บล๊อกของลุง กับป้า ที่ชอบการท่องเที่ยว
Group Blog
 
<<
กันยายน 2559
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
6 กันยายน 2559
 
All Blogs
 
ตอน 4 - สิคิริยา - มหัศจรรย์โบราณคดี




บล๊อคที่แล้วเราไปวัดถ้ำดัมบุลละ มรดกโลกแห่งหนึ่งของศรีลังกาแล้ว วันนี้อีกสถานที่หนึ่งที่ต้องไปให้ได้ คือ สิคิริยา - Sigiriya เพราะเรามาตั้งหลักกันถึงหมู่บ้านสิคิริยา กันเลยทีเดียว สิคิริยาเป็นหนึ่งในอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ ที่มีคุณค่ามากที่สุดของศรีลังกาค่ะ 

สิคิริยา (Sigiriya)  คือ มหัศจรรย์โบราณคดีแห่งการวางผังเมือง ศิลปะ การจัดภูมิประเทศ วิศวกรรม เทคโนโลยีพลังน้ำ และแผนการป้องกันศัตรูของศรีลังกา ในศตรรษที่ 5 

สิคิริยา (Sigiriya) มาจากคำว่า "Sihagri" ซึ่งหมายถึง "Lion Rock" หรือ หินราชสีห์  เป็นเมืองในอำเภอมาตะเล (Matale district) ใกล้กับเมืองดัมบุลละ ในจังหวัดภาคกลางของศรีลังกา เป็นที่ราบสูงประกอบด้วยหินปลักภูเขาไฟ มีความสูงกว่า 200 เมตร  


สิคิริยา หรือ สีหคีรี (Lion Rock หรือ หินราชสีห์)  ... ออกจากที่พักแต่เช้า อากาศกำลังสบาย เดินมาเรื่อย ๆ ไม่นานก็เห็นภูเขาหินสิคิริยา

ในอดีต ราว 300 ปี ก่อนคริสตกาล มีหลักฐานว่าที่ราบสูงสิคิริยาเคยเป็นวิหารพุทธมาก่อน มีการสร้างป้อมและศาลาโรงธรรม และโรงทานสำหรับพระภิกษุ มาหลายรัชสมัยเรื่อยมา

จนมาถึงครึ่งหลังของ ศต. ที่ 5  ประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า  ในปี 473  พระเจ้ากัสสปะ ผู้ซึ่งประสูติจากมเหสีฝ่ายซ้ายที่เป็นสามัญชน ได้ยึดอำนาจการปกครองอาณาจักรอนุราชปุระ จากพระเจ้าธาตุเสน (Dhatusena) พระบิดาผู้เป็นกษัตริย์องค์แรก และตั้งตนเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชวงค์มารุยัน (Maruyan)  โดยจับพระราชบิดาขังคุกไว้  ส่วนเจ้าชายโมคคัลลาน์พระอนุชารัชทายาท ซึ่งประสูติจากพระราชินีต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศอินเดีย 

พระเจ้ากัสสปะถูกทำให้หลงเชื่อว่าพระบิดาได้ซ่อนสมบัติมีค่าไว้มากมายไว้ และคาดคั้นที่จะเอาทรัพย์นั้นจากพระบิดาที่ถูกจำคุกอยู่  พระเจ้าธาตุเสนได้นำพระเจ้ากัสสปะไปที่ Kalaweva ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่พระองค์ได้สร้างไว้ และบอกว่านี่คือสมบัติทั้งหมดที่พระองค์มี  พระเจ้ากัสสปะกริ้วมาก จนถึงกับกระทำปิตุฆาต และฝังพระบิดาไว้ในกำแพง (บ้างว่าทรงฝังพระบิดาทั้งยังมีชีวิตในกำแพงของอ่างเก็บน้ำ Kala) 


