ความรู้ ควบคู่ ความฮา
space
space
space
space

ย้อนรอยที่มา โปโลช้าง Elephant Polo หนึ่งเดียวในโลก
จากกีฬาที่เร็วที่สุด กลายเป็นกีฬายุรยาท แสนจะเชื่องช้าแต่ทว่ามั่นคง ลีลาองคาพยพ หนักแน่น สง่างาม อีกทั้งยังเป็นเกมกีฬาที่สะท้อนถึง สติปัญญา ความเอาใจใส่ การวางกลยุทธ์ รวมไปถึงพละกำลังและน้ำจิตน้ำใจของผู้ร่วมทีม ที่กล่างถึงนี่คือ กีฬาโปโลช้าง ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองไทยเป็นแห่งแรก และจากข้อมูล ณ ตอนนี้น่าจะเป็นแห่งเดียว



น่าสนใจขนาดนี้ เลยอยากพาทุกคนไปเที่ยวชมงาน “2016 King’s Cup Elephant Polo” ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งคณะผู้จัดงานเผยว่า ช้างเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย การแข่งขันโปโลช้างจึงจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ด้วยเคารพ และเงินรายได้ที่ระดมจากการแข่งขันทั้งหมดได้ถูกนำไปช่วยเหลือให้ช้างเหล่านี้เพื่อคุณภาพการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น การรักษาพยาบาลที่เหมาะสม รวมทั้งการฝึกอบรมและการจ้างงานควาญช้างอีกด้วย



การแข่งขันคำนึงถึง สุขภาพและสวัสดิภาพของช้างเป็นสำคัญ ตามมาตรฐานของสมาคมโปโลช้างโลก (T.E.P.A) โดยการกระทำทารุณแก่ช้างเป็นความผิดร้ายแรงที่สุด ห้ามช้างล้มตัวนอนขวางประตู หากผิดกติกาฝ่ายตรงข้ามจะได้ตีลูกโทษ ณ จุดครึ่งวงกลมหน้าประตู, ห้ามช้างใช้งวงหยิบลูกบอลขึ้นมาในขณะการแข่งขัน หากผิดกติกาฝ่ายตรงข้ามจะได้ตีลูก ณ จุดที่ทำผิดกติกา และอีกฝ่ายจะต้องถอยห่างจากจุดตีลูกออกไป 15 เมตร, ช้างในแต่ละทีมจะถูกสุ่มเลือกจากฝูงช้าง โดยจะดูความสูงและความเร็วของช้างให้ใกล้เคียงกันเพื่อความยุติธรรม หลังจากเลือกช้างได้แล้ว จะทำสัญลักษณ์ตัวอักษณ A, B, C, D, E, F บนช้างแต่ละตัว, หลังจบแต่ละเกม ช้างจะได้รับอาหาร อาทิ อ้อย หรือฟางข้าว และวิตามิน (กากน้ำตาลผสมเกลือ) ซึ่งงานนี้ เปรมช้างมาก เพราะกินได้เต็มที่ ไม่ต้องรอการบริจาค รู้หรือไม่ว่าช้างที่โตเต็มที่ สามารถกินกล้วยได้ถึงวันละ 240 กิโลกรัม (การซื้ออ้อย กล้วย ให้ถุงละ 20 บาท คือน้อยไปเลย พีช้างไม่ระคายกระเพาะ)



ภาพกีฬาในลักษณะโปโล มีมานานในเมืองไทย เห็นได้จากภาพวาดตามพระอุโบสถ



โดยเชื่อว่า “โปโล” คล้ายกับกีฬา “ตีคลี” ของชาติไทย ก่อนจะหลอมรวมและดัดแปลงมาเป็นโปโลช้าง ซึงเราเชื่อว่าเป็นแห่งแรก





ย้อนกลับก่อนจะมาเป็น “โปโลช้าง” เป็นกีฬา “โปโลม้า” ในบันทึกประวัติศาสตร์ เริ่มเมื่อ 2600 ปีก่อน ที่อาณาจักรเปอร์เซีย เริ่มแรกใช้ลูกบอลจากหนังสัตว์ ต่อมาเผ่ามองโกลเรืองอำนาจ รุกรานอาณาจักรต่างๆ และด้วยความที่เป็นชาติที่ขี่ม้าเก่ง จึงได้รับกีฬาชนิดนี้ไว้ ว่ากันว่าเล่นกันอย่างโหดร้าย เพราะใช้ “หัวของนักโทษเชลยศึก” เป็นลูกบอลแทน สำหรับประเทศไทย เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 7 สันนิษฐานทหารจากอังกฤษ นำมาเล่นถวาย และกลับกลายเป็นที่นิยมในหมู่ชาวต่างชาติ ที่ตั้งรกรากในเมืองไทย และเจ้านายชั้นสูง ต่อมากลายเป็นกีฬาเฉพาะ เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะการดูแลม้า ความแพงและยุ่งยาก ทำให้ค่อยๆ หมดความนิยมไป



