OT :: FAQ
 ##FAQ คำถามที่พบ

รวบรวมจากกระทู้ที่เคยเห็นน้องๆ โพสถามไว้จากที่ต่างๆ

1. คือ ต้องรักษาพวกผู้ผิดปกติ เช่น เด็กออทิสติก คนแก่ คนพิการ ให้ใช้ชีวิตได้ปกติเหรอครับ แล้วแบบนี้จะได้ใช้ความรู้พวกหมอเหรอครับ แล้วจบไปจะมีงานแน่หรอ เพราะพวกนี้นักกายภาพบำบัดก็ทำได้นี่

แล้วมันมีเปิดแค่ 2 ที่ คือ เชียงใหม่ กับ มหิดล ใช่ไหมครับ ทำไมรับน้อยจังเลยอ่ะ ไหนบอกอาชีพนี้ขาดแคลน


ตอบ ได้ใช้ความรู้ทางการแพทย์แน่นอนค่ะ เช่น เราเรียนโรคของเด็ก เวลาหมอส่งคนไข้มา จะระบุโรคไว้ด้วยทีนี้น้องก็ต้องรู้ว่าน้องเค้าเป็นโรคอะไร เกิดจากอะไร แล้วจะมีปัญหาอะไรบ้าง ก็จะนำไปสู่แนวทางการบำบัดทาง OT ว่าน้องจะบำบัดยังไง แต่ละโรคก็บำบัดไม่เหมือนกันนะคะ
เช่น  Autistic - ลงลึกไปถึงการปรับระดับการรับความรู้สึก ก็ต้องรู้ว่าเด็กผิดปกติในส่วนไหนบ้าง
       Delayed Developmental - กระตุ้นพัฒนาการ

       คนไข้ Hand - บาดเจ็บ nerve ไหน ต้องผ่านกายวิภาคมาก่อนจะได้รู้ว่า nerve นี้อยู่ตรงไหน บาดเจ็บแล้วเกิดผลอย่างไร แล้วจะ treat คนไข้ต่อไปยังไง

       คนไข้ stroke - บาดเจ็บที่สมอง สมองส่วนไหน โดนส่วนควบคุมการพูดหรือไม่ อ่อนแรงตรงไหน กล้ามเนื้อมัดไหน (ก็ยังต้องผ่านกายวิภาพ) ยังละเอียดอีกมากก ก ก ก ก

       คนไข้กลืน - หมอจะระบุมาว่าเค้ากลืนไม่ได้เพราะอะไร เส้นเสียงเหรอ เนื้องอกเหรอ อ่อนแรงเหรอ เราก็ต้องมาคิดแล้วว่ามันอยู่ตรงไหน แล้วตรงนั้นจะไปกระทบอะไรบ้าง เช่น ปิดไม่สนิท กำลังไม่พอ

       เวลาทำคนไข้ๆ อาจมีอาการหยุดหายใจ ความดันโลหิตขึ้น-ลง น้องต้องรู้ระบบสรีรวิทยา ว่าเกิดจากอะไร และจะรับมือยังไง ยังไงเรียกว่าหยุดหายใจ(มีหลายแบบนะ)


เป็นต้นค่ะ :)

ทำไมรับน้อยจัง เห็นบอกว่าขาดแคลน - วิชาชีพนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในประเทศไทย ในกลุ่มของประชาชนทั่วไป แต่ถ้าแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจะรู้จัก อาจารย์จบน้อยและมากกว่า 90กว่าเปอร์เซ็นต์จบต่างประเทศค่ะ ขอ requirement สูงมากๆ ฉะนั้นการจะหาอาจารย์หายากมากเลยค่ะ เช่น จบปริญญาเอก มีคะแนน toefle, ielts พ่วงท้าย (จำไม่ได้ว่าเท่าไหร่แต่สูงพอตัว) มีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า X ปี,  เพื่อคงมาตรฐานไว้จึงยังไม่รับไม่มาก เพื่อให้มีอัตราส่วนของ อาจารย์:นักศึกษา เหมาะสม ดูแลอย่างทั่วถึง

ตอบให้หายข้องใจว่า กายภาพบำบัดก็ทำได้นี่
กายภาพบำบัดทำเด็กพิเศษไม่ได้นะคะ ทำได้แต่เด็ก CP (cerebral palsy) และกายภาพบำบัดจะมีหน้าที่ฝึกเดินให้แก่คนไข้ และอย่างอื่นอีกที่ไม่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการเด็ก ไม่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อมัดเล็ก และก็ทำคนไข้จิตเวช คนไข้อัลไซเมอร์ คนไข้ Hand คนไข้กลืน สิ่งเหล่านี้ทำไม่ได้

งานค่อนข้างแตกต่างกัน แต่ทำงานร่วมกันค่ะ กายภาพก็จะมีสาขาแยกไปอีกมีเกี่ยวกับนวด สปา และก็อย่างอื่นอีกค่ะ


นี่เป็นคำุถามจากน้องที่ส่งแมสเสจมาถามหลังไมค์ ตอบแบบไม่กั๊กๆ เลยนะคะ ;) จากน้อง allisyours ยาวมากแต่เป็นคำถามที่มีประโยชน์มากนะ

2. หนูเห็นในกระทู้นึงที่พี่เข้าไปตอบว่าจบไปจะเป็นนักกิจกรรมบำบัด ซึ่งหนูสนใจคณะนี้มากๆค่ะ อยากทราบว่าพี่เรียนที่ไหนหรอคะ แล้วเรียนเป็นอย่างไรบ้าง มีความสุขหรืออุปสรรคอย่างไรบ้างน่ะค่ะ ขอบคุณล่วงหน้าที่ตอบคำถามนะคะ

