ทุกเรื่องราวมีแง่คิด ทุกชีวิตมีแรงบันดาลใจ
Group Blog
 
All Blogs
 

ประกวดบทความ หัวข้อ "ASEAN And I"

ประกวดบทความ หัวข้อ "ASEAN And I"

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เชิญชวน นักศึกษา ประกวดบทความ หัวข้อ "ASEAN And I" เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาคมอาเซียน ชิงรางวัลการเดินทางไปทัศนศึกษาที่ประเทศเพื่อนบ้าน




หลักเกณฑ์การส่งผลงานเข้าประกวด

1. บทความภาษาไทย ต้องเป็นบทความเชิงสร้างสรรค์ ในหัวข้อ “ASEAN And I” ความยาวไม่เกิน 4 หน้ากระดาษเอ 4 ขนาดตัวอักษร 16 Point

2. ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต้องเป็นนักศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี ไม่จำกัดชั้นปี คณะ และสถาบัน

การส่งผลงานเข้าประกวด

นักศึกษาสามารถส่งบทความเข้าประกวด ได้ที่ Email: reporter@inet.co.th โดยสามารถส่งได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 เป็นวันสุดท้าย โดยสมาคมฯจะมีข้อความตอบรับทุกผลงานที่ส่งเข้าประกวด

รางวัลและหลักเกณฑ์การให้รางวัล

รางวัลการประกวด คือ ร่วมทัศนศึกษาดูงานกับกลุ่มสื่อมวลชนที่เข้าร่วมการอบรมหลักสูตรเสริมสร้างความรู้เรื่องการเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 สำหรับสื่อมวลชนไทย โดยสมาคมฯจะรับผิดชอบค่าเดินทางไป-กลับ ค่าอาหารและที่พักระหว่างการเดินทาง

จำนวนรางวัล มี 2 รางวัล

รางวัลละ 1 เส้นทาง คือ เส้นทางที่ 1 เดินทางไปทัศนศึกษาที่ ประเทศลาว-ประเทศเวียตนามและประเทศกัมพูชา

เส้นทางที่ 2 เดินทางไปทัศนศึกษาที่ ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์และประเทศ อินโดนีเซีย ระยะเวลาจำนวน 7 วัน ระหว่างวันที่ 7-13 สิงหาคม 2555

กรณีไม่มีบทความใดสมควรได้รับรางวัล คณะกรรมการตัดสินฯ อาจตัดสินให้มีเฉพาะรางวัลชมเชย หรืองดเว้นการให้รางวัลได้ การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สุด

การประกาศผล

ประกาศผลวันที่ 28 กรกฎาคม 2555 ทาง www.tja.or.th



บทความที่ใด้รับคัดเลือกครับ



ผลการคัดเลือกบทความ Asean and I  จำนวน 2 บทความ คือ


บทความที่ 1

ASEAN And I ; เราต่างเดินทางหาคำตอบ

นิติธร สุรบัณฑิตย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เสียงดังอึกทึกของรถราน้อยใหญ่ที่ต่างโฉบเฉี่ยวไปมาบนถนนสันทราย-เชียงใหม่เริ่มจางลับไป หลังจากมอเตอร์ไซค์ พาหนะเดินทางคันเก่งของพวกเราเลี้ยวเข้าบริเวณซอยลูกรังเล็กๆ แห่งหนึ่ง “เมียงอ่อง” ผู้นำทางชาวไทใหญ่ของผมถอดหมวกนิรภัย พลางบอกวิธีการปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อถึงที่หมาย เขาเปรยว่า มันเป็นหนึ่งในศูนย์รวมความหวังในการมีอยู่ของชาวไต หรือไทใหญ่พลัดถิ่นในประเทศไทยทุกคน

แสงอาทิตย์อัสดงเริ่มลาลับขอบฟ้า กิ่งใบและพุ่มไม้น้อยใหญ่กวัดไปมาตามแรงลมสุดท้ายของวัน ป้ายแสดงใบหน้าและชื่อเหล่าลูกแก้วที่จะเข้าพิธีปอยส่างลอง หรือการบวชสามเณร ถูกประดับเหนือร้านโชว์ห่วยสังกะสี เป็นสัญญาณให้เรารู้ว่าแคมป์ก่อสร้างที่พักชาวไทใหญ่อยู่ไม่ไกลนับจากนี้

บ้านไม้ไผ่ก่อตัวเรียงรายไร้ระเบียบสุดลูกหูลูกตา เสียงเจี้ยวจ้าวของลูกเด็กเล็กแดง และพ่อค้ารถกระบะขายของดังขึ้นเป็นระยะ ขณะที่ผมและเมียงอ่องเดินเข้าไปซอยนี้ รอยยิ้มและเสียงทักทายภาษาไตจากหนุ่มสาววัยรุ่นต่อเมียงอ่องผุดขึ้นไม่ขาดสาย ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ ก็ต่างปริยิ้มอย่างเขินอาย เสมือนต้อนรับผู้มาเยือนอย่างผมไม่เกี่ยงเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าชนใด

3 วันก่อนนี้ ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ “เมียงอ่อง” จากคำแนะนำของพี่ผึ้ง อดีตบรรณาธิการ

สาละวินต์โพสต์ รุ่นพี่มหาวิทยาลัยที่เคารพรัก และพี่หญิง ผู้ทำงานเคลื่อนไหวเพื่อชาวไทใหญ่ ผมทราบเบื้องต้นว่า เขาเป็นหนุ่มชาวไทใหญ่วัย 26 ปี ทำงานเป็นอาสาสมัครด้านการศึกษา และวัฒนธรรมไทใหญ่สำหรับลูกหลานคนไทใหญ่จากรัฐฉานที่ย้ายถิ่นฐานตามพ่อแม่จากภัยสงคราม มาเป็นแรงงานทั่วพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยทำงานร่วมกับเพื่อนพ้องน้องพี่ในนามกลุ่มฉาน ยูธ พาวเวอร์

ผมแจ้งเหตุผลการเดินทางครั้งนี้ต่อพี่ผึ้ง และเมียงอ่องว่า ต้องการเก็บข้อมูลสำหรับงานเขียนเกี่ยวกับอาเซียนเพื่อส่งประกวด ในประเด็นการศึกษา และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ แม้ลึกๆแล้วจะไม่แน่ใจเลยว่าจะเก็บข้อมูลได้ครบถ้วนหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วจะผลิตผลงานได้สมความตั้งใจแค่ไหน แต่ด้วยความเป็นนิสิตสื่อสารมวลชนที่ตรากตรำบ่มเพาะวิชาความรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยเกือบ 4 ปีก็น่าจะถึงเวลาอันสมควรที่ต้องกล้าเดินออกมา และมุ่งหน้าด้วยตนเอง ท่ามกลางสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อพวกเราอนุชนคนสื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความท้าทายสำคัญที่ครูบาอาจารย์ และสื่อมวลชนรุ่นพี่แขนงต่างๆมักกล่าวถึง คือ การเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียนที่จะถึงในอีกสามปีนี้ ว่ากันว่าจะเปิดมิติความก้าวหน้าของประเทศผ่านความร่วมมือของภูมิภาค เรื่องนี้ถูกพูดถึงอย่างมากกับเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชนที่ศึกษาด้านสื่อสารมวลชนซึ่งถูกตั้งคำถามถึงบทบาทและหน้าที่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ อย่างไร แน่นอน ผมเคยตอบไปว่า เป็นสื่อที่ต้องประสานความเข้าใจ และความร่วมมือของภูมิภาคแห่งความหลากหลายนี้ เพื่อประโยชน์สุดท้ายแด่ประชาคมในอนาคต ตามต่อด้วยตำราการทำหน้าที่อีกเป็นชุด แต่ยิ่งคิดถึงการตอบครั้งนั้นมากเท่าไร ก็เกิดรู้สึกบนความอึดอัดที่ว่า ทำไมคำตอบนั้นมันช่างสวยหรู แต่ไร้น้ำหนัก และทิศทางเสียเหลือเกิน การพิสูจน์ผ่านการเดินทางนี้จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีในระดับหนึ่ง ไม่เพียงคำตอบต่อตัวเราเท่านั้น หากหมายถึงสังคมที่ผูกพันกับหน้าที่เราในอนาคตด้วย

