เลนส์สร้างขึ้นมาอย่างไร
เรื่องของกำเนิดเลนส์

เป็นเรื่องราวน่าสนใจเลยเก็บมาฝากครับ

เลนส์ (Optic)



เลนส์ คือ แก้วหรือวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่งที่สามารถส่งผ่านแสงหรือหักเหแสงได้ แสงสะท้อนจากวัสดุต่างๆ ด้านหน้าของเลนส์จะปรากฏเป็นภาพอีกภาพหนึ่งที่ระยะใดระยะหนึ่งด้านหลังของ เลนส์นั้น และภาพของวัตถุที่เกิดจากแสงเดินทางผ่านเลนส์มานั้นจะมีลักษณะเหมือนภาพจาก วัตถุจริงทุกประการ เลนส์ได้ถูกนำมาใช้งานในลักษณะแตกต่างกันอย่างหลากหลาย เช่น เลนส์ถ่ายภาพ แว่นตา กล้องจุลทรรศน์ กล้องโทรทัศน์



เลนส์ส่วนใหญ่ผลิตมาจากแก้วชนิดพิเศษที่มีคุณภาพสูง แก้วชนิดพิเศษนี้เรียกว่า optical glass เนื้อแก้วภายในจะต้องไม่มีแรงตึงหรือความเครียดซึ่งมีผลให้เนื้อแก้วมีรอย แตกร้าวได้ง่าย ปราศจากฟองอากาศภายในเนื้อแก้ว แก้วที่นำมาทำเลนส์จึงมีความใสสะอาดโดยปราศจากรอยตำหนิ กรรมวิธีในการผลิตเลนส์มีทั้งแบบทั้งที่ตัดจากแท่งแก้ว แล้วนำมาขึ้นรูปด้วยเครื่องเจียรพิเศษเพื่อให้เป็นรูปทรงนูนหรือเว้าตามต้อง การ หรืออีกแบบหนึ่งจะหล่อแก้วออกมาเป็นชิ้นๆ แล้วนำมาขึ้นรูปด้วยเครื่องเจียร ทั้งสองวิธีการนี้หลังจากการเจียรให้ได้รูปทรงตามตามที่ได้ออกแบบมาแล้ว จะต้องนำมาเข้าเครื่องขัดผิวเลนส์อีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะนำไปเคลือบผิว กรรมวิธีที่ค่อนข้างสำคัญมากขั้นตอนหนึ่งคือขั้นตอนการเจียรนัยขอบของเลนส์ เพราะจะต้องมีความเที่ยงตรงมากที่สุดในจุดที่เป็นศูนย์กลางของเลนส์ ทั้งในด้าน physical และ optical จะต้องตรงกันด้วย





เลนส์ถ่ายภาพ” มีพื้นฐานการทำงานอย่างไร



สิ่งที่เราต้องมาทำความเข้าใจเป็นประการแรกก็คือแสง เพราะแสงมีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับเลนส์ถ่ายภาพ แสงเดินทางด้วยความเร็วสูงมาก มันเดินทางเป็นเส้นตรง ไม่โค้ง ไม่อ้อม แสงเป็นพลังงานชนิดหนึ่งมีความร้อน มันมีการแผ่คลื่นรังสีโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลางเพื่อนำความร้อน แต่มันใช้วิธีการแผ่คลื่นความถี่ออกมาทุกทิศทุกทาง



เลนส์ถ่ายภาพประกอบด้วยชิ้นแก้วมากกว่า 2 ชิ้นขึ้นไป ชิ้นเลนส์มิใช่แผ่นเรียบๆ เหมือนกระจก แต่มันมีผิวโค้งที่แตกต่างกันหลายแบบทั้งนี้เพื่อที่เลนส์จะสามารถรับภาพทางด้านหน้าและจุดโฟกัสตกที่จุดใดจุดหนึ่งได้ด้านหลังเลนส์ การรับภาพของเลนส์ที่แท้ก็คือการรับแสงที่สะท้อนจากสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเรานั่นเอง แต่เนื่องจากผิวหน้าของเลนส์มีความโค้ง แสงที่เดินทางผ่านชิ้นเลนส์จึงเกิดการเบี่ยงเบน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดความคลาดต่างๆ ขึ้น (Distortion) ความคลาดนี้เองเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ประสิทธิภาพของเลนส์ลดลง การที่เลนส์ตัวหนึ่งมีชิ้นเลนส์หลายๆ ชิ้น ทำให้เกิดการสะท้อนแสงกลับไปกลับมาระหว่างชิ้นเลนส์ด้วยกันเอง (Interface) นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้คุณภาพของเลนส์ลดลง

การเคลือบผิวชิ้นเลนส์จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดขึ้นมาอีก (Coated) กระบอกเลนส์ด้านในต้องไม่มีการสะท้อนแสงใดๆ ได้อย่างเด็ดขาด ภายในการะบอกเลนส์จึงต้องใช้สีพิเศษที่สามารถดูดซับแสงได้ดีที่สุดและก็มาถึงการใช้วัสดุเพื่อนำมาหล่อเป็นแก้วเลนส์ ซึ่งก็ต้องคัดสรรวัตถุดิบต่างๆ ที่มีคุณสมบัติสามารถส่องผ่านแสงได้ดีที่สุด และลดปริมาณของชิ้นเลนส์ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ (เลนส์บางตัวประกอบด้วยชิ้นเลนส์ตั้งแต่ 10–50 ชิ้นเป็นปัญหาใหญ่หลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของเลนส์ตัวนั้น)