ตอบ พี่เรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะเทคนิคการแพทย์ สาขากิจกรรมบำบัดจ้ะ ตอนนี้อยู่ปีสี่กำลังจะจบแล้ว ตอนนี้พี่จบแล้ว ทำงานแล้วค่ะ :)
มีความสุขทั่วไปเหมือนชีวิตเด็กมหาลัยจ้ะ
อุปสรรคเหรอเรื่องเรียนก็เนื้อหาเยอะหน่อย เพราะเราต้องเรียนตัวแพทย์ด้วย พี่เคยเขียนกระทู้นี้ไว้ลองเข้าไปอ่านดูนะจ้ะ  //www.dek-d.com/board/view/2448829/ แต่เค้าช่วยกันเรียน เพื่อนเก่งๆ ก็มาช่วยติวเพื่อนไม่เก่ง รุ่นพี่มาติวให้บ้าง รุ่นพี่บอกแนวข้อสอบบอกแนวอ่านหนังสือ

กิจกรรมบำบัดจะเน้นการฟื้นฟูให้คนไข้กลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เราส่งเสริมให้เค้าใช้ความสามารถของตัวเองดูแลตัวเอง พึ่งพาคนรอบข้างให้น้อยที่สุด เราจะเด่นเรื่องเด็กออทิสติก (และอีกสารพัดเด็ก) คนไข้กายเราจะเด่นเรื่องการใช้แขนและมือทำกิจกรรม
เรียนไม่ยากค่ะ ยากสุดก็ตัวแพทย์ อาจารย์ใจดีทุกคน แต่ก็ผ่านมาได้ทุกคน ถ้าน้องแอดมิชชั่นติดก็เรียนผ่านอยู่แล้วจ้ะไม่ต้องห่วง

หลักสูตรอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ยังเรียน anatomy, neuro, physio เหมือนเดิม
ส่วนตัวคณะก็มีทำ splint (อุปกรณ์ดาม), kinetic (จลศาสตร์การเคลื่อนไหว) ฯลฯ


3. แล้วโอกาสต่อยอดสูงมั้ยคะ ในทางวิชาชีพ
แล้วความยากแบบว่าเป็นอะไรที่ต้องเรียนไม่สามารถ มาเสริมได้อะไรแบบนี้หรอคะ(จากที่หนูอ่านตามเว็บต่างๆเหมือนว่าเป็นหลักการพื้นฐานในการพยายามทำให้ดำรงชีวิตอย่างปกติเท่าที่จะสามารถ นักกิจกรรมบำบัดต้องและนำให้เข้าใจง่ายเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจและปฏิบัติได้อย่างนี้หรือป่าวคะ หนูยังอยากรู้เกี่ยวกับความท้าทายต่างๆในการทำงานถ้าพี่พอรู้ก็ช่วยบอกหน่อยนะคะ ) แล้วพี่สอบใบประกอบโรคศิลป์ยังคะแล้วสอบยากแค่ไหน

หนูอยากเรียนเพราะคิดว่าอยากรักษาคนไข้ คนในครอบครัว ที่มีปัญหาพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ไม่ต้องเย็บผ่าตัดให้ยาอะไรแบบนี้น่ะค่ะ
และนำรายได้นี้เป็นหลักเพื่อเลี้ยงพ่อแม่และครอบครัวค่ะ
หนูเห็นว่าสาขานี้ยังเป็นที่ต้องการอีกมาก แต่ประเด็นสำคัญคืออยากทำอาชีพนี้เพราะตรงกับบุคลิกเราค่ะ

ทีนี้มหาลัยที่เปิดมีสองที่คือ มช กับ มหิดล จริงๆหนูอยากต่อ มช มากเลยค่ะเพราะเปิดนานคิดว่าเชี่ยวชาญและพร้อมกว่า แล้ว มช มีทุนไปเรียนต่อต่างประเทศเยอะหรือป่าวคะ ? ส่วนใหญ่จบไปทำงานที่ไหนกัน ?
แต่ว่าหนูอยู่กทม.เลยคิดหนักอยู่เหมือนกันเรื่องการเดินทาง แต่ถ้าคุณภาพหรือโอกาสในการก้าวหน้าทางอาชีพของทาง มช สูงกว่า หนูก็จะไป มช ค่ะ อยากทำให้เต็มที่เลยค่ะ


ตอบ ::แล้วโอกาสต่อยอดสูงมั้ยคะ ในทางวิชาชีพ
- น้องสามารถเรียนต่อสาขากิจกรรมบำบัด (ป.โท - เอกได้), กายวิภาคศาสตร์, สรีรวิทยา, พัฒนาการเด็ก, จิตวิทยา, บริหารธุรกิจ เรียนได้หมดค่ะ ถ้าน้องเก่งภาษาอังกฤษมากๆ ก็จะสามารถไปทำงานที่เมืองนอกได้ และพี่เคยมีโอกาสได้ไปดูงานที่สิงคโปร์
เค้ายังต้องการอีกมากค่ะ  เคยร่วมโครงการช้างบำบัดเจอนัก OT (Occupational Therapist) จากอเมริกา เค้าก็ยังต้องการอีกมาก (แต่เราติดตรงที่ความสามารถของภาษา เราอาจจะ conversation ได้นะคะ แต่แบบ professional ยังไม่พอ บางทีเราต้องทำงานเอกสารควบคุมไปด้วย อ่านชาร์ทเขียนชาร์ทคนไข้ ประชุมทีม)