การแปลความหมาย “อาเซียน” หรือ “ประชาคมอาเซียน” ในอนาคต อย่างทื่อๆว่า “ทุกคนในอาเซียน” ทำให้เราเห็นมุมมองความสัมพันธ์ที่หลายคนอาจลืมเลือน เรารู้ว่า มีคนไทย มาเลย์ และอื่นๆประกอบเป็นชนชาติในภูมิภาค หากแท้จริงแล้ว ยังมีกลุ่มคนที่มีเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ผู้ซึ่งมีความหวังความฝันไม่ต่างจากพวกเรา แม้พวกเขาจะไม่มีแผ่นดินแห่งที่เป็นของตนอย่างชัดแจ้ง แต่หากเรามีโอกาสช่วยสานความหวังของเพื่อนมนุษย์ มันก็เป็นสิ่งที่สมควรทำยิ่ง

ความท้าทายของภูมิภาคซึ่งเปี่ยมไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย การเรียนรู้และสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ นำมาสู่การให้เกียรติต่อกันและกัน มันจึงเป็นภาระของเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ พลังแห่งตัวอักษรในการเดินทางเก็บข้อมูลครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในตัวแทนความหวังของพี่น้องชาวไทใหญ่ ในการหาคำตอบในการคงอยู่ในอนาคตกับประชาคมที่โอบล้อมด้วยรัฐชาติอย่างเท่าเทียมได้อย่างไร นี่คือภาระของเรา ...

เราเดินเข้ามาถึงใจกลางหมู่บ้าน ท่ามกลางตะวันที่เริ่มลับขอบฟ้า ความมืดค่ำของชนบทอาจดูวังเวงในที่อื่นๆ แต่ที่นี่กลับปรากฏเสียงหัวเราะโห่ฮาของเด็กๆจากเรือนไม้ไผ่กลางหมู่บ้าน ลูกเด็กเล็กแดงน้อยใหญ่ร่วม 30 ชีวิตต้องมาเรียนภาษาของตน กลุ่มตัวน้อยฝึกอ่านเขียน ส่วนเด็กโตก็เรียนรู้การสนทนาขั้นสูง พร้อมสอดแทรกภาษาอังกฤษตลอดการเรียนเพื่อพร้อมปรับตัวต่อสังคม โดยเฉพาะนิมิตหมายสำคัญของภูมิภาคในอีกสามปี แสงไฟนีออนจึงไม่เพียงทำหน้าที่ประคับประคองให้การเรียนการสอนดำเนินไปเท่านั้น หากยังส่งมอบความรู้สึกดีๆที่ทำให้ผม กับ เมียงอ่องซึ่งตอนนี้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นครู ได้พูดคุยกันท่ามกลางบรรยากาศท้องนาเบื้องหลังเรือนไม้ไผ่นี้

เมียงอ่องเกิด และโตที่รัฐฉานในครอบครัวฐานะปานกลาง พ่อและแม่ทำอาชีพเกษตรกร พออยู่ พอซื้อ และพอขายบนความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน เขาเข้าเรียนในโรงเรียนประจำอำเภอ หมายมั่นตั้งใจว่าในชีวิตนี้ต้องได้ปริญญาจากมหาวิทยามัณฑะเลย์ ที่ซึ่งหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยในรัฐฉานใฝ่ฝัน ควบคู่กับการเป็นนักดนตรีพื้นบ้านตระเวนเล่นเพลงทั่วขุนเขา หากน่าเสียดายที่โชคชะตาไม่ได้นำพาความสำเร็จมาให้ หากกลายเป็นสงครามสู้รบระหว่างพม่าและไทใหญ่อันน่าสะพรึงกลัวยิ่ง

เมืองไทยจึงเป็นทีพึ่งสำหรับเมียงอ่องเมื่อเขาอายุได้ 17 ปี ไม่ต่างจากพี่น้องไทใหญ่ทั่วทุกสารทิศที่ต่างหลบหนีเอาชีวิตรอด ความบีบครั้นกดดัน กลายเป็นตัวสนับสนุนให้เขาไม่ย่อท้อต่อความฝัน แรกเริ่มเดิมทีก็มารับจ้างเป็นแรงงานพอได้ตั้งตัว พลันได้เจอเพื่อนฝูงที่เรียนมาด้วยกันก็ชักชวนรวมกลุ่มหาอะไรทำจากความรู้ที่ติดตัวมา บนความคิดถึงบ้านร่วมกัน  การสำนึกแห่งความเป็นไทใหญ่ในแผ่นดินไทยจึงเริ่มต้นก่อตัวตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาในนาม ฉาน ยูธ พาวเวอร์ กรุ๊ป ที่ซึ่งใครหลายคนฝากความหวังไว้ ไม่เว้นแม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ก็ตาม

เมียงอ่องเท้าความว่า ทาวน์เฮ้าส์เล็กๆในตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นสถานที่ทำงานของพวกเขา โดยจะรวมตัวกันในตอนเย็นหลังเสร็จสิ้นงานประจำ ที่นี่เป็นทั้งสำนักงาน โรงเรียนภาษาไทใหญ่ อังกฤษ และคอมพิวเตอร์ เด็กที่มาที่นี่เกิดจากการที่พวกเขาตระเวนชักชวนให้ชาวไทใหญ่ส่งลูกเข้ามา ด้วยความหวังเดียวกันคือ การมีอยู่ของไทใหญ่ของอนุชนรุ่นหลัง และพร้อมปรับตัวในเมืองไทยบ้านใหม่อย่างแข็งแรง

แน่นอนว่า ไม่ง่ายนักที่จะรวบรวมเด็กไทใหญ่นับแสนทั่วเชียงใหม่ แม้แต่ในอำเภอเมืองเขตหนึ่งก็มีเด็กไทใหญ่ไม่ต่ำกว่า 20,000 คน และสถานที่ที่มีอยู่ก็ไม่สามารถรองรับได้ เมียงอ่องจึงต้องทำงานในลักษณะเข้าถึง โดยตระเวนไปตามแคมป์ก่อสร้างและผูกสัมพันธ์กับชาวบ้าน เพื่อจัดตั้งศาลาสำหรับการเรียน โดยใช้เหตุผลข้อเดียวที่ทำให้ทุกงานราบรื่นสำเร็จผล คือ การร่วมรักษาไว้ซึ่งเผ่าชนคนไต นั่นเอง

