Life and Time is running, what the hell you're doing?
space
space
space
space

สมาธิ


สมาธิ : ความจริงที่มีอยู่ในตน

สมาธิ หมายถึงจิตที่มีอารมณ์เดียว ว่างเปล่าจากกิเลศใดๆ ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว มนุษย์สามารถเข้าถึงได้ แต่การเข้าถึงนั้น ต้องประกอบด้วยปริยัติ(ความรู้), ปฏิบัติ(การกระทำ)อันจะนำไปสู่ปฏิเวธ(การบรรลุ) มีคำกล่าวถึงการอธิบายเรื่องสมาธิไว้ว่าเหมือนกับผู้ที่ว่ายน้ำเป็นย่อมเข้าใจความรู้สึกก่อนจะจมน้ำ และสามารถอธิบายถึงการว่ายน้ำได้ฉันนั้น.

ปริยัติ (ปริยตฺติ-การเล่าเรียน)คือการศึกษาจนเกิดความรู้ และนำความรู้นั้นมาพิจารณา

ปฏิบัติ (ปฏิปตฺติ-การปฏิบัติ)คือการพิจารณาความรู้นั้นอย่างละเอียดในทุกแง่ทุกมุม

ปฏิเวธ (ปฏิเวธ-การบรรลุ) คือการเข้าถึงสิ่งที่พิจารณานั้นอย่างแจ่มแจ้งหมดข้อสงสัยใดๆ

ข้อพิสูจน์ พระพุทธเจ้า ตรัสรู้อริยสัจ ๔, นักวิทยาศาสตร์ ค้นพบสิ่งที่นำมาใช้ประโยชน์แก่มวลมนุษย์, ตัวเราเองสามารถบรรลุถึงความเข้าใจในสิ่งที่ยากได้ เช่นข้อสอบ ฯลฯ

สมาธิ จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มหาศาลอันมีอยู่ในตน สามารถฝึกฝนและเข้าถึงได้ และธรรมที่ควรนำมาพิจารณา ก็ควรเป็นธรรมที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งก็คือพระธรรม-คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า.

วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ
สังขารย่อมล่วงไป ท่านทั้งหลายพึงสำเร็จประโยชน์ด้วยความไม่ประมาทเถิด
ปัจฉิมวาจา ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

* ข้อเขียนต่อแต่นี้ คือการรวบรวมความรู้ที่ได้จากตำหรับตำราที่เราท่านทราบกันดีไ ม่ว่าจะเป็นพระไตรปิฎกทั้งหลาย คัมภีร์วิสุทธิมรรค ธรรมบท ตลอดจนข้อเขียนและประสบการณ์จากบรรดาพระมหาเถระผู้ทรงคุณทั้งหลาย แล้วนำมาเรียบเรียงใหม่ให้มีความกระชับและเข้าใจง่ายขึ้น ด้วยประสงค์จะยืนยันคำพรรณาพระธรรมคุณที่ว่า“... ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ติ ฯ *

ปริยัติ คือความรู้ทั้งหลายที่ได้มาจากการศึกษาการได้ยินได้ฟัง ตลอดจนการค้นคว้าด้วยตนเอง สำหรับปริยัติที่สำคัญเพื่อการปฏิบัติสมาธิอย่างถูกต้องนั้น ได้แก่

1. ความรู้เรื่องความทุกข์ และการดับทุกข์

2. ความรู้เรื่องการปฎิบัติ และลำดับแห่งสมาธิ

ปฏิบัติ คือการกระทำเพื่อการเข้าถึงปริยัตินั้นๆ ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและความพยายามอย่างแรงกล้าเพื่อการเข้าถึง ปฏิเวธ คือการรู้แจ้งในธรรมนั้นๆ หรือการบรรลุธรรมในที่สุด.

1. ความรู้เรื่องทุกข์ และการดับทุกข์

นับตั้งแต่มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นในโลก ความทุกข์ก็เกิดขึ้นด้วยและติดตามความเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตมาด้วยเช่นกัน จนมาถึงยุคของมนุษย์ สมองมนุษย์มีการพัฒนามากขึ้น สามารถคิดได้ด้วยตนเอง แล้วสั่งสอนกันมามีความเชื่อกันมาตามลำดับ

จนถึงสมัยพุทธกาลเมื่อสองพันกว่าปีที่ผ่านมา เจ้าชายสิทธัตถะโอรสแห่งกษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์แห่งชมพูทวีปหรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน เกิดความสลดใจในความทุกข์แห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตายที่มนุษย์ไม่อาจหนีพ้นได้ จึงสละราชสมบัติออกบวชเป็นบรรพชิต ด้วยประสงค์จะแสวงหาทางดับทุกข์ตามแนวทางของนักบวชในสมัยนั้น

พระสิทธัตถะได้ปฏิบัติทุกกรกิริยาเป็นเวลา ๖ ปีเห็นว่าไม่มีทางจะตรัสรู้ได้ จึงหันมาปฏิบัติทางจิต โดยการทำจิตให้เป็นสมาธิแล้วใช้สมาธิเป็นบาทในการพิจารณาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกิดและดับแห่งทุกข์ตามความเป็นจริง จนเกิดการตรัสรู้ “อริยสัจ ๔” หรือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ คือ

1.1 ทุกข์ คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจที่เกิดขึ้นแก่ตน

1.2 ทุกข์สมุทัย คือเหตุแห่งการเกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา คือความทะยานอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากไม่เป็น อันเนื่องมาแต่การสืบต่อของ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตน ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ ตามลำดับ

1.3 ทุกข์นิโรธ คือเหตุแห่งการดับทุกข์ คือดับที่ต้นเหตุอันได้แก่ตัณหา

1.4 ทุกข์นิโรธคามินีปฏิปทา หรือมรรค ๘ คือทางแห่งการดับทุกข์ มี ๘ ประการ ได้แก่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ (เรียกโดยย่อว่า ทุกข์สมุทัย นิโรธ มรรค)

เมื่อพระองค์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงพิจารณาทบทวนอริยสัจ ๔ อย่างลึกซึ้งอีกหลายครั้ง จึงนำมาสั่งสอนปวงชนให้รู้ตาม เมื่อปฏิบัติตามก็เกิดผลสำเร็จเช่นที่พระองค์ทรงมุ่งหวังไว้ จึงเป็นเหตุให้ศาสนาพุทธดำรงอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน พวกเราที่เกิดมาในยุคนี้ จึงควรที่จะเข้าถึงศาสนาพุทธให้มากกว่าที่ควร เข้าหาการปฏิบัติจนเกิดความรู้แจ้ง โดยเริ่มจากการเข้าถึงปริยัติดังต่อไปนี้

1.1 ทุกข์ ได้แก่ความไม่สบายกาย เช่น อาการปวดหัวตัวร้อนจากพิษไข้, อาการปวดเมื่อยจากการทำงานหนัก หรือประสบกับอุบัติเหตุหรือการทะเลาะวิวาท เป็นต้น ส่วนความไม่สบายใจนั้น ได้แก่อารมณ์อันไม่พึงปรารถนาที่เกิดขึ้น เช่นความโกรธ ความเกลียด ความอิจฉาริษยา ความอาฆาตแค้นเป็นต้น ซึ่งที่มาของทุกข์เหล่านี้ก็คือสมุทัยนั่นเอง

1.2 สมุทัย คือสาเหตุของทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น และที่มาของสาเหตุเหล่านี้ สามารถอธิบายได้ดังนี้

1.2.1 อวิชชา หมายถึงความไม่รู้ ตรงข้ามกับความรู้ คือวิชชา ความไม่รู้นี้หมายรวมถึงสิ่งที่นอกเหนือการควบคุมของจิตใจ สิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อนและสิ่งที่แอบซ่อนอยู่ในจิตใจของเราทั้งด้านดีและเลวด้วย เมื่อไม่รู้ก็เป็นสาเหตุแห่งปัจจัยตัวที่สองตามมา

