Encyclopedia For You

นายกรัฐมนตรี คนที่ 28 นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร


ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (เกิด 21 มิถุนายน พ.ศ. 2510, ชื่อเล่น: ปู) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย นายกรัฐมนตรี หญิงคนแรกของประเทศไทย เป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับ 1 ของพรรคเพื่อไทย ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2554 อดีตกรรมการและเลขานุการมูลนิธิไทยคมและกรรมการผู้อำนวยการบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ประวัติ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ปริญญาตรีจาก คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาวิชารัฐศาสตร์ (สิงห์ขาวรุ่น 21) เมื่อปี พ.ศ. 2531 และระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเคนทักกีสเตต สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2533

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 10 คน ของนาย เลิศ และ นางยินดี ชินวัตร) โดยเคยติดตาม เลิศ ชินวัตร ในสมัยที่บิดาหาเสียงในตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเยาวลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งเป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ยิ่งลักษณ์สมรสโดยไม่ได้จดทะเบียนกับอนุสรณ์ อมรฉัตร อดีตผู้บริหารในเครือบริษัท ซีพี อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอดีตกรรมการผู้อำนวยการบริษัท เอ็ม ลิงก์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดย มีบุตรชายหนึ่งคน ชื่อ ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือ น้องไปป์

บทบาททางการเมือง

นับตั้งแต่ได้มีการก่อตั้งพรรคเพื่อไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ยิ่งลักษณ์ได้กลายมาเป็นตัวเลือกแรกของทักษิณที่จะให้เป็นหัวหน้าพรรค อย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์ได้ปฏิเสธตำแหน่งโดยกล่าวว่าตนไม่เคยต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีและเพียงต้องการแต่สนใจทำธุรกิจของตนเท่านั้น เธอกล่าวว่าเธอเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นบางครั้งเฉพาะเมื่อทางพรรคส่งจดหมายเชิญเท่านั้น

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติเลือก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อในลำดับที่ 1 ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ยิ่งลักษณ์ระบุว่าการออก พ.ร.บ.อภัยโทษหรือการนิรโทษกรรมที่เสนอโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงนั้น "เป็นเพียงหลักและวิธีการ โดยหลักของส่วนนี้ต้องมาดูว่าจะได้อะไร และต้องมีคณะกรรมการทำหน้าที่พิจารณา โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม เป็นหัวเรือ" ร.ต.อ.เฉลิมระบุว่าความคิดนิรโทษกรรมไม่ได้ให้ พ.ต.ท.ทักษิณเพียงคนเดียว แต่จะให้ทุกคน

ข้อมูลจาก วิกิพิเดีย




 

Create Date : 07 กรกฎาคม 2554   
Last Update : 7 กรกฎาคม 2554 0:19:31 น.   
Counter : 4831 Pageviews.  

นายกรัฐมนตรี คนที่ 27 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2507 — ) นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 และคนปัจจุบันของประเทศไทย และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2535 ภายหลังการก่อรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ขณะมีอายุได้เพียง 27 ปี เขาถูกจัดอันดับเป็นนักการเมืองแถวหน้าของพรรคอย่างรวดเร็ว แต่แพ้การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในปี พ.ศ. 2544 นายอภิสิทธิ์ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2548

ระหว่างวิกฤตการณ์การเมืองในไทย ราว พ.ศ. 2548-2549 นายอภิสิทธิ์ได้เสนอแนวคิด จนกลายเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเกี่ยวกับการทูลเกล้าขอ "นายกรัฐมนตรีพระราชทาน" จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ดำรงตำแหน่งแทน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต่อมาได้มีกระแสพระราชดำรัสต่อคณะผู้พิพากษาใจความตอนหนึ่งว่า "...เขาอยากจะได้นายกฯ พระราชทาน เป็นต้น จะขอนายกฯ พระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย..." ภายใต้การบริหารพรรคของนายอภิสิทธิ์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อาวุโสกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าเป็นผู้สมคบคิดแผนฟินแลนด์ เพื่อล้มล้างราชวงศ์จักรี และก่อตั้งสาธารณรัฐ นายอภิสิทธิ์ได้เคยตัดสินใจคว่ำบาตรการเลือกตั้ง พ.ศ. 2549 โดยไม่ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจาก นายอภิสิทธิ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ซึ่งโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ไม่ได้ใช้วิธีต่อต้านแบบเดียวกับกลุ่ม นปช ในปี พ.ศ. 2550 พรรคประชาธิปัตย์ได้ถูกกล่าวหาว่ารับสินบนจากพรรคอื่น ๆ ให้คว่ำบาตรการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินว่านายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความผิด และตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทยในข้อหาเดียวกัน อภิสิทธิ์สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 โดยกล่าวว่าเป็นการปรับปรุงจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2550 ให้แก่พรรคพลังประชาชน

