ธรรมจาริก

dhammajarik1
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




กองทุนธรรมจาริก เพื่อธรรมทายาท
http://bg1.bloggang.com/data/d/dhammajarik/picture/1309326482.jpg
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add dhammajarik1's blog to your web]
Links
 

 

บทความธรรมะ

ธุดงควัตร ข้อปฏิบัติเพื่อขจัดกิเลส

 

                                                                                                                                                               โดย  ธรรมปาระ

 

ธุดงค์ คือ ข้อวัตรปฏิบัติเพื่อขจัดกิเลส  มาจากคำว่า  ธุตะ  แปลว่า  ขูดเกลา  และ อังคะ  แปลว่า องค์ประกอบ   รวมความหมายว่า  องค์คุณสำหรับขูดกิเลส  ขัดเกลากิเลส  ให้ลดน้อยเบาบาง  จนเข่นฆ่าให้หมดไปในที่สุด

ธุดงค์ ไม่ใช่ศีล  เป็นข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้  ให้เลือกปฏิบัติ  ไม่ได้บังคับเหมือนศีล  จะปฏิบัติกี่ข้อก็ได้  ตามกำลังความสามารถของตน

บางคนเข้าใจว่าธุดงค์ต้องเดินไปตามป่าเขา ใส่ผ้าจีวรสีคล้ำ ๆ  ถือไม้เท้า มีลูกประคำ อาจจะถูกเพียงบางส่วนเท่านั้น   แม้พระภิกษุที่อยู่ในวัดก็ถือธุดงค์ได้   บางคนศรัทธาแต่พระที่อยู่ป่า หรือถือเคร่ง  เป็นช่องทางให้ผู้ที่มีใจบาปถือเป็นเครื่องมือหากิน  อาศัยอยู่ป่า ใส่ผ้าเก่า ๆ ถือเคร่ง เพียงเพื่อให้เขาเกิดศรัทธา เป็นที่มาแห่งลาภสักการะชื่อเสียง  การทำเช่นนี้ก็เท่ากับว่าไม่ได้ขจัดกิเลส แต่เป็นการเพิ่มกิเลส  ไม่ใช่ธุดงค์ แต่เป็น “ทะลุดง”   ไม่ปฏิบัติเพื่อขูดเกลากิเลส  การถือธุดงค์เป็นการปฏิบัติเพื่อละวาง  ไม่ใช่ไปเอาอะไร  ได้ยินว่าถ้ำไหนป่าไหนมีของดีก็ไปเอา  ได้มาแล้วก็หลอกให้โยมบูชา หรือเป็นที่มาแห่งความศรัทธา  เพียงเพื่อต้องการศรัทธาเท่านั้น  ซึ่งเป็นการเลี้ยงกิเลสให้ตัวใหญ่เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ

พระภิกษุบางรูปก็ถือเอารูปแบบวัตรปฏิบัติที่เคร่ง  ถือธุดงค์ตามที่เข้าใจว่าเคร่ง  แล้วมีทิฏฐิมานะ  ถือตัวว่าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเคร่งกว่าผู้ที่ไม่ได้ถือธุดงค์  ซึ่งข้อนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงตำหนิไว้ แม้ได้ฌานถึงอรูปฌานแล้วยังมีทิฏฐิมานะ ก็จัดว่าเป็นภิกษุอสัตบุรุษ  คือคนไม่ดี   มักยกตนข่มท่านในเรื่องต่าง ๆ คือ

1. ยกตนว่ามาจากตระกูลสูง ตระกูลใหญ่  ร่ำรวย

2. ยกตนว่าเป็นคนเด่นคนดัง มียศตำแหน่ง  คนยกย่องสรรเสริญ

3. ยกตนว่ามีปัจจัย 4 สมบูรณ์กว่าคนอื่น

4. ยกตนว่าเป็นพหุสูต มีความรู้มาก

5. ยกตนว่าเป็นพระวินัยธร รู้ระเบียบวินัยดี รู้ประเพณีดี หรือพระธรรมกถึก รู้ธรรมดี

6. ยกตนว่าเป็นพระธุดงค์  ถือเคร่งต่าง ๆ ตามลักษณะการปฏิบัติในธุดงค์ 13 อย่าง มีถืออยู่ป่าเป็นต้น

7. ยกตนว่าเป็นผู้ได้ฌาน 1 ถึงอรูปฌาน 4

 

