Group Blog
 
All Blogs
 

ตรวจ “เต้า” เป็นประจำ ไม่ต้องช้ำเพราะมะเร็ง

....สภาพชีวิตที่เร่งรีบ ความเครียดที่พุ่งสูงปรี๊ด สวนทางกับเส้นกราฟขาลงของสภาพเศรษฐกิจ รูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองหลวง จังก์ฟูด – ฟาสต์ฟูดที่ผุดเหมือนดอกเห็ดหน้าฝน สถานบันเทิงยามค่ำคืนที่เปิดยั่วใจบรรดานักท่องราตรีให้เข้ามาพักผ่อนคลายเครียดสูดอากาศใต้ม่านหมอกนิโคติน เพลิดเพลินไปกับความเมามึนของธารแอลกอฮอล์พร้อมๆ กับรื่นรมย์เสียงเอ็ดตะโรอึกทึกของดนตรีแบบใหม่ๆ ส่งผลต่อสุขภาพของคุณสาวๆ โดยตรง

โดยเฉพาะผู้หญิงที่สรีระร่างกายไม่แข็งแกร่งเท่าเพศชาย มะเร็งเต้านม รังไข่ ปากมดลูก น่ากลัวไปเสียทั้งนั้น

ยิ่ง “มะเร็งเต้านม” ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นโรคที่ผู้หญิงแทบทุกคนมีความวิตกกังวลว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง เนื่องจากจะส่งผลต่อสุขภาพแล้ว มะเร็งชนิดนี้ยังมีจุดเกิดที่อวัยวะที่ถือว่าเป็นความสวยงามของผู้หญิงอีกด้วย แม้ปัจจุบันการแพทย์จะก้าวไกลในวิทยาการผ่าตัดที่จะลดความน่ากลัวของบาดแผลลงได้มากแล้ว แต่การไม่เกิดโรคเลยดูจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

เมื่อพูดถึงมะเร็งเต้านม อันเป็นมะเร็งที่เกิดกับผู้หญิงเสียเป็นส่วนใหญ่ (ผู้ชาย 1% มีอัตราเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน) พบว่ามีการจัดอันดับโรคมะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย มะเร็งปากมดลูกยังเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุด มะเร็งเต้านมเป็นอันดับสอง

แต่เมื่อสำรวจลึกลงไปในเมืองใหญ่ๆ ผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมจะมีมากกว่าผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก ซึ่งในประเทศไทยจากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า ในผู้หญิง 100,000 คน พบผู้ป่วยโรคมะเร็งในกรุงเทพฯ 15.9 ราย เชียงใหม่ 16.9 ราย สงขลา 12.1 ราย และขอนแก่น 9.7 ราย

สำหรับสาเหตุที่แท้จริงในการเกิดโรคมะเร็งยังไม่มีการวิจัยออกมาจนทราบผลอย่างแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ แต่อย่างไรก็ตาม มีการวิจัยแนวโน้มของปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมีอยู่มากมายหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยที่เกี่ยวกับช่วงอายุ

กล่าวคือความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมจะเพิ่มเมื่ออายุมากขึ้น โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในทุกๆ ช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น 10 ปี ปัจจัยความเสี่ยงในเรื่องที่เกี่ยวกับอายุที่เริ่มมีประจำเดือน จากการวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรกที่อายุน้อยกว่า 12 ปี มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือนหลังอายุ 12 ปี และผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนขณะที่อายุมากกว่า 55 ปี เสี่ยงมากกว่าผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 55 ปี เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่สามารถระบุชี้ชัดลงไปได้ว่าเป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านมโดยตรงหรือไม่ แต่ผลการวิจัยพบว่ามีแนวโน้มความเสี่ยงในการก่อเกิดมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน คือ อายุ ถิ่นที่อยู่ อาหาร สุรา การออกกำลังกาย ยาเม็ดคุมกำเนิด พันธุกรรม อาการป่วยด้วยโรคเต้านมชนิดอื่น การใช้ฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือน การให้นมบุตร หรือแม้กระทั่งการได้รับรังสี