ในเหตุการณ์การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สมาชิกประชาธิปัตย์บางคนกลายเป็นแกนนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งยึดทำเนียบรัฐบาล, ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะที่มีการปะทะกันระหว่าง พธม. กับตำรวจและกลุ่มต่อต้านอย่างรุนแรง นายอภิสิทธิ์แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการกระทำนี้ การปิดล้อมดังกล่าวได้ยุติลงภายหลังคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรค ผู้บัญชาการทหารบกและหนึ่งในคณะก่อการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ถูกกล่าวหาว่าได้บีบบังคับให้สมาชิกพรรคพลังประชาชนหลายคน รวมทั้งกลุ่มเพื่อนเนวิน ให้มาสนับสนุนอภิสิทธิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นายอภิสิทธิ์เป็นผู้นำประเทศระหว่างวิกฤตการณ์การเงินโลก และเผชิญหน้ากับความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ระหว่างเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2552 กลุ่มผู้ประท้วง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เข้าขัดขวางการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกครั้งที่ 4 รวมทั้งเกิดการประท้วงอย่างรุนแรงในกรุงเทพมหานคร นายอภิสิทธิ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เซ็นเซอร์สื่อ และสั่งการให้ทหารสลายการชุมนุมของผู้ประท้วง สมาชิกของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีส่วนเกี่ยวข้องในความพยายามสังหารแกนนำ พธม. นายสนธิ ลิ้มทองกุล ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะกล่าวโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ นายอภิสิทธิ์ให้ความสำคัญสูงสุดในการเซ็นเซอร์และฟ้องร้องบุคคลผู้ตั้งคำถามต่อบทบาทของสภาองคมนตรีไทย และพระมหากษัตริย์ในทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์จาก พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ว่า อภิสิทธิ์ตอบโต้เกี่ยวกับข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทช้าเกินไป จากรายงานปี พ.ศ. 2553 Human Rights Watch ได้ชมเชยอภิสิทธิ์ว่าเป็นคนที่มีวาทศิลป์ในการพูด แต่แย้งกลับในบันทึกของเขาว่า "รัฐบาลละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการดำเนินคดีตามกฎหมายในประเทศไทย"

การทุจริตเกิดขึ้นในรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์หลายกรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายวิฑูรย์ นามบุตร ลาออก หลังจากจัดหาปลากระป๋องเน่าให้กับผู้ประสบอุทกภัย ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตในการจัดซื้ออุปการณ์ทางการแพทย์เกินราคาในโครงการ ไทยเข้มแข็ง จึงได้ประกาศลาออก นายอภิสิทธิ์ยังเผชิญกับความตึงเครียดซึ่งเพิ่มมากขึ้นจากประเทศกัมพูชา ในหลายประเด็น รวมทั้งการแต่งตั้งแกนนำ พธม. นายกษิต ภิรมย์ อันเป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การปะทะตามแนวชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร และการแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลกัมพูชา

ปัจจุบันการบริหารเศรษฐกิจและการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของไทยในรัฐบาล อภิสิทธิ์ ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2553 ขยายตัวถึงร้อยละ 10 มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศ และตลาดหลักทรัพย์ได้มีมูลค่าตลาดถึง 7.6 ล้านล้านบาทมากเป็นประวัติศาสตร์ตั้งแต่ตั้งตลาดหลักทรัพย์มาด้วย

จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี




 

Create Date : 14 กันยายน 2553   
Last Update : 7 กรกฎาคม 2554 0:25:39 น.   
Counter : 2207 Pageviews.  