น้องสามารถรับ case home ทั้งกายทั้งเด็กได้ หรืออยากจะไปเป็นครูการศึกษาพิเศษ หรือถ้าอยากจะไปเปิดแผนกตามชุมชนก็ได้ค่ะ

::ความยากของงานกิจกรรมบำบัด คือ การที่เราวิเคราะห์ปรับเปลี่ยนกิจกรรมการฝึกให้ผู้ป่วย กิจกรรมหนึ่งอย่างสามารถรักษาคนไข้ได้หลากหลาย
- ความท้าทายของงานนี้คือการที่ต้องครีเอทกิจกรรม ไม่ว่าจะคนไข้กายหรือเด็กหรือจิตหรือผู้สูงอายุ หลังๆก็จะเจอครีเอท splint ด้วย
การปรับอุปกรณ์ช่วย, การปรับสภาพบ้านของผู้ป่วยก็เป็นงานของเรา เราต้องคิดว่าจะทำยังไงที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากที่สุด
มันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ คนอื่นอาจจะมองดูเหมือนมันง่าย แต่คนที่ไม่ได้เรียนเค้าไม่เข้าใจจริงๆ เค้าไม่รู้ว่าทำไมถึงให้กิจกรรมนี้รักษาผู้ป่วย

ถ้าจะให้มองภาพง่ายๆ น้องคิดว่าผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตที่เค้าขยับแขนไม่ได้เลย แต่เราทำให้เค้าสามารถตักข้าวกินเอง ดื่มน้ำเองได้ โดยไม่ต้องมีคนคอยดูแล น้องคิดว่าจากสภาพที่ดูแลตัวเองไม่ได้ เราช่วยเค้าได้ขนาดนี้ พอจะท้าทายความสามารถของน้องมั้ยคะ ^___^
หรือเด็กออทิสติก ที่เค้าอยู่แต่ในโลกของตัวเอง น้องจะช่วยเค้ายังไงดีคะ ที่ให้เค้าสนใจสิ่งแวดล้อม สนใจพ่อแม่ ทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง  (ถ้าน้องได้มาเรียนจริง จะเจอคนไข้อีกหลายประเภทมากค่ะ รวมถึงผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืน เด็กแรกคลอดกระตุ้นกลืน)

ตอบ  :: แล้วพี่สอบใบประกอบโรคศิลป์ยังคะแล้วสอบยากแค่ไหน
- ยังไม่ได้สอบค่ะ สอบเดือน มิ.ย ใกล้จะสอบแล้วค่ะ (มีสองส่วนคือส่วนความรู้, กฎหมาย)

:: เป็นความคิดที่ดีค่ะที่เราอยากเรียนเพื่อดูแลครอบครัว เป็นพื้นฐานทางด้านจิตใจที่เราอยากจะดูแลคนอื่น อีกหน่อยน้องก็จะอยากดูแลคนอื่นด้วยค่ะ ^__^

:: ในประเทศเปิดแค่ 2 แห่ง พี่ว่าแล้วแต่น้องสะดวก แต่ทางมหิดลเค้าก็มีข้อดีของเค้านะคะ ไม่ว่าน้องจะเรียนที่ไหนก็เป็นรุ่นน้องกิจกรรมบำบัดเหมือนกัน ดีค่ะช่วยกันขยายงาน ทำให้โอทีเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น แต่ละสถาบันก็มีจุดเด่นของตัวและมีความภาคภูมิเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะจบจากที่ไหนเราก็เป็นครอบครัว OT รักกันไว้นะคะ เรามีกันน้อยๆ อยู่ ^_^  คุณภาพของมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งมีมาตรฐาน เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่เด่นเรื่องสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ คุณภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันค่ะ อาจารย์ทั้ง2 แห่ง 90% สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศนะคะ
- มช. อาจารย์มากประสบการณ์ เปิดมามากกว่า 30 ปี แหล่งฝึกงานทางภาคเหนือตอนบนมีมาก กิจกรรมรับน้องเยอะ
อาจารย์ใจดี เด็กมช นอบน้อม อาจารย์มีโครงการต่างๆ มาให้ นศ.ที่สนใจช่วยทำ (โครงการช้างบำบัด, โครงการศิลปะบำบัด, ดนตรีบำบัด ฯลฯ)  
มีดูงานที่ต่างประเทศ (ที่สิงคโปร์ มีแพลนว่าจะขยายไปประเทศอื่นในแทบไต้หวัน แต่ไม่รู้เมื่อไหร่) แล้วถ้ายิ่งน้องได้ภาษาน้องก็จะได้ไปเป็น นศ.ช่วยงานอาจารย์ต้อนรับโอทีจากเมืองนอกมาดูงานบ้างไรบ้าง ทางเหนือมีฝึกเด็กเยอะ เป๊ะเด็ก

- มหิดล ได้งบประมาณสนับสนุนเยอะ หลายตัววิชามีอาจารย์จาก มช บินไปสอนค่ะ เพราะว่ายังมีอาจารย์น้อย แต่ก็ใส่ใจนักศึกษามากๆเลยนะคะ ได้ยินว่ามีฝึกงานที่ต่างประเทศด้วยนะ (พี่อยากไปมาก T^T) เน้นวิชาการและค่อนข้างจะใช้ภาษาอังกฤษ (พี่ชอบมากเพราะพี่ชอบภาษาอังกฤษ อิอิ) แหล่งฝึกงานมีไม่มาก และต้องเดินทางไปกลับในตัวกรุงเทพ - ศาลายาบ่อยๆอย่างเหนื่อย (เด็กมหิดลเล่าให้ฟัง) ได้ยินแว่วมาว่าเด็กมหิดลเป๊ะฝ่ายกาย (พี่มหิดลสามารถแนะนำเพิ่มได้นะคะ)