แต่ปัจจัยที่น่าสนใจมากที่สุด คือปัจจัยความเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ คือการดื่มสุรา การรับประทานอาหาร การคุมกำเนิด และการใช้ฮอร์โมนในสตรีวัยหมดประจำเดือน เพราะเหล่านี้เป็นปัจจัยที่สามารถปรับเปลี่ยน หลีกเลี่ยง และป้องกันได้

พ.ญ.เยาวนุช คงด่าน ศัลยแพทย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า การดื่มสุราถือเป็นอีกความเสี่ยงหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะสถานการณ์ในยุคปัจจุบันที่ถือว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากเด็กและวัยรุ่นสมัยนี้ดื่มเหล้าเร็วขึ้น อายุเพียง 14-15 ปีก็ดื่มกันแล้ว

ที่น่าตกใจก็คือ การเพิ่มขึ้นของนักดื่มที่เป็นผู้หญิงด้วยค่านิยมที่น่ากลัวที่คิดว่าการดื่มเหล้าเป็นความโก้เก๋ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่มนุษย์สามารถควบคุมได้นั้นมีวิธีการป้องกันความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ด้วยตนเอง เพียงแต่ต้องอาศัยการเอาใจใส่ดูแลตัวเองเท่านั้น

พ.ญ.เยาวนุชได้แนะนำวิธีการดูแลตัวเองแบบง่ายๆ เพื่อเป็นปราการด่านแรกในการป้องกันมะเร็งร้ายว่า ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต ออกกำลังการอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที ไม่รับประทานอาหารไขมันสูง ไขมันสัตว์ เนื้อแดง (วัว,หมู) หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีส่วนป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม ได้แก่อาหารจำพวกถั่ว ผัก ผลไม้ หัวหอม กระเทียม น้ำมันมะกอก มะเขือเทศ ชาเขียว วิตามินดี และเพื่อให้ได้ผลในการป้องกันมากยิ่งขึ้นควรตรวจเต้านมเป็นประจำ ซึ่งการตรวจเต้านมนี้ สามารถทำเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง

ในส่วนของการตรวจเต้านมด้วยตนเองนั้น เป็นการตรวจที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ถือว่าเป็นการลงทุนทางสุขภาพที่ได้ประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด หากเทียบกับการไม่ใส่ใจและละเลยสุขภาพจนอาจทำให้เกิดโรคร้ายอันทุกข์ทรมาน ซึ่งการตรวจเต้านมด้วยตัวเองสามารถทำได้เป็นประจำทุกเดือน และควรตรวจหลังประจำเดือนมา 7–10 วันนับจากวันแรกที่ประจำเดือนมา

ขั้นตอนการตรวจเต้านมด้วยตนเองเริ่มจากการยืนหน้ากระจกแล้วดูที่เต้านมทั้งสองข้าง สังเกตขนาด สีผิว ตำแหน่งของเต้านม หัวนมว่าเป็นอย่างไร มีสิ่งใดผิดปกติหรือไม่ จากนั้นก็ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะทั้ง 2 ข้าง แล้วดูที่เต้านมอีกครั้ง หมุนตัวช้าๆ เพื่อจะดูบริเวณด้านข้างของเต้านม

ต่อมาก็เอามือเท้าเอวแล้วโน้มตัวมาด้านหน้าเล็กน้อย ดูความเปลี่ยนแปลงซ้ำอีกครั้ง ใช้มือบีบเบาๆ ที่หัวนม ดูว่ามีเลือดหรือหนองไหลออกจากหัวนมหรือไม่ และเริ่มคลำเต้านม โดยคลำตั้งแต่กระดูกไหปลาร้าลงมา ใช้มือซ้ายคลำเต้านมขวา ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ทั้ง 3 นิ้ว ค่อยๆ กดลงบนผิวหนังเบาๆ และกดแรงขึ้นจนกระทั่งสัมผัสกระดูกซี่โครง คลำเต้านมให้ทั่ว