จะเห็นว่า ข้อที่ 6 คือการถือธุดงค์  อาจจะกลายเป็นเหตุให้เกิดมานะได้สำหรับผู้มีจิตใจโลภ เห็นแก่ลาภสักการะสรรเสริญ   การถือปฏิบัติธุดงค์จริง ๆ ไม่ต้องให้ใครรู้ก็ได้  อย่างข้อถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร  ในตอนกลางวันท่านให้อยู่วัดบ้านก็ได้ แล้วตอนกลางคืนค่อยเดินไปที่ป่าช้า  พอใกล้สว่างค่อยเดินกลับ  ไม่ต้องให้ใครรู้ใครเห็นว่าตนเองอยู่ในป่าช้า  อย่างเรื่องพระมหากาลที่ไปพิจารณาซากศพในป่าช้า  แอบไปเฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น  ไม่ให้ใครรู้  จนบรรลุอรหันต์ในที่สุด

ในปัจจุบันมีการเข้าใจผิดในเรื่องพระธุดงค์ จนทำให้เกิดศรัทธาเหลื่อมล้ำ  ไม่ได้มองที่ผล  แต่มองที่คน เห็นแค่รูปแบบ  ทำให้ศรัทธาคับแคบ ไม่ได้มุ่งถึงพระพุทธศาสนา  แต่มุ่งที่ตัวบุคคล   จนเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกในที่สุด  เราควรพิจารณาให้แจ่มแจ้ง  ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในคิริมานนสูตรว่า

“ดูกรอานนท์  เราจะทำนายไว้ให้เห็น ในอนาคตกาลข้างหน้า จักเกิดพวกมิจฉาทิฏฐิภายนอกพระศาสนา อวดอ้างว่าตัวรู้ ตัวเห็นผีได้ พูดจากับด้วยผี ครั้นบุคคลจำพวกนั้นเกิดขึ้นแล้ว ก็จักเบียดเบียนพระศาสนาของเราให้เสื่อมถอยลงไป ด้วยวาทะถ้อยคำเสียดสีต่างๆ พระสงฆ์สามเณรก็จักเกิดระส่ำระสาย หาความสบายมิได้ เขาจักสอนทิฏฐิวัตรอย่างเคร่งครัด ถืออารัญญิกธุดงค์อย่างพระเทวทัต ภายหลังก็จักเกิดพระบ้านพระป่ากันขึ้น แล้วก็จักแตกกันออกเป็นพวกๆ ไม่สามัคคีกัน ต่างพวกก็ถือแต่ตัวดี ศาสนาของเราก็จักเสื่อมถอยลงไป  เพราะพวกมิจฉาทิฏฐิเห็นแก่ลาภยศหาความสุขมิได้ มรรคผลธรรมวิเศษก็จักไม่เกิดขึ้นแก่เขา เขาจักเรียนเอาแต่วิชาศีลธรรม อันพวกมิจฉาทิฏฐิสอนให้รู้อะไรกันขึ้นเล็กน้อย ก็อวดดีกันไป แท้ที่จริงความรู้เหล่านั้นล้วนแต่รู้ดีสำหรับไปสู่นรก เขาจักไม่พ้นจตุราบายได้เลย ดูกรอานนท์ ในอนาคตกาลภายหน้า จักมีอย่างนี้ไม่ต้องสงสัย  ถ้าผู้ใดรู้ลัทธิทิฏฐิอย่างนี้ไว้แล้ว  เมื่อได้เห็นก็จงเพียรพยายามละเว้น  ก็จักได้ประสบความสุข”

ดังนั้น การจะรู้ว่าใครเป็นผู้ถือธุดงค์  บางทีก็รู้ได้ยาก  เพราะเพียงแค่การแต่งกาย หรือรูปลักษณ์ภายนอก ไม่อาจตัดสินได้  สรุปก็คือ ดูภายใน ดูที่ใจว่าท่านละโลภ โกรธ หลง ได้มากเพียงใด นั่นคือผลของการถือธุดงค์ที่แท้จริง

ธุดงค์มีทั้งหมด 13 ข้อ  คือ

          1. ปังสุกูลิกังคธุดงค์ ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

           2. เตจีวริกังคธุดงค์  ถือการนุ่งห่มผ้าสามผืนเป็นวัตร

           3. ปิณฑปาติกังคธุดงค์  ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร

            4. สปทานจาริกังคธุดงค์  ถือการบิณฑบาตไปโดยลำดับแถวเป็นวัตร

           5. เอกาสนิกังคธุดงค์  ถือการฉันอาหารมื้อเดียวเป็นวัตร

          6. ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์  ถือการฉันในภาชนะเดียวคือฉันในบาตรเป็นวัตร

