ขอบคุณที่แวะมาอ่าน และคอมเม้นต์ให้กันนะค๊า http://summerhibiscus.bloggang.com
Group Blog
 
All blogs
 

บันทึกของ ดั่ง ถุ่ย เจิ่ม

เรื่องราวของสงครามเวียดนามในมุมมองของคุณหมอสาวชาวเวียดนามที่อุทิศตนเองทำงานเพื่อชาติ แต่ในส่วนของชีวิตส่วนตัวก็มีแง่มุมที่น่าสนใจ ที่สะท้อนให้เราเห็นหลายเรื่อง และที่สำคัญคือ สงครามทำลายทุกสิ่งจริงๆ


ผู้เขียน ดั่ง ถุ่ย เจิ่ม
ผู้แปล มนธิรา ราโท
กรุงเทพฯ สำนักพิม์คบไฟ
พ.ศ. 2549



การศึกษาประวัติศาสตร์สงครามเวียดนาม ตั้งแต่สมัยสงครามกู้ชาติกับฝรั่งเศส เรื่อยมาจนถึงสงครามกู้ชาติครั้งที่สองกับสหรัฐอเมริกานั้นกล่าวได้ว่างานวรรณกรรมซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทลายลักษณ์อักษรส่วนมากมาจากผู้นำกองทัพซึ่งเป็นผู้ชายเขียน เช่น บันทึกของโฮจิมินห์ และนายพลหวอ เงวียนซ๊าบ เป็นต้นแต่บันทึกของ ดั่ง ถุ่ย เจิ่ม เป็นงานเขียนสมัยสงครามกู้ชาติระหว่างเวียดนามกับอเมริกา ที่สร้างความสนใจให้กับแวดวงหนังสือของประเทศเวียดนามสมัยใหม่ไม่น้อยไปกว่างานวรรณกรรมชิ้นอื่นๆ ด้วยเหตุผลที่น่าสนใจหลายประการ เช่น ผู้เขียนเป็นสตรี และเป็นหมอซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสงครามต่อต้านอเมริกา
 ผู้เขียนเป็นแพทย์หญิงที่ทำงานให้กับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1967 ถึง ค.ศ. 1970 บิดาเป็นนายแพทย์ส่วนมารดาเป็นเภสัชกรและสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยในฮานอย ดั่ง ถุ่ย เจิ่มสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ฮานอยในปี ค.ศ. 1966 หลังจากนั้นเธอก็อาสาเข้าร่วมทำงานในกองทัพเหมือนคนหนุ่มสาวเวียดนามทั่วไป ระหว่าง 3 ปีที่เธอทำงานในภาคกลาง และภาคเหนือของเวียดนาม เธอได้บันทึกเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน บันทึกเล่มนี้จึงเป็นเสมือนสิ่งที่สะท้อนให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของผู้เขียน บันทึกของเธอได้ยุติลงเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1970 เธอถูกทหารอเมริกันยิงตายในขณะที่เธอพยายามปกป้องคนไข้ของเธอด้วยปืนกระบอกสั้นเพียงกระบอกเดียว  (ว่ากันว่าเธอถูกทหารอเมริกันล้อมถึง 120 คน) บันทึกเล่มนี้คงไม่ได้เปิดเผยในเวลาต่อมาหากเฟรดเดอริก ไวท์เฮิร์ทไม่เก็บมันไว้ เฟรดได้รับคำสั่งให้ทำลายเอกสารของฝ่ายตรงข้าม