สิ่งต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นนี้ คงจะทำให้พอมองเห็นได้ว่า การที่เราจะได้เลนส์ถ่ายภาพที่ มีคุณภาพดีๆ ดังที่ต้องการนั้นมิใช่เป็นเรื่องง่าย บรรดาวิศวกรผู้ผลิตต่างก็พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การจะได้มาอย่างหนึ่งก็มักจะเสียอีกอย่างหนึ่งไป เช่น การแก้ความคลาดของเลนส์เนื่องจากการใช้ชิ้นเลนส์ที่มีผิวหน้าเป็นทรงโค้งหรือเว้าก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เลนส์ตัวนั้นประกอบด้วยชิ้นเลนส์หลายๆ ชิ้น เมื่อมีชิ้นเลนส์หลายชิ้น ก็จะเกิดการสูญเสียแสงไปมากทำให้เลนส์ตัวนั้นมีความไวแสงต่ำ (low speed) ซึ่งก็หมายถึงว่าเลนส์ตัวนั้นมีรูรับแสงเปิดกว้างสุดค่อนข้างเล็กเช่น f/5.6 หรือ f/4 เป็นต้น

ปัญหาและข้อบกพร่องของเลนส์มีมากมายเกินกว่าที่นักถ่ายภาพอย่างเราๆ จะสามารถเข้าใจได้ และการผลิตเลนส์ก็มีข้อจำกัดต่างๆ มากมายเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เองทำไมเลนส์ถ่ายภาพบางรุ่นบางตัวจึงมีราคาสูงกว่าเลนส์อีกตัวหนึ่งในขนาดเดียวกัน ก็จะมาถึงบทสรุปที่ว่าต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของเลนส์ตัวนั้นว่ามีคุณภาพดีมากน้อยขนาดไหน ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้นักถ่ายภาพมักข้องใจในแง่ที่ว่า มันคุ้มค่าเงินไหมในการลงทุนและเราได้อะไรจากมันแค่ไหน ซึ่งก็ขอตอบแบบฟันธงเลยว่า มันคุ้มค่ากับการลงทุนที่ท่านจะใช้เลนส์ที่มีคุณภาพดีที่สุดครับ

คุณลักษณะที่สำคัญของเลนส์

1. การแยกรายละเอียด (Resolution)
ความหมายของคำนี้ค่อนข้างเข้าใจยากอยู่สักหน่อย ความสามารถในการแยกรายละเอียดของเลนส์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่จะระบุคุณภาพของเลนส์ตัวนั้นว่าดีมากน้อยขนาดไหน ขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้ครับ การแยกรายละเอียด คือความสามารถในการแยกจุดหรือเส้นที่อยู่ชิดกันออกมาได้อย่างเด่นชัด จุดเล็กๆ ที่เลนส์ถ่าย ทอดออกมานั้นต้องเห็นเป็นจุดไม่ใช่เห็นเป็นวงกลม หรือเส้นเล็กๆ ที่อยู่ติดกันก็ต้องสามารถเห็นเป็นเส้นเล็กๆ ไม่ใช่เป็นแถบใหญ่ๆ ความสามารถในการแยกรายละเอียดของเลนส์นี้จะมีผลกับความคมชัดของภาพโดย รวม เพราะฉะนั้นคำว่า การแยกรายละเอียด (resolution) กับคำว่า ความคม (sharpness) จึงมีความแตกต่างกันอยู่บ้างแต่ก็มีความเกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้นการตรวจสอบคุณภาพของเลนส์ในด้านความคมคือการหากำลังแยกขยายของเลนส์ตัวนั้นเท่านั้น โดยมีหน่วยวัดเป็น LPM (lines per millimeter)

