บล๊อกของลุง กับป้า ที่ชอบการท่องเที่ยว
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2559
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
26 สิงหาคม 2559
 
All Blogs
 
ตอน 3 - ไปสิคิริยา (Sigiriya) เที่ยววัดถ้ำ (Cave Temples), Dambulla




บล๊อคที่แล้ว เราใช้เวลาทั้งวันอยู่ที่เมืองโบราณโปโลนนารุวะ ไปตั้งแต่เช้า กลับออกมาก็เย็นพอดี จะไปไหนที่อื่นอีกก็ไม่รอดแล้ว แต่ก็ยังมีบรรยากาศเมืองเก่า มาฝากบ้างค่ะ เริ่มแรกก็คือที่พัก ที่บอกว่ารถตุ๊ก ๆ พาไป ชื่อเสียงเรียงนามอะไรก็ไม่รู้ พักอยู่ 2 คืนเท่านั้น แต่ก็สบายใช้ได้ทีเดียวค่ะ



ห้องพักอยู่ชั้นบน มี 3 ห้อง มีมุ้งทรงกลม ที่โยงมาจากเพดาน ลุงกำลังหลับสบาย ชั้นล่างเป็นห้องรับแขกและทีี่พักของเจ้าของบ้าน 




จากระเบียง มองออกไปก็เป็นสวนหลังบ้าน มีต้นมะพร้าว ต้นมะม่วงเหมือนบ้านเรา



เลยไปเป็นทุ่งนา


ไกลออกไปอีก จะเห็นถนนเลียบ Topa Wewa (Parakrama Samudra - ทะเลแห่งพระเจ้าปรากรมพาหุ) มีคนเดินไปมาตัวจิ๋ว ๆ 



จากที่พักเดินออกมาประมาณ 30 เมตร ขวามือจะเห็นเรือนสีชมภูชั้นเดียว ร่มรื่น ถ้าไม่เห็นป้าย ใครจะนึกว่านี่คือ "โรงพัก" (Police station) สีชมภูที่แสนจะโรแมนติค


เดินถึงถนนหย่ายก็เห็นตำรวจจราจร 2 คน ที่กำลังทำงานอย่างเข็มงวด - ไม่เห็นมีรถสักคัน ตอน 8 โมงกว่า ๆ   



บริเวณใกล้กัน ด้านนอกของอาคารก็เป็นพระพุทธรูปนั่งองค์ใหญ่ สีขาวทั้งองค์




ตอนเย็น ออกจากเมืองโบราณโบโลนนารุวะด้านอาคารรับรอง ก็จะเห็นทะเลแห่งพระเจ้าปรากรมพาหุเลยค่ะ บรรยากาศดีจริง ๆ 



ขี่จักรยานจากทางออกด้านนี้ แล้วก็ไปตามถนนเลียบ Topa Wewa สักระยะหนึ่ง คงอีกไกลที่ถนนนี้จะไปสุด ณ ที่ใดที่หนึ่ง


ลุงคงสบายใจ บรรยากาศดี อากาศดี ทัศนียภาพดี .... ระหว่างทางเห็นมีคนมาอาบน้ำ และซักผ้าอยู่ 2 - 3 คน 

ทะเลแห่งพระเจ้าปรากรมพาหุ เป็นอ่างเก็บน้ำตื้น ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำ 3 อ่าง ที่เชื่อมต่อกันด้วยช่องทางแคบ ๆ ที่โบโลนนารุวะ อ่างเหนือสุดและเก่าแก่ที่สุด เรียกว่า Topa wewa (wewa ภาษาสิงหล หมายถึงทะเลสาบ หรืออ่างเก็บน้ำ) สร้างราวปี 386  อ่างส่วนกลาง คือ Eramudu wewa และอ่างใต้สุด ที่อยู่่ที่ระดับสูงสุด คือ Dumbutula wewa  มีการเชื่อมอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 ส่วน และขยายออกไปให้กว้างขึ้น  ในสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 มีพื้นที่ผิวน้ำทั้งหมด 22,600,000 ตร. เมตร