เขาหินสิคิริยาและบริเวณโดยรอบ

พระเจ้ากัสสปะได้รับความอับอายจากการกระทำนี้ ทั้งจากสาธารณชน และเหล่าภิกษุ และถูกเรียกว่า Pithru Ghathaka Kashyapa - กัสสปะผู้กระทำปิตุฆาต ด้วยเหตุดังนี้ และความกลัวว่าจะถูกโจมตีจากพระอนุชา จึงย้ายราชธานีจากอนุราธปุระที่สืบทอดกันมา  มาที่ปลอดภัยกว่า คือ สิคิริยา (Sigiriya) และที่นี่เอง ที่พระเจ้ากัสสปะได้สร้างป้อมปราการและเมืองขนาดใหญ่ โดยมีพระราชวังอยู่บนยอดเขาหินสิคิริยา

พระเจ้ากัสสปะได้ใช้เวลา 7 ปี ในการสร้างสิคิริยา ที่เป็นทั้งป้อมปราการ พระราชวัง และเมือง มีการสร้างกำแพงขนาดใหญ่และคูเมืองรอบเมือง สร้างสวนขนาดใหญ่ที่มีการจัดผังอย่างประนีต  ภายในสวนนี้ประกอบด้วยสวนสำราญของราชวงค์ สวนน้ำ สวนน้ำพุ สวนหินก้อนใหญ่ ๆ จากภูเขา และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ มีการจัดระบบชลประทานใต้ดินและบนดินที่จะทดน้ำมายังสระน้ำ และน้ำพุเหล่านี้ .. ปัจจุบันน้ำพุก็ยังใช้งานได้ 


ตามคู่มือบอกให้เข้าทางด้านตะวันตก จะผ่านสวนน้ำที่สวยงาม แต่ภาพนี้เลยสวนน้ำไปแล้วค่ะ

พระเจ้ากัสสปะได้เปลี่ยนป้อมปราการนี้ให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางระบบนิเวศ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ซึ่งแสดงถึงความผสมผสานกลมกลืนกันระหว่างธรรมชาติ และจินตนาการของมนุษย์


พระเจ้ากัสสปะครองราชย์อยู่นาน 18 ปี (คศ. 477 - 495) ก็ถูกเจ้าชายโมคคัลลาน์ พระอนุชารัชทายาท ยกทัพมาจากประเทศอินเดียเพื่อชิงราชบัลลังก์คืน ทรงล้อมสีหคิีรีไว้แน่นหนา  โดยที่พระเจ้ากัสสปะไม่มีทางสู้ จึงตัดสินพระทัยปลิดพระชนม์ชีพพระองค์เอง  เป็นการสิ้นสุดการครองราชย์ของพระองค์ ในปี 495 และเจ้าชายโมคัลลาน์ก็ขึ้นเป็นกษัตริย์โมคัลลาน์ ที่ 1 และกลับไปยังอนุราธปุระเมืองหลวงเดิม และเปลี่ยนสถานะสิคิริยาให้เป็นกลุ่มอารามแทน

เดินทางสู่ยอดเขาสิคิริยา (Sigiriya Rock) เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด มีบันไดทั้งหมด 1,200 ขั้น 

เวลาผ่านไป ขุนเขาสิีหคีรีก็ถูกทอดทิ้งเป็นเมืองร้างนานนับหลายศตวรรษ จนถึง ศต. ที่ 19 ช่วงการปกครองของอังกฤษ ปี 1831 พันตรี H. Forbes นายทหารอังกฤษเป็นผู้ค้นพบความลับในป่าลึก เขาได้บันทึกถึงสภาพแวดล้อมของสีหคีรีไว้อย่างละเอียด แต่ก็ไม่สามารถหาทางขึ้นไปถึงยอดเขาได้ ต่อมาในปี 1853 A.H. Adams และ J. Bailey พร้อมด้วยชาวพื้นเมืองอีก 2 คน สามารถปีนไปถึงยอดเขา และสำรวจพบภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภาพชุดแรกที่พบคือ ภาพสิงโต 

ต่อมามีผู้พบภาพชนิดเดียวกันทางด้านตะวันตก แต่ก็ลบเลือนไปบ้าง กรมศิลป์ฯ แห่งชาติ จึงได้เข้าไปอนุรักษ์เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นก็มีการค้นพบทางขึ้นทางด้านทิศตะวันตก คูน้ำ และป้อม นาย H.C.P. Bell อธิบดีกรมโบราณคดีศรีลังกา ได้ค้นพบทางขึ้นด้านตะวันออก เขาได้จ้างคนไต่เขาไปหาภาพเขียนเพิ่มขึ้น และต่อมาได้เริ่มบูรณะจิตรกรรมโบราณอย่างจริงจังตั้งแต่ ปี คศ. 1894 (//www.oceansmile.com/Srilangka/Sigiriya.shtml)