“ แรกเริ่มพ่อแม่เขาก็ไม่ส่งนะ เขาอยากให้ลูกช่วยทำงานมากกว่า แต่พอเราบอกว่า มาเถอะ มาเรียนไทใหญ่ ในโรงเรียนไทยไม่สอนภาษาไทใหญ่นะ แต่เราสอน มีอังกฤษด้วย อย่างน้อยก็ให้เด็กมารวมกัน จัดกิจกรรมกัน ให้มันไม่ลืมความเป็นไต และมีวิชารับมือต่อสังคมใหม่” เมียงอ่องกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐไทยจะเปิดโอกาสให้เด็กไทใหญ่เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐเช่นเดียวกับเด็กไทยคนอื่นๆ ทำให้เมียงอ่อง และผู้เฒ่าผู้แก่รู้สึกหายห่วงได้เปราะหนึ่ง หากขณะเดียวกันก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ลูกเด็กเล็กแดงจะยังคงความเป็นไทใหญ่ทั้งวัฒนธรรม และประเพณีที่ทรงคุณค่าไว้ได้หรือไม่ ยิ่งกรอบป้องกันเราไม่มีเหมือนกับประเทศที่มีอธิปไตยของตน คนไทใหญ่ต้องพึ่งกันเอง เรื่องนี้จึงน่าห่วงกว่าเรื่องใดๆ

“เราห่วงนะ แม้ความหวังในการกู้แผ่นดินจะเป็นเรื่องไกล แต่ไม่เป็นไรนี่ เรากู้ชาติผ่านวัฒนธรรมได้ สังคมที่เปลี่ยน เราไม่ได้ยึดว่าต้องของเก่าเท่านั้น แต่ถ้ามันเป็นเกราะป้องกันได้ ก็ควรส่งเสริม ให้พวกเขาไปปรับเอา ตอนนี้อาเซียนจะมา เราไม่ขออะไร เราขอให้เราเป็นหนึ่งในความหลากหลายก็พอ ” 

ดังนั้นการปลูกฝังความรู้เผ่าชนให้คงอยู่คงไม่พอ การถ่ายทอดสหวิชาสากลเพื่อการปรับตัว จากการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะการเป็นประชาคมอาเซียนจึงเป็นสิ่งจำเป็น การติดอาวุธทางปัญญาจากประเพณีและวิชาการร่วมกัน จึงเป็นสิ่งที่พอทำได้ท่ามกลางข้อจำกัดที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่นี้

สอดคล้องกับคำกล่าวของ หนองห่าง สาวน้อยวัย 14 ปี ผู้มีฝันในอาชีพมัคคุเทศก์ เธอเล่าหลังจากเสร็จสิ้นจากการเรียนว่า นอกเหนือการเรียนที่โรงเรียน ความรู้พิเศษด้านภาษาอังกฤษ และไต รวมถึงประเพณีดั้งเดิมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันจะช่วยเติมเต็มไม่เพียงความฝันของเธอให้สำเร็จ แต่รวมถึงเผ่าชนคนไตด้วย เธอจึงคาดหวังจะได้รับโอกาสมากขึ้นจากการร่วมมือของภูมิภาค และใช้โอกาสนั้นแสดงความเป็น “ไต” ให้อาเซียนยอมรับ เพราะเธอเชื่อว่าอาเซียน คือ ความเป็นหนึ่งอย่างหลากหลาย

นี่ความพิเศษของอาเซียนในการร่วมเป็นหนึ่งโดยไม่ละทิ้งความหลากหลาย โจทย์ของอนาคตเหล่านี้จำต้องอาศัยการร่วมมือทุกส่วน ไม่ใช่แค่กฎบัตร หรือปฏิญญาระดับโครงสร้าง หากรวมถึงคนในทุกเชื้อชาติ ทุกสังคม บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งความแตกต่าง อันเป็นสิ่งสวยงาม

แม้คนทั้งสองจะต่างอายุ ความหวังและความฝัน หากมีจุดร่วมเหมือนกันคือ ความเป็นห่วงอนาคตเผ่าชนคนไทใหญ่ ที่อาจสูญสิ้นกลายเป็นอื่น ท่ามกลางการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในอนาคต อย่างไรก็ตาม พวกเขายังเชื่อและมอบความหวังกับประชาคมอาเซียนที่จะไม่ทอดทิ้งพวกเขา ในฐานะพี่น้องร่วมบรรพบุรุษ และหวังว่าอาเซียนจะมีวิธีการในการเป็นหนึ่ง ท่ามกลางการคงอยู่ของความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ วัฒนธรรม และความคิด เพราะเขาก็ต่างรักประเพณี วัฒนธรรมของเผ่าชนเช่นเดียวกับเรา

สำหรับผม การเดินทางเก็บข้อมูลในครั้งนี้ ไม่เพียงจะพอตอบคำถามตัวเอง และอาจารย์ได้ในระดับหนึ่งว่าบทบาทของเราจะอยู่ในลักษณะไหน เราได้ทำหน้าที่เพื่อทุกคนจริงหรือไม่ เหนือสิ่งอื่นใดการได้สัมผัสกับพวกเขาทำให้รู้ว่า ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าการมีอยู่ของเผ่าชนที่ตนรัก และแม้ผมเองจะเป็นคนไทย แต่แท้จริงแล้ว เราต่างเป็นพี่น้องร่วมสายเลือดที่ยากจะหาความต่างได้

ทั้งไทใหญ่ และผม เราต่างต้องเดินทางหาคำตอบ บนความท้าทายที่ไม่เหมือนกัน หากอาเซียนนับเป็นโจทย์นึงที่เราทั้งสองต้องเผชิญ พวกเขาจะคงอยู่ซึ่งความเป็นไทใหญ่ และปรับตัวให้เหมาะสมกับโอกาสอาเซียนนี้อย่างไร เป็นเรื่องที่เราคงตอบแทนไม่ได้ ส่วนคำตอบของผมแม้จะชัดเจนขึ้น หากมันก็ไม่มีถูกผิด สั้นและยาว การตามหาและเพิ่มพูนความหมายจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินต่อไป

I จาก โจทย์ ASEAN And I ของผม จึงไม่ได้แปลความแค่ผมคนเดียว หากหมายถึงประชาคมอาเซียนทุกคน เพราะหน้าที่นิสิตด้านสื่อสารมวลชน ถึงอย่างไรก็แยกไม่ออกจากเพื่อนร่วมสังคมอยู่ดี

เมื่อดวงจันทร์ประดับอยู่เวิ้งฟ้า เป็นสัญญาณเวลาแยกย้ายระหว่างผมและเมียงอ่อง เราต่างออกจากหมู่บ้าน เขามาส่งผมที่ห้างแห่งหนึ่งเพื่อต่อรถเดินทางกลับ เมื่อหันหลังจากไปไม่ทันไร ก็ได้ยินเสียงร่ำลาที่ไม่คุ้นหูนักว่า   “ ไว้จะสอนภาษาไตให้นะ”