:: เรื่องทุนเรียนต่อ ไม่มีประกาศจากคณะ ส่วนใหญ่ถ้าน้องเก่งภาษาอังกฤษ อาจารย์จะทาบทามให้กลับมาสอบชิงทุนไปเรียนต่อ (มช นะ)
พี่ก็โดนถามเหมือนกัน  แต่มหิดลพี่ไม่ทราบค่ะ

:: ส่วนใหญ่ทำงานที่ไหน
- จบใหม่จะไปทำเอกชนค่ะ เพราะว่าเรายังไม่ได้สอบใบประกอบ ของสาขากิจกรรมบำบัดจะสอบช้าหน่อย พอได้ใบประกอบแล้วค่อยไปสมัคร รพ.รัฐ มีไปเมืองนอกน้อยมากๆ (เพราะภาษาไม่ถึง แต่ก็มีรุ่นพี่ปีแก่ๆ ไป เค้าอยู่แคนาดา ก็กลับมาพูดให้ฟัง) แต่พี่คิดว่าพอเปิดอาเซียนก็น่าจะทำเรื่องง่ายขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถทางภาษา (ซึ่งพี่ก็เรียนพิเศษเพิ่มตลอด ผ่าอาจารย์ใหญ่เสร็จ ก็บึ่งรถไปสปี้กอิงลิช) เปิดเทอมใหม่แบบของ ASEAN คงจบแล้วสอบใบประกอบพอดี

:: เรื่องการทำงาน ไม่มีแบ่งแยกว่ามาจาก มช. หรือ มหิดลค่ะ
- ตอนนี้เค้าเริ่มรับสมัครงานแล้ว พี่ไม่เห็นความเลื่อมล้ำว่าจบโอทีที่ไหนมีเปอร์เซ็นได้งาน ได้งานทุกคนค่ะ ไม่เลือกสถาบัน

OT มช กับมหิดล มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันค่ะ

ถ้าเรียน มช. ก็จะดีตรงที่อากาสดี หอคณะสร้างเสร็จใหม่ๆ เลย
คณะกำลังจะทำห้องเรียนใหม่ด้วยค่ะ smart room ไรซักอย่าง (ยังไม่ได้ใช้เลย T^T)

4. หนูขอรบกวนพี่อีกสักนิดนะคะ ขอบคุณล่วงหน้านะคะ
หนูอยากทราบว่าเงินเดือนของนักกิจกรรมบำบัด สามารถอัพได้หรือป่าวคะถ้ามีประสบการณ์/ย้ายงาน/ทำมานาน อ่ะค่ะ
แล้วข้อเสียของอาชีพนี้คืออะไรบ้างคะในความคิดของพี่ ขอบคุณค่ะ


ตอบ  เงินเดือนขึ้นค่ะทุกปี เหมือนอาชีพอื่นๆ ทั้งรัฐทั้งเอกชน แค่เรทแตกต่างกัน
ข้อเสียของอาชีพไม่มีนะคะ ยกเว้นคนส่วนใหญ่เท่าไปยังไม่รู้จัก OT และเข้าใจบทบาทของOTแบบผิดๆ จะมีข้อเสียตรงที่หน่วยงานที่เราจะได้ไปทำ มันเป็นเรื่องของโชคชะตาว่าน้องจะได้เข้าไปทำงานในที่ทำงานที่พร้อมขนาดไหน เพื่อนร่วมงานเป็นยังไง ซึ่งเป็นเรื่องของตัวเราที่ต้องปรับตัว ปรับทัศนคติให้อยู่ร่วมกับเค้าได้ค่ะ (โดยเฉพาะเด็กจบใหม่) ทุกที่มีปัญหาหมดค่ะ ไม่ว่าเราจะทำงานอะไร (เป็นหมอ พยาบาล ออแกไนซ์ บัญชี ฯลฯ) ที่ไหนกับใคร ไม่เรื่องงานก็เรื่องคน



Create Date : 31 พฤษภาคม 2557
Last Update : 1 มิถุนายน 2557 12:46:53 น.
Counter : 6415 Pageviews.

1 comment
OT CMU


สาขากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Occupational Therapy : Faculty of Associated Medical Science, Chiangmai University


ระหว่างที่น้องๆ เรียน OT อยู่ภายใต้รั้ว มช. แห่งนี้
ก็จะมีกิจกรรมมากมายให้น้องได้ร่วมทำกับเพื่อนๆ กับอาจารย์ กับมหาวิทยาลัย

อยากจะเชิญชวนน้องๆ บ้านอยู่ไกล มาเรียนกันเยอะๆ
เดี๋ยวนี้โปรตั๋วเครื่องบิน กรุงเทพ - เชียงใหม่ ถูกๆ เพียบบบบบ
ส่วนใหญ่จะมีแต่เด็กเหนือเรียน แต่จริงๆ น้องๆคนไหนเรียนก็ยินดีอย่างยิ่งจ้าาาาา

หากใครบ้านอยู่ไกลไม่ต้องกลัวว่าน้องๆ จะกินอยู่ลำบาก
จะไม่มีใครดูแล เชียงใหม่บ้านนอกมั้ย ลูกจะเหงารึปล่าว
ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เรามีคาราวานประเพณีดูแลลูกท่านกันจบครบปีเลยทีเดียว เริ่มด้วย...