ทิศทางการคลำทำได้หลายแบบ สิ่งที่สำคัญคือต้องคลำให้ทั่วเต้านมไปจนถึงบริเวณรักแร้ใต้วงแขน หลังจากนั้นให้เปลี่ยนไปคลำอีกข้างในแบบเดียวกัน สุดท้ายเมื่อเสร็จการคลำในท่ายืนแล้วให้เปลี่ยนเป็นคลำในท่านอน ใช้หมอนหนุนหัวไหล่ข้างที่จะคลำแล้วคลำซ้ำเหมือนท่ายืน
เมื่อทำตามขั้นตอนทั้งหมดข้างต้นแล้ว พบอาการใดอาการหนึ่งคือ พบก้อนเนื้อเต้านมที่หนากว่าปกติ ผิวหนังแดงหรือร้อน รูขุมขนใหญ่เหมือนผิวส้ม ผิวหนังบุ๋มหรือหดรั้ง มีการนูนผิดปกติของผิว ปวดกว่าที่เคย คันมีผื่นขึ้นบริเวณหัวนม ฐานรอบหัวนม หัวนมบุ๋ม การชี้ของหัวนมเปลี่ยนทิศทาง มีเลือดไหลออกจากหัวนม หรือมีแผลที่หายยากของเต้านมและหัวนม เหล่านี้ควรมาพบแพทย์ทันที เพราะอย่างน้อยการ “ตื่นตัว” ที่ไม่ใช่การ “ตื่นตูม” กับการผิดปกติของสภาพร่างกายตัวเองนั้น ยังดีเสียกว่าการไม่สนใจจนปล่อยให้อาการลุกลาม และกว่าจะรู้ตัวกว่าจะแก้ไขก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากจะแก้ไข

พ.ญ.เยาวนุชยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า หากผู้ป่วยรู้ตัวว่าผิดปกติแต่เนิ่นๆ แล้วมาพบแพทย์ และแพทย์ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งขั้นเริ่มต้นนั้น การรักษาจะทำได้ไม่ยาก เพียงผ่าตัดส่วนที่เป็นเนื้อร้ายออกโดยไม่ต้องทำเคมีบำบัด และไม่เสี่ยงต่อการเป็นอันตรายถึงชีวิตอีกด้วย

และต่อข้อซักถามที่หลายคนอยากรู้แต่ไม่กล้าถามว่า การที่ภรรยาถูกสามีสัมผัสหน้าอกในเชิงเพศสัมพันธ์จะมีผลทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้หรือไม่ พญ.เยาวนุชตอบว่า การสัมผัสเชิงเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัสเต้านมระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด




 

Create Date : 04 สิงหาคม 2548    
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2548 10:30:22 น.
Counter : 330 Pageviews.  

เตือนหญิงมีรอบเดือนและมีไข้เลือดออก เสี่ยงเลือดออกไม่หยุด

แพทย์ชี้หญิงมีรอบเดือนและติดเชื้อไข้เลือดออก เสี่ยงอันตรายเลือดออกไม่หยุด แนะผู้หญิงที่มีไข้ระหว่างมีรอบเดือน ถ้ามีประจำเดือนมากผิดปกติอย่าหลงวางใจว่าเป็นไข้ทับระดู ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออก หากกินยาแล้วไข้ไม่ลดลงรีบพบแพทย์ ระบุขณะนี้ไข้เลือดออกเริ่มพบในผู้ใหญ่มากขึ้น

นายอนุทิน ชาญวีระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ให้สัมภาษณ์กรณีผู้ป่วยหญิงอายุ 23 ปี จังหวัดนครนายก เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกระหว่างเป็นประจำเดือน โดยเข้าใจผิดในอาการของโรค คิดว่าเป็นไข้ทับระดู เป็นไข้ธรรมดา และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมาว่า ส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตเนื่องจากอาการช็อกนาน เพราะมีน้ำเหลืองรั่วออกนอกเส้นเลือดเข้าไปในช่องปอด ช่องท้อง ทำให้ความเข้มของเลือดเพิ่ม ไตวายร่วมด้วย ทำให้โอกาสรอดชีวิตมีน้อยมาก พอมาถึงโรงพยาบาลก็รักษาไม่ได้แล้ว

ดังนั้นจึงขอแนะนำประชาชนหากมีไข้และรับประทานยาพาราเซตามอลแล้วไข้ไม่ลด ถ้ามีไข้เกิน 2 วันหรือ 48 ชั่วโมง ขอให้รีบมาพบแพทย์ ซึ่งจะป้องกันการเสียชีวิตได้

นายอนุทินกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ประชาสัมพันธ์โรคไข้เลือดออกทั่วทุกหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง อสม.ทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ดี แต่จะไม่ให้มีคนป่วยครบ 100% ก็คงรับปากไม่ได้ สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องช่วยกันดูแลความเป็นอยู่ของตัวเองและครอบครัว ช่วยกันดูแลกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายและยุงลายตัวแก่ในบ้านของตนเองด้วย

อัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกขณะนี้น้อยมากถ้าเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา คือมีเพียงร้อยละ 0.16 หรือกล่าวโดยเฉลี่ยได้ว่าป่วย 2,000 คน จะมีผู้เสียชีวิต 3 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่ถ้าผู้ป่วยมารับการรักษาเร็วก็น่าจะรอดทุกราย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลในต่างจังหวัดหรือโรงพยาบาลในเขตต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร ทั้งของรัฐและเอกชนซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมาก หากมาตรวจรักษาเร็วและมาตามที่แพทย์นัดทุกครั้งจนไข้ลง 24 ชั่วโมง จึงถือว่าปลอดภัย

ด้าน พ.ญ.ศิริเพ็ญ กัลยาณรุจ ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือในการรักษาโรคไข้เลือดออกระหว่างองค์การอนามัยโลกและสถาบันสุขภาพเด็กมหาราชินี กทม.กล่าวว่า ขณะนี้โรคไข้เลือดออกเริ่มพบในผู้ใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงขณะที่เป็นประจำเดือนยิ่งจะมีความเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงได้มากกว่าในภาวะปกติ หรือมากกว่าในผู้ชาย การมีประจำเดือนจะมีแผลเปิดในโพรงมดลูก เนื่องจากมีการลอกหลุดตัวของเยื่อบุผนังมดลูกอยู่แล้ว และหากป่วยเป็นไข้เลือดออกจะมีระดับเกร็ดเลือดต่ำลง และปัจจัยที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือดจะถูกใช้ไปมากกว่าปกติ จึงทำให้เลือดออกมากกว่าปกติ เนื่องจากเลือดแข็งตัวช้าลงและหยุดช้ากว่าปกติ ทำให้อาการรุนแรงได้ ที่ผ่านมาพบผู้หญิงเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกระหว่างเป็นรอบเดือนหลายราย

“ขอให้ผู้หญิงสังเกตว่าหากมีไข้สูง และมีประจำเดือนมามากกว่าปกติ หรือมาผิดเวลาที่ไม่ใช่เวลาที่เคยมีตามปกติ ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน สัญญาณเตือนภัยที่สำคัญของโรคไข้เลือดออกก็คือการมีเลือดประจำเดือนออกมากผิดปกติ เกินกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณเลือดในร่างกาย คือมากกว่า 300 ซีซีหรือชุ่มผ้าอนามัยมากกว่า 3 แผ่นใน 1 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย จำเป็นต้องให้เลือดทดแทน ดังนั้นต้องรีบพบแพทย์ทันที อย่าหลงเชื่อว่าเป็นเพียงไข้ทับระดูธรรมดา” พ.ญ.ศิริเพ็ญกล่าว

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2548-23 กรกฎาคม 2548 ทั่วประเทศมีจำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 22,877 ราย เสียชีวิต 36 ราย ภาคกลางมีผู้ป่วยสูงสุด 8,975 ราย เสียชีวิต 17 ราย




 

Create Date : 02 สิงหาคม 2548    
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2548 10:30:57 น.
Counter : 322 Pageviews.  