ขึ้นบันได้ไปเรื่อย ๆ พอเงยหน้าอีกที ก็เห็นสีหคีรีตระหง่านอยู่ตรงหน้า ที่เห็นเป็นทางเดินเหล็กข้างหน้า ประมาณครึ่งทางก่อนที่จะถึงยอดเขาสิคิริยา คือ ทางเดินที่จะพาไปยังห้องภาพหญิงสาวแห่งสิคิริยา



 สุดทางเดินมีบันไดวนทำด้วยเหล็ก ขึ้นไปประมาณ 30 ขั้น นำไปสู่ห้องภาพเล็ก ๆ ในร่มที่โค้งไปตามซอกหลืบเขา มีความยาวราว 6 เมตร ณ ที่นี้เอง ที่มีกลุ่มภาพเฟรสโกของเหล่านางที่งดงาม (มีข้อมูลว่าคล้ายคลึงกับภาพที่ถ้ำอจันตา - อินเดีย)  เป็นเพียงภาพโบราณชุดเดียวในศรีลังกา ที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาใด

ภาพเขียนสีน้ำของชาวสิงหล หรือ ภาพเฟรสโกสาวแห่งสิคีรี  ที่ชาวสิงหลเรียกว่า Sigiri Apsaras - นางอัปสรแห่งสิคีรี  เป็นภาพที่มีอายุกว่า 1,500 ปี วาดบนพื้นหน้ากำแพงของหลืบถ้ำด้านตะวันตก สูงราว 100 เมตร จากฐานของภูเขาหิน เป็นภาพอันเลื่องชื่อ และมีชื่อเสียงที่สุด (ต้องเลื่องชื่อแน่ ๆ  เพราะเมื่อกล่าวถึงสิคิริยา ภาพแรกที่เข้ามาในจินตนาการของ 2 สว. ก็คือ ภาพนางอัปสรเหล่านี้นั่นเอง เรื่องอื่น ๆ เกือบไม่รู้เรื่องเอาเลย )  











 ภาพเขียนจะเขียนเป็นคู่ ๆ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก  ที่กล่าวว่าเป็นนางอัปสรเพราะมีอุณาโลม (เข้าใจว่าเป็นคติที่ได้มาจากฮินดู สตรีฮินดูเมื่อแต่งงานแล้ว จะแต้มสีแดงที่ทำจากชาด, รากไม้และมูลโค ไว้ที่หน้าผาก เป็นการบอกกับผู้อื่นโดยนัยว่า สตรีนี้มีสามีแล้ว ทั้งมูลโคก็ยังถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เพราะโคเป็นพาหนะของพระศิวะ จุดแดงบนหน้าผากนี้ เรียกว่า "พินทิ" มาจากคำว่า "พินทุ" ที่แปลว่า "จุด"  ตำแหน่งของอุณาโลมนี้ ถ้าตามหลักกายวิภาค ก็คือตำแหน่งของต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) ทางฮินดูเชื่อว่าคือตำแหน่งตาที่ ๓ (ตรีเนตร) ของพระศิวะ เป็นสัญลักษณ์แห่งญาณปัญญาและความหยั่งรู้ อุณาโลมนี้ถือเป็นสัญลักษณ์มงคล .....ข้อมูลจาก //pantip.com/topic/30668993) วาดเพียงครึ่งตัว ผู้เป็นนายจะนุ่งผ้า แต่ไม่สวมเสื้อ ถือดอกไม้  ส่วนบริวารจะสวมเสื้อหนา ถือถาดใส่ดอกไม้ มีท่าทางกำลังจะไปบูชาพระหรือเทพยดา ภาพยังมีสีสันสดใสมาก แม้จะผ่านมาเป็นเวลากว่า 1,500 ปีมาแล้ว 