เราต่างเดินทางหาคำตอบ โดยไม่มีพรมแดนมาขวางกั้น
เพราะพรมแดนมันมีแต่แผนที่เท่านั้น ไม่มีไว้สำหรับระหว่างหัวใจ – ASEAN And I

//////////////////////////////////////////////////////////


บทความที่ 2

ASEAN And I

น.ส.พิมพ์พร  คงแก้ว  ปี4   คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลายเดือนก่อนฉันมีโอกาสไปทำธุระที่โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง หน้าห้องเรียนถูกตกแต่งด้วยป้ายนิทรรศการต่างๆเหมือนสมัยฉันเรียนอยู่อนุบาล มีทั้งป้ายเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ วันสำคัญทางศาสนา ขั้นตอนการล้างมือ ทุกป้ายล้วนเป็นสิ่งที่คุ้นชินสายตาของฉัน ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใดความรู้เหล่านี้ก็เป็นความรู้เบื้องต้นที่เด็กๆตัวน้อยควรจะได้รู้ ที่ต่างไปคือป้ายที่เด็กๆกำลังรุมสนใจ ยืนออกันอยู่เต็มไปหมด พร้อมทั้งคุยโขมงใส่กัน ฉันเดินเข้าไปดูด้วยความอยากรู้ว่าป้ายนิทรรศการนั้นเป็นเรื่องอะไร บรรดาเด็กอนุบาลจึงสนใจกันมากขนาดนี้ ในใจฉันคิดว่าคงจะต้องไม่พ้นเรื่องการ์ตูนหรือนิทานอีสปเป็นแน่ แล้วสิ่งที่สร้างความแปลกใจให้ฉันคือเรื่องที่เด็กๆกำลังสนใจดูและมีท่าทางสนุกสนานตื่นเต้น เป็นเรื่องที่แม้แต่ผู้ใหญ่ตัวโตอย่างเรายังไม่มั่นใจพอว่าจะสามารถอธิบายให้ใครฟังได้หรือไม่หากมีใครสักคนมาถาม เรื่องที่ว่านั้นคือ นิทรรศการเกี่ยวกับประเทศในประชาคมอาเซียน

ฉันยืนอ่านป้ายนิทรรศการอยู่สักครู่หนึ่ง ในป้ายบอกถึงประเทศสมาชิก ชื่อเมืองหลวง จำนวนประชากร ศาสนาและภาษาประจำชาติ รวมถึงมีภาพการ์ตูนแสดงแผนที่ประเทศและเครื่องแต่งกาย ฉันยืนอ่านป้ายพร้อมกับเกิดคำถามในใจมากมาย ทั้งๆที่เรารู้ว่าประชาคมอาเซียนกำลังจะเกิดขึ้นจริงจังในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ในขณะที่เด็กตัวเล็กๆเริ่มสนใจและเปิดรับความรู้นี้เข้ามาเป็นสิ่งใหม่ในชีวิตของพวกเขา แล้วผู้ใหญ่ตัวโตๆอย่างเราล่ะ พร้อมหรือยัง ตื่นตัวหรือยัง มีความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาคมอาเซียนดีพอแล้วหรือยัง ฉันยอมรับว่าเหตุการณ์ในวันนั้นเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ฉันตระหนักมากยิ่งขึ้นว่าเราควรเตรียมตัวให้พร้อมกับเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียนของประเทศไทย ไม่ใช่เป็นเพียงหน้าที่ของรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนคนไทย ตัวเราเองก็มีหน้าที่ในการเพิ่มเติมความสนใจให้มากกว่าเดิม เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นประชามคมอาเซียนในปี2558 เราเองก็ต้องได้รับผลกระทบในหลายด้านเช่นกัน

เมื่อเริ่มทบทวนว่าในฐานะที่ตัวเองเป็นนักศึกษา ถือได้ว่าเป็นกำลังของชาติในอนาคตอันใกล้ ฉันเองรู้อะไรเกี่ยวกับอาเซียนบ้าง คำตอบของฉันเป็นคำตอบที่น่าตลก คือ ฉันไม่ค่อยมั่นใจว่า การแข่งขันกีฬาภูมิภาคอาเซียนหรือซีเกมส์นั้นแข่งกันทุก2หรือ4ปี ฉันไม่ค่อยมั่นใจว่าประเทศเรายังคงเป็นแชมป์มากที่สุดหรือไม่ ที่รู้ๆคือฉันได้ยินข่าวบ่อยๆว่าฟุตบอลชาติเราอาจไม่ได้เก่งที่สุดในอาเซียนเหมือนเดิมแล้ว หลายๆครั้งที่อ่านข่าวฉันพบว่ามักมีคนนำการศึกษาของประเทศเราไปเทียบกับเวียดนามและบอกว่าการศึกษาประเทศเรากำลังล้าหลังเวียดนามอยู่มาก ฉันรู้ว่าพม่าเปลี่ยนเมืองหลวงมาหลายปีแล้ว แต่ฉันยังคงจำได้เพียงว่าเมืองหลวงของพม่าคือย่างกุ้ง ฉันได้ยินชื่อประเทศอินโดนีเซียและเกาะสุมาตราบ่อยๆทุกครั้งที่มีแผ่นดินไหว แต่ฉันก็ไม่ได้สนใจมากไปกว่าแผ่นดินไหวครั้งนั้นมีผลกระทบถึงประเทศไทยไหม อันที่จริงฉันควรสนใจเพิ่มอีกนิดว่าแต่ละครั้งที่มีแผ่นดินไหวมันกระทบเศรษฐกิจโดยภาพรวมของอาเซียนหรือไม่  ด้วยความที่ฉันเรียนนิติศาสตร์ได้เรียนวิชากฎหมายระหว่างประเทศ อาจารย์บรรยายนำกรณีข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชาในประเด็นเขาพระวิหารมาสอน อาจารย์ให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นเชิงกฎหมาย แต่หลายๆคำตอบของเพื่อนนักศึกษา ทำให้ฉันพบว่ามีความเกลียดชังซ้อนอยู่ในคำตอบนั้น ฉันจำได้ว่าตอนฉันยังอยู่ชั้นประถมศึกษามีข่าวเกี่ยวกับเกาะลังกาวีของประเทศมาเลเซียบ่อยมากเกี่ยวกับเจ้าหญิงองค์หนึ่ง ข่าวนำเสนอด้วยว่ามาเลเซียมีสุลต่านเป็นเจ้าผู้ครองรัฐ และมีระบบเวียนขึ้นครองบัลลังก์ของสุลต่านทุกคนของแต่ละรัฐ แต่ความรู้เหล่านั้นก็เลือนลางไปตามกาลเวลา จนฉันนึกขึ้นได้อีกครั้งว่ามาเลเซียปกครองโดยระบอบกษัตริย์ มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร ในวันที่นายกรัฐมนตรีหญิงของไทยพูดผิดเป็นประเทศมาเลเซียมีประธานาธิบดีนั่นเอง  แม้ประเทศไทยและประเทศลาวจะมีความสัมพันธ์อันดีกันมาตลอด ทั้งเราและเขาต่างเรียกกันว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้อง แต่ก็น่าแปลกใจไม่น้อยว่าคนไทยยังมีทัศนคติบางอย่างที่ไม่น่ารักนักในสายตาของคนลาว เนื่องด้วยเรามักด่าทอคนที่เราคิดว่าเขาทำตัวไม่ทันสมัยว่า 'ลาว' รวมถึงในวงการบันเทิงไทยเองก็มีการนำเสนอ'ความลาว' ออกมาเสมอ  มีเพื่อนชาวลาวคนหนึ่งของฉันเล่าว่า แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับจิตใจของคนลาว ทุกครั้งที่ได้ยินคำนี้มันก็เกิดความน้อยใจขึ้นมาได้มากทีเดียว

