บันทึกของ เอ้ [ Sorawich] diary การเดินทาง ท่องเที่ยว ภาพถ่าย สถานที่ท่องเที่ยว ทะเล ภูเขา อาหาร โรงแรม รีสอร์ท ที่พัก สนามกอล์ฟ เรื่องบันเทิง ศิลปะ ดนตรี เก็บข่าวที่สนใจ และ เรื่องราวที่ผ่านมาในชิวิต professional photographer ,wedding photography, magazines, agencies, corporations , , Advertising, Architecture, Glamour, Catalogues, Documentary, Editorial,Entertainment,Events/Conferences, Executive Portraits, Fashion, Food, Commencement/Graduation, Interiors, Landscape, Lifestyle, People, Photojournalism, Portrait, Public Relations, Resorts/Hotels,golf event,golf courses,golf resorts , Sports, Stock, Travel
Group Blog
 
All blogs
 
น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว : ประเสริฐ จันดำ และวิสา คัญทัพ

กลับไปอ่าน “น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว”



และงานคัดสรรของประเสริฐ จันดำ
และวิสา คัญทัพ




ชื่อ : ประเสริฐ จันดำ วิสา คัญทัพ “น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว” และงานคัดสรร





ผู้เขียน : ประเสริฐ จันดำ วิสา คัญทัพ






สำนักพิมพ์ : มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา





ปีที่พิมพ์ : 2546





ราคา : 140 บาท / 120 หน้า





นับเป็นโอกาสดีที่ได้กลับไปอ่านงานวรรณกรรม บทกวี เรื่องสั้น และข้อคิดข้อเขียนในยุคก่อน 14 ตุลา โดยคณะกรรมการคัดสรรหนังสือชุด “ตุลาวรรณกรรม” มีวิทยากร เชียงกูล เป็นประธานคณะทำงาน มี วินัย อุกฤษณ์, วัฒน์ วรรลยางกูล, รัศมี เผ่าเหลืองทอง, เจษฎา ทองรุ่งโรจน์ และกัณหา แสงรายา เป็นคณะทำงาน ทั้งนี้โดยการสนับสนุนและผลักดันจาก “มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา” เนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี 14 ตุลา : 2516 – 2446 เพื่อร่วมวาระประวัติศาสตร์วัน 14 ตุลา ประชาธิปไตย หนึ่งในจำนวนนั้นมีหนังสือ “น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว และงานคัดสรร” ของสองกวีเพื่อประชาชนนามประเสริฐ จันดำ และวิสา คัญทัพ รวมอยู่ด้วย






ทั้งประเสริฐ จันดำ และวิสา คัญทัพ ต่างเป็นนักคิดนักเขียน กวี ในยุคก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ร่วมเคลื่อนไหวทั้งในเขตเมืองและในป่า แม้ว่าหลังจากที่ทั้งสองได้คืนเมืองก็ยังคงเคลื่อนไหวในแนวคิดและอุดมการณ์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าประเสริฐ จันดำ นั้นเหลือไว้เพียงตำนานนักสู้เพื่อประชาชน





เมื่อพลิกอ่าน “น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว” และงานคัดสรร เล่มนี้ พบว่าเนื้อหาในหนังสือแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ ภาคแรกเป็นงานเขียนบทกวี และเรื่องสั้นของวิสา คัญทัพ ภาคสอง เป็นบทบทกวี และเรื่องสั้นของประเสริฐ จันดำ ที่เขียนร่วมกับสุรชัย จันทิมาธร จากงานเขียนชุด “จารึกบนหนังสือ” ส่วนภาคที่สามเป็นกวีนิพนธ์ชุด น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว โดยประเสริฐ จันดำ และวิสา คัญทัพ






ภาคแรก : บทกวี และเรื่องสั้นของวิสา คัญทัพ



ในภาคแรกของหนังสือเป็นบทกวีและเรื่องสั้นโดยวิสา คัญทัพ ประกอบด้วยบทกวีคัดสรร 5 บท และเรื่องสั้น 1 เรื่อง ด้านบทกวีคัดสรรเป็นบทกวีที่เขียนขึ้นก่อนเหตุการณ์และหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งฉายให้เห็นภาพเหตุการณ์ความสูญเสียซึ่งอิสรภาพและสูญเสียชีวิตของผู้คน รวมทั้งการรำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งได้แรมรอนในเขตป่าในบทกวีชื่อ “ลมหนาวปีที่สี่กับพิราบเดือนตุลา” ซึ่งเป็นบทกวีที่วิสา คัญทัพ เขียนขึ้นภายหลังออกจากป่า ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกหนังสือ” ประจำเดือนกรกฎาคม 2524 ฉบับว่าด้วย “เรือลำใหม่กับเรือลำสุดท้าย”ว่าทัศนะความคิดของวิสา คัญทัพ และวัฒน์ วรรลยางกูร น่าจะเป็นกวีที่โดดเด่นในภาคนี้









