มุ่งทำดี ทุกคืนวัน เท่านั้นพอ
 

แพ้อาหารทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียได้ไหม

อาการอ่อนเพลียถือเป็นอาการทางอารมณ์ จิตใจ และร่างกายที่พบได้เสมอๆ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ขาดอาหาร นอนไม่พอ เครียด ทำงานหนักเกินไป ติดเชื้อหรือเจ็บป่วย

แต่อาการอ่อนเปลี้ย เพลีย เหนื่อยล้าเรื้อรังจนกระทั่งไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ แม้จะพักผ่อนมากขึ้นก็ไม่หาย เป็นอาการที่บั่นทอนทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพราะค่อนข้างยากที่จะวินิจฉัย ฝรั่งเรียกอาการแบบนี้ว่า “โครนิกฟาทีคซินโดรม” (Chronic Fatigue Syndrome หรือย่อว่า CFS) ถ้าแปลตรงตัวก็คืออาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ซึ่งพบในผู้ใหญ่มากกว่า 200 คนต่อหนึ่งแสนคน และผู้หญิงวัย 25 – 45 ปีเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า

อาการที่พบจะคล้ายคลึงกับอาการโรค Fibromyalgia ซึ่งเป็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อและพังผืด มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดเมื่อยเหมือนไข้หวัด มีไข้อ่อนๆ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองบวม กล้ามเนื้อเปลี้ยอ่อนแรง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากออกกำลังกาย) ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ อารมณ์ไม่คงเส้นคงวา ซึมเศร้า นอนไม่หลับ คนที่เป็นโรคนี้มักจะไม่มีสมาธิในการทำงานและอ่านหนังสือ ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยโรคนี้จะมีอาการหลายๆ อย่างเรื้อรังถึงหกเดือนขึ้นไป สาเหตุที่แท้จริงของ CFS นี้ยังคงไม่เป็นที่แน่ชัด และไม่มีวิธีการตรวจสอบได้ว่าเป็นโรคใดเฉพาะเจาะจง

นักวิจัยบางคนเชื่อว่าสาเหตุอาจเนื่องมาจากการติดเชื้อไวรัส และพบว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสเฉียบพลันก่อนที่จะมีอาการ CFS เกิดขึ้น นักวิจัยบางคนก็เชื่อว่าระบบภูมิต้านทานถูกรบกวน บางท่านก็ให้ข้อสังเกตว่า ผู้ป่วยมีอาการเหมือนคนไข้โรคจิต และผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับยาต้านการซึมเศร้า

อาหารสามารถบำบัดโรค CFS ได้หรือไม่ ยังไม่มีข้อแนะนำที่ชัดเจนในการป้องกันหรือบำบัดเช่นกัน ก่อนหน้านี้เคยเชื่อว่าการงดอาหารประเภทที่มีคุณสมบัติในกลุ่มของเชื้อรา เช่น เห็ดและขนมปังที่ทำจากยีสต์ และใช้ยาต้านเชื้อรา จะช่วยแก้ไขโรค CFS ได้ แต่ปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวตกไป เนื่องจากไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่าโรค CFS จะเกี่ยวข้องกับยีสต์

มีข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า ระดับของสารสื่อข่าวในสมองที่ชื่อว่า เซโรโทนินอาจจะสูงเกินในคนที่มีอาการ CFS และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การลดคาร์โบไฮเดรตและเพิ่มโปรตีนอาจจะช่วยแก้ไขสมดุลของสารเคมีในสมอง

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่า อาการ CFS อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติในระบบประสาทที่ทำให้เกิดความดันต่ำ (Neurally Mediated Hypotension) การให้โภชนบำบัดในกรณีนี้คือ การเพิ่มเกลือหรือโซเดียมในอาหาร และดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มเพิ่มเพื่อช่วยปรับความดันเลือดร่วมกับการให้ยา ปัจจุบันนักวิจัยกำลังหาวิธีการรักษาที่ดีที่สุดให้กับผู้ที่มีอาการ CFS

แพ้อาหารทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียได้ไหม


อาการแพ้อาหารซึ่งมักจะแสดงออกทางผิวหนัง (เช่น เป็นผื่น) ระบบย่อยอาหาร หรือหายใจขัด แต่อาการที่ไม่ชัดเจนจากการแพ้อาหารอาจเกิดขึ้นได้ เช่น เพลีย ปวดศีรษะ