2. ความเปรียบต่างของเลนส์ (Contrast)
เลนส์ที่ดีต้องมีความเปรียบต่างที่ดีด้วย เนื่องเพราะความเปรียบต่างนี้จะมีผลโดยตรงกับรายละเอียดที่เลนส์ถ่ายทอดออกมาด้วย เลนส์ที่มีความเปรียบต่างที่เหมาะสมต้องสามารถถ่ายทอดโทนสีใกล้เคียงกันออกมาได้อย่างเด่นชัด เลนส์ที่มีความเปรียบต่างสูงจะไม่สามารถถ่ายทอดโทนสีใกล้เคียงกันออกมาได้ จะเห็นเป็นโทนสีเดียวกัน ส่วนเลนส์ที่มีความเปรียบต่างต่ำสามารถแยกโทนสีที่ใกล้เคียงกันออกมาได้ก็ตามแต่รอยต่อระหว่างโทนสีจะกลืนกัน ทำให้ภาพดูนุ่ม กลมกลืนกัน ความคมชัดลดลงไปด้วย
ทั้งข้อ 1 และ 2 นี่เอง คือที่มาของกระบวนการตรวจสอบคุณภาพของเลนส์ที่เรียกว่า MTF เพราะหากจะกล่าวถึง คุณภาพของเลนส์ก็ทั้ง 2 ตัวนี่แหล่ะที่เป็นหัวใจสำคัญ เลนส์ถ่ายภาพทุกเลนส์ทุกรุ่น มีความคมชัดไม่มากไม่น้อยกว่ากันเท่าใดนัก แต่จะมีความเปรียบต่างแตกต่างกัน ความคมชัดและและความเปรียบต่าง เป็นอะไรบางอย่างที่ได้มาและจำต้องเสียไป เลนส์คมชัดสูง ความเปรียบต่างจะสูงไปด้วย นั่นหมายถึงรายละเอียดของภาพจะหายไปด้วย (Resolution) เลนส์ความเปรียบต่างต่ำ ภาพมีเนื้อมีรายละเอียดดี แต่ภาพจะดูนุ่ม (Soft) เหมือนไม่ค่อยคม วิศวกรผลิตเลนส์จึงหาทางออกแบบให้เลนส์มีความคมชัดและคอนทราสต์ที่เหมาะสม ดังนั้นเราจึงพบว่า เลนส์ถ่ายภาพในแต่ละผู้ลิต จึงมีคุณสมบัติหรือที่เรามักพูดกันเสมอว่า “คาแรคเตอร์” แตกต่างอยู่บ้างในรายละเอียด

3. ความสมดุลของสี (Color balance)
เลนส์ที่ดีต้องมีการถ่ายทอดโทนสีต่างๆ ได้อย่างถูกต้องหรือใกล้เคียงมากที่สุด เส้นตัดกันของโทนสีจะต้องมีความเด่นชัดโดยไม่มีการกลืนกันในตำแหน่งรอยต่อของสีแต่ละสี การถ่ายทอดสีสันของเลนส์จึงเป็นสิ่งสำคัญอีกข้อหนึ่งโดยเฉพาะมืออาชีพ เพราะฉะนั้นจะพบอยู่เสมอว่าเลนส์บางตัวให้โทนสีไปทาง “โทนสีอุ่น (warmer)” และบางตัวก็ให้โทนสีไปทาง ”โทนสีเย็น (cool)” โดยปกติแล้วเลนส์ถ่ายภาพที่ถ่ายทอดสีได้ไม่สมดุลหรือไม่เป็นกลาง “neutral” ก็ยังถือว่าเลนส์ตัวยังมีข้อบกพร่องอยู่ การพิจารณาและวิเคราะห์ของผู้ใช้หรือนักถ่ายภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราไม่สามารถระบุคุณภาพของเลนส์ตัวใดตัวหนึ่งจากข้อดีเพียงข้อเดียวของเลนส์ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสีของภาพถ่ายมีหลักใหญ่ๆอยู่ 3 ข้อด้วยกัน
• ฟิล์ม ฟิล์มส่วนใหญ่ที่นักถ่ายภาพใช้กันในปัจจุบัน ก็มักให้สีไม่ตรงกันนัก หากสังเกตให้ดีจะพบว่าฟิล์มแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นต่างก็มีคุณสมบัติเฉพาะเป็นของตัวเอง การถ่ายทอดโทนสีก็มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด การเลือกใช้ฟิล์มที่เหมาะสมกับเลนส์ที่ใช้เป็นประจำเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องโทนสีของภาพถ่ายได้
• ชิ้นเลนส์ ชิ้นเลนส์ที่คุณภาพปานกลางหรือคุณภาพต่ำมักจะถ่ายทอดสีสันไปในทางโทนสีอุ่น โดยเฉพาะเลนส์บางตัวที่ใช้ชิ้นเลนส์พลาสติกรวมอยู่ในกลุ่มในกลุ่มเลนส์บางกลุ่ม แต่เลนส์บางตัวที่ใช้ชิ้นเลนส์พิเศษ APO พบว่าถ่ายทอดโทนสีไปทางโทนสีเย็น ภาพถ่ายมีลักษณะอมสีฟ้าเล็กน้อย เลนส์บางตัวที่ใช้ไปนานๆ การถ่ายทอดสีสันจะอุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถนำมาใช้งานได้
• วัตถุประสงค์การผลิต บริษัทผลิตเลนส์บางบริษัทได้ผลิตเลนส์ในช่วงที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพแฟชั่น และให้เลนส์ตัวนั้นถ่ายทอดสีสันที่อุ่นขึ้น เพราะสีผิวของคนจะดูสดใส เปล่งปลั่งดูมีสุขภาพดี ซึ่งก็ช่วยให้ภาพมีความน่าดูมากขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้เองเลนส์บางช่วงจึงมักถูกระบุว่าเป็นเลนส์ Portrait อย่างไรก็ตามหากต้องการสีผิวที่อุ่นเช่นนี้ ก็อาจใช้ฟิลเตอร์เช่น skylight 1A หรือ 1B ก็ได้เช่นกัน

4. ไม่เกิดความคลาด (Free of distortion)
ความคลาดเป็นปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่งที่มีอยู่ในเลนส์ถ่ายภาพ ความคลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้คุณภาพของเลนส์ต่ำลง ซึ่งความคลาดที่เป็นปัญหาใหญ่ของเลนส์มีทั้งหมด 6 ชนิดด้วยกัน คือ