ปก "โลกหนังสือ" ฉบับเดือนกรกฎาคม 2524




ในภาคเรื่องสั้นว่าด้วยเรื่อง “เด็กหญิงคนนั้นกับการปฏิวัติ” เป็นเรื่องสั้นที่เขียนขึ้นภายหลังจากการออกจากเรือนจำชั่วคราวบางเขน เป็นเรื่องสั้นกึ่งจินตนาการในลักษณะบทบันทึกประจำวัน ระหว่างวันที่ 11 – 15 ตุลาคม 2516 ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นองเลือด





ทั้งบทกวีและเรื่องสั้นได้สะท้อนถึงการต่อสู้ทางการเมืองภาคประชาชน โดยเฉพาะบทกวีชื่อ “หยาดน้ำตาประชาไทย” ซึ่งเป็นบทกวีที่เขียนในโปสเอตร์ประท้วงรัฐบาลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ดังนี้



หยาดน้ำตาประชาไทย


หยาดน้ำตาประชาไทยในวันนี้



ไหลเกือบท่วมปฐพีแล้วพี่เอ๋ย



ถ้าความจริงสามารถอ้างเหมือนอย่างเคย



ก็จะเอ่ยและจะอ้างอย่างไม่กลัว



นี่มีปากก็ถูกปิดจนมิดเม้น




มันแทะเล็มถุยรดและกดหัว



ปัญหาที่เกิดนั้นก็พันพัว



ไม่อยากโทษใครชั่วเพราะกลัวตาย



ถ้าขอได้จะขอกันในวันนี้




ขอให้สิทธิ์เสรีอย่าสูญหาย



ถ้าเลือดไทยจะหลั่งโลมจนโซมกาย



ก็ขอตายด้วยศักดิ์ศรีเสรีชน ..... หน้า 21


ภาคสอง : จารึกบนหนังสือ : สุรชัย จันทิมาธร ประเสริฐ จันดำ





ในภาคสองของหนังสือเป็นบทกวีและเรื่องสั้นโดยประเสริฐ จันดำ ซึ่งเป็นบทกวีคัดสรรในยุคแรกของผู้เขียนราวปี 2507 เมื่อครั้งที่ยังเรียนอยู่ที่สวนกุหลาบวิทยาลัยต่อเนื่องมาถึงยุคแสวงหา “กลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวย” เมื่อครั้งศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนหนึ่งเป็นการคัดสรรจากหนังสือ “จารึกบนหนังสือ”ที่เขียนร่วมกับสุรชัย จันทิมาธร พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เมื่อปี 2518 และหนังสือ “ขบวนการร้อยกรองซับแดง” ที่เขียนร่วมกับสมคิด สิงสง จัดพิมพ์โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งประกอบด้วยบทกวี จำนวน 32 บท และเรื่องสั้น จำนวน 3 เรื่อง






ประเสริฐ จันดำ ในวัยหนุ่ม


เนื้อหาในบทกวีที่นำเสนอ กล่าวถึงวิถีชีวิตชาวชนบทอีสานที่อยู่กับความแห้งแล้งกันดาร ความทุกข์ยากลำบาก ธรรมชาติที่แสนจะโหดร้าย รวมทั้งเรื่องราวการปฏิวัติเพื่อปวงชน เพื่อสังคมที่ดีในสังคม “คนกินคน” และความรำลึกความหลังเมื่อครั้งอยู่ในเขตป่าของผู้เขียน ที่น่าสนใจมีบทกวี เช่น แห่นางแมว, ฉันปลูกข้าวเพื่อใคร, กลับไปสู่แผ่นดินสูง, แปนเอิดเติด (เป็นบทเพลงของวงคาราวานในยุดต่อมา) แก่นกระดูก, สะพานข้ามห้วย, เสียงขลุ่ยเมื่อค่ำคืน, คำสาบจาก ประเสริฐ จันดำ, วันคืนเมือง, พบกันใหม่