            7. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์  ถือการห้ามภัตตาหารที่เขานำมาถวายภายหลังจากลงมือแนแล้วเป็นวัตร

            8. อารัญญิกังคธุดงค์  ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ห่างบ้านอย่างน้อย 25 เส้น

           9. รุกขมูลิกังคธุดงค์  ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร

           10. อัพโภกาสิกังคธุดงค์  ถือการอยู่อัพโภกาสที่กลางแจ้งเป็นวัตร

           11. โสสานิกังคธุดงค์  ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร

            12. ยถาสันถติกังคธุดงค์ ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร

           13. เนสัชชิกังคธุดงค์  คือการไม่นอนเป็นวัตร อยู่ด้วยอิริยาบถ 3 คือ  ยืน เดิน นั่ง 

การถือธุดงค์มีอานิสงส์มากมาย    คือ การยังชีพโดยบริสุทธิ์ มีผลเป็นสุข เป็นของไม่มีโทษ บำบัดความทุกข์ของผู้อื่นเสีย เป็นของไม่มีภัย เป็นของไม่เบียดเบียน มีแต่เจริญฝ่ายเดียว ไม่เป็นเหตุให้เสื่อม ไม่มีมารยาหลอกลวงไม่ขุ่นมัว เป็นเครื่องป้องกัน เป็นเหตุให้สำเร็จสิ่งที่ปรารถนา กำจัดเสียซึ่งศัสตราทั้งปวง  มีประโยชน์ในทางสำรวม  เป็นเครื่องสมควรแก่สมณะ ทำให้สงบยิ่ง เป็นเหตุให้หลุดพ้น เป็นเหตุให้สิ้นราคะ เป็นการระงับเสียซึ่งโทสะ  ทำโมหะให้ พินาศไป  เป็นการกำจัดเสียซึ่งมานะ  เป็นการตัดวิตกที่เป็นอกุศล ทำให้ข้ามความสงสัยได้ กำจัดเสียซึ่งความเกียจคร้าน กำจัดความไม่ยินดีในธรรม เป็นเหตุให้มีความอดทน เป็นของชั่งไม่ได้  เป็นของหาประมาณมิได้  และทำให้สิ้นทุกข์ทั้งปวง คือพระนิพพาน  นี่คืออานิสงส์ของการปฏิบัติธุดงค์

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่สายกรรมฐาน  ผู้มอบกายถวายชีวิตในพระพุทธศาสนา ได้ธุดงค์จาริกไปตามป่าเขา แสวงหาความสงบวิเวก  บำเพ็ญภาวนาเพื่อมรรคผล นิพพาน เพื่อสงเคราะห์โลก และสรรพสัตว์  เป็นเนื้อนาบุญของพระพุทธศาสนา  เป็นขุนพลกล้าแห่งกองทัพธรรมพระกรรมฐาน  เป็นแบบอย่างของพระผู้ถือธุดงควัตรในปัจจุบัน

ผู้ต้องการฝึกตนควรจาริกไปตามป่าเขา พำนักตามโคนไม้ เพิงผาและตามถ้ำ  เป็นอยู่อย่างสมถะ เรียบง่าย  เสียสละลดละอุปโภคบริโภค  ทำให้จิตเป็นอิสระพ้นจากพันธนาการเครื่องร้อยรัดขัดขวางสู่ความเบาสบาย  สถานที่สงบวิเวกเอื้อต่อการเจริญสมาธิภาวนา บำเพ็ญความเพียร การท่องไป ในป่าที่ดารดาษไปด้วยสิงสาราสัตว์ภัยอันตรายต่างๆ  เป็นการฝึกจิต หลอมใจให้เข้มแข็ง มั่นคงด้วยศีลสมาธิปัญญาศรัทธาความเพียร  มีสติระลึกรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก  ไม่ประมาทในชีวิต ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญใจ  กายสงัด จิตสงบ พบสันติสุข             




 

Create Date : 09 พฤษภาคม 2555    
Last Update : 9 พฤษภาคม 2555 17:04:59 น.
Counter : 523 Pageviews.  

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.