• ความคลาดสี (Chromatic aberration) เกิดจากแสงมีคลื่นความถี่ของสีบางสีสั้นยาวแตกต่างกัน ทำให้แสงของสีเหล่านี้เมื่อผ่านเลนส์เข้า มาแล้วมีจุดตกของระยะโฟกัสไม่เท่ากัน เช่น คลื่นความถี่ของ UV จะสั้นที่สุด ต่อมาเป็นแสงสีน้ำเงิน สีเขียว และสุดท้ายสีแดงตามลำดับ ซึ่งเนื่องจากจะทำให้โทนสีของภาพเพี้ยนไปจากความเป็นจริงแล้ว ความคมชัดของภาพจะลดลงไปด้วย



• ความคลาดทรงกลม (Spherical aberration) เกิดจากความโค้งของเลนส์ชิ้นหน้าสุด เมื่อแสงกระทบหน้าเลนส์ที่มีมุมองศาแตกต่างกัน ทำให้จุดโฟกัสหลังเลนส์มีระยะทางไม่เท่ากัน เช่น แสงผ่านบริเวณขอบเลนส์จะมีจุดตกโฟกัสใกล้สุด แสงที่ผ่านบริเวณใกล้จุดศูนย์กลางของเลนส์จะมีจุดตกโฟกัสไกลที่สุด ความคมชัดของภาพลดลงและความคมชัดไม่สม่ำเสมอกันทั้งภาพ



• ความคลาดทรงเบี้ยว (Astigmatism aberration) เกิดจากเลนส์ไม่สามารถควบคุมทิศทางของแสงที่ผ่านเข้ามาในแต่ละมุมให้อยู่ในมุมที่ถูกต้องได้ ภาพที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเบี้ยวไม่เป็นวงกลม หรือเส้นแนวตั้งกับเส้นแนวขวางมีความคมชัดไม่เท่ากัน



• ความคลาดพื้นผิว (Curvature of field) ความคลาดชนิดนี้มีลักษณะคล้ายๆ ความคลาดทรงกลม แตกต่างกันตรงที่ความคลาดทรงกลมภาพจะมีความคมชัดขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการโฟกัส แต่ความคลาดพื้นผิวทำให้เลนส์ไม่สามารถโฟกัสทุกพื้นที่ของภาพให้อยู่ในระนาบเดียวกันก็ได้ ทำให้เกิดความคมชัดเฉพาะบริเวณกลางภาพเท่านั้น



• ความคลาดแบบพู่ (Comatic) เกิดจากแสงที่ผ่านเลนส์เข้ามานั้นไม่อยู่ในมุมที่ถูกต้องเกิดการเบี่ยงเบนออกนอกแกน (off-axis) และตกในอีกระนาบหนึ่งของเลนส์ ลักษณะที่เกิดขึ้นนี้คล้ายๆ กันกับความคลาดทรงเบี้ยว แต่การเบนออกนอกแกนของความคลาดแบบพู่นี้จะเกิดการสะท้อนแสงจากการตัดกัน รูปวงรีโดยที่อีกด้านหนึ่ง ของวงแสงจะจางกว่า ทำให้มีลักษณะจุดแสงสว่างคล้ายดาวหางปรากฏในภาพถ่ายความเด่นชัดขึ้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับข้อบกพร่องของเลนส์ตัวนั้น



• ความคลาดบิดเบือน (Distortion) เกิดจากเลนส์ไม่ สามารถถ่ายทอดรูปทรงสี่เหลี่ยมได้อย่างถูกต้อง ความคลาดชนิดนี้ยังแบ่งออกได้เป็น 2 แบบตามลักษณะที่เกิดข้นคือ 1.ความคลาดแบบเว้าเข้า (pincushion) และ 2.ความคลาดแบบโค้งออก (barrel) เราสามารถระบุชนิดของความคลาดนี้โดยสังเกตจากเส้นตรงบริเวณริมภาพ หากเส้นตรงมีลักษณะเว้าเข้าก็เป็นความคลาดแบบ pincushion หากเส้นตรงลักษณะนูนออกหรือป่องออกทางด้านข้างก็จะเป็นความคลาดแบบ barrel



ทั้งหมดนี้คือความคลาดของเลนส์แบบต่างๆ โดยสังเขป แต่อย่างไรก็ตามความคลาดเหล่านี้ เลนส์ทุก ตัวต่างก็มีมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป แม้ว่าความคลาดเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขโดยหลายๆ วิธีการด้วยเทคโนโลยียุคใหม่ แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะผลิตเลนส์ถ่ายภาพที่สมบูรณ์โดยปราศจากความคลาดอย่างสิ้นเชิง

