วิธีสร้างบุญบารมี ตอนที่ ๔

อรุณสวัสดิ์ค่ะ (พ.๒๙ ส.ค. ๒๕๕๕)

              ได้อ่านหนังสือ วิธีสร้างบุญบารมี* พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เห็นว่าเป็นกุศลแก่ชีวิตเป็นอันมาก จึงขออัญเชิญพระนิพนธ์มาเผยแพร่ในบล็อกนี้ โดยจะคัดลอกเป็นตอน เพื่อให้อ่านได้สะดวกค่ะ  

ขอให้จิตแจ่มใส  

*จัดพิมพ์โดย บริษัท รุ่งเรืองวิริยะพัฒนาโรงพิมพ์ จำกัด ถ.รามอินทรา ซ.๖๘ กรุงเทพฯ โทร ๐๒ ๕๑๗-๗๔๔๕  

.........................................................................  

วิธีสร้างบารมี ตอนที่ ๔  

วิธีสร้างบารมี  

                เมื่อเจตนาในการให้ทานบริสุทธิ์ผุดผ่องดีพร้อมทั้งสามระยะดังกล่าวมาแล้ว ทั้งยังประกอบไปด้วยวิปัสนาปัญญา ดังกล่าวมาแล้วด้วย เจตนานั้นย่อมบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทานที่ได้ทำไปนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญมากหากวัตถุที่ได้ทำเป็นบริสุทธิ์ ตามองค์ประกอบข้อ ๑ ด้วย ก็ย่อมทำให้ได้บุญมากยิ่งๆ ขึ้นไปอีก วัตถุทานจะมากหรือน้อย เป็นของเลวหรือประณีตไม่สำคัญ เมื่อเราได้ให้ทานไปตามกำลังทรัพย์ที่เรามีอยู่ย่อมใช้ได้ แต่ก็มีข้ออันควรระวังอยู่ก็คือ การทำทานนั้น อย่าได้เบียดเบียนตนเอง เช่นมีน้อย แต่ฝืนทำให้มากๆ จนเกินกำลังของตนที่จะให้ได้ เมื่อได้ทำไปแล้วตนเองและสามี ภริยา รวมทั้งบุตรต้องลำบาก ขาดแคลน เพราะไม่มีจะกินจะใช้ เช่นนี้ย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง เจตนานั้นย่อมไม่บริสุทธิ์ ทานที่ได้ทำไปแล้วนั้น แม้วัตถุจะมากหรือทำมาก ก็ย่อมได้บุญน้อย ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ทำทานด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ คือ

            ตัวอย่าง ๑ ทำทานเพราะอยากได้ ทำเอาหน้า ไปยืนถ่ายภาพลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์  เพื่อให้ได้รับความนิยมยกย่องนับถือ โดยที่แท้จริงแล้วตนมิได้มีเจตนาที่จะมุ่งสงเคราะห์ผู้ใด เรียกว่า ทำทานด้วยความโลภ ไม่ได้ทำเพื่อขจัดความโลภ ทำทานด้วยความอยากได้ หรืออยากได้หน้า ได้เกียรติ ได้สรรเสริญ ได้ความนิยมนับถือ

           ตัวอย่าง ๒ ทำทานด้วยความฝืนใจ ทำเพราะเสียไม่ได้ ทำด้วยความเสียหาย เช่นมีพวกพ้องมาเรี่ยไร ตนเองไม่มีศรัทธาที่จะทำหรือมีศรัทธาอยู่บ้างแต่ทรัพย์น้อย เมื่อมีพวกมาเรี่ยไรบอกบุญต้องจำใจทำทานไปเพราะความเกรงใจพวกพ้อง หรือเกรงว่าจะเสียหน้า ตนจึงสละทรัพย์ทำทานไปด้วยความจำใจ ย่อมเป็นการทำทานด้วยความตระหนี่หวงแหน ทำทานด้วยความเสียดาย ไม่ใช่ทำทานด้วยจิตเมตตาที่มุ่งจะสงเคราะห์ผู้อื่น ซึ่งยิ่งคิดก็ยิ่งเสียดาย ให้ไปแล้วก็เป็นทุกข์ใจ บางครั้งนึกโกรธผู้ที่มาบอกบุญ เช่นนี้จิตย่อมเศร้าหมองได้บุญน้อย หากเสียดายมากๆ จนเกิดโทสจริตกล้าแล้ว นอกจากจะไม่ได้บุญแล้วที่จะได้ก็คือบาป  