นายกรัฐมนตรี คนที่ 26.2 นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล (รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี)

ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 หลังนายสมชายพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนเป็นเวลา 5 ปี ด้วยคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551

ประวัติทางการเมือง

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองมาเป็นระยะเวลานาน เคยผลักดันให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล บุตรชายเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และตนเองเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในปี พ.ศ. 2539 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ โควตาพรรคชาติพัฒนา, ปี พ.ศ. 2551 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ในโควต้าของกลุ่มคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และตำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตามโควต้าของนายอนุทิน ชาญวีรกูล บุตรชายซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และทำหน้าที่ รักษาการนายกรัฐมนตรี หลังจากที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง

ต่อมาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ

จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี




 

Create Date : 09 กันยายน 2553   
Last Update : 10 กันยายน 2553 16:44:03 น.   
Counter : 1344 Pageviews.  

นายกรัฐมนตรี คนที่ 26 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ (31 สิงหาคม พ.ศ. 2490 — ) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตผู้พิพากษา อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาล เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงยึดพื้นที่ไว้ตั้งแต่ในสมัย รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช

ประวัติทางการเมือง

ในปี พ.ศ. 2550 เป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี

17 กันยายน 2551 ได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย โดยผลการลงคะแนนปรากฏว่านายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ 298 เสียง ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ 163 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ทำให้นายสมชาย ได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ จึงได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย

การปฏิบัติงาน

* เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

ความมั่นคง

* แก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
* ส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาและสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีในภูมิภาค
* จัดตั้งสภาเกษตรกรและสร้างระบบประกันความเสี่ยง

เศรษฐกิจ

* แก้ไขปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินในประเทศ
* เร่งรัดการลงทุนที่สำคัญของประเทศ
* สร้างกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากวิกฤติการเงินของโลกที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว

สิทธิมนุษยชน

* เร่งรัดปราบปรามการค้ายาเสพติด ปราบปรามผู้มีอิทธิพล อบายมุขและสิ่งยั่วยุเยาวชน

ฉายานาม

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 อ.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวถึงสถานการณ์ทางการเมือง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พร้อมทั้ง ตั้งฉายารัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ว่าเป็น รัฐบาล "ชายกระโปรง"

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค

เมื่อเวลา 12.30 น. ของวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช จากพรรคพลังประชาชน นายมณเฑียร สงฆ์ประชา จากพรรคชาติไทย และนายสุนทร วิลาวัลย์ จากพรรคมัชฌิมาธิปไตย ภายหลังนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย และนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย แถลงด้วยวาจาเสร็จสิ้นแล้ว โดยไม่รอพรรคพลังประชาชนไม่ได้ส่งตัวเข้าแถลงปิดคดีแต่อย่างใด

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในส่วนของพรรคพลังประชาชน ด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรคพลังประชาชน และตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค 5 ปี (รวม 37 คน) ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนต้องพ้นจาก

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยปริยาย

จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในส่วนของพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยมีมติให้ยุบพรรคมัฌชิมาฯ และตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค 5 ปี (รวม 43 คน) ตามประกาศ คปค. เช่นกัน

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ให้ยุบพรรคชาติไทยตามไปอีกพรรค โดยศาลฯได้วินิจฉัยว่ามีความผิดตามมาตรา 237 วรรค 2 และมาตรา 68 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และกฎหมายได้เอาไว้เป็นเด็ดขาด แม้จะมีการโต้แย้งว่าหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคคนอื่นฟังไม่ขึ้น (รวม 29 คน) ตามประกาศ คปค.

จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี




 

Create Date : 09 กันยายน 2553   
Last Update : 9 กันยายน 2553 23:39:38 น.   
Counter : 2599 Pageviews.  