มีบทกวีที่น่าสนใจคือ “พิมพยอม” ตำนานสาวบ้านป่าคนนั้น ขึ้นต้นได้อย่างน่าสนใจยิ่งนัก






“นอนเถิดหนายาหยีพี่จะกล่อม



งามละม่อมมิ่งขวัญอย่าหวั่นไหว



คีรีรอบเคียงเหมือนเวียงชัย



เอาร่มไม้เป็นปราสาทราชวังเคยสำเนียงเสียงนางสุรางค์เห่




มาฟังเรไรแซ่ต่างแตรสังข์



เคยมีวิสูตรรูดกั้นบนบัลลังก์



มากำบังใบไม้ในไพรวัลย์” ....หน้า 113






แท้จริงแล้วพิมพยอมเป็นใครกัน หญิงสาวบ้านป่าที่ยังรอคอยในบ้านป่า หรือพิมพยอมที่ปลุกเร้าอุดมการณ์ในใจของทุกคน เป็นคำถามที่ยังรอคำตอบ






จำวันนั้นได้ไหม



พยอมไพรฟุ้งจรุงกลิ่น



กระแสน้ำไหลเอื่อยเรื่อยเรื่อยริน



ใบไม้แห้งระดะดินเรียงราย



แดดรอนรอนอ่อนโอ้อกระโหย



ตะวันลาใช่ร่วงโรยให้ใจหาย




เป็นขวัญของผองไทยไปตราบตาย



เราท้าทายทุกท่าหาญฝ่าฟัน



พรุ่งนี้แล้วแก้วตาเห็นฟ้าใหม่



อันเรืองไรรูจีด้วยสีสัน



เพื่อชีวิตที่ดีกว่าที่ว่านั่น



มาเถิดร่วมมือกันเข้าชิงชัย .....หน้า 117-118




ฉันนั่งลงตรงชายป่า



รำลึกถึงมหานักรบประชาชน



ผู้บรรลุแล้วซึ่งความวีระอาจหาญ



ผู้ล่องลอยวิญญาณเนื่องจากการถูกลอบกัด



ฉันรู้สึกวังเวง



ในความอ้างว้างของรกชัฏ




การปฏิวัติจะต้องมี ต้องมี ต้องมี



กระซิบส่งภูตผีให้ตามล่าหมาขี้เรื้อน



พวกมันไปซุกอยู่รูไหน



จงติดตามมันไปเถิดเพื่อน



นกผีร้องเป็นสัญญาณเตือน



ศพเหล่าเจ้าพวกเถื่อนจักเกลื่อนดิน




เหล่ามันผู้ทรยศประชาชน



มุดหัวอยู่แหล่งใด



กลางนาครรุ่งเรืองศิวิไลซ์



หรือเห่าหอนมาถึงราวไพรให้ได้ยิน



บดขยี้มันให้สิ้นนะเพื่อนกู



น้ำค้างหยดต้องใบไม้สั่นเทา




กับเงื้อมเงาแห่งเทือกภู



เราจักอยู่ไยเยี่ยงคนขลาด



ประชาชาติต้องการปลดแอก บัดเดี๋ยวนี้



ก่อนกาลราตรีหลับใหล



ฝันเห็นอาทิตย์ไขแสงรูจี



ไม่นานหรอก พรุ่งนี้ต้องมีเสมอ




เมื่อเงามืดวิ่งลับจากไป ลับจากไป



จากความยากไร้ของมวลชนผู้ทุกข์ระทม



ฉันกระซิบสั่งบอกทุ่งนา



กังวานเริงร่า สั่งความถึงเทือกภู



บอกรวงข้าวสุกเหลือง บอกมัดปดที่ชายป่า



จงกวาดล้างพวกมัน จงกวาดล้างพวกมัน




แจ่มแจ้งกระจ่างใจใช่ไหมขวัญ



เร่งรุดเร็วพลันอย่างแน่วแน่



ประชากรจักต้องไม่พ่ายแพ้



ขอฝากพิมพยอมทุกทุกคน ......หน้า 122-123






ในภาคเรื่องสั้น มีเรื่องสั้นคัดสรร จำนวน 3 เรื่อง คือ “ในนามของสายน้ำ” “เป็นเช่นนี้” และ “หวังว่าวันจะฟันโค่น” เป็นเรื่องสั้นที่ประเสริฐ จันดำ เขียนขึ้นภายหลังคืนเมือง เรื่องสั้น “ในนามของสายน้ำ” พูดถึงวิถีชีวิถีชีวิตของ “คำพัน” กับ “นง” ครอบครัวชาวนาที่ประสบภัยธรรมชาติในหน้าน้ำหลาก ทำให้ต้นข้าวจนอยู่ใต้น้ำ มิแตกต่างกับชะตากรรมของชาวนาไทยในปัจจุบัน