ตัวอย่าง ๓ ทำทานด้วยความโลภ คือทำทานเพราะอยากได้นั่นอยากได้นี่ อยากเป็นนั่น เป็นนี่ อันเป็นการทำทานเพราะหวังสิ่งตอบแทน ไม่ใช่ทำทานเพราะมุ่งหมายที่จะขจัดความโลภ ความตระหนี่หวงแหนในทรัพย์ของตน เช่น ทำทานแล้วตั้งจิตอธิษฐานขอให้ชาติหน้าได้เป็นเทวดา นางฟ้า ขอให้รูปสวย ขอให้ทำมาค้าขึ้น ขอให้ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี ทำทาน ๑๐๐ บาทแต่ขอให้ร่ำรวยนับล้าน ขอให้ถูกสลากกินแบ่งกินรวบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสมบัติสวรรค์ หากชาติก่อนไม่เคยทำบุญใส่บาตรฝากสวรรค์เอาไว้ อยู่ๆ ก็มาขอเบิกชาตินี้ จะมีที่ไหนมาให้เบิก การทำทานด้วยความโลภเช่นนี้ ย่อมไม่ได้บุญอะไรเลย สิ่งที่จะได้พอกพูนให้มากขึ้นและหนาขึ้นก็คือ “ความโลภ”  

                ผลหรืออานิสงส์ของการทำทานที่ครบองค์ประกกอบ ๓ ประการนั้น ย่อมมีผลให้ได้ซึ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติเอง แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งเจตนาเอาไว้ล่วงหน้าก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากเหตุ เมื่อทำเหตุครบถ้วนย่อมมีผลเกิดขึ้นตามมาเอง เช่น เดียวกับปลูกต้นมะม่วงเมื่อรดน้ำพรวนดิน และใส่ปุ๋ยไปตามธรรมดาเรื่อยไป แม้จะไม่อยากให้เจริญเติบโตและออกดอกผล ในที่สุดต้นไม้ก็จะต้องเจริญและผลิดอกออกผลตามมา สำหรับผลของทานนั้น หากน้อยหรือมีกำลังไม่มากนักย่อมน้อมนำให้บังเกิดในมนุษย์ชาติ หากมีกำลังแรงมาก ก็ย่อมน้อมนำให้บังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น เมื่อได้เสวยสมบัติในเทวโลกจนสิ้นบุญแล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังเหลืออยู่บ้าง ประกอบกับไม่มีอกุศลกรรมอื่นแทรกให้ผล ก็อาจจะน้อมนำให้มาบังเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่งและเมื่อได้บังเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวยมั่งคั่ง สมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์ หรือไม่ก็เป็นผู้ที่มีลาภผลมาก ทำมาหากินขึ้นและร่ำรวยในภายหลัง ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติหายนะไปเพราะวินาศภัย โจรภัย อัคคีภัย วาตภัย ฯลฯ แต่จะมั่งคั่งร่ำรวยในวัยใดย่อมสุดแล้วแต่ผลทานแต่ชาติก่อนๆ จะส่งผล คือ 