และเขาได้ถามเพื่อนชาวเวียดนามซึ่งทำหน้าที่ล่ามว่าควรจะทำลายบันทึกเล่มนี้ดีหรือไม่ และโดยไม่ลังเลเพื่อนทหารชาวเวียดนามใต้ผู้นั้น กล่าวว่าอย่าเผาทำลายเลยเพราะบันทึกเล่มนี้มันมีไฟในตัวของมันเองอยู่แล้ว จากนั้นเฟรดจึงเก็บบันทึกเล่มนี้ไว้กับตัว และภายหลังสงครามเขาได้พยายามติดต่อคืนบันทึกเล่มนี้ให้กับทางครอบครัวของคุณหมอดั่ง ถุ่ย เจิ่ม จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2005 ความพยายามของเขาจึงประสบผลสำเร็จ บันทึกของดั่ง ถุ่ย เจิ่มจึงได้เดินทางกลับบ้านที่เวียดนามอีกครั้ง และถูกตีพิมพ์ให้ประชาชนชาวเวียดนามได้อ่านในปี ค.ศ. 2005 นั่นเอง และได้รับการตีพิมพ์ในเวียดนามกว่า 300,000 เล่ม ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลกในเวลาต่อมา  
 บันทึกของ ดั่ง ถุ่ย เจิ่ม ได้สะท้อนภาพทางประวัติศาสตร์สมัยสงครามให้กับผู้อ่านที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันได้อย่างดี และยิ่งไปกว่านั้นบันทึกเล่มนี้ได้เชื่อมมิติทางประวัติศาสตร์ให้กับประชาชนหรือเยาวชนรุ่นหลังที่ไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของชาติ ได้ร่วมกันรับรู้และซึมซับถึงอำนาจทำลายล้างของสงครามว่ากว่าที่เวียดนามจะสามารถเอาชนะชาติมหาอำนาจจักรวรรดินิยมอเมริกาได้ ต้องใช้เวลานานหลายสิบปี และกว่าที่เวียดนามจะมีวันนี้ต้องสูญเสียเหล่าวีรชนในสงครามกว่า 3 ล้านคน ผู้เขียนได้สะท้อนให้เห็นว่าสงครามได้พรากเอาสีสันของวัยหนุ่มสาวของคนในยุคนั้นไป  แต่ถึงอย่างไรก็ตามผู้เขียนก็มีความหวังอันแรงกล้าว่าซักวันหนึ่งกองทัพจะได้รับชัยชนะในเร็ววัน และชีวิตอันปกติสุขจะกลับคืนมาอีกครั้ง ผู้พัดพรากจะได้กลับคืนสู่ถิ่นมาตุภูมิที่ตนได้จากมาเพื่อทำศึกสงครามและสิ่งสำคัญที่ผู้เขียนได้รับระหว่างการทำสงครามคือ ความรักอันบริสุทธิ์ที่ผู้เขียนได้รับจากคนรอบข้างทั้งเพื่อนร่วมงานและคนไข้ที่ต่างฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกันมา บันทึกของดั่ง ถุ่ย เจิ่ม จึงเปรียบเสมือน ดอกไม้เล็กๆในไฟสงครามที่ทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงความสัมพันธ์อันสวยงามบริสุทธิ์ระหว่างเธอและบุคคลรอบข้างได้เป็นอย่างดี ดังที่เฟรดผู้เก็บรักษาบันทึกเล่มนี้ไว้ได้กล่าวว่า “คุณต้องอ่านบันทึกเล่มนี้ มันจะบอกคุณทุกอย่าง”