เรื่องสั้น “เมื่อเป็นเช่นนี้” พูดถึงชะตากรรมของครอบครัวแม่ใหญ่มน ที่มีลูกเขย “จ่าก้าน” ปฏิบัติหน้าที่บ้านเมืองอย่างเคร่งครัด จนทำให้ “หม่น” และ “เหมือน” น้องเมียต้องประสพชะตากรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพียงเพราะความเป็น “คนป่า” กับ “คนเมือง”





ส่วนเรื่องสั้น “หวังว่าวันจะฟันโค่น” พูดถึงวิถีชีวิตชาวชนบทในสังคมการนับถือพระนับถือถือเจ้า ในขณะที่ผู้ที่ไม่สนใจใยดีกลับได้รับคำนินทาว่าเป็น “คนนอกคอก” โดยคำพิพากษาของสังคม ในขณะเดียวกันมีเรื่องของการใบ้หวยของผู้ทรงศีลที่ยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน และแก้ไม่หายไปจากสังคมไทย






ภาคสาม : น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว กวีนิพนธ์ : ประเสริฐ จันดำ และวิสา คัญทัพ



ในภาคสุดท้ายว่าด้วยกวีนิพนธ์คัดสรร “น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว” ของประเสริฐ จันดำ และวิสา คัญทัพ ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2518 โดยในคำนำร่องของวิสา คัญทัพ ได้พูดถึงต้นคิดของกวีนิพนธ์เล่มนี้ว่าเป็นการต่อกลอนของตนกับประเสริฐ จันดำ ภายใต้ความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายในวาระและสถานการณ์ที่แตกต่าง ภายใต้ความเจ็บปวด เคียดแค้น ที่ประชาชนถูกคดโกง กดขี่ เอาเปรียบ และถูกเข่นฆ่า เหมือนดังส่วนหนึ่งของบทเพลงที่ “คาราวาน” นำมาขับขาน





“น้ำท่วมฟ้าปลากินดาว



ชวนหนุ่มสาวมาเดินทางไกล



หนทางนั้นอาจยืดเยื้อ




ยาวนานก็ไม่เป็นไร



อนาคตอันแสนสดใส



สุดท้ายชัยเราจึงได้มา” ...นำร่อง โดย วิสา คัญทัพ หน้า 161



วัฒน์ วรรลยางกูร และวิสา คัญทัพ ในวัยหนุ่ม



จากบทกวี 12 บท ในภาคสาม มีบทกวีที่น่าสนใจคือ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” “ประกายไฟจากท้องทุ่ง” “เจ็ดศพที่กกจำปา” “ท้าวคูลูกับดอกนางอั้ว” และ “ลิลิตพยากรณ์ น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว”




“พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” พูดถึงการต่อสู้ของวีรชนที่ทำกิจกรรมด้านการเมือง และเรียกร้องความเป็นธรรมที่ถูกฆาตกรรม อย่างไร้คำตอบมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตของ “แสง รุ่งนิรันดรกุล” “นิสิต จิรโสภณ” “สำราญ คำกลั่น” “อินถา ศรีบุญเรือง” และ “มานิตย์ อินทรสุริยะ”





“ประกายไฟจากท้องทุ่ง” เป็นบทกวีที่น่าสนใจพูดถึงประกายไฟแห่งการต่อสู้ของพี่น้องชาวไร่ชาวนาผ่านกลอนสุภาพ กลอนหมอลำพัฒนา กาพย์ยานี กลอนอิสระ โคลงสี่สุภาพ ร้อยแก้ว ได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสม ตัวอย่างเช่น



ประกายไฟจากท้องทุ่ง



(กลอนหมอลำพัฒนา)