เห็นอ่างเก็บน้ำแบบนี้ ก็ทำให้คิดว่า ทำไมบ้านเราไม่มีอย่างนี้บ้าง ที่รู้ ๆ ก็มี กว๊านพะเยา และบึงบรเพ็ด แต่ถ้ามีก็คงไม่เงียบสงบแบบนี้ คงเต็มไปด้วยรถนักท่องเที่ยว และซุ้มขายส้มตำ หมูย่าง ปลาเผาเป็นแน่

เสียดายค่ะ ที่มีเวลาแค่ 2 วัน กับบรรยากาศดี ๆ เช่นนี้  ... เช้าวันรุ่งขึ้นก็ขึ้นรถบัสจากโบโลนนารุวะ ต่อไปสิคิริยา (Sigiriya) เมืองมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งของศรีลังกา ซึ่งมีระยะทางห่างกันประมาณ 57 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 1/2 ชม. คนแน่นพอควร ได้ที่นั่งแถวยาวหลังสุด บอกเด็กขายตั๋วว่าจะไปลง Sigiriya junction ดูจะรู้เรื่องกว่า Inamaluwa junction

รถบัสที่วิ่งระหว่างเมืองทีี่ไม่ไกล จะเป็นรถบัสขนาดกลาง แต่ใหญ่กว่ารถตู้  เส้นทางระหว่าง 2 เมืองนี้  จะไม่มีรถบัสที่เข้าสิคิริยาโดยตรง ต้องลงที่ อินามาลูวา (Inamaluwa junction) ก่อน แล้วค่อยต่อรถจากที่อื่นที่จะเข้าไปสิคิริยาอีกที แต่เราก็ไม่รู้ว่าทางแยกนี้ อยู่ตรงไหน มีอะไรเป็นที่สังเกตุ ก็เลยถามคนข้าง ๆ ว่ารู้จักไหม ช่วยบอกที่นะถ้าถึงแล้ว เขาก็ตอบรับเป็นมั่นเหมาะ ... ก็นั่งไปเรื่อย ๆ เป็นนาน แล้วเด็กขายตั๋วเดินมาบอกว่าถึงแล้ว ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะดูเป็นข้างทาง มีแต่ต้นไม้ ไม่มีสิ่งก่อสร้างอะไร เพราะคิดว่าสิคิริยาคงเป็นเมืองเหมือนโบโลนนารุวะ  คนข้าง ๆ ก็ไม่เห็นบอกอะไร  หันไปถามเพื่อความแน่ใจ  อ้าว !!! นั่งหลับซะนี่ ก็เลยเรียกเขา แล้วถามว่าถึง Sigiriya junction แล้วใช่ไหม ... จึงได้ลงจากรถกัน มายืนเก้ ๆ กัง ๆ กัน อยู่ 2 คน ไม่มีป้ายรถ ไม่มีผู้คน ไม่มีบ้านเรือน ร้านค้า สิ่งก่อสร้างใด ณ ตรงนั้น คำว่า junction ดูเหมือนใหญ่โต จริง ๆ ณ เวลานั้น เป็นแค่สามแยก แล้วมีถนนซอยเล็ก ๆ เข้าไป



แต่ 2 สว. ก็แน่ใจว่าถนนนี้ เป็นทางเข้าไปสิคิริยาแน่ เพราะมีป้ายต้อนรับป้ายใหญ่ติดอยู่ค่ะ