ปี 1907John Still (1880-1941) นักโบราณคดี และนักประพันธ์ชาวอังกฤษ มีชื่อเสียงจากการได้ค้นพบสิคิริยา และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง "The Jungle Tide" (หนังสือเล่มนี้ได้รับคำยกย่องว่าเป็นอัญมณีเม็ดงามของวรรณคดีเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญของประวัติศาสตร์ศรีลังกา ในช่วงใกล้สิ้นสุดการปกครองของอังกฤษ)  เขากล่าวว่าภาพทั้งหมดบนเนินเขานี้่ เป็นเสมือนห้องแสดงภาพขนาดยักษ์ อาจใหญ่ที่สุดในโลก  ภาพเหล่านี้ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของพื้นหน้ากำแพงด้านตะวันตก ซึ่งมีความยาว 140 เมตร และสูง 40 เมตร

 มีข้อมูลอ้างอิงว่า ในสมัยของพระเจ้ากัสสปะ  มีภาพรวมทั้งหมดประมาณ  500 ภาพ ปัจจุบันคงเหลือเพียง 22 ภาพ  ส่วนใหญ่ได้ถูกทำลายโดยคนป่า โดยเฉพาะในช่วงปี 1907 และเกือบทั้งหมดก็ได้สูญหายไปตลอดกาล 

เราถ่ายภาพและชมภาพเหล่านี้อยู่นานพอควร จนเจ้าหน้าที่เข้ามาทักทาย และเปิดผ้าม่านให้เข้าไปยังถ้ำอีกห้องหนึ่ง ที่มีภาพฝาผนังอีกหลายภาพ แต่ก็เสียหายมากพอควร













  หากภาพเหล่านี้ได้รับการบูรณะแล้ว เราก็คงเห็นภาพสวย ๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายภาพในปัจจุบัน


แล้วก็ถ่ายรูปกับเจ้าหน้าที่ทั้งสองเป็นที่ระลึก ขอที่อยู่และสัญญาว่าจะส่งรูปไปให้

อ้อยอิ่งอยู่กับนางอัปสรแห่งสิคิริยานานพอสมควร แล้วก็ได้เวลาลาจากเธอ เหนือห้องภาพของเธอขึ้นไป มีทางเดินสูงชันยึดติดกับด้านข้างของภูเขาหิน ขนาบข้างด้วยกำแพงสูงขนาด 3 เมตร เพื่อกั้นลมขณะผ้คนในอดีตขึ้นลงทางบันไดนี้ 


 กำแพงกระจก (Mirror Wall) นี้  เป็นกำแพงที่ฉาบปูนราบเรียบลื่นจนเป็นมันเงางามมากเหมือนกระจก   จนพระเจ้ากัสสปะสามารถเห็นพระองค์เอง ขณะเดินเลียบกำแพงไป  จึงได้ชื่อว่า Ketapath Pawura หรือ Mirror Wall (กำแพงกระจก) นั่นเอง นับเป็นงานชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่งที่เกิดในสมัยนั้น


ปัจจุบันทางเดินใหม่อยู่ด้านนอกของกำแพงกระจก

 บนกำแพงกระจกนี้เอง ที่ผู้เดินทางผ่านมาเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว เกิดการกระตุ้นอย่างแรงกล้าที่จะบรรยายความรู้สึกออกมาบทกวีเกี่ยวกับสิคิริยา โดยเฉพาะเกี่ยวกับนางอัปสรแห่งสิคิริยา แต่ก็ยังมีบทกวีที่เกี่ยวกับความงามโดยรอบ และความงามของเขาสิคิริยาอีกด้วย  บทกวีบนกำแพงกระจกนี้ มีทั้งเรื่องราวของความรัก การประชดประชัน และประสบการณ์ต่าง ๆ ของผู้ที่ผ่านมา



คำกลอนอักษรสลักบนกำแพงหลัก ๆ อยู่ในช่วง ศต. ที่ 8 - 11 จึงเป็นตัวอย่างของบทกวีที่ยังคงเหลืออยู่ในช่วงเวลานั้น  มีบทกวีและข้อความทั้งหมดกว่า 1,500 ข้อความ  ราว 685 คำบรรยายได้รับการถอดรหัสเป็นข้อความปัจจุบัน และนำไปพิมพ์เผยแพร่ในปี 1956  คือ Sigiriya Graffiti โดย Dr. Senerat  Paranavitana, นักโบราณคดีศรีลังกา แบ่งออกเป็น 2 ภาค  ซึ่งได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากนักการศึกษา เนื่องจากได้เห็นหลักฐานการพัฒนาภาษาสิงหล จากต้นฉบับจริง 

