Encyclopedia For You

นายกรัฐมนตรี คนที่ 5 นายทวี บุณยเกตุ

นายทวี บุณยเกตุ (10 พ.ย. 2447 - 3 พ.ย. 2514) นายกรัฐมนตรีคนที่ 5 (รัฐบาลที่ 12) หนึ่งในคณะราษฎรสายพลเรือน และขบวนการเสรีไทยและเป็นผู้แต่งหนังสือเรื่อง พ่อสอนลูก

ประวัติทางการเมือง

นายทวี บุณยเกตุ มีส่วนร่วมในการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 โดยได้รับมอบหมายให้คุมกำลังเข้าควบคุมค่ายทหาร ที่บางซื่อ ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  จากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในผู้แทนราษฎรชุดแรก จำนวน 70 คน เมื่อสิ้นสุดอายุของสภาชุดนี้ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาประเภทสอง (วุฒิสมาชิก)

ในรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายทวีได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ เป็นผู้หนึ่งที่มีแนวความคิดสอดคล้องกับนายปรีดี พนมยงค์ นอกจากนี้ยังสนิทสนมและได้รับความไว้วางใจจากนายควง อภัยวงศ์ เป็นอย่างมาก

ในช่วงรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายทวี และนายควง ได้รับเลือกเป็นประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2486 แต่เนื่องจากความขัดแย้งส่วนตัวกับจอมพล ป. ซึ่งไม่ยอมลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ นายทวีและนายควง จึงลาออกจากตำแหน่งทั้งคู่

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นายควง อภัยวงศ์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพล ป. นายทวี บุณยเกตุได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในช่วงเวลานั้น นายทวียังได้รับมอบอำนาจเป็นผู้สั่งการแทนนายกรัฐมนตรีในหลายโอกาส ทั้งยังเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในการประกาศพระบรมราชโองการว่าสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเป็น โมฆะ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488

หลังจากนายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และอยู่ระหว่างรอ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แต่งตั้งนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และลาออกเมื่อ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 ระยะเวลาในการบริหารประเทศของท่านจึงสั้นเพียง 18 วัน นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งสั้นที่สุด

การเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย*

หลังจากที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายทวี บุณยเกตุ ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2488 ให้เรียกชื่อประเทศว่า สยาม เช่นเดิม แต่เมื่อจอมพล ป. กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 จึงได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ประเทศไทย อีกครั้ง และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ลี้ภัยออกนอกประเทศ

วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะทหารเข้ายึดอำนาจจากปกครองจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายทวี บุณยเกตุ ได้ลี้ภัยออกนอกประเทศพร้อมกับภริยา ไปใช้ชีวิตที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย และเดินทางกลับประเทศไทยหลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500 โค่นล้มจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายทวีได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ใช้เวลาร่างถึง 10 ปี

นายทวี บุณยเกตุ ได้ก่อตั้งมูลนิธิทางการศึกษาชื่อ มูลนิธิ ทวี บุณยเกตุ ซึ่งเคยช่วยเหลือสมาชิกคุรุสภา ผู้ประสบอัคคีภัยและภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ใช้ชื่อท่านเป็นห้องประชุม (ห้องประชุม ทวี บุณยเกตุ ชั้น 6 อาคารสำนักอธิการบดี)

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายทวี บุณยเกตุ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระหว่างปี พ.ศ. 2488 ถึงปี พ.ศ. 2489 นับเป็นคนที่ 2 ของมหาวิทยาลัย (ต่อจาก พลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน)


จาก วิกิพีเดีย สารานุกรสเสรี




 

Create Date : 21 สิงหาคม 2553   
Last Update : 3 กันยายน 2553 8:50:06 น.   
Counter : 2973 Pageviews.  

