Group Blog
 
All Blogs
 

การประทานกุรอ่าน (อัล-วะฮีย์)

มนุษย์เราสามารถรับรู้ หรือเข้าใจสิ่งใดที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา จากสองประการต่อนี้
1. ประสาทสัมผัสทั้งห้า
2. การใช้สติปัญญาไตร่ตรอง

1. ประสาทสัมผัสทั้งห้า
คือ “การมอง การได้ยิน การฟัง การดมกลิ่น การสัมผัส” ขึ้นอยู่กับว่า สิ่งที่เขาใช้นั้น มีความสามารถในการรับรู้แค่ไหน เช่น มนุษย์มีขีดจำกัดการมองเห็นที่จุดๆหนึ่ง แต่สามารถใช้เครื่องขยายภาพ เพิ่มกำลังการมอง ทำให้สามารถมองเห็นของชิ้นเล็กๆ หรือ อยู่ไกลๆได้ เป็นต้น ซึ่งยากเหลือเกินที่จะมีใครปฎิเสธการรับรู้สิ่งที่ได้รับการสัมผัสโดยวิธีดังกล่าว

2. การใช้สติปัญญาไตร่ตรอง
คือ การใช้สติปัญญา ประมวลเหตุผล ข้อมูลที่ได้รับ นำออกมาเป็นผลลัพท์ต่อสิ่งใด สิ่งหนึ่ง การมีความสมบูรณ์ของสติปัญญาไม่เท่ากัน การมีความสามารถในการประมวลผลข้อมูลไม่เท่ากัน การได้รับข้อมูลที่ไม่เท่ากัน นำมาซึ่งผลลัพท์ที่ต่างกัน

การรับรู้ด้วยสองวิธีข้างต้น เป็นอิสระจากกันและกันโดยเด็ดขาด ไม่สามารถนำมาทดแทนอีกวิธีหนึ่งได้ หากแต่สามารถใช้เสริมอีกฝ่ายหนึ่งได้เท่านั้น เช่น หากมีคนนั่งอยู่ตรงหน้าเรา เราสามารถใช้ประสาทการมอง ทำให้รู้ว่า “เขามีผิวขาว ตากลมโต ผมสีน้ำตาล ทรงผมปิดใบหู ปากสีชาด จมูกได้สัดส่วนกับใบหน้า” หากเราใช้สติปัญญา และการใตร่ตรอง เพียงอย่าเดียว ไม่ยอมใช้ประสาทสัมผัสการมอง เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ใครกันที่อยู่ต่อหน้าเรา

ทำนองเดียวกัน เราสามารถรู้ได้ว่า คนที่เรามองอยู่ตรงหน้า ออกมาลืมตาดูโลกโดยผ่านการตั้งครรภ์ของมารดา ถึงแม้เราจะไม่เคยเห็นมารดาของเขาตั้งครรภ์เองก็ตาม โดยผ่านการพิจารณาโดยสติปัญญา และการไตร่ตรองของเราเอง


แต่บางสิ่งบางอย่างที่เราไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสในการรับรู้ หรือการใช้สติปัญญาในการพิจารณา เช่น กำเนิดสิ่งมีชีวิต ชีวิตหลังความตาย ตายแล้วไปไหน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เอง ที่เป็นสาเหตุให้เกิดความแตกต่างทางความเชื่อ รวมทั้งคติการดำเนินชีวิตที่วางเพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อของตน ในที่นี้ ผมขอพูดถึงเพียงคติความเชื่อเดียวคือคติความเชื่อของอิสลาม


อิสลามเชื่อในการรับรู้วิธีที่สาม นั่นก็คือ “วะฮีย์”(Revelation)



“วะฮีย์” คืออะไร?


“วะฮีย์” มาจากรากศัพท์ “อียฮาฮ์” หมายถึง “การแสดงนัยยะสำคัญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างรวบรัด จะออกมาในรูปของปริศนากำกวม หรืออุปมา อุปมัยก็ตาม” การแสดงนัยยะดังกล่าว อาจออกมาในรูปของการเคลื่อนไหวที่มีจุดมุ่งหมายของร่างกาย เสียงที่ไม่ได้ยิน หรือการเขียนก็ตาม


การแสดงออกมาในรูปของการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น
(กุรอ่าน19:11) “แล้วเขา (ซะการียา) ได้ออกจากแท่นสวดมายังหมู่ชนของเขา และเขาได้บอกใบ้แก่พวกของเขาว่า “พวกท่านจงกล่าวสดุดีในยามเช้าและยามเย็น”

การแสดงออกมาเป็น เสียงที่ไม่ได้ยิน หรือ “การดลใจ” จะป็นการดลใจโดยใคร ในเรื่องใดๆ ก็ตาม เช่น

สัตว์ดลใจโดยพระเจ้า
(กุรอ่าน16:68) “และพระเจ้าของเจ้า ทรงดลใจแก่ผึ้งว่าจงทำรังตามภูเขาและตามต้นไม้ และตามที่พวกเขาทำร้านขึ้น”

