เรื่อง ฮา...ฮา... ของเด็กศิลปากร เกี่ยวกับการตั้งชื่อ

สวัสดีค่ะ (ศ.๗ กันยายน ๒๕๕๕)

วันนี้มีประสบการณ์ฮา...ฮา ของอดีตนักศึกษาศิลปากร เกี่ยวกับการตั้งชื่อมาแชร์ขำกันค่ะ เป็นเรื่องนานมาแล้ว ตั้งแต่มหาวิทยาลัยศิลปากร ยังมีเพียงสองวิทยาเขต วิทยาเขตวังท่าพระ (๑) และวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ (๒)  ตอนท้ายเรื่องมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการตั้งชื่อเสริมมาด้วย เรื่อง “ชื่อ...ไม่ซื่อ” เขียนโดย ก.ลูกช้าง-กฤษณา ลงตีพิมพ์ในนิตยสารโหรามหาเวทย์ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๖๗ ประจำเดือนกันยายน ๒๕๕๕ (มีจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วไป ราคาเล่มละ ๔๐ บาท)  

บล็อกที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้คือ //bigtrees65.bloggang.com ยินดีแบ่งบันพื้นที่ให้ท่านต้องการแบ่งปันเรื่องราว ประสบการณ์ ความรู้ จิตนาการ ในรูปแบบงานเขียน สำหรับผู้ที่ยังไม่มีพื้นที่ของตนเอง เช่น บล็อก หรือเว็บไซต์ เจ้าของบล็อกไม่มีของกำนัลใดมอบให้ท่าน นอกจากคำขอบคุณ ค่ะ

abc011                                                                                                                           ................................................................................................... 

              

                          เรื่อง ชื่อ...ไม่ซื่อ                           โดย ก.ลูกช้าง-กฤษณา

 คนสมัยนี้ส่วนใหญ่มีชื่อหรูกว่าใบหน้าและฐานะของตนกันทั้งนั้น แล้วสังเกตไหมว่า ชื่อที่นำหน้าด้วยคำว่า     “ณัฐและธน (อ่านว่า ทะ-นะ)” แล้วพ่วงด้วยคำอื่นๆ  กำลังมาแรง เป็นที่นิยมสุดๆ  ตั้งเป็นชื่อแล้วฟังไพเราะ แปลความหมายก็ดีเลิศ สันนิษฐานได้ว่าเป็นชื่อที่หลายคนตั้งขึ้นภายหลัง หรือเป็นชื่อที่เปลี่ยนใหม่นั่นเอง นัยว่าผู้รู้ตั้งให้เพื่อความเป็นสิริมงคล หรือเสริมความร่ำรวยแก่เจ้าชะตา ก.ลูกช้างเพิ่งรับรู้ว่า คำว่า “ณัฐ และ ธน” มีปาฏิหาริย์ถึงเพียงนี้

เรื่อง “ชื่อ” นั้นบางครั้งก็ไม่ซื่อ หรือตรงไปตรงมาเสียทุกครั้ง คำบางคำเขียนก็ดูดี ออกเสียงก็ฟังเพราะ แต่แอบขบถให้ความหมายที่นึกไม่ถึง ให้เจ้าของชื่อได้อายอยู่บ่อย ๆ

อย่างเรื่องของพี่ก๋อง คนใต้หน้าซื่อ ผมหยิก ปากหนา นักศึกษาวิชาปั้น คณะจิตรกรรม เป็นต้น เดิมชื่อ นายภัทรา นามสกุลอย่าไปรู้ของแกเลย ได้ข่าวว่าแกเปลี่ยนชื่อใหม่ วันหนึ่ง ก. ลูก-ช้างป๊ะหน้าแกในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ก็ถามว่า เหตุไฉนจึงเปลี่ยนชื่อ แกตอบว่า    

         “ชื่อเก่ามันหวาน เขียนด้วย ภ.สำเภา ดูเป็นแต๊ว เป็นตุ๊ด พ.พาน ค่อยดูบึก สมแมนหน่อย... แล้วก็ออกเสียงเหมือนเดิมด้วย ตั้งเองนะ...” แกภาคภูมิใจชื่อใหม่            

         “เฮ้ย...พี่ ภัทร ,ภัทรา แปลว่าที่รัก แต่พัทร ,พัทรา พ.พานของพี่แปลว่า ต้นพุทรา” ก. ลูกช้าง รู้สึกแหม่ง ๆ เลยเปิดพจนานุกรมกางให้ดู สีหน้าพี่ก๋องหมดความภูมิใจ กำชับเสียงเข้มว่า “เรื่องนี้ถ้าขยาย เอ็งตาย”              