การพัฒนาเลนส์ในยุค 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตเลนส์ต่างก็พยายามค้นคว้าวิจัยเพื่อที่จะแก้ไขความคลาดเหล่านี้ และได้นำวิธีการใหม่ๆ มาใช้หลายอย่าง ไม่ว่าจะโดยการออกแบบเลนส์ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการช่วยคำนวณการใช้ชิ้นเลนส์พิเศษที่เรียกว่า แอสเฟอริคัล (Aspherical - ASL- ASPH) หรือการใช้สารประกอบบางตัวเพื่อให้ได้แก้วพิเศษที่เรียกว่า Apochromatic (APO) การใช้การออกแบบใหม่ๆ เช่นการใช้ชิ้นแบบลอยตัว ฯลฯ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดกับเลนส์ แต่ก็มิใช่ข้อยืนยันว่า ปัญหาต่างๆ ของเลนส์นั้นได้รับการแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

5. ไม่เกิดขอบภาพ (Vignetting)
การเกิดขอบภาพนี้ในเลนส์รุ่นใหม่ๆ จะมีให้เห็นน้อยมากแต่ก็ยังมีอยู่ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณภาพของเลนส์ตัวนั้นๆ ลักษณะของวิกเน็ทท์นี้ จะเกิดขึ้นที่บริเวณขอบภาพโดยรอบอาจพบเห็นเป็นเงาดำจางๆ หากภาพถ่ายมีโทนสีอ่อน หากภาพถ่ายมีพื้นเป็นโทนสีเข้มก็จะเป็นเงาสีขาวจางๆ เช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ภาพในบริเวณขอบภาพดูนุ่ม ความคมชัดลดลง
ทั้ง 5 ปัจจัยข้างต้นนี้คือความใฝ่ฝันที่บรรดาวิศวกรผลิตเลนส์ทั้งหลายต่างก็มีความมุ่งหวังที่จะก้าวไปให้ถึงและก็เป็นความต้องการของนักถ่ายภาพทั่วโลกที่อยากจะมีเลนส์ถ่ายภาพที่มีคุณภาพสูงที่สุดดังกล่าว

(Ref:FOTOINFO Magazine)
สามารถศึกษาเพิ่มเติม Optical Terminology:EF Lens Work III

ปัญหาของเลนส์ถ่ายภาพ

สำหรับเลนส์นั้นเป็นอุปกรณ์ที่นักถ่ายภาพที่จริงจังให้สำคัญมากกว่ากล้องถ่ายภาพเสียอีก เลนส์ที่ดีจะให้ภาพที่คมชัด สีสันสดใส มีรายละเอียดส่วนมืดและส่วนสว่างที่ดีมาก ๆ สามารถแยกแยะรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ออกจากกันได้ เลนส์คุณภาพสูงจะมีราคาสูงมาก หลายตัวมีราคาแพงกว่ากล้อง บางทีแพงพอ ๆ กับรถยนต์ทั้งคันเลยทีเดียว เลนส์ที่ผลิตจากโรงงานจะมีขั้นตอนการควบคุณคุณภาพเป็นอย่างดี แต่เมื่อเลนส์ถูกนำมาใช้งานเพียงระยะเวลาหนึ่ง คุณภาพของเลนส์จะเปลี่ยนไป ไม่ดีเหมือนตอนออกมาใหม่ ๆ จากโรงงาน เลนส์ราคาแพงคุณภาพสูงอาจจะให้ภาพพอ ๆ กับเลนส์คุณภาพต่ำราคาไม่กี่บาทก็ได้ เราจึงต้องดูแลรักษาเลนส์ให้มีคุณภาพดีที่สุดอยู่เสมอ ๆ เพื่อจะได้ใช้งานอย่างคุ้มค่า ใช้งานได้นาน ๆ ตราบเท่าที่เรายังไม่เบื่อเลนส์ตัวนั้นไปซะก่อน

ปัญหาที่พบมากกับเลนส์ถ่ายภาพได้แก่

1. เลนส์ขึ้นฝ้า
2. เลนส์ขึ้นรา
3. เลนส์มีฝุ่น
4. เลนส์เป็นรอย
5. มีไอน้ำเกาะในเลนส์

ปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกัน แก้ไข บรรเทาได้ หากผู้ใช้ระมัดระวัง ดูแลรักษาเลนส์อย่างเหมาะสม


1. เลนส์ขึ้นฝ้า

ลักษณะ : เลนส์ที่ขึ้นฝ้า เมื่อมองผ่านเข้าไปในเลนส์จะเห็นเป็นฝ้าขาว ๆ เหมือนมีม่านขาวบาง ๆ อยู่ภายในเลนส์ หรือคล้ายกับหยดน้ำเล็ก ๆ เกาะอยู่ในเลนส์เต็มไปหมด

ผล : ภาพที่ได้จากเลนส์ขาดความคมชัด สีสันไม่อิ่มตัว มีแสงฟุ้งกระจายเมื่อถ่ายภาพย้อนแสง คล้ายกับการถ่ายภาพผ่านหมอก

สาเหตุ : ส่วนใหญ่เกิดจากสารเชื่อมชิ้นเลนส์ ซึ่งในในการเชื่อมชิ้นเลนส์นูนกับเลนส์เว้าเข้าด้วยกันเกิดการเสื่อมสภาพ เปลี่ยนจากใสเป็นขาวขุ่น ทำให้เกิดฝ้าขึ้นภายในเลนส์ หรือบางครั้งก็เกิดจากสารเชื่อมชิ้นเลนส์ที่ใช้ในการผลิตชิ้นเลนส์แบบ Hybridge Aspherical เกิดการเสื่อมสภาพ บางครั้งก็อาจจะเกิดจากน้ำมันที่ใช้หล่อลื่นกลไกภายในเลนส์มีคุณภาพต่ำ ทำให้น้ำมันระเหยมาเกาะที่ผิวหน้าเลนส์