Free TextEditor




 

Create Date : 08 มิถุนายน 2552    
Last Update : 8 มิถุนายน 2552 23:03:30 น.
Counter : 1167 Pageviews.  

The Winds of Change

The Winds of Change เป็นหนังสือที่มีการเปิดประเด็นและมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของระบบภูมิอากาศโลกที่ได้เคยทำลายอารยธรรมมนุษย์มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง อ่านเพื่อให้เกิดความตระหนักและช่วยกันดูแลเผ่าพันธุ์มนุษย์ก่อนที่จะสายเกินไป



Eugene Linden.  (2550).  คุณากร  วาณิชย์วิรุฬห์.  (ผู้แปล).  เพชฌฆาตอารยธรรม (The winds of Change).  กรุงเทพฯ: มติชน.  335 หน้า.


หนังสือ The winds of change เป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนที่มีน้ำหนักว่าเรามนุษย์ทั้งหลายได้สร้างหลักฐานการทำลายโลกของเราไว้อย่างมหาศาลและหนักหนาเพียงใด เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในโลกและภัยธรรมชาติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันได้แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าเราจะมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีมากเพียงใด แต่ในท้ายที่สุดเราก็ยังไม่สามารถที่จะเอาชนะภัยธรรมชาติได้เลยซักครั้ง
ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์มีการบันทึกถึงการล่มสลายของอารยธรรมต่างๆ มากมาย และหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดหายนะของมนุษยชาติก็คือ ความผันผวนของระบบภูมิอากาศ นักประวัติศาสตร์ส่วนมากยังคงมองปัจจัยที่ก่อให้เกิดความล่มสลายของอารยธรรมมนุษย์ว่ามาจากสาเหตุภายในสังคมมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ เช่น ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยมองประเด็นเรื่องความผันผวนของระบบภูมิอากาศเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น แต่หนังสือเล่มนี้ได้ค้นพบหลักฐานเรื่องความผันผวนในประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวการสำคัญทำให้อารยธรรมของมนุษย์ในอดีตหลายชุมชนต้องล่มสลายลงไป เช่น การล่มสลายของไวกิ้ง มายา และอัคคาเดีย เป็นต้น
ความเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิอากาศของโลก ยังคงเป็นอยู่และดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง และรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ คำถามคือ เราพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ จริงหรือ คำตอบสั้นๆ คือ อาจจะใช่ แต่ธรรมชาติกลับไม่พร้อมเช่นนั้น สุดท้ายแล้วเราก็ไม่ได้พร้อมไปกว่าคนรุ่นก่อนเลย ในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อนในยุโรปเมื่อปี ค.ศ. 2003 มีประชาชนเสียชีวิตไปกว่า 35,000 คน  ในทั่วทุกมุมโลกมนุษย์ได้ลดทอนศักยภาพของธรรมชาติในการจัดการกับสภาพอากาศรุนแรงหลายๆด้าน ป่าโกงกางที่หมดไปราวครึ่งหนึ่งของโลก คือ ปราการธรรมชาติที่ช่วยสกัดคลื่นลมและลดการกัดเซาะชายฝั่งในขณะเกิดเฮอร์ริเคน การตัดไม้ทำลายป่าในอัฟากานิสถานจรดแอฟริกาทำให้พื้นที่ต่างๆแห้งผาก สร้างเชื้อไฟที่จะทำให้ไฟป่ากลายเป็นภัยร้ายแรงยิ่งกว่าเคย สถิติแสดงว่าศักยภาพของธรรมชาติลดลงไปรวดเร็วจนน่าใจหาย ที่ดินที่เข้าถึงได้ในโลกราวร้อยละ 59 ได้เสื่อมสภาพไปแล้ว น้ำจืดครึ่งหนึ่งของโลกต่างเกี่ยวข้องกับการอุปโภคและบริโภคของมนุษย์ พื้นที่ชุ่มน้ำราวครึ่งหนึ่งของโลกถูกผันน้ำออกหรือไม่ก็ถูกเปลี่ยนสภาพ แนวปะการังหนึ่งในห้าของโลกถูกทำลาย ส่วนที่เหลืออยู่ก็เสียหายไปมาก ผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศถูกศึกษาไว้อย่างละเอียด และมันก็ส่งสัญญาณสำคัญที่ว่า นอกจากกิจกรรมของมนุษย์จะเพิ่มโอกาสการเกิดลมฟ้าอากาศวิปริตแล้ว พวกเรายังลดทอนศักยภาพของธรรมชาติที่จะช่วยบรรเทาความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นไปด้วย นั่นทำให้เราต้องรับเคราะห์ แต่พวกเราก็ยังลังเลที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมหรือปรับตัวใดๆ ทั้งสิ้น






Free TextEditor




 

Create Date : 07 มิถุนายน 2552    
Last Update : 7 มิถุนายน 2552 15:29:23 น.
Counter : 337 Pageviews.  

ใบอนุญาติข่มขืน




สุภัตรา ภูมิประภาส และเพ็ญนภา หงษ์ทอง.  (ผู้แปล).  (พิมพ์ครั้งที่ 3).  (2545).  ใบอนุญาตข่มขืน: บันทึกการทารุณกรรมทางเพศในรัฐฉาน (Licence to Rape The Burmese Military Regime’s Use of Sexual Violence in the Ongoing  War in Shan State.  กรุงเทพฯ: สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย.  232 หน้า
          