มนุษย์ดลใจโดยมารร้าย
(กุรอ่าน 6:112) “และในทำนองนั้นแหละเราได้ให้มีศัตรูขึ้นแก่ปกาศกทุกคน คือ (ศัตรูจาก) บรรดาซาตาน มนุษย์ และญินโดยที่บางส่วนของพวกเขาจะกระซิบกระซาบแก่อีกบางส่วน ซึ่งคำพูดที่เป็นการหลอกลวง”

เทวทูตดลใจโดยพระเจ้า
(กุรอ่าน8:12) “จงรำลึกขณะที่พระเจ้าของเจ้าประทานโองการแก่เทวทูตว่า “แท้จริงข้า(พระเจ้า)นั้นร่วมอยู่กับพวกเจ้าด้วย” ดังนั้นพวกเจ้าจงทำให้บรรดาผู้ศรัทธามั่นคงเถิด”

มนุษย์ธรรมดาดลใจโดยพระเจ้า
(กุรอ่าน28:7) “และเราได้ดลใจแก่มารดาของมูซา(โมเสส)ว่า “จงให้นมแก่เขา เมื่อเจ้ากลัวแทนเขาก็จงโยนเขาลงไปในแม่น้ำ(พระเจ้าจะจัดแจงภาระเลี้ยงดูแก่เขาเอง)”


แต่ “วะฮีย์” ที่เรากำลังจะพูดถึงนั้นหมายถึง “การดลใจจากพระเจ้า แด่ปกาศกของพระองค์”



รูปแบการดลใจแก่ปกาศกที่บันทึกในกุรอ่าน


(กุรอ่าน42: 51) “และไม่เป็นการบังควรแก่มนุษย์คนใดที่จะให้อัลลอฮฺตรัสแก่เขาเว้นแต่โดยทางวะฮียฺ(ดลใจจากความฝันหรืออื่นๆ) หรือโดยทางเบื้องหลังม่าน(การตรัสโดยตรง แต่ไม่เห็นตัวผู้พูด) หรือโดยที่พระองค์จะส่งเทวทูตมา แล้วเขา ก็จะนำวะฮียฺ(โองการ)มาตามที่พระองค์ทรงประสงค์โดยบัญชาของพระองค์ แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงสูงส่งผู้ทรงปรีชาญาณ”


แบ่งเป็นสามแบบ คือ

1. มาในรูปของความฝัน เช่น ความฝันของ อับราฮาม เรื่อง การเชือดพลีบุตรคนเดียว เป็นการทดสอบ แต่แล้ว พระเจ้าก็ทรงประทานสิ่งอื่นมาทดแทน
(กุรอ่าน37:102) “ครั้นเมื่อเขา (อิสมาอีล = อิชมาแอล) เติบโตขึ้นไปไหนมาไหนกับเขา (อิบรอฮีม = อับราฮาม) ได้แล้ว อิบรอฮีมได้กล่าวขึ้นว่า “โอ้ลูกเอ๋ย! แท้จริงพ่อได้เห็นในขณะฝันว่า พ่อได้เชือดเจ้า จงคิดดูซิว่าเจ้าจะเห็นเป็นอย่างไร?” เขากล่าวว่า “โอ่พ่อจ๋า! พ่อจงปฏิบัติตามที่พ่อได้ถูกบัญชามาเถิด หากอัลลอฮฺทรงประสงค์ พ่อจะเห็นฉันว่า ฉันอยู่ในหมู่ผู้มีความอดทน”

2. สื่อสารโดยตรง โดยไม่ผ่าสื่อกลาง เช่น การสื่อสารระหว่าง มูซา(โมเสส) กับพระเจ้า
(กุรอ่าน4:154) “และอัลลอฮฺได้ตรัสแก่มูซา”
(กุรอ่าน20:11) “มีเสียงเรียกขึ้นว่า “โอ้ มูซาเอ๋ย”

3. การประทานผ่านเทวทูต เช่น การประทานกุรอ่านโดยทั่วๆไปแก่ท่านนบีมุฮัมมัด


.....อินชาอัลลอฮ์ (หากอัลลอฮ์ประสงค์) พรุ่งนี้จะมาต่อเรื่อง "ลักษณะการประทานกุรอ่านแก่ท่านนบีมุฮัมมัด" และ "เกร็ดควมรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกุรอ่าน" ก่อนเข้าไปสู่ "ศาสตร์แห่งกุรอ่าน" วันนี้ ง่วงแล้วครับ (^-^).....




 

Create Date : 10 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 10 กรกฎาคม 2549 5:09:40 น.
Counter : 4345 Pageviews.  