1.2.2 สังขาร คือการปรุงแต่งแห่งจิต สังขารนี้สามารถบงการให้จิตคิดอะไรไปตามความไม่รู้หรืออวิชชาตามความดีความเลวที่มีอยู่ในตน(DNA.) สังขารจะทำหน้าที่ปรุงแต่งจิตของเรา(เช่นเดียวกับ RAM. ในคอมพิวเตอร์ ส่วน ROM. ก็คือความดีความเลวที่เราได้รับมาจากบรรพบุรุษนั่นเอง) ที่สำคัญคือ เราไม่อาจไปสั่งหรือควบคุมสังขารให้ทำอะไรตามใจเราได้เลย

1.2.3 วิญญาณ คือความจำได้ ระลึกได้อันเนื่องมาจากความจำในวัยเด็ก รวมไปถึงสิ่งที่อยู่ในสายเลือด(DNA.) ซึ่งความจำเหล่านี้จะปรากฏขึ้นให้สังขารทำหน้าที่ปรุงแต่งต่อไปโดยเริ่มจากความไม่รู้ในอันดับแรก และรวมทั้งวิญญาณที่จะเกิดอันเนื่องมาจากปัจจัยต่อจากนี้คือ

1.2.4 นามรูป คือสิ่งที่สัมผัสได้ มองเห็นได้ จับต้องได้อันเนื่องมาจากการสัมผัสของปัจจัยต่อไปนี้คือ

1.2.5 สฬายตนะ คือสิ่งที่เชื่อมต่อกันระหว่างอายตนะภายนอก ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับอายตนะภายใน ได้แก่ สิ่งที่ตาเห็น สิ่งที่หูได้ยิน สิ่งที่จมูกได้กลิ่น สิ่งที่ลิ้นรับรส สิ่งที่กายถูกต้อง และสิ่งที่ใจรู้สึกได้ สิ่งเหล่านี้เรียกว่าวิญญาณ และเป็นปัจจัยให้สังขารทำการปรุงแต่งต่อไป

1.2.6 ผัสสะ คือการสัมผัสหรือการรวมกันของสังขารและวิญญาณและเป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งเหล่านี้คือ

1.2.7เวทนา คืออารมณ์อันถูกสังขารปรุงแต่งแล้ว เกิดเป็นอารมณ์ดี เช่นความดีใจ ความพอใจ หรืออารมณ์ร้าย เช่นความเสียใจ ความไม่พอใจ เป็นต้น จึงเป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งนี้ตามมาคือ

1.2.8 ตัณหา คือความทะยานอยากอันเนื่องมาจากความดีความเลวที่มีอยู่ในตน เช่นเมื่อเกิดอารมณ์พอใจในสิ่งใด ก็เกิดความอยากครอบครองในสิ่งนั้น หรือเกิดอารมณ์ไม่พอใจในสิ่งใด ก็ไม่อยากได้ อยากกำจัดสิ่งนั้น จึงเป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งนี้ตามมาคือ

1.2.9 อุปาทาน คือการยึดมั่นถือมั่น ว่าสิ่งนี้เป็นของตน จึงเป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งนี้ตามมาคือ

1.2.10 ภพ คือความเจริญขึ้น หรือการเกิดที่ชัดเจนขึ้น เปรียบเสมือนกระดานดำที่มีภาพหรืออักษรอยู่(Story board) และเป็นที่เกิดของสิ่งเหล่านี้คือ

1.2.11 ชาติ คือการเกิดขึ้นแล้ว หมายรวมถึงเรื่องๆ หนึ่งที่จะเกิดขึ้น ชาติๆ หนึ่งของมนุษย์ หรือแม้แต่โลกๆ หนึ่งของสิ่งมีชีวิต ในชาติๆ หนึ่งนี้ ย่อมจะมีสิ่งเหล่านี้รวมอยู่ด้วย ได้แก่ โศกะ-ความโศกเศร้าเสียใจ, ปริเทวะ-ความร้องไห้คร่ำครวญ, อุปายาส-ความตรอมใจ เรื่อยไปจนถึงสิ่งสุดท้ายคือ

1.2.12 ชรา-มรณะ คือความร่วงโรยไปจนถึงการสิ้นสุดแห่งเรื่องราว หรืออายุขัย หรือแม้แต่ชาติภพนั้นๆ.

นี่คือห่วงโซ่แห่งความทุกข์ หรือปัจจัยสืบต่อที่ทำให้เกิดทุกข์ ซึ่งแต่ละปัจจัยที่เกิดขึ้นนั้น มนุษย์ไม่อาจไปบังคับหรือสั่งให้เป็นไปตามต้องการได้  สิ่งเดียวที่จะดับห่วงโซ่นี้ได้ ก็คือนิโรธ

1.3 นิโรธ คือการดับทุกข์ ได้แก่การดับที่ต้นเหตุ คือดับที่สมุทัยหรืออวิชชานั่นเอง แต่นิโรธอาจไม่ประสบความสำเร็จ หากปราศจากทางดำเนินเพื่อการดับทุกข์ต่อไปนี์

1.4 มรรค คือปฏิปทา หรือทางดำเนินไปเพื่อการดับทุกข์ มี ๘ ประการ ได้แก่

1.4.1 สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คือมีความเห็นหรือความเชื่อมั่นที่ถูกต้อง เช่นมีความเห็นชอบในอริยสัจ ๔ มีความเชื่อในเรื่องของบาปบุญ มีการศึกษาอย่างลึกซึ้งไม่โอนเอียงไปในทางที่ผิด ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นการนำไปสู่การบรรลุธรรมขั้นสูงต่อไป

1.4.2 สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คือดำริที่จะออกจากกาม(ความพอใจในสิ่งที่ตาเห็นหูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รับรส กายได้สัมผัส ใจได้รับรู้), ดำริที่จะไม่พยาบาท(คือความโกรธเกลียด อาฆาตต่อผู้หนึ่งผู้ใด),ดำริที่จะไม่เบียดเบียน(คือสร้างความเดือดร้อนให้กับใครๆ)

1.4.3 สัมมาวาจา ความมีวาจาชอบ คือไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ อันจะเป็นการสร้างความพอใจให้กับผู้ฟัง มิใช่สร้างศัตรู

1.4.4 สัมมากัมมันตะ ความตั้งตนไว้ชอบ คือดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดี

1.4.5 สัมมาอาชีวะ ความมีการงานชอบ คือหลีกเลี่ยงจากการงานที่ผิดกฎหมายและศีลธรรม หรืองานที่เบียดเบียนผู้อื่น

1.4.6 สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ คือมีความเพียรใน ๔ สถานได้แก่ เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วในใจ, เพียรระวังมิให้อกุศลเกิด, เพียรสร้างกุศลให้เกิดขึ้น, เพียรรักษากุศลที่เกิดแล้วให้งอกงามไพบูลย์ ซึ่งจะเป็นเกราะกำบังใจมิให้คิดในสิ่งที่เลวร้ายในเบื้องต้น

1.4.7 สัมมาสติ ความระลึกชอบ คือระลึกอยู่เสมอว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ไม่เผลอไผลปล่อยใจไปกับสิ่งอื่น อันได้แก่การปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่กายานุปัสนา-มีสติที่เป็นไปในกาย มีใจจดจ่ออยู่กับความเคลื่อนไหวของกายเช่นรับรู้ว่ากำลังเดิน, ยืน, นั่ง, นอน เป็นต้น,เวทนานุปัสนา-มีใจจดจ่ออยู่กับอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่นโกรธก็รู้ว่าโกรธ,เกลียดก็รู้ว่าเกลียด เป็นต้น, จิตตานุปัสนา-มีใจจดจ่ออยู่กับความคิดที่เกิดขึ้นเช่นกำลังฟุ้งซ่านก็รู้, กำลังหงุดหงิดก็รู้ เป้นต้น, ธรรมานุปัสนา-มีจิตพิจารณาธรรมที่เกิดขึ้นแก่ตนเป็นต้น ซึ่งสัมมาสตินี้ จะทำให้ไม่เป็นผู้พลั้งเผลอ ไม่ประมาท รักษาตนจากอุบัติเหตุและเภทภัยต่างๆ ได้