โปโลเป็นกีฬาที่เร็วที่สุดในโลก ในบรรดากีฬาที่ใช้ลูกบอล ดังนั้นการแต่งกายของนักกีฬาจะต้องเน้นความคล่องตัวควบคู่ไปกับความปลอดภัย เสื้อขี่ม้าโปโลจะเน้นความสบายเวลาสวมใส่ ส่วนกางเกงจะใช้สีขาวเป็นหลักรองเท้าบู้ท สำหรับขี่ม้า ก็จะเน้นเป็นสีน้ำตาล ส่วนถุงมือจะใส่หรือไม่ก็ได้ และจะต้องสวมสนับเข่าและหมวกกันน๊อค สำหรับโปโลเสมอ เพื่อความปลอดภัย นอกจากนั้นอาจจะสวมแว่นกันลมด้วยก็ได้
ส่วนการนับแต้มนั้น เมื่อลูกเข้าประตูอย่างถูกกติกา ก็จะนับทีละ 1 แต้ม สังเกตุได้ง่ายๆ ว่า ทุกครั้งที่ลูกเข้าประตูอย่างถูกต้อง ผู้กำกับเส้นจะยกธงขึ้นโบกไปมา แต่หากไม่เข้า ก็จะชี้ธงลงพื้นด้านที่ลูกออกจากสนามเพื่อให้ตั้งลูกเริ่มเล่นใหม่ ซึ่งกรรมการในสนามจะมี 2 ท่าน และจะมีกรรมการอีก 1 ท่าน ทำหน้าที่ชี้ขาดในกรณีที่กรรมการในสนามทั้ง 2 ท่าน มีความเห็นที่แตกต่างกัน
และเป็นประเพณีของการแข่งขันโปโลอีกอย่างหนึ่งคือ ในระหว่างพักครึ่งของการแข่งขัน ผู้เข้าชมจะมีโอกาสได้ลงย่ำสนาม เพื่อเป็นการช่วยเกลี่ยดินที่ถูกขุดขึ้นมาจากการวิ่งของม้า(Divoting) และทำให้พื้นสนามเรียบขึ้น รวมทั้งการแข่งขันครึ่งหลังเป็นไปอย่างราบรี่น และถือเป็นธรรมเนียมการพบปะ พูดคุยกันระหว่างผู้ชม หรือกับนักกีฬา และยืดเส้นยืดสายระหว่างการแข่งขันด้วย


สำหรับปัจจุบัน โปโลช้าง คิงส์คัพ (อังกฤษ: King's Cup Elephant Polo) เป็นการแข่งขันโปโลช้าง ที่จัดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งโดยปกติแล้ว ในแต่ละแมตช์ จะเป็นการแข่งขันระหว่างสองทีม แต่ละทีมประกอบด้วยผู้เล่นห้าคนและช้างห้าเชือก ซึ่งไม่มีเงินรางวัล หากแต่ได้รับถ้วยคิงส์คัพที่ทำจากสำริด การแข่งขันโปโลช้าง คิงส์คัพ จัดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2544 ที่อำเภอหัวหิน ใช้ระยะเวลาในการแข่งขันครั้งดังกล่าวเพียง 2 วัน แต่ในภายหลังได้กลายมาเป็นรายการแข่งขันระดับสากลที่ได้รับความนิยมของประเทศไทย โดยในปี พ.ศ. 2554 ได้มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันที่สำคัญ อาทิ พระราชวงศ์จากเยอรมนี, นักกีฬารักบี้ที่มีชื่อเสียงจากนิวซีแลนด์ ตลอดจนได้รับการตอบรับจากบุคคลที่มีชื่อเสียงชาวต่างชาติหลายราย ต่อมาโรงแรมอนันตราฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและเป็นอีกหนึ่งเกมกีฬาเชิงอนุรักษ์จึงจัดการแข่งขันโปโลช้างขึ้นทุกปี ในแต่ละปีก็จะหาสปอนเซอร์รายใหญ่ร่วมสนับสนุน