ผู้ที่มีอาการ 9 ใน 10 คนคิดว่าอาการอ่อนเพลียอาจเนื่องมาจากอาหาร แต่ในความเป็นจริงเมื่อทำการทดสอบแล้วกลับไม่ใช่สิ่งที่สงสัย อาการแพ้อาหารที่แท้จริงนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน และอาการอาจจะแสดงออกเร็วหรือช้าได้ภายใน 24 ชั่วโมง อาการที่พบแสดงออกทางผื่นผิวหนัง ปัญหาระบบทางเดินหายใจและระบบย่อย อาการอาจจะน้อยหรือรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับความทนของร่างกายและปริมาณของสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ อาหารที่พบว่าก่อให้เกิดอาการแพ้บ่อยๆ ได้แก่ นมวัว ถั่วเหลือง ไข่ ถั่วลิสง ข้าวสาลี ข้าวโพด เมล็ดถั่วลันเตา ปลา ปู กุ้ง หอย มะเขือเทศ ถั่วเปลือกแข็ง ส้ม สตรอเบอร์รี่ และช็อกโกแลต การเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้จะเป็นวิธีที่แนะนำกันในทางโภชนบำบัด




 

Create Date : 13 กันยายน 2549    
Last Update : 13 กันยายน 2549 11:06:48 น.
Counter : 842 Pageviews.  

อาการเกี่ยวข้องกับความเพลีย เหนื่อยล้า

เวลาที่ร่างกายขาดสารอาหารตัวใดตัวหนึ่งก็สามารถทำให้เกิดอาการเพลียได้ ถ้าร่างกายได้รับพลังงานหรือโปรตีนไม่เพียงพอก็จะทำให้เกิดอาการเซื่องซึม เหนื่อยหน่าย เหมือนคนไร้ความรู้สึก คนที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจนกระทั่งระบบภูมิต้านทานถูกกระทบไปด้วย ก็จะทำให้มีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้าได้เช่นกัน

สารอาหารที่เกี่ยวข้องและมีผลต่อการเกิดอาการเพลีย เหนื่อยล้า ได้แก่ วิตามินบี วิตามินซี ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม

วิตามินบี

วิตามินบีที่จำเป็นต่อการผลิตพลังงานจากอาหาร คือ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 กรดแพนโทธีนิก และไนอะซิน ถ้าร่างกายขาดวิตามินตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มนี้ อาจทำให้คนผู้นั้นมีความรู้สึกเพลีย ไม่มีแรง นอนไม่หลับ แต่ถ้าร่างกายได้รับวิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 กรดโฟลิก และไบโอตินไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดโรคโลหิตจาง ซึ่งก็จะมีอาการเพลีย เซื่องซึม เฉื่อยชา ขาดสมาธิ ออกแรงนิดหน่อยก็แทบจะล้มพับไปเลย กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี ได้แก่ นักกีฬา ผู้ที่ลดน้ำหนักด้วยระดับแคลอรี่ต่ำมากๆ หญิงตั้งครรภ์ และชาวมังสวิรัติ

วิตามินซี

เคยมีรายงานการวิจัยว่า ผู้ที่ได้รับวิตามินซีน้อยกว่าวันละ 100 มิลลิกรัม จะมีอาการอ่อนเพลีย ในขณะผู้ที่ได้รับวิตามินซีวันละ 400 มิลลิกรัมแทบจะไม่รู้สึกกับอาการอ่อนเพลีย อาหารที่มีวิตามินซีสูงอาจช่วยแก้ไขอาการอ่อนเพลียโดยการช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ต่อต้านการติดเชื้อ นอกจากนี้วิตามินซียังมีหน้าที่ในการช่วยเปลี่ยนกรดแอมิโนชนิดทริปโตแฟนเป็นเซโรโทนิน ซึ่งช่วยควบคุมการหลับ อาการซึมเศร้า และความรู้สึกเจ็บปวด