              เป็นที่ทราบและยอมรับโดยทั่วไปในสังคมเมืองเชียงใหม่ปัจจุบันนี้ว่าชนชั้นแรงงานที่ทำงานตามสถานที่ต่างๆในจังหวัดมีชนกลุ่มน้อยชาวไทใหญ่ และชนชายขอบกลุ่มอื่นๆ จากประเทศพม่าจำนวนมากอพยพเข้ามาขายแรงงานทั้งที่ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมายในบ้านเรา  หนังสือใบอนุญาตข่มขืน ซึ่งจัดทำโดยสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย ได้รายงานความจริงจากรัฐฉานให้เราได้เข้าใจว่าเหตุใดหญิงสาวชาวไทใหญ่จำนวนมากตัดสินใจอพยพเข้ามาทำงานในประเทศไทย
 หนังสือใบอนุญาตข่มขืนบอกกล่าวให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงสถานการณ์การก่ออาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้นในรัฐฉานซึ่งเป็นรัฐของชนกลุ่มน้อยชาวไทใหญ่ รายงานฉบับนี้บันทึกชะตากรรมของสตรีและเด็ก 625 คนผู้ซึ่งตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนและทารุณกรรมทางเพศในรูปแบบอื่นๆ ที่กระทำโดยสมาชิกของกองกำลังทหารพม่าที่ถูกส่งเข้ามาประจำการในรัฐฉาน เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นระหว่างปีพ.ศ. 2539 - 2545 โดยรายงานฉบับนี้ให้หลักฐานที่ชัดเจนว่า “การข่มขืน” ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการและกว้างขวางในหมู่นายทหารของฝ่ายพม่า การข่มขืนผู้หญิงและเด็ก เปรียบเสมือนอาวุธสงครามชนิดหนึ่งที่ฝ่ายกองกำลังพม่าเลือกปฏิบัติกับชนกลุ่มน้อยชาวไทยใหญ่ และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันมิให้ประชาชนชาวไทใหญ่เข้าไปสนับสนุนกองกำลังกู้ชาติของชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน ในช่วง 10 ปี หลังมานี้รัฐบาลทหารพม่าได้เพิ่มจำนวนกองพันทหารเข้าไปปฏิบัติการควบคุมและปราบปรามกองกำลังกู้ชาติในรัฐฉานเป็นจำนวนมาก กล่าวกันว่าเป็นจำนวนถึง 1 ใน 4 ของกองทัพทหารพม่าทั้งประเทศ และนี่ก็เป็นประเด็นที่สำคัญว่าสถิติของการข่มขืนผู้หญิงและเด็กในรัฐฉานนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ
 เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนในรัฐฉานเข้าไปร่วมสนับสนุนกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ รัฐบาลทหารพม่าได้ออกมาตรการอพยพผู้คนรอบนอกประมาณ 300,000 คนให้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณตอนกลางของรัฐฉานซึ่งเป็นทำเลใกล้กับที่ตั้งค่ายทหารพม่า และหากประชาชนหลบหนีออกไปนอกอาณาเขตที่กองทัพได้บอกล่าวไว้ให้ถือว่าพื้นที่นั้นเป็นเขตยิงเสรี ทหารมีสิทธิ์ยิงประชาชนได้ทันที แต่ถึงอย่างไรก็ตามปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ปฏิบัติการท้าทายอำนาจทหารพม่าเป็นจำนวนกว่า 150,000 คน  พวกที่โชคดีก็สามารถหลบหนีเข้ามาทำมาหากินเป็นแรงงานเถื่อนในประเทศไทยได้ ส่วนคนที่โชคร้ายถูกพบเจอระหว่างทางก็ต้องเสียชีวิตจากการฆาตรกรรมอันทารุณจากกองกำลังทหารพม่า เช่น จับผู้ชายทุบและเผาทั้งเป็น ในขณะที่ผู้หญิงจะถูกนำมาข่มขืน บางกรณีอาจโดนรุมโทรมและในที่สุดก็ถูกฆ่าทิ้งด้วยวิธีการอันป่าเถื่อนและไม่เกรงกลัวต่อความผิด เช่น การเฉือนหน้าอก อวัยวะเพศฉีกขาดจากการข่มขืน และถูกทุบตีจนตาย แม้กระทั่งเด็ก คนแก่ หรือสตรีตั้งครรภ์ก็ไม่ได้รับการยกเว้น ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ การทิ้งศพเพื่อประจาน
