Group Blog
 
All Blogs
 

Tropheus sp. "Ikola" โทรเฟียสอิโคล่า อัญมณีล้ำค่าแห่งทังกันยีกา

Tropheus sp. "Ikola" อัญมณีล้ำค่าแห่งแทงกันยีกา โดย : เอก Impartial

เมื่อพูดถึงอัญมณีในทวีปแอฟริกาหลายๆ คนต้องนึกถึงเพชรสีเลือดอันล้ำค่า รวมถึงแร่หายากต่างๆ แต่หากจะมองถึงสิ่งมีชีวิตแล้วนั้นก็มีสิ่งล้ำค่าเช่นกัน ซึ่งสิ่งล้ำค่านี้ไม่ได้วัดกันที่ราคาแต่วัดกันที่ความสวยงาม ซึ่งมันก็ไม่ได้อยู่บนบกหรือหุบเขาสูงชันแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกปลาอาศัยอยู่ใต้น้ำในทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของทวีปแอฟริกา นั่นคือทะเลสาบทังกันยีกานั่นเอง ในทะเลสาบนี้มีปลาอาศัยอยู่มากมายหลากหลายสายพันธุ์ อย่างเช่นพวก “ปลาหมอ” ก็มีมากกว่า 250 สายพันธุ์ และปลาอื่นๆ อีกกว่า 150 สายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์ที่อยากจะแนะนำให้รู้จักคือสายพันธุ์โทรเฟียส ซึ่งเปรียบได้กับอัญมณีหลากสีสันแห่งท้องทะเลสาบ โดยปลาโทรเฟียสนั้นมีหลากหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีสีสันแตกต่างกันไปและจะมีชื่อเรียกตามแหล่งที่จับแหล่งนั้นๆ

โดยชนิดที่จะพูดถึงก็คือ “อิโคล่า” ปลาชนิดนี้นั้นเป็นปลาสีดำเข้ม มีแถบเหลืองสวยสดอยู่กลางลำตัว มีขอบตาสีแดงที่ทรงเสน่ห์ ซึ่งทำให้มันมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า Emperor (จักรพรรดิ) Moorii เพราะสีดำตัดเหลืองของมันคล้ายกับชุดของจักรพรรดินั่นเอง

Tropheus sp. "Ikola" ( โทรเฟียส เอสพี. "อิโคล่า")



Tropheus Moorii Ikola Profile
Scientific Name : Tropheus sp. “Ikola”
Common Name [s] : Kaiser, Emperor Moorii, Tropheus Bumble Bee
Habitat : ทะเลสาบ Tanganyika บริเวณพื้นที่ Ikola ประเทศ Tanzania
Feed : เป็นปลาในกลุ่มกินพืช
Temperament : ความดุระดับปานกลาง และจะดุมากเฉพาะพวกเดียวกันเอง
PH : เหมาะสมคือตั้งแต่ 8 ขึ้นไป
Max Size : ประมาณ 5 นิ้ว โดยตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย

ตามธรรมชาตินั้น อิโคล่าจะอาศัยอยู่ตามริมฝั่งทะเลสาบบริเวณแหล่งพื้นที่อิโคล่า ประเทศทานซาเนีย ที่ระดับความลึกน้อยกว่า 3 เมตร ซึ่งจะมีกระแสน้ำและกองหินใหญ่ๆ ใต้น้ำอยู่จำนวนมาก ซึ่งอิโคล่าจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยภายใต้แสงแดดอันร้อนแรง รวมถึงเป็นแหล่งเจริญเติบโตของตะไคร่น้ำอันเป็นอาหารหลักของมันด้วย



การเลี้ยงอิโคล่าในตู้ปลานั้น ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยาก เพราะปลาในท้องตลาดนั้นส่วนมากจะเป็นปลา F1 (ปลาเพาะ) ซึ่งมีความอดทนและความแข็งแรงมากกว่าปลา F0 (ปลาป่า) เนื่องจากมันได้มีการปรับตัวทั้งเรื่องสภาพอากาศ สภาพน้ำ รวมถึงอาหารเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตามประสบการณ์แม้อุณหภูมิของน้ำในตู้ปลาจะสูงถึง 30-32 องศา หรือสภาพของน้ำ PH ลงต่ำถึงประมาณ 7.5 ก็สามารถเลี้ยงได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอิโคล่านั้น เป็นปลาที่ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา คุณจะเพลิดเพลินกับการเลี้ยงโดยไม่รู้จักเบื่อ ซึ่งถ้ามันคุ้นกับคุณแล้วมันจะออกมาว่ายเข้าหาและว่ายขออาหารกับคุณอยู่เสมอ ซึ่งปลาชนิดนี้เมื่อยังมีขนาดเล็กๆ นั้น จะมีแถบสีดำตัดลำตัวหลายเส้น ซึ่งจะค่อยๆ จางหายไปเมื่อปลามีขนาดมากกว่า 2 นิ้ว โดยจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสวยสดอยู่กลางลำตัวแทน