ทางแก้ไข : หากเป็นที่สารเชื่อมชิ้นเลนส์ หรือชิ้นเลนส์เสื่อมสภาพ ต้องส่งซ่อม เปลี่ยนชิ้นเลนส์ใหม่ แต่ถ้าเป็นไอน้ำมันสามารถล้างได้

การป้องกัน : สารเชื่อมชิ้นเลนส์จะใช้สารที่มีชื่อว่า Cananda Balsm หรือสารอื่น ๆ ที่มีคุณลักษณะใกล้เคียง ซึ่งต้องมีความใส ไม่มีสี มีดัชนีหักเหเท่ากับชิ้นแก้วที่ใช้ทำเลนส์ สามารถเชื่อมติดเลนส์เข้าด้วยกัน และมีความทนทานสูง แต่สารเชื่อมชิ้นเลนส์จะลายตัวได้เมื่อพบกับความร้อนและความชื้นสูง ซึ่งเป็นลักษณะของสภาพอากาศในเมืองไทย เลนส์บาง ยี่ห้อจึงขึ้นฝ้าอยู่เรื่อยๆ การป้องกันที่สามารถทำได้คือ หลีกเลี่ยงความร้อนและความชื้นที่ไม่จำเป็น ไม่ตั้งกล้องตากแดดเอาไว้โดยที่ยังไม่ได้ถ่ายภาพ ควรเก็บกล้องในที่มีอากาศถ่ายเท ไม่ร้อน ไม่เก็บกล้องไว้ในรถที่จอดจากแดดเป็นเวลานาน ไม่เก็บกล้องเอาไว้ในกระเป๋ากล้องที่ปิดสนิท เพราะจะเกิดการอับชื้นได้ง่าย


2. เลนส์ขึ้นรา

ลักษณะ : เป็นเส้น ๆ คล้าย ๆ รากไม้แผ่กระจายไปทั่วผิวเลนส์ บางครั้งก็เป็นจุดขาว ๆ ตรงกลางและมีเส้นแผ่กระจายออกจากจุด

ผล : ทำให้ภาพขาดความคมชัด มีแสงฟุ้งกระจาย

สาเหตุ : เชื้อราที่เกิดขึ้นภายในเลนส์เกิดจากเชื้อราที่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไปภายในเลนส์ ซึ่งเลนส์ที่ใช้กับอุปกรณ์ถ่ายภาพเกือบทั้งหมดจะเป็นระบบเปิด อากาศสามารถเข้าออกได้ ซึ่งเชื้อราก็สามารถเข้าออกได้เช่นกัน เลนส์ทุก ตัวที่ผลิตออกมาจากโรงงาน เมื่อนำมาใช้งานจึงมีเชื้อราอยู่ภายในเสมอ เมื่อเชื้อราได้รับความชื้นปริมาณมาก และอุณหภูมิที่เหมาะสมก็จะสามารถเจริญเติบโตขึ้นได้

ทางแก้ไข : ส่งเลนส์ล้าง หากปล่อยไว้นาน เชื้อราจะกินเข้าไปในเนื้อแก้ว ทำให้เลนส์เสียหายไปอย่างถาวร หากเห็นว่าเลนส์มีรา ให้รีบส่งล้างทันที ไม่ต้องกลัวว่าเลนส์จะไม่เหมือนเดิม เช่น กลัวว่าโค้ทจะหลุด หรือประกอบเลนส์ไม่เหมือนเดิม โค้ทเลนส์ในปัจจุบันทีความทนทานแข็งแรงมาก การล้างเลนส์ด้วยน้ำยาสำหรับทำความสะอาดเลนส์เพียงไม่กี่ครั้งไม่ทำให้คุณภาพของสารเคลือบเลนส์ด้อยลง เชื้อราที่เกิดขึ้นเป็นอันตรายมากกว่าการล้างเลนส์มาก ส่วนเรื่องการประกอบเลนส์ เลนส์แต่ละชิ้นจะมีตำแหน่งที่ตายตัว หากช่างซ่อมได้มาตรฐาน ไม่เผลอเลอจริง ๆ สามารถประกอบเลนส์กลับเข้าที่เดิมได้ 100% และศูนย์ซ่อมมาตรฐานจะมีระบบการตรวจเช็คเลนส์หลังจากประกอบเลนส์กลับเข้าไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่น่ากังวลใจในเรื่องการซ่อมเลนส์มากเกินไปนัก

การป้องกัน : ไม่ควรเก็บเลนส์ไว้ในที่อับชื้น และร้อนเป็นเวลานาน สภาพร้อนชื้นจะทำให้เชื้อราสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดี เมื่อนำเลนส์ไปใช้ในที่ชื้น ควรเอาพัดลมเป่าไล่ความชื้นหลังจากใช้งานเสร็จแล้ว ไม่ควรเก็บเลนส์ไว้ในกระเป๋ากล้องที่ปิดสนิท ในตู้เสื้อฝ้า หรือตู้ในห้องที่อับชื้น ห้องที่ปิดและมีห้องน้ำอยู่ภายในจะมีความชื้นสูงมาก ไม่ควรเก็บกล้องและเลนส์เอาไว้ในห้องลักษณะนี้