 ความเจ็บปวดที่เกิดทางร่ายกายไม่เจ็บปวดเท่าจิตใจที่บอบช้ำของชาวบ้านที่บริสุทธิ์ สังคมชาวไทใหญ่ยกย่องเพศชายให้เป็นใหญ่ในสังคมและครอบครัว ทำให้เรื่องราวการถูกข่มขืนของสตรีในครอบครัวเป็นเสมือนดั่งความผิดที่เธอเหล่านั้นเป็นผู้เลือกกระทำด้วยความยินยอม ผลที่ตามมาคือ บรรดาหญิงสาวที่ถูกข่มขืนจะถูกสังคมประณามและถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน พร้อมทั้งถูกด่าว่าเป็นของเหลือเดนจากพวกทหารพม่า ดังเช่นกรณีของนางนาเล ที่ถูกทหารพม่าข่มขืน และเธอได้บันทึกให้ปากคำไว้ดังนี้
 “ฉันอาศัยอยู่ในกระท่อมเล็กๆกับสามีและลูก 2 คน กับวัวและควายที่เราเลี้ยงไว้ วันเกิดเหตุสามีพาลูกเข้าไปในป่าเพื่อล่านก ปล่อยให้ฉันอยู่บ้านคนเดียว ทหารเอสพีดีซีคนหนึ่งจากกองพันทหารราบเคลื่อนที่เร็วที่ 333 ประจำการอยู่ที่เมิงสาดบุกรุกเข้ามาในบริเวณบ้านและขโมยกล้วยของเราไป แม้ฉันจะพูดภาษาพม่าได้ไม่ดีนัก แต่ก็พยายามที่จะขอกล้วยคืนมา ฉันตะโกนเรียกสามี แต่เขาอยู่ไกลเกินกว่าที่จะได้ยิน ทหารคนนั้นเข้ามาฉุดและเตะขาจนฉันล้มลงไปที่พื้นแล้วคว้าขาฉันไว้ ฉันพยายามจะหนีแต่มันแข็งแรงกว่า มันข่มขืนฉันถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง  พอสามีกลับมาบ้าน ฉันเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง เขาโกรธมากและทุบตีฉัน การที่ฉันถูกข่มขืนกลายเป็นความผิดฉัน ความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างฉันกับสามีและลูกๆแย่ลงมาก ทุกวันสามีกับลูกๆจะพูดว่า “นังโสเภณีถ้าอยากจะขายตัวนักเราจะไปสร้างกระท่อมเล็กๆให้กลางป่าแกจะได้ขายตัวที่นั่นได้” ฉันเจ็บปวดมากกับคำพูดเหล่านี้ สุดท้ายฉันไม่สามารถทนอยู่ได้ต่อไป ฉันหย่ากับสามี แต่เมื่อฉันกลับไปเยี่ยมลูก พวกเขาพูดกับฉันว่า “อีกะหรี่ แกไม่ใช่แม่ของพวกเราไม่ต้องมาเยี่ยม” แล้วพวกเขาก็ไล่ฉันออกมา ฝ่ายสามีก็ดูถูกว่า “แกมันร่าน ไม่รู้จักควบคุมตัวเอง อยากนอนกับผู้ชายอื่น แกไม่ใช่เมียฉันอีกต่อไป ออกไปให้พ้นบ้าน”สุดท้ายฉันจึงตัดสินใจมาอยู่ประเทศไทย”   
 ในตอนท้ายของหนังสือได้มีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาของสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชียว่าต้องการแก้ไขปัญหานี้โดยทางใดบ้าง เพราะการที่ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้อพยพเข้ามาในไทยนั้นยังไม่ใช่บทสรุปของปัญหา หากแต่เป็นการเริ่มต้นของปัญหาใหม่  ชาวไทใหญ่จำนวนมากที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายถูกตำรวจไทยจับได้และส่งกลับไปพม่า มันเหมือนกับว่าเราได้ส่งพวกเขากลับเข้าไปอยู่ในนรกอีกครั้ง มีรายงานว่าตำรวจไทยจับสตรีชาวไทใหญ่ 2 คน อายุ 17 และ 18 ปี ที่ลักลอบเข้ามาในไทยได้และส่งกลับไปพม่า วันรุ่งขึ้นที่ตลาดชายแดนไทยพม่า แม่ค้าร้านอาหารคนหนึ่งบอกว่า มีทหารพม่ามาพูดกันว่าผู้หญิงไทใหญ่ที่ถูกส่งกลับพม่า 2 คนนั้น ถูกนำไปขังไว้ และถูกข่มขืนเป็นเวลา 4 วันก่อนที่จะถูกฆ่าตาย
     หนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เราได้เห็นปัญหาของชนกลุ่มน้อยในรัฐฉาน ประเทศพม่าว่าสถานการณ์ภายในเป็นอย่างไร และในฐานะที่เป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยเราจะสามารถช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบผู้อ่านได้ข้อสรุปทันทีว่า “โชคดีแค่ไหนที่เราได้เกิดมาบนแผ่นดินไทย”