ธาตุเหล็ก

เป็นส่วนประกอบของสารเฮโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ช่วยขนส่งออกซิเจนจากปอดเข้าสู่เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย ถ้ากินอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอหรือการดูดซึมธาตุเหล็กไม่ดี ก็จะทำให้ธาตุเหล็กจากเนื้อเยื่อถูกดึงมาใช้ เซลล์จะค่อยๆ ขาดออกซิเจน ผลที่เกิดขึ้นคือ กล้ามเนื้ออ่อนแอ เพลีย ไม่มีสมาธิ

ปัญหาขาดธาตุเหล็กเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของผู้หญิง ซึ่งอาจนำไปสู่สาเหตุอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า แม้แต่ฝรั่งเองซึ่งบริโภคเนื้อสัตว์มากกว่าคนเอเชียก็ยังมีปัญหาโลหิตจางได้ เคยมีข้อมูลรายงานว่า ผู้หญิงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์มีปัญหาโลหิตจาง ผู้หญิงที่ออกกำลังกาย 50 เปอร์เซ็นต์ และผู้หญิงที่หมดประจำเดือน 39 เปอร์เซ็นต์ ล้วนแต่มีปัญหาขาดธาตุเหล็ก

การขาดธาตุเหล็กอาจจะเกิดขึ้นได้โดยที่เจ้าตัวไม่ได้สังเกต การตรวจเลือดจะบอกได้ว่าหญิงผู้นั้นมีความเสี่ยงต่อโลหิตจางหรือไม่ ก่อนที่จะเกิดโลหิตจาง ธาตุเหล็กที่เก็บสะสมในเนื้อเยื่อจะค่อยๆ ถูกใช้ไป ทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่ายและอารมณ์จะฉุนเฉียวง่าย สมาธิในการทำงานจะน้อยลง ระบบภูมิคุ้มกันสั่นคลอน ทำให้เป็นหวัดและติดเชื้อง่าย

หญิงที่อยู่ในวัยมีประจำเดือนควรกินอาหารที่มีธาตุเหล็กให้ได้วันละ 18 มิลลิกรัม และถ้าคนที่มีเมนส์มากหรือผู้ที่ใช้การคุมกำเนิดแบบใส่ห่วง อาจจะต้องเสริมธาตุเหล็กร่วมกับอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เนื้อแดง สัตว์ปีก ปลา ถั่ว เต้าหู้ ผักใบเขียวจัด น้ำลูกพรุน

จากข้อมูลของ ดร.เฟอร์กัส ไคลเดสดัล พบว่า อาหารที่สมดุลจะให้ธาตุเหล็ก 6 มิลลิกรัมต่อพลังงาน 1,000 แคลอรี ซึ่งหมายถึงว่า ผู้หญิงจะต้องกินอาหารให้ได้อย่างน้อยวันละ 3,000 แคลอรี เพื่อให้ได้ธาตุเหล็กเพียงพอ แต่ในความเป็นจริงผู้หญิงกินน้อยกว่านั้นมาก และถ้าจะต้องกินเท่านั้นจริงๆ ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็จะมีปัญหาโรคอ้วนกันไปหมด ฉะนั้นผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มีโภชนาการดีจะได้ธาตุเหล็กประมาณวันละ 8 – 10 มิลลิกรัมจากอาหาร

ผู้หญิงบริโภคธาตุเหล็กส่วนใหญ่จากผัก ผลไม้ และเมล็ดธัญพืช ซึ่งจากแหล่งอาหารเหล่านั้นธาตุเหล็กจะดูดซึมเพียง 2 – 7 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ธาตุเหล็กจากเนื้อสัตว์จะดูดซึมได้มากถึง 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ และถ้าหากผู้หญิงคนไหนดื่มชา กาแฟในมื้ออาหาร ธาตุเหล็กก็จะดูดซึมได้น้อยลงอีก เพราะชา กาแฟ จะยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก

คนทุกคนโดยเฉพาะหญิงวัยหมดประจำเดือนควรจะใส่ใจในการเลือกบริโภคอาหารให้ได้ธาตุเหล็กเพียงพอ ส่วนในคนที่มีปัญหาโลหิตจาง การเลือกรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงขึ้น และเสริมธาตุเหล็กวันละ 18 มิลลิกรัม จะช่วยให้สภาวะธาตุเหล็กในร่างกาย การทำงานของสมอง และมีเรี่ยวแรงดีขึ้นภายในสามสัปดาห์ แต่ถ้าขาดธาตุเหล็กรุนแรงอาจจะต้องเสริมในปริมาณมากกว่านั้น ซึ่งควรให้แพทย์เป็นผู้กำหนด เพราะถ้าร่างกายได้รับธาตุเหล็กมากเกินไปจะเกิดการสะสมธาตุเหล็กในร่างกาย อาจจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ฉะนั้นในหญิงวัยหมดประจำเดือนหรือผู้ชายไม่จำเป็นต้องเสริมธาตุเหล็ก นอกจากเมื่อแพทย์พบว่าเกิดปัญหาโลหิตจาง

นอกจากปัญหาการขาดธาตุเหล็กแล้ว โรคโลหิตจางยังอาจมีสาเหตุมาจากการขาดโคบอลต์หรือซีลีเนียมจากอาหารได้เช่นกัน

แมกนีเซียม

แร่ธาตุตัวนี้มีหน้าที่สำคัญในการเปลี่ยนอาหารคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมันเป็นพลังงาน การขาดแมกนีเซียมทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ เพลีย ไม่มีสมาธิ เบื่ออาหาร และซึมเศร้าได้

การวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาท์แธมป์ตันในประเทศอังกฤษ รายงานไว้ว่า ผู้ที่เป็นโรค CFS มีระดับแมกนีเซียมในเลือดต่ำ และการเสริมจะช่วยให้อาการและอารมณ์ดีขึ้น และยังอาจช่วยลดอาการหงุดหงิด วิตกกังวล และนอนไม่หลับด้วย วิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับโรค CFS คือ วิตามินอี และกรดโฟลิก การขาดวิตามินตัวใดตัวหนึ่งจะทำให้เกิดโรคโลหิตจางและอาการอ่อนเพลียได้ การขาดแร่ธาตุบางชนิด เช่น โซเดียม ซึ่งยากที่จะพบหรือการขาดโพแทสเซียมคลอไรด์และแมงกานีสก็ทำให้มีอาการเพลียและอ่อนแรงได้เช่นกัน

แร่ธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งอาจเกี่ยวข้องคือ สังกะสี ซึ่งมีหน้าที่ส่วนหนึ่งในการผลิตพลังงาน ควบคุมการทำงานของอินซูลินและระดับน้ำตาลในเลือด ในขณะที่การได้รับแคดเมียม ตะกั่ว และอะลูมิเนียมก็ทำให้เกิดอาการเพลีย เซื่องซึม ไม่มีแรงได้เช่นกัน




 

Create Date : 13 กันยายน 2549    
Last Update : 13 กันยายน 2549 11:07:08 น.
Counter : 2452 Pageviews.  

ข้อแนะนำทางโภชนาการ

วิธีที่ดีที่สุดคือ การบริโภคอาหารให้หลากหลาย และให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนอย่างสมดุล จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ทำให้ระบบภูมคุ้มกันแข็งแรงขึ้น นักโภชนาการแนะนำให้กินอาหารไขมันต่ำ กากใยสูง มีพลังงานและโปรตีนเพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ กินผักผลไม้ให้มากขึ้นเพื่อให้ได้สารแอนติออกซิแดนท์เพิ่มขึ้น ไม่งดอาหารเช้า กินทุกๆ 3 – 4 ชั่วโมงเป็นมื้อเล็กๆ และเสริมวิตามินและแร่ธาตุที่มีแมกนีเซียม เช่น วิตามินรวม

นอกจากนี้ควรดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อป้องกันการขาดน้ำ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการเพลียได้ จำกัดเครื่องดื่มกาเฟอีน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอาหารที่มีน้ำตาลมาก พักผ่อนให้เพียงพอ รู้จักหลีกเลี่ยงความเครียด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยรักษากล้ามเนื้อ ระบบเผาผลาญ และเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกายในการต่อต้านโรคเหนื่อยล้าเรื้อรัง

ที่มา: คลินิกสุขภาพ (อาหารบำบัดโรค)p>




 

Create Date : 13 กันยายน 2549    
Last Update : 13 กันยายน 2549 11:18:31 น.
Counter : 289 Pageviews.  

 
 

kwancheewaa
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Glitter Graphics, Myspace Glitters, Myspace Graphics from Dollielove.com
[Add kwancheewaa's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com