3. เลนส์มีฝุ่น

ลักษณะ : เมื่อมองเข้าไปภายในเลนส์จะเห็นฝุ่นผงต่าง ๆ จับที่ผิวเลนส์เป็นเม็ด ๆ

ผล : ทำให้ความคมชัดของเลนส์ลดลง มีแสงฟุ้งกระจายภายในเลนส์ มีแฟลร์ง่าย ภาพสีสันไม่อิ่มตัวเท่าที่ควร

สาเหตุ : เลนส์ถ่ายภาพจะสามารถให้อากาศเข้าออกได้ โดยเฉพาะเลนส์ซูมตำแหน่งการเคลื่อนไหวมาก ฝุ่นซึ่งมีอยู่ในอากาศเป็นเรื่องปกติจึงสามารถเข้าไปภายในเลนส์ได้ เลนส์ที่ออกมาจากโรงงานใหม่ ๆ จะไม่มีฝุ่น เพราะโรงงานผลิตเลนส์จะปลอดจากฝุ่น แต่เมื่อนำมาใช้งานไปซักระยะก็จะมีฝุ่นเข้าไปภายในได้

ทางแก้ไข : หากมีฝุ่นมากจนเริ่มส่งผลกระทบต่อคุณภาพของเลนส์ ควรส่งเลนส์ล้างที่ศูนย์ซ่อมที่ได้มาตรฐาน

การป้องกัน : ไม่ควรเอาเลนส์ออกมาตากลมโดยไม่จำเป็น เวลาออกไปถ่ายภาพ ควรเก็บเลนส์ที่ยังไม่ได้ใช้งานเอาไว้ในกระเป๋ากล้องและปิดกระเป๋าให้สนิทเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นเข้าไปภายในโดยไม่จำเป็น และถ้าต้องนำเลนส์ออกมาใช้ในที่มีฝุ่นมาก มีลมพัดแรง มีโอกาสที่ฝุ่นจะเข้าได้มาก ควรหาฝ้าหรือวัสดุคลุมเลนส์เอาไว้ โผล่มาเฉพาะหน้าเลนส์ และปิดฝ้าครอบเลนส์เอาไว้เมื่อไม่ได้ใช้งาน ควรเช็ดกระบอกเลนส์บ่อย ๆ หลังจากเสร็จงาน และเก็บเลนส์ไว้ในที่ไม่มีฝุ่นมากนัก

4. เลนส์เป็นรอย

ลักษณะ : เป็นรอยขูดขีดที่ผิวเลนส์ชิ้นหน้าหรือชิ้นหลัง จะมองเห็นชัดเมื่อมองแสงสะท้อนที่ผิวเลนส์

ผล : ทำให้ภาพมีความคมชัดลดลง มีแสงฟุ้งกระจายในภาพ และเมื่อถ่ายภาพย้อนแสง แสงจะเป็นเส้น ๆ แต่ไม่มีทิศทางที่แน่นอน

สาเหตุ : ส่วนใหญ่จะเกิดการดูและรักษาเลนส์ไม่ดี เช่น
1. เก็บเลนส์ในกระเป๋ากล้องโดยไม่เอาฝาครอบเลนส์ปิดหน้าเลนส์และท้ายเลนส์ ทำให้เกิดการกระแทกกับชิ้นเลนส์ ทำให้เลนส์เป็นรอย
2. ใช้วัสดุที่ไม่ได้ออกแบบมาเช็ดเลนส์ เช่น เอาผ้าเช็ดหน้าหรือเสื้อมาเช็ดผิวเลนส์ ทำให้เกิดรอยขูดขีดที่ผิวหน้าเลนส์ การเช็ดเลนส์ควรใช้วัสดุที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เช่น กระดาษเช็ดเลนส์ ผ้าหนังชามัวร์สำหรับเช็ดเลนส์ ผ้าแบบไฟเบอร์ออฟติกสำหรับเช็ดเลนส์
3. เช็ดเลนส์แรงเกินไป ทำให้เกิดรอยที่ผิวหน้าเลนส์
4. ไม่ได้ทำความสะอาดผิวหน้าเลนส์ก่อนเช็ดเลนส์ บางครั้งอาจจะมีฝุ่นแข็งที่หน้าเลนส์ เมื่อเช็ดเลนส์จึงเกิดการขูดขีดขึ้นได้
ควรเป่าเลนส์ด้วยลูกยางเป่าลมให้สะอาดมากที่สุดก่อนที่จะเอาวัสดุใด ๆ มาเช็ดหน้าเลนส์
5. วัสดุเช็ดเลนส์สกปรกหรือแข็งเกินไป กระดาษเช็ดเลนส์ควรขย้ำเบา ๆ ให้นุ่มก่อนนำมาเช็ดเลนส์ เลือกกระดาษคุณภาพดีและไว้ใจได้ อย่าเห็นแก่ของราคาถูก ใช้เสร็จแล้วให้ทิ้งไป ไม่นำมาใช้ซ้ำ ผ้าหนังชามัวร์หรือผ้าไฟเบอร์ออฟติคควรใช้ที่สะอาด หากใช้มานานจนเริ่มสกปกให้ทิ้ง หรือนำไปซักโดยใช้น้ำเปล่า หรือแชมพูเด็ก และตากไว้ในที ไม่มีฝุ่นและไม่มีลมพัด แนะนำให้เปลี่ยนใหม่โดยเฉพาะผ้าหนังชามัวร์ซึ่งเมื่อนำไปซักแล้วมักจะแข็ง ส่วนผ้าแบบไฟเบอร์ออฟติดยังพอซักแล้วนำมาใช้ใหม่ได้