จากปากทางนี้ รอจนรถบัสคันย่อมเลื้ยวเข้ามา จะมีรถทุกครึ่งชั่วโมง แล้วก็ต่อไปสิคิริยา ระยะทางประมาณ 10 กม. ผ่านไปก็เห็นบ้านเรือนประปราย รถไม่ได้จอดที่ไหนเลย จนมาจอดที่แรกที่มีคนลง เห็นว่ามีบ้านเรือน ร้านค้าอยู่บ้าง ก็เลยลงตาม รถจอดตรงหน้าทีี่พักที่เขียนว่า Nilmini Lodge พอดี ตามข้อมูลจาก Lonely บอกว่าที่พักที่นี่ออกจะโทรมนิดหน่อย แต่เจ้าของอัธยาศัยดี และอาหารอร่อย  เราก็เลยเลือกอีกแห่งหนึ่งที่ต้องเดินเข้าซอยไปนิด  แต่ช่วงเวลานั้นที่อากาศเริ่มร้อน เอ้า Nilmini ก็ Nilmini ลองเข้าไปดูสักหน่อย แต่ก็โชคดีจริง ๆ ค่ะ เพราะเจ้าของเพิ่งปรับปรุงใหม่ สีกันปลวกที่ทาเตียงยังไม่ค่อยแห้งดีเลย เวลานั่งต้องระวังอย่าไปพิง เพราะสีจะติดเสื้อมา แล้วเขาก็ให้ราคาพิเศษด้วย คืนละ 500 รูปี 



นี่คือส่วนหนึ่งของ Nilmini Lodge อาคารชั้นเดียว ขวามือเป็นห้องอาหาร ถัดมาทางซ้ายเป็นเรือนพัก มี 2 ห้องติดกัน ตรงนี้มีเราพักอยู่ห้องเดียว บริเวณโดยรอบเป็นพื้นดิน มีเก้าอี้ ชิงช้าให้นั่งเล่น 



 จากนั้นก็ใช้เวลาช่วงบ่ายไปดัมบุลลา (Dambulla)  ออกมารอรถบัสฝั่งตรงข้ามที่พัก จากรูปจะเห็นป้าย Nilmini Lodge ทางซ้าย ถนนที่มาจาก  Sigiriya junction เป็นถนนลาดยางไม่ใหญ่นัก



 ส่วนป้ายรถเมล์ก็อยู่ตรงที่ลุงนั่งแหละค่ะ และเป็นซุ้มขายน้ำมะพร้าวด้วย แล้วก็มีนายแบบเพิ่มมาอีก 1 คน

นั่งรถบัสไปดัมบุลลา



จากสิคิริยามาดัมบุลลา ใช้เวลาราว 40 นาที ระยะทาง 22 กม. 




 ตรงลานด้านหน้า ก่อนขึ้นไปวัดถ้ำ จะมี Golden Temple ตั้งตระหง่านอยู่ เป็นวัดสร้างใหม่ ได้แต่ถ่ายภาพด้านนอก ซื้อตั๋วได้บริเวณนี้ จากลานนี้ด้านข้างจะมีบันไดขึ้นยังเขาที่ตั้งของวัดถ้ำไป ประมาณ 100 -160 เมตร ชาวสิงหลเรียกเขานี้ว่า "Dambulu Gala" (Dambulla Rock - หินแห่งดัมบูลลา)   เปิดตั้งแต่ 7.30 - 19.00 น. 



ประวัติศาสตร์เรื่องราวของวิหารถ้ำ (Cave Temples) ย้อนกลับไปราว 1 ศต. ก่อนคริสตกาล เมื่อพระเจ้าวาลากัมบา (Walagambahu) เคยมาหลบพำนักในถ้ำดัมบูลลา ช่วงที่เสด็จพลัดถิ่นจากเมืองอนุราธปุระ ต่อมาเมื่อทรงเสด็จกลับขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงได้สร้างวิหารหินภายในถ้ำนี้  มีการปรับปรุงทำนุบำรุงให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ รวมท้้งพระเจ้านิสสังกมาละแห่งโบโลนนารุวะ ในปี 1190  ได้เพิ่มองค์พระพุทธรูปอีกราว 70 องค์ และตกแต่งภายในด้วยทองคำ ทำให้วัดถ้ำนี้ได้ชื่อว่า "Ram Giri (Golden Rock)  ช่วงศต. 18 วัดถ้ำได้การทำนุบำรุงอีกครั้งโดยอาณาจักรแคนดี



วัดถ้ำดัมบุลลา (Dambulla cave temples) มีอีกชื่อว่า วัดทองแห่งดัมบูลลา (Golden Temples of Dambulla หรือ  Rangiri Dambulu Viharaya )ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอีกแห่งของศรีลังกา ในปี 1991 เป็นกลุ่มถ้ำที่ใหญ่ที่สุด และได้รับการอนุรักษ์อย่างดีที่สุดในประเทศ ตั้งอยู่บนความสูงที่ 160 เมตร จากพื้นราบ มีข้อมูลว่าในบริเวณโดยรอบมีวัดถ้ำถึง 80 ถ้ำ