1. รับน้องรถไฟ (ไม่ต้องกลัวไม่ถึง)
https://www.youtube.com/watch?v=sKpJIdcJhmo

2. รับน้องขันโตก (ไม่ต้องกลัวอดตาย)

3. รับน้องขึ้นดอย (ไม่ต้องกลัวเหงา พี่ๆ เพื่อนๆ จะช่วยน้องๆแน่นอนค่ะ)
//pantip.com/topic/30692605
https://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=ALa0slvV3dc
https://www.youtube.com/watch?v=YyFNrTWYUvg

ทั้งหมดนี้หาอ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บไซด์เด็กดี

4. รับน้องคณะ รับน้องเมเจอร์ รับน้องจังหวัด มากมายก่ายกอง
เอาล่ะค่ะ คราวนี้เป็นงานฟิตร่างกายล้วนๆ และจะทำให้รู้จักการแบ่งเวลา ไม่ต้องกลัวว่าจะโหด ไม่มีตบตีทำร้ายร่างกาย ถึงเนื้อถึงตัวไม่มีค่ะ เพราะมีอาจารย์คอยดูแลอยู่ค่ะ


นิดนึง:: ปีหนึ่งทุกคน (ไม่จำเป็น) ต้องอยู่หอใน แต่พี่บอกเลยว่า อยู่เถอะค่ะ มันสนุกมากกกกกกกกกก ได้เพื่อนเยอะเลย ได้เรียนรู้การปรับตัว ได้รู้ว่าคณะอื่นๆ เป็นยังไง ถ้าได้รูมเมทขยันก็จะคอยปลุกเราให้อ่านหนังสือค่ะ อิอิ ที่สำคัญที่สุดปลอดภัยยยย

ปีสอง น้องๆ ต้องย้ายหอออกมาอยู่ข้างนอก หรือจะไปอยู่หอพักฝั่งสวนดอกก็ได้ค่ะ (สร้างใหม่ด้วยแหละ มีทั้ง Top supermarket, ร้านกาแฟอยู่ข้างล่าง เป็นหอรวมหลายคณะฝั่งวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เจอหนุ่ม-สาว ทันตะ เภสัช แพทย์ ไม่ต้องกลัวอดตาย ทั้งอาหารท้องและอาหารตา คริคริ) (สำหรับคณะเรานะคะ ปีหนึ่งเรียนในมอ ปีสองเป็นต้นไปจะเรียนฝั่งสวนดอก ซึ่งจะเป็นที่ตั้งของ รพ. และคณะทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ค่ะ)

เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่เจริญและเป็นสังคมเมืองไปแล้ว มีห้างสรรพสินค้าเปิดใหม่เยอะมากกกกกกก ร้านกาแฟน่ารักๆ เป็น100กว่าร้านย่านถนนนิมมานต์ ร้านบุฟเฟ่ต์ ร้านเค้ก ร้านเสื้อผ้าหน้ามอหลังมอ เดินทางง่ายมากจะนั่งรถแดง จะซ้อนมอไซด์เพื่อน จะรถบริการของมช.ก็ได้ ร้านอาหารหน้ามอหลังมอเพียบ โดยเฉพาะหลังมอ 24 ชม.เลยค่ะ

ระหว่างที่น้องๆ เรียนอยู่ 4 ปีนี้นะคะ
ก็จะมีสายรหัส หรือพี่รหัสคอยเทคแคร์ให้คำปรึกษา พาไปเลี้ยงข้าว แนะนำเรื่องเรียน ขนชีทเก่าๆ มาให้ โน่นนี่นั่น มีสายเทค(เปรียบเสมือนบ้านใกล้เรือนเคียง) พาไปเลี้ยงอีก เรียกว่าไม่มีอด

เรื่องกินผ่านไปแล้ว มาเรื่องกิจกรรมในคณะดีกว่า (แบบมีประโยชน์)
ระหว่างที่เรียนกิจกรรมบำบัดน้องก็จะได้
  1. ไปออกชุมชน ประเมินพัฒนาการเด็ก คัดกรองภาวะสมองเสื่อม ซึ่งทางคณะจะเป็นผู้จัดรถรับส่งให้ และมีเบรค มีอาจารย์คอยตามไปดูแลด้วยค่ะ จบแล้วก็ได้เกียรติบัตรด้วยนะเออ
  2. โครงการช้างบำบัด และโครงการอื่นๆ ของอาจารย์   ดูรูปเพิ่มได้ที่ //pantip.com/topic/30507752
  3. โครงการดูงานต่างประเทศ อย่างของปีพี่ไปประเทศสิงคโปร์ ไปดูว่า OT ที่เมืองนอกต่างจากของเรายังไง ในอนาคตก็จะมีประเทศอื่นๆ ด้วย (ออกค่าใช้จ่ายเอง)
  4. โครงการต้อนรับ OT ต่างชาติ เราไปบ้านเค้า เค้ามาบ้านเรา น้องๆ คนไหนที่พูดภาษาอังกฤษเก่งๆ ก็จะได้มาเป็นไกด์เทคแคร์เค้า ได้เพื่อนเพิ่มด้วยนะ ^___^

ภาษาเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราโดดเด่นจากคนอื่นนะคะ และเป็นใบเบิกทางอีกด้วย ผู้ปกครองควรให้การสนับสนุน และน้องๆ เองถ้าชอบก็ขวนขวายได้นะคะ เป็นมิตรไว้เถิด AEC มาแล้วนะ โรงเรียนเรียนภาษาอังกฤษในเชียงใหม่มีเยอะแยะมากกกกก หาเรียนได้ง่าย