นี่เป็นเพียงบางส่วนจากสิ่งที่ฉันรู้ ฉันพบว่าฉันมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนน้อยมาก หลายๆอย่างที่เคยรู้เมื่อครั้งที่เรียนในระดับชั้นประถมจางหายไปแล้วตามกาลเวลา ยิ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน อันต้องมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ความรู้ในจุดนั้นยิ่งน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตามฉันว่าสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนในประชาคมอาเซียนควรจะสร้างขึ้นในใจ คือต้องลบความรู้สึกเกลียดชังหรือความเข้าใจผิดกับบางเรื่องบางอย่างซึ่งเป็นเรื่องเปราะบาง ความเข้าใจผิดเพียงนิดอาจสร้างบางสิ่งในใจจนนำไปสู่การไม่ยอมเปิดรับสิ่งใหม่ๆเข้ามาก็เป็นได้ สื่อมวลชนเองอาจมีหน้าที่สำคัญในส่วนนี้ คือค่อยๆเสนอมุมมองความคิด ความเข้าใจใหม่ให้แก่ประชาชนในประชาคมอาเซียน แต่สื่อมวลชนเพียงอย่างเดียวก็ไม่อาจทำหน้าที่ได้เข้มแข็งหากเรายังไม่ยอมปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติเหล่านั้น

ฉันคิดว่าประชาชนในประชาคมอาเซียนทุกชาติเป็นกลไกสำคัญที่จะเคลื่อนความก้าวหน้าของประชาคมไปข้างหน้า เพียงแค่เริ่มต้นที่ตัวเราก่อน นั่นหมายความว่าตัวเราก็เริ่มได้ เริ่มจากหนึ่งคนเป็นสิบ จากสิบเป็นร้อยเป็นล้าน โดยการเริ่มที่จะเรียนรู้และสนใจบทบาทของประชาคมอาเซียนว่าจะมีผลแก่ชีวิตของเราในด้านใน เช่น หากเราเป็นนักเรียนนักศึกษาเราควรเริ่มสนใจว่า ในอีกไม่กี่ข้างหน้ามีนโยบายให้มีการเลื่อนการเปิดปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัย จากเดิมที่เป็นประเทศไทยเปิดภาคการศึกษาที่1ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม และภาคเรียนที่2ในเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม เป็นช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคมและมกราคมถึงพฤษภาคมแทน เพื่อให้มีความเป็นสากลสอดคล้องการกลุ่มประเทศในอาเซียนซึ่งการเปลี่ยนให้ตรงกันจะเป็นประโยชน์ในด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษา การจัดกิจกรรมการศึกษา รวมถึงการจบการศึกษาอันจะมีผลต่อตลาดแรงงานต่อไปด้วย

ในขณะเดียวกันกลุ่มคนวัยทำงานก็ควรเริ่มต้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานด้วยเช่นกัน เช่น การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ซึ่งจะมีการอำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับบุคคลธรรมดาที่เกี่ยวกับการค้า สินค้า บริการและการลงทุน ทั้งยังมีการออกวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญและแรงงานฝีมือด้วย แน่นอนว่าการเปิดตลาดแรงงานนี้ย่อมกระทบต่อประชากรในประชาคมอาเซียนรวมถึงแรงงานไทยด้วย คือ จะมีการแข่งขันที่สูงขึ้นระหว่างตัวแรงงานเอง อีกทั้งบริษัทและองค์กรต่างๆย่อมต้องการบุคลากรที่มีความสามารถในการสื่อสาร เราเองอาจต้องเร่งฝึกฝนภาษาอังกฤษ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานมากยิ่งขึ้นด้วย สำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีฝีมือ เริ่มต้นคือ วิศวกรรม พยาบาล สถาปัตนิก การสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และนักบัญชี จึงเป็นทั้งหน้าที่ของภาครัฐเองที่ต้องสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ และตัวเราเองก็ต้องหาความรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มเติมด้วย


สำหรับฉันเอง ประชาคมอาเซียนในฝันของฉัน เป็นภาพที่เต็มไปด้วยความร่วมมือกันในทุกฝ่าย ทั้งภาคประชาชนที่จะได้เกิดความสัมพันธ์ช่วยเหลือในด้านการค้าและเศรษฐกิจ บุคลากรผู้เป็นแรงงานฝีมือก็เกิดความสามารถในการประกอบอาชีพที่มี่ศักยภาพกว่าเดิม เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สังคมวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งสังคมและวัฒนธรรมเป็นเสาหลักความร่วมมือเพื่อสร้างประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 เป็นเป้าหมายการรวมตัวกันทางสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน เพื่อทำให้อาเซียนเป็นสังคมที่สมาชิกมีความเอื้อ-อาทรต่อกัน ประชากรมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการพัฒนาในทุกด้าน และมีความมั่นคงทางสังคมมากยิ่งขึ้นด้วย

แน่นอนว่าหากเกิดประชาคมอาเซียน การท่องเที่ยวในประเทศกลุ่มสมาชิกก็ต้องเกิดความตื่นตัวมากขึ้นเช่นกัน ทั้งด้านผู้ประกอบการ การเติบโตทางผลประกอบการ ภาพรวมการท่องเที่ยวที่คึกคัก และการลงทุนที่เข้มข้นจากประเทศอาเซียนด้วยกันเอง และประเทศอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกประชาคม ดังนั้นสิ่งที่จะลืมไม่ได้เลยคือ ประเทศสมาชิกรวมถึงประเทศไทยของเราเอง ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้มีความสามารถในแข่งขันระหว่างประเทศ

ณ วันนี้ต้องยอมรับว่าแม้สื่อมวลชน รวมทั้งทางรัฐบาลเองจะได้มีการประชาสัมพํนธ์ในคนไทยตระหนักและตื่นตัวกับการเกิดประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแแบบในปี2558มากขึ้น  แต่การที่ประชาชนยังคงนิ่งเฉยและยังไม่ได้สนใจให้ความสำคัญเป็นเพราะ พวกเรายังรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ยังไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร และยังคงคิดว่า เป็นประชาคมอาเซียนแล้วเราได้อะไร ฉันคิดว่าความคิดเหล่านี้จะเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับ “เราต้องกลับมาเลิกถามว่า