กลุ่มที่น่าสนใจมากที่สุด มี 5 ถ้ำ  เป็นวัดที่อยู่ภายใต้ชะง่อนหินที่กว้างใหญ่  ภายในมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่รวม 153 องค์ ซึ่งมีขนาดและปางต่าง ๆ กัน รูปปั้นกษัตริย์ศรีลังกา 3 องค์ รวมทั้งเหล่าเทพและเทวี อีก 4 องค์ ซึ่งรวมทั้งพระนารายณ์ และพระคเนศ  พร้อมภาพเขียนจิตรกรรมที่ผนังและเพดาน อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พุทธศาสนา คลอบคลุมพื้นที่ถึง 2,100 ตร. เมตร ทั้งหมดนี้แสดงถึงศิลป และการแกะสลักแบบสิงหลในแต่ละยุคสมัย  

ถ้ำที่ 1 - Devaraja Viharaya - หรือ The Cave of 'Lord of the Gods' (เทวราชา) ประดิษฐานพระพุทธรูปนอนปางปรินิพพานแกะสลักจากหินอ่อน ยาว 45 ฟิต มีพระอานนท์อยู่ปลายพระบาท มีพระนารายณ์ซึ่งเชื่อว่าสร้างในช่วงการปกครองของกษัตริย์ Vatta Gamini Abhaya (89-77 ปี ก่อนคริสตศักราช) ถ้ำนี้จึงได้ชื่อว่า "เทวราชา" 











ส่วนภาพเขียนพระพุทธเจ้ามีอายุเก่ากว่านั้น คือ ไม่น้อยกว่า 2 ศตวรรษก่อนคริสตศักราช ภาพเขียนเหล่านี้ได้รับการทาสีใหม่ ในช่วงแห่งการปรับปรุง ซึ่งเป็นช่วง ศต. ทึี่ 17-18 ภาพเขียนเหล่านี้สีซึดจางลงไป เนื่องจากแสงจากตะเกียงน้ำมัน และธูปที่ใช้ในการบูชาในสมัยก่อน ๆ

ถ้ำที่ 2 - Maharaja Vihara หรือ The Vave of 'Great Kings' (มหาราชา) เนื่องจากมีพระรูปเหมือนของพระเจ้าวาลากัมบา ซึ่งทำด้วยไม้ ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ เป็นการระบายสี  และพระรูปเหมือนของพระเจ้านิสสังกะมัลละด้วย



พระรูปเหมือนของพระเจ้าวาลากัมบา - องค์ซ้าย และพระเจ้านิสสังกะมัลละ - องค์ล่าง (ภาพจาก internet)



 เป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่สุด คือ กว้าง 52 เมตร ลึก 23 เมตร และสูง 7 เมตร และน่าสนใจที่สุด คือ พระพุทธรูปสลักจากหินแกรนิตขนาดเท่าจริง ซึ่งเคยในอดีตได้รับการปิดองค์ด้วยทองเปลวพระเจ้านิสสังกะมัลละ  ประทับยืนอยู่ภายใต้ซุ้มรูปพญานาค  (ภาพจาก internet)


ภาพจิตรกรรมฝาผนังภาพเฟรสโก เล่าเรื่องราวสำคัญทางประวัติศาสตร์ เมื่อศาสนาพุทธได้เผยแผ่มาถึงศรีลังกา รวมทั้งพุทธประวัติ และภาพเทพเจ้า เช่น พระขันทกุมาร และพระคเณศอีกด้วย 





นอกจากนั้น มีพระพุทธรูปประทับนั่ง 11 องค์ รอบสถูป มีพระพุทธรูปประทับนั่ง นอน ยืน อีก ราว 150 รูป  ภายในถ้ำยังมี "หม้อน้ำศักดิ์สิทธิ์" ซึ่งรองรับน้ำที่หยดลงมาจากเพดานตั้งแต่สมัยโบราณกาลมาแล้ว