ข้อความส่วนใหญ่เป็นการสื่อสารอย่างเป็นส่วนตัวกับนางอัปสร บางบทกวีที่ถูกถอดรหัสมาเป็นภาษาสิงหลปัจจุบัน ที่เขียนโดยชาย ....(ขออนุญาตแปลเป็นไทย พอให้รู้ความค่ะ) เช่น

บทที่ 104 -  'By means of the splendour of the mountain side, I saw the manner in which nymphs stood in heaven. My hand jumped up with the desire of grasping their girdle in dalliance.' ท่ามกลางความงดงามของภูเขา ข้าพเจ้ามองเห็นกิริยาท่าทางของนางไม้ที่ยืนอยู่บนสวรรค์ มือของข้าพเจ้าเอื้อมไปดั่งกระโดดเพื่อฉวยผ้าพันเอวของนางด้วยความเสน่หา

'The ladies who wear golden chains on their breasts beckon to me. Now I have seen these resplendent ladies, heaven has lost its appeal for me' เหล่านางที่สวมกรองศอทองคำได้กวักมือเรียกข้าพเจ้า  และ ณ ขณะนี้ เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นความงามเปล่งปลั่งของนาง  แม้สวรรค์ก็ไม่สามารถเร้าความสนใจของข้าพเจ้าแล้ว   

ที่เขียนโดยสตรีทำนองประชดประชัน เช่น  'A deer-eyed maiden of the mountain side arouses anger in my mind. In her hand she holds a string or pearls, and in her eyes she assumes rivalry with me.' เหล่าหญิงสาวตากวางแห่งภูเขานี้ ได้กระตุ้นความโกรธในใจข้าพเจ้า นางถือสร้อยไข่มุก และนัยตาของเธอบ่งบอกความเป็นคู่แข่งของข้าพเจ้า



บทกวีอื่่น ๆ เช่น  Balannata gahanun balumo sihigiri - (We looked at Sihigiri in order to look at women - เรามาดูสิหิคิริ เพื่อดูเหล่าหญิงสาว)

Piri manajol kathun mayattha la jolannathun - (My heart’s desire was fulfilled by the lovely women who stood there - ความปรารถนาในหัวใจของข้าพเจ้า ได้รับการเติมเต็มแล้วโดยเหล่านางที่ยืนอยู่ ณ ที่นั้น)

Palawathu Wela Aramba Thanoo Sangapal me gee Leemi - (I am Sangapal who built the Palawathu wela aramba, writing this song - ข้าพเจ้าชื่อ Sangapal ผู้สร้าง Palawathu wela aramba เป็นผู้เขียนบทเพลงนี้)


แล้วผู้เดินทางอย่างเราก็เดินผ่านกำแพงกระจกนี้ไป ทางด้านเหนือสุดของภูเขาหิน มีทางเดินแคบไปถึงลานกว้าง  อันเป็นที่มาของชื่อ สิคิริยา (Lion Rock) หรือหินราชสีห์ -  ภูเขาราชสีห์  ที่ปรากฏบนลานนี้ คือ



Lion's Paw - ประตูสิงห์ หรือ อุ้งเท้าสิงโต เป็นอุ้งเท้าขนาดยักษ์  อยู่สุดด้านเหนือ ค้นพบโดย  Harrt Charles Purvis Bell, นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ผู้ที่ได้ขุดค้นบริเวณนี้ และพบอุ้งเท้าสิงโตนี้ ในปี 1898 






 พอมาถึงตรงนี้ เราก็มีไกด์จริง ๆ ไม่ใช่หนังสือคู่มือ  เริ่มจากที่ขณะกำลังถ่ายรูปอยู่ ไกด์เข้ามาบอกว่าให้ระวังผึ้ง ซึ่งมีอยู่หลายรังและใหญ่ด้วย ที่อยู่ด้านข้างของภูเขาหิน  หลังจากนั้นเขาก็กลายมาเป็นไกด์ของเราไปเลย