1.4.8 สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นชอบ(แห่งจิต)คือการทำจิตของตนให้ว่างเปล่าจากกิเลศและอกุศลทั้งหลาย เมื่อจิตเป็นสมาธิก็จะเกิดพลังในการพิจารณาสิ่งต่างๆ ได่ดีกว่าจิตในสภาวะปกติที่มักจะมีความฟุ้งซ่านอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ ในสภาวะแห่งสัมมาสมาธินี้เอง แม้คนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงได้หากมีการปฏิบัติที่เหมาะสม มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะดับทุกข์ให้ได้ มรรค ๘ นี้คือทางสายเอกที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนว่าสามารถเข้าถึงการดับทุกข์ได้จริง เป็นปรมัตต์ คือความจริงอันยิ่ง หรือความจริงที่หาข้อโต้แย้งมิได้ ดังนี้

2. ความรู้เรื่องการปฎิบัติ และลำดับแห่งสมาธิ

ในการปฏิบัตินั้น โดยทั่วไปได้แก่การนั่งสมาธิ-เดินจงกรม ซึ่งจุดประสงค์หลักคือทำให้จิตว่าง ปราศจากกิเลศต่างๆ ที่มีอยู่ในจิตใจ เนื่องจากกิเลศในใจเรานั้นมีการเกิดและดับอยู่ตลอดเวลานับตั้งแต่เราเกิด จึงกลายเป็นความเคยชินของจิตที่ไม่สามารถหยุดการคิดลงได้ง่ายๆ ดังนั้นในการอบรมจิตนี้จึงต้องมีอุบายต่างๆ ที่จะทำให้จิตคิดอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียวก่อน จากนั้นจิตก็จะค่อยๆ ดิ่งลงสู่ความสงบได้ในที่สุด อุบายต่างๆ เหล่านี้ได้แก่ คำภาวนาทั้งหลาย, กสิณ๑๐, อสุภ ๑๐, อนุสสติ ๑๐ เป็นต้น

ส่วนการเดินจงกรม คือการเดินกลับไป-กลับมาเพื่อให้จิตรวมอยู่กับการก้าวเดินและการภาวนาไปด้วย การเดินจงกรมนั้นทำให้จิตสงบลงได้เพียงเบื้องต้นเท่านั้นเนื่องจากร่างกายยังเคลื่อนไหวอยู่ ดังนั้นการปฏิบัติสมาธิเพื่อให้เข้าถึงสมาธิได้ก็มีแต่การนั่งเท่านั้น โดยมีหลักสำคัญคือให้นั่งตัวตรง การนั่งตัวตรงนี้จะทำให้กระดูกสันหลังเรียงต่อกันลงมาเป็นแนวตรง ทำให้นั่งได้นาน ควรให้เท้าขวาทับเท้าซ้ายเพื่อการถ่ายน้ำหนักที่ดี ควรวางมือไว้ในตำแหน่งที่ไม่กดทับส่วนอื่นเช่นที่หัวเข่าทั้งสองข้างหรือประสานมือวางไว้บนตัก ก่อนนั่งควรขยับร่างกายให้เหมาะที่สุดก่อน เสื้อผ้าที่สวมใส่ก็ควรเป็นแบบสบายๆ ไม่อึดอัด สถานที่ควรเป็นที่สัปปายะ มีความเงียบสงบปราศจากเสียงรบกวนรวมทั้งจากยุงและแมลง ควรมีการระบายอากาศที่ดี ทั้งนี้ก็เพื่อการนั่งให้ได้นานที่สุดจนจิตสงบลง ตามสถิติอยู่ที่ประมาณ ๓๐ นาที

ลำดับแห่งสมาธิ

เท่าที่ปรากฏในพระไตรปิฎก มีการอธิบายถึงลำดับแห่งสมาธิไว้ว่า เมื่อจิตสงบลงแล้ว กิเลศต่างๆ ในจิตก็สงบลงด้วย กิเลศเหล่านี้เรียกว่า นิวรณ์ ๕ หรือเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี ได้แก่

1. กามฉันทะ คือความยินดีพอใจในสิ่งที่รับรู้ทางตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ

2. พยาบาท คือความโกรธ เกลียดไม่พอใจในบุคลใดๆ

3. ถีนมีทธะ คือความมึนซึม ง่วงเหงาหาวนอน

4. อุทัจจกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ

5. วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัยในทุกเรื่อง

นิวรณ์ ๕ นี้แหละคือกิเลศซึ่งอยู่ในจิตใจของมนุษย์ผู้ยังไม่รู้เท่าทันที่จะหยุดมัน มีการเกิด-ดับอยู่ตลอดเวลา หมุนเวียนอยู่ในจิตใจเราตั้งแต่เกิด ต่อเมื่อเราหยุดคิดอย่างจริงจังนั่นแหละมันก็จะหยุดลงได้ แต่ไม่นานก็จะเกิดขึ้นอีก ดังนั้นนิวรณ์ ๕ จึงเป็นอุปสรรคเบื้องต้นที่นักปฏิบัติจะต้องหยุดมันให้ได้ก่อน ซึ่งย่อมหมายถึงการเข้าใกล้แห่งสมาธินั่นเอง

เมื่อนิวรณ์ ๕ สงบลงแล้ว พระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า จิตจะดิ่งลงสู่สมาธิเบื้องต้นหรือขณิกสมาธิ แล้วเข้าสู่สมาธิจวนเจียนหรืออุปจารสมาธิ จากนั้นจะเข้าสู่สมาธิแนบแน่นหรืออัปปนาสมาธิตามลำดับ บางตำราจะเรียกว่าบริกรรมนิมิต, อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตตามลำดับเช่นกัน ในลำดับแห่งอุคคหนิมิตนั้นบางคนอาจเห็นรูปคล้ายกลุ่มควัน, เปลวเทียนเคลื่อนไหวอยูภายในและมีความชัดเจนขึ้นในระหว่างปฏิภาคนิมิต และหายไปเมื่อเข้าถึงปฏิภาคนิมิต พระอรรถกถาจารย์ท่านเปรียบเหมือนการตอกตะปูลงในเนื้อไม้ ๓ ระดับ ในระดับสุดท้ายคืออัปปนาสมาธินั้น คือการตอกตะปูลงไปจนสุด เทียบได้กับการดิ่งของจิตนั่นเอง

จากนั้นจิตจะเข้าสู่ ปฐมฌาน หรือฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ ได้แก่ วิตก(ความตรึกได้แก่คำภาวนา), วิจาร(ความตรอง ได้แก่อารมณ์แห่งการภาวนา), ปิติ(ความยินดี ได้จากสารแห่งความสุขที่ร่างกายหลั่งออกมา/เอ็นโดรฟิน จะรู้สึกเหมือนตัวพองหรือตัวลอย), สุข(ความสุข อันเกิดแต่ความยินดีนั้น), เอกัคคตา(ความมีอารมณ์เดียวแห่งจิต)

จากนั้นจิตจะเข้าสู่ ทุติยฌาน หรือฌานที่ ๒ มีองค์ ๓ คือปิติ, สุข, เอกัคคตา เพราะวิตกและวิจารสงบไป

จากนั้นจิตจะเข้าสู่ ตติยฌาน หรือฌานที่ ๓ มีองค์ สุข, เอกัคคตาเพราะปิติสงบไป

และจากนั้นจิตจะเข้าสู่ จตุตถฌาน หรือ ฌานที่ ๔ มีองค์เดียวคือเอกัคคตาเพราะสุข สงบไป
ณ จุดนี้คือจุดที่จิตสงบที่สุด มีพลังที่สุด พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ก็ที่สภาวะนี้เอง...