การแยกเพศของปลานั้น ถ้าปลายังมีขนาดเล็กการแยกเพศปลานั้นจะทำได้ยาก ซึ่งจะสามารถแยกได้ชัดเจนก็ต่อเมื่อปลามีอายุมากกว่า 6เดือนขึ้นไป โดยสามารถแยกเพศได้ 2 วิธีคือ 1.ดูจากรูปปาก 2.ดูจากอวัยวะสืบพันธุ์



ในการเลี้ยงโทรเฟียสอิโคล่านั้น ตู้ที่ใช้เลี้ยงควรจะมีขนาดไม่น้อยกว่า 36 นิ้ว และควรเลี้ยงจำนวนไม่น้อยกว่า 8 ตัว การตกแต่งตู้นั้นควรจะจัดเป็นแนวหินขนาดต่างๆ เพื่อให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด และท่านใดอยากปลูกต้นไม้น้ำด้วยก็สามารถปลูกพวกอนูเบียสหรือพืชใบแข็งได้ แต่จะให้พืชสมบูรณ์นั้นเป็นไปได้ยากเพราะปลาจำพวกโทรเฟียสนั้นจะชอบจิกแทะกันอย่างสนุกสนาน ส่วนวัสดุรองพื้นนั้นควรใช้ปะการังเบอร์ 00 ทรายขาว หรือวัสดุที่มีความสว่าง และฉากหลังควรจะใช้สีน้ำเงินหรือสีดำ เพราะจะช่วยให้ปลาขับสีปลาได้สวยยิ่งขึ้น ส่วนระบบกรองนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งโทรเฟียสเป็รปลาที่มีของเสียเยอะดังนั้นควรใช้กรองที่มีพื้นที่ใส่วัสดุกรองได้เยอะ ถ้าหากไม่มีระบบกรองแล้วจะทำให้ของเสียจากปลาสะสมอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย และเป็นเหตุทำให้ปลาเกิดโรคต่างๆ เช่น ตาฝ้า ครีบเปื่อย รวมถึงโรคสำคัญคือโรคท้องบวมจากการติดเชื้อ เป็นต้น และควรใช้มีเดียเป็นเศษปะการังเพราะจะช่วยเพิ่มค่า PH ให้สูงขึ้น อีกทั้งสามารถเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี



ซึ่งอิโคล่านั้นเป็นปลาที่ชอบน้ำสะอาด ดังนั้นควรเปลี่ยนน้ำอย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งถึงสองครั้ง ครั้งละ 30 เปอร์เซ็นต์ และสำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงนั้น ควรมีส่วนผสมของสาหร่ายสไปรูลิน่าเป็นหลัก เพราะอิโคล่านั้นเป็นปลาในกลุ่มกินพืช ถ้าให้อาหารสดนั้นสามารถทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยหรือระบบลำไส้ของปลา ซึ่งอาจทำให้ปลาตายในที่สุด ดังนั้นควรจะระวังเรื่องอาหารให้มาก และไม่ควรให้เยอะจนเกินไปในแต่ละมื้อ ควรให้ทีละน้อยๆ แต่บ่อยๆ และถ้าหากปลามีอาการไม่กินอาหาร ในกรณีที่ไม่ได้อมไข่ หรือกินอาหารแล้วบ้วนทิ้ง ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าท้องอืด ดังนั้นก็ควรแยกมารักษาโดยใช้ยาเมโทรนิดาโซล ในปริมาณ 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนึ่งลิตร แช่ทิ้งไว้ประมาณสามวันหรือจนกว่าปลาจะยอมกินอาหาร โดยเปลี่ยนน้ำและยาสามวันต่อหนึ่งครั้ง)

เพียงเท่านี้คุณก็จะมีความสุขในการเลี้ยงปลาชนิดนี้แล้วละครับ



สำหรับผู้ที่เริ่มต้นเลี้ยงนั้นผมมีข้อแนะนำดีๆ จาก //www.cichlid-forum.com มาให้ศึกษาข้อมูลกัน

Ten Tips To Keeping Healthy Tropheus (คำแนะนำ 10 ประการ เพื่อให้โทรเฟียสสุขภาพดี) by John N. Davidson

1. เปลี่ยนน้ำให้บ่อยๆ เพราะโทรเฟียสต้องการน้ำคุณภาพดี ซึ่งเราพบว่าการเปลี่ยนน้ำ 30 เปอร์เซ็นต์ต่อครั้งในทุกอาทิตย์จะช่วยให้น้ำมีคุณภาพที่ดีขึ้นและจะไม่มีผลกระทบต่อระบบกรองชีวภาพ

2. ให้อาหารจำพวกมีส่วนผสมของสาหร่ายสไปรูลิน่าเป็นหลัก ซึ่งเราให้อาหาร 6 ครั้งต่อวัน ใน 4 ครั้งเราจะให้อาหารจำพวกสาหร่ายสไปรูลิน่า และในอีก 2 ครั้ง เราจะให้อาหารสำเร็จรูปสำหรับปลาหมอ และแน่นอนสำหรับอาหารสดนั้นคุณก็สามารถให้ได้ แต่คุณจะเสี่ยงชีวิตปลาคุณทำไมล่ะ?