ภาพขวาลุงบอกสงสัยเป็นทางขึ้นชองข้าบริวารสมัยโบราณ

การจะขึ้นไปถึงยอดเขาสิคิริยาต้องเดินขึ้นบันไดผ่านอุ้งเท้า และปากของสิงโตนี้ไป  ปัจจุบันเหลือแต่อุ้งเท้า ที่แต่ละเล็บมีขนาดยาวถึง 7 - 8 ฟุต แสดงว่าลำตัวต้องมีขนาดใหญ่มาก กล่าวว่า ในอดีตภูเขานี้เคยมีรูปสิงโตยักษ์ (ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าสลักจากหินแกรนิต หรือ ก่อจากอิฐ) เป็นสิงโตอ้าปากขนาดใหญ่ครึ่งตัวในท่าหมอบคลาน หันหน้าไปทางทิศเหนืออยู่บนยอดของภูเขาหิน  ตรงกลางทำเป็นบันได

แล้วเราก็ผ่านบันได้ตรงอุ้งเท้าสิงโต จนถึงยอดเขาสิคิริยา 




ในอดีตบนยอดเขานี้เป็นพระราชวังเก่า  ปัจจุบันมีเพียงซากปรักหักพัง




ไกด์บอกว่าตรงนี้คือ บันไดขั้นที่ 1,200 เป็นบันได้ขั้นสุดท้ายของภูเขาหินนี้แล้ว

ในสมัยก่อนลานแห่งนี้เป็นที่พำนักของข้าราชบริพารที่รับใช้ใกล้ชิด ยามค่ำคืนพระองค์จะเสด็จขึ้นไปประทับในพระราชวังบนยอดเขา แต่เพียงลำพังกับมเหสีเท่านั้น 


เนื่องจากสิคิริยาเป็นเขาหินขนาดใหญ่อยู่เหนือพื้นที่ราบโดยรอบ สามารถมองเห็นทัศนียภาพทุกทิศทาง ทำให้ได้เปรียบในกลยุทธหากถูกโจมตี  มีป้อมปราการที่ได้รับการออกแบบเป็นอย่างดีสำหรับป้องกันจากศัตรู โดยมีกำแพงและคูเมืองล้อมรอบ มีทางเข้าไปยังเมืองชั้นในหลายทาง และที่เด่นที่สุดคือ ด้านตะวันตก จากยอดเขาสามารถมองเห็นไปไกลหลายสิบไมล์ ทำให้ยากที่ศัตรูจะเข้าจู่โจมโดยไม่เป็นที่สังเกตุเสียก่อน




พระราชวังมีโครงสร้างที่ได้รับการออกแบบอย่างดีโดยวิศวกรสมัยนั้น  มีคูน้ำกว้างประมาณ 10 เมตร ล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ผ่านกำแพงพระราชวังเข้ามาจะพบสระน้ำขนาดใหญ่ 2 สระ จากนั้นเข้าสู่อุทยาน มีทั้งน้ำพุ น้ำตก สวนดอกไม้ 



เมื่อเดินต่อไปจะพบก้อนหินขนาดใหญ่ ใต้เพิงหิน มีบันไดทางขึ้นระหว่างซอกหินขนาดใหญ่ ขึ้นไปยังระเบียงหน้าผาของภูเขาสิคิริยา (ภาพนี้เดินลง) เพราะเราขึ้นไปหน้าผาก่อน แล้วลงมาที่พระแท่น


ด้านทิศตะวันออก มีพระแท่นประทับทำด้วยหินขนาดใหญ่ เป็นแท่นระทับพักผ่อนของกษัตริย์ หันหน้าไปทางพระอาทิตย์ขึ้น



มาถึงพระแท่นประทับ เป็นอันเสร็จสิ้นภาระกิจของไกด์ ก็แยกกันตรงนี้



จากนั้นก็ถึงเวลาเดินลง กลับไปตรงบันได ที่แยกเป็นขึ้นและลง เพื่อที่จะกลับไปยังลานอุ้งเท้าสิงโต