ไทยอยู่ในอาเซียนแล้วเราได้อะไร เราต้องถามตัวเองก่อนว่าเราจะทำอย่างไรให้สามารถรับมือและเข้ากับประชาคมอาเซียนได้” ฉันมั่นใจว่าในฐานะที่ฉันเป็นคนไทยคนหนึ่ง ก็เป็นจุดเล็กๆ ที่สำคัญที่ทำให้คนรอบตัว หันมาสนใจความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนได้ ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติ ฉันคิดว่าเราอาจจะนำสื่อโซเชียลมีเดียที่เราใช้กันอยู่ มาช่วยเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียง ผ่านการแชร์ข้อมูล หรือ สถานะต่างๆได้ หมายถึง การที่เราเองทำตัวเป็นสื่อภาคประชาชนนั้นเอง การส่งผ่านข่าวสาร และสาระความรู้เหล่านี้ แม้ดูเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่แน่นอนว่า ผ่านเวลาหลายวันหลายเดือนเข้า ความรู้เหล่านั้นจะตกตะกอนและกลายเป็นความเข้าใจได้ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว

ขณะเดียวกันเองฉันคิดว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยให้เราคนไทยทุกคน เข้าใจถึงความสำคัญหรือความจำเป็นในการเข้ารวมกลุ่มประชาคมอาเซียน คือ สื่อมวลชน ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าสถานการณ์ใด เหตุการณ์ใด สื่อมวลชนล้วนเป็นหลักให้คนในชาติได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ที่ถูกต้องสมบูรณ์มาตลอดอยู่แล้ว เพราะตัวสื่อมวลชนเอง จะถ่ายทอดเรื่องราวความรู้ มาในรูปแบบที่น่าสนใจเสมอ บางเรื่องราวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเข้าใจยาก สื่อก็มีความสามารถ ในการคัดกรอง เรียงร้อยถ้อยคำ จนชาวบ้านอย่างเราเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างง่ายได้ ในเรื่องประชาคมอาเซียนก็เช่นกัน จริงอยู่ว่าในทุกวันนี้ ตัวสื่อเองก็มิใช่เพิกเฉยละเลยไม่นำเสนอในประเด็นนี้ สื่อก็นำเสนอผ่านกระบวนการและรูปแบบต่างๆ ทั้งข่าวสาร การรายงาน การวิเคราะห์ วิดีทัศน์ เป็นต้น แต่อาจเป็นเพราะหลายปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ที่ได้ส่งผลให้เรายังคงไม่ได้รู้สึกว่า ประเด็นของประชาคมอาเซียน เป็นเรื่องที่เราต้องปรับตัวหรือตื่นตัว เรายังคงรู้สึกว่า จะเข้าหรือไม่เข้าประชาคมก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่หน้าที่ของเราซึ่งเป็นประชาชนตัวเล็กน้อยเท่านั้น  แต่ฉันมั่นใจว่าในอีกไม่นาน สื่อมวลชนเองจะทำหน้าที่ในการเพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้มากขึ้นแน่นอน และในทางเดียวกัน ประชาชนเองก็จะเป็นฝ่ายเข้ามาสนใจสื่อที่แนะนำประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนมากขึ้นด้วย

แม้ในวันนี้ความสนใจอาจจะยังไม่มาก แต่เชื่อเถอะว่า หากเราทุกคนเริ่มตระหนักว่า การเป็นประชาคมอาเซียนจะส่งผลให้เกิดความงดงามในการแลกเปลี่ยนสังคมวัฒนธรรม การเป็นประชาคมอาเซียนจะทำให้เกิดความเข้มแข็งในระบบเศรษฐกิจของภูมิภาค และการเป็นประชาคมอาเซียนจะทำให้เกิดความเป็นหนึ่งที่เหนียวแน่นแข็งแกร่งต่อสู้กับชาติใหญ่ในโลกได้ ความรู้สึกในใจของเราที่เคยเพิกเฉย อาจค่อยๆเปิดใจยอมรับและพร้อมเรียนรู้มากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าการเริ่มต้นอาจจะไม่ง่าย แต่ฉันเชื่อว่าเริ่มจากที่ตัวเราได้ เริ่มที่จะเปิดใจวัฒนธรรมของเพื่อนบ้าน เริ่มที่จะใส่ใจการฝึกฝนภาษาเพื่อการสื่อสาร เริ่มที่จะอยากรู้ความเป็นไปของสังคมประเทศเพื่อนบ้าน และความเป็นมาของประวัติศาสตร์ชาติเพื่อนบ้านโดยไร้ซึ่งอคติ เหล่านี้จะช่วยผลักดันให้เราเข้าใจประชาคมอาเซียน และเห็นถึงประโยชน์ ความงดงามในการรวมกลุ่มประเทศสมาชิก

ตามธรรมชาติแล้ว เด็กตัวเล็กๆ มักสนใจสิ่งใหม่รอบตัวเสมอ เด็กมองว่าสิ่งใหม่แปลกตาเป็นสิ่งสวยงาม น่าค้นหา น่าสนุก เด็กไม่มีอคติในการมองและในการรับรู้เรื่องใหม่ที่กำลังจะเข้ามาในชีวิต  เช่นเดียวกัน ประชาคมอาเซียนอาจเป็นเรื่องใหม่ที่กำลังจะเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตของเรา ณ เวลานี้เราคงต้องกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง กลับไปเปิดใจรับอะไรง่ายๆ สนใจในสิ่งใหม่ รู้สึกสนุกและตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ กล้าที่ลองรับฟังวัฒนธรรม ทัศนคติ หรือ มุมมองที่หลากหลายออกไปจากเดิมที่เราอยู่แค่ในประเทศไทย ในวันข้างหน้า10 ประเทศสมาชิกจะอยู่รวมกันจนราวกับเป็นหนึ่งเดียว เราจะเป็นสิ่งหนึ่งของสิ่งแปลกใหม่นี้ เราจะเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมอาเซียนที่ยิ่งใหญ่ แล้ววันนั้นเราคงได้พบคำตอบว่า “ประชาคมอาเซียนได้ให้อะไรเรา”




 

Create Date : 12 สิงหาคม 2555    
Last Update : 12 สิงหาคม 2555 2:08:33 น.
Counter : 626 Pageviews.  

ประกวดออกแบบคีย์ วิชวล (Key Visual) งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 17


ประกวดออกแบบคีย์ วิชวล (Key Visual) งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ



  สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ขอเชิญชวนผู้มีใจรักการออกแบบทุกเพศทุกวัยร่วมส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการ “ประกวดออกแบบคีย์ วิชวล (Key Visual) งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 17” ภายใต้แนวคิด “อ่านทั่วไทย อ่านได้ อ่านดี” โดยมีกติกาสำคัญคือจะต้องเป็นโทนสีส้ม และใช้โปรแกรม Illustrator และ Photoshop ในการออกแบบเท่านั้น
ผู้ชนะเลิศจะได้รับจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท พร้อมโล่รางวัลจากสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และรางวัล Poppular Vote จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 5,000 บาท

กำหนดส่งผลงานตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 กรกฎาคมนี้ และประกาศผลในวันที่ 16 สิงหาคม

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pubat.or.th หรือ www.facebook/Book Thai หรือโทรศัพท์ 02-954-9560-4 ต่อ 112




 

Create Date : 12 สิงหาคม 2555    
Last Update : 12 สิงหาคม 2555 2:08:09 น.
Counter : 2279 Pageviews.  