นายกรัฐมนตรี คนที่ 25 นายสมัคร สุนทรเวช

นายสมัคร สุนทรเวช (ชื่อจีน: 李沙馬 Lǐ Shāmǎ; 13 มิถุนายน 2478 — 24 พฤศจิกายน 2552) เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนที่ 25 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ดำรงตำแหน่ง 29 มกราคม พ.ศ. 2551 — 9 กันยายน พ.ศ. 2551) หัวหน้าพรรคพลังประชาชน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ก่อตั้งพรรคประชากรไทย เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นนักการเมืองเก่าแก่ ที่มีเสียงพูดและลีลาการพูดเป็นเอกลักษณ์ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญมากมาย เช่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (2 สมัย) ได้ฉายาจากสื่อมวลชนทั่วไปว่า "น้าหมัก" "ออหมัก" หรือ "ชมพู่" (มาจากลักษณะจมูกของนายสมัคร) "ชาวนา" (จากกรณีกลุ่มงูเห่า) เป็นต้น

นายสมัครเริ่มทำงานหลังจบนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นสื่อมวลชนสายการเมือง โดยเขียนบทความ และความคิดเห็น ทางการเมืองแบบไม่ประจำใน หนังสือพิมพ์สยามรัฐ, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และชาวกรุง ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 จนถึง 2516 เขียนบทความ การเมืองในหนังสือพิมพ์ประชาไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 จนถึง 2520 และเขียนบทความในคอลัมน์ประจำ "มุมน้ำเงิน" หนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 จนถึง 2537

นายสมัครข้ามจากการเป็นสื่ออย่างเดียว มาเริ่มต้นชีวิตการเมืองโดยเข้าเป็นสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ปี 2511 ลงสมัครตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนขึ้นถึงระดับชาติ จนมามีบทบาทโดดเด่นช่วงปี 2519 จากการจัดรายการสถานีวิทยุยานเกราะ ที่มีเนื้อหาโจมตีบทบาทของ ขบวนการนักศึกษาในสมัยนั้น พร้อมทั้งปลุกระดมมวลชนให้เกลียดชังขบวนการนักศึกษา และ เป็นศูนย์กลางประสานงาน ถ่ายทอดกำหนดการ และคำสั่งเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านนักศึกษาใน เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

เมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์ ในปี พ.ศ. 2519 นายสมัครได้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อม ๆ กับการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และในปี พ.ศ. 2522 ได้ก่อตั้ง พรรคประชากรไทย และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค มีฐานคะแนนเสียงหลักในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในเขตที่มีหน่วยทหารตั้งอยู่หนาแน่น

ความคิดและบทบาทของนายสมัคร มักสร้างกระแสมวลชน ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ได้อย่าง กว้างขวางร้อนแรง ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ 6 ตุลา, พฤษภาทมิฬ, ไอเดียหนุนกระทงโฟม ไล่มาจนถึง การกล่าวโจมตี ประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทางรายการโทรทัศน์ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2549

ประวัติทางการเมือง

การดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

นายสมัคร สุนทรเวช ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2543 ด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนเสียงมากที่สุด นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยผู้ได้คะแนนอันดับ 2 คือ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย ไดัรับคะแนนเสียงเพียง 521,184 คะแนน

นายสมัคร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระหว่างปี พ.ศ. 2543-2547 นับเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 13 และเป็นคนที่ 5 ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่หลังจากพ้นตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คดีเรื่องการทุจริตกรณีจัดซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง ก็ยังมีการดำเนินการตรวจสอบจนถึงปัจจุบัน

การเลือกตั้งวุฒิสภา 2549

หลังพ้นตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อครบวาระ 4 ปี นายสมัครตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยที่ 2 แต่เบนเข็มมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ปี พ.ศ. 2549