Free TextEditor




 

Create Date : 07 มิถุนายน 2552    
Last Update : 7 มิถุนายน 2552 14:59:34 น.
Counter : 1151 Pageviews.  

นโยบายต่างประเทศของเวียดนามหลังปี 1986 กรณีนโยบายของเวียดนามต่อ

หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างจะหนักเล็กน้อย เพราะออกแนววิชาการนะจ๊ะ แต่ว่าควรอ่านค่ะ เพราะเวียดนามเพื่อนบ้านของเรากำลังเป็นที่จับตามอง สมัยนี้ใครๆก้พูดว่าประเทศไทยของเรามีแต่จะถอยหลังลงคลอง ผิดกับเวียดนามที่กำลังจะเป็นเสืออีกตัวใน SEA ยังไงลองอ่านกันดู ถ้ายังไม่หนำใจแนะนำให้ไปหาอ่านเพิ่มเติมนะจ๊า

ธัญญาทิพย์  ศรีพนา.  (2550).  นโยบายต่างประเทศของเวียดนามหลังปี 1986 กรณีนโยบายของเวียดนามต่อไทย.  กรุงเทพฯ: เลคแอนด์ฟาวด์เท่น พริ้นติ้ง.


 ในปัจจุบันทั่วโลกต่างกำลังจับตามอง และให้ความสนใจกับประเทศเวียดนามเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็ว หลายประเทศต้องการเข้าไปลงทุนในเวียดนาม เพราะแรงงานถูก และอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศทั้งหลายที่ต้องการจะดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูต และทางเศรษฐกิจกับประเทศเวียดนาม
 เวียดนามเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับการทำสงครามตลอดตั้งแต่หนึ่งพันปีมาแล้ว เริ่มตั้งแต่การตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดินิยมจีน  จักรวรรดินิยมฝรั่งเศส การรุกรานจากญี่ปุ่น และสุดท้ายการทำสงครามต่อต้านสหรัฐอเมริกา ในท้ายที่สุด ชาวเวียดนามก็สามารถปลดแอกชนชาติตนเองจากจักรวรรดินิยมทั้งหลายลงได้
นโยบายต่างประเทศของเวียดนามในอดีตแตกต่างจากปัจจุบันเป็นอย่างมาก ในช่วงสงครามต่อต้านฝรั่งเศส เรื่อยมาจนถึงสงครามต่อต้านอเมริกา กล่าวได้ว่าเวียดนามยังคงยึดติดกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์อย่างเหนียวแน่น จนกระทั่งภายหลัง ค.ศ. 1986 ภายใต้การปฏิรูปนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีความเป็นเสรีมากขึ้น หรือเรียกว่า นโยบายโด่ยเหมย การกำหนดทิศทางด้านต่างประเทศของเวียดนามก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
ในหนังสือเล่มนี้ผู้วิจัยต้องการศึกษาถึงนโยบายการต่างประเทศของเวียดนามที่มีต่อไทย ว่ามีความเป็นมา และมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร อาจกล่าวได้ว่านโยบายต่างประเทศของไทย ส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงท่าทีและ การกำหนดนโยบายต่างประเทศของเวียดนาม ดังเช่น เมื่อย้อนไปในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในขณะนั้นประเทศไทยมีนโยบายในการต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน ความสัมพันธ์ของไทย และเวียดนามในขณะนั้นจึงอยู่บนพื้นฐานของความไม่ไว้วางใจ และความเกลียดชังซึ่งกันและกัน ความเป็นปฏิปักษ์จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้หยั่งรากไปสู่ความรู้สึกเกลียดชังกันเป็นระยะเวลายาวนาน และเป็นอุปสรรคต่อการปรับความสัมพันธ์ระหว่างกันในช่วงแรกๆของการดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจของเวียดนามในช่วงปลาย ค.ศ. 1980 ถึงต้น ค.ศ. 1990 อีกด้วย 
ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนของเติ้งเสี่ยวผิง ส่งผลกระทบให้เวียดนามไม่สามารถที่จะดำเนินระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมโดดเดี่ยวได้อีกต่อไป ดังนั้นนโยบายต่างประเทศของเวียดนามต่อไทยก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์โลกด้วยเช่นกัน เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลให้เกิดความกระตือรือร้นให้เวียดนามต้องการปรับความสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศกับไทยคือ การประกาศนโยบายแปรสนามรบให้เป็นตลาดการค้า ของพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ซึ่งถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่อยู่บนความขัดแย้งไปสู่ความสัมพันธ์บนพื้นฐานของความเป็นมิตรต่อกัน โดยเวียดนามมีจุดมุ่งหมายในการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศต่อไทยเพื่อให้เกิดผลที่ตามมา อาทิเช่น การได้รับภาพพจน์ให้เป็นประเทศที่รักสันติในสายตาของประชาคมโลก   การเอื้ออำนวยความสะดวกต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจของเวียดนาม   การพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทยโดยไทยจะเป็นประตูเปิดสู่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น
 30 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเวียดนาม (1976-2006) ไทยและเวียดนามต้องผ่านความขัดแย้งมาหลายเหตุการณ์ แต่ในที่สุดความหวาดระแวงซึ่งกันและกันก็ได้เปลี่ยนไปสู่มิตรภาพ และความร่วมมือ เกิดความไว้วางใจ และการพัฒนาความสัมพันธ์ให้อยู่ในระดับที่ดียิ่งขึ้นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีเสถียรภาพที่มั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สืบไป






Free TextEditor




 

Create Date : 06 มิถุนายน 2552    
Last Update : 6 มิถุนายน 2552 22:08:33 น.
Counter : 791 Pageviews.  