นายกรัฐมนตรี คนที่ 4 พันตรี ควง อภัยวงศ์

พันตรี ควง อภัยวงศ์ หรือที่นิยมเรียกว่า นายควง อภัยวงศ์ (17 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2511) อดีตนายกรัฐมนตรีไทย 4 สมัย ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก

พันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินในปี พ.ศ. 2475 เคยมีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงโกวิทอภัยวงศ์

พันตรีควง ถือเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งกระทรวงคมนาคมยุค ใหม่ เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการคนแรก ด้วยประสบการณ์ที่เคยรับราชการจนมีตำแหน่ง เป็นถึง อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข นอกจากนี้พันตรีควง ยังเคย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ว่าการ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตราธิการ และกระทรวงมหาดไทย อีกด้วย

ประวัติทางการเมือง

พันตรีควง อภัยวงศ์ หรือ รองอำมาตย์เอก หลวงโกวิทอภัยวงศ์ เป็นหนึ่งในสมาชิก คณะราษฎร สายพลเรือน ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เนื่องจากเป็นนักเรียนไทยในฝรั่งเศส รุ่นเดียวกับ นายปรีดี พนมยงค์ และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พันตรีควง อภัยวงศ์ ขณะยังมีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงโกวิทอภัยวงศ์ ได้เดินทางไปประชุมสากลไปรษณีย์ ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่า พร้อมด้วย ขุนชำนาญ (หลุย อินทุโสภณ) เลขานุการ และเมื่อเดินทางกลับจาก ประเทศอาร์เจนติน่า ได้ไปดูงานโทรศัพท์อัตโนมัติที่ประเทศอังกฤษ และมีโอกาสเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่เครนไลน์ โดยพระเจ้าอยู่หัวทรงเลี้ยงอาหารค่ำ และได้ทรงตรัสถึงเรื่องต่างๆ ให้พันตรีควงได้รับรู้ และนับแต่ครั้งนั้น ความคิดความเห็นของพันตรีควง ก็เปลี่ยนไปเป็นอันมาก มักบ่นกับคนที่ชอบพอ และญาติใกล้ชิดว่า "เรามันผิดไปเสียแล้ว ควรที่จะถวายพระราชอำนาจคืน" (ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, 2511) ซึ่งข้อความนี้หนังสือพิมพ์บางฉบับได้นำไปโจมตีว่า พันตรีควงมีหัวนิยมเจ้า ทั้งๆ ที่บางฉบับกล่าวหาว่าพันตรีควงมีหัวโน้มเอียงไปทางคอมมิวนิสต์ (จรี เปรมศรีรัตน์, 2550)

ก่อนหน้าการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี พันตรีควง อภัยวงศ์ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

    * การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาล พระยาพหลพลพยุหเสนา พันตรี ควง อภัยวงศ์ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ พระยาพหลพลพยุหเสนา ใน คณะรัฐมนตรี ชุดที่ 6 - (22 กันยายน 2477 - 9 สิงหาคม 2480) ต่อมาคณะรัฐมนตรีชุดนี้สิ้นสุดลง เพราะเหตุที่ นายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับการขายที่ดิน ของพระคลังข้างที่ ให้แก่บุคคลบางคน ต่อจากนั้น นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ได้เสนอญัตติ เปิดอภิปรายทั่วไปว่าด้วยการจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อภิปรายกันจนหมดเวลา และได้เลื่อนไปอภิปรายในวันต่อไป แต่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ได้กราบถวายบังคม ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้โอกาสแก่ทุกฝ่าย ได้สอบสวนตามความชอบธรรม (ลาออกเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2480 ประกาศลงวันที่ 9 สิงหาคม 2480)

ต่อมาพันตรีควง ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ พระยาพหลพลพยุหเสนา อีกครั้ง ใน คณะรัฐมนตรีคณะที่ 8 ของไทย (21 ธันวาคม 2480 - 16 ธันวาคม 2481) คณะรัฐมนตรีชุดนี้สิ้นสุดลง จากการยุบสภาผู้แทนราษฎร

    * การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากนั้นพันตรีควง ได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2481 และไปดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นคนแรกของกระทรวง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2484 ในรัฐบาล นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (ยศ และบรรดาศักดิ์ในขณะนั้น) ใน คณะรัฐมนตรีคณะที่ 9 ของไทย (16 ธันวาคม 2481 - 7 มีนาคม 2485) คณะรัฐมนตรีคณะนี้สิ้นสุด เนื่องจาก นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เพื่อที่จะให้โอกาสได้มีการเปลี่ยนแปลง คณะรัฐมนตรี ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