ถ้ำที่ 3 - มหาอลุต (Maha Alut Veharaya หรือ New Great Temple - มหาวิหารแห่งใหม่) สร้างโดยพระเจ้ากีรติ ศรี ราชสิงหะ Kirti Sri Rajasinha (ปี 1747-1782) เป็นหนึ่งในกษัตริย์องค์ท้าย ๆ ของราชวงค์แคนดียัน (Kandyan) ที่ปกครองอาณาจักรแคนดี  ถ้ำที่ 3 นี้ มีทางเข้า 2 ทาง ทำเป็นซุ้มพญานาค และมีพระรูปเหมือนของพระเจ้ากีรติ ศรี ราชสิงหะ ตรงด้านขวาของทางเข้า ถ้ำนี้มีขนาดกว้างราว 30 เมตร ลึก 27 เมตร 


ภายในประดิษฐานพระนอนใหญ่ ขนาด 10 เมตร ที่แกะสลักจากหินภายในถ้ำเอง 


ทั้งยังพระพุทธรูปประทับนั่งอีก 15 องค์ และยืน 42 องค์  ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นศิลปเฉพาะแบบแคนดียัน และยังมีภาพวาดพระพุทธรูปนั่งนับพันบนเพดานด้วย


ถ้ำที่ 4 - ภคชิมา (Pachima Viharaya หรือ Cave of 'Western Temple' - ถ้้ำทางตะวันตก) เดิมอยู่ทางตะวันตก แต่ปัจจุบันมีถ้ำทางตะวันตกอื่นเพิ่มมาอีก 



ถ้ำนี้มีขนาดเล็ก มีพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิอยู่ตรงกลาง พร้อมพระพุทธรูปนั่งอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกับองค์หลักอยู่รอบ ๆ ถ้ำ

ถ้ำที่ 5 - เทวานะ อลุต (Devana Alut Viharaya หรือ Cave of 'Second New Temple' - วัดใหม่แห่งที่ 2)  เป็นวัดใหม่ เดิมเป็นที่เก็บของ เมื่อเปลี่ยนมาเป็นถ้ำวิหาร ก็กลายเป็นที่ประดิษฐานพระนอนขนาดใหญ่  มีพระพุทธรูปนั่งทั้งหมด 11 องค์ ทั้งหมดสร้างด้วยอิฐ ต่างจากถ้ำอื่น ๆ ที่ทำด้วยหินแกรนิต  (ถ้ำนี้ไปไม่ถึงค่ะ) 



ด้านนอกจะมีทางเดินเชื่อมแต่ละวัด

จากชมภายในวัดถ้ำแล้ว ก็มาถ่ายรูปด้านนอก




วัดถ้ำนี้เป็นสถานที่แสวงบุญของชาวพุทธมาเป็นเวลานานกว่า 22 ศตวรรษแล้ว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก ในปี 1991


อาคารที่อยู่ด้านล่าง ซ้ายมือสุด เข้าใจว่าเป็นถ้ำที่ 5 


 แล้วก็มารอรถบัสกลับสิกิริยา เที่ยวสุดท้ายมีถึง 6 โมงเย็น ดัมบูลละเป็นเมืองเล็ก ๆ ไม่ค่อยมีอะไร นอกจากวัดถ้ำที่ดึงดูดผู้คนให้มาที่นี่ 




มารอรถบริเวณนี้ค่ะ บล๊อคหน้าไปสิคิริยากันแล้ว 

ขอบคุณภาพจาก interne ข้อมูลจากเว็บไซด์วิกิพีเดีย และ
//www.museum-press.com/content--4-5600-83113-1.html
//www.oceansmile.com/Srilangka/Dambulla.shtml
//www.srilankaview.com/dambulla_temple.htm
หนังสือ Lonely Planet ฉบับ Sri Lanka , 8th Edition





Create Date : 26 สิงหาคม 2559
Last Update : 13 กันยายน 2559 16:50:07 น. 0 comments
Counter : 1939 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 1920579
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1920579's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.