                ๑.ร่ำรวยตั้งแต่วัยต้น เพราะผลของทานที่ได้ตั้งเจตนาไว้บริสุทธิ์ดีตั้งแต่ก่อนจะทำทาน คือก่อนที่จะลงมือทำทาน ก็มีจิตเมตตาโสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีในทานที่ตนจะได้ทำเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น แล้วก็ได้ลงมือทำทานไปตามเจตนานั้น เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ย่อมโชคดี โดยเกิดในตระกูลที่ร่ำรวย ชีวิตในวัยต้นอุดมสมบูรณ์พูนสุขไปด้วยทรัพย์ ไม่ยากจนแร้นแค้น ไม่ต้องขวนขวายหาเลี้ยงตนเองมาก แต่ถ้าเจตนานั้นไม่งามบริสุทธิ์พร้อมกันครบ ๓ ระยะแล้ว ผลทานนั้นก็ย่อมส่งผลให้ไม่สม่ำเสมอกัน คือแม้ว่าจะร่ำรวยตั้งแต่วัยต้น โดยเกิดมาบนกองเงินกองทองก็ตาม หากในขณะที่กำลังลงมือทำทานเกิดจิตเศร้าหมองเพราะหวนคิดเสียดายหรือหวงแหนทรัพย์ที่จะให้ทานขึ้นมา หรือเกิดหมดศรัทธาขึ้นมาเฉยๆ แต่ก็ยังฝืนทำทานไป เพราะเสียไม่ได้หรือเพราะทำตามเพื่อนพ้องไปอย่างเสียไม่ได้เช่นนี้ ผลทานย่อมหมดกำลังในระยะที่ ๒ ซึ่งตรงกับวัยกลางคน ซึ่งจะมีผลทำให้ทรัพย์สมบัติวิบัติหายนะไปด้วยประการต่างๆ แม้จะได้รับมรดกมาก็ไม่อาจจะรักษาไว้ได้ หากเจตนาในการทำทานในระยะที่ ๓ คือทำทานไปแล้วหวนคิดขึ้นมา ทำให้เสียดายทรัพย์ ความหายนะก็มีผลต่อเนื่องมาจนถึงบั้นปลายชีวิตด้วย คือทรัพย์สินคงวิบัติเสียหายต่อเนื่องจากวัยกลางคนไปจนถึงตลอดอายุขัย ชีวิตจริงของผู้ที่เกิดบนกองเงินกองทองก็มีให้เห็น เป็นตัวอย่างที่เมื่อได้รับทรัพย์มรดกแล้วก็วิบัติเสียหายไป หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในวัยต้นแต่ก็ต้องล้มละลายในวัยกลางคน และบั้นปลายชีวิต แต่ถ้าได้ตั้งเจตนาในการทำทานไว้บริสุทธิ์ครบถ้วนพร้อม ๓ ระยะแล้ว ผลทานนั้นย่อมส่งผลสม่ำเสมอ คือร่ำรวยตั้งแต่เกิด วัยกลางคน และจนปัจฉิมวัย 

                ๒. ร่ำรวยในวัยกลางคน การที่ร่ำรวยในวัยกลางคนนั้น สืบเนื่องมาจากผลของทานที่ได้ทำเพราะเจตนางามบริสุทธิ์ในระยะที่ ๒ กล่าวคือไม่งามบริสุทธิ์ในระยะแรก เพราะก่อนที่จะลงมือทำทานก็มิได้มีจิตศรัทธามาก่อน ไม่คิดจะทำทานมาก่อน แต่ก็ได้ตัดสินใจทำทานไปเพราะเหตุผลบางอย่าง เช่นทำตามพวกพ้องอย่างเสียไม่ได้ แต่เมื่อได้ลงมือทำทานอยู่ก็เกิดโสมนัส ร่าเริงยินดีในทานที่กำลังกระทำอยู่นั้น ด้วยผลทานชนิดนี้ ย่อมทำให้มาบังเกิดในตระกูลที่ยากจนคับแค้น ต้องต่อสู้สร้างตนเองในวัยต้น ครั้นเมื่อถึงวัยกลางคน กิจการหรือธุรกิจที่ทำก็ประสบความสำเร็จรุ่งเรือง และหากเจตนาในการทำทานได้งามบริสุทธิ์ในระยะที่ ๓ ด้วย กิจการหรือธุรกิจนั้น ย่อมส่งผลรุ่งเรืองตลอดไปจนถึงบั้นปลายชีวิต หากเจตนาในการทำทานไม่บริสุทธิ์ในระยะที่ ๓ แม้ธุรกิจหรือกิจการงานจะประสบความสำเร็จรุ่งเรืองในวัยกลางคน แต่ก็ล้มเหลวหายนะในบั้นปลาย ทั้งนี้เพราะผลทานหมดกำลังส่งผลไม่ตลอดถึงบั้นปลายชีวิต  