พันตรีควง ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่ออีก ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2485 และไปดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2485 ในรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใน คณะรัฐมนตรีคณะที่ 10 ของไทย (7 มีนาคม 2485 - 1 สิงหาคม 2487) ต่อมาพันตรีควง ลาออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2486

หลังจากนั้นอีก 1 ปีเศษคณะรัฐมนตรีชุดนี้ก็สิ้นสุดลง เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎร ลงมติไม่อนุมัติ ร่างพระราชบัญญัติ อนุมัติ พระราชกำหนด ระเบียบบริหารราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พุทธศักราช 2487 (ย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปอยู่เพชรบูรณ์) และ ร่างพระราชบัญญัติ อนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล พุทธศักราช 2487 นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี จึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2487

    * การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 11 ของไทย , 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488)

นายควง อภัยวงศ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 พร้อมกับการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีคณะที่ 11 ของไทย ภายหลัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่ง การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นไปโดยสถานการณ์บังคับ จากการได้รับเลือกโดยสภาฯ ในขณะที่ไม่มีผู้อื่นยินดีรับตำแหน่ง เนื่องจากเกรงจะถูกรัฐประหารโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครั้งนั้น นายควง ได้ปรึกษากับอธิบดีกรมตำรวจ และตัดสินใจเดินทาง ไปอธิบายกับ จอมพล ป. ถึงค่ายทหารที่ จังหวัดลพบุรี จนเป็นที่เข้าใจ และยอมรับของจอมพล ป. ที่จะสนับสนุนให้ นายควง ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ พร้อมกับการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ นายควง ยังดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กระทรวงคมนาคม อีกด้วย

รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ได้ประกาศสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 หลังจาก ประเทศญี่ปุ่น ประกาศยอมแพ้สงครามแล้ว 2 วัน โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ ลงนามในฐานะ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ระบุให้ การประกาศสงครามต่อ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ของจอมพล ป. เป็นโมฆะ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ในวันรุ่งขึ้น ด้วยเหตุผล เพื่อให้เป็นไปตามประเพณีนิยมแห่งวิถีการเมือง และเปิดโอกาสให้ผู้มีความเหมาะสม ในอันที่จะยังมิตรภาพ และดำเนินการเจรจา ทำความเข้าใจอันดีกับฝ่ายพันธมิตร ได้เข้าบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป

หลังการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ นายควง อภัยวงศ์ มี นายทวี บุณยเกตุ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประมาณ 17 วัน และผู้มารับช่วงต่อคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน หัวหน้าเสรีไทย สายสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เดินทางกลับมารับช่วงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 และดำเนินการเจรจา กับประเทศอังกฤษ ในขณะที่ นายปรีดี พนมยงค์ ประสานขอความสนับสนุน จากประเทศจีน ให้ช่วยรับรอง จนประเทศไทย สามารถพ้นจากสถานะ ประเทศผู้แพ้สงครามในที่สุด

ในระหว่างที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายควง อภัยวงศ์ ได้รับมอบหมายจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งข้าวให้อังกฤษ ซึ่งท่านทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ไม่มีการคอร์รัปชั่น จนทางอังกฤษเอ่ยชมเชย

    * การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 14 ของไทย, 31 มกราคม พ.ศ. 2489 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2489)

หลังจากเจรจากับอังกฤษจนสำเร็จ และประเทศไทยพ้นสถานะประเทศผู้แพ้สงครามแล้ว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ยุบสภาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะสมาชิกสภาชุดที่ถูกยุบนั้นได้รับเลือกตั้งมา ตั้งแต่ วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 แต่เมื่อหมดวาระ 4 ปียังไม่ได้เลือกตั้งใหม่ เพราะติดช่วงสงครามโลก