         หมวย สวย อึ๋ม ข้างบ้านคนหนึ่งเตี่ยตั้งชื่อให้ว่า “กิม” มาถึงยุคคลั่งเกาหลี หรือ k-pop กลับไม่ชอบใจชื่อตัวซะงั้น ใคร ๆ เรียกกิมก็ไม่หัน บอกว่าเปลี่ยนชื่อใหม่แล้วเป็น “กิมิ”

         คนไม่สันทัดภาษาก็ชมว่าชื่อใหม่ฟังน่ารักดี มีแต่ ก.ลูกช้าง คนเดียวที่เรียกกิมเหมือนเดิม

         สาวเจ้ากระแทกเสียงใส่ “อั๊วชื่อกิมิ” ก.ลูกช้างได้แต่หัวเราหึ ๆ “เป็นทองก็ดีอยู่แล้ว กลับอยากจะเป็นหนอน”  คำว่า “กิม” ภาษาจีนแปลว่า ทอง  “กิมิ” เป็นคำภาษาบาลี แปลว่า หนอน 

มหาวิทยาลัยศิลปากร สมัยที่ ก.ลูกช้าง เรียนมีเพียงสองวิทยาเขตเท่านั้นคือ วิทยาเขตวังท่าพระ กรุงเทพ ฯ และวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งจะเรียกสั้น ๆ ว่า “ทับแก้ว” เมื่อลมหนาวโชย ถึงเทศกาลลอยกระทง จังหวัดนครปฐมจะจัดงานใหญ่ระดับภูมิภาค นั่นคืองานองค์พระปฐมเจดีย์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า งานองค์พระ เป็นประจำทุกปี เป็นงานที่สนุกมาก ๆ เพราะมีความหลากหลายทั้งกิจกรรม การเล่น การแสดง ของกิน และสินค้า มีการออกร้าน และจัดแสดงนิทรรศการของหน่วยราชการและสถานศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรเอกชนระดับบิ๊ก คนนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียงต่างหลั่งไหลมาเที่ยวงาน ถ้านึกภาพไม่ออกให้ถึงงานกาชาด ที่สวนอัมพร กรุงเทพฯ

ในงานนี้มีเวทีแจ้งเกิดที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ เวทีประกวดร้องเพลง  มีนักศึกษาทับแก้วบางคนไปประกวดร้องเพลงด้วย เพื่อนๆ แห่ไปเกาะขอบเวทีเชียร์กัน ค่ำคืนหนึ่งสาวน้อยคมขำนางหนึ่งมาปรึกษาพวกพี่ๆ ที่เกาะขอบเวทีว่า

         “หนูจะสมัครประกวดร้องเพลง หนูชื่อสังวาล ชื่อเช้ย...เชย หนูอายเขา อยากได้ชื่อเก๋ๆ พวกพี่ ๆ มีความรู้ตั้งชื่อให้หนูหน่อย” เด็กหนุ่มข้างขอบเวทีคนหนึ่งอมยิ้มก่อนกระซิบข้างหูน้องสังวาล สาวน้อยพยักหน้า ยิ้ม เห็นดีด้วย            

เวลาผ่านไป จวบจนนาทีสำคัญ โฆษกเวทีประกาศ “ผู้ชนะที่ 1 การประกวดร้องเพลงในค่ำคืนนี้ได้แก่...” วงดนตรีให้จังหวะตื่นเต้น  โฆษกก้มหน้ามองโพยในมือทำหน้าพิกล ยิ้มขัดเขิน ประกาศต่อว่า “นางสาวสมสังวาส...” สังวาลยิ้มหน้าบานก้าวขึ้นไปรับรางวัล เสียงอื้ออึงดังขึ้นตรงขอบเวที ไอ้คนตั้งชื่อหายแวบไป

(สังวาล,สังวาลย์ แปลว่า  สร้อยชนิดหนึ่งใช้คล้องเฉียงไหล่,  สังวาส แปลว่า ร่วมประเวณี” 

อย่าว่าแต่ชื่อไม่ซื่อเลย หลายครั้งที่คนตั้งชื่อก็ไม่ซื่อเหมือนกัน

อ่านเรื่องชวนหัวเกี่ยวกับการตั้งชื่อแล้ว ก.ลูกช้างขอวกเข้าเรื่องความรู้เกี่ยวกับการตั้งชื่อสักหน่อย พี่ก๋องเกิดวันพุธตอนกลางคืนหรือวันราหู อักษรที่ไม่ควรนำมาตั้งชื่อ คือ บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม เพราะเป็นอักษรกาลกิณี ไม่ว่าชื่อเก่า ภัทรา หรือชื่อใหม่ พัทรา ย่อมไม่เหมาะสำหรับแกทั้งนั้น

