรกถึงแม้จะมีชื่อว่านเสน่ห์จันทน์เพียงชนิดเดียว แต่ก็พิมพ์ไว้ชัดเจนดังนี้



สรุปว่า.. จากที่มาที่ไป จากความหมาย และจากหลักฐานที่ตาเชยได้รวบรวมมาให้อ่านแล้วนี้ เราควรเขียนว่า ว่านเสน่ห์จันทน์ ครับ จึงจะได้ความหมายที่สมบูรณ์และถูกต้อง แต่ถ้าท่านยังอยากจะเขียนเป็นเสน่ห์จันทร์อยู่อีก ก็เชิญตามสบายละกัน

ปัญหาต่อไป คือ ว่านเสน่ห์จันทน์จริงๆ แล้วมีกี่ชื่อ และกี่ชนิดกันแน่

ปัญหาที่ดูเหมือนจะตอบง่าย แต่จริงๆ แล้วตอบยากนะครับ เพราะแม้แต่ตำราเก่าก็ยังเขียนไว้ขัดกันเองให้วุ่นวายไปหมด ตาเชยจะพยายามลำดับมาให้ท่านอ่านจนเข้าใจละกัน วิธีนี้คงต้องแยกตำราหลักออกเป็น 2 ยุคเสียก่อนจะได้ไม่งง คือยุคก่อน พ.ศ. 2500 ประกอบด้วยตำราหลัก 5 เล่ม และยุคหลังระหว่าง พ.ศ. 2500 - 2520 อีก 7 เล่ม รวมตำราว่านหลักๆ ของไทยมีทั้งหมด 12 เล่มด้วยกัน จำให้ดีนะครับ เพราะการเขียนเรื่องว่านตาเชยจำเป็นต้องอ้างอิงถึงตำราเหล่านี้อยู่เสมอ

ในตำราว่านยุคก่อน พ.ศ. 2500 มีชื่อว่านเสน่ห์จันทน์อยู่เพียง 3 ชนิดครับ คือ

1) ว่านเสน่ห์จันทน์  2) ว่านเสน่ห์จันทน์ขาว 3) ว่านเสน่ห์จันทน์แดง

ว่านเสน่ห์จันทน์ขาว กับ ว่านเสน่ห์จันทน์แดง นี่คงไม่มีปัญหา เพราะเป็นชื่อที่เราคุ้นหูกันอยู่แล้ว แต่ชื่อว่านเสน่ห์จันทน์(เฉยๆ) นี่เชื่อว่าเกือบทุกคนแทบจะไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย เพราะว่านชื่อนี้มันเริ่มหายไปจากตำราว่านตั้งแต่ยุคต้นๆ พ.ศ. 2500 แล้วน่ะครับ ครั้นมาถึงตำราว่านเล่มที่ 6 ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2503 จึงได้เพิ่ม

4) ว่านเสน่ห์จันทน์เขียว ขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง

พอมาถึงตำราเล่มที่ 7 ซึ่งพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2504 ชื่อ ว่านเสน่ห์จันทน์ ได้หายไปจากตำราว่านเล่มนี้ แต่กลับมีชื่อว่านเสน่ห์จันทน์เพิ่มขึ้นมาอีก 3 ชนิด คือ

5) ว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์ 6) ว่านเสน่ห์จันทน์ทอง 7) ว่านเสน่ห์จันทน์หอม

อ่านให้ดีนะครับ ตำราเล่มนี้ระบุไว้ชัดเลยว่า ว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์ และว่านเสน่ห์จันทน์ขาว เป็นไม้ต้นเดียวกันแล้วแต่เราจะเรียกชื่อไหนก็ได้ และยังระบุว่าว่านเสน่ห์จันทน์เขียวนั้นมีอยู่ 2 ชนิด คือ ต้นหนึ่งมีกลิ่นหอมแรงมาก กับอีกต้นจะมีกลิ่นหอมน้อยมาก