ท้องผูก..อย่าคิดว่าไม่สำคัญ



คนปกติจะถ่ายอุจจาระ 3 ครั้งต่อวัน ถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ผู้ที่ถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ประกอบกับการถ่ายลำบาก ต้องใช้เวลาเบ่งนานกว่าปกติ อุจจาระแข็ง หรือมีอาการเจ็บทวารหนักเวลาถ่าย ถือว่ามีอาการท้องผูก หากท้องผูกนานติดต่อกันเกิน 3 เดือน จัดว่าท้องผูกเรื้อรัง

โรคต่างๆ อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องผูกได้ ดังนี้

1.โรคของต่อมไร้ท่อและความผิดปกติของเกลือแร่ในเลือด เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ เบาหวานที่มีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ แคลเซียมในเลือดสูงกว่าปกติ

2.การมีสิ่งกีดขวางในทางเดินอาหาร เช่น เนื้องอกในลำไส้ และลำไส้ตีบตัน

3.ผู้ป่วยที่นอนอยู่กับเตียง ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ผู้ป่วยโรคระบบประสาท

4.ยาบางชนิดทำให้ลำไส้ทำงานน้อยลง เช่น ยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็ก ยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีน ยารักษาอาการทางจิตบางอย่าง ยาลดกรดที่มีเกลืออลูมิเนียม

ผู้ที่มีอาการท้องผูกส่วนมากมักตรวจไม่พบสาเหตุ ในกลุ่มที่ตรวจไม่พบสาเหตุนี้ ประมาณครึ่งหนึ่งเกิดจากภาวะลำไส้แปรปรวน ประมาณ 1 ใน 3 เกิดจากการเบ่งอุจจาระไม่ถูกวิธี ที่เหลือเกิดจากลำไส้เคลื่อนไหวช้ากว่าปกติ

ภาวะลำไส้แปรปรวน เกิดจากลำไส้ทำงานไม่ปกติ บางครั้งเคลื่อนไหวมากไปก็ทำให้ท้องเสีย บางครั้งเคลื่อนไหวน้อยไปก็ทำให้ท้องผูก อาการมักเป็นๆ หายๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องผูกเป็นอาการเด่น และอาจมีอาการปวดท้องหรืออึดอัดท้องร่วมด้วย ซึ่งจะดีขึ้นเมื่อถ่ายอุจจาระ การกินอาหารที่มีกากมากขึ้น กินยาที่กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ในทางเดินอาหาร หรือกินยาระบาย จะช่วยบรรเทาอาการได้

ท้องผูกจากการเบ่งอุจจาระไม่ถูกวิธี 1 ใน 3 ของผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายให้คลายตัวได้ขณะถ่ายอุจจาระทำให้เกิดอาการท้องผูก ผู้ป่วยมักต้องใช้เวลาเบ่งอุจจาระนาน บางครั้งนานกว่า 30 นาที ในรายที่เป็นมากจะไม่ตอบสนองต่อยาระบาย ต้องใช้วิธีสวนทวารช่วย การสอนให้ผู้ป่วยรู้จักเทคนิคการขับถ่ายที่ถูกวิธี โดยใช้เครื่องมือพิเศษที่แสดงการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่าย ช่วยให้ 60-70% ของผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น

ท้องผูกจากการที่ลำไส้เคลื่อนไหวช้ากว่าปกติ มักมีอาการท้องผูกเรื้อรังและต้องใช้ยาระบายเป็นประจำ ในรายที่มีอาการท้องผูกมาก และใช้ยาระบายไม่ได้ผล อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่ทิ้งไป

วิธีดูแลตนเองเมื่อมีอาการท้องผูก

1.กินอาหารที่มีกากใยมากๆ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช

2.ดื่มน้ำมากๆ ไม่ควรดื่มกาแฟและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้อุจจาระแห้ง

3.การออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น

4.ฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน ลำไส้ใหญ่จะมีการเคลื่อนไหวทำให้เกิดความรู้สึกอยากถ่ายวันละ 1-2 ครั้ง มักเกิดขึ้นหลังตื่นนอนและหลังอาหาร หากกลั้นอุจจาระไว้ในช่วงนั้น โอกาสที่จะรู้สึกอยากถ่ายในวันนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้นอีก จึงควรถ่ายให้เป็นเวลา โดยเฉพาะหลังตื่นนอน

5.ไม่ควรทำอย่างอื่นขณะขับถ่าย เช่น อ่านหนังสือ กรณีที่เป็นส้วมชักโครก ควรนั่งโน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย เพื่อให้มีแรงเบ่งมากขึ้น