ผลการนับคะแนน นายสมัคร สุนทรเวช ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียง เป็นอันดับสองของประเทศ รองจาก ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ ที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 1 แต่ ร.ต.อ.นิติภูมิ ยังไม่ทันได้รับการรับรองตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา จาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากมีผู้ร้องเรียน เรื่องการไปขึ้นเวทีปราศัยของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่อาจถือได้ว่าเป็นการ "หาเสียง" และขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง ก่อนที่จะมีการชี้ขาดเรื่องดังกล่าว การเลือกตั้งวุฒิสภา พ.ศ. 2549 ก็ได้ถูกยกเลิก เนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ทำให้นายสมัครต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา

ข้อวิพากษ์วิจารณ์

เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ ให้นายสมัคร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี วันที่ 6 กุมภาพันธ์ นายสมัครยังได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีก 1 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นพลเรือนคนที่ 3 ที่ดำรงตำแหน่งนี้ แต่ยังถูกกล่าวหาจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถึงการดำรงตำแหน่งของนายสมัคร สุนทรเวช นี้ว่าเป็นนอมินี (ตัวแทน) ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกในข้อหาเซ็นชื่อยินยอมให้ภรรยาซื้อที่ดินตามกฎหมาย

ต่อมาวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 นายชัช ชลวร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมคณะ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 267 ประกอบมาตรา 182 (7) เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ ของรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ซึ่งคณะตุลาการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่านายสมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้นายสมัครสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีลง แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551 นายสมัครยังได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชนอย่างไม่เป็นทางการ (ยังไม่มีเอกสารยื่นใบลาออก) โดยให้เหตุผลว่า ได้ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคและรักษาระบอบประชาธิปไตยอย่างดีที่สุดแล้ว จึงขอยุติบทบาททางการเมือง ส่วนการดำเนินการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ให้ขึ้นอยู่กับพรรค

การปฏิบัติงาน

* เสนอนโยบายการผันแม่น้ำโขงผ่านอุโมงค์ โดยการสร้างใช้หัวเจาะกระสุนกันน้ำซึมเข้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเจาะอุโมงค์แบบรถไฟใต้ดิน คาดว่าปริมาณแม่น้ำโขงจะไหลผ่านอุโมงค์นี้ และแจกจ่ายไปตามโครงข่ายลำน้ำอื่นๆ เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรและการอุปโภคในภาคอีสาน ภายใต้ความเชื่อที่ว่า "ถ้าอีสานมีน้ำ อีสานหายจน"
* รื้อฟื้นนำโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลทักษิณทำไว้กลับมาใช้อีกครั้ง
* เสนอแนวคิดสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

ความมั่นคง

* การประนีประนอมกับทหาร โดยนายสมัคร กล่าวว่า มีความตั้งใจที่จะออกพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 อยู่แล้ว และจะไม่เข้าไปแทรกแซงจัดการเรื่องโผการโยกย้ายนายทหาร โดยจะปล่อยให้ทางทหารนั้นจัดการกันเอง ซึ่งทำให้ทางทหารแสดงท่าทีเป็นมิตรกับนายสมัครด้วย
* เสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นหนักในเรื่องการสร้างความเข้าใจ ความเป็นธรรม การพัฒนาการศึกษา พัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน และการสร้างความปลอดภัยในพื้นที่

เศรษฐกิจ

* ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30%
* ลดราคาสินค้าหมูเนื้อแดงขายจาก 120 บาท ต่อ กก. เหลือเพียง 98 บาท ต่อ กก.
* มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
* มาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน ช่วยคนจน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมโดยการทำเงินภาษีมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน จนรัฐบาลที่นำโดย นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขยายเวลาเพิ่มในเวลาต่อมา

สิทธิมนุษยชน

* ใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาด
* เสนอให้มีเปิดการบ่อนกาสิโนอย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งก็ได้รับทั้งความเห็นชอบและคัดค้านจากหลาย ๆ ฝ่ายเป็นอย่างมาก