ตรงทางเดินช่วงหนึ่ง คงจะเป็นช่องลม ลมแรงมาก ๆ ๆ

ขากลับนี้ ไม่รู้ลุงพาออกมาทางด้านไหน เหมือนกับออกมาทางด้านหลังค่ะ เพราะเป็นถนนลูกรัง  แต่บรรยากาศดีมาก เงียบสงบ แล้วก็ชอบมาก



มีบ้านบนต้นไม้



จับภาพ 2 หนุ่มที่ซ้อนจักรยานกันมาได้พอดี





แล้วลุงก็มาจอดให้ถ่ายรูป จุดนี้จะเห็นสวนบัวด้วย






อีกด้านหนึ่งของสิคิริยา

สิคิริยาถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีความสำคัญด้านการวางผังอย่างอย่างดีเยี่ยม ในช่วงสหัสวรรษ(1,000 ปี) แรก มีการวางผังเมืองอย่างละเอียดลออพร้อมความคิดสร้างสรรค์ มีการผสมผสานความสมมาตร และไม่สมมาตร เพื่อให้เกิดการประสานกันระหว่างสภาพภูมิศาสตร์แบบเรขาคณิตที่มนุษย์จัดทำ และรูปแแบบธรรมชาติของสภาพแวดล้อมโดยรอบ ทางด้านตะวันตกของภูเขาหินจัดทำเป็นสวนสำหรับราชวงค์ มีลักษณะสมมาตร ภายในสวนมีระบบการทดน้ำ รวมทั้ง ระบบการใช้พลังน้ำทั้งบนดินและใต้ดินใน  ทางด้านใต้เป็นอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้ในหน้าแล้ง มีทางเข้า 5 ทาง เข้าใจว่าทางด้านตะวันตกเป็นทางเข้าของเฉพาะราชวงค์



ภาพทางเข้าและสวน



ปัจุบันสิคิริยาเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่สำคัญของศรีลังกา โดยเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังโบราณ องค์การยูเนสโก (Unesco)  ขึ้นทะเบียนสิคิริยาเป็นหนึ่งในแปดมรดกโลกของประเทศ

 ในอดีตจากพระเจ้ากัสสปะผู้ยึดราชบัลลังก์จากพระบิดา พระเจ้ากัสสปะผู้กระทำปิตุฆาต  และ พระเจ้ากัสสะผู้เต็มไปด้วยความกลัวว่าจะถูกโจมตีจากพระอนุชา  จนต้องย้ายราชธานีมาที่สิคิริยา ปัจจุบันเป็น พระเจ้ากัสสปะนี้เองที่ได้มอบสิคิริยาไว้ให้แก่ลูกหลานเหลนชาวสิงหล  สิคิริยาเป็นมรดกโลกที่ทำคุณอนันต์ให้แก่ชาวสิงหลและประเทศศรีลังกา พระองค์จะล่วงรู้บ้างไหมนะ??!!

วันนี้เกือบทั้งวัน เรายกให้สิคิริยา เต็มอิ่มจริง ๆ บล๊อคหน้าจะต่อไปแคนดี (Kandy) เมืองบนภูเขาค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย และ

//www.srilankaview.com/sigiriya.htm
//www.sigiriyatourism.com/
//www.lankalibrary.com/heritage/sigiriya/graffiti.htm
//amazinglanka.com/wp/sigiriya/
//www.oceansmile.com/Srilangka/Sigiriya.shtml
หนังสือ Lonely Planet ฉบับ Sri Lanka, 8the edition





Create Date : 06 กันยายน 2559
Last Update : 15 กันยายน 2559 14:25:05 น. 2 comments
Counter : 4131 Pageviews.

 
สาธู เป็นบุญตาบุญใจมากท่ีได้เห็นภาพสวย ๆ เหล่านี้จากฝีมือของท่านผู้เดินทาง่ทองเทียว และสรรหามาฝาก ขอบคุณมาก


โดย: หนานเตอะ IP: 119.76.110.220 วันที่: 11 ตุลาคม 2559 เวลา:22:11:51 น.  

 
ขอบคุณที่เข้ามาอ่าน คิดว่าคงมีประโยชน์บ้างนะคะ


โดย: payaichow (สมาชิกหมายเลข 1920579 ) วันที่: 12 ตุลาคม 2559 เวลา:12:23:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 1920579
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1920579's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.