3. ให้อาหารทีละน้อยๆ แต่บ่อยๆ โดยให้อาหารตามเวลาปกติแต่ให้ทีละน้อยๆ และกลับมาให้อีกครั้งเมื่อครบ 15 นาที ซึ่งโทรเฟียสนั้นจะกินจนกระทั่งมันรู้สึกว่ากินไม่ไหวแล้วพอแล้ว ซึ่งคุณจะสนุกกับการดูพวกมันกิน ผมแน่ใจว่าคุณคงจะได้ยินข่าวมาบ้างว่าปลาตายเพราะวิธีการให้อาหารของพวกเขา ซึ่งผมขอเดาว่าเขาคงจะให้อาหารในปริมาณที่มากเกินไป

4. เลี้ยงโทรเฟียสของคุณเป็นกลุ่มใหญ่ๆ อย่างน้อยที่สุด 12 ตัว เพราะมันจะช่วยลดการก้าวร้าวของโทรเฟียสลงได้ ซึ่งถ้ามีจำนวนน้อยความก้าวร้าวจะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะมีพวกในจำนวนที่เหมาะสม

5. เลี้ยงโทรเฟียสของคุณในตู้ขนาดอย่างน้อย 48 นิ้วขึ้นไป ยิ่งตู้มีขนาดใหญ่ปลาที่เป็นเจ้าถิ่นก็จะมีอาณาเขตที่ต้องการ ซึ่งถ้าตู้มีขนาดเล็กก็จะเพิ่มความเครียดให้กับปลา และยิ่งถ้าเป็นปลาที่เป็นลูกไล่ของตัวอื่น ในท้ายที่สุดก็จะถูกปลาเจ้าถิ่นในตู้ไล่กัดจนได้รับบาดเจ็บหรือจนตายเลยทีเดียว

6. เลี้ยงโทรเฟียสกับปลาที่มีลักษณะนิสัยคล้ายคลึงกัน ถ้าคุณต้องเลี้ยงโทรเฟียสกับปลาชนึดอื่น ก็ควรดูจากอาหารและระบบย่อยอาหารของปลา ซึ่งปลาอย่างพวก Eretmodus ก็สามารถเลี้ยงรวมกันได้เป็นต้น และการเลี้ยงโทรเฟียสกับฟรอนโตซ่าก็สมารถทำได้ แต่การกินของพวกมันแตกต่างกัน ซึ่งผมสงสัยว่าการเลี้ยงโทรเฟียสรวมกับพวกที่แตกต่างกันในการกินจะนำไปสู่ปัญหาอาการท้องอืด

7. ทำให้ปลาคุ้นเคย อย่าสร้างความเครียดให้กับปลา ควรเปลี่ยนน้ำในและจำนวนเดียวกันในแต่ละอาทิตย์ และพยายามเปิด - ปิดไฟในเวลาเดิมของทุกวัน ให้อาหารมันในเวลาและจำนวนเดิมในแต่ละวัน ซึ่งควรทำแบบเดิมๆ ในทุกเวลาและในทุกวันให้ได้

8. ยืนดูโทรเฟียสของคุณกินทุกๆ ครั้งในเวลาให้อาหาร ซึ่งการปฏิบัติแบบนี้จะทำให้คุณจับพวกมันในเวลาที่ต้องการได้ง่ายขึ้น

9. ต้องระวังเมื่อคุณเพิ่มโทรเฟียสตัวใหม่ลงไป คุณสามารถเพิ่มโทรเฟียสของคุณลงไปในตู้ได้ โดยวิธีที่ดีที่สุดคือปล่อยปลาในตอนกลางคืน และสิ่งสุดท้ายคือปิดไฟ และหาของมาปิดตู้ไว้ 24 ชั่วโมง

10. ถ้าคุณมีปลาจำพวกก้าวร้าวมากๆ ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ให้จับออกมาแยกไว้สัก 2 - 3 วัน เพราะโทรเฟียสจะมีสังคมลำดับในการอยู่รวมกันของพวกมัน เมื่อคุณปล่อยปลาลงไปใหม่อีกครั้งมันจะลดความก้าวร้าวลงไป เพราะมันจะมาเป็นปลาลำดับหลัง ซึ่งคุณสามารถตั้งตู้อีกสักตู้เพื่อให้ปลาลดความเครียดและความก้าวร้าวลงได้

คำแนะนำทั้ง 10 ประการดังกล่าวที่นำมาฝาก จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เลี้ยงได้อย่างมากเลยทีเดียวครับ



พูดคุย แลกเปลี่ยน และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ oam_ts@hotmail.com ครับ




 

Create Date : 13 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 28 มีนาคม 2555 12:31:47 น.
Counter : 1961 Pageviews.  


Ethanos
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Ethanos's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.