คดีหมิ่นประมาทนายดำรง ลัทธพิพัฒน์

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ถึงแก่กรรมโดยการประกอบอัตวินิบาต ขณะกำลังเดินทางไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากปัญหาความเครียดส่วนตัว ต่อมานายสมัคร ซึ่งถูกปรับออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อ พ.ศ. 2529 กลายเป็นฝ่ายค้าน ได้ให้ข่าวในทำนองว่า นายดำรงฆ่าตัวตายเพราะความเครียด เนื่องจากการยักยอกงบประมาณของ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน นางสมศรี ลัทธพิพัฒน์ (เกตุทัต) ภรรยานายดำรง มอบหมายให้นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความ ฟ้องหมิ่นประมาทนายสมัคร สุนทรเวช ศาลฎีกามีคำตัดสินเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ว่า "นายสมัครกล่าวข้อความเป็นเท็จและหมิ่นประมาทจริง" และได้มีคำสั่งให้จำคุกนายสมัคร สุนทรเวชเป็นระยะเวลา 6 เดือน แต่ให้รอลงอาญา

กรณีสเตตเมนต์ปลอม

เมื่อ พ.ศ. 2530 นายสมัคร สุนทรเวช ถูกปรับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในครม.คณะที่ 43 และได้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (ครม.คณะที่ 44) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2530 นายสมัครอภิปรายกล่าวหาว่า นายจิรายุรับสินบนโดยนำสำเนาสเตตเมนต์แสดงการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารเฟิสต์ อินเตอร์สเตตในสหรัฐอเมริกา มาแสดงในสภาและอภิปรายว่ามีชื่อของนายจิรายุ เป็นเจ้าของบัญชีดังกล่าว ซึ่งมีรายการโอนเงินค่าสินบน เป็นจำนวนเงิน 92 ล้านบาท นายจิรายุได้ปฏิเสธและระบุว่าข้อกล่าวหาของนายสมัครเป็นเท็จและตนไม่เคยมีบัญชีธนาคารในสหรัฐอเมริกา

ต่อมา จากการตรวจสอบโดยคณะกรรมการวิสามัญตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎร ผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พบว่า สเตตเมนต์ที่นายสมัครนำมาแสดงนั้นเป็นของปลอม และนายจิรายุไม่เคยมีบัญชีเงินฝากในธนาคารนั้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายใดๆ กับนายสมัคร เนื่องจากมีกฎหมายให้เอกสิทธิ์คุ้มครอง ส.ส. ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต่อมา นายสมัครได้ยอมรับว่า ได้นำเอกสารเท็จมาแสดงในการอภิปรายในครั้งนั้นจริง

การจัดรายการโทรทัศน์

สมัคร ร่วมจัดรายการ สนทนาปัญหาบ้านเมือง ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม MV1 ซึ่งถูกโจมตีโดยฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นสื่อที่เข้าข้าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและหลังจากที่มีการปฏิวัติโดยคณะปฏิรูปฯ นายสมัคร สุนทรเวช ได้เลิกรายการของตนไป

ก่อนหน้านั้น สมัครได้จัดรายการ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ร่วมกับนายดุสิต ศิริวรรณ ในเวลา 11.00 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ระยะเวลา 30 นาที ซึ่งนายสมัครได้กล่าวว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ "เลือกข้างใช่ไหม" จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และไม่พอใจของหลายฝ่าย น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ กล่าวว่า พล.อ.เปรม เป็นที่เคารพของหลายฝ่าย และเป็นถึงประธานองคมนตรี ทำให้นายสมัครขอยุติรายการดังกล่าวไปด้วยตนเอง

คดีหมิ่นประมาทอดีตรองผู้ว่าฯ กทม.

สมัคร และ ดุสิต ศิริวรรณ ซึ่งร่วมกันจัดรายการโทรทัศน์ "เช้าวันนี้ที่ช่อง 5" ทาง ททบ.5 และ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ถูกนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา โดยทั้งสองกล่าวหาว่านายสามารถทุจริตในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพมหา นครในรายการโทรทัศน์

ศาลมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของทั้งคู่เป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจริง ทั้งนี้นายสมัครได้เคยกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทมาแล้วหลายครั้ง โดยศาลปรานีให้รอการลงโทษไว้เพื่อให้ปรับตัวเป็นคนดี แต่นายสมัครกลับกระทำผิดซ้ำในความผิดเดิมอีก ศาลมีคำสั่งจำคุกสมัคร สุนทรเวช และนายดุสิต ศิริวรรณ รวม 4 กระทง ๆ ละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 24 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ขณะนี้คดีกำลังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์