การเลือกตั้งมีขึ้นวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 นายควงได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีคณะที่ 14 ของไทย มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่หลังจากตั้งรัฐบาลได้เพียง 2 เดือน สภาฯ ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน (พ.ร.บ.ปักป้ายราคาสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ "พ.ร.บ.ปักป้ายข้าวเหนียว") ที่เสนอโดย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี (ผู้ใกล้ชิด นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เขตอุบลราชธานี) ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐบาลนายควง ไม่เห็นด้วยในหลักการ เนื่องจากไม่มีมาตรการ ในการควบคุมราคา คณะรัฐมนตรีได้แถลงให้สภาทราบแล้วว่า คณะรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติตาม ร่างพระราชบัญญัตินั้นได้ และเกรงจะเป็นการเดือดร้อน แก่ประชาชนทั่วไป แต่สภาฯได้ลงมติรับหลักการ ด้วยคะแนน 65 ต่อ 63 เสียง รัฐมนตรีทั้งคณะจึงได้กราบถวายบังคม ลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2489 โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการสนับสนุนจากสภา ให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และต่อมาได้ควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

    * การก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ (6 เมษายน พ.ศ. 2489)

หลังจากพ้นวาระในสมัยนี้แล้ว นายควง อภัยวงศ์ ได้ร่วมกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รวมทั้งนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง อาทิเช่น นายใหญ่ ศวิตชาต, นายเลียง ไชยกาล, ดร.โชติ คุ้มพันธ์, พระยาศราภัยพิพัฒ, นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ และ นายฟอง สิทธิธรรม ก่อตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 โดย นายควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าพรรคคนแรก มี ม.ร.ว.เสนีย์ เป็นรองหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นเลขาธิการพรรค และมี นายชวลิต อภัยวงศ์ น้องชายของท่านเป็น รองเลขาธิการพรรค มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็น พรรคฝ่ายค้าน คานอำนาจ รัฐบาลนายปรีดี ที่ขณะนั้นมีอำนาจอย่างสูง เข้าแทนที่รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม

    * การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 19 ของไทย, 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491)

นายควง อภัยวงศ์ รับดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 พร้อมทั้งรับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ หลังการรัฐประหาร เพื่อจัดการเลือกตั้ง วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2491 นับเป็น คณะรัฐมนตรีคณะที่ 19 มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรี หลังจัดการเลือกตั้งแล้วจึงพ้นวาระไป

    * การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 20 ของไทย, 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 - 8 เมษายน พ.ศ. 2491)

นายควง อภัยวงศ์ กลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อเป็นสมัยที่ 4 เนื่องจากผลการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสียงข้างมาก นายควง ในฐานะหัวหน้าพรรค จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องอีกสมัย พร้อมทั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นับเป็น คณะรัฐมนตรีคณะที่ 20 มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ นายชวลิต อภัยวงศ์ เป็น รัฐมนตรี แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 กลุ่มนายทหารชุดเดียวกับคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ก็บีบบังคับให้ท่านลาออก และ สภาฯ มีมติให้ท่าน พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 เรียกการปฏิวัติครั้งนี้ว่า "ปฏิวัติเงียบ" หลังการรัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลับเข้า ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่ง

    * ชีวิตหลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (8 เมษายน พ.ศ. 2491 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2511)

ด้านหน้าอาคารควง อภัยวงศ์ ที่ทำการพรรคหลังแรก

หลังจากนั้น นายควง อภัยวงศ์ ยังคงอยู่ในแวดวงการเมือง ด้วยการนำพรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาฯ อย่างแข็งขัน ในรัฐบาลหลายชุด ทั้ง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยสุดท้าย, รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร

จนกระทั่งเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนั้น และใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 แทน ซึ่งมีบทบัญญัติให้ยกเลิกสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ เช่น พรรคการเมือง เป็นต้น ทำให้บทบาททางการเมืองของนายควงต้องยุติไปโดยปริยาย ซึ่งนายควงได้รอคอยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้น และตั้งความหวังไว้ว่าจะลงเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง แต่ได้อสัญกรรมลงเสียก่อน

นายควง อภัยวงศ์ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคระบบทางเดินหายใจขัดข้อง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2511 ขณะอายุได้ 66 ปี โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

หลังการถึงแก่อสัญกรรมของท่าน พรรคประชาธิปัตย์ได้ก่อตั้ง มูลนิธิควง อภัยวงศ์ ขึ้น ตามเจตนารมณ์ของท่าน และให้ชื่ออาคารที่ทำการของพรรคหลังแรกว่า "อาคารควง อภัยวงศ์" เพื่อรำลึกถึงท่านด้วย

จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี




 

Create Date : 21 สิงหาคม 2553   
Last Update : 3 กันยายน 2553 8:50:11 น.   
Counter : 4159 Pageviews.  