**********************

... ขอนำท่านผู้อ่านไปสู่พระธรรมเทศนาชื่อว่า สามัญญผลสูตรซึ่งผู้เขียนอัญเชิญมาจากพระไตรปิฏกฉบับสังคายนา พ.ศ.๒๕๓๐ (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธ์วรรค) เล่ม ๙ หน้า ๖๐ ซึ่งมีเนื้อหาใจความที่สมบูรณ์ ประหนึ่งว่าฟังจากพระโอษฐ์ของพระบรมศาสดาทีเดียว...

ความหมายของสามัญญผลนั้นหมายถึง ผลแห่งความเป็นสมณะ(สมณะ หมายถึงสงฆ์ผู้บรรลุแล้วซึ่งมรรค ๔ ผล ๔, สามัญฺญฺหมายถึง มรรค ๔ ผล ๔) อันเป็นพระสูตร(พระธรรมเทศนา)ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโปรดพระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์มคธ ขณะประทับอยู่ ณ ป่ามะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจจ์

(...เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิบุตรเสด็จเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับแล้ว ลำดับนั้นท้าวเธอทรงอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทรงประณมอัญชลีแก่ภิกษุสงฆ์ ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ทรงสนทนาถึงครูทั้งหกที่พระองค์เคยพบและได้ตรัสถามถึงสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ แต่ท่านเหล่านั้นกลับตอบส่ายไป เปรียบเหมือนเขาถามถึงมะม่วงกลับตอบขนุนสำมะลอ หรือเขาถามถึงขนุนสำมะลอกลับตอบมะม่วงฉะนั้น ดังนี้แล้วแม้ไม่ยินดีแต่ก็มิได้พูดแสดงความไม่พอใจ ไม่เชื่อถือ ไม่ยอมรับวาจานั้น...)

สามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อที่หนึ่ง

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอทูลถามพระองค์ว่า ศิลปเป็นอันมากเหล่านี้คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู พนักงานเชิญธง พนักงานจัดกระบวนทัพ พนักงานจัดส่งเสบียง พวกอุคคหราชบุตร(บุตรของผู้มีอำนาจ) พลอาสา ขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะหนัง พวกบุตรทาส พวกทำขนม ช่างกัลบก พนักงานเครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่างหม้อ นักคำนวณ พวกนักการบัญชี หรือศิลปศาสตร์เป็นอันมากแม้อย่างอื่นใดที่มีคติเหมือนอย่างนี้ คนเหล่านั้นย่อมอาศัยผลแห่งศิลปศาสตร์ที่เห็นประจักษ์เลี้ยงชีพในปัจจุบัน ด้วยผลแห่งศิลปศาสตร์นั้น เขาย่อมบำรุงตน บิดามารดา บุตรภรรยา มิตรสหายให้เป็นสุขอิ่มหนำสำราญ บำเพ็ญทักษิณาทานอันมีผลอย่างสูง เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดีมีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลายฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจบัญญัติสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันเหมือนอย่างนั้นได้หรือไม่พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่าอาจอยู่ มหาบพิตร แต่ในข้อนี้อาตมภาพจะขอย้อนถามมหาบพิตรก่อนโปรดตอบตามที่พอพระทัยเถิด มหาบพิตร พระองค์จะเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน สมมุติว่ามหาบพิตรมีบุรุษทาสกรรมกร ต้องตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยเฝ้าฟังพระบัญชาว่าจะโปรดให้ทำอะไร ต้องประพฤติให้ถูกพระทัย ต้องเพ็ดทูลคำที่ไพเราะ ต้องคอยเฝ้าสังเกตุพระพักตร์ เขาจะมีความเห็นอย่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์นัก น่าแปลกใจนัก ความจริงพระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าพระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิบุตรพระองค์นี้เป็นมนุษย์ แม้เราก็เป็นมนุษย์ แต่พระองค์ท่านทรงเอิบอิ่มพรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยเบญจกามคุณดุจเทพเจ้า ส่วนเราสิเป็นทาสรับใช้พระองค์ท่าน ต้องตื่นก่อนนอนทีหลัง ต้องคอยฟังพระบัญชาว่าจะโปรดให้ทำอะไรต้องประพฤติให้ถูกพระทัย ต้องกราบทูลไพเราะ ต้องคอยเฝ้าสังเกตุพระพักตร์

เราพึงทำบุญไว้จะได้เป็นเหมือนพระองค์ท่าน ถ้ากระไรเราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์(ผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด) ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วเป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจาสำรวมใจ อยู่สันโดษด้วยอาหารพอประทังหิว และผ้าพอคุ้มกายเป็นอย่างยิ่ง ยินดียิ่งในความสงัด ถ้าพวกราชบุรุษทรงกราบทูลถึงพฤติการณ์ของเขาอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ขอพระองค์พึงทรงทราบเถิด บุรุษผู้เคยเป็นทาสกรรมกรของพระองค์ ผู้ตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยฟังพระบัญชาว่าจะโปรดให้ทำอะไร ประพฤติถูกพระทัย กราบทูลไพเราะ คอยเฝ้าพระพักตร์อยู่นั้น เขาปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว เป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อยู่สันโดษด้วยอาหารพอประทังหิว ด้วยผ้าพอคุ้มกายเป็นอย่างยิ่ง ยินดียิ่งในความสงัด มหาบพิตรจะพึงตรัสอย่างนี้เทียวหรือว่า เฮ้ย เจ้าคนนั้น จงมารับใช้ข้า จงมาเป็นทาสและกรรมกรของข้า จงตื่นก่อนนอนทีหลัง จงคอยฟังบัญชาว่าจะให้ทำอะไร ประพฤติให้ถูกใจ พูดไพเราะ คอยเฝ้าสังเกตุดูหน้าข้าอีกตามเดิม

พระเจ้าอชาตศัตรูทูลว่า จะทำเช่นนั้นไม่ได้เลยพระเจ้าข้า อันที่จริงหม่อมฉันเสียอีกควรจะไหว้เขา ควรจะลุกรับเขา ควรจะเชื้อเชิญให้เขานั่ง ควรจะบำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาเสนาะ(ที่อยู่อาศัยที่นั่งที่นอน)และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร(ยาและอุปกรณ์รักษาโรค)ควรจะจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองเขาอย่างเป็นธรรม

มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนั้น สามัญญผลที่เห็นประจักษ์จะมีหรือไม่

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้นสามัญญผลที่เห็นประจักษ์จึงมีอยู่อย่างแน่แท้

ดูก่อนมหาบพิตร นี่แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันซึ่งอาตมภาพบัญญัติถวายมหาบพิตรเป็นข้อแรก

สามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อที่สอง

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจบัญญัติสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันแม้ข้ออื่นให้เหมือนอย่างนั้นได้อีกหรือไม่