25 กันยายน 2551 ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุกนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และนายดุสิต ศิริวรรณ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และใช้เงินสด 200,000 บาท ประกันตัวไป

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 สมัครได้เคยกล่าวไว้ในรายการ สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นมีคนตายเพียงคนเดียว และคนนั้นเป็นญวนอีกด้วย ซึ่งนายสมัครได้ย้ำอีกครั้ง ในการให้สัมภาษณ์กับ แดน ริเวอร์ส ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น ออกอากาศเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และยังกล่าวอีกว่า "ผมบอกว่า ถ้าผมเป็นคนเลวมาไม่ได้ไกลขนาดนี้หรอก ถ้าผมเป็นคนเกี่ยวข้องไม่ได้รับการสนับสนุนให้เดินหน้ามาถึงป่านนี้หรอก"

บทบรรณาธิการของบางกอกโพสต์ กล่าวถึงการให้สัมภาษณ์ของนายสมัครว่าไม่ได้เป็นเพียงแค่ปฏิเสธว่าตนไม่ เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เท่านั้น เขายังปฏิเสธว่าการสังหารหมู่ไม่ได้เกิดขึ้นอีกด้วย ทั้งที่มีภาพถ่ายเป็นหลักฐานแสดงว่ามีผู้เสียชีวิตหลายคน และสมัครเองก็ทราบดีว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น เนื่องจากเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปลุกเร้าให้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ อันนำไปสู่การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ซึ่งประเด็นนี้ ได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่มีวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว ในวันที่รัฐบาลแถลงนโยบายในรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 สมัครก็ได้ตอกย้ำสิ่งที่ตนพูดอีกครั้ง ซึ่งเป็นการตอบโต้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายชวน หลีกภัย ฝ่ายค้าน พร้อมกับกล่าวว่า ตนไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการปิดหนังสือพิมพ์หลังเหตุการณ์นี้ และได้สาบานด้วยว่า ถ้าสิ่งที่ตนพูดไม่เป็นความจริง ขอให้ตนพบกับความวิบัติ ถ้าไม่จริง ขอให้เจริญรุ่งเรือง

อีกทั้งสมัครยังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่อย่างใด ขณะที่สื่อมวลชนรายหนึ่ง ได้โชว์รูปถ่ายที่นายสมัครยืนอยู่ข้างหลังจอมพลประภาส จารุเสถียร ในครั้งนั้นแล้วชี้ให้นายสมัครดู แต่สมัครปฏิเสธว่าไม่เคยเห็นรูปดังกล่าวมาก่อน

ต่อมาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 “แม่ลูกจันทร์” แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยืนยันว่าภาพดังกล่าวถ่ายไว้ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถึง 4 ปี โดยเป็นภาพถ่ายเมื่อ เมื่อ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ขณะเกิดเหตุการณ์ ผู้ก่อการร้ายปาเลสไตน์ กลุ่มแบล็กเซปเทมเบอร์ บุกยึด สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ถนนชิดลม และจับเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นตัวประกัน ยื่นเงื่อนไขให้รัฐบาลอิสราเอลปล่อยโจรปาเลสไตน์ที่ถูกจับกุม ภายใน 12 ชั่วโมง ขณะนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร เป็น นายกรัฐมนตรี และ จอมพลประภาส จารุเสถียร เป็น รมว. มหาดไทย โดยที่ นายสมัคร สุนทรเวช ขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตอิสราเอล ทำหน้าที่ประสานงานในเหตุการณ์ และ "แม่ลูกจันทร์" เป็นนักข่าวการเมืองที่อยู่ในเหตุการณ์ รูปดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี




 

Create Date : 03 กันยายน 2553   
Last Update : 9 กันยายน 2553 23:39:05 น.   
Counter : 2412 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

billabong11
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




[Add billabong11's blog to your web]