พอแต่เปิดผ้าม่านกั้ง ท้าวมานั่งเถียงนา



อึดทั้งข้าวทั้งปลา เฮ็ดจั๋งไดนอนี่



เฮ็ดจั๋งไดนอนี่



ฟังเด้อพวกพี่น้อง ท้องถิ่นดินอีสาน



ผู้แบกหนี้ภาษีอาน บ่แม่นแนวนอนั่น




บุญโฮมคือชื่อข่อยอยู่บ้านป่าขาดอน ถึกมันราญรอนข่มเหงแลงเช้า



มันข่มเหงแลงเช้า มีแต่หันเข้าสู้พวกหมู่แนวหมา



ทาสรับใช้อเมริกา อย่าเอามันไว้ อย่าเอามันไว้ ...หน้า 184





(กาพย์ยานี)



ลูกทุ่งประเทศไทย ไม่ขายชาติแผ่นดิน




หยัดสู้คู่ธรณินทร์ ในนามชนผู้เสรี



มาเถิดเพื่อนจงมา ที่ทุ่งท่ามาคลุกคลี



ท้าท้ายเหล่ากาลี กระทืบซ้ำด้วยตีนเรา



เพื่อนนิสิตนักศึกษา ผู้ก้าวหน้าแต่วัยเยาว์




ยอมแบกภาระเอา ไม่เคยคร้ามขานความตาย



นักเรียนตัวจ้อยจ้อย อย่ารอคอยมันจะสาย



มาช่วยกันทำลาย พังแอกทาสที่กดคอ



กรรมกรและชาวนา จงเร่งมาอย่ารีรอ



ประสานมือพร้อมพอ เข้าต่อสู้พวกเหล่าพาลชน..หน้า 184





(กลอนอิสระ)



รุ่งแจ้งแสงทอง บุญโฮมมองฟ้า เช้านี้ต้องไถ่นา มาไอ้ตู้ไปเถิดเราไถดะไว้ก่อน แดดร้อนมึงต้องอดทนหน่อย พ่อเอาก่องข้าวน้อย ส่งมาให้หน่อย ข้อยจะไปไถนา เที่ยงวันคงเสร็จ จะไปหาเห็ดในป่า เอามีดอีโต้ด้วยหนา จะได้ฟืนมาหุงข้าวกิน เรื่องเงินกู้สหกรณ์ มันเป็นพวกสหกิน พ่อฟังแล้วจงยิน อย่าไปยุ่งกับพวกมัน ขูดเลือดเราแน่แน่ เราแย่ลงทุกวัน เขาอิ่มหมีพลีมัน จำให้ดีนะพ่อนะ ....หน้า 184-185





(โคลงสี่สุภาพ)





เที่ยงวันได้ฤกษ์แล้ว เสร็จงาน



ต้องเข้าป่าเป็นพราน สักมื้อ




หาเห็ดแกงอร่อยหวาน อร่อย อร่อย



ปลดไถแล้วเดินทื่อ ขึ้นภู ....หน้า 187





(กลอนสุภาพ)





แคนขับขานลาจากอย่างยากเย็น




ยะเยียบเย็นลมหนาวจากราวป่า



บุญโฮมหนุ่ม-ใจสาวผ่าวอุรา



ประกายไฟจากทุ่งนาทับทวี



แคนคืนนี้ขับร้องทำนองรัก



พรุ่งนี้แคนอาจจักไม่มีพี่



ได้ข่าวจากรัฐบาลเมื่อวานนี้




ว่าเขาจะบดขยี้ชาวนาจน ....หน้า 191





“เจ็ดศพที่กกจำปา” ความทรงจำของโศกนาฏกรรมของหนุ่มภูไทพ่อค้าเจ็ดคนจากเรณูนคร นำสินค้าพื้นบ้านไปขายที่ต่างถิ่น สุดท้ายจบชีวิตที่กกจำปา แดนนาแก นครพนม