อาจอยู่ มหาบพิตร แต่ในข้อนี้ อาตมภาพจะขอย้อนถามมหาบพิตรก่อน โปรดตอบตามที่พอพระทัย มหาบพิตร พระองค์จะทรงเข้าพระทัยข้อนั้นเป็นไฉน สมมุติว่ามหาบพิตรพึงมีบุรุษเป็นชาวนา เป็นคฤหบดี ซึ่งเสียภาษีอากรเพิ่มพูนพระราชทรัพย์ เขาจะมีความเห็นอย่างนี้ว่า คติของบุญ วิบากของบุญน่าอัศจรรย์นัก น่าแปลกใจนัก ความจริงพระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าพระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิบุตรพระองค์นี้เป็นมนุษย์ แม้เราก็เป็นมนุษย์ แต่พระองค์ท่านทรงเอิบอิ่มพรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยเบญจกามคุณดุจเทพเจ้า ส่วนเราสิเป็นชาวนา เป็นคฤหบดี ต้องเสียภาษีอากรเพิ่มพูนพระราชทรัพย์

เราพึงทำบุญไว้จะได้เป็นเหมือนพระองค์ท่าน ถ้ากระไรเราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วเป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อยู่สันโดษด้วยอาหารพอประทังหิวและผ้าพอคุ้มกายเป็นอย่างยิ่ง  ยินดียิ่งในความสงัด ถ้าพวกราชบุรุษทรงกราบทูลถึงพฤติการณ์ของเขาอย่างนี้ว่า ขอเดชะขอพระองค์พึงทรงทราบเถิด บุรุษผู้เป็นชาวนา เป็นคฤหบดีซึ่งเสียภาษีอากรเพิ่มพูนพระราชทรัพย์ของพระองค์อยู่นั้น เขาปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วเป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อยู่สันโดษด้วยอาหารพอประทังหิวด้วยผ้าพอคุ้มกายเป็นอย่างยิ่ง ยินดียิ่งในความสงัด มหาบพิตรจะพึงตรัสอย่างนี้เทียวหรือว่า เฮ้ยเจ้าคนนั้น จงมารับใช้ข้า จงมาเป็นชาวนา เป็นคฤหบดีเสียภาษีอากรเพิ่มพูนราชทรัพย์ข้าตามเดิม

พระเจ้าอชาตศัตรูทูลว่า จะทำเช่นนั้นไม่ได้เลยพระเจ้าข้า อันที่จริงหม่อมฉันเสียอีกควรจะไหว้เขา ควรจะลุกรับเขา ควรจะเชื้อเชิญให้เขานั่ง ควรจะบำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาเสนาะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ควรจะจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองเขาอย่างเป็นธรรม

มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนั้น สามัญญผลที่เห็นประจักษ์จะมีหรือไม่

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้นสามัญญผลที่เห็นประจักษ์จึงมีอยู่อย่างแน่แท้

ดูก่อนมหาบพิตร นี่แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน ซึ่งอาตมภาพบัญญัติถวายมหาบพิตรเป็นข้อที่สอง

สามัญญผลที่สำคัญกว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจบัญญัติสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันแม้ข้ออื่นที่ดียิ่งกว่า สำคัญยิ่งกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์เหล่านี้ได้อีกหรือไม่

อาจอยู่ มหาบพิตร ถ้าอย่างนั้นมหาบพิตรจงคอยสดับ จงตั้งพระทัยให้ดี อาตมภาพจักกล่าว

ครั้นพระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าพระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิบุตร ทูลสนองพระพุทธดำรัสแล้ว

พระพุทธเจ้าได้ตรัสดังนี้ว่า ดูก่อนมหาบพิตร พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบถึงพร้อมด้วยวิชชา(ความรู้) และจรณะ(ความประพฤติ) เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม

พระตถาคตพระองค์นั้นทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลกมารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งเอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุดทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

คฤหบดีบุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่งย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่าฆราวาสคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่งการที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัดมิใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไรเราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต

สมัยต่อมาเขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต

เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีวะบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีลคุ้มครองทวารในอินทรีย์(สิ่งที่เป็นใหญ่ในการรับรู้ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ)ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ

จุลศีล

ดูก่อนมหาบพิตร อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละเว้นการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางศัสตรามีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๒. เธอละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๓. เธอละกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน

๔. เธอละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงรักษาคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักเป็นฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก

๕. เธอละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้นเพื่อให้คนเหล่านี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้เพื่อให้คนเหล่าโน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนที่พร้อมเพรียงกัน ยินดีเพลิดเพลินต่อคนที่สมานสามัคคี กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน

๖. เธอละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เสนาะหู ชวนให้รักจับใจ เป็นคำของชาวเมืองที่คนส่วนมากรักใคร่พอใจ

๗. เธอละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริงอ้างอิงหลักอิงธรรมอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้างที่กำหนดประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลอันควร

๘. เธอละเว้นจากการพรากพืชคามและภูตคาม

๙. เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดการฉันในเวลาวิกาล

๑๐. เธอเว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล

๑๑. เธอเว้นขาดจากการทัดทรง ประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอมและเครื่องประทินผิว

๑๒. เธอเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นอนอันสูงใหญ่

๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน

๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ

๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ

๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี

๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส

๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ

๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร

๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับโค ช้าง ม้าและลา

๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่สวน

๒๒. เธอเว้นขาดจากการรับเป็นสื่อและการรับใช้

๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อการขาย

๒๔. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องชั่งตวงวัด

๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง การตลบตะแลง

๒๖. เธอเว้นขาดจากการฆ่า การปล้นและการกรรโชก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

จบจุลศีล

มัชฌิมศีล

๑. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังพรากพืชคามและภูตคามเห็นปานนี้ คือพืชเกิดแต่เหง้า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ดเป็นที่ครบห้า แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๒. ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังบริโภคของที่ทำการสะสมไว้เห็นปานนี้คือสะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่องประทินผิว สะสมของหอม สะสมอามิส

๓. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือการฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคนจัณฑาล(คนต่างวรรณะ, คนต่ำช้า) การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง แข่งม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ ประกวดนกกระทา ท่ารำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ

๔. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเห็นปานนี้ คือเล่นหมากรุกแถวละแปดตา แถวละสิบตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถน้อยๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่นธนูน้อยๆ เล่นเขียนทายกัน เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ

๕. ภิกษุเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่เห็นปานนี้ คือเตียงมีเท้าสูงเกินประมาณ เตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย พรมทำด้วยขนสัตว์ เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีลวดลายเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น  เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะและเสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังเสือ เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง

๖. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบการประดับตกแต่งร่างกายอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังสนใจการประดับตกแต่งร่างกายอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัวเห็นปานนี้ คืออบตัว ไคลอวัยวะ อาบน้ำหอม นวดส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้ถือ ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้มีดสองคม ใช้ร่ม สวมรองเท้าอันสวยงาม ติดกรอบหน้าปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้าขาวปล่อยชายยาว

๗. ภิกษุเว้นขาดจากติรัจฉานกถา(ถ้อยคำที่ไม่สมควรแก่สมณะ) เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังประกอบดิรัจฉานกถาเห็นปานนี้ คือพูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องบ้าน เรื่องยาน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและเรื่องความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ

๘. ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังขวนขวายกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งเห็นปานนี้ เช่นกล่าวว่าท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้าสิรู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อนท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลังท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสียถ้าสามารถ

๙. ภิกษุเว้นขาดจากการเป็นสื่อและการรับใช้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังขวนขวายประกอบการรับเป็นสื่อและการรับใช้เห็นปานนี้ คือรับเป็นสื่อให้พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีและกุมารว่า ท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่นั้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ในที่โน้นมา

๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและการพูดเลียบเคียง เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง พูดหว่านล้อม พูดและเล็มแสวงหาลาภด้วยลาภ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

จบมัชฌิมศีล

มหาศีล

๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายลางดีลางร้าย ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพีธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะพื้นที่วิชาการปกครอง เป็นหมอปลุกเสกเป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงสัตว์ เป็นหมอเสกกันลูกศร แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๒. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะศัสตรา ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทายลักษณะสัตว์