                ๓. ร่ำรวยปัจฉิมวัย คือร่ำรวยในบั้นปลายชีวิตนั้น สืบเนื่องมาจากผลทานที่ผู้กระทำมีเจตนาไม่งามบริสุทธิ์ในระยะแรก และระยะ ๒ แต่งามบริสุทธิ์ในระยะที่ ๓ กล่าวคือ ก่อนและในขณะที่ลงมือทำทานอยู่นั้น ก็มิได้มีจิตโสมนัสยินดีในการทำทานนั้นแต่อย่างใด แต่ได้ทำลงไปโดยบังเอิญ เช่นทำตามๆ พวกพ้องไปอย่างเสียไม่ได้ แต่เมื่อได้ทำไปแล้ว ต่อมาหวนคิดถึงผลทานนั้นก็เกิดจิตโสมนัสร่าเริงยินดีเบิกบาน หากผลทานชนิดนี้จะน้อมนำมาให้บังเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเกิดในตระกูลที่ยากจนคับแค้น ต้องต่อสู้ดิ้นรนศึกษาเล่าเรียน และขวนขวายสร้างตนเองมากตั้งแต่วัยต้นจนล่วงวัยกลางคนไปแล้ว กิจการงานหรือธุรกิจนั้นก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดมา แต่ครั้นถึงบั้นปลายชีวิตก็ประสบช่องทางเหมาะ ทำให้กิจการงานนั้นเจริญรุ่งเรืองทำมาค้าขึ้น และร่ำรวยอย่างไม่คาดหมาย ซึ่งชีวิตจริงๆ ของคนประเภทนี้ก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่มาก

 

(อ่านต่อ วิธีสร้างบุญบารมี ตอนที่ ๕)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




Create Date : 29 สิงหาคม 2555
Last Update : 29 สิงหาคม 2555 8:36:54 น.
Counter : 764 Pageviews.

0 comment
วิธีสร้างบุญบารมี ตอนที่ ๓

อรุณสวัสดิ์ค่ะ (อ. ๒๘ ส.ค. ๒๕๕๕)    

             ได้อ่านหนังสือ วิธีสร้างบุญบารมี* พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เห็นว่าเป็นกุศลแก่ชีวิตเป็นอันมาก จึงขออัญเชิญพระนิพนธ์มาเผยแพร่ในบล็อกนี้ โดยจะคัดลอกเป็นตอน เพื่อให้อ่านได้สะดวกค่ะ  

 ขอให้จิตแจ่มใส

*จัดพิมพ์โดย บริษัท รุ่งเรืองวิริยะพัฒนาโรงพิมพ์ จำกัด ถ.รามอินทรา ซ.๖๘ กรุงเทพฯ

โทร ๐๒ ๕๑๗-๗๔๔๕

.........................................................................