The Green Book

โลกร้อนเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังนะคะ หนังสือเล่มนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจหลายๆเรื่องค่ะ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าถ้ายังนิ่งเฉยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่อย่างนี้แล้ว มนุษย์คงจะสูญพันธุ์จริงๆในไม่ช้านี้แหล่ะ ฟันธง!! เรารีวิวไว้ปีที่แล้วจ้าลองอ่านกันดูนะจ๊ะ

โรเจอร์ส  เอลิซาเบธ และ คอสทิเจน เอ็ม. โธมัส.  โตมร  ศุขปรีชา  (ผู้แปล).  (2551).  The Green Book.  กรุงเทพฯ: มติชน. 285 หน้า


 เป็นที่ทราบดีว่าปัญหาเรื่องโลกร้อนคือประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกต่างกำลังจับตามอง และร่วมมือกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน  หนังสือที่ให้ข้อมูลและความรู้เรื่องโลกร้อนมีให้เราเลือกอ่านตามห้องสมุดทั่วไป ข้อมูลพื้นฐานที่เราทราบจากหนังสือเกี่ยวกับโลกร้อน คือ สาเหตุของปัญหาโลกร้อน ผลกระทบของปัญหาโลกร้อนที่มีต่อมนุษย์ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องโลกร้อนอย่างคร่าวๆ
 The Green Book เป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะช่วยให้เราสามารถจัดการกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นคือการลดใช้พลังงานและเพิ่มขยะให้กับโลกของเราในปริมาณที่น้อยที่สุด   หนังสือเล่มนี้ถ่ายทอดผ่านมุมมองของชาวอเมริกันซึ่งเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างขยะให้กับโลกมากที่สุด เพื่อบอกเล่าให้คนในประเทศได้รู้ถึงผลดีและผลเสียจากการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งในด้านที่ช่วยลดพลังงาน และการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง   หนังสือเล่มนี้มีการบอกเล่าอย่างเรียบง่ายและตรงไปตรงมาว่าสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา หากเรารู้จักเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม คุณก็จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยชะลอให้ภาวะโลกร้อนทุเลาลงได้  
The Green Book จะเสนอทางเลือกว่าหากคุณจะเลือกทำสิ่งใดคุณมีตัวเลือกอื่นที่คุณสามารถทำได้และจะช่วยลดปัญหาขยะ   การใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยได้อย่างไร  เช่น เรื่องการซักรีด ให้ใช้เครื่องซักผ้าที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ประเภทใส่ผ้าด้านหน้าเครื่อง) เสื้อผ้าของคุณจะซักและหมาดเร็วกว่า   มีบริการซักผ้าหยอดเหรียญอยู่ราวสี่หมื่นแห่งในอเมริกาถ้าเปลี่ยนเครื่องในร้านเป็นประเภทใส่ผ้าด้านหน้าเพียงสาขาละ 1 เครื่อง แทนที่จะเป็นเครื่องแบบใส่ผ้าด้านบนเราก็จะประหยัดน้ำได้ถึงวันละหนึ่งล้านแกลลอนเท่ากับที่หนึ่งครัวเรือนอเมริกันใช้ในหนึ่งปี 