นายกรัฐมนตรี คนที่ 3 จอมพล ป. พิบูลสงคราม

จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ แปลก พิบูลสงคราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "จอมพล ป." เป็น นายกรัฐมนตรี  ที่มีเวลาดำรงตำแหน่ง รวมกันมากที่สุดของไทย คือ 14 ปี 11 เดือน 18 วัน รวม 8 สมัย มีนโยบายที่สำคัญคือ การมุ่งมั่นพัฒนาประเทศไทย ให้มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยะประเทศ มีการปลุกระดมให้คนไทยรู้สึกรักชาติ โดยออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย "รัฐนิยม" หลายอย่าง ซึ่งบางอย่างได้ประกาศเป็นกฎหมายในภายหลัง หลายอย่างกลายเป็นวัฒนธรรมของชาติ เช่น การรำวง ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย เป็นผู้เปลี่ยนชื่อ "ประเทศสยาม" เป็น "ประเทศไทย" และเป็นผู้เปลี่ยน "เพลงชาติไทย" มาเป็นเพลงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
คำขวัญที่รู้จักกันดีของนายกรัฐมนตรีผู้นี้คือ "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" หรือ "ท่านผู้นำไปไหนฉันไปด้วย" และ "ไทยอยู่คู่ฟ้า"


ประวัติ


จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีชื่อจริงว่า แปลก เนื่องจากเมื่อแรกเกิดบิดามารดาเห็นว่าหูทั้งสองข้างอยู่ต่ำกว่านัยน์ตา ผิดไปจากบุคคลธรรมดา จึงให้ชื่อว่า แปลก เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญ ได้ใช้ชื่อว่า ป. ซึ่งเป็นตัวอักษรย่อเฉกเช่นชื่อของบุคคลสำคัญหลายคนทางประเทศแถบตะวันตก

จอมพล ป. เป็นหนึ่งในคณะนายทหารผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยเป็นนายทหารรุ่นน้อง พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา 2 ปี ที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก มีบทบาทสำคัญเริ่มจากเป็นแกนนำในการรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 และในการปราบกบฏบวรเดชเมื่อปี พ.ศ. 2476 จนได้รับความไว้วางใจ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมา

นับแต่จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในพ.ศ. 2481 ได้มีนโยบายในการสร้างชาติ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นลัทธิชาตินิยม เช่น ออกกฎหมายคุ้มครอง อุตสาหกรรมภายในประเทศ มีการสงวนอาชีพบางอย่างไว้เฉพาะคนไทย และปลูกฝังให้ประชาชนนิยมใช้สินค้าไทย ด้วยคำขวัญว่า "ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ" รัฐบาลจอมพล ป. ได้เปลี่ยนแปลงประเพณีและวัฒนธรรมบางอย่าง เพื่อให้สอดคล้องกับการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และให้เกิดความทันสมัย เช่น ประกาศให้ข้าราชการเลิกนุ่งผ้าม่วง เลิกสวมเสื้อราชปะแตน และให้นุ่งกางเกงขายาวแทน มีการยกเลิกบรรดาศักด์ และยศข้าราชการพลเรือน มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 และเปลี่ยนวันขึ้น ปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยเริ่มเปลี่ยนในปี พ.ศ. 2484 ทำให้ ปี พ.ศ. 2483 มีเพียง 9 เดือน มีการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมใหม่ โดยจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485 เพื่อจัดระเบียบการดำเนินชีวิตของคนไทยให้เป็นแบบอารยประเทศ โดยประกาศรัฐนิยมฉบับต่างๆ และสั่งห้ามประชาชนกินหมากโดยเด็ดขาด ให้ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบน เปลี่ยนมานุ่งผ้าถุงแทน ให้สวมหมวก สวมรองเท้า โดยมีคำขวัญในสมัยนั้นว่า "มาลานำไทยสู่มหาอำนาจ" หากผู้หญิงคนใดไม่ใส่หมวกจะถูกตำรวจจับและปรับ และยังวางระเบียบการใช้คำแทนชื่อเป็นมาตรฐาน เช่น ฉัน ท่าน เรา มีคำสั่งให้ข้าราชการกล่าวคำว่า "สวัสดี" ในโอกาสแรกที่พบกัน และมีการตัดตัวอักษรที่ออกเสียงซ้ำกันจึงมีการเปลี่ยนแปลงการสะกดคำมากมาย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ เขียนเป็น กระซวงสึกสาธิการ เป็นต้น