วิธีสร้างบุญบารมี ตอนที่ ๓  

                                                        วิธีสร้างบุญบารมี 

 องค์ประกอบข้อ ๒. “เจตนาในการให้ทานต้องบริสุทธิ์” 

          การให้ทานนั้น โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็พื่อเป็นการขจัดความโลภ ความตระหนี่เหนียวแน่น ความหวงแหนหลงใหลในทรัพย์สมบัติของตน อันเป็นกิเลสหยาบ คือ “โลภกิเลส” และเพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขด้วยเมตตาธรรมของตน อันเป็นบันไดก้าวแรกในการเจริญเมตตา พรหมวิหารธรรมในพรหมวิหาร ๔ ได้เกิดขึ้น ถ้าได้ให้ทานด้วยเจตนาดังกล่าวแล้วเรียกว่าเจตนาในการทำทานบริสุทธิ์ แต่เจตนาที่ว่าบริสุทธิ์นั้น ถ้าจะบริสุทธิ์จริงจะต้องสมบูรณ์พร้อมกัน ๓ ระยะ คือ

๑.  ระยะก่อนที่จะให้ทาน ก่อนที่จะให้ทานก็มีจิตโสมนัส ร่าเริงเบิกบานยินดีที่จะให้ทาน   เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุข เพราะทรัพย์สิ่งของของตน      

 ๒.   ระยะที่กำลังลงมือให้ทาน ระยะที่กำลังลงมือทำทานอยู่นั้นเอง ก็ทำด้วยจิตโสมนัส ร่าเริงยินดีและเบิกบานในทานที่ตนกำลังทำให้ผู้อื่น

๓.ระยะหลังจากที่ได้ให้ทานไปแล้ว ครั้นเมื่อได้ให้ทานไปแล้วเสร็จ หลังจากนั้นก็ดี นานมาก็ดี เมื่อหวนคิดถึงทานที่ตนได้กระทำไปแล้วครั้งใด ก็มีจิตโสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีในทานนั้นๆ    

เจตนาบริสุทธิ์ในการให้ทานนั้น อยู่ที่จิตโสมนัสร่าเริง เบิกบานยินดีในทานที่ทำนั้นเป็นสำคัญ และเนื่องมาจากเมตตาจิตที่มุ่งสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นความทุกข์และให้ได้รับความสุข เพราะทานของตนนับว่าเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ในเบื้องต้น แต่เจตนาที่บริสุทธิ์เพราะเหตุดังกล่าวมาแล้วนี้จะทำให้ยิ่งๆ บริสุทธิ์มากขึ้นไปอีก หากผู้ให้ทานนั้นได้ทำทานด้วยวิปัสสนาปัญญา กล่าวคือไม่ใช่ทำทานอย่างเดียว แต่ทำทานพร้อมกับมีวิปัสสนาปัญญา โดยใคร่ครวญถึงวัตถุทานที่ให้ทานนั้นว่า อันบรรดาทรัพย์สิ่งของทั้งปวงที่ชาวโลกนิยมยกย่องหวงแหนเป็นสมบัติกันด้วยความโลภนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงแต่วัตถุธาตุประจำโลก  เป็นสมบัติกลางไม่ใช่ของผู้ใดโดยเฉพาะ เป็นของที่มีมาตั้งแต่ก่อนเราเกิดขึ้นมา และไม่ว่าเราจะเกิดขึ้นมาหรือไม่ก็ตาม วัตถุธาตุดังกล่าวก็มีอยู่เช่นนั้น และได้ผ่านการเป็นเจ้าของของผู้อื่นมาแล้วหลายชั่วคน ซึ่งท่านแต่ก่อนนั้นต่างก็ได้ล้มหายตายจากไปทั้งสิ้น ไม่สามารถนำวัตถุธาตุดังกล่าวนี้ติดตัวไปได้เลย จนในที่สุดก็ได้ตกทอดมาถึงเรา ให้เราได้กินได้ใช้ ได้ยึดถือเพียงชั่วคราว แล้วก็ตกทอดสืบเนื่องไปเป็นของคนอื่นๆ ต่อๆ ไปเช่นนี้ แม้เราเองก็ไม่สามารถจะนำติดตัวเอาไปได้  จึงนับว่าเป็นเพียงสมบัติผลัดกันชมเท่านั้น ไม่จากไปในวันนี้ก็ต้องจากไปในวันหน้า อย่างน้อยเราก็ต้องจากต้องทิ้งเมื่อเราได้ตายลง นับว่าเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน จึงไม่อาจยึดมั่นถือมั่นว่านั่นเป็นของเราได้ถาวรตลอดไป แม้ตัววัตถุธาตุดังกล่าวนี้เอง เมื่อมีเกิดขึ้นเป็นตัวตนแล้ว ก็ตั้งอยู่ในสภาพนั้นให้ตลอดไปไม่ได้ จะต้องเก่าแก่ ผุพัง บุบสลายไป ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแต่อย่างไร แม้แต่เนื้อตัวร่างกายของเราเองก็มีสภาพเช่นเดียวกับวัตถุธาตุเหล่านั้น ซึ่งไม่อาจจะตั้งมั่นให้ยั่งยืนอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวแล้วก็เฒ่าแก่ และตายไปในที่สุด เราจะต้องพลัดพรากจากของอันเป็นที่รัก ที่หวงแหนคือทรัพย์สมบัติทั้งปวง  