รับรองว่าไม่เบียดเบียนเวลาเรียนของน้องๆ แน่ค่ะ เพราะส่วนใหญ่จะนัดวันเสาร์ อาทิตย์ และช่วงเวลาไม่ยาวเกินไป และส่วนใหญ่จะงดกิจกรรม 2 อาทิตย์ก่อนสอบ midterm และ final นี่เป็นนโยบายทางมหาวิทยาลัยสั่งลงมาเลยนะเนี่ยยยยยยย!!! และทั้งหมดนี้เป็นความสมัครใจของน้องๆ เองนะคะ ไม่มีการบังคับ ไม่มีผลต่อเกรด ส่วนใหญ่ก็อยากทำกันหมด เพราะอยากได้ความรู้กันน่ะค่ะ :)

แต่พี่อยากแนะนำนิดนึงนะคะ การทำกิจกรรมกับอาจารย์ การที่เรามีความสามารถพิเศษ จะทำให้เราเป็นที่รู้จักของคนส่วนมากและของอาจารย์ ทำให้เรามี connection เยอะ และมันจำเป็นมากนะถ้าหากเราจะไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งเราต้องใช้จดหมายแนะนำตัวจากอาจารย์ 


ระหว่างที่เรียนการทำกิจกรรมเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องแบ่งเวลาเรียนด้วยนะคะ

ถึงแม้ว่าสายที่เราเรียนเวลาไปทำงานเค้าไม่สนใจจะดูเกรด แต่ก็เป็นตัวบอกความรับผิดชอบของน้องได้ในระดับหนึ่ง  และถ้าน้องๆอยากเรียนต่อเกรดจะเป็นตัวที่ทำให้น้องได้เข้าเรียนต่อหรืออาจไม่ได้เข้า ก็อยากฝากไว้นิดนึงนะคะ และยิ่งถ้าสนใจจะเรียนต่อเมืองนอกแล้วนอกจากเกรดที่ไม่ดูน่าเกลียดจนเกินไป น้องก็ยังต้องมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์มีประโยชน์ต่อส่วนรวม โปรไฟล์ของน้องถึงจะได้ดูน่าสนใจ


บอก(เกือบ)หมด ไม่มีกั๊กเลยนะเนี่ย  จบแล้วค่ะ ...


ขอบคุณที่ติดตามกันนนะคะ

ใครมีอะไรอยากเพิ่มเติม หรือสงสัย พี่ยินดีที่จะตอบทุกคำถามค่ะ



>> มีต่อ "OT FAQ"




Create Date : 31 พฤษภาคม 2557
Last Update : 1 มิถุนายน 2557 17:52:35 น.
Counter : 2864 Pageviews.

0 comment
OT กับงาน น น น น น


ห่างหายไปนานเลย วันนี้กลับมาอัพเดทกันนิดนึง
ตอนนี้อยู่ในช่วงพักสายตาจากการอ่านหนังสือสอบใบประกอบโรคศิลปะ
แน่นอนว่าน้องๆ ต้องได้สอบหลังจากที่เรียนจบปี4 แล้ว
และก่อนจบปี4 ก็จะมีการอบ comprehensive คือการสอบประมวลความรู้ทั้งหมดก่อนจบค่ะ


::Work Place
ไม่ต้องกลัวว่าเรียนสาขานี้จะตกงาน ถ้าหากน้องๆ ไม่เลือกงาน
มีงานทั่วประเทศไทยเลยค่ะ (เราเลือกไปเองนะคะ สาขานี้ไม่มีใช้ทุนค่ะ) ทั้ง...
  • รพ.รัฐ (ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจัดสรรตำแหน่งอะไรมา และรพ.ประกาศรับตำแหน่งอะไร เช่น ลูกจ้างชั่วคราว, พนง.ราชการ, ข้าราชการ)
  • รพ.เอกชน
  • ศูนย์การศึกษาพิเศษ
  • ไฟท์เปิดแผนกใน รพ. ใกล้ๆ บ้านก็ได้
  • ไปต่างประเทศ
อยากเติบโตหน่อยก็ไปทำงาน ตจว หาประสบการณ์ซัก 2-3 ปีค่อยกลับบ้านก็ยังทัน
เอ๊ะ! จะเข้า AEC แล้วนี่นา ไปทำงานต่างประเทศก็ได้นะเออ แต่ว่าคงต้องฟิตภาษากันหน่อยและเก็บประสบการณ์อีกนิดนะจ้ะ



แปะไว้อีกครั้ง!!!

อาชีพที่ติดอันดับ 7 ที่ทำแล้วมีความสุขในอเมริกาด้วยนะคะ //www.dek-d.com/board/view/2753658/   และยัง

ติดอันดับของ Forbes ให้เป็น 10 สาขาอาชีพด้านสุขภาพที่มาแรงรายได้ดีใน USA อีกด้วย //www.wegointer.com/2013/12/forbes-%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A-10-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2/#.U13qujtjjtk.facebook)


::เงินเดือน
ไม่พูดก็ไม่ได้ ทำงานได้เงินเยอะมั้ย ก็เรียกว่าพอมีพอใช้ดีกว่าค่ะ
รู้จักใช้ รู้จักเก็บ รู้จักประมาณตนก็ไม่อดตาย
เหมือนกับสาขาอื่นๆ ทั่วๆไป มีเงินเดือน + ค่าใบประกอบ + โน่นนี่นั่น
ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เราทำอีกที (กรณีทำงาน รพ.รัฐ)
   >> รัฐบาล 15,000++ บาท (แล้วแต่ตำแหน่ง บางที่อาจจะได้ไม่ถึง) ค่าใบประกอบ ค่าล่วงเวลา
   >> เอกชน(ทุกที่) เงินเดือน 15,000+ บาท +ค่าใบประกอบอีก 3000 - 4000 บาท (แล้วแต่ที่) +ค่านอกเวลา (เหยียบๆ 20000+)