บริเวณด้านหน้าบูธ ให้ดูเป็นตัวอย่าง นักกีฬาจะมาถ่ายด้านหน้า เช่นที่เห็นเป็น ทีมแม่โขง ประกอบด้วย มร.ทิม โบมองต์, มร.แฟรงค์ คอน สแตนท์, มร.เดวิด ไวลด์ริดจ์, มร.วิลเลียม ไวลด์ริดจ์ และ มร.เดวิด แพทริดจ์ ฯลฯ



กติกา เหมือนฟุตซอลและฟุตบอล พยายามทำประตูฝ่ายตรงข้าม โดยผู้แข่งขันอยู่บนหลังช้าง และใช้ไม้โปโล (ยาวประมาณ 94 นิ้ว) บังคับทิศทางของลูก (มองผิวเผินเหมือนตีกอล์ฟ) ซึ่งการมูฟในแต่ละองศา ขวา ซ้าย หน้า หลัง นั้น ต้องสั่งการผ่านควานช้าง โดยความพิเศษของงาน ถึงท่อนนี้แล้ว อย่าเพิ่งคิดว่ากีฬาดังกล่าวเป็นการทนมานสัตว์นะฮะ เพราะข้อเท็จจริงคือ ช้างที่เข้าร่วมการแข่งขันจะฟังคำสั่งภาษาไทยจากควาญช้างเท่านั้น, เกมโปโลช้างครั้งแรกเล่นโดยใช้ลูกฟุตบอล แต่มีการเปลี่ยนแปลงมาใช้ลูกโปโลมาตรฐานทันทีหลังจากพบว่าช้างชอบเหยียบลูกฟุตบอล, ผู้เล่นบางคนฝึกซ้อมด้วยการนั่งอยู่บนรถจี๊ปที่เคลื่อนไปช้าๆ และใช้ไม้โปโลที่ใช้จริงในการแข่งขันโปโลบนหลังช้างตีลูกบอล บางคนก็ฝึกซ้อมในสระว่ายน้ำโดยการแกว่งไม้กอล์ฟผ่านน้ำด้วยมือข้างเดียวเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ข้อมือของพวกเขา, จะมีการป้อนอ้อยหรือก้อนข้าวที่อัดแน่นด้วยวิตามิน (กากน้ำตาลและเกลือ) ให้แก่ช้างหลังการแข่งขันแต่ละครั้ง และจะเสิร์ฟเบียร์เย็น ๆ หรือเครื่องดื่มต่างๆให้กับคนบังคับช้าง ท้ายที่สุดรายได้ทั้งหมดก็เข้าโครงการอนุรักษ์ช้าง ช่วยเหลือช้างเร่ร่อนนั่นแหล่ะ





ควานช้างจากแคมป์ช้างในรีสอร์ทใหญ่ท่านหนึ่งเผยกับเราว่า การแข่งขันในแต่ละปี จะมีช้างเร่ร่อนกว่า 50 เชือก ได้ออกจากท้องถนนเพื่อมาร่วมในการแข่งขัน ระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรม ช้างทุกเชือกจะได้รับอาหารที่เหมาะสมและมีประโยชน์ ได้พักผ่อนในสภาพแวดล้อมที่ดีตามธรรมชาติ และยังเป็นโอกาสที่ช้างเหล่านี้จะได้รับการตรวจเช็คสุขภาพประจำปี พร้อมรับวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยการดูแลอย่างใกล้ชิดจากสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย (การใช้ชีวิตบนท้องถนนนับเป็นเรื่องโหดร้ายสำหรับช้าง ช้างเร่ร่อนต้องเดินผ่านย่านท่องเที่ยวที่แออัดและถนนที่วุ่นวายกว่า 10 ชั่วโมงในแต่ละคืน ถูกบังคับให้พักในตอนกลางวันบนพื้นที่สีแคบๆกลางเมืองอย่างไม่มีทางเลือก บ่อยครั้งที่ปราศจากร่มเงา หรือน้ำดื่ม โปรแกรมการแข่งขันโปโลช้างจึงนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ช้างเหล่านี้ได้พักผ่อนและผ่อนคลายอย่างเต็มที่ในแบบพวกเค้าไม่เคยได้รับในชีวิตประจำวัน)