6.หากจำเป็นต้องใช้ยาระบาย ควรปรึกษาแพทย์ และเริ่มใช้ยาระบายที่ช่วยให้เกิดการขับถ่ายอย่างเป็นธรรมชาติและปลอดภัยก่อน โดยเฉพาะยาที่ช่วยในการดูดน้ำเข้ามาในอุจจาระหรือลำไส้ หรือสารที่เพิ่มปริมาณกากอาหาร

ยาระบาย แบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้

1.กลุ่มที่เพิ่มปริมาณกากอาหารในลำไส้ เช่น ลูกพรุน รำข้าว เมล็ดแมงลัก หรือเส้นใยอาหาร ข้อควรระวังคือ ต้องให้สารเหล่านี้พองตัวในน้ำเต็มที่ก่อนรับประทาน และควรดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่เช่นนั้นอาจอุดตันทางเดินอาหารได้ จึงไม่เหมาะที่จะใช้ปริมาณมากในเด็กเล็ก ยากลุ่มนี้ใช้ได้ผลดีกับผู้ที่ท้องผูกเล็กน้อย ผู้ที่ท้องผูกรุนแรงมักไม่ได้ผลและทำให้เกิดอาการอึดอัดท้อง และไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่หวังผลให้ถ่ายได้ภายใน 24 ชั่วโมงเนื่องจากออกฤทธิ์ช้า

2.กลุ่มหล่อลื่นลำไส้ เช่น น้ำมันพาราฟิน การใช้ยานี้นานๆ จะรบกวนการดูดซึมวิตามินเอ ดี อี เค ทำให้ขาดวิตามินเหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อขาดวิตามินดี จะมีผลต่อการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส จึงห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และเด็กเล็ก นอกจากนี้ ถ้าสำลักยานี้เข้าปอด ส่วนประกอบของน้ำมันสามารถทำให้ปอดอักเสบรุนแรงได้ จึงห้ามใช้ในเด็กเล็กและผู้ป่วยที่อาจมีปัญหาด้านการกลืน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีปัญหาของระบบประสาท และผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง

3.กลุ่มที่เพิ่มปริมาณน้ำในลำไส้ ยาที่ใช้บ่อยในกลุ่มนี้คือ แล็กตูโลส มีคุณสมบัติเป็นน้ำตาลที่ไม่สามารถดูดซึมได้ในลำไส้เล็ก ตัวยาจึงเคลื่อนไปถึงลำไส้ใหญ่แล้วถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ เกิดเป็นกรดอินทรีย์ตามธรรมชาติ ซึ่งจะดูดน้ำเข้ามาในอุจจาระ ทำให้อ่อนตัวขึ้น ช่วยกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวดีขึ้น ยากลุ่มนี้เหมาะสำหรับทารก เด็ก ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคตับ สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ยาในกลุ่มนี้อีกชนิดหนึ่งคือ มิลก์ออฟแมกนีเซีย เป็นยาที่ช่วยดูดน้ำเข้ามาในอุจจาระและลำไส้ แต่มีข้อเสียคือสารแมกนีเซียมอาจสะสมในร่างกาย ทำให้เกิดอันตรายในผู้ป่วยที่ไตทำงานไม่ปกติ จึงห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคไต และเด็กเล็ก

4.กลุ่มที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ค่อนข้างแรงและเร็ว เช่น มะขามแขก บิสาโคดิล ควรใช้ยากลุ่มนี้เมื่อรักษาด้วยยากลุ่มอื่นไม่ได้ผล โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการท้องผูกรุนแรง ข้อเสียของยากลุ่มนี้คือ อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง การใช้นานๆ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและการทำงานของลำไส้

เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์

1.ไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้เองโดยไม่ใช้ยาระบาย

2.อาการท้องผูกสัมพันธ์กับอาการปวดท้อง หรือคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง

3.อาการเริ่มเป็นในผู้สูงอายุที่ไม่เคยมีอาการท้องผูกมาก่อน

4.อาการท้องผูกรบกวนการประกอบกิจวัตรประจำวันมาก


-----ขอให้สุขภาพดีกันทุกคนนะคะ-----




 

Create Date : 28 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2548 10:31:21 น.
Counter : 219 Pageviews.  


*~~nOnGtEErAk~~*
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add *~~nOnGtEErAk~~*'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.