เวลาเราทำงานประสบการณ์มากขึ้น เค้าก็ปรับเงินเดือนให้เราทุกปีนะคะ ไม่ว่าจะหน่วยงานไหนรัฐหรือเอกชน ไม่อยากให้มองแค่ที่สตาร์ทเงินเดือนอยากให้มองไปไกลๆ เช่น การเติบโตของตลาดงาน การต่อยอด งานล่วงเวลา การเติบโตของเงินเดือน เป็นต้นค่ะ

ใครจะพูดว่าอยากให้มาเรียนเพราะใจรัก ฟังดูก็อาจจะโลกสวยไปหน่อย คนเรามันต้องกินต้องใช้
ทำงานเหนื่อยแทบตาย ก็อยากให้ค่าแรงมันสมน้ำสมเนื้อสักหน่อย แต่ก็อยากให้เข้าใจว่ามันเติบโตขึ้นตามค่าประสบการณ์ และอีกอย่างอยากขอเน้นย้ำจริงๆ ว่า "วิชาชีพทางการแพทย์มีเสน่ห์อย่างหนึ่ง คือ ช่วยขัดเกลาจิตใจของคน"  พอเราได้สัมผัสเราจะนึกถึงจิตใจของผู้อื่นมากขึ้นค่ะ :)


::การรับสมัครงาน
ใกล้จบจะมีรุ่นพี่มาแนะนำ มาชักชวน ที่คณะจะมีแฟ้มประกาศตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครจาก รพ.ต่างๆก็ไปขออาจารย์ดูเอาล่ะกันนะ มีเพจของ OT ไว้ประกาศหางานโดยเฉพาะ บางคนก็มีพี่รหัสมาชวน หรือตอนไปฝึกงานก็อาจจะมีพี่มาทาบทามเรื่องงานก็ได้นะ เรื่องของเว็บไซต์พอน้องๆ เข้ามาก็จะรู้เองค่ะ จะมีคนมาแนะนำอีกทีนะคะ




>> มีต่อ "OT CMU"




Create Date : 31 พฤษภาคม 2557
Last Update : 22 เมษายน 2558 22:43:06 น.
Counter : 2554 Pageviews.

0 comment
OT เรียนอะไร?


กิจกรรมบำบัดใช้เวลาเรียน 4 ปี
(ในที่นี้ขออ้างอิงจากที่ มช นะคะ แต่คิดว่าคงไม่แตกต่างกับมหิดลมากนัก ||
พี่ๆ OT มหิดลคนไหนอยากจะร่วมแบ่งปัน ยินดีนะคะ) คนที่จะมาเรียนสาขากิจกรรมบำบัดได้ต้องจบสายวิทย์-คณิตมาเท่านั้นค่ะ


หลักสูตรปีของพี่ กับหลักสูตรรุ่นน้องอาจมีเปลี่ยนแปลง (ไม่ต่างกันมาก)
ปี 1  วิชาพื้นฐานทั่วไป (ชิวสุดๆ ชิวมากๆ เก็บเกรดไว้เยอะๆล่ะ)
ชีววิทยา, จิตวิทยา, ภาษาอังกฤษ, วิชาเลือกเสรี, ตัวคณะพื้นฐาน
ดีใจด้วยค่ะ ไม่ต้องเรียนแคลคูลัส ไม่เรียนเคมี ไม่เรียนฟิสิกส์

ปี 2  เริ่มเข้าเนื้อหาตัวคณะมากขึ้น และมีสอบเยอะ (ต้องปรับตัวกันเยอะมาก อย่าประมาทนะ)-*-
กายวิภาคศาสตร์ (ตัวแพทย์ ท่องเยอะมาก) เทอมสองได้ผ่าอาจารย์ใหญ่
สรีรวิทยา (ตัวแพทย์) เนื้อหาเยอะมากและยาก
หลักสุขภาพจิต
พัฒนาการเด็ก (นี่ก็ท่องเข้าไปค่ะ เด็กกี่เดือนทำอะไรได้บ้าง)
การเคลื่อนไหว (Kinesiology)
เรียนการประเมินทางคลินิก (เครื่องมือ Goniometer แล้วอีกมากมาย ไว้มาเรียนนะ)
เรียนทำ Splint (หน้าตาก็ประมาณนี้ ถ้ามาเรียนก็จะเยอะกว่านี้ค่ะ)



ปี 3  เรียนทฤษฎีทาง OT ทั้งหมด, ฝึกงาน (ปี 3 อ่านหนังสือไม่ทัน อ่านไม่หวาดไม่ไหว T^T)
เรียนระบบประสาท (นิวโร ท่องไปค่ะเส้นประสาทเอย, สมองเอย)
วิชาของเด็ก (เกี่ยวกับเด็ก โรคเด็ก เยอะแยะมากมาย)
และวิชาอื่นๆ อีก
เรียกได้ว่าปี 3 เป็นปีที่อัดแน่นที่สุด โทรมสุด