๓. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักเสด็จออก พระราชาจักไม่เสด็จออก พระราชาภายในพระนครจักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกพระนครจักถอย พระราชาองค์นี้จักมีชัย พระราชาองค์นี้จักปราชัยเพราะเหตุอย่างนี้ๆ

๔. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือพยากรณ์ว่าจักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีอุกาบาต มีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้

๕. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือพยาการณ์ว่าจักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษาหาได้ง่าย จักมีภิกษาหาได้ยาก จักมีความร่มย็น จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือคำนวณฤกษ์ยามคำนวณดวงชะตา จับยามหรือแต่งคำทำนาย และโลกายตศาสตร์(วิชาว่าด้วยเรื่องไม่น่าเชื่อต่างๆ)

๖. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือให้ฤกษ์อาวาหมงคล(การแต่งงานแบบหญิงมาสู่บ้านชาย)ให้ฤกษ์วิวาหมงคล(การแต่งงานแบบชายมาสู่บ้านหญิง) ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ให้หูไม่ได้ยินเสียงเป็นหมอดูทางกระจกวิเศษ เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ

๗. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกระเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกระเทย ทำพิธีปลูกเรือน รดน้ำมนต์ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย หุงน้ำมันหยอดหู ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยาชะแผล แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๘. ดูก่อนมหาบพิตร ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เลย เพราะศีลสังวรนั้นเปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้มูรธาภิเษก(พิธีหลั่งน้ำรดพระเศียรในพิธีราชาภิเษก) กำจัดราชศัตรูแล้วย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะราชศัตรูนั้น ดูก่อนมหาบพิตร ภิกษุก็ฉันนั้นนั่นแล สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้วย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆเพราะศีลสังวรณ์นั้น ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์(กองศีลอันประเสริฐ)นี้ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษภายใน ดูก่อนมหาบพิตร ด้วยประการอันกล่าวมานี้แลภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

จบมหาศีล

อินทรีย์สังวร

ดูก่อนมหาบพิตร อย่างไร ภิกษุได้ชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ดูก่อนมหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยจักษุ(ตา)แล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต(ส่วนรวม, โดยรวม) ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ(ส่วนประกอบ, รายละเอียด)ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ (การมองเห็น, สิ่งที่เห็น)ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌา(ความโลภ, ความอยาก) และโทมนัส (ความไม่สบายใจ, ความเศร้าใจ)ครอบงำได้นั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าสำรวมในจักขุนทรีย์

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ฟังเสียงด้วยโสต(หู)แล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะปฏิบัติเพื่อสำรวมโสตินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้.....

ภิกษุในธรรมวินัยนี้สูดดมกลิ่นด้วยฆานะ(จมูก)แล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ปฏิบัติเพื่อสำรวมฆานินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้.....

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ลิ้มรสด้วยชิวหา(ลิ้น)แล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะปฏิบัติเพื่อสำรวมชิวหินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้.....

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ถูกต้องโผฐฐัพพะ(กาย)ด้วยกายแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ปฏิบัติเพื่อสำรวมกายินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้.....

ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้แจ้งธรรมารมณ์(ใจ)ด้วยใจแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์(สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วกับใจ)ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้นั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุผู้ประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะ(ความห่างไกลจากศัตรู คือกิเลส)เช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสภายใน ดูก่อนมหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

สติสัมปชัญญะ

ดูก่อนมหาบพิตร อย่างไร ภิกษุได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ดูก่อนมหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว ในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดูก่อนมหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ

สันโดษ

ดูก่อนมหาบพิตร อย่างไร ภิกษุได้ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ ดูก่อนมหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มกาย ด้วยบิณฑบาตพออิ่มท้อง เธอจะไปไหนมาไหน พร้อมจะไปได้ทันที ดูก่อนมหาบพิตร สกุณปักษีจะบินไปไหนมาไหนก็ใช้แต่ปีกของตัวบินไปฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มกาย ด้วยบิณฑบาตพออิ่มท้อง เธอจะไปไหนมาไหนพร้อมจะไปได้ทันที ดูก่อนมหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ

ละนิวรณ์(เครื่องกั้นจิตมิให้บรรลุความดี มี ๕ คือ กามฉันทะ, พยาบาทถีนมิทธะ, อุทัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา)

ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรีย์สังวร สติสัมปชัญญะและสันโดษอันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมอาศัยเสนาเสนาะอันสงัด คือป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฎ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัตตาหารเธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า

เธอละความเพ่งเล็ง(หมายถึงละกามฉันทะ-ความยินดีในกาม)ในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้

ละความประทุษร้ายคือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาทได้

ละถีนมิทธะ(ความง่วงงุนมึนซึม)แล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมีทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมีทธะได้

ละอุทัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่าน)เป็นผู้ไม่มีความฟุ้งซ่าน มีจิตสงบในภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทัจจกุกกุจจะได้

ละวิจิกิจฉา(ความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย)แล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้

อุปมานิวรณ์ ๕

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนคนกู้หนี้มาลงทุนทำการงานจนประสบผลสำเร็จ เขาจึงใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนนั้นจนหมด ส่วนทรัพย์ที่เป็นกำไรเขาจะเหลือเก็บไว้สำหรับเลี้ยงดูบุตรภรรยา เขาจะมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้มาทำการงาน บัดนี้การงานของเราสำเร็จผลแล้ว เราได้ใช้หนี้ที่นำมาลงทุนหมดสิ้นแล้ว และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเรายังมีเหลือเก็บไว้สำหรับเลี้ยงดูบุตรภรรยาดังนี้  เขาจะมีความปราโมทย์ความโสมนัส มีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุฉันใด

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนคนป่วยเป็นไข้หนัก ได้รับความลำบาก เจ็บหนักบริโภคอาหารไม่ได้และร่างกายไม่มีกำลัง สมัยต่อมาเขาหายป่วย บริโภคอาหารได้และร่างกายกลับมีกำลังขึ้น เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราป่วยเป็นไข้ได้รับความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้และร่างกายไม่มีกำลัง บัดนี้เราหายป่วยแล้วบริโภคอาหารได้และร่างกายเป็นปกติ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ความโสมนัสมีความไม่มีโรคนั้นเป็นเหตุ ฉันใด

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนคนต้องโทษถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ สมัยต่อมาเขาพ้นโทษออกจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราต้องโทษถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ บัดนี้เราพ้นโทษออกจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัยแล้วและเราไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ความโสมนัสมีการพ้นจากเรือนจำนั้นเป็นเหตุ ฉันใด

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนคนที่ตกเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ สมัยต่อมาเขาพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น บัดนี้เราพ้นจากความเป็นทาสนั้นแล้ว พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ ดังนี้เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ความโสมนัส มีความเป็นไทแก่ตัวนั้นเป็นเหตุ ฉันใด

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนคนมีทรัพย์ มีโภคสมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้ บรรลุถึงหมู่บ้านอันร่มเย็นปลอดภัยโดยสวัสดี เขาจะพึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้นบรรลุถึงหมู่บ้านอันร่มเย็น ปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ความโสมนัสมีภูมิสถานอันร่มเย็นนั้นเป็นเหตุ ฉันใด

ดูก่อนมหาบพิตร ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ที่ยังละไม่ได้ในตน เหมือนหนี้ เหมือนโรคเหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร

และเธอเห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นโทษออกจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันร่มเย็นฉันนั้นแล

เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปิติ เมื่อมีปิติในใจกายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น