"คำนิยาม และชื่อต่างๆของอัล-กุรอ่าน"

ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน

"กุรอ่าน" ตามรากศัพท์ มาจากคำว่า “กอรออะ” แต่เดิมหมายถึง “การรวบรวม” ต่อมาได้ใช้เป็นความหมายว่า “การอ่าน” เพราะอักษรต่างๆถูกรวบรวมขึ้นขณะที่มันถูกอ่าน นักปราชญ์บางท่านที่สนับสนุนแนวความคิดนี้ เช่น อิมามอบูฮานีฟะฮ์ (ชื่อเดิม “นั๊วมาน บิน ษาบิต” เจ้าของสำนักความคิด “อัล-ฮะนาฟีย์” )

นักปราชญ์บางท่านให้ทัศนะว่า “กุรอ่าน” เป็นคำนามในรูปกรรม (อิสมุ้ลมัฟอู้ล) มาจากคำว่า “มักรูอุน” หมายถึง “สิ่งที่ถูกอ่าน” (มาในรูปคำ(Scale) ของ“มัฟอูลุน”) แต่ถูกเปลี่ยนให้เป็นรูปคำ “ฟะอ์อาลุน” (เช่น “กุรอานุน” ที่ใช้กันอยู่) โดยจะให้ความหมายว่า “สิ่งที่ถูกอ่านเป็นประจำ” ผู้ที่สนับความคิดนี้ เช่น อิมามอะฮ์มัด อิบนุฮัมบัล (เจ้าของสำนักความคิด “อัล-ฮัมบาลีย์”)

นักปราชญ์บางท่าน เช่น ท่านอิมามชาฟิอีย์(เจ้าของสำนักความคิด “อัช-ชาฟิอีย์”)ได้ให้ความเห็นว่า “กุรอ่าน” เป็นคำนามเฉพาะ (Proper noun) เช่นเดียวกับชื่อคน หรือสถานที่ โดยมิได้แตกมาจากคำใดๆเลย

คำนิยามของ “กุรอ่าน” คือ “คำพูดของอัลลอฮ์ ซึ่งถูกประทานมายังมุฮัมมัดศาสนทูตท่านสุดท้ายของพระองค์ ถูกรายงานโดยสายรายงานที่ไม่ขาดตอน และไม่มีข้อขัดแย้ง (มุตะวาติร) เริ่มต้นด้วยบท “อัล-ฟาติฮะฮ์” จบลงที่บท “อัน-นาซ” (อัตตัลวีฮ์ มะอัต เตาดีฮ์ เล่ม1 หน้า26 พิมพ์โดย “Mustafa press al-babi, Egypt)


ชื่อต่างๆของ “กุรอ่าน”


ชื่อของกุรอ่าน ที่ถูกเรียก นักปราชญ์บางท่านเช่น อัลลามาอ์ อะบุ้ล มาอ์ลีย์ (ชื่อเดิม “อับดุลอะซีซ บิน อับดุลมาลิก” นักปราชญ์ในสำนักความคิด “อัช-ชาฟีอีย์” เสียชีวิตปี ฮ.ศ 494 หนังสือที่ชื่อเสียงของท่านเช่น “อัลบุรฮาน ฟี มุชกิลาตุ้ลกุรอาน”) ได้นับไว้55 ชื่อด้วยกัน แต่ทัศนะที่ยอมรับ และแพร่หลายที่สุดคือ “การนับชื่อของกุรอ่าน ที่กุรอ่านได้กล่าวถึงตัวมันไว้เอง” หากคิดตามทัศนะนี้ กุรอ่านถูกเรียกในกุรอ่านเองทั้งหมด4 ชื่อด้วยกัน

1. อัล-กุรอ่าน (ได้กล่าวไว้แล้วข้างบน)
(กุรอ่าน 55:1-2) “พระผู้ทรงกรุณาปรานี พระองค์ทรงสอนอัลกุรอาน”

2. อัล-ฟุรกอน “ข้อแบ่งแยกระหว่าสิ่งดี และสิ่งไม่ดี”
(กุรอ่าน3:4) “และได้ประทานข้อแบ่งแยกลงมาด้วย”

3. อัซ-ซิกร “คำตักเตือนที่รัดกุม ชัดแจ้ง”
(กุรอ่าน3:58) “ดังกล่าวนั้นแหละ เราอ่านมันให้เจ้าฟัง อันได้แก่โองการต่าง ๆ และคำเตือนรำลึกที่รัดกุมชัดเจน”

4. อัล-กิตาบ “หนังสือ หรือ คัมภีร์”
(กุรอ่าน2:2) “นี้คือคัมภีร์ ซึ่งที่ไม่มีข้อสงสัยใดๆในนั้น”

5. อัต-ตันซี้ล “สิ่งที่ถูกประทาน”
(กุรอ่าน56:80) “ถูกประทานลงมาจากพระเจ้าแห่งสากลโลก”

ชื่อทั้งหมดนี้ เป็นคำนามเฉพาะ(Proper noun) ทั้งสิ้น ชื่อที่ใช้บ่อยที่สุดคือ “อัล-กุรอ่าน” ถูกใช้ถึง 61 ครั้งด้วยกัน




 

Create Date : 10 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 10 กรกฎาคม 2549 5:12:06 น.
Counter : 1145 Pageviews.  


SA Student
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ปกติเขาเขียนไรกันน่ะ ก็นั่นแหละ อย่างที่เขียนๆกัน
Friends' blogs
[Add SA Student's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.