ปี 4  เรียนน้อย ทำตัวจบ เน้นฝึกงาน



ระหว่างปี 2 กับปี 3 ก็จะมีแลปOT เป็นตัวปฏิบัติ
พอเรียนวิชาทฤษฎีช่วงเช้า ตอนบ่ายทำแลป
ไม่ยาก สนุก ได้ผ่อนคลายเพราะวิชาเนี้ยแหละ
เวลาทำแลปก็จะได้ใส่ชุดเหมือนชุดวอร์ม แรกๆอาจจะเขินหน่อย (เอ๊ะ! ชั้นเรียนมอปลายเหรอ)
 แต่หลังๆ ปี3-4 เอามาใส่กันตรึม (กายภาพก็ใส่นะสีชมพู OTสีฟ้า)
แทบไม่ใส่ชุด นศ. เพราะมันใส่สบายมาก และไม่ต้องรีด 5555
ปี3 กับปี 4 ก็จะได้ใส่เสื้อกราวน์ด้วยนะ (เค้าเปลี่ยนแบบใหม่ด้วย สวยอ่ะ อยากใส่) ;)


จบแล้วได้วุฒิอะไร - วิทยาศาสตร์บัณฑิต (กิจกรรมบำบัด)
ใครจะพ่วงเกียรตินิยมนี่ก็ต้องมานะกันหน่อย ส่วนพี่เกรดนิยมก็เพียงพอ


ยังมีวิชาอื่นๆ ที่เราต้องเรียน แต่พี่เลือกแต่ที่มันเป็นวิชาที่เค้าโจทก์ขานกันมา



"ปี 2 เป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อ เราเรียนหนักขึ้นมากกกกกกกกก"
สอบบ่อย และเป็นปีที่มีความเสี่ยงต่อเกรด F
ในวิชากายวิชาภาค, สรีรวิทยา (อยากรอดต้องอ่าน 2 รอบขึ้นไปนะค๊าาาา)
ถ้าน้องได้ F ต้องเรียนซ้ำ และจะจบช้า




ระหว่างที่น้องเรียนก็จะมีกิจกรรมทั้งของคณะบ้าง ของเมเจอร์บ้าง โครงการของอาจารย์บ้าง
โครงการใหญ่ของภาควิชาก็จะเป็น "โครงการช้างบำบัด" น้องๆทุกคนจะได้เข้าร่วมฟังบรรยาย
แล้วไปดูกันค่ะว่า เค้าใช้ช้างบำบัดเด็กพิเศษ ยังไง ;)





Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2557
Last Update : 25 ตุลาคม 2557 23:38:38 น.
Counter : 4247 Pageviews.

5 comment
OT ทำงานกับใคร...?

OT ทำงานกับใคร...??

อย่างที่บอกในหน้าก่อนๆ ว่าเราทำงานกับ ใครก็ได้ที่มีปัญหาการทำกิจกรรมดำเนินชีวิต
แต่เวลาเรียกจะมี main ใหญ่ๆ อยู่ 4 ประเภท

1. ผู้พิการทางกาย
- อัมพฤกษ์ / อัมพาตครึ่งซีก (ส่วนใหญ่ก็ผู้ป่วย Stroke)
- อัมพาต
- ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางสมอง Brain Injury
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางการกลืน
- คนไข้ Hand
- คนไข้ที่มีปัญหาการรับความรู้สึก (sensation)

2. เด็กพิเศษ
- ออทิสติก
- สมาธิสั้น (ADHD)
- Down's Syndrome
- ปัญญาอ่อน Mental Retardation (MR)
- พัฒนาการล่าช้า (Delayed Development)
- เด็กสมองพิการ (Cerebral Palsy: CP)


3. ผู้ที่มีความบกพร่องทางจิต (ผู้ป่วยทางจิตเวช, พิษสุราเรื้อรัง, โรคซึมเศร้า, ฯลฯ)
ถ้าโพสชื่อโรค อาจจะลึกไป ไว้มาเรียนกันเองดีกว่าค่ะ ^____^


4. ผู้สูงอายุ
- โรคซึมเศร้า
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาความจำ (Dementia, Alzheimer)

5. อื่นๆ (ไว้มาเรียนเองนะคะ)


การที่เราจะทำงานกับเด็กที่มีความพิเศษหรือไม่ว่าจะกับใครก็ตามไม่ง่ายเลยค่ะ น้องต้องใช้ความอดทนอย่างมาก และจากการพี่ได้เรียนกิจกรรมบำบัด ทำให้พี่กลายเป็นคนใจเย็นลงมาก จากที่ไม่ชอบอยู่กับเด็กกลับอยู่กับเด็กได้ จากที่ไม่เคยชอบคนแก่กลับชอบคนแก่ จากเวลาที่เราจมอยู่กับความทุกข์ของตัวเองพอเวลาที่เราเจอคนไข้เรากลับลืมเรื่องทุกข์ของเรา

พี่เคยเลือกเพราะอยากจบมามีงานทำ พอเริ่มเรียนก็งงๆ ภาพของอาชีพยังเห็นไม่ชัดเจน แต่พอปีสองถึงได้รู้ และพอใกล้จบปีสามถึงได้เข้าใจ ทำให้เริ่มชอบกิจกรรมบำบัด




"เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งเบาความทุกข์ของทั้งผู้ป่วยและญาติ"





>> มีต่อ "OT เรียนอะไร"



Create Date : 14 กุมภาพันธ์ 2557
Last Update : 1 มิถุนายน 2557 17:48:43 น.
Counter : 2837 Pageviews.

7 comment
1  2  

มู่ทู่ลูกหมูของบี๋บี๋
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]



Occupational Therapy ::
Associated Medical Science, Chiangmai University