การแก้ไข : หากเป็นรอยมากต้องเปลี่ยนชิ้นเลนส์ใหม่

การป้องกัน : ใช้วัสดุที่ออกแบบมาโดยเฉพาะในการเช็ดเลนส์ เป่าเลนส์ให้สะอาดก่อนเช็ดเลนส์ทุกครั้ง เช็ดเลนส์ด้วยความนุ่มนวล

5. มีไอน้ำเกาะในเลนส์

ลักษณะ : เมื่อมองเข้าไปในเลนส์ พบฝ้าขาวมีลักษณะเป็นหยดน้ำเกาะชิ้นเลนส์ไปทั่ว

ผล : ภาพไม่คมชัด ฟุ้งเบลอไปหมดทั้งภาพ

สาเหตุ : การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกระทันหันจากเย็นเป็นร้อนชื้น ทำให้ไอน้ำในอากาศเกาะที่ผิวหน้าเลนส์ เช่น เก็บกล้องเอาไว้ในรถที่เปิดแอร์จนเย็นมาก พอออกจารถก็นำกล้องออกมาใช้งานเลย เมื่อไอน้ำในอากาศสัมผัสกับเลนส์ซึ่งเย็นมากจึงกลายเป็นหยดน้ำเกาะที่เลนส์

การแก้ไข :
1. ปล่อยเลนส์ไว้ที่อุณหภูมิปกติ เมื่อเลนส์ร้อนขึ้น ไอน้ำจะหายไปเอง
2. หากมีไอน้ำค้างอยู่ในเลนส์ ให้ลองเอาเลนส์ใส่ภาชนะปิดสนิท ซื้อซิลิก้าเจลใส่เข้าไป จะช่วยดูดความชื้นออกจากภายในเลนส์ได้
3. ถ้าทำยังไงไอน้ำก็ไม่หาย ต้องส่งศูนย์ซ่อม
การป้องกัน : ไอน้ำในเลนส์จะเกิดได้ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนอุณภูมิกระทันหันจากที่เย็นกว่าไปร้อนชื้นกว่า หากรู้ว่าต้องนำกล้องออกไปใช้งานในลักษณะที่ร้อนชื้น ให้ปรับอุณหภูมิของเลนส์เอาไว้ก่อน เช่น กล้องอยู่ในรถ ที่เปิดแอร์เย็น ข้างนอกฝนตกปรอย ๆ หากนำกล้องออกมาใช้งานมันมีจะเกิดฝ้าแน่นอน ให้เอากล้องเก็บไว้ท้ายรถ หรือเอากระเป๋ากล้องออกมาข้างนอกสักพัก ให้กล้องปรับอุณหภูมิให้เท่าภายนอกเสียก่อนจึงค่อยเอากล้องออกมาใช้งาน
เวลาที่มีการเปลี่ยนอุณหภูมิ ตอนที่เอากล้องออกจากกระเป๋ากล้อง ห้ามเปิดฝาครอบกล้องและเลนส์ออกทันที ให้ลองดูว่า มีไอน้ำจับกระบอกเลนส์หรือไม่ ถ้ามีให้เก็บกล้องเอาไว้ในกระเป๋าสักพักก่อน ถ้าเปิดฝาครอบจะเกิดไอน้ำจับหน้าเลนส์ทันที

(Ref:Mr.Auto,rpst-digital.org)

ที่มา



Create Date : 29 เมษายน 2555
Last Update : 29 เมษายน 2555 16:07:14 น.
Counter : 6663 Pageviews.

1 comments
  
ได้ความรู้เพิ่มเยอะเลยค่ะ ขอบคุณทีึ่มาให้คำปรึกษาเรื่องกล้องนะคะ ตอนนี้ได้กล้องแล้วแต่เป็นคนละรุ่นกัน ไว้จะเอามาให้ชมนะคะ
โดย: oummini วันที่: 3 พฤษภาคม 2555 เวลา:13:43:18 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

nice rider
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ยินดีที่รู้จักครับ
ส่วนตัวเป็นคนชอบถ่ายรูปครับ
ซึ่งฝีมือก็ยังต้องพัฒนาอีกมากครับ
บล๊อกนี้จะเป็นพื้นที่แสดงภาพที่ไปถ่ายมา
ส่วนมากก็ใช้เลนส์มือหมุนครับมีออโต้บางส่วน
ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมเยือนนะครับ

*ยังเป็นมือใหม่หัดทำบล็อกอยู่ครับ ^^'