คนอเมริกันแต่ละคนผลิตขยะราว 4.54 ปอนด์ ต่อวัน ผ่านการบริโภคและนิสัยการทิ้งขยะ คิดแล้วเท่ากับ 1,657 ปอนด์ต่อคนต่อปี เมื่อรวมกันทั้งประเทศจะได้เท่ากับราว 500,000 ล้านปอนด์ต่อปี ภาระขยะมหาศาลมากเสียจนคุณมองดูทวีปอเมริกาเหนือจากอวกาศ คุณจะพบว่าจุดสูงสุดของท่าเรือตะวันออก คือ ภูเขาขยะ  The Green Book เสนอทางเลือกที่จะช่วยได้ คือ พยายามซื้อของโดยให้มีบรรจุภัณฑ์น้อยที่สุดหรือไม่มีเลยจะดีมากเพราะจะสามารถกำจัดขยะได้มากกว่า 50 ปอนด์ต่อหนึ่งครอบครัวต่อปี ถ้าทำได้จะประหยัดอย่างน้อย 30 เหรียญต่อปี เพราะ 1 ใน 11 เหรียญ ที่ใช้ซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต คือค่าบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ที่คุณซื้อ และถ้าทุกๆบ้านทำอย่างนี้ก็จะลดขยะที่จะนำไปกลบฝังได้ถึง 5,500 ล้านปอนด์ มากพอที่จะเอาไปกลบเซ็นทรัลปาร์คในนิวยอร์กให้ลึก 27 ฟุต ได้เลย
 ถ้าครอบครัวชาวอเมริกันถอดปลั๊กโทรทัศน์เมื่อไม่ได้ใช้งานจะประหยัดเงินและพลังงานได้ แม้จะปิดเครื่องแล้วแต่ถ้าเสียบปลั๊กอยู่จะมีการใช้พลังงานร้อยละ 10 – 15  ของเวลาเปิดโทรทัศน์ โทรทัศน์กินไฟคิดเป็นร้อยละสิบของค่าไฟในบ้าน ครัวเรือนโดยเฉลี่ยในอเมริกามีโทรทัศน์มากกว่า 2 เครื่อง ถ้าทุกบ้านถอดปลั๊กโทรทัศน์เวลาไม่ได้ใช้ ก็จะประหยัดเงินค่าไฟได้มากกว่าปีละหนึ่งพันล้านเหรียญ
สีสันที่น่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือ การนำเอาเรื่องราวของคนดังอย่างเช่น นักแสดงชื่อดังมาบอกเล่าถึงแนวทางที่พวกเขาได้ทำในชีวิตประจำวันเพื่อช่วยกันลดปัญหาการใช้พลังงาน การใช้ทรัพยากร และการลดปริมาณขยะได้อย่างน่าจูงใจ เช่น เจนนิเฟอร์ อนิสตัน เลือกที่จะอาบน้ำด้วยฝักบัวนานเพียงสองถึงสามนาที รวมถึงเลือกที่จะแปรงฟันและอาบน้ำไปพร้อมกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า ปริมาณน้ำที่เราใช้อาบน้ำเพียงหนึ่งครั้งเท่ากับปริมาณการใช้น้ำของคนแอฟริกัน 1 คนต่อ 1 วันเลยทีเดียว
 จุดอ่อนของ The Green Book  คือ การยกตัวอย่าง และการเปรียบเทียบกิจกรรมต่างๆภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ นั่นอาจมีสาเหตุมาจากการที่ผู้เขียนต้องการสร้างสำนึกให้เพื่อนร่วมชาติที่ใช้พลังงาน  ทรัพยากร และการสร้างขยะเปลืองมากที่สุดในโลกได้ตระหนักถึงผลกระทบที่มีความรุนแรงมหาศาลไม่เฉพาะแต่ในอเมริกาเท่านั้น แต่มันกระทบถึงระบบนิเวศของโลกทั้งหมด   อย่างไรก็ตามแนวทางการแก้ปัญหาสามารถนำมาปรับเปลี่ยนให้ใช้ได้กับทุกสถานที่ในโลก โดยมีหลักการเรื่องความพอเพียง และการประหยัดรวมถึงมีจิตสำนึกร่วมกันในเรื่องการเห็นคุณค่าและช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมเท่านี้ก็จะส่งผลแตกต่างที่จะก่อให้เกิดผลดีต่อโลกของเราเป็นอย่างมาก  
เราอาจคิดไม่ถึงว่าหากมนุษย์บนโลกช่วยกันดูแลกันและกันในการรักษาสิ่งแวดล้อมเพียงคนละนิด  ผลลัพธ์ที่ได้มันยิ่งใหญ่มหาศาลมากพอที่จะช่วยเยียวยาโลกของเราให้ดีขึ้น ยังไม่สายเกินไปที่ทุกคนจะร่วมมือกันเสียแต่ตอนนี้  สำรวจดูสิ่งรอบตัวคุณและรู้จักเลือกสิ่งที่ดีโดยไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำร้ายโลก ไม่ทำร้ายเรา เพื่อโลกในอนาคตที่ดีสำหรับลูกหลานของเราต่อไป







Free TextEditor




 

Create Date : 06 มิถุนายน 2552    
Last Update : 6 มิถุนายน 2552 21:58:10 น.
Counter : 551 Pageviews.  

1  2  

*~น.ส.ชบา หน้าร้อน~*
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ไม่อนุญาติให้คัดลอกข้อความใดๆ จากบล็อคนี้โดยไม่ได้รับอนุญาติจากเจ้าของบล็อคค่ะ
Friends' blogs
[Add *~น.ส.ชบา หน้าร้อน~*'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.