(อ่านต่อ วิธีสร้างบุญบารมี ตอนที่ ๔ )

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

         

 

 

 

 

                     

 

 

 




Create Date : 28 สิงหาคม 2555
Last Update : 30 สิงหาคม 2555 7:53:06 น.
Counter : 849 Pageviews.

0 comment
วิธีการสร้างบุญบารมี ตอนที่ ๒

อรุณสวัสดิ์ (จ. ๒๗ ส.ค. ๒๕๕๕)             

ได้อ่านหนังสือ วิธีสร้างบุญบารมี* พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เห็นว่าเป็นกุศลแก่ชีวิตเป็นอันมาก จึงขออัญเชิญพระนิพนธ์มาเผยแพร่ในบล็อกนี้ โดยจะคัดลอกเป็นตอน เพื่อให้อ่านได้สะดวก

ขอให้จิตแจ่มใส

*จัดพิมพ์โดย บริษัท รุ่งเรืองวิริยะพัฒนาโรงพิมพ์ จำกัด ถ.รามอินทรา ซ.๖๘ กรุงเทพฯ โทร ๐๒ ๕๑๗-๗๔๔๕

                              .........................................................................

วิธีสร้างบุญบารมี ตอน ๒

                                                      วิธีสร้างบุญบารมี    

               ๑.การทำทาน การทำทาน ได้แก่การสละทรัพย์สิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น โดยมุ่งหวังจะจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ และความสุขด้วยความเมตตาของจิตตน ทานที่ได้ทำไปนั้นจะทำให้ผู้ทำทานได้บุญมากหรือน้อยเพียงใด ย่อมสุดแต่แล้วแต่องค์ประกอบ ๓ ประการต่อไปนี้แล้ว ทานนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญบารมีมาก กล่าวคือ