"ISUZU Marketing Brains Challenge 2012"


โครงการ “ISUZU Marketing Brains Challenge 2012”

อีซูซุเปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่ร่วมท้าประลอง ระดมสมอง สร้างสรรค์แผนการตลาด ในโครงการ “ISUZU Marketing Brains Challenge 2012” ชิงเงินรางวัล พร้อมทัศนศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นแบบยกทีม ร
วมมูลค่ากว่า 1,000,000 บาท สำหรับน้องๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี รวมกลุ่ม 3-5 คน (จากสถาบันเดียวกัน ไม่จำกัดอายุ ชั้นปี และคณะ) 



สมัครและส่งแผนภายในวันที่ 30 กันยายน



ดูรายละเอียดเพิ่มเติม 






 

Create Date : 12 สิงหาคม 2555    
Last Update : 12 สิงหาคม 2555 2:07:42 น.
Counter : 741 Pageviews.  

Singha Life Awards 2012 ดีไซน์...ให้เป็นจริง


ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่    //www.singhalife.com/singhalifeawards/index.php/all-news

"Singha Life Awards 2012"
ดีไซน์...ให้เป็นจริง
"Singha Life Awards 2012" เป็นโครงการเพื่อการศึกษา ภายใต้แนวคิด “คุณภาพคน คุณภาพสังคม” ของบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีใจรักงานด้านการออกแบบและสนใจด้านแฟชั่น มีเวทีสำหรับแสดงศักยภาพ นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับมืออาชีพ และเริ่มต้นก้าวแรกสู่ “อนาคต” โดยในปี 2555 นี้ได้จัดเป็นปีที่ 3 ของโครงการ
ทั้งนี้ในโครงการฯ ได้จัดให้มีกิจกรรมดังนี้
  1. การอบรมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เปิดโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ในธุรกิจแฟชั่น
  2. การจัดประกวดงานออกแบบแฟชั่น เพื่อเฟ้นหาสุดยอดดีไซเนอร์ / นักออกแบบหน้าใหม่ เข้ามาร่วมงานกับ Singha Life

    ซึ่งกิจกรรมทั้ง 2 ส่วนจะเป็นการเปิดประตูสู่อนาคตให้กับนักออกแบบหน้าใหม่ได้แจ้งเกิดในวงการแฟชั่นอาชีพของเมืองไทยได้ต่อไป
    วัตถุประสงค์
    1. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง และพัฒนาบุคลากรด้านแฟชั่นของประเทศไทย และตอบสนองตลาดแฟชั่นที่ต้องการนักออกแบบรุ่นใหม
    2. เพื่อเป็นเวทีแสดงความสามารถและศักยภาพทางการออกแบบสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่และนักออกแบบอิสระได้มีโอกาสแจ้งเกิดในวงการแฟชั่นอาชีพ3. เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่และนักออกแบบอิสระได้พัฒนาและยกระดับความสามารถทางด้านการออกแบบให้ก้าวสู่มาตรฐานระดับมืออาชีพ ทัดเทียมกับนักออกแบบอาชีพในระดับสากล4. พื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่และนักออกแบบอิสระได้เข้ามาเรียนรู้การทำงานจริงด้านการออกแบบแฟชั่นกับบริษัท สิงห์ เทรนด์ ผู้ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ Singha Life อีกทั้งยังได้รับโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานจริงในคอลเล็คชั่นของตัวเองร่วมกับ The Fashion Designer ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในแวดวงอุตสาหกรรมแฟชั่น5. เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ และนักออกแบบอิสระที่มีความใฝ่ฝันจะก้าวเข้าสู่วงการแฟชั่นระดับอาชีพในอนาคต6. เพื่อสนับสนุนนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ผลิตเห็นความสำคัญของการออกแบบ และการสร้างตราสินค้าไทย เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในเวทีโลก







     

    Create Date : 12 สิงหาคม 2555    
    Last Update : 12 สิงหาคม 2555 1:56:56 น.
    Counter : 1272 Pageviews.  

    TK Young Writer 2012



    TK Young Writer 2012

                อุทยานการเรียนรู้ TK park เชิญชวนเยาวชน ที่มีอายุระหว่าง 16-23 ปี เข้าร่วมอบรม เพื่อฝึกฝน พัฒนาตัวเอง ก่อนลงสู่สังเวียนของอาชีพนักเขียน ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 4 สิงหาคม 2555 – 16 กันยายน 2555 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น  

    พบกับนักเขียนชื่อดังมากมายที่จะมาเป็นพี่เลี้ยง บีบคอ นวดไหล่ และให้คำแนะนำ อาทิ ปราบดา หยุ่น, วิภว์ บูรพาเดชะ, ภาณุมาศ ทองธนากุล, จักรพันธุ์ ขวัญมงคล ฯลฯ

                พิเศษ! นักเขียนหน้าใหม่ทุกท่านจะได้ร่วมกันทำ E-Book และหนังสือเล่มจริงๆ เพื่อเป็นผลงานติดตัวต่อไป และผลงาน 3 ชิ้นที่โดนใจบรรณาธิการนิตยสารต่างๆ จะได้ตีพิมพ์ลงนิตยสารจริง สนใจติดต่อขอรายละเอียด ได้ที่ 02-2574300 ต่อ 244 (สิ) หรือibook4@tkpark.or.th


    กติกาการรับสมัคร

                เยาวชนที่มีอายุระหว่าง 16-23 ปี ส่งผลงานเขียนเรื่อง “สังเวียนความฝัน” มาให้เราพิจารณา เขียนในรูปแบบใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นบทความ/เรื่องสั้น/บทกวี/บทสัมภาษณ์ ก็ได้ ความยาวไม่เกิน 2 หน้า A4 ขนาดตัวอักษร 16 Point ฟอนต์ Cordia พร้อมเขียนแนะนำตัวให้น่าสนใจที่สุด เขียนที่อยู่และเบอร์ติดต่อ แล้วส่งอีเมลมาที่ ibook4@tkpark.or.th

    ตั้งแต่วันนี้ – 22 กรกฎาคม 2555 (รับผลงานถึง 24.00 น.)