ปฐมฌาน

เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลปฐมฌาน(ฌานที่ ๑ การเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่ขั้นต้น มีองค์ ๕คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกคตา-ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว) มีวิตก(ความตรึก)มีวิจาร(ความตรอง) มีปิติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม เอิบอาบซาบซ่านด้วยปิติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่ปิติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน หรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ชำนาญจะพึงใส่จุณ(สิ่งที่บดละเอียดใช้ถูตัว)ลงในภาชนะสำริดแล้วพรมด้วยน้ำหมักไว้ ตกเวลาเย็น ก้อนจุณสีตัวซึ่งยางซึมไปจับติดทั่วกันทั้งหมดย่อมไม่กระจายออกฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม เอิบอาบซาบซ่านด้วยปิติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่ปิติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง ดูก่อนมหาบพิตร นี่แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ที่ดียิ่งกว่าทั้งสำคัญกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ

ทุติยฌาน

ยังมีอีกข้อ มหาบพิตร ภิกษุบรรลุทุติยฌาน(ฌานที่ ๒ มีองค์ ๓ คือ ปิติ สุข เอกคตา)มีความผ่องใสแห่งจิตภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีปิติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม เอิบอาบซาบซ่านด้วยปิติและสุขเกิดแต่สมาธิ ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่ปิติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกมีน้ำปั่นป่วน ไม่มีทางที่น้ำจะไหลมาได้ทั้งในด้านตะวันออกด้านใต้ ด้านตะวันตก ด้านเหนือ ทั้งฝนก็ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นจะพึงทำห้วงน้ำนั้นแหละให้ชุ่มชื่น เอิบอาบซาบซึมเนืองนองด้วยน้ำเย็น ไม่มีเอกเทศแห่งไหนๆ แห่งห้วงน้ำนั้นทั้งหมดที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้องฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม เอิบอาบซาบซ่านด้วยปิติและสุขเกิดแต่สมาธิ ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่ปิติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง ดูก่อนมหาบพิตร นี่แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ที่ดียิ่งกว่าทั้งสำคัญกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ

ตติยฌาน

ยังมีอีกข้อ มหาบพิตร ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายเพราะปิติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน(ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ คือ สุข เอกคตา) ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่าผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มเอิบอาบซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปิติ ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่สุขปราศจากปิติจะไม่ถูกต้อง

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวงหรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาวบางเหล่าซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็นตลอดยอดตลอดเหง้า ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวงหรือดอกบัวขาวทั่วทุกส่วนที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้องฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม เอิบอาบซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปิติ ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่สุขปราศจากปิติจะไม่ถูกต้อง ดูก่อนมหาบพิตร นี่แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ที่ดียิ่งกว่าทั้งสำคัญกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ

จตุตถฌาน

ยังมีอีกข้อ มหาบพิตร ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน(ฌานที่ ๔ มีองค์ ๑ คือ เอกคตา/อุเบกขา) ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขเพราะละทุกข์ละสุขและดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธอนั่งเข้าฌานแผ่ไปทั่วกายนี้แหละด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนคนนั่งเอาผ้าขาวคลุมตัวตลอดศีรษะ ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งกายทุกๆ ส่วนของเขาที่ผ้าขาวจะไม่ปกคลุมฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอนั่งเข้าฌานแผ่ไปทั่วกายนี้แหละด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง ดูก่อนมหาบพิตร นี่แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ที่ดียิ่งกว่า ทั้งสำคัญกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ

วิปัสสนาญาณ(๑)

ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส(สภาพที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ๑๐) ปราศจากอุปกิเลส(สิ่งที่ทำให้จิตขุ่นมัว ๑๖) อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ(ปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง) เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูปประกอบด้วยมหาภูติ ๔(ธาตุทั้ง ๔ คือดิน น้ำ ลม ไฟ) เกิดแต่บิดามารดา เติบโตด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดาและวิญญาณของเราก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนแก้วไพทูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใสแวววาวสมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียว เหลือง แดงขาวหรือนวลร้อยอยู่ในนั้น คนที่ตาถึงจะพึงหยิบแก้วไพทูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณาเห็นว่า แก้วไพทูรย์นี้งามเกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใสแวววาวสมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียว เหลือง แดงขาวหรือนวลร้อยอยู่ในแก้วไพทูรย์นั้นฉันใด 

ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูปประกอบด้วยมหาภูติ ๔ เกิดแต่บิดามารดา เติบโตด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเราก็อาศัยอยู่ในกายนี้เนื่องอยู่ในกายนี้ ดูก่อนมหาบพิตร นี่แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ที่ดียิ่งกว่า ทั้งสำคัญกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ

มโนมยิทธิญาณ(๒)

ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือนิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะใหญ่น้อยครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนคนจะพึงชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่านี่หญ้าปล้อง นี่ไส้ หญ้าปล้องอย่างหนึ่ง ไส้อย่างหนึ่ง ก็แต่ไส้ชักออกจากหญ้าปล้องนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนคนจะพึงชักดาบออกจากฝัก เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี่ดาบ นี่ฝัก ดาบอย่างหนึ่ง ฝักอย่างหนึ่ง ก็แต่ดาบชักออกจากฝักนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนคนจะพึงดึงงูออกจากคราบ เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี่งู นี่คราบ งูอย่างหนึ่ง คราบอย่างหนึ่ง ก็แต่งูดึงออกจากคราบนั่นเองฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือนิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะใหญ่น้อยครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ดูก่อนมหาบพิตร นี่แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ที่ดียิ่งกว่า ทั้งสำคัญกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ

อิทธิวิธญาณ(๓)

ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อแสดงฤทธิ์ เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนสกุณปักษีก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนช่างหม้อหรือลูกมือของช่างหม้อผู้ชำนาญ เมื่อนวดดินดีแล้วต้องการภาชนะชนิดใดๆ พึงทำภาชนะชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ อีกนัยหนึ่งเปรียบเหมือนช่างงาหรือลูกมือของช่างงาผู้ชำนาญ เมื่อแต่งงาดีแล้วต้องการเครื่องงาชนิดใดๆ พึงทำเครื่องงาชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ อีกนัยหนึ่งเปรียบเหมือนช่างทองหรือลูกมือของช่างทองผู้ชำนาญ เมื่อหลอมทองดีแล้วต้องการทองรูปพรรณชนิดใดๆ พึงทำทองรูปพรรณชนิดนั้นๆให้สำเร็จได้ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อแสดงฤทธิ์ เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการคือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนสกุณปักษีก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ดูก่อนมหาบพิตร นี่แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ที่ดียิ่งกว่า ทั้งสำคัญกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ

ทิพพโสตธาตุญาณ(๔)

ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพพโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิดคือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพพโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงวิสัยของมนุษย์

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนคนเดินทางไกล เขาจะพึงได้ยินเสียงกลองบ้าง เสียงตะโพนบ้าง เสียงสังข์บ้าง เสียงบัณเฑาะว์บ้าง เสียงเปิงมางบ้าง เขาจะพึงเข้าใจว่าเสียงกลองบ้าง เสียงตะโพนบ้าง เสียงสังข์บ้าง เสียงบัณเฑาะว์บ้าง เสียงเปิงมางบ้างฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพพโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิดคือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพพโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงวิสัยของมนุษย์ ดูก่อนมหาบพิตร นี่แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ที่ดียิ่งกว่า ทั้งสำคัญกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ

เจโตปริยญาณ(๕)

ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ

คือจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ

จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ

จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ

จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน

จิตเป็นมหัคคตะ(ถึงซึ่งความยิ่งใหญ่การบรรลุญาณ)ก็รู้ว่าจิตเป็นมหัคคตะ หรือจิตไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหัคคตะ

จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า

จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ

จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนหญิงสาวชายหนุ่มที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูหน้าของตนในกระจกอันบริสุทธิ์สะอาด หรือในภาชนะน้ำอันใส หน้ามีใฝฝ้าก็จะพึงรู้ว่าหน้ามีใฝฝ้าหรือหน้าไม่มีใฝฝ้าก็จะพึงรู้ว่าหน้าไม่มีใฝฝ้าฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงานตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ

คือจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ

จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ

จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ

จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน

จิตเป็นมหัคคตะก็รู้ว่าจิตเป็นมหัคคตะ หรือจิตไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหัคคตะ

จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า

จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ

จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น

ดูก่อนมหาบพิตร นี่แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ที่ดียิ่งกว่าทั้งสำคัญกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ

ปุพเพนุวาสานุสสติญาณ(๖)

ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนุวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป(กัปที่เสื่อม)เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป(กัปที่เจริญ)เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัป(กัปที่เสื่อมและเจริญ)เป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้นๆ เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงแค่นั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมากพร้อมทั้งอาการ(กิริยาท่าทาง) พร้อมทั้งอุเทศ(หัวข้อสำคัญ เช่นชื่อ, สกุล เป็นต้น) ด้วยประการฉะนี้

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงจากบ้านตนไปบ้านอื่น แล้วจากบ้านนั้นไปยังบ้านอื่นอีก จากบ้านนั้นกลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม เขาจะพึงระลึกได้อย่างนี้ว่าเราได้จากบ้านของเราไปบ้านโน้น ในบ้านนั้นเราได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้นได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น เราได้จากแม้บ้านนั้นไปยังบ้านโน้น แม้ในบ้านนั้นเราก็ได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น แล้วเรากลับจากบ้านนั้นมาสู่บ้านของตนตามเดิมดังนี้ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงานตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนุวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้นมีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้นๆ เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงแค่นั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูก่อนมหาบพิตร นี่แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ที่ดียิ่งกว่าทั้งสำคัญกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ

ทิพพจักขุญาณ(๗)

ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติ(การเคลื่อน การตาย) และอุปบัติ(การเข้าถึง การเกิด)ของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงวิสัยของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิษฐิ หลังจากตายแล้วเขาย่อมเข้าถึงอบาย(สถานที่อันปราศจากความเจริญ) ทุคติ(ภพที่มีแต่ความทุกข์)วินิบาต(ภพที่ต้องโทษ)นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิษฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิษฐิ หลังจากตายแล้วเขาย่อมเข้าถึงสุคคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงวิสัยของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนปราสาทตั้งอยู่ ณ ทางสามแพร่งท่ามกลางพระนคร คนผู้มีตาดียืนอยู่บนปราสาทนั้น จะพึงเห็นหมู่ชนกำลังเข้าไปสู่เรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังสัญจรเป็นแถวอยู่ในถนนบ้าง นั่งอยู่ที่ทางสามแพร่งท่ามกลางพระนครบ้าง เขาจะพึงรู้ว่าคนเหล่านี้เข้าไปสู่เรือน เหล่านี้ออกจากเรือน  เหล่านี้สัญจรเป็นแถวอยู่ในถนน เหล่านี้นั่งอยู่ที่ทางสามแพร่งท่ามกลางพระนครฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติ และอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงวิสัยของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิษฐิ หลังจากตายแล้วเขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิษฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิษฐิ หลังจากตายแล้วเขาย่อมเข้าถึงสุคคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงวิสัยของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ ดูก่อนมหาบพิตร นี่แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ที่ดียิ่งกว่าทั้งสำคัญกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ

อาสวักขยญาณ(๘)

ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ(ความรู้เป็นเหตุให้สิ้นอาสวะ-กิเลสที่หมักดองในสันดาน) ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์(ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ) นี้ทุกข์สมุทัย(เหตุให้เกิดทุกข์คือตัณหา) นี้ทุกข์นิโรธ(เหตุแห่งความดับทุกข์ คือละตัณหา)นี้ทุกข์นิโรธคามินีปฏิปทา(ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ คือมรรค ๘)

เหล่านี้อาสวะ(สภาวะอันหมักดองสันดาน)นี้อาสวะสมุทัย นี้อาสวะนิโรธ นี้อาสวะนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ(อาสวะคือกาม-ความทะยานอยากในกาม) แม้จากภวาสวะ (อาสวะคือภพ-ความทะยานอยากในภพ) แม้จากอวิชชาสวะ(อาสวะคือความหลงผิด ความไม่รู้ในอริยสัจ ๔) เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขาใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว คนผู้มีตาดียืนอยู่บนขอบสระนั้นจะพึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบบ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลากำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้างในสระน้ำนั้น เขาจะพึงคิดอย่างนี้ว่า สระน้ำนี้ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว เห็นหอยโข่งและหอยกาบบ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลาเหล่านี้กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้างในสระน้ำนั้นดังนี้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกข์สมุทัย นี้ทุกข์นิโรธ นี้ทุกข์นิโรธคามินีปฏิปทา

เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวะสมุทัย นี้อาสวะนิโรธ นี้อาสวะนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะเมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก ดูก่อนมหาบพิตร นี่แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ที่ดียิ่งกว่าทั้งสำคัญกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ 

ดูก่อนมหาบพิตร ก็สามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้ออื่นที่ดียิ่งกว่าและสำคัญยิ่งกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อนี้ไม่มีเลย

พระเจ้าอชาตศัตรูประกาศตนเป็นอุบาสก

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหิบุตร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่าคนผู้มีตาดีจักเห็นรูปดังนี้ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยายก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โทษได้ครอบงำหม่อมฉันซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด หม่อมฉันได้ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรมเพราะเหตุแห่งความอยากเป็นใหญ่ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงรับทราบความผิดของหม่อมฉันโดยเป็นความผิดจริงเพื่อสำรวมระวังต่อไป

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า จริง มหาบพิตร ความผิดได้ครอบงำมหาบพิตรซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด มหาบพิตรได้ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ทรงธรรมเป็นพระราชาโดยธรรมเพราะเหตุแห่งความอยากเป็นใหญ่ แต่เพราะมหาบพิตรทรงเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริงแล้ว ทั้งยังทรงสารภาพตามความเป็นจริงด้วย ฉะนั้นอาตมภาพขอรับทราบความผิดของมหาบพิตรไว้ ก็การที่บุคคลเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริง แล้วสารภาพตามความเป็นจริงรับที่จะสังวรต่อไป นี่เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้าแล

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหิบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้นหม่อมฉันขอทูลลาไปในบัดนี้ หม่อมฉันมีกิจมาก มีกรณียะมาก

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ขอมหาบพิตรทรงทราบเวลา ณ บัดนี้เถิด ครั้งนั้นแล พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหิบุตร ทรงเพลิดเพลินยินดีในภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกระทำประทักษิณแล้วเสด็จไป

ครั้นแล้วเมื่อท้าวเธอเสด็จไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชาพระองค์นี้ถูกขุดเสียแล้ว พระราชาพระองค์นี้ถูกขจัดเสียแล้ว หากท้าวเธอจักไม่ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรมไซร้ ธรรมจักษุ(ความมีดวงตาเห็นธรรม อันหมายถึงโสดาบันบุคคล)ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินจักเกิดขึ้นแก่ท้าวเธอ ณ ที่ประทับนี้ทีเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำเป็นไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแล.

วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ
สังขารย่อมล่วงไป ท่านทั้งหลายพึงสำเร็จประโยชน์ด้วยความไม่ประมาทเถิด
ปัจฉิมวาจา ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า




 

Create Date : 28 พฤศจิกายน 2561   
Last Update : 4 ธันวาคม 2561 19:43:28 น.   
Counter : 1054 Pageviews.  
space
space

viroj
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
space
space
[Add viroj's blog to your web]
space
space
space
space
space