จากตำราเล่มแรก จนมาถึงเล่มสุดท้าย มีบันทึกชื่อว่านเสน่ห์จันทน์ไว้ทั้งหมด 7 ชื่อด้วยกัน แต่เนื่องจากว่านเสน่ห์จันทน์ขาวและว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์นั้น เป็นไม้ต้นเดียวกันชนิดเดียวกัน จึงสรุปได้เป็นที่แน่นอนว่าเสน่ห์จันทน์ที่เป็นว่านจริงๆ นั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 7 ชื่อ 6 ชนิด ดังตาเชยจะได้บอกถึงวิธีดูลักษณะ ต้น-ใบ-ดอก ที่เป็นว่านของแท้ ตลอดจนถึงสรรพคุณของว่านเสน่ห์จันทน์แต่ละต้น แต่ละชนิดโดยละเอียดต่อไป.




 

Create Date : 26 มกราคม 2556   
Last Update : 20 ธันวาคม 2558 14:52:53 น.   
Counter : 10583 Pageviews.  
space
space

ตาเชย
Location :
ชลบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 86 คน [?]




คนชลบุรีโดยกำเนิด เป็นลูกชาวนา-ชาวสวน-ชาวไร่ ชีวิตจึงสัมผัสกับต้นไม้ใบหญ้ามาแต่เล็กแต่น้อย จบมัธยมจาก "ชลชาย" แล้วไปต่อที่ "บ้านสมเด็จ" สุดท้ายจบลงที่ "ประสานมิตร"

- ไปบวชด้วยความสมัครใจของตัวเองอยู่ 4 พรรษา ได้เรียนทั้งธรรมบาลี และภาษาขอม ศึกษาการทำผงพุทธคุณต่างๆ การลง-การเขียนยันต์ 108 และอาถรรย์เวทย์วิทยาเกือบทุกด้าน ในขณะเดียวกันก็เริ่มเรียนรู้เรื่องว่านและสมุนไพรอย่างจริงจังในช่วงนี้

- สึกออกมาแล้วสอบเข้ารับราชการครั้งแรกที่กรมป่าไม้ ผ่านการอบรมในหลักสูตรการเพาะชำกล้าไม้ และเทคนิคการขยายพันธุ์พืช แล้วย้ายมาอยู่กรมอุทยานฯ ผ่านการอบรมการยังชีพในป่าชึ่งคลอบคลุมถึงการรู้จักพรรณไม้ที่ให้น้ำสามารถนำมาดื่มและใช้ได้ การรู้จักพรรณไม้ที่ใช้เป็นอาหาร และใช้เป็นยาได้ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตราชการได้ไปช่วยงานปลูกสร้างสวนเก็บรวบรวมพันธุ์ไม้ไทยทุกชนิด-พืชสมุนไพรในโครงการตามพระราชดำริฯ จนเกษียณอายุราชการ

- เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและปราบปราม จึงต้องใช้ชีวิตอยู่ในดงในป่า อยู่กับต้นไม้มาตลอดเป็นเวลานานกว่า 30 ปี และยังใช้เวลาว่างช่วงวันหยุดเปิดร้านจำหน่ายว่าน-สมุนไพร และพันธุ์ไม้ไทยแทบทุกชนิดมานานกว่า 20 ปี

- จึงเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องของต้นไม้อยู่พอสมควร เป็นสมาชิกสมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทยประเภทตลอดชีพมาแต่ยุคแรกๆ เป็นสมาชิกสมาคมว่านแห่งประเทศไทยมาแต่ยุคเริ่มก่อตั้ง เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์และวิทยากรระดับผู้นำเผยแพร่สมุนไพรไทยในโครงการตามพระราชดำริฯ โดยเฉพาะความรู้ในเรื่องว่านต้องจัดอยู่อันดับต้นๆ ของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันเลยทีเดียว


space
space
[Add ตาเชย's blog to your web]
space
space
space
space
space