    ประกาศรายชื่อผู้โชคดีที่มาร่วมอบรม กับโครงการ TK Young Writer ในวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ทาง //www.tkpark.or.th

    กำหนดการการอบรมโครงการ TK Young Writer 2012 (ซ้อมใหญ่)

    วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2555 เวลา 10.00 น. – 16.00 น. "เปิดคอร์ส"
    วิทยากรที่ร่วมอบรม 
    วิภว์ บูรพาเดชะ
    ภาณุมาศ ทองธนากุล
                                        จักรพันธุ์ ขวัญมงคล

         พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล
    10.00 น.                 ลงทะเบียน
    10.30 น.                 พูดคุย แนะนำตัวพี่ๆ นักเขียนมืออาชีพ ได้แก่ ภาณุมาศ ทองธนากุล (ใบพัด), วิภว์ บูรพาเดชะ, ปราบดา หยุ่น, พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล (บก. สำนักพิมพ์ polka dot) ร่วมด้วย กอง บ.ก. นิตยสาร happening โดยกิจกรรมในช่วงนี้จะพูดคุยกันเรื่อง “หนังสือที่อ่านแล้วอยากเป็นนักเขียน”
    12.00 น.                 พักรับประทานอาหารกลางวัน
    13.00 น.                 บรรยายหัวข้อ “ชีวิตของนักเขียน” โดย ใบพัด
    14.00 น.                 สอบถามพูดคุยกับพี่ๆ นักเขียน
    16.00 น.                 เสร็จสิ้นการอบรม
    ..................................................................................................................................................................
    วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม 2555 เวลา 10.00 น. – 16.00 น.
    วิทยากรที่ร่วมอบรม  วิภว์ บูรพาเดชะ 
                                       จักรพันธุ์ ขวัญมงคล

        ณัฐจรัส เองมหัสสกุล
    ปราบดา หยุ่น                                   ทีม บก. Happening
    10.00 น.                 ลงทะเบียน
    10.30 น.                 พูดคุยหัวข้อ “เขียนอย่างไรไม่ให้ผิด” โดย เบญจวรรณ แก้วสว่าง (พิสูจน์อักษร จากนิตยสาร happening และนิตยสาร a day), เอกพันธ์ ครุมนตรี และ แป้ง-ณัฐจรัส เองมหัสสกุล (บรรณาธิการนิตยสาร Computer Art)
    12.00 น.                 พักรับประทานอาหารกลางวัน
    13.00 น.                 บรรยายหัวข้อ “นักเขียน กับ magazine” โดย วิภว์ บูรพาเดชะ และ "การเขียนบทสัมภาษณ์" โดย จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
    14.00 น.                 บรรยายหัวข้อ “วรรณกรรม ทำอย่างไร” โดย ปราบดา หยุ่น (TBC)
    15.00 น.                 พูดคุยกับน้องๆ ที่มาอบรม พร้อมให้เลือกแนวทางที่ตนเองสนใจ – แบ่งกลุ่ม 3 กลุ่มเพื่อเตรียมจัดทำหนังสือ 3 เล่ม และพบกับพี่เลี้ยงประจำกลุ่ม
    16.00 น.                 เสร็จสิ้นการอบรม
    ..................................................................................................................................................................
    วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม 2555 เวลา 13.00 น. – 16.00 น.
    13.00 น.                 ลงทะเบียน
    13.30 น.                 แบ่งกลุ่มตามแนวทางที่น้องๆ สนใจ พร้อมพูดคุย ถาม-ตอบ กับบรรณาธิการเฉพาะทาง 3 ท่าน ร่วมพูดคุยหาธีมเล่มกับน้องๆ และแจกการบ้านให้น้องๆ เขียนเรื่องของตัวเอง มาส่งในวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2555
    16.00 น.                 เสร็จสิ้นการอบรม
    หมายเหตุ: ในช่วงตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม เป็นต้นไปทาง บ.ก. เฉพาะกิจ อาจจะมีการนัดน้องๆ เพื่อพูดคุยเพิ่มเติมนอกรอบได้
    ..................................................................................................................................................................
    วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2555 เวลา 13.00 น. – 16.00 น.
    13.00 น.                 ลงทะเบียน
    13.30 น.                 บรรณาธิการเฉพาะทาง ตรวจงานที่น้องๆ เขียนมาส่ง, พูด – คุย ถึงปัญหา และแนะนำสิ่งที่ต้องปรับปรุง
    16.00 น.                 เสร็จสิ้นกิจกรรม

    หมายเหตุ: ในวันนี้หากทาง บ.ก. เฉพาะกิจท่านใดเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีประชุมแบบรวมกลุ่มแล้ว ก็อาจยกเลิกกิจกรรมในวันนี้ได้
    ..................................................................................................................................................................
    วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2555 เวลา 13.00 น. – 16.00 น.
    13.00 น.                 ลงทะเบียน
    13.30 น.                 ตรวจงานที่น้องๆ เขียนมาส่ง, พูด – คุย ถึงปัญหา และแนะนำสิ่งที่ต้องปรับปรุง พร้อมพูดคุย กับกราฟิกดีไซเนอร์ที่จะมาช่วยจัดเลย์เอาต์ให้หนังสือทั้ง 3 เล่ม (ทำเป็น E-Book และพิมพ์แบบ On Demand จำนวน 180 เล่ม)
    16.00 น.                 เสร็จสิ้นการอบรม

    หมายเหตุ: ในวันนี้หากทาง บ.ก. เฉพาะกิจอาจพิจารณาเลื่อนได้ตามเหมาะสม
    เมื่อหนังสือเสร็จแล้วทางทีมงานจะส่งให้พี่ๆ ทุกคนได้ดูก่อนที่จะมาคอมเมนต์กันในวันที่ 15 กันยายน

    ..................................................................................................................................................................
    วันเสาร์ที่ 15 กันยายน 2555 เวลา 13.00 น. – 16.00 น. "ปิดคอร์ส" 
    วิทยากรที่ร่วมอบรม  วิภว์ บูรพาเดชะ 
                                       จักรพันธุ์ ขวัญมงคล

        ณัฐจรัส เองมหัสสกุล
    ปราบดา หยุ่น
    ภาณุมาศ ทองธนากุล

    พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล

    13.00 น.                 ลงทะเบียน แจกหนังสือให้น้องๆ
    13.30 น.                พี่ๆ นักเขียน รวมทั้งนักเขียนรับเชิญ ร่วมคอมเมนต์ผลงานหนังสือของน้องๆ ทั้ง 3 เล่ม
    14.30 น.                 ปัจฉิมนิเทศเรื่อง “เคล็ดลับนักเขียนมืออาชีพ” จากพี่ๆ นักเขียน
    16.00 น.                 ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้
    และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวปิดโครงการ เสร็จสิ้นการอบรม ถ่ายรูปร่วมกัน




     

    Create Date : 12 สิงหาคม 2555    
    Last Update : 12 สิงหาคม 2555 1:56:29 น.
    Counter : 1442 Pageviews.  

    1  2  3  4  5  6  7  

    makopoto
    Location :
    กรุงเทพฯ Thailand

    [Profile ทั้งหมด]

    ฝากข้อความหลังไมค์
    Rss Feed
    Smember
    ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




    คนหนึ่งคนที่รอความตาย อาจารย์ยงยุทธ อาจารย์เคยพูดไว้ว่า คนบนโลกนี้มี 2 ประเภท 1.คนที่ตายแล้ว 2.คนที่รอความตาย ผมยังอยู่ประเภท 2 กำลังรอความตาย แต่จะรอความตายอย่างไร? ติดตามผมมาเถอะครับ
    Friends' blogs
    [Add makopoto's blog to your web]
    Links
     

     Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.