บุคลิกของแกเห็นแต่ไกลก็น่ายำเกรง พูดจาเสียงดัง น้ำเสียงกระด้าง ห้วน ดูรวม ๆ แล้วชวนไม่น่าคบ สมควรหลีกห่างให้ไกล แต่พอคบกันแล้วก็ให้รักใคร่น้ำถือน้ำใจ เพราะเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่เอาเปรียบใคร และน้ำใจงาม แกมีปมด้อยชนิดหนึ่งที่เพื่อนๆ ช่วยกันแก้ก็ไม่หาย คือ จนตลอดศก  

โบราณว่าชื่อของผู้ชายให้เอาอักษรวรรคเดชหรือวรรคมนตรีนำหน้า ถ้าเป็นผู้หญิงให้เอาอักษรวรรคศรีหรือวรรคมนตรีนำหน้า (เดช หมายถึง  อำนาจ เกียรติยศ ชื่อเสียง หน้าที่การงาน, มนตรี หมายถึง การได้รับความอุปถัมภ์ค้ำชู, ศรี หมายถึง  หลักทรัพย์ เงินทอง สิริมงคล โชคลาภ) และห้ามนำอักษรในวรรคกาลกิณีมาใช้ตั้งชื่อ

ถ้าให้ ก.ลูกช้าง ตั้งชื่อใหม่ให้พี่ก๋อง ก็จะเอาอักษรวรรคศรี คือ ก ข ค ฆ ง นำหน้าชื่อของแก เพราะจะได้ลดความห้าว กระด้าง น่าเกรงขามลง และมีเงินมีทองจับจ่ายกะเขาบ้าง

ชื่อใหม่ของแกน่าจะเป็น “กฤต” แปลว่า กระทำแล้ว หรือสำเร็จแล้ว แต่คำว่า กฤต นี้ คนส่วนใหญ่มักจะหาคำอื่นๆมาเสริมหรือต่อท้าย เช่น กฤตธน (อ่านว่า กริด-ตะ-ทะ-นะแปลว่า การเงินที่สำเร็จแล้ว), กฤตวิทย์ (อ่านว่า กริด-ตะ-วิด แปลว่า ผู้รู้ดีแล้ว) และอีกชื่อที่จะให้พี่ก๋องเลือกคือ “คคนานต์” (อ่านว่า คะ-คะ-นาน แปลว่า ท้องฟ้า) ถ้าจะตั้งชื่อให้ใครก็ดูจำนวนพอเหมาะ เพราะตั้งชื่อให้มากก็ยิ่งเลือกได้ยาก

ชื่อที่ ก.ลูกช้าง ตั้งให้พี่ก๋องนั้น ตั้งตามภูมิทักษา ซึ่งเป็นศาสตร์การตั้งชื่อแต่โบราณ

ปัจจุบันนักพยากรณ์นิยมใช้หลักเลขศาสตร์ในการตั้งชื่อ โดยมีแนวคิดว่า อักษรแต่ละตัวมีค่าตัวเลขกำกับ เมื่อรวมกันแล้วต้องให้ค่าตัวเลขที่มีความหมายที่ดี หลายครั้งที่ค่าตัวเลขของชื่อดี แต่เมื่อมารวมกับค่าตัวเลขของนามสกุลแล้วกลับให้ความหมายที่เป็นลบ นักพยากรณ์บางคนจึงแนะนำให้เจ้าของชื่อเปลี่ยนนามสกุลไปพร้อมกัน เพื่อให้ได้ผลรวมของตัวเลขมีความหมายที่ดี

บางคนไม่ขอเปลี่ยนนามสกุล จะเปลี่ยนแต่ชื่ออย่างเดียว และผลรวมของตัวเลขชื่อและนามสกุลต้องออกมามีความหมายดีด้วย

ดังนั้นเราจะเห็นชื่อที่สะกดแปลกๆ จนเกือบจะหาเค้าเดิมของภาษาไม่ได้ และเมื่ออ่านชื่อนั้นก็ไม่มีความมั่นใจว่าจะอ่านได้ถูกต้อง บางครั้งต้องย้อนถามเจ้าของชื่อว่าชื่อนี้อ่านและแปลว่าอย่างไร เพราะผู้ตั้งชื่อมุ่งแต่ผลรวมของตัวเลขนั่นเอง                      ..................................................................................     

 

 

 

 

 

 

 

           

 

          

 

         

        

         

         

 

 

 

 

 

 

 

 

  



Create Date : 07 กันยายน 2555
Last Update : 7 กันยายน 2555 13:38:57 น.
Counter : 1554 Pageviews.

0 comment

abc011
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



สวัสดีค่ะ แรมรอนมาจากไหน เชิญนั่งพักก่อน จิบกาแฟอุ่นๆ สักแก้ว หรือชาจีนอุ่นๆ สักถ้วย หายเหนื่อยแล้วค่อยไปต่อ ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ...
New Comments