องค์ประกอบข้อ ๑. “วัตถุทานที่ให้ต้องบริสุทธิ์” วัตถุทานที่ให้ได้แก่ สิ่งของทรัพย์สมบัติที่ตนได้สละให้เป็นทานนั้นเอง จะต้องเป็นของที่บริสุทธิ์ ที่จะเป็นของบริสุทธิ์ได้จะต้องเป็นสิ่งของที่ตนได้แสวงหา ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ในการประกอบอาชีพ ไม่ใช่ของที่ได้มาเพราะการเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ได้มาโดยทุจริต ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ ฯลฯ ตัวอย่างที่ ๑ ได้มาโดยการเบียดเบียนชีวิตเลือดเนื้อสัตว์ เช่น ฆ่าสัตว์ต่างๆ เป็นต้นว่า ปลา โค กระบือ สุกร โดยประสงค์จะนำเอาเลือดเนื้อของเขามาทำอาหารถวายพระเพื่อเอาบุญ ย่อมเป็นการสร้างบาปเอามาทำบุญ วัตถุทานคือเนื้อสัตว์นั้นเป็นของที่ไม่บริสุทธิ์ แม้ทำบุญให้ทานไป ก็ย่อมได้บุญน้อย จนเกือบไม่ได้อะไรเลย ทั้งอาจได้บาปเสียอีกหากว่า ทำทานด้วยจิตที่เศร้าหมอง แต่การได้เนื้อสัตว์มาโดยการซื้อหาจากผู้อื่นที่ฆ่าสัตว์นั้น โดยที่ตนมิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจในการฆ่าสัตว์ก็ดี เนื้อสัตว์นั้นตายเองก็ดี เนื้อสัตว์นั้นย่อมเป็นวัตถุทานที่บริสุทธิ์ เมื่อนำมาทำทานย่อมได้บุญมาก หากถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบข้ออื่นๆ ด้วย ตัวอย่างที่ ๒ ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ รวมถึงการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง อันเป็นการได้ทรัพย์มาในลักษณะไม่ชอบธรรม หรือโดยเจ้าของเดิมไม่เต็มใจให้ทรัพย์ย่อมเป็นของไม่บริสุทธิ์ เป็นของร้อน แม้จะผลิดอกออกผลมาเพิ่มเติม ดอกผลนั้นก็ย่อมเป็นของไม่บริสุทธิ์ ด้วยนำเอาไปกินไปใช้ย่อมเกิดโทษ เรียกว่า “บริโภคโดยความเป็นหนี้” แม้จะนำอาไปทำบุญให้ทาน สร้างโบสถ์วิหารก็ไม่ทำให้ได้บุญแต่อย่างใด สมัยหนึ่งในรัชกาลที่ ๕ มีหัวหน้าสำนักนางโลมชื่อว่า “ยายแฟง” ได้เรียกเก็บเงินกับหญิงโสเภณี ในสำนักของตนจากอัตราที่ได้มาครั้งหนึ่ง ๒๕ สตางค์ และชักเอาไว้ ๕ สตางค์ สะสมเอาไว้เช่นนี้จนได้ประมาณ ๒,๐๐๐ บาท แล้วจึงจัดสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งด้วยเงินนั้นทั้งหมด เมื่อสร้างเสร็จแล้วแกก็ปลื้มปิติ นำไปนมัสการถามหลวงพ่อโตวัดระฆังว่า การที่แกสร้างวัดทั้งวัดด้วยเงินของแกทั้งหมดจะได้บุญบารมีอย่างไร หลวงพ่อโตตอบว่า ได้แค่ ๑ สลึง แกก็เสียใจ เหตุที่ได้บุญน้อยก็เพราะทรัพย์อันเป็นวัตถุทานที่ตนนำมาสร้างวัดอันเป็นวิหารทานนั้น เป็นของที่แสวงหาได้มาโดยไม่บริสุทธิ์  เพราะเบียดเบียนมาจากเจ้าของที่ไม่เต็มใจจะให้ ฉะนั้นบรรดาพ่อค้าแม่ขายทั้งหลายที่ซื้อของถูกๆ แต่ขายแพงๆ จนเกินส่วนที่ควรจะได้ ผลกำไรที่ได้มาเพราะความโลภจัดจนเกินส่วนนั้น ย่อมเป็นสิ่งของไม่บริสุทธิ์โดยนัยเดียวกัน วัตถุทานที่บริสุทธิ์เพราะการแสวงหาได้มาโดยชอบธรรมดังกล่าว ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นของดีหรือเลว ไม่จำกัดว่าเป็นของมากหรือน้อย น้อยค่าหรือมีค่ามาก จะเป็นของดี เลว ประณีตมากหรือน้อยไม่สำคัญ ความสำคัญขึ้นอยู่กับเจตนาในการให้ทานนั้นตามกำลังทรัพย์และกำลังศรัธทาที่ตนมีอยู่

องค์ประกอบที่ ๒. “เจตนาในการให้ทานต้องบริสุทธิ์”

(อ่านต่อ วิธีสร้างบุญบารมี ตอนที่ ๓)

 

 

             

 

 

 

                

                

               

 

 

 




Create Date : 27 สิงหาคม 2555
Last Update : 30 สิงหาคม 2555 7:51:02 น.
Counter : 810 Pageviews.