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส จากปัญหาเรื่องการใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ระหว่างไทยกับอินโดจีน ซึ่งอยู่ในครอบครองฝรั่งเศสมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยฝรั่งเศสไม่ยอมตกลงเรื่องการใช้ร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเมืองนครพนม การรบระหว่างฝรั่งเศสกับไทยจึงเริ่มขึ้น ฝรั่งเศสโจมตีไทยทางอรัญประเทศ รัฐบาล จอมพล ป. ส่งทหารไทยเข้าไปในอินโดจีนทางด้านเขมร แต่ในที่สุดญี่ปุ่นเสนอตัวเข้าไกล่เกลี่ย จนมีการส่งผู้แทนไปลงนาม อนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว (Tokyu Convention) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ในครั้งนั้นไทยได้ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงคืน รวมทั้งทางใต้ตรงข้ามปากเซ คือ แขวงจัมปาศักดิ์ และดินแดนในเขมรที่เสียให้ฝรั่งเศสไปเมื่อปี พ.ศ. 2450 กลับคืนมาด้วย และในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้าง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงชัยชนะของไทยต่อฝรั่งเศส และ 1 ปีต่อมา จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485

จอมพล ป. ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ริเริ่มองค์กรและหน่วยงานสำคัญ ๆ ของประเทศหลายองค์กร ที่พัฒนาและเจริญรุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่วยงานที่มีความเฉพาะของแต่ละวิชาชีพ เช่น รัฐวิสาหกิจ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งเป็นผู้ที่ใช้อำนาจยึดสถานที่ต่าง ๆ ที่เคยเป็นที่ประทับของเชื้อพระวงศ์ และที่อยู่ของบุคคลสำคัญก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาใช้เป็นสถานที่ราชการ เช่น วังบางขุนพรหม, บ้านมนังคศิลา, บ้านพิษณุโลก, บ้านนรสิงห์ เป็นต้น

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทย ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการประคับประคองประเทศชาติ ให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้หลายประการ โดยเป็นจอมพลคนแรกของประเทศไทยอีกด้วย เมื่อขอพระราชทานยศให้กับตนเอง ทั้งนี้มีการบอกเล่ากันว่า เพราะท่านต้องการทำสงครามจิตวิทยากับ ทางกองทัพญี่ปุ่น และเมื่อหลังสงครามโลกแล้ว ท่านต้องติดคุกในฐานะอาชญากรสงคราม และยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด โดยกลับไปอยู่บ้านที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยทำไร่ถั่วฝักยาว แต่แล้วด้วยความผกผันทางการเมือง ในปี พ.ศ. 2491 ท่านก็ได้หวนกลับมาคืนสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งจากการทำรัฐประหารของ กลุ่มนายทหารที่นับถือท่านอยู่ ซึ่งคราวนี้ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 9 ปี ผ่านวิกฤตและเหตุการณ์กบฏจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดหลายครั้ง เช่น กบฏเสนาธิการ, กบฏวังหลวง, กบฏแมนฮัตตัน รวมทั้งยังเคยยึดอำนาจตัวเองด้วย จึงได้รับฉายาว่า "นายกฯตลอดกาล"