เจ็ดศพที่กกจำปา



ชาวนาประเทศเป็นอย่างนี้




ทำนาใช้หนี้ยากไร้



รัฐบาลไม่เคยปราณีใคร



ปกป้องรับใช้ศักดินา



ปกป้องรับใช้นายทุนใหญ่



เผด็จการขนานใหม่คอยเข่นฆ่า




รับใช้จักรพรรดินิยมอเมริกา



ทำลายปวงประชาประเทศไทย



สิ้นนาชายทั้งเจ็ดจึงระเห็จระเห



เป็นพ่อค้าร่อนเร่ขายกระหลั่ย



เพื่อสะสมเงินตราเอามาไว้



เก็บไว้ใช้ก่อนปีที่มีนา .......หน้า 177




คืนทั้งคืนฟ้าทั้งฟ้ามืดสนิท



หกคนดับชีวิตรอเกิดใหม่



เหลือคนเดียวบุญเถิงอยู่กลางไพร



เจ็บปวดแทบสิ้นใจเขาอดทน



เขาตะเกียกตะกายน้ำตาหลั่ง




ครั้งนี้กูสิ้นหวังไม่เห็นหน



กลางป่าไม่มีผู้คน



ใครจะช่วยความอับจนกูครั้งนี้



จนตะวันเยือนโลกกระจ่างแสง



เลือดแดงท่วมร่างไหลปรี่




เพื่อนชาวดงผ่านมาพอดี



รู้แจ้งเหตุกาลีด้วยน้ำตา ..... หน้า 198


“ท้าวคูลูกับดอกนางอั้ว” บทกวีว่าด้วยท้าวคูลูและนางอั้วทิ้งยุคใหม่บ้านทุ่งท้องไร่ท้องนาไปใช้ชีวิตเป็นกรรมกรในเมืองหลวง เป็นชะตากรรมที่มิแตกต่างไปจากท้องทุ่ง ดังบทกวีที่กล่าวไว้





ท้าวคูลูเป็นคูลูหนุ่ม



เดินดุ่มทนสู้จากหมู่บ้าน




ละท้องนาทิ้งไถไม่ทันนาน



คูลูมาได้งานเป็นกรรมกร



นางอั้วเก็บคมเคียวเลิกเกี่ยวข้าว



เมื่อเจ็บปวดรวดร้าวก็เร่รอน



ลาไอ้ทุยเขาทู่สู่นาคร




มาเป็นกรรมกรในเมืองกรุง



เป็นผู้ใช้แรงงานขนานใหม่



อาบเหงื่อไคลไม่ผิดกับท้องทุ่ง



แต่มิได้เม็ดข้าวมาใส่ยุ้ง



เพราะมันกองในพุงของนายเงิน ....หน้า 203


“ลิลิตพยากรณ์ น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว” แสดงให้เห็นถึงความละเมียดละไมในเชิงกวี ประกอบด้วย ร่าย อิทิสังข์ฉันท์ ๒๑ กลอน โคลงสอง กาพย์ยานี ภุชงค์ประยาตร์ ๑๒ โคลงสี่สุภาพ และโคลงห้าพัฒนา






ลิลิตพยากรณ์ น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว



(ร่าย)





โอม เออำนาจมหาประชาราษฎร์ องอาจกล้าท้าอธรรม ที่มันย่ำมันหยัน ที่ฟาดฟันเหล่ากู ต้องลุกสู้อย่าถอย จารเป็นรอยประวัติศาสตร์ ว่าไทยชาตินักรบ ไม่สยบผู้รุกราน ต้องต้านทานเหล่าโจร ที่มันปล้นกินเมือง วางตัวเขื่องข่มขู่ เข่นฆ่าผู้ลงแรง เลือดสีแดงกระเซ็นสาด หยาดหยดพื้นธรณินทร์ให้มึงกินต่างข้าว กูปวดร้าวสยอน กูกินนอนบ่ได้ กูไร้สิ้นบ่มี แผ่นดินนี้ของใคร ฤาจักให้มันหยาม หรือจักคร้ามขัดเขิน มาเราเดินดุ่มผงาด กอบกู้เอกราช น้ำท่วมฟ้าฟองฟาด กราดเกรี้ยว กินเดือน ......หน้า 207





(อิทิสังข์ฉันท์)



มีน่ะหรือที่คนจะยอมคะมำ




จะล้มคะเมนให้มึงขม้ำ เขมือบไทย



เฮ้ย-วะกูจะกู้ประกาศชัย



ถะโถมถลันทะลวงรุกไล่ กระสือเมือง ....หน้า 207





(กลอน)




มหาประชาชนร่ำร้องหา



อิสรเสรีที่จะมา



ด้วยเลือดและน้ำตาอิ่มอาดูร



ผู้ปกครองทั้งหลาย



คนเป็นคนใช่ควาย-ค่าคนศูนย์




กองกระดูกที่มองเป็นกองกูณฑ์



เพิ่มพูนนักสู้คนต่อไป .....หน้า 208





(โคลงสอง)