1 comment
วิธีสร้างบุญบารมี ตอนที่ ๑

อรุณสวัสดิ์ค่ะ (อา. ๒๖ ส.ค. ๒๕๕๕)

             ได้อ่านหนังสือ วิธีสร้างบุญบารมี* พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เห็นว่าเป็นกุศลแก่ชีวิตเป็นอันมาก จึงขออัญเชิญพระนิพนธ์มาเผยแพร่ในบล็อกนี้ โดยจะคัดลอกเป็นตอน เพื่อให้อ่านได้สะดวกค่ะ  

 ขอให้จิตแจ่มใส  

 *จัดพิมพ์โดย บริษัท รุ่งเรืองวิริยะพัฒนาโรงพิมพ์ จำกัด ถ.รามอินทรา ซ.๖๘ กรุงเทพฯ      โทร ๐๒ ๕๑๗-๗๔๔๕

                                ...............................................................

วิธีสร้างบุญบารมี ตอนที่ ๑ 

                                                     วิธีสร้างบุญบารมี  

              บุญ ความหมายตามพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของพระราชวรมุนี (ประยุกต์ ปยุตโต) กล่าวว่า บุญ คือ เครื่องชำระสันดาน ความดี กุศล ความสุข ความประพฤติชอบทางกาย วาจาและใจ กุศลธรรม

             บารมี คือคุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายอันสูงยิ่ง

             วิธีสร้างบุญบารมีในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๓ ขั้นตอน คือ การให้ทาน การถือศีล และการเจริญภาวนา ที่นิยมเรียกกันว่า “ทาน ศีล ภาวนา” ซึ่งการให้ทานหรือการทำทานนั้นเป็นการสร้างบุญที่ต่ำที่สุด ได้บุญน้อยที่สุด ไม่ว่าจะทำมากอย่างไร ก็ไม่มีทางที่จะได้บุญมากไปกว่าการถือศีลไปได้  การถือศีลนั้นแม้จะมากเท่าไร ก็ไม่มีทางที่จะได้บุญมากไปกว่าการเจริญภาวนาไปได้ ฉะนั้น การเจริญภาวนานั้น จึงเป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุด ได้มากที่สุด ในทุกวันนี้เรารู้จักกันแก่การให้ทานอย่างเดียว เช่น การทำบุญตักบาตร ทอดกฐิน ผ้าป่า สละทรัพย์สร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ส่วนการถือศีลแม้จะได้บุญมากกว่าการทำทาน ก็ยังมีการทำกันเป็นส่วนน้อย เพื่อความเข้าใจอันดี จึงขอชี้แจงการสร้างบุญบารมีอย่างไรจึงจะเป็นการลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้บุญบารมีมากที่สุด ดังนี้คือ 

 (อ่านต่อ  วิธีสร้างบุญบารมี ตอนที่ ๒)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




Create Date : 26 สิงหาคม 2555
Last Update : 30 สิงหาคม 2555 7:57:00 น.
Counter : 892 Pageviews.

0 comment
สวัสดีค่ะ เชิญนั่งก่อน

สวัสดีค่ะ

แรมรอนมาจากไหน

เชิญนั่งพักก่อน จิบกาแฟอุ่นๆ สักแก้ว หรือชาจีนอุ่นๆ สักถ้วย

หายเหนื่อยแล้วค่อยไปต่อ

ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ




Create Date : 25 สิงหาคม 2555
Last Update : 25 สิงหาคม 2555 16:05:22 น.
Counter : 786 Pageviews.

2 comment
1  2  3  

abc011
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



สวัสดีค่ะ แรมรอนมาจากไหน เชิญนั่งพักก่อน จิบกาแฟอุ่นๆ สักแก้ว หรือชาจีนอุ่นๆ สักถ้วย หายเหนื่อยแล้วค่อยไปต่อ ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ...
New Comments