ประโยชน์ของกีฬาชนิดนี้ เราได้รับเกียรติจากนักกีฬาโปโลต่างชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนลงแข่งในนามทีมแม่โขง ให้รายละเอียด
มร.เดวิด ไวลด์ริดจ์ เป็นนักบินเก่าจากเมืองผู้ดีประเทศอังกฤษ ได้เริ่มเล่นกีฬาโปโลช้างมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2531 และได้ แนะนำให้ลูกชาย คือ มร.วิลเลียม ไวลด์ริดจ์ ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่ที่ประเทศ ไอร์แลนด์ มาร่วมเล่นกีฬานี้ด้วย เพราะต้องใช้ทักษะมากมาย ทั้งกำลังและจิตวิทยา ในการสื่อสารควานช้างและช้าง และการเคลื่อนไหวที่ช้าและหนักแน่น ต่างกับสัตว์ชนิดอื่นเช่นม้า ช่วยให้ผมมีสมาธิ ไตร่ตรอง สังเกตรายละเอียดและมองเกมอย่างรอบคอบขึ้นด้วย และคิดว่านอกจากเมืองไทยแล้ว คงหาเล่นกีฬาแบบนี้ในประเทศอื่นๆ ไม่ได้ ส่วนตัวแล้วคิดว่าช้างไทยสุดยอดจริงๆ



ด้านเพื่อนร่วม ทีมอย่าง มร.เดวิด แพทริดจ์ อดีตนักบินจากสหรัฐอเมริกา เผยเคล็ดลับในการเล่นกีฬาโปโลช้างว่า “เป็นกีฬาที่ต้องมียุทธวิธีในการเล่น จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันเป็นทีม เพราะต้องสื่อสารทั้ง กับช้าง ควาญช้างและเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ จึงเป็นกีฬาที่ช่วยเสริมสร้างสมาธิและความสามัคคีให้กับ คนในทีมด้วย ส่วนตัวก็ฝึกสมาธิ มีอารมณ์ที่นิ่ง จากการเล่นโปโลช้าง ซึ่งเพื่อนๆ ที่ต่างประเทศ เห็นรูปผมแล้ว อยากมาเล่นตาม เพราะแปลกดี คือบ้านเราไม่มีสัตว์ที่ว่าง่ายแบบนี้ และที่สำคัญไม่มีควานช้างที่จะฝึกช้างให้อัจฉริยะได้ขนาดนี้ด้วย”



ด้าน มร.แฟรงค์ คอนสแตนท์ ผู้ที่หลงใหลในการเล่นกีฬาและธรรมชาติ กล่าวว่า “นอกจากความแปลกใหม่ ไม่เคยเห็นที่ไหนจัดแข่งกีฬาแบบนี้ ผมมองว่าการแข่งขันโปโลช้างชิงถ้วยพระราชทานครั้งนี้ ยังได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย นอกเหนือจากการออกกำลังกายแล้ว ยังได้เป็นการช่วยช้างเร่ร่อนบนท้องถนน ให้ได้มีโอกาสพักผ่อน ให้ได้ได้รับอาหารและการดูแลด้านสุขภาพที่เหมาะสมอีกด้วยครับ ดูสิ มันมหัศจรรย์มากนะ นี่คือช้างที่อัจฉริยะที่สุดเท่าที่พวกเราเห็นมาเลย”



เห็นมั๊ย ชาวต่างชาติยังเห็นดีงาม แล้วคนไทยอย่างเราล่ะ รออัลไล ร่วมภาคภูมิในกันเถอะ
สำหรับคนที่พลาดไป อยากเก็บภาพงานกีฦาเอกลักษณ์ไทยแบบนี้ ต้องรอ งานกีฬาโปโลช้าง King’s Cup Elephant Polo ในปีหน้า ซึ่งจะจัดราวๆ เดือน มีนาคม



และขอขอบคุณเป็นอย่างสูง ข้อมูล โปโลช้าง จาก วิกีพีเดีย, ข้อมูลงานจาก โรงแรมอนันตรา ริเวอรไซด์, ข้อมูลประวัติโปโล คุณเอ้ บล็อกจากโอเคเนชั่น
ส่วนเพื่อนๆ ที่ชื่นชอบบทความและข่าวสารกิจกรรมดีๆ แบบนี้ สามารถติดตามได้ที่บล็อก “คนอวดฉลาดที่พลาดตลอด” รวมถึงเฟสบุ๊คชือ PRWOWWOW จะเป็นกำลังใจอย่างสูง




Create Date : 17 มีนาคม 2559
Last Update : 20 มีนาคม 2559 16:38:10 น. 0 comments
Counter : 2633 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

คนอวดฉลาดที่พลาดตลอด
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]






space
space
[Add คนอวดฉลาดที่พลาดตลอด's blog to your web]
space
space
space
space
space