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับอีกฉายานึงว่า "จอมพลกระดูกเหล็ก" เพราะมีชีวิตทางการเมืองอย่างเหลือเชื่อ เคยถูกลอบสังหารมาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ก็รอดชีวิตมาได้ทุกครั้ง แม้กระทั่งในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ที่ท่านถูกจี้ลงเรือศรีอยุธยา ถูกทิ้งระเบิดผ่านเตียงที่ท่านเคยนอนอยู่อย่างเฉียดฉิว ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนับร้อย จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของท่าน คือ ในเย็นวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เมื่อถูกพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายทหารรุ่นน้องอีกคนหนึ่งที่ท่านไว้ใจและมอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้ กระทำการรัฐประหาร ซึ่งท่านได้หลบหนีไปด้วยรถยนต์ส่วนตัวกับผู้ติดตามเพียง 2 คน ไปอย่างหวุดหวิด โดยผ่านไปทางประเทศกัมพูชา ก่อนจะลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ณ ที่นั่น ท่านและครอบครัวได้รับการต้อนรับอย่างดี ทั้งนี้เพราะทางญี่ปุ่นถือว่าเป็นท่านเป็นผู้ที่บุญคุณต่อญีปุ่น เพราะเป็นผู้ยินยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านเข้าประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ สองด้วยดี ไม่ต้องมีการสู้รบยืดเยื้ออันรังแต่จะทำให้มีแต่ความสูญเสียด้วยกันทั้งสอง ฝ่าย ซึ่งท่านก็ได้พำนักอยู่ที่นั่นจนตราบถึงแก่กรรม


จาก วิกกิพีเดีย สารานุกรมเสรี





 

Create Date : 21 สิงหาคม 2553   
Last Update : 3 กันยายน 2553 8:50:18 น.   
Counter : 6600 Pageviews.  

นายกรัฐมนตรี คนที่ 2 พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศไทย ชื่อเดิมว่า "พจน์ พหลโยธิน" เกิดวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2430 เวลา 03.30 น. ณ บ้านหน้าวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (ถิ่น พหลโยธิน) กับท่านผู้หญิงจับ พหลโยธิน สมรสกับท่านผู้หญิงบุญหลง พหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี 5 สมัย รวมระยะเวลา 5 ปี 5 เดือน 21 วัน ยังได้รับสมญานามว่า เชษฐบุรษ ด้วย ถึงแก่อสัญกรรมด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 รวมอายุ ได้ 60 ปี

พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์) มีพี่ชายที่รับราชการทหาร มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพหลพยุหเสนา เช่นกัน คือ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (นพ) ยศสูงสุดเป็น พลโท พระยาพหลโยธิน รามินทรภักดี (นพ พหลโยธิน)

ประวัติการทำงาน

* พ.ศ. 2453 ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 ประเทศเยอรมนี
* พ.ศ. 2457 ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 จังหวัดราชบุรี
* พ.ศ. 2458 ผู้บังคับการกองร้อยที่ 2 กรมทหารปืนใหญ่ บางซื่อ พระนคร
* พ.ศ. 2460 ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 9 จังหวัดฉะเชิงเทรา
* พ.ศ. 2461 ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2
* พ.ศ. 2469 ผู้อำนวยการแผนกโรงเรียนทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี
* ในชีวิตราชการนั้นได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงและพระตามลำดับในราชทินนามเดียวกันว่า "สรายุทธสรสิทธิ์"
* วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2471 ได้เลื่อนยศทางทหารเป็น พันเอก
* วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองครักษ์เวร
* พ.ศ. 2473 จเรทหารปืนใหญ่
* วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา มีราชทินนามเดียวกับบิดา
* พ.ศ. 2475 ผู้บัญชาการทหารบก
* พ.ศ. 2487 แม่ทัพใหญ่มีอำนาจสิทธิ์ขาด บังคับบัญชาแม่ทัพบก แม่ทัพเรือ แม่ทัพอากาศ และตำรวจสนามตามกฏอัยการศึก

บทบาททางการเมือง

* วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้ร่วมกับคณะราษฎรโดยเป็นหัวหน้าคณะราษฎรทำการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการ ปกครอง จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย จนได้รับฉายาว่า "เชษฐบุรุษประชาธิปไตย" จากบทบาทที่มีค่อนข้างสูงในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะเป็นผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหารบก และหลังจากที่คำว่าประชาธิปไตยได้ถูกบัญญัติและเผยแพร่ไป มีชาวบ้านบางคนคิดว่า เป็นชื่อของลูกชายของพระยาพหลพลพยุหเสนาด้วยซ้ำ
* วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 1 โดยการทำรัฐประหารรัฐบาลของ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
* วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2
* วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2477 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 3
* พ.ศ. 2477 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
* พ.ศ. 2478 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
* วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 4 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
* วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2480 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 5
* วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481 ยุบสภาและลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
* พ.ศ. 2487 แม้พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาจะวางมือจากตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองแล้ว ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านได้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ และได้รับยศ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

จาก วิกิพิเดีย สารานุกรมเสรี




 

Create Date : 21 สิงหาคม 2553   
Last Update : 3 กันยายน 2553 8:50:21 น.   
Counter : 3219 Pageviews.  