ต้องเตรียมการต่อสู้ หมั่นฝึกหมั่นเรียนรู้



เล่ห์ร้ายทรชน




ประชาชนถูกต้อง ยืนหยัดเรียกร้อง



คัดค้านอธรรม นั่นแล ....หน้า 212





(กาพย์ยานี)





ทรยศและยุยง ให้แตกร้าวชาวไร่นา




เขาขู่ปวงประชา เขาเข่นฆ่าอย่างมันมือ



แลไปสะดุ้งไป ประเทศไทยอย่างนี้หรือ



ขี้ข้านั่นก็คือ เหล่ามหาประชาชน



....หน้า 212





(ภุชงค์ประยาตร์ ๒๑)






เถอะน้ำฟ้าจะท่วมถึง และดาวดึงส์ก็ปลากิน





กตัญญูประชาริน ละหยดเลือดกลีเมือง



ก็ครองประหนึ่งทาส คณาราษฎร์ฤแค้นเคือง



มอมเมาประชาเนือง และปิดเรื่องตลอดมา




....หน้า 213





(โคลงสี่สุภาพ)





เหตุเพราะน้ำท่วมฟ้า ท่วมทาว



ปลาจึงแล่นกินดาว ดาดฟ้า



พยากรณ์ว่าถึงคราว วิบัติ




คนชั่วขึ้นครองหล้า โลกร้อนระอุไฟ ... หน้า 214





(โคลงห้าพัฒนา)





น้ำท่วมฟ้า พยากรณ์



จุ่งสังวร วาดไว้



สถาพร สัจจะ




บ่รู้ไว้ หลบหาย เลือนหาย ...หน้า 217





การได้กลับไปอ่าน “น้ำท่วมฟ้าปลากินดาว” และงานคัดสรรของประเสริฐ จันดำ และวิสา คัญทัพ เหมือนหนึ่งได้กลับไปอ่านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต ในนามการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์อันเด็ดเดี่ยว นับเป็นตำนานเล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน ขอบคุณสำหรับคณะกรรมการคัดสรรหนังสือชุด “ตุลาวรรณกรรม” ที่ทำให้นักอ่านรุ่นใหม่ได้ซึมซับอุดมการณ์จากกวีนิพนธ์ของสองกวีของประชาชนนามประเสริฐ จันดำ และวิสา คัญทัพ

เก็บมา //www.baanmaha.com/community/thread19893.html


Create Date : 12 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2553 1:04:56 น. 0 comments
Counter : 687 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

> เอ้ < photo
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




บันทึกของช่างภาพ ที่ชอบท่องเที่ยว ถ่ายภาพ รักสายลม แสงแดด ทะเลสีใส ชอบสาว ๆ แล้วก็ รักเด็กครับ

บล๊อกนี้ทดลองรวมเอาทุกอย่างที่ชอบ และสนใจ มาบันทึกรวมกันไว้
เรื่องราวมากมายเลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่ Group Blog ทางด้านซ้าย
บาง Group Blog อาจยังไม่สมบูรณ์แต่จะเติมให้เต็มในไม่นานนี้
ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชม

ติดต่อ ส่งข้อความถึง หรือ ติดตามผ่าน facebook คลิก Like page facebook/SorawichTravelจะเป็นเรื่องท่องเที่ยว ที่พัก อาหาร การเดินทาง
หรือ facebook/Sorawichphotographyเรื่องเกี่ยวกับการถ่ายภาพ
และ+มาได้สำหรับคนใช้ google plus ครับ


♡♥ เดินทางไป บนเส้นทางแห่งความฝัน จะไปด้วยกันก็เชิญ ♡♥

♡♥ apologies... my blog Under construction ♡♥


Copyright © allrights reserved SORAWICH BUPPA
my blog บันทึก และ ตัวอย่างงาน
sorawich.portfolios
facebook.com/Sorawichphotography
sorawichphoto.multiply.com
sorawichphotography.blogspot.com

ติดต่อ ติดตาม ส่งข้อความผ่าน facebook ตามสมัยนิยมนะครับ
SorawichTravel

Promote Your Page Too


♡♥♡♥♡♥♡♥♡♥♡♥♡♥♡♥♡♥♡


free hit counter

" เมื่อเรามุ่งไขว่คว้าหาดวงดาว
ถึงเราจะไม่ได้มาสักดวงหนึ่ง
แต่อย่างน้อย
เราก็ไม่จบลงด้วยมือที่เปื้อนโคลน "


Friends' blogs
[Add > เอ้ < photo's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.