นายกรัฐมนตรี คนที่ 1 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ชื่อเดิมว่า "ก้อน หุตะสิงห์" เกิดวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2427 ที่จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของนายฮวด กับนางแก้ว หุตะสิงห์ ท่านถึงอสัญกรรม ณ ปีนัง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 รวมอายุได้ 64 ปีเศษ

บทบาททางการเมือง

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นผู้ที่จบการศึกษาวิชากฎหมายระดับเนติบัณฑิต จากประเทศอังกฤษ เป็นข้าราชการตุลาการผู้ที่ได้ชื่อว่ามือสะอาด ไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อยมาตลอดชีวิตการรับราชการ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านได้รับเลือกจากคณะราษฎรโดยนายปรีดี พนมยงค์ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุด แรกที่มีด้วยกันทั้งหมด 70 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง และได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ ด้วยหวังว่าท่านจะเป็นคนกลางประสานความเข้าใจระหว่างกลุ่มผู้นิยมการปกครอง แบบเก่า และกลุ่มผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง

หลังจากมีกรณีเรื่อง "สมุดปกเหลือง" เค้าโครงเศรษฐกิจที่ร่างโดยนายปรีดี ขึ้นถวายให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง วินิจฉัย ซึ่งพระองค์ท่านไม่เห็นชอบด้วย ก่อให้เกิดความแตกแยกกันในหมู่สมาชิกคณะราษฎร ข้าราชการ ขุนนาง และบุคคลในสภา ฯ พระยามโนปกรณ์ ฯ เองก็ไม่เห็นชอบด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกคณะราษฎรกลุ่มทหารที่นำโดย พระยาทรงสุรเดช ท่านจึงได้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีปิดสภา พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา รวมทั้งได้เนรเทศนายปรีดี พนมยงค์ ให้กลับไปยังประเทศฝรั่งเศส และออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เป็นฉบับแรกด้วย ซึ่งเรียกกันว่าท่านกระทำรัฐประหารด้วยการใช้ ปากกาด้ามเดียว ท่ามกลางความไม่พอใจของกลุ่มคณะราษฎรที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์

เหตุการณ์ความขัดแย้งเหล่านี้ ได้บานปลายนำไปสู่การรัฐประหารในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 ที่ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรได้รัฐประหารคณะรัฐบาลของท่าน และเนรเทศท่านไปยังปีนังด้วยรถไฟ พร้อมกับเรียกตัวนายปรีดีกลับมาจากฝรั่งเศส ซึ่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่ที่ปีนัง ตราบจนถึงแก่อสัญกรรม

พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและคุณวุฒิสูง แต่เป็นบุคคลที่พูดจาขวานผ่าซาก ชีวิตส่วนตัวชื่นชอบในการเดินป่าและล่าสัตว์ป่า


ลำดับเหตุการณ์


  • 27-28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีมติแต่งตั้งพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในการบริหาร เทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน

  • 9 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ลาออก

  • 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง

  • 1 เมษายน พ.ศ. 2476 แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

  • 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 พันเอก [พระยาพหลพลพยุหเสนา] ได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ผลงานที่สำคัญ


  • พ.ศ. 2461 ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาราชการในพระองค์

ครอบครัว

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา สมรสกับคุณหญิงนิตย์ มโนปกรณ์นิติธาดา ( สกุลเดิม สาณะเสน ) ธิดา พระยาวิสูตรโกษา ( ฟัก สาณะเสน ) มีบุตรเพียงคนเดียวคือ นายตุ้ม หุตะสิงห์

จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี




 

Create Date : 21 สิงหาคม 2553   
Last Update : 22 สิงหาคม 2553 11:56:53 น.   
Counter : 7001 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

billabong11
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




[Add billabong11's blog to your web]